นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ "วิถีขับเคลื่อนสุขภาวะคนไทย"


 

ชุมชนเข้มแข็ง”  ดัชนีหนึ่งที่เราวัดได้ว่าชุมชนนั้นเข้มแข็งจริงๆหรือไม่ คือ ชุมชนนั้นมีกระบวนการใดๆที่กำหนดวิถีชีวิตของตนเอง  และวิถีชีวิตที่ชุมชนคาดหวังคือ "การอยู่ดีมีสุข"  ภายใต้บริบทการพัฒนาตนเองที่ ยืดหยุ่น เปิดกว้าง และเรียนรู้ อย่างต่อเนื่อง

Hpkm1

 

ช่วงนี้ผมเดินทางไปยังพื้นที่เป้าหมายซึ่งเป็นพื้นที่คัดเลือกตาม “โครงการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) และภาคีในพื้นที่”  โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่เรากำหนดไว้ ๔ พื้นที่ เป็นพื้นที่ต้นแบบในด้าน "นโยบายสาธารณะ"  ของประเทศไทยที่ถูกคัดเลือก

๑.    อบต.หนองสาหร่าย  จ.กาญจนบุรี

๒.    อบต.บางระกำ จ.นครปฐม

๓.    อบต.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

๔.    อบต.นามะเฟือง จ.หนองบัวลำภู

ถือว่าเป็นความโชคดี และโอกาสของผมอีกครั้ง ที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ร่วมถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะในระดับ อบต. ภายใต้กรอบการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ตามหลักการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา  นอกจากนั้นร่วมผลักดันกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะของ อบต. และเครือข่าย เน้น “การมีส่วนร่วม” โดยใช้ การจัดการความรู้ (Knowledge management) เป็นเครื่องมือ

 

Hpkm2

 

ความโชคดีอีกเรื่องก็เห็นจะเป็น มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับ “คนทำงานคุณภาพ”  ทีม KM ของกรมอนามัยและคนทำงานที่มีฝีมือสองสามท่าน ดังนั้นตลอดเวลาที่เราได้ทำงานร่วมกันในฐานะ Facilitator + researcher เราได้นั่งคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน พร้อมกับสรุปบทเรียนการทำงานด้วยกัน นอกจากผลผลึกของชิ้นงานที่ทำด้วยกัน นอกจากเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานที่มีศักยภาพแล้ว ผมยังได้พัฒนาตนเองจาก การปฏิบัติ + การเรียนรู้ ในเวทีที่เกิดขึ้นหลากหลายบริบทอีกด้วย

ถามว่า เราจะได้อะไรบ้างจากการเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับชุมชน? สิ่งที่ได้แน่ๆคือ บทเรียนเด่นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพขององค์การบริหารส่วนตำบล(เป้าหมาย) ว่าเขามีอะไรบ้างที่น่าสนใจ หากเป็น    นวัตกรรมระดับชุมชนที่มีผลกระทบกับคนในสังคมโดยรวม บทเรียนเหล่านั้นจะถูกนำมาแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายอีกครั้งหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเรียนรู้มากที่สุดคือ “กระบวนการ” ที่ได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะ

เขาได้มาได้อย่างไร และนโยบายนั้นเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ของสังคมนั้นๆได้หรือ หาก ตอบโจทย์การพัฒนาได้ แล้วได้อย่างไร  มีปัญหาหรือไม่ มีปัญหาแล้วหาทางออกอย่างไร ...ดูเหมือนว่าจะมีคำถามมากมายที่ผมตั้งไว้ในใจก่อนลงพื้นที่...เพราะผมมักสนใจใคร่รู้ไปเสียหมด

กระบวนการทำงานของเรา

 

 

J ขั้นตอนที่ ๑  แบบประเมินตนเองของ อบต.

จากทีมงานที่ลงตัว เริ่มแรกทำงาน ทางทีมทำงานได้นั่งหารือกันในประเด็นแรกว่า  “เราจะเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร “ ต่างคนต่างระดมความเห็นในการเข้าถึงข้อมูล สิ่งที่ง่ายและสามารถทำได้เลยจากที่เราไม่มีข้อมูลใดๆในมือ นอกจากชื่อ อบต. คือใช้  “แบบประเมินตนเอง” (Self Assessment) ของ อบต. เป้าหมาย ส่งให้ อบต.กรอกข้อมูลแล้วส่งกลับ คาดว่าข้อมูลที่ได้ เราน่าจะพอมองเห็นภาพและวางแผนในการเก็บข้อมูลเชิงลึกได้ชัดเจนมากที่สุด...

J ขั้นตอนที่ ๒  - ค้นหาภาคีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา (Human mapping)

จากกแบบประเมินตนเอง ไปสู่การลงพื้นที่ ค้นหาภาคีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ว่ามีใครบ้าง เขาเหล่านั้นทำบงานอะไร มีบทบาทอย่างไร  เราเรียกว่า Human mapping ได้  “คนทำงานจริง”  ที่เราจะถอด “ความรู้จากการปฏิบัติ”  ( tacit knowledge) และ “กระบวนการคิด” ของคนทำงานจริงเหล่านั้น

J ขั้นตอนที่ ๓  - ถอดบทเรียน

เมื่อได้ข้อมูลทั้งบริบท และ คนทำงานจริง ๆ ตาม human mapping  กระบวนการต่อไปเป็นการถอดบทเรียนประเด็น     “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” แต่ละ อบต.  กระบวนการช่วงนี้ละครับ ที่เราได้เห็นกระบวนการเดินทางของนโยบายสาธารณะที่แตกต่างของแต่ละ อบต. ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ บางแห่งทำฉบับเต็ม บางแห่งทำฉบับย่อ บางแห่งก็แหกกรอบเดิม แต่สิ่งที่ประเมินสะท้อนกลับว่า ไม่ว่าเส้นทางนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพจะได้มาอย่างไร? ผลที่ได้ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพ ได้แก่ สันติภาพ(ความสงบสุข) ,ที่อยู่อาศัย,การศึกษา,อาหาร,รายได้,ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมที่มั่นคง ทรัพยากรที่ยั่งยืน ความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันในสังคม  เรียกได้ว่า ให้ความสำคัญของคุณค่าและมิติต่างๆอย่างสมดุล มุ่งเน้นที่การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง จนเกิดเป็น ความเข้าใจร่วมกันของสังคม (social understanding) เป็นคุณค่าของสังคม (social value) และเป็นการปฏิบัติโดยสังคม(Social practice)

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้บอกว่า กระบวนการนโยบายสาธารณะที่ดี ควรประกอบด้วย กุศล ๓ ประการ

 

 

๑.เป็นกระบวนการทางปัญญา คือ มีการใช้หลักฐานข้อเท็จจริงที่ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างดีจนเป็นความรู้ที่เรียกว่า เป็นการสร้างนโยบายบนฐานของความรู้ (Knowledge – based policy formulation)

๒.เป็นกระบวนการสังคม เนื่องจากนโยบายสาธารณะกระทบสังคมทั้งหมดอย่างรุนแรง ดังนั้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือ สังคม ควรได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ร่วมกำหนดนโยบาย โดยทำเป็นกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส ทุกฝ่ายเข้าร่วมได้

๓.เป็นกระบวนการทางศีลธรรม นโยบายสาธารณะ ที่ดีต้องเป็นไปเพื่อความถูกต้องดีงาม และเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนทั้งสังคม ไม่แฝงเร้นเพื่อประโยชน์เฉพาะตนหรือเฉพาะกลุ่ม

ดังนั้น กระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดี แนวทางก็ต้องประกอบไปด้วยกุศล ๓ ประการนี้เช่นกัน เป็นหลักการหนึ่งที่ผมใช้เปรียบเทียบผลลัพธ์กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะในพื้นที่

J ขั้นตอนที่ ๔  - จัดกลุ่มถอดบทเรียนรวมทั้งประเทศ

J ขั้นตอนที่ ๕  - สังเคราะห์ สรุปบทเรียนรวม

โดยภาพรวมของงานที่เราทุ่มเทกันทำงานอย่างเข้มแข็งของทีมงาน น่าจะสิ้นสุดกระบวนการในช่วงสุดท้ายของปี(สิ้น ธ.ค.)  เราคาดหวัง “ต้นแบบเรียนรู้” สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นในประเทศไทย ได้ศึกษาถึงความเหมาะสมและสามารถเรียนรู้ ประยุกต์นำมาใช้ในท้องถิ่น-ชุมชนของตัวเอง รวมไปถึงนำไปศึกษา ปรับปรุง และส่งเสริมกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของประเทศไทย

งานชิ้นนี้ผมวางแผนว่าจะเขียนหนังสือสักเล่ม เพื่อถอดเรื่องราวทั้งหมดที่ทีมงานได้เรียนรู้ร่วมกับชุมชนเป้าหมายซึ่งแต่ละแห่งเป็นพื้นที่ที่เลือกสรรแล้ว จากทาง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดังนั้นเรื่องราวดีๆ ที่เป็นบทเรียนที่สามารถเป็น “ต้นแบบ” ได้สำหรับกระบวนการสร้างนโยบายสาธาณะเพื่อสุขภาพของเมืองไทย

ดังนั้นเรามีพื้นที่ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว  เพียงแต่พวกเราเป็น “นักเรียนรู้” เข้าไปเรียนรู้ มองในระนาบเดียวกันกับผู้ปฏิบัติ วิเคราะห์ สังเคราะห์ บูรณาการความคิดจากบริบทต่างๆ เพื่อตอบโจทย์คำถามใหญ่ถึง “ที่มาและที่ไป” ถอดบทเรียนเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับ การขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมแห่งสุขภาวะ ร่วมกัน

 

 

 

 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ขอนแก่น

๔ พ.ย.๕๑

หมายเลขบันทึก: 220737เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2008 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)
  • การทำงานจะประสบความสำเร็จ
  • ต้องมีจุดหมาย
  • ปลายทาง
  • และการวางแผน
  • เห็นการวางแผน
  • และการดำเนินงานของทีมงานแล้ว
  • บอกได้เลยครับ
  • ว่ามืออาชีพ
  • และประสบความสำเร็จแน่นอนครับ
  • ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ คงจะแก้ได้ไม่ยากใช่ไหมครับพี่
  • คิดถึงพี่เอกครับผม

สวัสดีค่ะ พี่เอก...

ชอบจังค่ะ กระบวนการนโยบายที่ดีมากๆ

๑.เป็นกระบวนการทางปัญญา

๒.เป็นกระบวนการสังคม

๓.เป็นกระบวนการทางศีลธรรม

แล้วตอนนี้พี่เอก อยู่ ที่อบต.ไหนแล้วค่ะ...

ขฃก็ขอให้เดินทางปลอดภัย มีความสุในการทำงานนะค่ะ

มาเป็นกำลังใจให้ พี่ชายที่รักค่ะ

แกงส้ม

                            ถ้วยนี้เพื่อสุขภาพนะคะ  ทานข้าวกันค่ะ  ^_^

ไม่เกิน 19.00น. วันนี้ พบกัน อยากทานอหารประเภทไหนคิดไว้นะคะ

วันนี้..พี่แก้วและพี่มรกต จะเป็นไกด์พาลุยขอนแก่น

ถ้าไม่หลงซะก่อนนะคะ

น้องโย่งครับ

เข้ามาจองพื้นที่เป็นคนแรกเลยครับ...

วันนี้ผมเดินทางมาอยู่ที่ขอนแก่นครับ ได้มาพักในบรรยากาศสวยๆของรีสอร์ทที่นี่ ไม่ได้มาเที่ยวนะครับมาทำงาน ประเด็นเดียวที่ผมเขียนในบันทึกนี้ พรุ่งนี้ผมจะเดินทางไปยังเขื่อนอุบลรัตน์...จากนั้นก็กลับ กทม.ช่วงเย็นครับผม

ผมโชคดีครับ ที่ได้ร่วมงานกับ คนแก่ง และ ดี เป็นโอกาสและธรรมะจัดสรร ที่ผมมักถูกเลือกเสมอ

:)

น้องสาวคนสวย - น้องก้อย ครับ

ข้อตกลงร่วมของสังคม ระดับชุมชน อันเป็นมาตรการ หรือข้อปฏิบัติ ต้องมีองค์ประกอบ ๓ ด้านนี้ครับ ถึงจะส่งผลในการผลักดันสุขภาวะของชุมชนได้จริงจังและยั่งยืน

๑.เป็นกระบวนการทางปัญญา

๒.เป็นกระบวนการสังคม

๓.เป็นกระบวนการทางศีลธรรม

ผมเป็นผู้ค้นหา ผู้ถอดบทเรียน และจะนำมาแลกเปลี่ยน แบบ online ใน gotoknow นะครับ

ส่วนผลลัพธ์ที่ผมคิดเองนะครับ ผมน่าจะเขียนหนังสือได้ ๑ เล่มในประเด็นที่ผมกำลังทำงานอยู่นี้ครับ

ขอบคุณน้องสาวมากๆครับ...ดูแลตัวเองนะครับ อากาศเปลี่ยนแปลง

พี่ ครูปู~natadee t'ซู๊ด

เห็นอาหารแล้ว ...หิวเลยครับ ผมกำลังรอพี่แก้ว อุบล พาไปทานอาหารอยู่ครับ..ขอบคุณมากครับผม

พี่แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช  ครับ

ขอบคุณมากครับ ผมจะรอนะครับ

:)

  • ตามมาดู
  • พี่ ดร.ทิพวัลย์ บล็อกเกอร์ของเรา
  • ลงพื้นที่ที่นี่บ่อยๆๆครับ
  • ๑.    อบต.หนองสาหร่าย  จ.กาญจนบุรี
  • สวัสดีครับ พี่เอก
  • สุขกายสบายใจนะครับ
  • อยากไปเจอพี่เอกตัวเป็นๆจริงๆเลยครับ

 

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

หนองสาหร่าย น่าจะเป็นชุมชนที่เป็นต้นแบบการเรียนรู้ การพัฒนาชุมชนพึ่งตนเอง ชุมชนต้นๆของประเทศน่าจะได้นะครับ

ที่นี่มีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจ เรียกได้ว่าชุมชนมี "ทุน" ที่พัฒนาจากกระบวนการเรียนรู้ จนเกิดเป็นความเข้มแข็งของชุมชน

เรื่องราวดีๆที่หนองสาหร่าย ผมคิดว่าจะนำมาเสนอเรื่อยๆผ่าน Blog ครับ

 

สวัสดีครับ น้องเอ๊ะคนพลัดถิ่น~natachoei(หน้าตาเฉย)

ผมสุขกาย สบายใจดีครับ งานอาจชุกบ้างแต่มีความสุขดีครับ ช่วงนี้ที่ได้รับมากๆจากมิตรก็คือกำลังใจดีๆจากน้อง พี่ เพื่อนและผู้ใหญ่ที่เอื้อเอ็นดู น้องเอ๊ะก็เป็นคนหนึ่งครับ

เราได้มีโอกาสพบตัวจริงกันแน่นอนครับผม...อยู่ไม่ไกลกันเลย เพียงแต่ช่วงเวลาที่เหมาะ - ธรรมจัดสรร เราพบกันแน่นอน (หรือ หากเรามีวาสนาต่อกัน)

ขอให้น้องมีความสุขในการเรียนและในการทำงานครับ...พี่เอกครับ

พี่แก้ว

ขอบคุณช่วงเวลาดีๆที่ขอนแก่นนะครับ

Pkeaw

ขอเป็นกำลังใจให้ครับพี่ ผมไม่ได้รีบร้อนอะไรครับ แค่พี่ไม่ปฏิเสธพวกเรา แค่พี่เห็นความตั้งใจของพวกเรา หากโครงการไม่ผ่านพวกผมก็ไม่ได้ซีเรียสครับ แค่วันนี้ก้าวที่พวกผมเดินกันอยู่มีผู้ใหญ่ใจดีอย่างพี่ อย่างลุงเอกเห็นค่ามันพวกเราก็ดีใจแล้วครับ ด้วยความเคารพและขอบคุณสำหรับทุกสิ่งแทนทุกคนด้วยครับ...

น้องชาย Fuart ครับ

พี่เอกมีความสุขมากครับ ที่ได้ร่วมทำงานดีๆกับน้องและเพื่อน ผมคิดว่าน้องเองก็ให้โอกาสผมได้ทดแทนคุณแผ่นดิน ดังนั้นสิ่งไหนก็ตามที่ผมพอจะช่วยได้บ้างตามความสามารถที่ผมมี ผมยินดีทุ่มเทเต็มที่

ทุกอย่างที่ออกมาจากใจที่งดงาม มีคุณค่าเสมอ และผมเชื่อว่าสิ่งดีๆที่เกิดขึ้น...ต้องได้รับการสานต่อครับ

ขอบคุณน้องชายผมด้วยครับ...

 

เสียดายไม่เจอคุณเอก

ไม่ทราบว่าไปทานข้าวกับพี่แก้วอุบลกับพี่มรกต

ดีใจที่คุณเอกมีความสุขในการทำงาน

และได้ถ่ายภาพที่อ่างเก็บน้ำมอขอ.แล้ว ก่อนจะขึ้นเครื่องกลับ

ขอให้เดินทางปลอดภัย

  • คิดถึงน้องเอกค่ะ
  • ชื่นชมกับกิจกรรมของน้องเอกเสมอค่ะ
  • รักษาสุขภาพด้วยนะคะ หนาวแล้ว
  • อิอิ

สวัสดีครับ พี่ประกาย~natachoei

ผมเกรงใจทุกท่านมากๆครับ เวลาไปไหนก็ไม่ค่อยอยากรบกวนพี่ๆ

ไปขอนแก่นครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ไปเก็บข้อมูลที่อุบลรัตน์แล้วก็กลับ

ผมมีความสุขในการทำงานเสมอ ความสุขในบางมุมของช่วงเวลาที่เรามีโอกาสได้เที่ยวไปด้วย ถือว่าเป้นการพักผ่อนในตัว

ดีใจที่ได้ไปถ่ายรูปที่ บึงสีฐาน ตามที่พี่ได้แนะนำก่อนบินกลับ กทม....ถือว่าประสบความสำเร็จไปเรื่องหนึ่งที่ตั้งใจครับ

ขอบคุณพี่ประกายมากครับ..

ขอบคุณมากๆครับพี่เพ็ญศรี(นก)     

กิจกรรมผมมีเยอะเเยะเลยครับ ทั้งได้หยิบมาเล่า ไม่ได้หยิบมาบอก แต่พยายามเขียนครับ

ผมคิดว่า เรื่องราวเรียนรู้ของผม จะเกิดประโยชน์ต่อสังคม ต่อผู้คนที่ทำงานเชิงประเด็นที่ใกล้เคียงกัน สนองเจตนารมย์ของ gotoknow และการขับเคลื่อนสังคมสู่ "สุขภาวะ"

สามารถแลกเปลี่ยนกันได้นะครับผม..

ขอบคุณสำหรับกำลังใจและการติดตามอย่างอบอุ่นนะครับ

: )

เห็นภาพที่บึงสีฐานแล้วคะ

สวยมาก ๆ คะ พี่จะไปถ่ายภาพมาใหม่ อีก

ไม่รู้จะถ่ายได้สวยไหม

ไปเดินออกำลังกายด้วย

พี่ยินดีและดีใจนะคะที่คุณเอกมีความสุขในการทำงาน

คุณโชคดีที่ได้ทำตามความฝันของคุณ ในขณะที่คนอีกหลายๆคนไม่สามารถทำได้

ขอให้มุ่งมั่นต่อไป คิดว่าสักวันคงได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักเหมือนคุณบ้าง

ขอเป็นกำลังใจให้นะ คราใดที่รู้สึกท้อ จะเปิดเพลงกำลังใจของโฮปให้ฟัง

ขอบคุณมากนะคะ พี่ก็โชคดีนะที่ได้มาร่วมงานกับคนที่มีจิตดีมากๆแบบเอก มีอะไรก็มาลปรร.กันนะคะ

  • พี่ก็กำลังขมักเขม้นกับการออกไปหา รูปแบบองค์กรไร้พุงต้นแบบอยู่
  • นโยบายสาธารณะ  กับการตอบโจทย์พื้นที่
  • ใช่ได้หรือเปล่าเนี่ย
  • พรุ่งนี้ทีมจะไปประสานกับโรงเรียนสันทรายวิทยาคม
  • ให้ร่วมมือเป็นโรงเรียรต้นแบบฯ
  • ไม่รู้ว่าไง
  • ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ
  • จะรออ่านหนังสือที่น้องเอกจะเขียนนะเจ้า
  • ธุค่า..

ตามมาเป็นกำลังใจให้คุณเอกค่ะ ^^  เห็นว่าตะลุยงานทั่วทิศเลยนะคะ

พี่นงค์ ตามมาเรียนรู้ กับ คุณ เอก

เป็นกำลังใจในการทำงานค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พี่ ประกาย~natachoei  ครับ

มีโอกาสดีๆ จะไปถ่ายรูปที่บึงสีฐานอีกครับ หากแสงมากกว่านี้ น่าจะมีรูปที่แตกต่างออก ไป ผมชอบเงาของ กก ที่สะท้อนบนน้ำสวยดีครับ

ตะวันตกดิน งดงามด้วยเส้นแสง จริงๆครับ

ต้องขอบคุณพี่ประกาย (คุณพยาบาลอารมณ์ดี พี่แก้วบอกผมแบบนี้) ที่ทำให้ผมได้ชื่นชมความสวยงามที่ขอนแก่น...ที่บึงสีฐาน

เส้นแสง ธรรมชาติที่ "บึงสีฐาน" มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 Dscf1242

คุณ winny

อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในหลายบันทึกว่า ชีวิตสั้นนักนะครับ หากอยากทำอะไรก็จงทำ ไม่รู้ผมจะกลับบ้านเก่าเมื่อไหร่ (สิ้นลม)

หากมีโอกาสทำในสิ่งที่ท้าทายก็ควรทำ ถึงวันนี้ผมก็ทำได้บางส่วน ยังสนุกที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอีกมากมายครับ

ผมขอให้คุณได้ทำในสิ่งที่ชอบ มีความสุข ค้นหานะครับ บางทีอาจเป็นสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ก็ได้ หากเราดูในอีกมุมของงาน

ให้กำลังใจเช่นกันครับ

ขอบคุณบทเพลง "กำลังใจ" ของโฮป ...สิ่งที่ดีที่สุดคือ กำลังใจจากคนรอบข้าง และกำลังใจจากตัวเองให้ตัวเอง

โชคดีครับ

:)

พี่มะปรางหวาน

เหมือน "ธรรมะจัดสรร" นะครับ ที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับพี่ๆ ผมเองได้เรียนรู้ในมุมที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อน พวกเราต่างเป็นกัลยาณมิตรที่ดีแก่กันและกัน...ขอบคุณจริงๆครับ

ขอบคุณที่เอื้อเอ็นดูผมเสมอมา

พี่ มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)

ใช่เลยครับ นโยบายนี้ส่งผลโดยตรงกับสุขภาพของคนไทย ที่จำพาไปสู่ สุขภาวะ ร่วมกัน

ต้นปี ๕๒ ผมก็จะร่วมเป็นทีมของกรมอนามัย ในการจัดตลาดความรู้ "คนไทยไร้พุง" ในวันนั้น คิดว่าคงได้เจอพี่มนัญญา แน่นอนครับ

เมื่อวานผมไปกรมอนามัยมา เห็นพี่ๆเกริ่นเรื่องนี้ครับ ผมคงไปช่วยในส่วนของ วิทยากรและ KM Activist1  ครับ

เรื่องโครงการ เขียนหนังสือ เป็นความตั้งใจของผม ในการนำเรื่องราวดีๆมาถ่ายทอดให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกันไปพร้อมกับผมครับ

รออ่านนะครับ

:)

ขอบคุณมากครับคุณต้อม  เนปาลี    และ  พี่นงค์  MSU-KM :panatung~natadee    ที่มาให้กำลังใจและเรียนรู้ไปพร้อมๆกับผม

:)

นโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่น เห็นแล้วก็ชื่นใจ แต่นโยบายสาธารณะระดับชาติ ถึงจะมีนโยบายดี แต่ก็ไม่แน่ว่าเมื่อถึงภาคปฏิบัติแล้ว จะเป็นจริงแค่ไหน

ผมมีตัวอย่างเล็กๆของนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อก่อนนี้ปัญหาขยะและน้ำเสียเป็นเรื่องใหญ่ หลายฝ่ายช่วยกันทั้งผลัก ทั้งดัน จนรัฐบาลรับไปเป็นนโยบายสำคัญ มีแผนการจัดการระดับชาติ แต่พอถึงขั้นตอนลงมือปฏิบัติ รัฐบาลกลับทำอีกอย่าง ไปกู้เงินต่างชาติมาหลายหมื่นล้าน ตอนนี้จ่ายเงินไปแล้ว 99 % แต่ก็ยังเปิดใช้งานไม่ได้ ปัญหาที่อยากจะแก้ก็ยังคงอยู่ แถมยังมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ยังมีโครงการแบบเดียวกันแต่ขนาดเล็กลงมาหน่อยอยู่ในหลายจังหวัด เงินลงทุนก็หลักร้อยล้าน จนป่านนี้ก็ยังใช้ประโยชน์ไม่ได้

บทเรียนการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพน่าจะเป็นตัวอย่างการขับเคลื่อนนโยบายด้านอื่นๆ นอกจากมีกระบวนการดี ยังมีหลักประกันให้กับผู้เกี่ยวข้องมั่นใจว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีด้วย

มาเรียนรู้ ไปกับอ้ายเอก และมาชวน อ้ายเอก ไป ดู หลาน ๆ อาบน้ำแร่กันเน้อเจ้า

คุณวัฒน์ ลำลูกกา

ผมตะลอนเดินทางไป สามสี่แห่ง ที่เป็นพื้นที่เรียกว่า "นำร่อง" ประเด็นของ นโยบายสาธารณะ แล้วก็ชื่นใจจริงๆครับ

ผมเห็นจุดร่วมของชุมชนที่คล้ายกัน และ ผมก็เห็นจุดที่แตกต่างกันตามสภาพบริบทของแต่ละแห่ง

แต่กระบวนการเกาะเกี่ยวเครือข่าย และเส้นทางการได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะนั้นก็ไม่เหมือนกันเสียเลยทีเดียว

พื้นฐานอยู่ที่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ชุมชน) ลุกขึ้นมากำหนดวิถีของตนเอง ผ่านสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของ หมอประเวศ ภาพสามเหลี่ยมนี้หนุนเสริมกันชัดเจนมากครับ

วันนี้ไปที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม มา ได้นั่งสังเกตการณ์เรื่องการอนุรักษ์แม่น้ำท่าจีน ของชมรมเรารักษ์แม่น้ำท่าจีน และตรงนั้นเองก็คือ คำตอบของนโยบายสาธารณะอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ

เห็นบทกวีหน้าเอกสารที่ได้รับแจกวันนี้ น่าสนใจ เอามาฝากครับ

 

น้ำท่วมปาก ทุกข์หนักพูดไม่ได้

น้ำท่วมทุ่ง แปลงผักบุ้งลอยมาของใคร

น้ำท่วมปอด ไม่เคยรอดเลยสักราย

น้ำท่วมเชิงนโยบาย  ผู้โชคร้ายคือประชาชนทั่วไป

 

 

ขอบคุณมากครับคุณ วัฒน์ ลำลูกกา

ขอบคุณครับ น้อง ครูใหม่ บ้านน้ำจุน    ผมตามไปชมแล้วครับ

หลานๆน่ารักมากๆ

-มาชื่นชม กราทำงานระดับชาติ

-โชคดีได้เห็นบทความเช่นนี้

-สาธารณสุข ที่จากไปแล้วคงดีใจที่โลก และความฝันของเขา เป็นจริงได้แน่นอน

-ขอบคุณมากๆค่ะ

ครูkrutoi

ผมเพิ่งเสร็จการสังเคราะห์งาน นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ชิ้นนี้ครับ เรารับทุนจาก สช. และก็ทำใน ๔ พื้นที่ต้นแบบ 

จากการถอดบทเรียน ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย และที่น่าดีใจก็คือ ความเข้มแข็งของชุมชนที่เกิดขึ้น เกิดจากชุมชนจริงๆ บทเรียนนี้สำคัญอย่างยิ่งครับ

เราหวังว่า เรื่องราวของพื้นที่ต้นแบบทั้ง ๔ จุด จะเป็น Best practice ที่ดีให้แก่สังคมไทย เพื่อเรียนรู้และขับเคลื่อนตามบริบทของตนเอง

กำลังวางแผนเขียนบันทึก อีกบันทึกที่ว่าด้วย "สิ่งที่ผมได้เรียนรู้" จากการทำงานครั้งนี้ครับ

ติดตามอ่านนะครับ  :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท