คำบอกเล่าจากบนดอย...ไม่พอเพียงเลยไม่เพียงพอ


ท่ามกลางวิถีเศรษฐกิจที่แข่งขัน ทำอย่างไรให้ก้าวเข้าสู่ เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตนเองได้ (Relative self-sufficiency)

เสียงเล่าจาก ชาวบ้านชาวลีซูคนหนึ่ง ที่รู้จักคุ้นเคยผมดี โทรมาพูดคุยสารทุกข์สุกดิบ ในตอนสายของวันหนึ่ง

"ปีนี้แย่เลย...ราคาผลผลิตไม่ดี" เสียงบอกเล่าเจือความกังวลอย่างเห็นได้ชัด

บนดอยสูง ที่เป็นพื้นที่ตั้งของพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าลีซู ในอำเภอปางมะผ้า เป็นพื้นที่ที่ผมได้สัมผัสวิถีชีวิตพวกเขาอย่างใกล้ชิดในช่วงหลายปีก่อน

อาชีพของชาวบ้านเป็นเกษตรกรรมทั้งหมด ปลุกข้าวไร่ไว้กิน ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และนอกจากนั้นเป็นพืชเกษตรที่เป็นพืชเศรษฐกิจ หลักๆ ได้แก่ ขิง เผือก และ ถั่วแดง

เมื่อไม่กี่ปี ราคาขิงแพงสุดๆ ปรากฏการณ์ที่ขิงแพงสุดๆนี่เอง เป็นเหตุให้ป่าแถบนั้นถูกถางเป็นไร่ขิง เกิดเป็นกรณีพิพาทกับป่าไม้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...ในที่สุดป่าก็ถูกแปรสภาพเป็นไร่ขิงขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา

เขาบอกว่า "ขิง" ต้องปลูกในพื้นที่ใหม่ๆทุกปี  มิฉะนั้นขิงจะเป็นโรคง่าย และควบคุมโรคขิงลำบาก การเปิดพื้นที่เพาะปลูกใหม่ๆจึงเป็นทางเลือกที่ต้องเสี่ยงกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

ปลูกกันเยอะ ปลูกกันเพื่อหวังผลราคาขิงแพง ซื้อรถยนต์โก้ๆ ขับเหมือนเพื่อนบ้านสักคน เป็นความหวังของพี่น้องชาวบ้านที่ผมได้พูดคุย

ทั้งแรงงาน ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ระดมลงสู่ไร่อย่างเต็มพิกัด เพียงเพื่อให้ผลผลิตได้ตามที่ต้องการ...ใครจะเชื่อว่า อำเภอเล็กๆมีอัตราการใช้สารเคมีสูงมากจนน่าตกใจ (ข้อมูลคร่าวๆจากที่สอบถามร้านค้าในตัวอำเภอ)

เพื่อรายได้งาม...ชาวบ้านจึงใช้ชีวิตอยู่ในไร่ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทุกคนเห็นกองเงินที่ฝังอยู่ในไร่ของพวกเขา

มันไม่ผิด....ที่ชาวบ้านคิดแบบนี้ เพราะเป็นอาชีพที่สุจริต และใช้แรงงานของตนเอง แต่ชาวบ้านลืมคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพตนเอง ทั้งกายและจิตใจ

อยู่กับปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงเกือบทั้งปี...สุดท้ายผลผลิตออก ราคาไม่ดี ก็ทุกข์หนัก เครียดถึงที่สุด วัฎจักรแบบนี้ผมเห็นจนเคยชิน...แต่ชาวบ้านยอมเพราะอาศัยเสี่ยงดวง

ความรุนแรงของระบบเศรษฐกิจตลาด(Market Economy) หรือเศรษฐกิจแบบทุนนิยม(Capitalism) ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการของการสะสมส่วนเกิน และทำให้ผู้ผลิตตั้งความหวังไว้กับ "กลไกราคา" คือ อุปสงค์ และอุปทาน ในตลาดว่าจะทำหน้าที่ของมันอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มีอคติ

ถึงวันนี้ คนบนดอยก็ทุกข์แบบไม่มีทางเลือก ....

โจทย์ใหญ่ของคนทำงานที่ปางมะผ้า คงต้องขบคิดกันอย่างหนัก ทุกภาคส่วน และชุมชนเอง ในการที่จะแก้ไข ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะวิถีเศรษฐกิจแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อทุกอย่างโดยภาพรวม

มานั่งคุยกันเรื่อง "ความสุขที่แท้"

ท่ามกลางวิถีเศรษฐกิจที่แข่งขัน ทำอย่างไรให้ก้าวเข้าสู่ เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตนเองได้ (Relative self-sufficiency)

เป็นงานใหญ่ และงานที่ท้าทายสำหรับ การพัฒนาที่ยั่งยืน ของอำเภอเล็กๆ ในแม่ฮ่องสอน แต่คิดว่าไม่ยากเกินไป เพราะที่นี่มีทุนธรรมชาติที่เพียบพร้อม เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับวิถีชีวิตที่พอเพียง

ขอเพียงให้เริ่มคิด...ก่อนที่จะสายไป

 

หมายเลขบันทึก: 66859เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2006 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

ไม่ว่าจะที่ภาคเหนือ หรือภาคอีสาน (อาจรวมถึงที่อื่นๆด้วยก็ได้ แต่ดิฉันยังไม่เคยร่วมทำงานด้วย) ที่เกษตรกรมักจะผูกติดการผลิตใน crop ต่อไป กับราคาผลผลิตในปีนี้ เพราะถ้าปีนี้สินค้าเกษตรตัวใหนราคาสูง ปีหน้า เค้าก็จะปลูกพืชชนิดนั้น  ปลูกกันไม่ลืมหูลืมตา ปลูกกันทั้งหมู่บ้าน ...... อาจเพราะชาวบ้านยังขาดความเข้าใจในระบบตลาดก็เป็นได้ หรือเพราะอะไรก็ไม่รู้ ดิฉันก็ยังไม่เคยคุยกับชาวบ้านในเรื่องนี้จริงๆ จังๆ สักที

... แต่ถ้าหาก นักวิชาการ มองเห็นปัญหาตรงจุดนี้ และร่วมกันแก้ไข สร้างการเรียนรู้ให้ เกษตรกรได้เรียนรู้เท่าทันระบบตลาด หรือ แม้แต่มีช่องทางในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมได้ ก็คงเป็นแนวทางหนึ่งที่ดี นะ

---ตอนนี้ดิฉันกำลังศึกษา รูปแบบการเรียนรู้ของเกษตรกร เพื่อที่จะหาวิธีการที่ดีที่สุดในการถ่ายทอดความรู้ รูปแบบการเรียนรู้ เผื่อว่าในอนาคต หากเราจะจัดการการเรียนการสอนในชุมชนอะไรก็ตาม เราจะได้มีโมเดลการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับชุมชนเหล่านั้น ... ซึ่งตอนนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดนะคะ พึ่งก้าวเดินไปได้ไม่กี่ก้าวเอง ...

ยินดีมากครับสำหรับการแลกเปลี่ยน คุณ Kawao

ที่อีสานมีปราชญ์ มีชาวบ้านที่ทำการเกษตรแบบยั่งยืน ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในหลายๆจุด ทุนทางสังคมเหล่านี้จะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับ รูปแบบการเรียนรู้ของเกษตรกรในปัจจุบันและอนาคต

ผมเห็นภาพในการปลูกพืชแบบ crop ที่ไม่ลืมหูลืมตา(เห็นภาพ) หลังจากราคาผลผลิตชนิดนี้ ปีนี้ราคาดี

คิดว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาและพัฒนา คงต้องระดมความคิดจากผู้มีส่วนร่วม และร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบนี้อย่างจริงจัง โดยคิดร่วมกับชุมชน หาทางออกที่เหมาะสม

ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดการสะสมทุกข์เรื่อยๆ จนลง และสุขภาพที่แย่ลง

ให้กำลังใจในการก้าวเดิน กับดุษฎีนิพนธ์ครับ

 

 

ผมไม่มีความรู้เรื่องกลไกการตลาดนะครับ แต่อยากจะคิดเล่นๆว่าเราน่าจะมีวิธีกำหนดราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้าของแต่ละประเภทสินค้า ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการเก็บเกี่ยวของแต่ละชนิด เช่น

  • อีก 7 ปี ราคายางพาราจะอยู่กิโลกรัมละ....บาท
  • อีก 3 ปี มะม่วงเขียวเสวยจะอยู่กิโลกรัมละ....บาท เป็นต้น

ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการ รู้เป้าหมายในอนาคต

คุณ  Mr. Kamphanat Archa (Jack)

แบบนั้นอาจเรียกว่า เป็นการประกันราคา และก็สามารถจำกัดการผลิตที่พอเหมาะสำหรับความต้องการของกลไกตลาด

Crop ส่วนหนึ่งก็ทำแบบนี้ นายทุนให้ปุ๋ย ให้ยา เต็มที่ และกำหลดคุณภาพของผลผลิตด้วย ส่วนใหญ่ชาวบ้านก็ไม่ค่อยคุ้มทุนครับ

กรณี "มะเขือไร้ญาติ" เป็นมะเขือม่วง ส่งออกญี่ปุ่น ประกันราคา แต่ชาวเกษตรกรต้องดูแลดุจไข่ในหิน เพื่อมาตรฐานผลผลิตที่เขาต้องการ จนไม่มีเวลาไปงานบวช งานบุญ ความห่างเหินระหว่างคนเพิ่มมากขึ้น ทำลายวิถีชนบทไปหมด

ทางเลือก ทางรอด ก็คงเป็นการปลูกพืชที่หลากหลายครับ ไม่ควรปลูกพืชชนิดเดียวเหมือนกันหมด

 

ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดอีกแนวทางหนึ่งน่าจะเป็นการทำเกษตรผสมผสาน และจะต้องไม่ปลูกอะไรมากเกินไป (การไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากๆ)

แต่ในความเป็นจริง มันพูดได้ แต่ทำยาก  ใครละจะอยากยากจน ใครล่ะ จะไม่อยากทีเท่าเพื่อนบ้าน... และมีใครบ้างล่ะ ที่รู้จักกับคำว่า ...พอ....

ดังนั้นอีกเช่นกัน ทางออกที่ดีอีกหนึ่งแนวทาง น่าจะเป็นการสร้างการเรียนรู้ เกษตรกรต้องเรียนรู้ ต้องไฝ่รู้ ต้องคิดเองได้อย่างเท่าทันสื่อ หรือระบบตลาด ระบบอื่นๆ ที่อยู่แวดล้อมตัวเค้าเอง (ไม่ใช่ทำตามๆ กันไป)  อย่างน้อยๆ คนเราเมื่อรู้อะไรอย่างกระจ่างแจ้ง ย่อมสามารถตัดสินใจเลือก... ให้กับตนเอง อย่างดี

  • การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเกษตรของชาวบ้านไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ(จากประสบการณ์) ทั้ง ๆที่รู้ว่าอาจจะแก้ปัญหาได้ก็ตาม
  • ดังนั้นออตคิดว่าคงต้องใช้เวลานะครับ ค่อย ๆเป็นค่อย ไป ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง อย่าทันทีทันใด
  • วัฒนธรรมแบบดั่งเดิมมันฝั่งรากมานาน นักพัฒนาเองก็ต้องเข้าใจรากวัฒนธรรมให้มาก ดังนั้นเรา(คนทำงานให้ชาวบ้าน)จะเหนื่อย ทุกข์น้อยลง
  • เป็นกำลังให้คนทำงานเพื่อชาวบ้านทุกคน ขอบคุณที่เราไม่ทอดทิ้งกัน

ส่วนตัวผมไม่ได้สนใจอะไรมากนักว่าราคาขิง หรือเผือกปีนี้จะขึ้นหรือลด

ไม่ใช่ว่าไม่เห็นใจคนจน แต่ผมเห็นว่าราคาผลผลิตจะขึ้นหรือลด ชาวเขาก็ยังทุกข์อยู่เหมือนเดิม ถ้าไม่ปรับวิธีคิดมาเป็นเศรษฐกิจพอเพียง

แต่การจะปรับวิธีคิดไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถทำอย่างโดดเดี่ยวแยกส่วน แต่ต้องทำทั้งในเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ไปจนถึงระดับครัวเรือนและปัจเจก

โดยเฉพาะสื่อมวลชน ต้องเอากะเขาด้วย มิใช่จะฟันกำไรจากโฆษณาและสปอนเซอร์มากมาย โดยอ้างความเป็นเสรีแต่ปัดความรับผิดชอบต่อสังคม

ผมคิดว่า จังหวะที่ราคาขิงและเผือกที่เขา "หลงผิด" ในการปลูกมาตั้งแต่ต้นนี่แหละ น่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้ตัวเขา หน่วยงานภาครัฐ และสังคมของเราเรียนรู้ที่จะ "อยู่อย่างพอเพียง" มากขึ้น

สังคมน่าจะได้ตื่นตัวไปสู่สังคมแห่งการศึกษาวิจัยตามไปด้วย

ก่อนจะเห็นรุ้งกินน้ำ ก็ต้องผ่านพายุฝนเสียก่อน บางทีความลำบาก ถ้าสามารถเชื่อมกระบวนการเรียนรู้ได้ ก็เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่จำเป็นครับ

คุณกาเหว่า  ณ  มอดินแดง

จนเงินขออย่าให้จนปัญญา มีเงินฝังอยู่ในดินเช่นกัน หากรู้จักพลิกฟื้นภูมิปัญญา และมีการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน

การปลูกพืชที่หลากหลาย ช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือก  ส่งผลดีทั้งดินและตัวเกษตรกรเอง

ผมเห็นด้วยอย่างมากสำหรับ การสร้างกระบวนการการเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง ระหว่างเกษตรกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

เป็น KM ที่ใช้พัฒนาขับเคลื่อนชุมชนได้เป็นอย่างดีครับ

คุณออต

เห็นด้วยครับ เรื่องวิถีเกษตรก็เป็นวัฒนธรรม แต่ Crop ที่เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นวัฒนธรรมที่เพิ่งเกิดไม่นานนี้ และรุนแรงมากขึ้น เพราะนายทุนเห็นว่าบนดอยมีทุนมากมาย

ชาวบ้านเริ่มเห็น ผลกระทบจากเกษตรกระเเสหลักบ้างแล้ว

ที่แม่ฮ่องสอนมีกลุ่มเกษตรยั่งยืน ที่พัฒนา เรียนรู้จนได้ผล และเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจ

การพัฒนาก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป

สิ่งที่ผมบอกเล่า เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ที่ อำเภอเล็กๆของแม่ฮ่องสอน ครับ

ขอบคุณคุณออต ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

พี่วิสุทธิ์

อยู่กับพื้นที่คงเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ ...ปีนี้พี่คงสังเกตเห็นชาวบ้านลีซูที่หงอยเหงาในพื้นที่

หากจะเริ่มแก้ไขปัญหา ก็ต้องทุกส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และใช้เวลา

และเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า ปัญหามา ปัญญาเกิด อาจต้องแลกกับบางสิ่ง เพื่อการจุดประกายพัฒนา

ร่วมด้วยช่วยกันครับ ขอบคุณสำหรับการเเลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

บางครั้ง หลายคนคิดเหมือนกัน

1อะไรที่ราคาดีวันนี้ ก็ปลูก ก็ผลิต กันเต็มที่

2จนกระทั่ง ผลผลิต มีมาก สุดท้าย ต้องตัดราคา ราคาก็ตก

3ผลผลิตตัวอื่นก็แพงขึ้น มีราคามากขึ้น

4ก็กลับไปข้อที่1

คงต้องบอกกับชาวบ้านละครับว่า ถ้าคิดแบบข้างต้นก็จะเกิดวงจร เกิด-ดับ

ต้องคิดย้อนเวลาครับถ้า

เวลาอะไรที่ผลผลิตในท้องตลาดนั้นจะมีน้อย

เราต้องวางแผนผลิตให้เวลานั้นผลผลิตของเรามีพอเพียง หรือมากมาย

 

 

คุณตาหยู 

ก็คุยกันเรื่องนี้บ่อยๆ แต่พื้นที่ก็ปลูกพืชกันเจ๊ง ๒ - ๓ ตัว และสุดท้ายเกษตรกรขอเสี่ยงครับ ก็เป็นแบบนี้ปีนี้เห็นบอกว่าราคาไม่ดีเลย(พืช ๒ ตัวแรก) แสดงว่าปีนี้ดวงไม่ดี

ปีหน้าเอาใหม่...

นักพัฒนาในพื้นที่ต้องระดมปัญหา และระดมความคิด ระดมศักยภาพ ในการรับมือกับปัญหาซ้ำๆแบบนี้จริงจังเสียที

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(ตรงๆ)ยังเงียบๆครับ

ได้ไปหมูบ้านประกากะญอ (ขออภัย เขียนไม่ถูก) ที่ดอยอินทนนท์ เค้าปลูกข้าว, เลี้ยงปลากับกาแฟส่งโครงการหลวงก็น่าสนใจดีครับ การประกันราคาในอนาคตถ้าตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของประเทศไทยเจริญขึ้นเยอะ ๆ อาจจะครอบคลุมทุกสินค้าเกษตร แต่คงใช้ระยะเวลาอีกนานครับ

ปกาเกอญอ,ปกาญอ,กระเหรี่ยง

อาจารย์ Aj Kae

หากในโครงการหลวง ก็จะมีการจัดระบบตลาดที่ดีครับ สินค้าเกษตรตรงนั้นมีการวางระบบการปลูก การตลาดอยู่แล้ว

แนวทางการกำหนดราคาเกษตรล่วงหน้า น่าสนใจครับ แต่ยังไงก็ตามหากเป็นชนบทที่ผมเขียน ผมยังมองว่า เกษตรแบบพอเพียงเป็นทางเลือกทางรอด ด้วยศักยภาพและถูมิปัญญาที่เอื้ออยู่แล้ว

วันที่ ๓  มค. ๕๐ ผมจะไปประชุม การท่องเที่ยวโดยชุมชนแห่งประเทศไทย ที่บ้านแม่กลางหลวง บนดอยอินทนนท์ จะนำบรรยากาศสวยๆความรู้จากการประชุม มาเขียนครับ

ขอบคุณอาจารย์ครับ

ขอบคุณ อ.จตุพรครับ วันนี้จะรอดูรายการครับ

aj kae คะ  ดูด้วยสิคะ รบกวนขอพิกัดหน่อย นะคะ ^__^

ช่อง ๙ โมเดิร์นไนท์ เวลา ๑๔ - ๑๕ น. วันนี้ครับ

ขอบคุณ Aj Kae  และพี่หนิง DSS@MSU ( หนิง )

แลกเปลี่ยนกันครับ :)

  • จะรอดูรายการค่ะ
  • ที่นี่ก็มีปัญหาเหมือนกันในด้านการปลูกพืชเชิงเดี่ยว  ปีนี้ราคาดีก็จะระดมปลูกถ้าทุกคนปลูกเหมือนกันหมดก็ล้นตลาด  ราคาก็ตกอีก  พยายามบอกแล้ว  แต่ก็ขอเสี่ยงเช่นกันค่ะ
  • สู้ต่อไปนะคะ เป็นกำลังใจ

 

ขอบคุณที่มาเยี่ยมนะครับ....คุณกัลปังหา

ปัญหาที่ผมเขียนไปในบันทึกคงเป็นปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรทั่วไปนะครับ

รายการทีวีที่บอก ออกอากาศในวันที่ ๑๖ ธค. ที่ผ่านมาครับ

ผมเคยได้ยินหรืออ่านจากที่ไหนสักแห่งในทำนองว่า

"สำหรับคนอีสาน  การทำนาไม่ใช่อาชีพ  แต่เป็นวิถีชีวิต"

คนบนดอย  ก็คงไม่ต่างกันกระมัง การเพาะปลูกทุกอย่างก็คงเป็นยิ่งกว่าอาชีพ มันคือวิถีชีวิต มันคือวัฒนธรรมของกลุ่มชน

คุณแผ่นดิน 

วิถีชีวิตเปลี่ยนเพราะ ทุนนิยมที่เชี่ยวกราก ไม่เว้นแม้แต่บนดอยสูงที่ไกลโพ้น

คนบนดอยก็เช่นเดียวกันครับ...วิถีเกษตรเพื่อการเป็นอยู่ของชีวิต เป็นวัฒนธรรมที่เป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์บนดอย

ขอเพียงมีข้าว มีเกลือ มีพริก เขาก็อยู่ได้

ปัจจุบันมีเพียงเท่านี้แล้วไม่รู้จะอยู่ได้จริงมั้ย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท