BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เอกัตถะ (Univocal) ยุคลัตถะ (Equivocal) และสมานัตถะ (Analogous)


เอกัตถะ ยุคลัตถะ และสมานัตถะ

๓ อย่างนี้คือ การจำแนกลักษณะความหมายของคำศัพท์ ซึ่งเป็นปัญหาในการเชื่อมโยงความหมายของคำศัพท์ หรือถักทอสิ่งที่มีอยู่ภายในใจ....แต่ก่อนที่จะนำเสนอเรื่องนี้ เรามาทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาแล้วอีกครั้ง....

นิมิต คือ เครื่องหมายที่เปิดเผยความหมายตัวของมันเองและยังใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเชื่อมโยงไปถึงความหมายของสิ่งอื่นๆ ด้วย...

นิมิตตามสัญนิยม คือ ข้อตกลงที่เรารู้ร่วมกันว่า สิ่งนั้นหมายถึงสิ่งนั้น และพัฒนาการสุดยอดของนิมิตตามสัญนิยมนี้ก็คือ คำศัพท์

คำศัพท์ เช่น คำว่า หมา เราหมายถึงสัตว์ชนิดหนึ่ง ....ส่วนความหมายของ คำว่า หมา ที่ปรากฎภายในใจจัดเป็น นิมิตตามแบบ...

ความหมายของคำศัพท์ที่ปรากฎอยู่ภายในใจจัดเป็น นิมิตตามแบบ ส่วนคำศัพท์ที่ใช้แทนความหมายที่ปรากฎอยู่ภายในใจจัดเป็น นิมิตตามสัญนิยม

การเชื่อมโยงความหมายของคำศัพท์หนึ่งไปยังอีกความหมายของคำศัพท์หนึ่ง ซึ่งคล้ายๆ กับการถักทอสิ่งที่มีอยู่ภายในใจนั่นเอง เรียกว่า คำนิเทศ...

ผู้เขียนจะพักการทบทวนไว้แค่คำนิเทศ ผู้สนใจ อ่าน คำนิเทศ (Predicables) ...สิ่งสากล (The Universal) ... สกุล (Genus) และ ชนิด (Species) ...ความผิดแผกเฉพาะ (Specific Difference) ...และ สภาวลักษณะ (Property) และ จรสมบัติ (Accident)  ได้ตามลำดับ...

.....

เนื่องจากบางครั้ง คำศัพท์ซึ่งเป็นนิมิตตามสัญนิยม บ่งชี้ความหมายไม่เหมือนกัน คล้ายคลึงกัน และแตกต่างกัน ... ดังนั้น นักตรรกศาสตร์จึงได้จำแนกลักษณะความหมายของคำศัพท์ไว้ ๓ แบบ คือ

  • เอกัตถะ (Univocal)... คำศัพท์เดียว มีความหมายเดียว เช่น

วัว คือ สัตว์ชนิดหนึ่ง ...

กิน คือ การนำอาหารเข้าไปสู่ร่างกายทางปาก ...

สวย คือ สภาพที่ได้รับการประเมินค่าว่าน่าชม...

.....ฯลฯ ...

  • ยุคลัตถะ (Equivacal) ... คำศัพท์เดียว มีสองความหมายขึ้นไป เช่น

หมา คือ สัตว์ชนิดหนึ่ง หรือ ภาชนะสำหรับตักน้ำ ...

แก้ว คือ ภาชนะสำหรับใส่น้ำดื่ม, อัญมณีมีค่าสูง หรือต้นไม้ชนิดหนึ่ง

....ฯลฯ ...

  • สมานัตถะ (Analogous).... คำศัพท์เดียว แต่มีความหมายแคบกว้างแตกต่างออกไป เช่น

วันนี้มี วัว ขายในตลาดเยอะแยะ .... คำว่า วัว อาจหมายถึงเฉพาะ เนื้อวัว เท่านั้น หรืออาจหมายถึง วัวมีชีวิตเป็นๆ ทั้งตัว ....

นิมนต์ พระ สวดศพ ๑ เตียง .... คำว่า พระ อาจรวมเอาสามเณรด้วย เพราะปรกติ สามเณรก็สามารถสวดศพร่วมกับพระได้

พระ ในวัดกำลังลงปาฏิโมกข์... คำว่า พระ หมายถึง พระภิกษุเท่านั้น เพราะการลงปาฏิโมกข์จัดเป็นสังฆกรรม ซึ่งใช้เฉพาะพระภิกษุเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมไปถึงสามเณรด้วย (ไม่เหมือนประโยคก่อน)

.....

ในการเชื่อมโยงความหมายของคำศัพท์ที่เรียกว่า คำนิเทศ ซึ่งนำไปสู่การให้ความหมายหรือกำจัดความหมายของสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ...คำศัพท์จะต้องเป็น เอกัตถะ เท่านั้น หรือผู้ใช้จะต้องหลีกเลี่ยงคำศัพท์ที่เป็น ยุคลัตถะ และหรือ สมานัตถะ เพราะจะทำให้ความหมายที่ต้องการเชื่อมโยง หรือความหมายที่ต้องการสื่อออกไปผิดแผกไปจากความมุ่งหมาย...ประมาณนี้ 

หมายเลขบันทึก: 89117เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2007 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท