มุมมองต่อการถอดบทเรียนความสำเร็จของ โครงการ SHA


มุมมองต่อการถอดบทเรียนความสำเร็จของโครงการ SHA

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

 

ถึงแม้ว่าการดำเนินงาน โครงการ “การสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” หรือ โครงการ SHA จะเป็นช่วงเริ่มต้น และมีการดำเนินงานตามแนวคิดผสานงานพัฒนาคุณภาพกับการส่งเสริมสุขภาพมาในระยะเวลาไม่นาน แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้น กลับผลักดันให้มีการเคลื่อนงานคุณภาพอย่างมีพลัง ให้กับคนทำงานทางด้านสุขภาพ จึงมีคำถามว่า เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ?

 

ทางทีมงานถอดบทเรียนได้มีโอกาส ถอดบทเรียนและเรียนรู้ในสองโรงพยาบาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลนำร่องตามโครงการ SHA คือ โรงพยาบาลพิจิตร จังหวัดพิจิตร และ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งสองโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด และเป็นโรงพยาบาลในระดับปฐมภูมิ ความซับซ้อนของการวางแผนการพัฒนาสุขภาพในพื้นที่มีความซับซ้อนด้วยขนาดของโรงพยาบาลและจำนวนบุคลากร รวมไปถึงพื้นที่รับผิดชอบ แต่จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้ทราบว่า โรงพยาบาลทั้งสองแห่งมีกระบวนการพัฒนาคุณภาพที่ประสบความสำเร็จ สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาโรงพยาบาลไปกับกระบวนการพัฒนาคุณภาพได้เป็นอย่างดี

หนังสือ ถอดบทเรียน โครงการ SHA

 

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจากระยะเวลาการดำเนินการโครงการ SHA เพียงไม่นาน เกิดขึ้นได้อย่างไร? ทางทีมงานถอดบทเรียนได้สรุปได้ 4 ประเด็นดังต่อไปนี้

  1. ความสอดคล้องกับวิถีชีวิต และต้นทุนเดิมของโรงพยาบาล  ทำให้เกิดการเติมเต็ม ต่อยอดกระบวนการพัฒนาคุณภาพ ด้วยกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพเป็นกระบวนการที่ผู้คนใช้อยู่แล้วเป็นประจำเป็นการจัดการความรู้ของชีวิต แทรกอยู่ทุกอณูของการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ดังนั้นกระบวนการพัฒนาคุณภาพก็เช่นเดียวกันไม่ได้แปลกแยกไปจากวิถีชีวิตเลย  การเติมเต็มงานคุณภาพโดยใช้บทเรียนที่มีฐานจากวิถีชีวิตปกติ เข้าสู่งานที่ทำ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการปลุกเร้าด้วยความสุขและกำลังใจ  ส่วนในด้านต้นทุนของโรงพยาบาลที่มีทักษะด้านเครื่องมือพัฒนางานประจำเช่น TQM,5 ส,OD,ESB และ R2R ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานด้านทักษะที่เตรียมพร้อมไว้เป็นอย่างดี เมื่อการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยมีจิตวิญญาณของบุคลากรทุกคน จึงมีความยั่งยืนและเกิดเป็นวัฒนธรรม  จุดแข็งของ SHA จึงอยู่ที่ “มีหลักการแนวคิดที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่นและมีความอิสระ” สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแต่ละบริบทของพื้นที่ ตอบสนองเป้าหมายของคนทำงาน 
  2. การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้นำ มุมมองของการพัฒนาคุณภาพมีส่วนสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพสู่ความยั่งยืน  ผู้นำที่ให้ความสำคัญและเข้าใจ ความยั่งยืนของการดูแลสุขภาพผ่านงานส่งเสริมสุขภาพที่ต้องใช้เวลาและกระบวนการเสริมพลังอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงกระบวนการทำงานเชิงรุกด้านสุขภาพอย่างมียุทธศาสตร์ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม มองเป้าหมายที่เรียกว่า “สุขภาวะ” ร่วมกัน กระบวนทัศน์ของผู้บริหารจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเอื้อให้บุคลากรได้มีพื้นที่แห่งตัวตนได้อย่างอิสระและมีความพึงพอใจ เป็นบรรยากาศของการทำงานที่ให้เกียรติ ให้ศักดิ์ศรี คุณค่าที่เท่าเทียม กระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปลักษณะนี้ ทำให้เกิดพลังของกลุ่มและพลังของความสุข 
  3. การบูรณาการระหว่างงานส่งเสริมคุณภาพ และ งานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล งานส่งเสริมสุขภาพในโรงพยาบาลมีทิศทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เรียนรู้ถึง “แก่น”ของงานส่งเสริมสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับ คน การมีส่วนร่วม วัฒนธรรมและความเชื่อ คลี่คลายปัญหาสุขภาพโดยการสร้างความตระหนัก องค์ความรู้ที่จำเป็น เพียงพอสำหรับการดูแลสุขภาพของตนเอง ชุมชน มีการเชื่อมโยงร่วมด้วยช่วยเหลือกันของภาคีหุ้นส่วน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี (Quality of life) มีความสุขและยั่งยืนอย่างแท้จริง 
  4. กระบวนการเรียนรู้ ที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีพลั การลองผิด ลองถูกของกระบวนการการพัฒนาคุณภาพเพื่อค้นหาจุดสมดุลพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยฐานขององค์ความรู้  พบว่า มีการเปิดพื้นที่การเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ผ่อนคลาย ยืดหยุ่น รวมไปถึงการสนับสนุนนวัตกรรมทางด้านสุขภาพที่หลากหลาย “การนำเสนอผลงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้” เป็นกลยุทธ์ในการ “สร้างและใช้ความรู้”  เป็นกระบวนการจัดการความรู้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง  มีการจัดตั้งทีมผู้ให้ความรู้ สังเคราะห์ความรู้ที่จำเป็นเพียงพอสำหรับองค์กร  รวมไปถึงทีมที่ให้คำปรึกษา เป็นทีมกัลยาณมิตรช่วยเหลือกัน สร้างชุมชนนักปฏิบัติ(Community of Practice : CoP) ที่เป็นธรรมชาติ ภายใต้บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ต่อยอดออกไปในชุมชน สร้างกระบวนการเรียนรู้ต่อยอดและใช้เครื่องมือที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ งานที่ได้ผล คนเป็นสุข ความสุขที่เบิกบานที่เกิดจากการให้และรับอย่างสมดุล

           

           โครงการ SHA ที่มีจุดมุ่งอยู่ที่ความ “ยั่งยืน”  คนทำงานในแวดวงการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า SHA ทำให้งานที่ทำอยู่ชัดขึ้น และ SHA ให้โอกาสคนทำงานในมิติจิตใจที่ยากแก่การมีพื้นที่เป็นของตัวเอง ด้วยลักษณะกระบวนการที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน ผลิตที่ได้ก็เป็นเชิงนามธรรมที่ใช้ตัวชี้วัดใดๆ มาตัดสินกำหนดมาตรฐานไม่ได้เลย ถือว่า SHA ให้โอกาสและพื้นที่ พร้อมๆกับสร้างพลังความดีงามให้ขยายขึ้นเรื่อยๆ ความสำเร็จที่ได้จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ หากแต่ว่าสั่งสมวัฒนธรรมการทำงานคุณภาพผ่านเครื่องมือที่หลากหลายมาระยะหนึ่ง

 

 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ศาลายา

๒๒ กพ.๕๓

หมายเลขบันทึก: 339101เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2010 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

โครงการ SHA ที่มีจุดมุ่งอยู่ที่ความ “ยั่งยืน”

หนังสือสวยมากๆค่ะ เฮ้อ อยากให้มีการพัฒนาแบบนี้บ้างในระดับอุดมศึกษานะคะ

อ้างแล้วทึ่งในกระวนการงานสร้างมากครับ

ไอเดียบรรเจิดเลยครับภาพหน้าปก

ขอเป็นกำลังใจให้นะครับพี่เอก ตอนนี้ได้เข้ามาพิสูจน์ตัวเองกับศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๕ โดยการชักนำของลุงเอกและได้รับโอกาสจากแพทย์หญิงเพชรดาว ท่าน ผอ. ศูนย์ งานชิ้นแรกผ่านไปท่านพอใจมากครับกับการเรียบเรียงผลการถอดบทเรียนที่ผ่านมาครับ

ขอบคุณกระบวนการและวิถีคิดที่ทำให้เรียนรู้ในหลายๆด้านนะครับ

ว่าแต่จะหาซื้อหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ได้ที่ไหนครับ เผื่อเก็บไว้เป็นบทเรียนเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ครับ

    เป็นกำลังใจให้พี่ชายคนนี้เสมอครับ...ฟูอ๊าด

สวัสดีครับพี่นารี naree suwan 
ครับ

ห่างหายไปนาน สบายดีนะครับ...เห็นพี่นารีเเถวๆ ทวิตเตอร์ โน้นเเนะครับ

หนังสือ SHA ยั่งยืน กำลังอยู่ในกระบวนการผลิตครับ ไม่อยากให้สวยเพียงหน้าปก เเต่เนื้อหาก็อยากให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการนำไปใช้ครับ

ประเด็นการ "ถอดบทเรียนเพื่อการพัฒนา"  สถาบันอุดมศึกษา ก็มีการถอดบทเรียนอยู่เสมอๆครับ มีนักวิชาการทางด้านนี้มากมายใน สกอ. ใน มหาวิทยาลัย ...คิดว่ามีกระบวนการเเบบนี้อยู่ แต่อาจไม่ใช่หน่วยงานที่ดูเเลการศึกษษภาพรวม อาจทำในหน่วยย่อย เช่น มหาวิทยาลัย,สถาบันต่างๆ..

 

น้องฟูอ้าจ

น้องฟูอ้าจมีโอกาสที่ดี เเละได้ทดสอบฝีมือกับประเด็นที่สำคัญทางสามจังหวัด บทเรียนจากการทำงานเป็นประสบการณ์ที่ดี อย่าลืมถอดบทเรียนเหล่านี้ เก็บไว้นะครับ ทุกย่างก้าวมีการเรียนรู้เสมอ..

ผมเป็นกำลังใจให้ครับ

สวัสดีครับ

ผมชอบคำว่า"ยั่งยืน" ดีมาก ตรงที่ไม่ดูว่าเป็นการตบแต่ง หรือทำขึ้นมาประเดี๋ยวประด๋าว ตามกระแสแล้วก็หายไป

ขอชื่นชอบด้วยใจครับ

สวัสดีครับ ขอให้มีความสุขกับการทำงานคุณภาพนะครับ

  • บทเรียนนี้แหลมคมมาก สามารถนำไปปรับใช้ต่อยอดได้ สำหรับวงน้ำ SHA
  • เป็นการเรียนรู้เหมือนการชงชาแบบเซนเลยทีเดียวครับ
  • สวัสดีค่ะ
  • สำหรับโรงพยาบาลพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ก็เป็นน้องใหม่สำหรับ โครงการ SHA ก็เลยถือโอกาสแวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” หรือ โครงการ SHA
  • ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับ คุณ♥paula .`๏'- ที่ปรึกษาตัวน้อย.`๏'-

สวัสดีครับ คุณ บินหลาดง
กว่าจะถึงวันนี้ จากการถอดบทเรียน เราก็ได้รู้ว่า โรงพยาบาลมีทุนมากมายที่เตรียมพร้อมในการย่างก้าว ...ความยั่งยืน อยู่ที่ความมุ่งมั่น และ การจัดการความรู้พร้อมกันไปด้วยครับ

ขอบคุณครับ คุณ เบดูอิน
ขอมอบกำลังใจนี้ สำหรับโรงพยาบาล ๖๐ แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ SHA ครับ

สวัสดีครับ พี่ถนัดพ่อน้องซอมพอ 
ครับ

สำหรับ Theme การถอดบทเรียน เเละการเขียนหนังสือ SHA เล่มนี้ เราก็คิดว่าเป็น หยิน - หยาง เป็นความสมดุล ระหว่าง กาย - จิต ครับ

บทเรียนนี้เป็นเพียง บทคัดย่อ  ส่วนการเเลกเปลี่ยนส่วนหนึ่ง จะพูดคุยบนเวที HA  national forum ที่จะถึงนี้ครับ

 

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วอึ้ง ทึ่ง ในวิถีการเรียนรู้สู่การปฎิบัติที่ ยั่งยืน โดยยึดต้นทุนเดิมของโรงพยาบาล

จึงเป็นการพัฒนารอบด้าน บูรณาการทุกส่วนเข้าด้วยกัน

เป็นการเรียนรู้ซึ่ง วิถีและเป้าหมายเป็นอันเดียวกัน(วิถีแห่งเด๋า)

เป็นโครงการพัฒนาที่ ปัญญานำหน้า เงินตามหลัง

เพราะท่านสามารถเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ต่างๆต่างๆเข้าด้วยกัน

จนมองเห็นภาพชัด วิสัยทัศน์ดี

เป็นการโยงความรู้เข้าด้ยกันอย่างเป็นองค์รวมก่อให้เกิดการใช้ปัญญา(การแก้ไขปัญหา)ที่ยอดเยี่ยมค่ะ

สวัสดีค่ะ

มาร่วมเรียนรู้ด้วย

สวัสดีครับ คุณ มาตายี

จริงๆในหนังสือ "SHA ยั่งยืน" มีเรื่องราวที่บอกถึงเส้นทางของความสำเร็จไว้ครับ แต่ผมนำมาสรุปเพื่อให้เห็นปัจจัยหลักเท่านั้นเอง ในวันที่ ๑๑ มีค. ๕๓ หากมีเวลา เชิญไปฟังครับ ห้อง Sapphire 8 ศูนย์ประชุมIMPACT เมืองทองธานี  "ขุดค้นของดี ที่มีใน SHA : วิเคราะห์ถอดบทเรียน" ครับ

ส่วนความยั่งยืน ที่จะเดินกันต่อไป ทาง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช : Prof. Vicharn Panich ท่านได้เขียน เสนอเเนะไว้เเล้วที่ » KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๗๓๔. ใช้ KM พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล

สวัสดีครับ พี่ณัฐรดา 
ดอกอัญชัญ ที่พี่วาดอ่อนช้อย งดงามมากเลยครับ

  • ได้ยินหลายคนที่นี่พูดถึง SHA วันนี้ได้มาเรียนรู้จากคุณเอกว่า ความสำเร็จเกิดขึ้นได้อย่างไร..
  • ขอบคุณความรู้ครับ
  • สวัสดีเจ้า..คุณเอก
  • ได้เข้าฟังเรื่องราวดีๆ..จากการถอดบทเรียน SHA โดยคนคุณภาพคับแก้ว..แล้วเกิดแรงบันดาบใจมากเลย

                                 

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบคุณค่ะ ที่ยังมีคนเข้าใจในความเป็นเรา เพราะพวกเรามีวิถ๊ชีวิตที่ต่างกัน วิธีการทำงานแม้จะต่างที่วิธีแต่มีเป้าหมายเดียวกัน

พวกเราหวังสร้างงานคุณภาพเพื่อรับใช้สังคมเสมอ

การมีคนนอกเข้ามองอย่างเข้าใจ รู้สึกเป็นกำลังค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท