เรื่องเล่า(storytelling)กับบล็อก


เมื่อคิดทบทวนจนแน่ใจว่าเรื่องเล่า เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมชิ้นหนึ่งแล้ว กลับเกิดปัญหาว่า เมื่อไม่ได้ทำทุกวัน ไม่ว่างพอมานั่งจับกลุ่มคุยหรอกนะ แล้วบางทีวันที่คุยก็หมดมุขที่จะเล่าแล้วด้วย ดังนั้นก็แสดงว่าไม่ได้ฝึกฝนทุกวัน แล้วมีวิธีไหนบ้างที่ได้ฝึกทุกๆ วัน??

กลับมาอีกครั้ง

เมื่อวานได้บันทึกเรื่องสุนทรียสนทนากับบล็อก มีอาจารย์และพี่น้องสมาชิก GotoKnow.org เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้รู้สึกสุขใจ แต่ก่อนเปิดอ่านความคิดเห็นแทบจะปิดตา ลุ้นระทึก ไม่ใช่กลัวคำวิจารณ์หรือติติง แต่กลัวว่าตนเองกำลังหลงประเด็น ทำให้ใครต่อใครที่เข้ามาอ่านพลอยเข้าใจผิดไปด้วยค่ะ

อย่างที่บอกไว้ค่ะ ว่าช่วงที่ผ่านมา ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับเครื่องมือนานาชนิด ว่าสามารถนำมาปรับใช้กับบล็อกได้หรือไม่

จากการศึกษาพอจะบอกได้ว่า ได้อย่างแน่นอน แต่ต้องประยุกต์ใช้ และเมื่อวานก็เขียนเรื่องสุนทรียสนทนาไปแล้ว วันนี้จึงอยากเขียนเรื่องต่อมา นั่นคือ เรื่องเล่าเร้าพลัง หรือ เรื่องเล่า หรือ Storytelling ค่ะ

Storytelling หรือ เรื่องเล่า

Storytelling หรือ เรื่องเล่า หรือ เรื่องเล่าเร้าพลัง จะเรียกอะไรก็ตามแต่ โดยภาพรวมแล้วก็คือ เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากใครสักคนหนึ่งที่เป็นนักปฏิบัติงาน มิใช่นักทฤษฎีงานที่รู้แต่ทฤษฎีแต่ไม่เคยปฏิบัติจริง อาจจะไม่ใช่คนที่ต้องมีความรู้มากมายมหาศาล หรือเก่งกาจไปซะทุกอย่าง แต่เป็นคนที่ปฏิบัติงานจริง และท่านเหล่านั้นได้ถ่ายทอดเรื่องเล่าออกมา

โดยปกตินิยมรวมกลุ่มเล็กๆ มีการกำหนดประเด็นชัดเจน มีการแต่งตั้งประธาน เลขานุการ และต้องมีคุณลิขิตคอยจด ต่อจากนั้นให้ผู้เข้าร่วมค่อยๆ ถ่ายทอดเรื่องเล่าแห่งความสำเร็จ และความภูมิใจออกมา

ลักษณะเรื่องเล่าที่ดีต้องเป็นเรื่องสั้นๆ  คงบรรยากาศของเรื่องเอาไว้ ทั้งตัวละคร คำพูด เหตุการณ์ โดยจะต้องไม่ผ่านการตีความ หรือแปลความหมายใดๆ แต่ต้องไม่ตีไข่ใส่สีเพิ่มเติม และต้องใช้สุนทรียสนทนามาเป็นเครื่องมือช่วยเสริม ที่สำคัญบรรยกาศในการเล่าต้องเงียบสงบ ผู้ฟังก็ต้องฟังอย่างตั้งใจอีกเช่นกัน

สุดท้ายจะนำเรื่องที่เล่านั้นมาให้ผู้เข้าร่วม ร่วมกันตีความ สกัด ดึงเอาความรู้จากเรื่องที่เล่าออกมาให้ความรู้ฝั่งลึกกลายเป็นความรู้ชัดแจ้ง และนำไปปฏิบัติได้จริงต่อไป

ใช้ได้ผลดีจริงๆ หรือ

เค้าว่ากันว่าเรื่องเล่าเป็นเครื่องมืออันทรงพลังอย่างหนึ่งที่ทำให้สามารถดึงเอาความรู้ฝังลึกออกมาจนกลายเป็นความรู้ชัดแจ้ง

ถ้าถามตัวสี่ว่าจริงไหม สี่ไม่ทราบค่ะ แต่สี่ว่าน่าจะเป็นไปได้ เพราะถ้าเราฟังอย่างตั้งใจไม่มีอคติใด และผู้เล่า ก็เล่าได้ชัดเจน เห็นภาพจนนึกตามได้ ก็น่าที่จะสามารถดึงอะไรดีๆ ออกมาได้ โดยเฉพาะเมื่อร่วมด้วยช่วยกันหลายๆ คน

ตัวอย่างเช่น

เล่าเรื่องง่ายๆ อย่างการทอดปลา (ง่ายไปรึเปล่า) ทฤษฎีจะบอกว่าต้องทอดปลาตอนน้ำมันร้อนจัด คำถามคือ อะไรล่ะที่เรียกว่าน้ำมันร้อนจัด ต้องใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดรึเปล่า

แต่หากเป็นเรื่องเล่า ผู้เล่าอาจจะเล่าว่า "จะต้องนำปลาลงกะทะเมื่อน้ำมันเดือดปุดๆ หรือบางคนบอกว่าทอดเมื่อสังเกตเห็นควันลอยขึ้นมาจากกะทะ" เหล่านี้เป็นต้น

และเมื่อร่วมกันสกัดออกมา จะได้ว่า ควรนำปลาลงทอดในกะทะเมื่อน้ำมันร้อนจัด สังเกตได้จากน้ำมันเดือดปุดๆ หรือ มีควันลอยขึ้นมา

สรุปก็คือความรู้ชัดแจ้งเดิมก็ยังรู้ แต่ได้ความรู้ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ วิธีการสังเกตน้ำมันร้อนจัดเหมาะแก่การทอดปลา โดยไม่ต้องใช้เทอร์โมมิเตอร์ แต่เรื่องน้ำมันนั้นไม่ยืนยันค่ะว่าถูก เพราะสี่ไม่ค่อยถนัดงานครัว

ผลการทบทวน

เมื่อคิดทบทวนจนแน่ใจว่าเรื่องเล่า เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมชิ้นหนึ่งแล้ว กลับเกิดปัญหาว่า เมื่อไม่ได้ทำทุกวัน ไม่ว่างพอมานั่งจับกลุ่มคุยหรอกนะ แล้วบางทีวันที่คุยก็หมดมุขที่จะเล่าแล้วด้วย ดังนั้นก็แสดงว่าไม่ได้ฝึกฝนทุกวัน แล้วมีวิธีไหนบ้างที่ได้ฝึกทุกๆ วัน??

นึกย้อนถึงงานเขียนของท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ท่านเคยชี้แนะว่า "เรื่องเล่านั้นมีทั้งทางวาจา และ การเขียน" ดังนั้นหากนำบล็อกมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำเรื่องเล่าก็น่าจะได้ เพราะ

เหตุผลของการนำบล็อกมาเป็นส่วนหนึ่งของ storytelling

  • ต้องตั้งประเด็น                              ---->ได้แน่นอน เจ้าของบันทึกต้องตั้งประเด็นชัดเจนในใจอยู่แล้ว ว่าอยากเล่าความสำเร็จเรื่องใด หรือเรื่องไม่สำเร็จ หรือสำเร็จครึ่งเดียว หรือรอสำเร็จ หรือเรื่องเศร้าก็ยังได้
  • ต้องมีการรวมกลุ่ม                          ---->สบาย เพื่อนสมาชิกเต็มไปหมดเลย น่าจะพอมีใครสักคนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบ้างน่า
  • เขียนเรื่องเล่า ในลักษณะเรื่องเล่าที่ดี  ---->อันนี้ยากหน่อย เพราะต้องเขียนให้มีตัวละครครบถ้วน คงบรรยากาศ คงคำพูดเอาไว้ แต่ต้องไม่ตีไข่ใส่สี แถมต้องคงไว้ซึ่งสุนทรียสนทนาอีกด้วย

การเล่าออกมาด้วยคำพูดอาจจะง่ายกว่า เพราะผู้เล่าสามารถทำเสียงเล็กเสียงน้อย และใช้ท่าทางประกอบได้อีกด้วย เมื่อต้องมาเขียนในบล็อกแทนนั้น อาจจะยากและตันอยู่สักหน่อย

ความคิดส่วนตัว อัดเสียงและถอดเทป (ยุ่งยาก) หรือ แอบเขียนที่ลับตาคนหน่อย และเริ่มเล่าออกเสียง ทำเสียงเล็กเสียงน้อย และบันทึกไปด้วย หรือ เล่าเหมือนเล่านิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง หรือเขียนเล่าเหมือนว่าคอมพิวเตอร์ข้างหน้าคือเพื่อน และกำลังตั้งวงนินทาเจ้านาย (เริ่มเสียวหลัง)

ทั้งหมดทั้งมวลที่คิดอาจจะไม่ได้ช่วยให้ อะไรดีขึ้นได้ เพราะนี่คือการฝึกฝน เป็นเรื่องส่วนบุคคลเหมือนกับที่ครั้งแรกๆ หลายคนคงเล่าไม่ได้นั่นเอง แต่เมื่อทำบ่อยๆ หลายๆ ครั้ง ความชำนาญก็เกิดกลายเป็นความรู้ฝั่งลึกขึ้น

ใช่แล้วค่ะ หากสมาชิกท่านใดชำนาญเรื่องการเขียนเรื่องเล่า ถ่ายทอดต่อบ้างสิค่ะ ว่าต้องทำอย่างไร สี่จะเข้าไปช่วยตีความและสกัดออกมาค่ะ ^_^

  • สรุปปิดท้ายเรื่องเล่าสักนิด เจ้าของบันทึกอาจจะเป็นผู้ตีความทิ้งไว้ ว่าตนเองคิดอะไร ได้อะไรบ้างจากเรื่องนี้ หรืออาจจะเป็นคำคมเด็ดๆ และเชิญชวนให้สมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นว่าได้อะไรจากเรื่องที่อ่านไปบ้าง    จากนั้นก็กดบันทึก และรอคอยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะตามมา
  • ขั้นตอนต่อจากนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเจ้าของบันทึกจะต้องพยายามกระตุ้นและชักชวนให้ผู้อ่านร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากเรื่องเล่า ด้วยสุนทรียสนทนาอีกเช่นกัน พูดเหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายเลยจริงๆ 
  • สุดท้ายเจ้าของบันทึกต้องค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ตีความ ออกมา จากความคิดเห็นที่ทุกๆ คนเขียนเอาไว้  เพื่อจะต่อยอดความรู้ นำไปสู่ความรู้ชัดแจ้ง และการปฏิบัติจริงได้

ประโยชน์เพียงผู้เขียน ??

จากทั้งหมดที่พยายามคิดนั้น อาจจะบอกว่ามีประโยชน์กับเจ้าของเรื่องเล่าเท่านั้นหรือ ??

คำตอบคือ ไม่จริงค่ะ ผู้อ่านก็ได้ประโยชน์เช่นกัน ผู้อ่าน ต้องอ่านโดยใช้สุนทรียสนทนา อ่านอย่างตั้งใจ ไม่ตีความ ไม่ตัดสินถูก-ผิด อ่านจนจบ ตั้งสติ และถามตนเอง ได้อะไรจากเรื่องนี้ ค่อยๆ ตีความ และสกัดออกมา พร้อมทั้งถ่ายทอดเอาไว้ในช่องแสดงความคิดเห็น

และสำหรับบางท่านอาจจะต่อยอดไปจนถึงการเปิดบันทึกใหม่เพื่อต่อยอดความรู้เหล่านี้ และจะดียิ่งขึ้น ถ้าลิงก์กลับไปหาแรงบันดาลใจของคุณด้วย เพราะจะได้เพิ่มวงของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะสร้างวงของเรื่องเล่าเร้าพลัง ขึ้นมาภายในบล็อกก็เป็นได้

และทั้งหมดทั้งมวลก็คือความคิดของเด็กเริ่มศึกษาคนนี้ ไม่รู้ว่าจะหลงประเด็น หรือเปล่า แต่พร้อมรับฟังทุกๆ ความคิดเห็นค่ะ โปรดอย่าปล่อยให้หนูเข้าใจผิด รบกวนทุกๆ ท่านช่วยกันตบๆ ความคิด  ความเข้าใจของสี่ให้ถูกต้องด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อ้างอิง

หนังสือการจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

หนังสือ KM วันละคำ  โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

หนังสือ ผู้บริหารองค์กรอัจฉริยะ ฉบับบนักปฏิบัติ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

และเนื้อหาสาระมากมายที่ได้ศึกษาผ่านบล็อกของสมาชิก GotoKnow.org ทุกๆ ท่าน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ storytelling

หมายเลขบันทึก: 252376เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

บันทึกนี้เกิดปัญหาในการแสดงผลที่แตกต่างกันระหว่าง firefox กับ IE

ถ้าใช้ firefox จะมองเห็นส่วนที่แสดงความคิดเห็น

แต่ถ้าเป็น IE จะไม่สามารถแสดงส่วนแสดงความคิดเห็นได้ค่ะ

และปกติสี่จะเปิดด้วย firefox จึงเห็นทุกอย่างปกติ เพียงแต่ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นเท่านั้นเอง

แต่ขณะนี้เปิดแบบไหนก็สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้แล้วค่ะ

ต้องขอขอบคุณอาจารย์ขจิตที่ส่งข่าวถึงปัญหานี้ให้ทราบค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • มา share ด้วยคน
  • ในระยะเริ่มแรกได้ทดลองทำ storytelling กับคุณครู
  • ทำไปทำมาเลยทำเป็นงานวิจัย
  • ช่วงหลังมาใช้ dialogue ด้วยครับ
  • ลองไปดูคุณครูที่นี่นะครับ
  • เป็นกลุ่มคุณครูที่เก่งมากๆๆ
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/209742
  • ตอนนี้ขยายมาเป็นแพลนเน็ตนี้ครับ
  • http://gotoknow.org/planet/englishteacher2008

ขอบคุณค่ะอาจารย์ขจิต

สี่จะศึกษาเพิ่มเติมอีกครั้งค่ะ

ครั้งแรกที่หาไม่เจอเพราะมัวแต่หาจากคำสำคัญว่า เรื่องเล่า storytelling และบล็อกค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะอาจารย์

ยิ้ม เมื่อเห็นคำสำคัญเลยค่ะ เพราะหาคนละคำสำคัญเลยค่ะ

สี่กำลังศึกษาเรื่อง R2R CoP AAR อยู่ค่ะ อาจารย์มีอะไรแนะนำบ้างไหมค่ะ เผื่อสี่จะตกหล่นอีกรอบค่ะ ช่วงนี้ตกๆ หล่นๆ บ่อยมากค่ะ ^_^

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ น้องสี่ซี่

มาเคาะประตูบ้านชวนไปอ่านบันทึกใหม่

เรื่อง

ก้าวต่อไปของ GotoKnow ... เลี้ยง CoP ให้โตด้วยตัวเอง
มีพาดพิงถึงบันทึกของน้องด้วยนะครับ
ใช้สิทธิพาดพิงได้เต็มที่นะครับ
หากคิดว่าเป็นประโยชน์ฝากให้ทีมงาน UsableLab พิจารณาด้วยนะครับ

สวัสดีค่ะ

  • วันนี้ที่โรงเรียนสมัครเป็นบล็อกเก่อร์กันเกือบทุกคนค่ะ
  • เหลือเพียง ๒ คน
  • เพราะไปอบรมค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ซวง ณ ชุมแสง

ไปแวะเยี่ยมมาแล้วค่ะ

เดี๋ยวสี่ช่วยประกาศอีกรอบนะค่ะ

ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการสร้าง CoP ภายใน GotoKnow.org ได้ที่ "ก้าวต่อไปของ GotoKnow...เลี้ยง CoP ให้โตด้วยตัวเอง" ของอาจารย์ซวง ณ ชุมแสง ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณครูคิม

อยู่ที่ไหนกันค่ะ อยากตามไปรู้จักจังค่ะ น่าจะมีเรื่องดีๆ มาเล่าให้สี่และสมาชิกฟังมากมายเชียวค่ะ

รักและคิดถึง

ขอบคุณค่ะคุณครูคิม

เดี๋ยวจะแวะไปค่ะ

รักและคิดถึงค่ะ

เมื่อตะวา ... เข้าไปหลายเที่ยวแล้วพบว่า ... บ่มีความคิดเห็นให้เขียน จึงนึกว่า ยังเขียนไม่เสร็จ ... อ่านแล้วคิดว่าจะแสดงความคิดเห็น

พอวันนี้ ... ความคิดเห็นเมื่อตะวา ... ลืมไปหมดแล้ว 555

บันทึกนี้ถือเป็นการเขียนทบทวนเรื่องเล่าเร้าอารมณ์ (Storytelling) ด้วยการศึกษาค้นคว้า ทำความเข้าใจมาเขียน

ดังนี้ ... นำเสนอ "ห้าม" เขียนว่า "หลงประเด็น" อีกต่อไป อิ อิ เพราะ "หลงประเด็น" มา 2 บันทึกแล้วล่ะ ไม่เชื่อกลับไปอ่านบันทึกที่แล้วสิ

การทบทวนแบบนี้ ไม่มี "หลงประเด็น" เพราะเป็นประเด็นเดียวกันครับ

งง ๆ ไหม ... ผมยังงงเลยเนี่ย

แกะเชือก แล้วหนีอย่างไว แว่บ ๆ ๆ ๆ ๆ  :)

  • storytelling ทำให้ผู้เล่ารู้สึกเปิดใจเป็นธรรมชาติ และแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญได้ดึงความรู้ ประสบการณ์เบื้องลึกออกมาเล่าได้อย่างน่ามหัศจรรย์ค่ะ โดยแม้แต่การเตรียมตัวล่วงหน้าที่จะมาอภิปรายก็ยังเล่าไม่ได้ลึกซึ้งเท่ากับการเล่าแบบ storytelling เลยค่ะ
  • บันทึกของศิลาส่วนใหญ่จะเป็นแบบเล่าเรื่องค่ะ เพราะรู้สึกว่าบันทึกมีชีวิต...living blogค่ะ...
  • รู้สึกปิติและขอบคุณสำหรับบันทึกที่มีคุณค่าค่ะ
  • ฝากคำคมไว้เป็นที่ระลึกค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ Wasawat Deemarn

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ เป็นความผิดพลาดค่ะ ทำให้ส่วนล่างบันทึกหายไปค่ะ

โลเทคโนโลยีค่ะ เลยเป็นเช่นนี้ ^_^

อาจารย์ห้ามสี่เขียนคำว่าหลงประเด็น ถ้าอย่างนั้นสี่ควรเขียนคำว่าอะไรดีค่ะ ที่เขียนว่ากลัวหลงประเด็นนั้นเป็นเรื่องจริงนะค่ะ เพราะสี่นั้นไม่เคยเข้าร่วมทำ KM เลย ทุกอย่างเรียนรู้จากหนังสือทั้งสิ้นเลยค่ะ อาศัยอ่านหลายเล่น เปิดหลายบันทึก แต่ก็ยังเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจค่ะ โดยเฉพาะเมื่อต้องนำมาประยุกต์ใช้กับบล็อกด้วยแล้ว เพราะพยายามจะหาว่าบล็อกนั้นนำมาใช้ได้อย่างไรบ้าง ก็ไม่เคยเจอเลยค่ะ ไม่ทราบอาจารย์มีที่ไหนแนะนำให้สี่ได้บ้างไหมค่ะ

บางเรื่องอ่านแล้วอ่านอีก ก็ยังไม่ค่อยจะได้เรื่องเลยค่ะ

เวลามาเขียนจึงเขียนตามความเข้าใจและบอกตามความรู้สึกจริงๆ ว่าตนเองไม่แน่ใจว่าหลงประเด็นอยู่รึเปล่านะค่ะ

ยังมีเรื่องที่ต้องเขียนอีกค่ะ แต่ขอตั้งสติก่อนค่ะ อย่าลืมแวะมาแนะนำนะค่ะ ^_^ ไม่มัดมือชกแล้วค่ะ แต่เชื่อว่าอาจารย์ต้องมาแนะนำลูกศิษย์คนนี้แน่ค่ะ

ขอบคุณค่ะ :)

สวัสดีค่ะคุณSila Phu-Chaya

ขอบคุณมากค่ะ หากมีคำแนะนำ บอกได้เลยค่ะ

หนูเป็นทารกเรื่อง KM ค่ะ พยายามจะเขียนแบบเล่าเรื่องหลายครั้งแล้วค่ะ แต่พอเขียนไปจากตลกกลายเป็นเศร้าได้งัยไม่รู้ค่ะ เลยเก็บเอาไว้ดีกว่าค่ะ

กลัวจะยิ่งแย่กว่าเดิม

ขอบคุณสำหรับคำคมดีๆ ค่ะ

มาอ่านครั้งแรก ใส่คคหไม่ได้จึงเมล์ไปคุยหลังบ้าน ;P

แล้วก็ได้ความรู้ไปแล้วเรียบร้อย

น้องสี่ซี่คะ ซีรี่ส์นี้ดีนะคะ ทำให้เราเช่น พี่ ทบทวนดูว่าเอ๊ะ เรื่องเล่าของเราเอง มันมีพลังแค่ตัวเราและครอบครัวหรือเปล่า วงแคบไปหรือไม่ ควรดึงจุด หรือ เนื้อหาตรงไหนบ้างออกมา เล่า..บ้าง

อย่างน้อยก็ให้เหมือนเวลาเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟังแล้วมี.."นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..."

ที่พี่กำลังอยากเล่า คือเรื่องเกี่ยวกับ สุขภาพ การป้องกันก่อนการเกิดโรค หรือเกิดโรคไปแล้ว ผลของโรค การรักษาที่ถูก ที่หลากหลาย และ โรคที่ไม่ตรงไปตรงมา ฯลฯ

แต่จะเขียนเรื่องเป็นการเป็นงานทีไร ยังมีเกร็งเล็ก ๆทุกที ไม่เคยหัดน่ะค่ะ แต่จะหัดค่ะเพราะเชื่อในประโยคข้างล่างนี้...

**เค้าว่ากันว่าเรื่องเล่าเป็นเครื่องมืออันทรงพลังอย่างหนึ่งที่ทำให้สามารถดึงเอาความรู้ฝังลึกออกมาจนกลายเป็นความรู้ชัดแจ้ง

  • ขออนุญาตเรียกตัวเองว่าพี่นะคะเพราะคิดว่าอายุมากแล้วค่ะ ใบหน้าในรูปอาจไม่สื่อเพราะสร้างภาพเสมือนจริงให้มีแสงสลัว ๆ ค่ะ อิอิอิ
  • พี่ศิลาเขียนบันทึกเกือบทุกฉบับจะเป็นการเล่าเรื่องจากประสบการณ์จริงผสมทฤษฎี/ศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนมาและบางครั้งก็มีการอ้างอิงประกอบ 
  • จะมีบันทึกทางวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายและการค้าเท่านั้นที่ตั้งใจว่าจะเป็นเรื่องวิชาการล้วน ๆ ไม่เชิงเป็นการเล่าเรื่อง
  • ถามว่าเทคนิคการเล่าเรื่องที่พี่ศิลารู้สึกว่าน่าจะทำให้เกิดพลังจากมุมมองของตนเองคือ "การเชื่อมโยงความคิดและความรู้สึก" ที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกมาเป็นภาพวาดชิ้นหนึ่ง 
  • สมมติว่าเราสองคนไปดูหนังเรื่องเดียวกัน  อรรถรสที่เราได้และนำมาเล่าเรื่องย่อมไม่เหมือนกันอยู่แล้วจริงไหมคะ แต่เรื่องที่เล่าจะได้ชื่อว่าเป็นการเล่าเรื่องที่มีพลังคือการเชื่อมโยงเนื้อหาที่เราได้มาจากการดูหนัง เข้ากับประสบการณ์ความรู้ที่เราพอมีอยู่บ้าง
  • ดังนั้น ขอสรุปความก็การเล่าเรื่องควรจะต้องมีหัวใจของ"นักสังเคราะห์" รวมเอาจิ๊กซอร์ต่าง ๆ มาประกอบเป็นภาพใด ๆ ก็ตามเพื่อนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ...และเรื่องเดียวกัน คนเดียวกันนำเสนอโดยเชื่อมโยงกับเรื่องใหม่ ๆ ก็ได้เรื่องใหม่อยู่เรื่อย ๆ จริงไหมคะ   เขียนยาวจัง ...55555 

สวัสดีค่ะพี่หมอเล็ก(ภูสุภา)

ขอบคุณค่ะ สี่แอบไปอ่านเรื่องเล่าของพี่หมอเล็กเป็นประจำ

เรื่องเล่าของครอบครัวเห็นภาพชัดเจนเชียวค่ะ อ่านแล้วก็ยิ้มค่ะ

เรื่องเล่าสุขภาพนั้นพี่หมอเล่าได้ดีเชียวค่ะ สี่ชอบค่ะ แต่ทั้งหมดไม่ค่อยได้เม้นเลยค่ะ เนื่องจากบางครั้งอ่านก็อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน แต่พอเม้นแล้วเพลิน การงานไม่ต้องทำค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ศิลา (Sila Phu-Chaya)

ขอบคุณพี่ศิลามากค่ะ ได้เปิดมุมมองและวิธีการการเขียนเรื่องเล่าจากผู้มีประสบการณ์ตรง เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากค่ะ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับ หัวใจของนักสังเคราะห์ เป็นประสบการณ์ที่ดีและสี่ขออนุญาตนำไปสังเคราะห์ข้อมูลต่อนะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท