เด็กๆ ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เพราะอาจจะไม่เคยได้สัมผัสจริง


เมื่อสักครู่นี้ นั่งฟังข่าวในพระราชสำนักค่ะ ก็เลยได้ฟังคำบรรยายของนักข่าวที่ได้กล่าวถึงเรื่องที่นักศึกษาไทยในกรุงเดลีได้เข้าพบสมเด็จพระเทพ ฯ คะ

ดิฉันฟังข่าวไปก็จำติดหูได้ประโยคหนึ่งที่กล่าวประมาณว่า ให้นักศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องที่สนใจ เพื่อที่จะได้ศึกษาต่อในเชิงลึก

ได้ยินประโยคเหล่านั้นปั๊บ ในสมองก็นึกเชื่อมโยงไปยังบันทึกของอ.Beeman ในสองบันทึกนี้

เพราะทั้งสองเรื่องนี้ อาจารย์เขียนเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาที่มีมุมมองน่าสนใจ เมื่อได้อ่านทั้งสองบันทึกนี้ ใจดิฉันก็นึกถึงว่า มันเป็นคำถามที่ดิฉันแอบมีคำตอบอยู่ในใจ แต่ไม่แน่ใจเพราะยังไม่เคยได้ทดลองหาคำตอบ แต่ก็อยากจะลองหาคำตอบเล็กๆ ไว้บ้าง เพื่อที่ว่าอยากรู้ว่าแนวคิดเราจะพอเป็นไปได้ไหม

สมองมันก็เลยสั่งการและประมวลผลจากประสบการณ์ตัวเอง พร้อมทั้งประสบการณ์ของเพื่อนๆ ที่ได้พูดคุยบ้างเกี่ยวกับเรื่องเรียน ซึ่งเมื่อวานนี้ได้เจอเพื่อนๆ เราก็ได้คุยกันเรื่องนี้อยู่บ้าง

ประโยคนั้นข้างต้นจากข่าว ทำให้ดิฉันนึกคิดย้อนกลับไปว่า เออ....ทำยังไงเราถึงได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร

คำตอบที่ลองทวนจากตัวเองและประสบการณ์เก่าๆ ต้องย้อนไปสมัยเรียน นั่นคือ วิชาที่ตัวเองได้ลงมือทำ ถึงแม้จะเป็นเพียงโครงงานเล็กๆ ที่ทำส่ง แต่หากได้จำลองทำเสมือนจริงก็ทำให้ได้พิสูจน์ความสนใจ ความถนัด และความชอบของตัวเองได้มากทีเดียว

เช่น สมัยเรียน วิชาด้านการตลาด หรือด้านคอมพิวเตอร์ ที่ได้ลงมือปฏิบัติแบบเสมือนจริง รู้สึกได้เลยว่ามันได้ทดสอบความชอบและความสนใจของตนเองไปในตัว ทำให้เราต้องมานั่งย้อนมองว่า ตัวเราถนัดด้านไหน มีทักษะอะไร หรือแม้กระทั้งการได้มีหน้าที่ในทำชมรมวิเทศสัมพันธ์และชมรมคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และสุดท้ายลงเอยด้วยการได้ทำงานพิเศษระหว่างช่วงซัมเมอร์และฝึกงานกับบริษัท

ถึงแม้บางคำตอบอาจจะไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่าง แต่เราก็ได้สะท้อนมองตัวเองได้ว่า กรอบงานหรือทักษะที่เรามีคืออะไร ดังนั้นเมื่อจะ focus เข้าไปหาสิ่งที่เราชอบ มันก็เหมือนมีแผนที่สำหรับเดินทาง เพียงแต่หากยังไม่ชัดก็คงต้องลองลงมือทำต่อไป

และเมื่อมาคิดอีกมุมหนึ่ง วิชาที่ได้เรียนที่ขาดโอกาสในการได้ทดลองทำจริง อาจจะเป็นการปิดโอกาสให้เราได้ค้นพบเส้นทางความสนใจ ความชอบ หรือทักษะที่ถูกซ่อนไว้อยู่ จะว่าไปแล้ว อาจเป็นเพราะตอนนั้นยังขาดทักษะหรือโอกาสในการได้ลองรสชาดใหม่ๆ ที่ตัวเอง

ดังนั้น มันก็อาจจะเป็นแนวทางที่จะต่อยอดจากอ.Beeman ค่ะว่า การเรียนเป็นแฟชั่น หรือ การเรียนเพื่อไปประกอบอาชีพนั้น มันอาจเกิดมาจากสาเหตุที่เด็กนักเรียน และนักศึกษา ยังไม่รู้เป้าหมายหรือความชอบของตัวเองอย่างชัดเจน การสร้างเอกลักษณ์ของตนเองอันเกิดจากความชอบและความสนใจ ที่ส่งผลให้เกิดทักษะเพื่อเลี้ยงชิพตัวเองก็อาจจะไม่ชัดเจน เมื่อนั้นการได้ทำตามกระแสไม่ว่าจะเป็นกระแสสังคม หรือด้วยการแวดล้อมจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดหรือครอบครัว ก็อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจในการเรียนก็เป็นไปได้นะคะ

ซึ่งหากเป็นอย่างนี้แล้ว จะดีไหมถ้าเราสร้างให้เด็กๆ รู้จักตัวตนและความต้องการของตนเอง ก็น่าจะเป็นแนวทางที่จะทำให้ช่วยลดการเรียนตามแฟชั่นและช่วยสามารถเลือกเรียนในสาขาวิชาที่ตนเองต้องการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นไปตามที่เด็กๆ ชอบและสนใจ ความสุขในการเรียนและการใช้ชีวิตก็จะตามมาด้วยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 430769เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2011 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2014 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เมื่ออ่านบันทึกนี้จบ  ปราถนาแรกคือการอ่านเพื่อการศึกษาและเรียนรู้  เมื่ออ่านเพื่อการศึกษาและเรียนรู้  จึงทำให้รู้จักการที่มีคนคนหนึ่ง  ที่มีความพยายาม ความเพียร  ที่จะสร้างสรรค์ความปราถนาดีให้เกิดขึ้นในจิตใจของเด็ก  ของเยาวชน ของนักเรียนนักศึกษา 

สิ่งหนึ่งที่กระผมอ่านงานเขียนบันทึก  คือการอ่านบันทึกเรื่องราวของตนเองไปด้วย  อ่านตวามคิดตนเอง  อ่านความต่อยอดที่ประสงค์จะนำเสนอ  และเมื่ออ่านทุกตัวอักษรพบว่า  การอ่านความคิดตนเองด้วยขณะสายตาเคลื่อนไหวตามอักษร  คือการเรียนรู้ตนเองด้วยเช่นกัน

กระผมขอขอบพระคุณครับ  ที่ช่วยสร้างสรรค์อย่างยิ่ง  ในการนำเสนอ  ด้วยการจุดประกายแห่งความคิด  นี้  ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตนเองจากภายใน  ดั่งการรู้จิตปราถนาแห่งตน  อันเกิดจาการอ่านงาน  และการรู้จักตนเองเช่นนี้  คือสิ่งที่กระผมเข้าใจว่า  คือเนื้อหาแห่งการดำรงชีวิตที่ท่านเจ้าของบทความพยายามนำเสนอ 

เมื่อรู้จักตนเอง  เก็บกวาดขยะก็มีความสุข  เมื่อรู้จักตนเอง  ถีบสามล้อก็มีความสุข  เพราะงานและการศึกษา เกิดขึ้นจากความรักในสิ่งที่เรากระทำ

ขอขอบพระคุณมากครับ  ที่ช่วยเปิดแนวความคิดเรื่องการศึกษา  และการศึกษาที่แท้จริง  คือการศึกษาเรื่องแห่งการรู้จักตนเองจากภายในดวงจิตที่สว่างในกายตน

บันทึกนี้ เป็นความจริงมากทีเดียว ที่ครูผู้สอนจะต้องสอนให้เด็กลงมือทำจริงๆ เพื่อให้เขาเรียนรู้ และเข้าใจตัวเองจากประสบการณ์ที่หลากหลาย...

ตัวอย่างของ beeman

  • ชอบเรียนทางเรียนทางศิลป์ มากกว่าวิทยาศาสตร์ (สักเกตจากคะแนนที่ได้ ) แต่นโยบายการศึกษา ให้เด็กเลือกทางสายวิทยาศาสตร์ เพราะกว้างกว่าศิลป์
  • เมื่อมาเรียนทางวิทยาศาสตร์ จึงรู้ว่า ทางอื่นๆ ไม่ค่อยถนัด ถนัดแต่ชีววิทยา (ทั้งๆ ที่ชีววิทยา ยากกว่าแขนงอื่น เพราะต้องเรียน 3 มิติขึ้นไป)
  • พอมาเีรียนชีววิทยา ชอบสัตว์ มากกว่าพืช และอื่น
  • วิชาทางสัตว์ที่เรียนได้ดี คือ สรีรวิทยา กับ แมลง แต่เลือกแมลง เพราะไม่อยากฆ่าสัตว์ที่มีเลือดสีแดง
  • พอเรียนแมลง ก็ต้องเลือกความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จึงเลือกเรื่องผึ้ง
  • พอเรียนเรื่องผึ้ง และได้มาทำงาน เลยพบ "ที่ชอบที่ชอบ"
  • คือ อาชีพที่หารายได้เลี้ยงชีพ เป็นอาจารย์ ส่วนงานอดิเรก ที่ชอบทำ มีความสุข คือ "การเลี้ยงผึ้ง" เมื่อเลี้ยงน้องผึ้งจนชำนาญและเชีี่ยวชาญแล้ว น้องผึ้งก็จะเลี้ยงเรา ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่เรา..

คุณIco48 เนิ่ม ขมภูศรี คะ

การอ่านประสบการณ์และแนวคิดในบล็อก ช่วยให้เราได้กระจกมาสะท้อนตัวเอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านการทบทวนตัวเองเชิงการเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของผู้อื่น ซึ่งก็มีส่วนที่ทำให้เราได้ทำความรู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้นค่ะ

นี่ก็เป็นอีกมุมหนึ่งของการเรียนแบบเรียนรู้จากการอ่าน แต่ถ้าจะให้ดี ต้องกระตุ้นแนวคิดตนเองด้วยการเขียนเพื่อสื่อความคิด เพราะจะได้ทวนสิ่งที่เราได้เห็นได้อ่านมาอีกครั้ง และยังได้ช่วยต่อยอดกันต่อด้วยนะคะ

คุณเนิ่มลองดูนะคะ สนุกดีค่ะ ^_^

สวัสดีค่ะ อ.Ico48 beeman 吴联乐

เรื่องของการปฏิบัติจริง ก็เป็นสิ่งให้เด็กได้ทดลองได้พิสูจน์ แต่ทั้งนี้คงข้ามการให้ความรู้ขั้นพื้นฐานเพื่อไปต่อยอดสำหรับไปใช้ปฏิบัติจริงไม่ได้เช่นกัน ใช่ไหมคะ อันนี้หนูอยากให้อาจารย์ได้ลองถ่ายทอดในมุมมองผู้สอนเพื่อแลกเปลี่ยนกันสักนิดนึงค่ะ อยากเห็นมุมมองในส่วนนี้เพิ่มเติมน่ะค่ะ ^_^

นอกจากนี้ จากประสบการณ์ของอาจารย์ที่ยกตัวอย่างมานั้น น่าสนใจนะคะ ในมุมมองของหนู หนูมองว่าทักษะทางศิลป์ที่อาจารย์มี อาจจะเป็นทักษะที่เชื่อมโยงกับทางวิทย์ เลยทำให้ได้มีโอกาสมาสู่วิชาชีพด้านนี้ก็ได้นะคะ เพียงแต่ตอนนั้นเราใช้คำจำกัดความว่าทักษะด้านศิลป์หรือวิทย์ ก็เลยดูเหมือนว่าเป็นคนละขั้วกันก็ได้นะคะ ซึ่งมันอาจจะมีคำจำกัดความกลางๆ เช่น เป็นทักษะอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น

ในกรณีหนูเองก็คล้ายๆ อาจารย์คะ สมัยเรียนม.ปลาย วิชาวิทย์อื่นๆ ไม่ค่อยจะไหว แต่คณิตศาสตร์และชีววิทยานี่ เป็นอะไรที่เรียนแล้วชอบและรู้สึกว่าตัวเองมีความถนัด นอกจากนี้พอมีเรียนในระดับป.ตรี ก็เป็นสายสังคมศาสตร์ ซึ่งก็รู้สึกว่ายิ่งเรียนก็ยิ่งใช่ สนุกไปอีกแบบเลยค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท