โรงเรียนสร้างคนดีที่บ้านเปือย อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี


การให้เด็กนั่งสมาธิ สวดมนต์ คิดว่าทำให้นักเรียนเป็นเด็กดี แต่จริงๆแล้วไม่พอ จึงเกิดแนวคิดที่ว่า วิถีพุทธมันต้องปฏิบัติ สัมผัส รับรู้และเข้าใจได้ จึงเริ่มให้ความสำคัญกับการปฏิบัติมากกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้

โรงเรียนบ้านเปือย อ.น้ำยืน จ.อุบล อาจเป็นเป็นโรงเรียนแห่งเดียวในประเทศที่เด็กไม่ต้องเอาเงินมาโรงเรียนแม้แต่บาทเดียว 

ผมอ่านเรื่องราวของโรงเรียนแห่งนี้ หลังจากที่คุณสุนีย์ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แนะนำผมว่า “โรงเรียนแห่งนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นโรงเรียนวิถีพุทธที่ไม่ธรรมดา...”

คำบอกเล่าจากกัลยาณมิตรที่ช่วยแนะนำ ผมก็พยายามค้นหาข้อมูลในสื่ออื่นๆได้มาบ้าง ทำให้ภาพของโรงเรียนบ้านเปือยชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่าโรงเรียนนี้จะอยู่ไกลแสนไกล ผมก็จะดั้นด้นไปเพื่อไปเรียนรู้ พร้อมกับเก็บเกี่ยวสิ่งดีๆนำมาแลกเปลี่ยนให้กับสังคมในวงกว้าง  ผมได้เบอร์โทรศัพท์ของท่านผู้อำนายการจากผู้แนะนำ จากนั้นผมจัดแจงโทรไปแนะนำตัว และวัตถุประสงค์ที่จะเข้าเข้าไปร่วมเรียนรู้ยังพื้นที่ ผอ.บงการ สายเนตร ท่านได้ตอบรับอย่างดียิ่ง พร้อมกับกำชับผมว่า “อยากให้มาเยี่ยมถึงโรงเรียนแล้วจะรู้ว่าโรงเรียนผมเป็นยังไง” คำท้าทายของ ผอ.บงการ ทำให้ผมตัดสินใจเดินทางไปอุบลราชธานีแบบเร่งด่วน

จากข้อมูลที่ผมอ่านเตรียมพร้อมเพื่อเติมประเด็นจากที่มีอยู่ มีหลายๆประเด็นที่ยังต้องการข้อมูลเพิ่ม

-          โรงเรียนแห่งนี้ มีกฏเหล็กไม่ให้เด็กเอาเงินมาโรงเรียนมานานนับ ๑๐ ปี  และให้เด็กใช้วิธีออมเงิน เพื่อนำฝากเข้าออมทรัพย์ของนักเรียนเองทุกวันที่ ๑ - ๕ ของเดือน เศรษฐีตัวน้อยจะแบกกระปุกออมสินที่ทำจากกระบอกไม้ใผ่ทยอยนำเงินที่อดออมได้มาฝาก

-          คุณครูที่นี่ไม่ดื่มสุรา ไม่เล่นการพนันเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ และชาวบ้าน ที่สำคัญ ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย

-          คุณครูที่นี่ไม่เป็นหนี้นอกระบบ

หัวเราะเปิดใจแบบนี้ ...ประเมินได้ว่าคุณครูมีความสุข  สอบถามได้ความว่า "สุขจริงๆนะจ๊ะ"

-------------------------------------------------------------------------------------------------

ปรัชญาการศึกษาที่ทางโรงเรียนปรับให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน บริบทของเด็ก รวมถึงความเป็นโรงเรียนวิถีพุทธที่บูรณาการหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บูรณาการเข้าไปใน ๘ สาระวิชา เรื่องราวที่เราเขียนถึงแนวทางการปฏิบบัติเพื่อก้าวสู่การเป็นโรงเรียนวิถีพุทธนั้นง่าย แต่การปฏิบัติที่สร้างกระบวนการเรียนรู้กล่อมเกลาเด็กให้เนียนไปกับการเรียนการสอน หรือแม้กระทั่งวิถีชีวิตของเด็ก เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า  แต่ที่โรงเรียนบ้านเปือย ทำได้ และทำได้ดี เด็กที่นี่จึงถูกพัฒนากล่อมเกลาทั้งทางด้านมิติเชิงพุทธ และวิชาการพร้อมกันไปด้วยอย่างสมดุล

ผมเดินทางมาจากกรุงเทพฯ มุ่งตรงไปที่อุบลราชธานี และพยายามเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านเปือย ทั้งที่ไม่เคยไปมาก่อน ทราบว่า อ.น้ำยืน อยู่ติด อ.นาจะหลวย ชายแดนของเมืองอุบลกันเลยทีเดียว ระยะทางร้อยกว่ากิโลเมตรจาก อ.เมือง ถือว่าไกลพอสมควร การเดินทางครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจากเพื่อนอาจารย์ที่อยู่อุบล แม้จะเป็นคนในพื้นที่เราก็หลงทางตั้งนานสองนาน กว่าจะเดินทางไปถึง ด้วยการติดต่อผ่านโทรศัพท์ท่าน ผอ.เป็นระยะๆ เห็นป้ายข้างทางแจ้งสถานที่ว่า อีก ๓๐ กิโลเมตรจะถึง นารายณ์บรรทมสินธุ์ แสดงว่าเราเดินทางมาไกลมากๆ

ในที่สุดก็เดินทางมาถึงโรงเรียนบ้านเปือยจนได้ ท่าน ผอ. บงการ และคุณครูออกมาต้อนรับ และก่อนที่จะเข้าห้องประชุมเพื่อนั่งสนทนา ท่าน ผอ.ได้พาเดินชมรอบโรงเรียนระยะทางสั้นๆ โรงเรียนเล็กๆ มีค้นไม้ร่มรื่นดี ข้างหลังอาคารมีสวนสวย ท่าน ผอ.บอกว่า ให้เด็กมาเดินเจริญสติ

Dscf5724

Dscf5727

โรงเรียนบ้านเปือยเป็นโรงเรียนเล็กๆตั้งอยู่ในเขต ต.บุเปือย อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เปิดทำการสอน ๗ ห้องเรียน จากชั้นอนุบาล ๒ จนถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ มีครู ๖ คน นักเรียน ๑๒๓ คน และไม่มีนักการภารโรง ดังนั้นที่นี่นักเรียนและครูทำเองหมด

พูดคุย กับเด็กๆ ...น่าทึ่งกับวิธีคิดมิติเชิงพุทธกับการปฏิบัติตนของเด็ก

--------------------------------------------------------------------------------------------

เวทีสนทนาของเรา จัดขึ้นง่ายๆที่ห้องสมุดเล็กๆของโรงเรียน แม้ว่าวันนี้เป็นวันหยุด คุณครูก็มาโรงเรียนกันพร้อมหน้า เพราะมีภาระกิจหลายอย่างที่ต้องทำทั้งในวันหยุด หรือแม้กระทั่งปิดเทอมคุณครูก็ต้องมานั่งทำงานที่โรงเรียนอยู่ เวทีสนทนานอกจากจะมีคณะครูแล้ว ท่าน ผอ.บงการ ยังได้ชวนกรรมการสถานศึกษาสองสามท่านเข้าร่วมพูดคุยด้วย เป็นโอกาสดีที่ผมได้สัมผัสทั้งในส่วนของโรงเรียน  ครู นักเรียน และชาวบ้าน

เบื้องต้นการพูดคุย พ่อใหญ่ท่านหนึ่งในวง พูดคุยถึงโรงเรียนบ้านเปือย เริ่มต้นว่า “โรงเรียนของผม....”   ผมได้ยินคำว่า “โรงเรียนของผม” จากปากของพ่อใหญ่ ก็พอจะคาดเดาความสัมพันธ์ของชุมชนกับโรงเรียนได้ในระดับหนึ่ง ท่าทีเป็นมิตรและสนิทสนมระหว่างคุณครูกับชาวบ้าน ก็ทำให้มองถึงความสัมพันธ์อันดี ดังนั้นความสำเร็จที่นี่จึงเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสำคัญ

“โรงเรียนเราสร้างความเป็นคนดี  ผมเชื่อว่าคนดีเป็นสิ่งที่ทำให้ควบคุมตนเองได้ แล้วทุกอย่างจะดีตามกันไป” ผอ.บงการได้เปรยขึ้นในบทสนทนาแรกเมื่อผมถามถึงการบูรณาการการเรียนการสอน ผอ.เล่าถึงตัวชีวัดความเป็นคนดี คือการปฏิบัติศีลห้า และสมบัติผู้ดี และหลักสูตรสมบัติผู้ดีจะต้องบูรณาการลงไปในทุกสาระวิชาที่ผู้เรียน เรียนทุกช่วงชั้น เพื่อให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์และรู้แนวทางการปฏิบัติตนเมื่ออยู่ร่วมผู้อื่น ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญได้แก่ “สุขภาพ” ต้องดีด้วย “คนดีสุขภาพดี” จะต้องอยู่ควบคู่และค้ำจุนกันไป

กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนใช้ ทฤษฏีการเรียนรู้ตามแนววิถีพุทธ คือ “อริยะสัจ ๔  หากเราดูตามเนื้อหาการบูรณาการตามสาระวิชา เหมือนจะหนักไปทางทฤษฏีเชิงพุทธ และให้นักเรียนปฏิบัติตาม ซึ่งในความคิดของผมก็เชื่อว่า นักเรียนสามารถท่องและทำตามได้ ...แต่ไม่ยั่งยืน  เป็นโอกาสที่ดีเช่นกันที่มีน้องนักเรียนชายหญิงที่เข้าร่วมสนทนาในเวทีด้วย คุณครูให้เล่าให้ผมฟังถึง อริยสัจ ๔ ว่ามีอะไรบ้าง? พร้อมวิเคราะห์ปัญหา น้องๆก็ตอบได้ฉะฉานคล่องแคล่ว ราวกับท่องจำ ผมจึงลองตั้งคำถามใหม่ โดยคิดประเด็นปัญหาใหม่ๆ ปรากฏกว่า เด็กนักเรียนชายหญิงสามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ตามแนวทางอริยสัจ ๔ อย่างน่าทึ่ง

ผอ.บงการย้ำกับผมว่า “การวิเคราะห์ปัญหาตามแนวทางอริยสัจ ๔ นั้น เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ตนเอง เรียนรู้ปัญหาอย่างถ่องแท้ ถึงที่ไปที่มา จนถึงมรรควิธีการแก้ไขปัญหา เมื่อเด็กเรียนรู้แบบนี้แล้ว เขาจะวิเคราะห์ปัญหาต่างๆด้วยตนเอง เรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างมีปัญญา” นี่คือการพัฒนาคุณธรรม พัฒนาความเป็นมนุษย์ตามแนวพุทธศาสตร์อย่างแท้จริง

นักเรียนที่นี่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เนื่องมาจากกระบวนการเรียนการสอน และกติกาการอยู่ร่วมกัน โดยยีดหลักตามแนวทางพระพุทธศาสนาและเศรษฐกิจพอเพียง

“ที่นี่เราเลี้ยงปลา เพื่อสำหรับไว้เป็นอาหารกลางวัน แต่จนแล้วจนรอด ทั้งเด็กและครูต่างไม่ยอมกินปลาที่ตนเองเลี้ยง เหตุเพราะสงสาร ปลาที่นี่จึงตัวโตๆ เต็มบ่อ” อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมฟังแล้วแอบอมยิ้ม เพราะการที่นักเรียนและครูได้เลี้ยงสัตว์เหล่านี้ คอยให้อาหาร จนเกิดความผูกพัน และไม่คิดอยากจะทำลายชีวิตสัตว์เหล่านั้น ต้นกล้าแห่งจิตที่เมตตาก่อเกิดขึ้นในใจของเด็กๆอย่างเห็นได้ชัด

ประเด็นที่ตอกย้ำให้เห็นว่าการสร้างคนดีที่โรงเรียนบ้านเปือย นอกจากจะนำแนวคิดพระพุทธศาสนามาใช้เป็นแนวทางในการเรียนการสอนโดยบูรณาการเข้าไปทั้ง ๘ สาระวิชา แล้ว จากคำให้สัมภาษณ์ของ ผอ.บงการ ที่ผมอ่านจากสื่อเอกสารที่รวบรวมมาได้ ผอ.บอกว่า

“การให้เด็กนั่งสมาธิ สวดมนต์ คิดว่าทำให้นักเรียนเป็นเด็กดี แต่จริงๆแล้วไม่พอ จึงเกิดแนวคิดที่ว่า วิถีพุทธมันต้องปฏิบัติ สัมผัส รับรู้และเข้าใจได้ จึงเริ่มให้ความสำคัญกับการปฏิบัติมากกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ 

หัวใจของการสร้างคนดีที่บ้านเปือย คือ การปฏิบัติ เพื่อเชื่อมโยงกระบวนการไปอธิบายมิติเชิงพุทธ  กระบวนการแบบนี้เองที่ช่วยกล่อมเกลาเด็กนักเรียนที่นี่ เป็นคนที่มี “สุข เก่ง และดี”

 Dscf5737


เรื่องราว "โรงเรียนสร้างคนดีที่โรงเรียนบ้านเปือย" ผมได้ upload วีดีโอ กิจกรรมโรงเรียนวิถีพุทธ ไว้ที่ http://video.google.com/videoplay?docid=-423014294381003801  สามารถเข้าไปชมกันได้ครับ

>>>

 

บันทึกต่อไป จะเล่าถึง  โรงเรียนที่ตั้งกฏเหล็กไม่ให้เด็กเอาเงินมาโรงเรียนมานานนับ ๑๐ ปี ว่าทำได้อย่างไร และสุดท้ายแล้ว กระบวนการแบบนี้มุ่งหวังอะไร ติดตามบันทึกต่อไป “ ที่โรงเรียนบ้านเปือย ไม่มีเงินก็มาโรงเรียนได้”  

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

๕ เม.ย.๕๒

นนทบุรี

 

 

หมายเลขบันทึก: 253705เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2009 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวสดีค่ะ คุณเอก

ยังไม่ตอบคำถามเลย ว่าซามูไรที่ยืนถือดาบ

ด้านหน้าประวัตินั่นคือใคร

พี่ตามมาเรียนรู้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

หากคุณภัทรานิษฐ์ เจริญธรรม หมายถึงหน้าประวัติผมแล้ว ท่านผู้นั้น คือ  มิยาโมโต้ "มูซาซิ"ครับ

(Miyamoto Musashi)

ซามูไรดาบคู่ ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ มีชีวิตอยู่ในราว ค.ศ. 1584-1645 จากประวัติการต่อสู้กว่า 60 ครั้ง ไม่เคยแพ้เลยแม้แต่ครั้งเดียว … นั่นไม่ใช่โชคช่วย แต่เป็นเพราะฝึกฝนมาอย่างดีทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะการฝึกจิตเพื่อเอาชนะศัตรูภายในตนเอง จนกระทั่ง”มีความสามารถที่จะรบชนะ” เขาไม่เชื่อในเรื่องดวงหรือโชคชะตา แนวทางชีวิตของเขา คือ “จงเคารพบูชาพระเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่จงอย่าขอร้องอ้อนวอนให้ท่านช่วย”

 มิยาโมโต้ มูซาชิ นอกจากจะเป็นนักดาบแล้ว ยังเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมอีกด้วย ทั้งวาดภาพ เขียนหนังสือ และงานแกะสลัก เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลของสมองทั้งสองข้าง ทั้งซีกซ้ายและซีกขวา ใช้ดาบได้อย่างคล่องแคล่วทั้งสองมือ แถมดาบคู่ของเขานั้น ยังสั้นข้าง-ยาวข้างเสียอีก …

 

เขาเก่งทั้ง ศาสตร์ และศิลป์ครับ

 

อ้างอิงจาก http://stanglibrary.wordpress.com/

krutoi
กำลังจะเขียนตอนที่ ๒ ต่อครับ

ติดตามตอนที่ ๒ ของโรงรียนบ้านเปือย “ ที่โรงเรียนบ้านเปือย ไม่มีเงินก็มาโรงเรียนได้” ในวันพรุ่งนี้ครับ

สวัสดีค่ะ คุณเอก

มีความสามารถ ในการรบชนะ มาช่วยรบหน่อยได้ไหม?

อ๋อเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทุกองค์เลยไหมคะ?

การฝึกจิตเพื่อเอาชนะศัตรูภายในตนเอง ชอบมากๆเลยขอบอก

คุณภัทรานิษฐ์ เจริญธรรม

จะรบกับใคร รบให้ชนะตนเองก่อนครับ

ผมไม่ค่อยเข้าใจคำถาม "อ๋อเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทุกองค์เลยไหมคะ?"

เพราะ มิยาโมโต้ มูซาซิ ไม่ได้หมายความว่า ท่านเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  แต่เป็น Idol ที่ผมชอบในเรื่องราว วิถีคิดของซามูไรท่านนี้ครับ

หรือหากจะถามถึง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา คือ พระรัตนตรัย และบิดา มารดา ครับ

 

สวัสดีค่ะ คุณเอก

สุดยอดเลยค่ะ บิดา มารดา แน่นอนที่สุดเลยค่ะ

เป็นผู้นำท่องเวปไปทั่วทุกแว่นแคว้น

สิ่งตอบแทนแสนคุ้มค่าพาผ่องใส

เช้า-ค่ำสวดมนต์ทำให้พ้นภัย

จะทำให้บรรลุโสดาบันเอย

ธรรมะสวัสดี

ขอบคุณครับ คุณ  ภัทรานิษฐ์ เจริญธรรม คุณเขียนกลอนก็สัมผัส ไพเราะดีครับ ขอชื่นชมครับ ผมอ่านจากบันทึกที่พยายามถอด"คุณธรรม"จาก ตัวละครนั้นเป็นบันทึกที่ดีครับ

สวัสดีค่ะ คุณเอก

ยังตอบไม่หมด(เพิ่มเติมค่ะ)

อ๋อ เออจริงซินะเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่ดีมากๆ

เป็นผู้นำท่องเวปไปทั่วทุกแว่นแคว้น

สิ่งตอบแทนแสนคุ้มค่าพาผ่องใส

Idol คืออะไรคะ

ธรรมะสวัสดี

สวัสดีค่ะคุณเอก

ตามมาเรียนรู้ค่ะ 

ขอบคุณค่ะที่ได้ให้ความรู้

ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ที่มีคุณค่า ^_^

เป็นโรงเรียนที่น่าสนใจมากๆครับ จะตามอ่านต่อไปว่าเขาทำอย่างไร

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านเรื่องดีๆ

บ้านเราตอนนี้...ไม่อยากดูข่าวเลย

แต่ได้มาอ่านบันทึกนี้ดีใจ...ที่ยังมีสังคมของคนดี

น่าจะชวนแวดวงการศึกษาไปดูงานนะคะ

เห็นรอยยิ้ม หัวเราะอย่างนี้...ก็เป็นตัวชี้วัดอย่างดี

แวะไปให้คำแนะนำดีๆหน่อยนะคะ

อ่านแล้วได้แง่คิดครับว่า ตอนนี้ที่เราสอนๆ กันอยู่ เพื่อให้พวกเขาไปเอา(แย่งชิงกัน)ประโยชน์ที่มีอยู่ มากกว่าที่เราจะช่วยกันสอนให้เขาสามารถดำรงค์อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข สอนให้เขาอยู่ได้ตามวิถีชีวิตของชุมชน

ขอบคุณครับเอก

ขอบคุณครับ น้องเทียนน้อย

ประสบการณ์ที่ดีเหล่านี้ผมตั้งใจนำเสนอ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของ Humanized Edu Care ครับ

สามารถเติมเต็มประสบการณ์กันได้ครับ

พี่บัญฑูร อัยการชาวเกาะ ครับ

ผมกำลังเรียบเรียงเรื่องราวต่อเนื่อง "โรงเรียนไม่ใช้เงิน" อยู่ครับ คาดว่าจะนำเสนอได้ไม่เกินวันนี้ มีอีกสองสามโรงเรียนที่มีเรื่องดีๆ จะนำมาเล่าครับ

ขอบคุณครับที่มาติดตามครับ

จารุวัจน์

เรื่องราวของคนทำดี และ ทำที่จะฝืนกระแสบ้างในสังคมบริโภค เรื่องราวเหล่านี้มีอยู่จริง แต่ไม่มีพื้นที่ในการนำเสนอครับ

ผมขอเป็นส่วนหนึ่ง ที่เป็นกลไกเล็กๆที่จะนำเรื่องราวเหล่านี้ บอกต่อให้กับสังคม และประเด็นงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Humanized Edu Care ที่เราจะขับเคลื่อนกันในโอกาสต่อไปนี้ครับ

มีประโยชน์บ้างก็ยังดีครับ

 

ขอบคุณครับ

คุณแดง
ผมก็มีความสุขร่วมกับสิ่งดีๆที่คุณครูทำไปด้วยครับ ความอิ่มเอมใจที่ได้สัมผัส ผมนำมาร้อยเรียงให้ได้อ่าน แต่ยังไงก็ไม่เท่ากับได้ไปสัมผัส และรับรู้

ผมก็คิดนะครับ ว่า ผมจะถ่ายทอดอย่างไรให้เท่ากับใจที่ผมรู้สึกได้

สังคมไทยเรามีดีครับ เรื่องดีๆ ควรขยาย

ไม่ควรหมดหวังกับสังคมใหญ่ที่วุ่นวายในขณะนี้

ขอบคุณมากครับผม :)

  • บันทึกของคุณเอกสามารถรวบรวมเป็นเล่มและพิมพ์แจกจ่ายโรงเรียนทั่วประเทศ เป็นตัวอย่างโรงเรียนวิถีพุทธในรูปแบบต่าง ๆ ได้เลยนะคะ
  • สิ่งสำคัญที่ศิลาเห็นควรจะมาจากผู้บริหาร  ชุมชน  และเครือข่ายที่สร้างสายใยอันงดงาม  และเมื่อนำสิ่งดี ๆ สู่เด็ก ๆก็จะทำให้เดฺ็กสานต่อความงดงามนี้ต่อไป
  • กิจกรรมดี ๆ มีคุณค่าสูงมากค่ะ ตำราใด ๆ ก็อาจจะสอนให้จดจำไม่ได้เท่ากับปัญญาปฏิบัติ
  • ขอบพระคุณค่ะสำหรับสิ่งดี ๆ ที่มอบให้แก่ชุมชมและสังคม

สวัสดีครับ อ.Sila Phu-Chaya

การเขียนบันทึกเกี่ยวกับ เรื่องราวดีๆของโรงเรียนเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน Mapping School ของ มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ ครับ ตามแผนการพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ระยะที่ ๓

ผมคิดเสมอว่า ผมจะให้ทีมงาน มูลนิธิร่วมเรียนรู้กับการทำงานภาคสนามผมอย่างไร  หากไม่ได้ลงพื้นที่ไปพร้อมผม

การเล่าเรื่อง เป็นการแสดงให้เห็นภาพที่ดี แต่ผมก็ยังมีเรื่องราวอยากจะบอกอีกมากมาย ซึ่งก็ยังไม่หมดนะครับ อยากถ่ายทอดความรู้สึกบางอย่างเมื่อได้สัมผัสเรื่องราวดีๆ คนดีๆ เต็มที่

การนำเสนอผ่านบันทึก ก็ช่วยให้หลายท่านที่สนใจ ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกับผมด้วย

ขอบคุณมากครับสำหรับกำลังใจ และการมาเยี่ยมเยียนของอาจารย์ครับ ทำให้ผมมีพลังเสมอ :)

ผมอยู่ขอนแก่นครับ แต่รักเมืองอุบลมากๆรวมทั้งคนอุบลด้วยอยากไปอยู่อุบลครับแต่ยังหาแฟนอุบลไม่ได้เลย..

ผมไปเยี่ยมท่าน ผอ.บงการ เมื่อวานนี้(วันที่ 29 ธันวาคม 2553) ค้นหาเส้นทางไปโรงเรียนลำบากพอสมควร จึงตั้งต้นที่ โรงเรียน บุเปือย แล้วสอบถามครูที่นั่น การเดินทางค่อนข้างลำบาก ไปอย่างง่าย ๆ คือตั้งต้นที่อำเภอน้ำยืน เส้นทางอำเภอน้ำยืน - อำเภอ นาจะหลวย (สาย 2248) ออกจาก อ.น้ำยืนประมาณ 10 กม. ถึงบ้านโพนทอง เลี้ยวซ้าย ประมาณ 7 กม.ถึงบ้านเปือย มีป้ายบอกทางเข้าโรงเรียนอยู่ทางขวามือครับ

วันพรุ่งนี้ ที่15 ก.พ.2554  โรงเรียนบ้านห้วยเสลา จะไปดูงานที่โรงเรียนบ้านเปือยค่ะคณะครูและนักเรียนจะพยายามเก็บข้อมูลที่ดีดีมาปรับใช้กับโรงเรียนค่ะขอให้อานิสงค์แห่งการเรียนรู้นี้ส่งผลให้โรงเรียนของเราพัฒนาได้ผลดีอย่างโรงเรียนบ้านเปือยด้วยเถิดสาธุ....

กุ้งเป็นครูโรงเรียนบ้านเปือย ขอกราบขอบพระคุณที่ทุกท่านชมการปฏิบัติของโรงเรียนบ้านเปือย ทุกท่านเป็นกำลังใจเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ให้พวกเราทำความดีเพื่อพัฒนานักเรียนตัวน้อยต่อไป ขอบพระคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท