"มลาบรี" ผีตองเหลือง กับ การส่งเสริมการท่องเที่ยว


น่าเป็นห่วงครับ! หากการพัฒนาของรัฐที่ไม่เข้าใจ ที่พยายามจะยัดเยียดการท่องเที่ยวแบบกระแสหลักเข้าไป ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์น้อย หรือไม่ก็จัดการท่องเที่ยวทางเลือกอื่นๆ แต่ “ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน”

วันที่ ๑๐ กรกฏาคม ๒๕๔๙

               ตื่นเช้าตามปกติ หลังจากนั่งดูบอลโลก ก้าวผ่านเวลาไปถึงเช้าอีกวัน

ได้ดูรายการทีวีตอนเช้า เกี่ยวกับเรื่อง “มลาบรี” (Mlabri) หรือคนทั่วไปเรียก “ชนเผ่าตองเหลือง” ที่จังหวัดน่าน

ตามที่เสนอได้บอกว่า ตอนนี้เผ่าตองเหลือง ที่เราเรียกพวกเขาว่า “ผีตองเหลือง” (ซึ่งเขาไม่ชอบ) ถ้าเป็นเมื่อก่อนการจะได้พบมลาบรีไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมลารีเป็นพวกที่รักอิสระ ไม่ติดต่อกับคนอื่น อยู่ที่ไหนไม่นาน

 

ที่พักอาศัยของคนเหล่านี้ก็มักสร้างขึ้นโดยใช้ใบไม้มุงเป็นหลังคา พอใบไม้เหลืองก็ย้ายไปหาที่สร้างบ้านใหม่ นี่เองเป็นที่มาของชื่อเรียกที่ว่า "ผีตองเหลือง"

แต่เดี๋ยวนี้ยุคสมัยมันต่างกัน มลาบรีลงหลักปักฐานกันถาวรหมดแล้ว ถูกจัดระเบียบตั้งเป็นนิคมชาวตองเหลืองอยู่ที่บ้านห้วยหยวก หมู่ที่ 6 ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน มากว่า 5 ปีแล้ว มีประชากร มลาบรี รวม 147 คน มีบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ถือว่าเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ชนเผ่าตองเหลือง …เหตุผลแบบนี้พอรับได้ เพราะการที่เผ่าตองเหลืองจะเร่ร่อนเพื่อไปหาที่อยู่ใหม่เรื่อยๆคงจะไม่เหมาะสมนัก คงจะลำบากน่าดู

ทราบว่าช่วงหลังจะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่หมู่บ้านแห่งนี้ด้วย เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาบ่อยครั้ง ประเด็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นเหมือน ดาบสองคม หากไม่มีการเตรียมการ และศึกษากันให้ดี เพราะการท่องเที่ยวมาพร้อมกับทุนนิยม มาพร้อมกับสิ่งข้างนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ...หากมองตามจริง ก็เป็นเรื่องที่ดี หากจะมีการคิดบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน(Community Based Tourism) เพื่อให้ชุมชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากร ทุนทั้งหมด ได้ตัดสินบริหารจัดการ การท่องเที่ยวด้วยตนเอง และในแนวคิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวลักษณะนี้ ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมระหว่างเจ้าบ้านและผู้มาเยือน เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากร การฟื้นฟูองค์ความรู้พื้นถิ่นของ มลาบรีเอง

ผมได้อ่านรายงานศึกษาของ ศรีพร สมบุญธรรม (๒๕๓๗) ได้สรุปรายงานของ Lynda Thorn ; Alister Mathieson and Geoffrey Wall ถึงการประเมินผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมจากการท่องเที่ยว พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจากการท่องเที่ยว ได้แก่

๑) การปรับปรุงสภาพแวดล้อมของคนในชุมชน เป็นผลให้เกิดการปรับตัวทางวัฒนธรรมจากการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความเหมาะสม

๒) การติดต่อสื่อสารระหว่างคนที่มาจากสังคมที่ต่างกัน อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติ ค่านิยม พฤติกรรม ฯลฯ ทั้งต่อผู้มาเยือนละเจ้าของชุมชนนั้นๆ

๓) การเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการของสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในสังคมและการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอก

น่าเป็นห่วงครับ! หากการพัฒนาของรัฐที่ไม่เข้าใจ ที่พยายามจะยัดเยียดการท่องเที่ยวแบบกระแสหลักเข้าไป ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์น้อย หรือไม่ก็จัดการท่องเที่ยวทางเลือกอื่นๆ แต่ “ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน” การเข้าใจในกระบวนการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่แท้จริง

การท่องเที่ยวจึงเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน อยากให้คิดให้รอบด้านก่อนที่ใช้กิจกรรมการท่องเที่ยวจะส่งเสริมและพัฒนาชุมชน


ภาพจาก http://www.matichon.co.th/adm/tour

หมายเลขบันทึก: 38055เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2006 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ขอบพระคุณมากครับ
  • ...น่าเป็นห่วงครับ

พี่สิงห์ป่าสัก

เรื่องราวนี้อาจอยู่ไกลถึงน่านแต่ผมก็แอบเป็นห่วงลึกๆนะครับ เพราะกระแสการท่องเที่ยวมันแรง หากส่งเสริมชุมชนด้วยความเข้าใจก็จะดีครับ หาก ผิดทาง ก็มีปัญหาตามมาอย่างมากมายถึงขั้นเร่งอัตราการล่มสลายของชุมชน ครับ

ขอบคุณครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เชื่อไหมคะว่าเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วที่จังหวัดน่านข้างวัดพระธาตุแช่แห้ง รู้สึกจะเป็นป่าไม้จังหวัด มีผู้คนแตกตื่นกันมากมีประกาศว่าจับผีตองเหลืองได้  ตอนนั้นยังเด็กมาก คุณแม่ก็พาไปดู เราคิดว่าเป็นผีจริง ๆ ด้วยความคิดยังเด็ก  พอไปถึงคนมุงดูกันเต็มเลย ยังกับเป็นสัตว์ในสวนสัตว์ ตอนนั้นดูก็ยังไม่รู้สึกอะไรงง ๆ มากกว่าว่าทำไมคนเราถึงแต่งตัวแบบนั้น หน้าตาแบบนั้น และให้เขาอยู่ในกรงแบบนั้น  ภาพยังจำติดหูติดตาอยู่เลยค่ะ  เสื้อผ้ายังไม่ทันสมัยเหมือนปัจจุบันนะคะ  ใส่ใบตองตึงปิดนิดหน่อยเอง แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้ติดตามอีกเลยเพราะย้ายมาอยู่กรุงเทพนานมากแล้ว ยังไงก็ยังดีที่มีคนเหลียวแลพวกเขาอยู่ แต่ขออย่าให้น้ำเงิน มาครอบงำจิตใจคน จนเห็นมนุษย์เป็นแค่ตัวอะไรซักอย่างเลยนะคะ  และขอขอบคุณที่ยังมีคนจิตใจดีงามมองเห็นคุณค่าของความเป็นคนเท่าเทียมกันอย่างคุณค่ะ

คุณนะมาร์

เป็นเรื่องบังเอิญครับ ที่ผมเปิดหน้า Gotoknow และเห็นข้อความที่คุณโพสข้อคิดเห็นพอดี ผมก็สามารถเขียนตอบได้ทันควัน

ยังโชคดีครับ ภาคประชาสังคมที่น่าน พวกเขาเข้าใจ การเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างดี และคอยปกป้องกลุ่มมลาบรีอยู่ด้วย

ด้วยหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิความเป็นมนุษย์ พวกเขาต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกับพวกเรา ทัดเทียมกัน

แต่มีคนคิดว่าเป็นของ "แปลก" พยายามให้เกิด Human Zoo ขึ้นเรื่อยๆ น่ากลัวความคิดของนายทุน และผู้มีอำนาจเหล่านี้

ช่วงหลีงผมได้ยินข่าวดีๆจาก น่านบ่อยๆครับ เรื่อง การดูแล และผดุงสิทธิของมลาบรี

มีน้องผมคนหนึ่ง ไปทำสารคดีสั้น เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจ และวิถีชีวิตมลาบรี ตอนนี้เข้าใจว่าคงใกล้เสร็จแล้ว เป็นหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้น

 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

 

ผมเป็นอาสาสมัครที่เข้าไปเรียนรู้มลาบรี-ดีใจครับที่มีคนเข้าใจมลาบรี

สวัสดีครับ

P

ช่วงไม่กี่วันมี สถานีวิทยุ BBC กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โทรศัพท์มาพูดคุยเกี่ยวกับล "มลาบรี" ซึ่งผมเองก็ให้ข้อมูลได้ไม่เต็มที่นัก

ในโอกาสต่อไป ผมคงต้องประสานผ่านไปยังคุณ s_mrabri07 นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท