น้องหมูนาง...สาวกระเหรี่ยงคอยาว กับงานพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน


เธออยากพัฒนาชุมชนตนเอง เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน ไม่ถูกเอาเปรียบจากคนข้างนอก ไม่อยากให้คนข้างนอกมองพวกเธอ เป็นเผ่าพันธุ์ที่แปลกประหลาด

เวทีชี้แจงโครงการวิจัยการสังเคราะห์กระบวนการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในครั้งนี้

อย่างที่ได้เขียนไปในหลายๆบันทึก ว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเข้ามาร่วม แต่ละท่านล้วนแล้วแต่เป็นนักพัฒนา เป็นนักวิจัยชาวบ้านที่เคยทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

เป็นนักวิจัยชาวบ้านที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากโครงการวิจัย...ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านของตัวเอง

ผมไม่แปลกใจเลย ในการเสนอ การพูด บุคลิก ที่มีความมั่นใจ และการเสนอวิธีคิดอย่างเป็นระบบของนักวิจัยชาวบ้านในเวทีเมื่อวานนี้ถึงแม้ว่า สำเนียงการพูดจะไม่ชัด แต่...เป็นเสน่ห์ที่น่ารักมากของนักวิจัยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์

นักพัฒนาหน้าใหม่คนหนึ่ง ชื่อ "น้องหมูนาง" เป็นสาวกระเหรี่ยวคอยาว ที่เข้ามาร่วมเวทีโครงการวิจัย

 

น้อง "หมูนาง" นักพัฒนากระเหรี่ยงคอยาว 

 

ผมสนใจเธอมากเพราะเธอบอกผมว่า เธออยากพัฒนาชุมชนตนเอง เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน ไม่ถูกเอาเปรียบจากคนข้างนอก ไม่อยากให้คนข้างนอกมองพวกเธอ เป็นเผ่าพันธุ์ที่แปลกประหลาด

หมูนาง มาจาก บ้านห้วยปูแกง ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน  เป็นหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาว ตั้งหมู่บ้านอยู่ติดกับแม่น้ำสายใหญ่ มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด ร่วม ๕๐ หลังคาเรือน  ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็น "กะยอ" หรือกระเหรี่ยงคอยาวแบบเธอ และส่วนหนึ่งเป็น กระเหรี่ยงแดง อยู่ร่วมกันแบบสันติสุข

บ้านห้วยปูแกง จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ ที่จะมาเยี่ยมชมวิถีชีวิต ของกระเหรี่ยงคอยาว แต่การเดินทางก็ไม่สะดวกมากนัก นักท่องเที่ยวจะอยู่อีกฝั่งหนึ่งของลำน้ำใหญ่ เพื่อจะส่งสัญญาณแจ้งให้ชาวบ้านเพื่อจะให้ชาวบ้านรับข้ามฟากฝั่งน้ำไปยังหมู่บ้าน

หมูนางบอกว่า ชุมชนเธอมีเรือไปรับนักท่องเที่ยวข้ามฟากมายังหมู่บ้านของเธอ

เธอบอกผมว่า ทาง กศน.ได้เข้าไปคุยเรื่อง การสร้างที่พักชุมชน ตอนนี้ก็มีอยู่หลายหลังในชุมชน  และหากนักท่องเที่ยวอยากจะพักแบบโฮมสเตย์กับพี่น้องกระเหรี่ยงก็ย่อมได้

หมูนาง บอกอีกว่า หากพักที่บ้านของเธอเอง ก็จะได้กินอาหารกระเหรี่ยง ที่เธอทำด้วย

ตลอดเวลาที่ผมนำเสนอโครงการวิจัย และอภิปรายกันในเวที หมูนางก็สนใจที่จะเรียนรู้อย่างจดจ่อ ...ผมสังเกตเห็น สมุดที่เธอจดบันทึก หมูนางบันทึกรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยสิครับ...

กระเหรี่ยงคอยาว ได้รับการพัฒนาด้านการศึกษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษจาก องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ  หรือบางคนก็เรียนมาจากฝั่งพม่า

ดังนั้นแล้วภาษาอังกฤษ ของพวกเขาจะดีมาก ทั้งการเขียนและสนทนา

ชุมชนห้วยปูแกง กระเหรี่ยงคอยาว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายนัก นอกจากสิ่งที่ผมเล่า ผ่านการพูดคุยกับหมูนาง

เราวางแผนไปโฮมสเตย์เพื่อไปเก็บข้อมูล ที่บ้านของหมูนาง ในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ น่าจะเป็นช่วงปลายเดือน

คาดว่าจะมีรูปภาพและเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ กระบวนการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน วิถีชีวิตของพี่น้องกระเหรี่ยงคอยาว  มาเขียนบันทึกเล่าสู่กันฟัง 

หมายเลขบันทึก: 46986เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2006 07:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • เห็นภาพเลยครับ
  • การพัฒนาชุมชนโดยเจ้าของชุมชนจะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง

 

Kitty 2 Kitty 5 Kitty 7





  • ผมตามอ่านบันทึกของ คุณจตุพร มาพอสมควรครับ มีความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน และ โฮมสเตย์ อยู่เดิมด้วย วันนี้ขอนำเข้า Panda Learn Planet ไว้แล้วครับ
  • จะได้ติดตามอ่านเรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากผู้ปฏิบัติจริงโยตรงต่อไป

Mr.Jod

ขอบคุณมากครับ ที่มาเยี่ยม ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง ครับ

มีข้อดีคือ ชุมชนรู้ปัญหาของตนเองดีที่สุดครับผม 

อาจารย์ Panda

ยินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการแลกเปลี่ยนครับ การท่องเที่ยวโดยชุมชนมีประเด็นที่ท้าทายนักพัฒนาเป็นอย่างมากครับ

CBT.ไม่เพียงแต่เป็นการท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว บางหมู่บ้านมองเรื่อง การจัดการทรัพยากร ซึ่งก็น่าสนใจ บางหมู่บ้านมองเรื่อง การอนุรักษ์สืบสานประเพณี และล่าสุดมีหมุ่บ้านหนึ่งแถบแม่น้ำสาละวิน อยากให้การท่องเที่ยวช่วยให้มีการเลิกล้มการสรา้งเขื่อนสาละวิน เหตุเพราะจะทำลายความหลากหลายของน้ำสาละวินและป่าที่จะได้รับกระทบจากการสรา้งเขื่อน

ดังนั้น วิธีคิดของชาวบ้านจึงแตกต่าง คนละมุมมอง ต่อการมอง CBT. น่าสนใจมากครับ!!!!

ผมจึงสนใจศึกษาว่า แต่ละชมุชนมอง CBT อย่างไร อาจไม่ใช่กรอบที่เราทำขึ้นมาและเรียกว่า นี่คือ CBT. โจทย์นี้น่าสนใจมาก เราคุยกันในเวทีวันที่ผ่านมาครับ

เรื่อง "โฮมสเตย์" ก็น่าสนใจครับ  มีบางชุมชนประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่บางชุมชนกลับมีปัญหา ...

ผมคิดว่าจะนำมาแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ครั้งต่อไปครับ ว่าเหตุผลที่ประสบความสำเร็จ และปัจจัยที่ล้มเหลวเพราะเหตุใด 

อีกไม่นานจะมีงานประชุม การท่องเที่ยวโดยชุมชนในอนุภาคลุ่มน้ำโขง น่าจะจัดแถวๆ โซนอีสาน ไม่แน่ใจครับว่าที่ไหน น่าจะเป็นขอนแก่น

จะมี ไทย ลาว เวียดนาม จีน กัมพูชา จะมาพูดคุยกันในประเด็น Community Based Tourism ครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ครับ ยินดีครับสำหรับการแลกเปลี่ยนครับ 

 

  • แวะมาทักทาย
  • จมกองตำราหลายวัน รอไปแม่ฮ่องสอนครับ สนใจกรณีของชาวปกากะญอ ที่พูดภาษาอังกฤษเก่ง เคยเจอบางคนพูดภาษาฝรั่งเศสได้ด้วยครับ
  • มีโอกาสอยากให้แวะมาดู Homestay ที่อาจารย์ Panda คุยไว้ครับ

ดร.ขจิต 

ส่วนใหญ่ พี่น้องปกากะญอทางฝั่งโน้น(หมายถึงฝั่งพม่า) อีกฟากสาละวิน ...จะเขียนและใช้ภาษาอังกฤษครับ ผมทำแบบสอบถามเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สอบถามและแบบสอบถามที่ได้มา เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

โฮมสเตย์มีหลายหมู่บ้านน่าสนใจ ครับ โดยวิถีชีวิตพี่น้องปกากะญอ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท