วิชาอ่าน วิชาคิด วิชาทำ


 

                                   วิชาอ่าน    วิชาคิด     วิชาทำ

 

 

         ดิฉันเคยคุย (อันที่จริงต้องใช้คำว่าโต้วาที) กับพ่อ  เรื่องการเรียนการสอนในระดับการศึกษาพื้นฐาน    หลังจากถกปัญหากันจนกับข้าวหมดโต๊ะแล้ว    พ่อก็สรุปแนวคิดของพ่อให้ฟังว่าในระดับโรงเรียนประถม กับมัธยมนั้น  น่าจะลองทำดังนี้

          คือ  แยกวิชาที่เด็กจะต้องเรียนออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่วิชาอ่าน วิชาคิด และ วิชาทำ

         ประการแรก  วิชาอ่าน  จัดกระบวนการหรือจัดตารางให้เด็กได้อ่านจริงๆ      ควรมีหนังสือให้เด็กอ่านทุกเรื่อง วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์  สังคมทุกแขนง มนุษย์ศาสตร์ทุกแขนง (ทั้งนี้   คงต้องเรียบเรียงใหม่ให้อ่านง่ายกว่าเดิม) เป็นต้น

         ดังนั้น   หนังสือแบบเรียนทุกเล่ม นำมาให้นักเรียนอ่านได้หมด  จะจัดกิจกรรมการโน้มน้าวใจให้อ่านอย่างไรก็แล้วแต่ ให้เด็กอ่านเหมือนอ่านหนังสือการ์ตูน    อย่าอ่านแบบที่ครูให้ยืนขึ้นอ่านทีละคน (คือพ่อคงหมายความว่าน่าจะหาวิธีเขียนและนำเสนอ  โดยสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากอ่านเพื่อรู้จริงๆ  ส่วนดิฉันนึกไปถึงหนังสือที่ออกแบบให้น่าอ่าน   หรือสารานุกรมนะคะ  )  

         ทั้งนี้  ในเบื้องต้น    ครูต้องแยกแยะความแตกต่างให้ดี และต้องยอมรับเด็กว่า เขาจะอ่านของเขาอย่างไรก็ต้องยอม โดยไม่ไปซักไซ้ไล่เลียงว่าอ่านแล้วรู้อะไรบ้าง เรื่องนี้ไว้ว่ากันทีหลัง

         แต่ขอให้โน้มน้าว จูงใจ  ให้อ่านอย่างเต็มใจก่อน  เพื่อให้เขามีถ้อยคำภาษาของศาสตร์ชุดนั้นๆไว้เป็นฐานความรู้   มีคลังคำ  และคลังความหมายอยู่ในสมองเยอะๆ  สักวันหนึ่งเมื่อเรียน    เขาจะนำฐานคำและความหมายเหล่านี้มาเชื่อมโยงต่อกันได้เร็วขึ้น  ตามทฤษฎีที่ว่า คนเราจะรู้และคิดได้เท่ากับภาษาและสัญลักษณ์ที่เรามี

         อันนี้พี่ชายดิฉัน(ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นครูเหมือนกัน) เขาก็เอาไปทำในโรงเรียน    โดยประชุมผู้ปกครองชั้นปี  (การออกแบบการสื่อสารและการโน้มน้าวใจ)   ตกลงกันว่าลูกของท่านจะเรียนดีขี้นแน่นอน  ถ้าท่านเปลี่ยนพฤติกรรมที่บ้าน  จากไม่อ่านอะไรเลย  เป็น  อ่านอะไรมั่ง  เช่น จากไม่เคยรับหนังสือพิมพ์  ก็รับมาอ่านเป็นต้น เพราะเด็กต้องเห็นตัวอย่างที่ดีทั้งสองทาง  ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน

         จากนั้น ที่โรงเรียน ก็จะจัดเวลาทุกเช้าก่อนเข้าเรียน  ให้เด็กอ่านอะไรก็ได้  เอาที่เขาชอบ   (สารที่ไม่เป็นพิษภัย)  อ่านแล้วคุยกัน  แล้วจึงค่อยเรียนในวิชา   ทำเช่นนี้เป็นเทอม  แล้วผลสำรวจออกมา  พฤติกรรมการอ่านของเด็กชั้นปีนั้นปรับไปในทางที่ดีขึ้น

  
         วิธีนี้ดิฉันได้ยินว่ามีมานานแล้ว  ไม่ใช่วิธีใหม่  ขึ้นอยู่กับโรงเรียนจะเห็นความสำคัญและทำให้เป็นองค์รวม  และเพียรทำให้เห็นผลในภาพรวมหรือไม่

         ประการที่สอง   วิชาคิด มีสองวิชา คือ ภาษาไทย และคณิตศาสตร์    

         ภาษาไทย ต้องสอนหลักวิชาภาษาไทยให้เด็กสามารถอ่านหนังสือออก อ่านให้แตกฉาน เขียนถูกต้อง ออกเสียงชัดเจน รู้จักจับใจความ  จับประเด็น  และสรุปย่อ ขยายได้ 

         ประเด็นปัญหาสำคัญที่ผู้สอนระดับอุดมศึกษาพบอยู่ในตอนนี้  คือเด็กจำนวนหนึ่งที่ผ่านเข้าระบบ   มีปัญหาการอ่านและการเขียนค่อนข้างมาก  อาจเป็นเพราะการเรียนเฉพาะแบบรู้จักคำเป็นคำๆ  แต่ไม่ได้ผันอักษรจนชำนาญ  

         ดิฉันลองอธิบายที่มาที่ไปตามความเข้าใจของดิฉันนี้นะคะ

         ภาษาไทย  เป็นภาษาคำโดด    (=ภาษาที่ไม่เปลี่ยนรูปคำ)  คำภาษาไทย  มีลำดับกลไกพื้นฐานการสร้างคำเป็นขั้นตอน 
         “คำ”    ในภาษาไทย เกิดจากการการผสมพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์  เช่น
           ก ไก่   ตามด้วยสระ อา        ไม่มี วรรณยุกต์  อ่านออกเสียงว่า   กา
          ก ไก่     ตามด้วยสระ อา        ใส่วรรณยุกต์เอกบนตัว    ก  ไก่    อ่านออกเสียงว่า   ก่า
         ก ไก่     ตามด้วยสระ อา        ใส่วรรณยุกต์โทบนตัว    ก  ไก่    อ่านออกเสียงว่า   ก้า

         เสียงคำไทย  จะผันไปตามเสียงพยัญชนะและวรรณยุกต์   วิธีฝึกที่ตรงกับโครงสร้างพื้นบานในการประกอบสร้างคำที่สุด   คือวิธีฝึกแบบ แจกลูก ผันอักษร

        เด็กๆจะอ่านหนังสือแตกฉานได้   ที่สำคัญที่สุดต้องให้เริ่มต้นด้วยการเรียนภาษาไทยแบบผันอักษร  ไล่ลำดับไปจนเด็กชินกับคำและเสียงที่ผัน  เช่น  กา  ก่า ก้า ก๊า  ก๋า  เป็นต้น    เพราะคำจะคงรูปอยู่เช่นนี้ 

        ลักษณะการสร้างคำแบบข้างต้น เป็นทักษะกลไกจำเพาะแบบไทย   หากฝึกให้ถูกวิธี จะทำให้เด็กๆอ่านคำได้ตามเสียงพยัญชนะ  สระ  วรรณยุกต์  ที่กำกับคำ  

        เมื่อครูสอนให้ผันอักษร  และแจกลูก   การจะอ่านคำใดๆก็ตาม  จะง่ายขึ้นเพราะรู้ว่าเอาอะไรมาวางหน้ากลางหลังบนล่าง  แล้วจะอ่านออกเสียงอย่างไร  เสียงก็จะคงที่อย่างนั้น   ถ้าเปลี่ยนเสียงก็อธิบายได้โดยระบบภาษาอีก     ไม่มีการเพิ่มหน้า กลาง หลัง   ของคำนั้นๆ  แบบภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย    เช่น ไม่เปลี่ยนรูปคำตามกาลแบบภาษาอังกฤษ

        หากเด็กได้ฝึกไปตามขั้นตอน   ด้วยความใส่ใจของครู  ก็จะทำให้จับทางการอ่านออกเสียง ทั้งในใจและนอกใจได้อย่างแม่นยำ  คงเหมือนท่องสูตรคูณกระมังคะ     เราจะจำได้เป็นอัตโนมัติโดยไม่ต้องคำนวณ

         หากเด็กๆหัดผันจนเป็นอัตโนมัติ  เขาเห็นที่ต่างไป  เขาก็จะอ่านออก  เพราะมีหลักคิดและมีความชำนาญจากประสบการณ์ที่ฝึกผันคำมา 

         คำว่า     บ ใบไม้     นำหน้า  สระอา      ต่อด้วย น  หนู      บอ  สระอา   นอ   อ่านว่า  บาน       เด็กเจอที่ไหนก็ต้องอ่านว่า   บาน  โดยไม่เปลี่ยนเสียงและไม่เปลี่ยนรูปคำ  คำนี้   ถ้าเติมวรรณยุกต์โท  ก็อ่านว่า บ้าน  เด็กเจอคำนี้ที่ไหนก็ต้องอ่านว่า บ้าน  เหมือนกัน

         ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ตอนนี้  อยู่ที่การให้เด็กๆเริ่มต้นเรียนภาษาไทยเป็นคำ ๆ     โดยไม่ไล่มาตั้งแต่การแจกลูก  ผันอักษรเบื้องต้น     ซึ่งเป็นการฝืนระบบตั้งแต่โครงสร้าง การประกอบสร้างคำไทย        และจะส่งผลถึงการสร้างคำใหม่ อันจะส่งผลถึงความแตกฉานทางภาษา คือการอ่านออก-เขียนได้  ( literacy)      การรับรู้ความหมาย  การเพิ่มคำ  เพิ่มความหมาย 

         ช่วงหลัง ทักษะภาษาไทยของเด็กเกิดเสียหายไปส่วนหนึ่ง   เพราะการสอนโดยเอาคำเป็นตัวตั้ง  และสอนทีละคำ   อันตรายที่เกิดขึ้นก็คือ  เขาเห็นเพียงคำหนึ่งคำ    เห็นเป็นคำๆ  และอ่านเฉพาะคำนั้นเป็นคำๆไป  แต่เขาขาดการมอง  กลไกของกระบวนการสร้างคำ แบบเชื่อมโยง   

         เขาจะมองคำว่า บ้าน  โดยตัดตอนเอาแค่องค์ประกอบเฉพาะหน้า   คือเห็น  บ  ใบไม้ สระอา  น  หนู  ไม้โท   อ่านว่า บ้าน  แต่อาจไม่ได้เห็นตั้งแต่  บา บ่า บ้า  บ๊า  บ๋า  จนถึง      บาน บ่าน  บ้าน  บ๊าน  บ๋าน  

          คือมองไม่เห็นโครงสร้าง   ไม่เห็นที่มาที่ไป   ไต่บันไดไม่ได้   แตกคำ  หรือ สร้างคำได้ช้า    หรืออาจกล่าวได้ว่า ขาดหลักคิด  เพราะเรียนรู้โครงสร้างมาผิดก็คงได้

          เขาต้อง จำ  เอาทีละคำ  แทนที่จะ ผัน เอาได้ทีละหลายๆคำ   และเขาจะเกิดปัญหาในการเทียบเสียงวรรณยุกต์อันเป็นอัจฉริยะลักษณะของภาษาไทย   เขาเห็นคำว่า  กา   เขาเข้าใจ  อ่านได้   เฉพาะคำนั้น  แต่การเชื่อมอัตโนมัติตั้งแต่ กา  ไปถึง  ก๋า   จะขาดไป   ถ้ามีคำยากกว่านี้  เขาจะต้องออกแรงจำเป็นสองเท่า   เพราะขาดบันไดเชื่อม

          ดิฉันขออภัย  หากอธิบายได้ไม่ชัดเจนนัก  เพราะไม่ได้สอนเด็กเล็กๆมานาน  นึกกระบวนการไม่ค่อยออก     เลยขออนุญาตนำเสนอพอเป็นพื้นฐานเท่านี้ก่อนนะคะ 

          วิชาคณิตศาสตร์  สำหรับเด็กเล็กต้องสอนให้น้อยที่สุด   แต่ฝึกให้รู้จักจำนวนนับ   เรียกว่าเลขคณิตคิดโดยวิธีนับ (แต่ไม่ใช่จินตคณิต)    แบบเห็นปุ๊บบอกจำนวนได้ปั๊บเป็นอัตโนมัติ ตั้งแต่   ศูนย์  ถึง  เก้า  ( 0-9 )

          คือให้มองเลข ศูนย์  ถึง  เก้า   เป็นภาษา  เป็นคำๆไป     
          เหมือนกับมองคำว่า ศูนย์    เป็นหนึ่งคำ 
          มองคำว่า     สาม  เป็นคำหนึ่งคำ   

          สาม  คือสาม   สาม  ไม่ใช่  สี่   และไม่ใช่  ห้า  อะไรทำนองนี้นะคะ   
          สาม    ไม่ใช่  2+1=3 ไม่ใช่   3+0=3  ไม่ต้องแยกธาตุ  ไม่ต้องคำนวณ  

          แต่เมื่อเห็นของสามชิ้น   จะนึกถึงคำว่า  สาม  โดยอัตโนมัติ   บอกได้ทันทีว่า สาม   โดยไม่ต้องใช้นิ้วมือนับใต้โต๊ะ ว่า 1...2.... 3  เป็นอันขาด   ไม่ต้องเอา 1  มาบวกกัน  3   ครั้ง 

          เหมือนเราเห็นแมว  แล้วบอกได้ทันทีว่านี่คือแมว   เป็น concept  จำเพาะไปเลย

         พ่อฝึกหลานๆ โดยใช้วิธีฝึกแบบ เลขคณิตคิดโดยวิธีนับ  
ใช้วิธีเอาลูกหินมาให้หลานดู  แล้วบอกหลานว่า เห็นลูกหินที่วางกองอยู่ปุ๊บ  ให้บอกได้เลยว่ามีกี่ลูก  ไม่ต้องนับนิ้ว    ไม่ต้องนับให้ดูทีละลูก   แต่ให้บอกออกมาเลยว่ากี่ลูก

         (อันนี้ดิฉันแย้งพ่อว่า  กระบวนการก่อนที่จะไปถึงจุดที่บอกได้ทันทีนั้น   อย่างไรเสียหลานก็ต้องนับเลข 1 2 3 4  เรียงไป  และแต่ละครั้งที่นับ  มันคือการเพิ่มปริมาณ  ดังนั้นมันคือการบวกเพิ่มทีละ 1  ไม่ใช่เห็น 3  อัน  แล้วบอกทันทีว่า  สาม   ยังไงๆหลานก็ต้องนับแล้วบวกเพิ่มไป   แต่พ่อบอกว่า เป็นการนับแบบจับคู่ รูปธรรมกับนามธรรม  แต่ดิฉันก็ยังไม่เห็นด้วยอยู่ดี   …….  คืองี้นะคะ  นึกแล้วก็ขำ  พ่อสอนเลข  กับลูกสาวตกเลข   มานั่งเถียงกัน  เพื่อจะหาวิธีไปสอนให้หลานๆเก่งเลข   : )     .....)

         อย่างไรก็ตาม   หลังจากฝึกไปสี่ห้าครั้ง   หลานๆที่อยู่ ป.4  ก็บอกได้ทันที  และบวกเลขเร็วกว่าดิฉันสี่สิบเท่า  (คือดิฉันบวกได้ไม่เกินหลักสิบ)   และสามารถคิดเลขเศษส่วนหลักพัน หลักหมื่นบวกลบในใจได้ทันที 

         การบวก ก็จะมีความหมายว่า  เท่านี้  กับอีก เท่านี้ เป็น เท่านี้    ทำให้คิดได้เป็นอัตโนมัติ

         หากฝึกได้อย่างนี้ เด็กจะสามารถคำนวณ(พื้นฐาน)ได้อย่างรวดเร็ว  เพราะมีคำ(ภาษาเลขคณิตพื้นฐาน)   9    ตัว   คิดได้เป็นอัตโนมัติ 
         ข้อได้เปรียบของการใช้เลขเดี่ยวตัวหน้า เก้าตัว  เป็นฐานคิดในการนับนี้ทำให้เด็กที่เข้าใจวิธีการ  สามารถ “คิด” คณิตศาสตร์ได้อย่างรวดเร็ว 

          พ่อบอกว่านี่เป็นข้อได้เปรียบสำหรับเด็กไทยที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่    ในการเรียนคณิตศาสตร์    เพราะคำภาษาไทยเอื้อให้เรานับได้เกือบครบจำนวน  เนื่องจากเรามีเลขเดี่ยวตั้งแต่ หนึ่ง  ถึง  เก้า   แล้วจากนั้นก็นับไปทีละ หนึ่งกลุ่มสิบ  

          ตัวอย่างเลขเดี่ยว  ต่อด้วยคำว่า สิบ   เช่น  สามสิบ  ห้าสิบ   เก้าสิบ  
          เลขเดี่ยวตัวหน้า  ใช้ concept เดิม  คือเป็น คำว่า........  เช่น     คำว่า สาม   คำว่า  ห้า   คำว่า   เก้า     (เป็นภาษา  โดยไม่ต้องคำนวณอะไรในใจอีกแล้ว)  

         เลขสิบตัวหลัง คือหลักสิบ  กี่กลุ่มสิบก็ว่าไป  

         ถ้าเป็นหลักร้อย หลักพัน    โดยภาษาไทยก็เอื้อให้อีก    เช่น   สามร้อย   ห้าร้อย  เจ็ดพัน  เก้าพัน  เป็นต้น   ภาษาที่ระบุเลขหลักชัด  เรียกแบบเรียงพยางค์ ใช้คำตรงตามจำนวน อย่างนี้  เอื้อให้เราเห็นหลักตัวเลขโดยไม่ต้องแปลอีก   ยกเว้นบางคำเช่น  หนึ่งหมื่น     หนึ่งแสน   เราต้องแปลคำว่าหมื่นกับคำว่า  แสน   ก่อน  เป็นต้น     

         จากนั้น ป.โตๆ  ก็สอน การเขียนตัวเลขฐานสิบ(ทศนิยม)     การเขียนเศษส่วน บวกจำนวนนับ(มีหนึ่งร้อยคู่) ลบ(มีหกสิบสี่คู่) ,การคูณ(สูตรคูณ) ,การหาร ,จำนวนเต็ม จำนวนตรรกยะ เท่านี้พอแล้วในเบื้องต้น

          อย่างไรก็ตาม ...เนื่องจากนี่เป็นแนวคิดของพ่อ  ดิฉันก็เขียนไปตามที่พ่อเล่าและปรับตามความเข้าใจของดิฉันนะคะ 

          ขอรับรองว่าหลานน้อยๆของดิฉันทุกคนที่ฝึกเช่นนี้   คิดเลขได้อย่างรวดเร็วจริงๆ  และขณะเดียวกัน ก็ขอรับรองว่าดิฉันไม่สามารถทำอย่างหลานๆได้  แค่นั่งเถียงกับพ่อดิฉันก็เวียนหัวแทบแย่อยู่แล้ว    ดิฉันเถียงในแง่การใช้ภาษาอธิบายให้คนไม่รู้เรื่อง สามารถเข้าใจได้นะคะ

         ประการที่สาม   วิชาทำ ได้แก่วิชาการขุดดิน การปลูกผัก การหุงหาอาหาร งานไม้ การเย็บผ้า วิทยาศาสตร์ต่างๆ  เพราะเด็กชอบทดลองอยู่แล้ว      การปฎิบัติศาสนกิจ การดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น  ฯลฯ  วิชาเหล่านี้ สอดคล้องกับวิถีชีวิต  และสามารถบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสอนเด็กได้ด้วย


          หากทำได้ดังนี้  เด็กน่าจะมีโอกาสฝึกบูรณาการความรู้ครบวงจร  เป็นการปูพื้นฐานทางภาษา(ความรู้ -วิชาอ่าน-วิชาคิด) ที่เป็นกระบวนการเนื่องกันกับวิถีชีวิต (วิชาทำ)

          วิชาอ่าน  วิชาคิด วิชาทำ  ตามแนวคิดของพ่อนี้    พี่ชายดิฉันซึ่งเป็นผู้ช่วยของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ก็นำแนวคิดไปปรับใช้  และได้ผลในระดับหนึ่ง  แต่จู่ๆพี่ก็ได้ย้ายเพื่อเลื่อนตำแหน่ง  ก็เลยไม่ทราบว่าตอนนี้จะได้ไปทำที่โรงเรียนใหม่หรือไม่  ดิฉันก็รอถามข่าวอยู่ค่ะ

 

 

 

 ..........................................................................................................

หมายเหตุ 

         ดิฉันเข้าไปโพสต์เรื่องนี้ต่อท้ายบันทึก    เด็กไทย อ่าน เขียน เป็นไหม?   ของคุณแว้บ อย่างยืดยาว จนอายเจ้าของบันทึก  แต่ไหนๆก็ไหนๆ เขียนอย่างตั้งใจไปแล้ว เลยโพสต์        แนวคิดของคุณแว้บน่าสนใจหลายเรื่อง  และเขียนดีอีกต่างหาก  แต่ดิฉันก็ออกจะเกรงใจ  จึงยั้งๆมือไว้....
        ....เอ่อ....ขนาดยั้งมือไว้      ยังยาวเกือบสองเท่าของเจ้าของบล็อกจนได้อะค่ะ   : )

คำสำคัญ (Tags): #สิ่งเล็กๆน้อยๆ
หมายเลขบันทึก: 96238เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 00:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)
  • สวัสดีครับพี่
  • อ่าน  คิด  ทำ
  • ศาสตร์นี้นำไปใช้ได้จนตายเลยครับ
  • อ่านเข้าไปเพื่อนให้คิด คิดให้สุกภายใน แล้วก็ถ่ายทอดมาที่ ทำ
  • เหมือนกระบวนการคอมพ์เลยครับ Input -->Process -->Output
  • ที่บ้านเมืองเรามีปัญหาเพราะว่า สามตัวนี้อาจจะมีปัญหาครับ
  • จริงๆ ในเบื้องต้น ในส่วนของการเรียนรู้ของคนที่ผมลองวิเคราะห์ดูเล่นๆ คือคนเราจะพูดได้มาก่อนเข้าโรงเรียน อ่านไม่ได้ แต่ได้ฝึกคิดมาก่อน แล้วฝึกทำมาแล้วบ้าง
  • พอมาเข้าโรงเรียน เราก็เจอกับตัวอักษร คนใต้พูดกลางยังไม่ได้ กรณีผมนะครับ ก็ต้องมาฝึกผันตามครูที่โรงเรียน ก็เลียนแบบครูในการอ่าน พ่ออาจจะช่วยประคองมือให้ด้วยก่อนไปเรียนที่โรงเรียน ทางใต้ เค้าจะนิยมไปให้คนเก่งๆ ในหมู่บ้านช่วยประคองมือในการฝึกเขียนให้ก่อน โดยฝึกไปทุกๆ ตัว เป็นการประคองไปทำให้เด็กเข้าถึงความโค้งของตัวอักษรของรากเหง้าของภาษาเรา
  • ช่วยประคองมือในการเขียนตัวเลข แต่พื้นฐานการนับเลขจะมีมาก่อนจากการเข้าโรงเรียนแล้ว ดังนั้นทุกคนส่วนใหญ่จะนับเลขได้ก่อนเข้าโรงเรียนครับ การบวกเพิ่มจะทำได้กันมาก่อน ดังนั้น การลดขั้นตอนการนับเข้าทีละนิ้ว กลายมาเป็นการนับในใจ หรือการเห็นแล้วเชื่อมกับปริมาณนั้น อาจจะทำได้ที่คุณพ่อของพี่แอมป์ว่าครับ แต่พื้นลึกๆ มันมีที่มามาก่อน ว่าการรวมกลุ่มแล้วบอกปริมาณนั้น มีการบวนการย่อยอยู่ภายใน แต่เด็กมีพื้นฐานมาแล้ว
  • ไม่อย่างนั้น ผมว่าเด็กคงไม่รู้ว่าสามมาได้อย่างไรครับ หรือทำไมต้องเจ็ด แต่คำว่าเจ็ดในนั้น เด็กจำสาม กับจำสี่ได้มาแล้ว บอกว่านี่คือเจ็ด
  • จะมีหลักการในการแตก หรือกระจายจำนวนได้ครับ เด็กจะเกิดกระบวนการคิดตรงนี้ครับ ไม่ต้องเอาไรมากครับ แค่หินสิบก้อน หากทราบเรื่องการรวมเข้าแล้วเอาออกแล้ว เค้าจะรวมได้เร็วครับ
  • ตอนนั้นผมจำได้ ผมอยู่ ป.สาม หรือ ป.สี่ มีคุณปู่ มาหาคุณแม่ แล้วคุณแม่ต้องไปธุระ แล้วให้ผมอยู่กับคุณปู่
  • คุณปู่ทดสอบผมโดยการถามว่า รู้จักเลขถึงตัวไหนแล้ว ผมบอกว่า ในระดับหนึ่งร้อย บวกเลขได้ คุณปู่เลยทดสอบผมใหญ่เลยครับ โดยใช้ การเอาเลข ในระดับที่บวกกันแล้วไม่เกินร้อย มาถาม ผมจะตอบได้เร็วมากๆ
  • คุณปู่เลยไปกระซิบกับคุณแม่ ว่า ลูกหัวดีนะ ถามปุ๊บตอบปั๊บ แบบนี้ส่งให้เรียนให้มากเท่าที่จะทำได้นะ (ผมเพิ่งมาทราบตอนหลังที่แม่เล่าให้ฟังนะครับ) ผมรู้สึกว่า ตอบแล้วถูกแล้วสนุกมากครับ ทำให้รู้สึกว่า เอาอีกครับคุณปู่
  • ครั้งหน้าเวลาเจอคุณปู่ผมจะชอบเล่นเกมส์ประมาณนี้ครับ คือตอบแบบไม่ต้องตั้งกระดาษนะครับ คิดกันในใจ ผมว่านั่นหล่ะที่มาที่ผมเกิด กระดานจินตภาพ ที่เกิดในบทความนี้ กระดานจินตภาพ กับการนั่งทางใน เพื่อหาคำตอบ แล้วมันก็เริ่มงอกขึ้นเรื่อยๆ
  • กระบวนการ สอนให้ อ่าน คิด ทำ จากที่บ้านก็สำคัญมากๆ ครับ ก่อนที่จะเข้าไปยังโรงเรียน หากเตรียมเด็กให้เป็นแบบที่พี่แอมป์บอกว่า ให้มีการแนะนำผู้ปกครองให้ฝึกหลายๆ อย่าง นี่น่าสนใจมากๆ เลยครับ
  • ปัจจุบันมีสื่อทีวี วิทยุ ให้เด็กฝึกฟังด้วยครับ มีโอกาสดีกว่าสมัยรุ่นผมหรือรุ่นก่อนหน้านี้เยอะครับ
  •  หากทำแบบนี้ให้มีรูปแบบที่ดี เพียงสามปี ป. 1,2,3  ผมเชื่อว่าการอ่านในระดับ จบ ป. 6 อ่านไม่ออกจะไม่มีแน่นอนครับ ผมเองแทบไม่อยากจะเชื่อเมื่อดูรายการคนค้นคน แล้วบอกว่า จบ ป.6 อ่านไม่ออก เขียนไม่เป็น แต่ก็ได้รับการยืนยันจากคนทำงานและลงในพื้นที่ว่านี่คือเรื่องจริง ก็ต้องมานั่นครุ่นคิดเช่นกัน
  • พี่ทราบไหมครับ ว่าทำไมผมต้องมาคิดถึงเรื่องเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ผมต้องกลับไปสอนมหาวิทยาลัย
  • ง่ายๆ คือ ผมอยากจะสอนเด็กในระดับอุดมศึกษาแบบเต็มศักยภาพนะครับ ผมเชื่อว่าหากเด็กเค้ามีพื้นฐานที่ดี่ แล้วเค้าจะเจริญเติบโตทางความคิดของเค้าเองด้วย แรงจูงใจและเกมส์หลายๆ อย่างก็มีประโยชน์มากๆ นะครับ
  • ผมจำได้ว่าตอน ม. 6 อันนี้โตขึ้นมาเยอะแล้วครับ ผมเคยเล่นเกมส์ของเพื่อนเป็นเกมส์กด Tetris ที่กดให้มันตกๆ ลงมาเรียงกันเป็นแถวนะครับ เมื่อตรงแล้วก็กดลงมาใหถึงพื้นให้เร็ว หากยังคิดไม่ออกว่าจะพลิกอย่างไร ก็ให้ใช้วิธีการพลิกหมุนกลางอากาศก่อนจะลงถึงพื้นดิน
  • จนในที่สุด ผมเล่นไปจนมันส์มากๆ นะครับ จากนั้นผมไปอ่านหนังสือนะครับ พี่เชื่อไหมครับ ว่าผมจะอ่านหนังสือเร็วมากๆ เลยครับ อ่านเร็วตามที่ผมเร็วในระดับสูงๆ ของเกมส์นะครับ คือผมจะเห็นว่า อ่านไปตรงไหนแล้วมีเว้นวรรค ตัวอักษรด้านบนมันจะวิ่งลงมาทับช่องว่างในบรรทัดนั้นๆ ทำให้ผมต้องอ่านให้เร็วขึ้นแล้วต้องจำไปด้วย สนุกมากๆ เลยครับ
  • แต่ปัจจุบัน ไม่ค่อยได้เลยครับ อ่านในระดับความเร็วปกติครับ
  • ส่วนเรื่องการทำ นี่ผมว่าก่อนเข้าโรงเรียน ทำให้เรารู้จักอะไรมากมายเลยครับ เช่นรู้จัก กิน ขุด เดิน จนเวลามาเข้าโรงเรียน เราจะทราบว่า อ๋อ คำว่ากิน เขียนอย่างนี้นะ กอ อิ นอ กิน
  • ทำให้การทำ มาเสริมการคิด แล้วทำให้เขียนได้ แล้วอ่านทบทวน เพื่อเช็คว่าใช่แล้ว ถูกแล้ว
  • จบแค่นี้ก่อนแล้วกันครับ ผมเขียนตามที่ใจปรารถนา แบบต่อสายท่อน้ำนะครับพี่ ไม่ได้ระบบเท่าไหร่ครับ ขอโทษด้วยครับ แต่เพียงอยากจะบอกในสิ่งที่ผมได้เจอ อาจจะผิดหลักวิชาไปบ้างครับ
  • ผมถึงว่าการสอนในระดับล่างนี่ สอนยาก ต้องให้ครูเก่งๆ สอนในการที่จะรู้จักผันคำ แตกคำ รวมคำ ผสมเลข รวมกลุ่ม อ่าน เขียน ให้กลายเป็นอย่างเดียวกัน สิ่งเดียวกัน คือขณะที่เขียนก็รับรู้ว่าอ่านว่าอะไร ขณะที่เขียนหากเป็นจำนวน ก็รับรู้ในอีกมิติของตัวเลขว่าคืออะไร หากเกิดคู่ขนานแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นมากๆ เลยครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ
โหย  ยาว ขอนอนเอาแรงก่อน แล้วค่อยมาอ่านครับ
ฟัง น้องแอมป์ คุยกับคุณพ่อ น่ารักจังคะ...

อ่านบันทึก กำลังจะพิมพ์ก็เห็น ความคิดเห็นของคุณเม้งแล้ว ตรง

Input -->Process -->Output

อันนี้ ผมพูดที่ทำงานประจำ

แต่ที่ผมมักจะพูดด้วยอีกว่า

อ่าน คิด ทำ ที่โรงเรียนทำกัน แต่เน้นที่อ่าน

ผมเองเลย ใช้คำใหม่

รับรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์

รับรู้ วิธีให้ได้รู้ ทั้งอ่าน ดู ฟัง ถาม แต่การอ่านเป็นวิธีที่รับรู้ด้วยตนเองได้ง่ายที่สุด

วิเคราะห์ วิธีที่ให้คิดว่าอะไร ทำไม อย่างไร แบบไหน เท่าไร เหมือนเอาอย่างเดียวมาแตกให้เป็นเสี่ยง เพื่อให้ได้รู้ว่ามันคืออะไร

สังเคราะห์ วิธีแสดง ทำ บอก ว่าจะแสดง จะทำ จะบอก ให้มันเป็นอะไร เป็นอย่างไร เป็นแบบไหน เป็นเท่าไร แสดงในที่นี่ได้ทั้งเขียนหรือสื่ออะไรแบบไหนก็ได้

มันเหมือนเป็นระบบ

ถ้ายังรับรู้ได้ไม่ดี เอาวิเคราะห์ได้ไม่เป็น จะสังเคราะห์ก็คงไม่ได้

ผมก็ชอบอ่าน แต่ผมชอบเรียนลัดครับ

การเรียนลัดของผม คือการฟังผู้ใหญ่หรือผู้มีประสบการณ์เล่าให้ฟัง ด้วยความที่เล่าแบบโม้ๆ ก็ไม่ว่า แต่หลายครั้งผมได้รับรู้ถึงประสบการณ์ ความรู้ แนวความคิด แง่มุมมอง ที่เป็นความรู้อยู่ในตัวบุคคลเลย และไม่มีอยู่ในตำราให้อ่านด้วย

อ่าน คิด ทำ เป็นสิ่งอยู่คู่กับการเรียนรู้เสมอแน่นอนเลยครับ

ขอบคุณครับ ที่แนะนำเปิดบันทึกครับ

สวัสดีครับ
P

บล๊อกนี้ช่างอุดมสมบูรณ์ ไปด้วยแนวคิด  ทำให้ผมคิดถึงคำถามที่ว่า

  • คนไทย ขาดอะไร      (เบิร์ต)
  • อาจารย์ไม่มีคุณภาพ (กมลวัลย์)
  • และอื่น ๆ
  • สามารถนำมาปรับใช้ แก้ปัญหาเบื้องต้นได้บ้าง
  • ความรู้สึกที่ดีในเวลาที่สั้นๆ อาจเป็นผลดีไปตลอด
  • ขอบคุณมากๆ

สวัสดีค่ะน้องเม้ง

  • เรื่องคิดเลขในใจของน้องเม้งคงทำให้พ่อพี่ดีใจมากเลยเนี่ย   พ่อชอบมากเลยเวลาเห็นเด็กๆชอบคณิตศาสตร์และคำนวณได้ไวๆโดยไม่ต้องทด  คงเหมือนครูภาษาไทยที่ดีใจเวลาเห็นเด็กเขียนเรียงความเก่งๆมั้งคะ
  • เดี๋ยวจะให้พ่ออ่านดูวิธีคำนวณของน้องเม้งนะคะ  อยากรู้จังว่าใช้หลักการเดียวกันรึปล่าว  นักคณิตศาสตร์เหมือนกันคงคุยกันรู้เรื่อง     
  • ของพี่ถ้าเกินจากที่นับนิ้วได้  พี่ก็ได้แต่นั่งยิ้มแห้งๆอย่างเดียว   : ) 
  • น้องเม้งพูดถึงกระบวนการคอมพ์  Input -->Process -->Output  นี่ดีจัง ทฤษฎีระบบนี่ถ้าใช้ให้ครบกระบวน มันช่วยขับเคลื่อนอะไรได้เยอะ   คือมันไปครบชุด   อย่างที่เม้งบอกว่า  "อ่านเข้าไปเพื่อนให้คิด คิดให้สุกภายใน แล้วก็ถ่ายทอดมาที่ ทำ   ทำให้การทำ มาเสริมการคิด แล้วทำให้เขียนได้ แล้วอ่านทบทวน เพื่อเช็คว่าใช่แล้ว ถูกแล้ว"  วนเป็นลูปกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการไปเลย 
  • ถ้าปรับระบบการวัดผลประเมินผลตลอดระยะการเรียนรู้ด้วย การประเมินผลตามสภาพจริง  ยิ่งดีใหญ่เลย
  • การประเมินตามสภาพจริงแบบนี้  ใช้ได้ดีกับการเรียนรู้แบบโครงงาน ในระดับน้องเล็กๆ ทั้งประถม และมัธยม  ที่โรงเรียนสานต่อกันอยู่ตอนนี้นะคะ  ดีมากเลย  เป็นหลักคิดแบบการวิจัยที่เด็กๆจะได้ทักษะกระบวนการ  เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต 
  • ทฤษฎีระบบของเม้งทำให้พี่แอมป์นึกถึง  น้องชายพี่แอมป์   เป็นโปรแกรมเมอร์  วิเคราะห์ระบบ  ออกแบบระบบ  ทำอะไรสักอย่างให้มันเชื่อมๆกัน  นิวรอนเน็ตเวิร์กมังคะ   เรียกถูกรึปล่าวเนี่ย   
  • ที่น้องเม้งเล่ามาทำให้พี่ได้เห็นว่าทุกคนในครอบครัว มีส่วนช่วยให้เด็กเกิดพัฒนาการการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี    ความใส่ใจที่จะสร้างฐานความรู้ เตรียมความพร้อมให้ลูกหลาน แบบที่คุณปู่กับกับคุณพ่อของเม้งทำให้นั้น   มีค่ามาก  เพราะจะเป็นทั้งทักษะที่ดี เป็นการสร้างทัศนคติทางบวก  และทำให้เด็กมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์   ใฝ่เรียน  ใฝ่รู้
  • และน้องเม้งโชคดีมากนะคะ  ที่เป็นที่รักของคนรอบข้าง  ก็ทำให้พี่มองเห็นอีกว่าเด็กที่เติบโตมาด้วยความรักนั้น จะมีทัศนคติที่ดีในการเรียนรู้ เหมือนที่เม้งกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ทุกอย่างรอบตัวอย่างมีความสุข  ( คือเห็นชัดว่าตอนเล็กๆคงซนชะมัดเลย    อิอิ)
  • เอ.....การเล่นเกม Tetris  สัมพันธ์กับการอ่านเร็วจริงๆหรือคะ  .... บล็อกอิฐตีลังกา กับแถวตัวอักษรที่อยู่นิ่งๆ  เม้งเอามาเชื่อมกันได้ไงน่ะ   พี่รู้สึกทึ่งมากอะ.    น่าจะเขียนเล่าอีกหนึ่งบันทึกเนอะ   " วิเคราะห์กระบวนการอ่านเร็วด้วยกระบวนเกม Tetris "
  • เวลาเขียนสื่อสารกัน  น้องเม้งเขียนไหลรื่นชื่นบานไปตามธรรมชาติอย่างที่เป็นนี่แหละค่ะ  สนุกดี พี่ชอบ  เล่าความคิดกันสดๆ  ตรงๆ  เป็นธรรมชาติดีออก 
  • เวลาเขียน พี่แอมป์ก็ไม่ได้มีหลักวิชาอะไรหรอกค่ะ  พี่ใช้ความเข้าใจแบบบ้านๆ อันเกิดจากประสบการณ์ทั่วไปตามธรรมดา   คืออาศัยสามัญสำนึกตามปกติอะค่ะ   : )

สวัสดีค่ะ คุณธรรมาวุธ

  • น่ารักดีอะค่ะ เข้ามาบอกให้รู้ว่ายาว  แล้วก็ไปนอน   แล้วก็คงนอนยาว....ว... 
  • จะเข้ามาอีกเมื่อไหร่ก็ยินดีต้อนรับเสมอนะคะ  : )

สวัสดีค่ะ คุณตาหยู

  • ชอบจังเลยค่ะที่คุณตาหยูบอกว่า   การเรียนลัด  คือการ "ฟัง" ผู้ใหญ่เล่าประสบการณ์   ทำให้ได้รับรู้ถึงประสบการณ์ ความรู้ แนวความคิด แง่มุมมอง ที่เป็นความรู้อยู่ในตัวบุคคล และไม่มีอยู่ในตำราให้อ่านด้วย
  • ความรู้ที่ไม่มีอยู่ในตำรา มักเป็นความรู้อันเกิดแต่ประสบการณ์และปริบทเฉพาะบุคคล นอกจาก วิชาอ่าน  วิชาคิด และวิชาทำ  แล้ว สงสัยต้องเพิ่ม วิชาฟัง ไปอีกหนึ่งวิชา
  • กระบวนการรับรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ แบบของคุณตาหยูนี้  น่าจะใช้ได้ดีกับทุกวิชานะคะ   เพราะนอกจากรับข้อมูลข่าวสารเข้าไปแล้ว  ก็จะทำให้เราแยกให้เห็น และโยงให้เห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันได้  แถมสรุปเป็นคำอธิบายในแบบของเราได้อีกต่างๆหาก
  • และที่คุณตาหยูพูดมา   เป็นทักษะสำคัญในการสื่อสารด้วยค่ะ เมื่อเราสื่อสารความรู้ที่ได้รับมา ในแบบของเราได้   การเป็น "ผู้รู้"  ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมนะคะ    : )

สวัสดีค่ะ คุณสิทธิรักษ์

พอคุณสิทธิรักษ์ บอกว่า "บล็อกนี้ช่างอุดมสมบูรณ์....."  ทำให้ดิฉันคิดถึงบรรดาข้าวปลาอาหาร  ที่พี่ๆน้องๆขนกันมาเสิร์ฟระหว่างการสนทนา 

มิน่า..ช่วงหลังเข้ามา G2K บ่อยๆ  ถึงได้รู้สึกว่าน้ำหนักขึ้น  : )

เป็นไปได้ว่าว่า การร่วมสนทนากันฉันมิตร ด้วยจิตอันเป็นกุศล  หวังผลให้เกิดแก่ชาติและเยาวชน ทำให้เกิด "แนวคิดอันอุดม" ได้เป็นอย่างดีนะคะ

สวัสดีค่ะพี่หน่อย

  • ดีใจจัง  พี่หน่อยแวะมา....
  • บ้านแอมแปร์จะคุยกันตอนกินข้าวเย็นทุกวันอะค่ะ  ตอนนี้น้องชายแต่งงานไปแล้ว เลยเหลือกันสามคน  แม่จะคุยเรื่องแบบผู้หญิง พ่อคุยเรื่องแบบผู้ชาย
  • ส่วนแอมแปร์ก็จะคุยเรื่องผู้หญิงกับผู้ชายอย่างละครึ่งให้ สะ-มะ-ดุน  กัน ..... อิอิ
  • ตอนเล็กๆ เหตุที่ทำให้แอมแปร์คุยกับเพื่อนไม่ค่อยรู้เรื่อง  คงเป็นเพราะคุยกับพ่อมากไปเนี่ยแหละ  พ่อเขาคุยแบบวิเคราะห์  ทำให้แอมแปร์ติดนิสัยไปด้วย   
  • เพื่อนเขาคุยกันแบบสั้นๆ ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วก็จบ   ของแอมแปร์ต้องต่อด้วย อะไร เป็น อะไร  เพราะอะไร  หรือสงสัยว่าอาจเป็นเพราะอะไรได้อีก  หนึ่ง สอง สาม สี่ เป็นข้อๆ  
  • เพื่อนบอกว่า เราจะไม่เล่น ตุ๊ก-กะ-ตา กะเธอแล้วแหละ  เธอพูดอะไรก็ไม่รู้  ...ไม่รู้เรื่อง 
  • ตอนแอมแปร์เป็นครู  ก็เลยอยากจะพยายามทำความเข้าใจเด็กให้มากที่สุด   โดยเฉพาะเด็กบางคนที่เป็นเหมือนเรา   แอมแปร์รู้สึกเข้าใจชะมัด   
  • บางทีเจอเด็กที่รู้สึกแบบเดียวกัน... เลยนั่งคุยกันได้เป็นนานสองนานอะค่ะ    : ) 
เห็นด้วยกับคุณธรรมาวุธ  เดี๋ยวเข้ามาใหม่ค่ะ อิอิ
  • คือไปนอนเอาแรงก่อน  แล้วค่อยมาใหม่ใช่ปะคะ  อ.ราณี    อิอิ   : )
  • สวัสดีครับพี่แอมป์
  • เอ.....การเล่นเกม Tetris  สัมพันธ์กับการอ่านเร็วจริงๆหรือคะ  .... บล็อกอิฐตีลังกา กับแถวตัวอักษรที่อยู่นิ่งๆ  เม้งเอามาเชื่อมกันได้ไงน่ะ   พี่รู้สึกทึ่งมากอะ.    น่าจะเขียนเล่าอีกหนึ่งบันทึกเนอะ   " วิเคราะห์กระบวนการอ่านเร็วด้วยกระบวนเกม Tetris "
  • เรื่องนี้ไว้ผมจะเขียนไว้ให้นะครับ เป็นบทความหนึ่งในการทำให้อ่านเร็วนะครับ ผมเจอแบบนั้นจริงๆ จนแบบทึ่งในตัวเองว่ามันมีผลมากๆ โดนไม่ต้องพิสูจน์นะครับ ผมคิดว่า อาจจะบวกพลังจินตนาการของผมเข้าไปด้วยในขณะที่อ่านนะครับ ในการผสมสองสิ่งเข้าหากันนะครับ
  • ไว้ผมจะเอามาฝาก ไว้ในบทความต่อๆ ไปนะครับ
  • สำหรับตอนเด็กนั้น อิๆ จริง ก็ซนหรือไม่ซนหนอ อิๆ รู้แต่ว่า ที่ไหนบ้านใคร มีพริกขี้หนูสด มะนาว แล้วก็ถั่วฝักยาว ผมจะตามไปนอนที่บ้านนั้น จนได้ครับ หากไม่ได้ไปผมจะร้องจนได้ไปนะครับ  ผมชอบน้ำพริกกะปิมะนาว จิ้มด้วยถั่วฝักยาวมากๆ นะครับ
  • ตอนเด็กๆ ผมไปนอนมาทั่วทั้งหมู่บ้านนะครับ ผมว่า ละแวกบ้านปู่ย่า  ละแวกบ้านตายาย และละแวกบ้านเอง นะครับ
  • วีรกรรมตอนเด็กๆ มีเยอะครับ ต้องไปถามคุณแม่ครับ คงเล่ากันเป็นเดือนครับ ห้าๆๆๆ
  • เรื่องการเขียนผมชอบเขียนแบบบอกเล่ามากกว่าการปรุงแต่งนะครับ ส่วนสำนวนผมจะคิดออกเอาตอนนั้นนะครับ ก็เลยปล่อยๆไปตามนั้น บางครั้งผมกลับมาอ่านใหม่ ผมต้องจำว่าตัวเองคิดอะไรในตอนนั้น แต่ก็ไม่ได้ลืมครับ เพียงแต่ระลึกได้ว่ามันออกมาจากสมองเรา
  • หลายๆ ครั้งที่คุณเบิร์ดเอามาเขียนไว้ตอบตัวผม แล้วก็ วงเล็บไว้ว่าคุ้นๆมั๊ย  อิๆ นับว่าเป็นสิ่งที่เธอช่วยให้ผมจำอะไรได้ขึ้นเยอะเลยครับ ผมเขียนบทความหนึ่งไว้ในเรื่องนี้ ว่าหลักการในการเขียนบล็อกแบบปล่อยน้ำให้ไหลนะครับ
  • ขอบคุณมากๆ เลยนะครับ

สวัสดีค่ะพี่แอมป์

เบิร์ดเห็นด้วยเลยว่าเด็กไทยเดี๋ยวนี้มีปัญหาการอ่านเขียน ตีความ จับใจความ..เพราะเบิร์ดต้องตรวจ IQ เด็กและมีอยู่ part หนึ่งที่เกี่ยวกับการคิดในใจเด็กส่วนใหญ่จอดสนิท..ความรู้รอบตัวไม่มี..ต่อประโยคไม่ได้ ซึ่งเบิร์ดสงสัยมาตลอดว่าที่เด็กไทยมีปัญหาเรื่อง IQ ส่วนหนึ่งจะมาจากการสอนภาษาไทยเป็นคำๆหรือเปล่าเพราะเด็กผันอักษรไม่เป็น..เมื่อผันไม่เป็นก็มีปัญหาเกี่ยวกับการอ่าน ( ไม่ชอบอ่านเพราะอ่านไม่ได้ ไม่เข้าใจ )...อ่านไม่ได้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียน  การสอน และการสอบต่อไปอีก..เพราะตีความโจทย์ไม่ออก..

เบิร์ดพยายามหาว่าเราเปลี่ยนแนวทางการสอนภาษาไทยจากสมัยที่เรียนอักขระวิธี  วจีวิพากษณ์  วากยสัมพันธ์ ( สมัยแม่ )...มาเป็นอ่านเอาเรื่อง เรียงความ ย่อความ หลักภาษาไทย ( สมัยเบิร์ด )...แล้วมันกลายมาเป็นคำๆเหมือนภาษาจีนได้ยังไง ( สมัยนี้ )..เด็กขาดความสามารถตรงนี้จริงๆค่ะ..และเป็นสิ่งที่เบิร์ดหนักใจมาก..เพราะเค้าไม่มีคลังความหมายของคำอยู่ในสมองแล้วจะพลิกแพลงอย่างไร..จะคิดได้อย่างไร..และจะทำได้อย่างไร...

วิธีการสอน " วิชาอ่าน วิชาคิด วิชาทำ "..เบิร์ดเห็นด้วยเลยค่ะ..คิดในใจก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กฝึกคิดและจินตนาการได้อย่างดีเพราะเกิดทั้งรูปธรรมและนามธรรมครบถ้วนกระบวนความ..น่าเสียดายที่การสอนเดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่กลายเป็นวิชาท่องไปเสียแล้ว..

ขอบคุณมากค่ะพี่แอมป์ที่ทำให้เบิร์ดได้แนวคิดในเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก

สวัสดีค่ะ น้องเม้ง

  • ขอบคุณมากสำหรับบทความ  วิเคราะห์กระบวนการอ่านเร็ว ด้วยกระบวนเกมส์ Tetris นะคะ อ่านสนุกชะมัด  สนุกตอนอ่านไปเถียงไปในใจอะค่ะ  อิอิ  
  • ที่จริงวิธีการเฉพาะในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนนี่น่าสนใจมากนะคะ  ถ้าวัฒนธรรมของไทยเปิดให้เด็กๆได้บอกในสิ่งที่เขาค้นพบ  ไม่ "ตัดหน่อจินตนาการ" แบบที่เม้งว่า  ด้วยการห้ามว่า " อย่า" แบบที่ น้องเบิร์ด บอก  เด็กๆจะมีกระบวนการเรียนรู้อันบรรเจิด  และจะได้และเปลี่ยนกันอย่างสุดบันเทิงเริงใจ  โดยไม่ต้องกลัวใครหาว่า....  หาว่าอย่างที่เม้งเล่าในบันทึกน่ะ.... : )
  • ตอนเด็กๆ  พี่แอมป์ก็เจอเข้าหลายหน่อเหมือนกัน  ยังเสียดายจนบัดนี้  ไม่อยากโทษผู้ใหญ่     รู้สึกว่าเราไม่กล้าเองที่จะคิด  และไม่กล้าที่จะยืนยันความคิดของเราออกมาดังๆ   เลยไปเขียนเงียบๆในไดอารี่แทน  พอเอามาอ่านตอนโตแล้วก็ตลกตัวเองชะมัด
  • ว่าแต่ว่าเราชอบกินน้ำพริกกะปิเหมือนกันเลย  สงสัยจะเป็นอาหารประจำเมือง  : )  ไปทางไหนก็หนีไม่พ้นน้ำพริกอะค่ะ  แต่พี่ไม่ถึงขั้นร้องแงๆไปนอนบ้านเขา    นึกแล้วเวียนหัวแทนคุณแม่เม้งเลยอะ  อิอิ 

สวัสดีค่ะ น้องเบิร์ด : )

  • เบิร์ดต้องเช็คไอคิวเด็กใช่ไหมคะ น่าสนใจมากเลย
  • วิธีเช็ค  มีลักษณะการให้เขียนโต้ตอบด้วยมั้ยคะ   แล้วใช้แบบทดสอบของอะไรคะ ที่สามารถเช็คไอคิวทางภาษาได้  ฯลฯ  พี่อยากรู้ไปหมดอีกแร้ว 
  • เพื่อไม่ให้เป็นภาระของเบิร์ด  เดี๋ยวพี่จะลองไปค้นดูก่อน  ไว้ติดขัดแล้วจะวิ่งไปถามนะจ๊ะ   เรื่องนี้น่าสนใจมากเลย
  • พี่ห่วงเด็กๆเหลือเกิน  พี่คิดว่า  "คนเราจะรู้และคิดได้เท่ากับภาษาและสัญลักษณ์ที่เรามี"  ภาษา คือการคิด  คนเราจะคิดได้ก็ต้องใช้ภาษา  ถ้ามีภาษาไม่พอใช้  แล้วจะเอาอะไรมาเป็นเครื่องมือช่วยขยายการคิด     ทีนี้ใครเขาฉลาดกว่า  เขาก็จะ คิดแทน และครอบงำนำทิศให้ชีวิตผิดเลน เบี่ยงเบนไปโดยง่าย   เพราะไม่มีภาษาใช้  ไม่ยอม"สั่งสมความหมายหลากหลายชุด" ที่สักวันจะบูรณาการกลายเป็นความรู้    เอาไว้สู้กับความไม่รู้  .....เฮ้อ...บ่นยาวอีกแล้วฉัน.....  
  • วิชาอ่าน วิชาคิด วิชาทำ นี่เป็นแนวคิดพ่อพี่อะค่ะ    เหมือนๆว่าพ่อจะเคยโพสต์สักหนแล้วในที่ใดที่หนึ่ง   แต่ไม่มีฟีดแบ็ก    พ่อบอกว่าให้พี่ไปปรับที่พ่อเขียนเอาเอง  พ่อพูดได้แต่ไม่ชอบเขียน  พ่อชอบคิดเรื่องคณิตศาสตร์ของพ่ออย่างเดียว 
  • พี่แอมป์ได้ พิ'ณาไฟล์เห็นแล้วว่าหน้าตาน่าคบ  เลยตัดสินใจโพสต์  อย่างน้อยๆก็ได้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร  ดีกว่าให้ลอยลมหายไป
  • เรื่อง การอ่านออกเขียนได้ ( Literacy ) นี่เป็นงานหนักของครูภาษาไทยเลยนะคะ  พี่เห็นใจครูทุกคนเพราะเรื่องนี้เกิดจากระบบ ที่ยอมๆกันมาจนสร้างการไม่รู้ภาษา ส่งผลให้เกิดการไม่รู้เท่าทัน  เพราะมีภาษาใช้ไม่พอ  ทำให้พี่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยการสอนเรื่อง  "การรู้เท่าทันการสื่อสาร"  อิอิ  
  • เพื่อนบอกว่า ถ้าคุยกับพี่แล้วพี่ไม่เลี้ยวกลับมาหาเรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร  เธอจะเลี้ยงส้มตำฟรีตลอดปีการศึกษา  พี่เลยบอกเธอว่าถ้าอย่างนั้นพี่ยอมอดส้มตำตลอดชีพ 
  • ......จะไปกินซุปหน่อไม้แทน....   อิอิ 

สวัสดีค่ะ อ.ดอกไม้ทะเล

เพิ่งได้มาอ่านบันทึกนี้ของอาจารย์ค่ะ ได้ความรู้มากทีเดียว ไม่มีข้อคิดเห็นอื่นๆ เพิ่มเติม เพียงแต่อยากแวะมาลงทะเบียนทักทายค่ะ ; )

สวัสดีครับพี่สาว 

  • ว่าแต่ว่าเราชอบกินน้ำพริกกะปิเหมือนกันเลย  สงสัยจะเป็นอาหารประจำเมือง  : )  ไปทางไหนก็หนีไม่พ้นน้ำพริกอะค่ะ  แต่พี่ไม่ถึงขั้นร้องแงๆไปนอนบ้านเขา    นึกแล้วเวียนหัวแทนคุณแม่เม้งเลยอะ  อิอิ 
  • อิๆ ผมมีประวัติเรื่องการกินอาหารเผ็ดครับสมัยตอนตัวเล็กๆ ก่อนหกขวบนะครับ เพราะผมกินเผ็ดได้ตั้งแต่เด็กๆ คงตั้งแต่สองสามขวบมั้งครับ (เห็นคุณแม่โม้ให้ฟังครับ ว่า ตอนเด็ก แม่พาไปงานต่างๆ เช่นงานบวช งานศพ แล้วเค้าจะมีอาหารเผ็ดๆ นะครับ เช่นแกงวัวคั่วกลิ้ง แล้วมีคนทราบว่าผมกินแกงวัวคั่วกลิ้งได้ โดยไม่ต้องเอาเนื้อมาล้างน้ำก่อน กินกับข้าวได้เลย เหมือนคนทั่วไป คนที่รู้ก็เลย พาผมกับจานข้าวพร้อมแกง ไปถามคนอื่นๆ ว่าให้ทายซิว่าเด็กคนนี้ทานข้าวจานนี้ได้ไหม แล้วมีคนไม่เชื่อไงครับ ว่าผมทานได้ เรื่องก็เลยเกิดครับ คือว่า คนที่พาผมไปบอกว่า เอานี้ไหม หากเด็กคนนี้กินไม่ได้ จะซื้อเหล้าให้สิบขวด แต่หากเด็กคนนี้กินได้ ซื้อให้ขวดเดียวก็พอ ห้าๆๆๆ ผมเองไม่รู้เรื่องอะไรหรอกครับ จำความยังไม่ได้เลยครับ ว่าเมื่อไหร่ รู้แต่ว่าอยากกินอย่างเดียว แม่บอกว่ามีคนพาผมไปทำแบบนี้บ่อยครับ กรรมของผมจริงๆ ครับที่เป็นเครื่องเล่นให้คนพนันกัน แต่ยังไงผมก็อิ่มเนอะพี่เนอะ อิๆ)
  • ผมมีวีรกรรมเยอะตอนเด็กๆ ครับ ดื่มน้ำมันโซล่า ก็ผ่านมาแล้วครับ เต็มท้องเลยครับพี่ ห้าๆๆๆๆ
  • เอามือไปปัดตะเกียงน้ำมัน จนมาโดนหลังมือตัวเอง ก็ผ่านมาแล้วครับ อิๆ ยังเป็นรอยแผลเก่าอยู่เลยครับ
  • สงสัยจะซนเหมือนที่พี่ว่าจริงๆ ครับเนี่ย แต่อย่างไรก็ตามครับ หากแม่ต้องการจะตีเมื่อไหร่ ก็ยืนให้ตีนิ่งเลยครับ ห้าๆๆ (แม่บอกว่า แค่นั้นไม่พอ ยังถามต่อว่า ตีเสร็จแล้วหรือยังด้วยครับ ห้าๆๆๆๆๆ)
  • แรงจินตนาการผม ก็หดๆ เหมือนกันครับ แต่ผมก็ไม่ได้ทำลายมันเลยครับ คือแค่หดๆ แต่ไม่ได้หายครับ พร้อมเก็บเอาไว้เสมอ แล้วค่อยหาโอกาสให้มันแตกหน่อต่อไปครับ
  • เพื่อนผมคนหนึ่ง มีแรงจินตนาการสูงส่งมากเลยครับ เอาไข่ไก่ไปปลูกครับ คิดว่าคงจะงอกเหมือนต้นไม้ หรือว่ายังไงไม่ทราบ นะครับ โชคดีนะครับ ที่หากเกิดไปขุดแล้วงอกมาเป็นตัวลูกไก่ ผมว่าคงได้รับรางวัลแน่ๆ เลยครับ แบบว่าผลิตเครื่องกกไข่ธรรมชาติได้ครับ
  • กลายเป็นวีรกรรมของหมู่บ้านไปเลยครับ 
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ

สวัสดีค่ะพี่แอมป์

วิธีเช็ค  มีลักษณะการให้เขียนโต้ตอบด้วยมั้ยคะ   แล้วใช้แบบทดสอบของอะไรคะ ที่สามารถเช็คไอคิวทางภาษาได้  ฯลฯ  พี่อยากรู้ไปหมดอีกแร้ว ...

เห็นคำถามนี้เบิร์ดต้องรีบตอบก่อน...

แบบทดสอบ IQ มีอยู่หลายตัวค่ะ แต่ที่นิยมใช้เพราะวัดได้เยอะและครอบคลุมจะเป็นของ WAIS ( สำหรับผู้ใหญ่ 16 ปี ขึ้นไป).. WISC ( สำหรับเด็ก ไม่เกิน 16 ปี )  ..แบบทดสอบนี้จะวัด 2 ด้านหลัก คือ ด้านภาษา ( Verbal ) และด้านการกระทำ ( Performance ) ขออธิบายจากชุดที่เป็นชุด R คือชุดที่มีการทดสอบหาค่ามาตรฐานในไทยนะคะ

ด้านภาษา..จะมี 6 ด้านย่อย ได้แก่

information คือ ความรู้ทั่วไป เช่น นายก ฯ ชื่ออะไร..พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศไหน..ดินสอหนึ่งโหลมีกี่แท่ง.. ฯลฯ

comprehension วัดความรู้ความสามารถและความเข้าใจทางสังคม..เช่นเห็นกระเป๋าตังค์ตกอยู่จะทำอย่างไร..เห็นควันไฟลอยออกมาจากหน้าต่างบ้านเพื่อนจะทำอย่างไร...

arithmatic  วัดความสามารถทางการคำนวณอย่างง่ายๆ บวก-ลบ เลขในใจ

similarities  ทดสอบความคิดเชิงนามธรรม อธิบายถึงความหมายของสิ่งที่เหมือนกัน เช่น ส้ม กล้วยเหมือนกันอย่างไร..กระดาษกับถ่านเหมือนกันอย่างไร..ตัวนี้เป็นตัวชี้วัดเชาวน์ปัญญาที่สำคัญอย่างหนึ่งเลยค่ะ เพราะความสามารถในการเชื่อมโยง หาความหมายเป็นทักษะขั้นสูงใช้ระดับ critical thinking เลยค่ะ

digit span วัดความจำปัจจุบัน โดยให้จำชุดตัวเลข ( 2-9 ตัว ) มีทั้งพูดตาม และพูดย้อนกลับ คือ 2 ,7 พูดตามก็ 2 , 7 แต่พูดย้อนกลับก็ 7 ,2

vocabulary  อธิบายคำศัพท์จำนวน 35 คำซึ่งจะทวีความยากขึ้นเรื่อยๆ ( นี่แหละค่ะที่เบิร์ดหนักใจล่ะ..จอดสนิทกับ patr นี้ทุกที )

ด้านการกระทำ มี 5 ด้านย่อย

picture  completion  ให้หาส่วนที่หายไปจากภาพ ดูvisuoperceptive  defect..ความบกพร่องทางการกำหนดรู้และเห็น

block design ดูการทำงานร่วมกันของ eye - hand co-ordinate

picture  arrangement  เรียงรูปภาพแล้วเล่าเรื่องราว

object  assembly เอาชิ้นส่วนที่ให้มาประกอบกันเป็นรูปภาพ ( คล้ายๆจิ๊กซอร์ค่ะ )

digit  symbol  ต้องเขียนสัญลักษณ์กำกับตัวเลขแต่ละตัวตามสัญลักษณ์ที่กำหนดให้ ให้เร็วที่สุดและถูกต้องในเวลาที่กำหนด

แบบทดสอบ IQ ใหญ่จะดูการทำงานของสมองทั้งสองซีกค่ะพี่แอมป์ และดูความสามารถในการทำงานร่วมของสมองด้วย...ถ้าเราจอดเรื่องคลังของคำในสมอง..การทดสอบด้านของภาษาจะเกือบจอดสนิททั้งหมดเลยค่ะ

 

 

 

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์กมลวัลย์

ขออนุญาตสวัสดีลงทะเบียนไว้ก่อนเหมือนกันค่ะอาจารย์กมลวัลย์  ดีใจที่อาจารย์แวะมาค่ะ  ดิฉันจะตามไปอ่านบันทึกอาจารย์อีกทีวันจันทร์นะคะ  ข้อมูลน่าอ่านและทำให้อยากตอบมากค่ะ : ) 

สวัสดีค่ะ น้องเม้ง : )

พอดีพี่ต้องไปประชุมที่ขนอมสองวันค่ะ  น้องเม้ง เดี๋ยวจะกลับมาฟังวีรกรรมต่อ  ของพี่ก็มี    เจอกันตัวเป็นๆเลย  อิอิ

สวัสดีค่ะ น้องเบิร์ด  : )

ขอบคุณเบิร์ดมากๆเลยนะจ๊ะที่เข้ามาเล่า   ดีใจมาก   พี่กำลังค้นข้อมูลเพราะรู้สึกว่ามีอะไรเชื่อมกับที่พี่พยายามสอนเด็กเยอะเลย  ถ้าพี่เข้าใจ  พี่น่าจะสอนเด็กได้ดีกว่านี้ ถึงแม้ไอคิวพี่จะไม่ดีเท่าไหร่  อิอิ

เดี๋ยวกลับมาวันจันทร์จะเข้ามาร่วมสนทนาใหม่นะคะ  ขอบคุณพี่ๆน้องๆทุกท่านมากค่ะ   : ) 

 

ชอบวิชาอ่าน วิชาคิด และวิชาทำมากค่ะ ขอบคุณที่เล่าเรื่องและเสริมแก่นสารความรู้ให้ รู้สึกเพลิดเพลินที่ได้อ่านค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

 P  rujires - thanooruk

ขอบพระคุณที่อาจารย์แวะมา และยินดีที่อาจารย์ชอบค่ะ บันทึกนี้พ่อได้เล่าให้ฟังและดิฉันก็ตั้งคำถามบ้างตามประสาคนไม่รู้  กว่าจะคุยกันจบก็แทบไม่เป็นอันทานข้าว  : ) 

ถ้าสักวันดิฉันมีโอกาสได้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนอนุบาลเล็กๆสักโรง  ดิฉันก็ว่าจะลองทำตามแนวคิดนี้ดูเหมือนกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท