วิถีชีวิตบนดอยสูง...ปัญหาที่มาโรมรัน


พี่อาหวู่ จะสุขหรือทุกข์อย่างไร เขาก็ยังอดทนเสมอ รอยยิ้มแม้เห็นบางเบาในวันนี้ เขาก็ยังยิ้มอยู่ ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ไร้อคติ

กลางฤดูหนาวปี ๒๕๔๕

เสียงฟู่ลู่ เสียงดังเบาๆขึ้นทางเขาฟากโน้น เสียงสะท้อนดังแทรกความมืดที่กำลังโรยตัวเหมือนม่านสีดำคลุมหมู่บ้านลีซู กึ้ดสามสิบ

ผมเดินเลียบสันเขาลงไปที่กระท่อมที่มองเห็นไม่ไกล แม้ไฟฉายของผมจะริบหรี่เต็มที แต่ก็เดินได้แบบสบายด้วยความคุ้นชินพื้นที่

บรรยากาศกลางคืนในหมู่บ้านลีซู ไม่ได้เงียบงันเสียทีเดียวแสงของไฟจากกองฟืนคุกโชนที่เห็นเป็นระยะๆ เด็กๆนั่งล้อมวง ปิ้งเผือก ปิ้งมันแบ่งกันกิน พร้อมกันก็จดจ่อกับเรื่องเล่า นิทานปรัมปราที่เร้าใจจากปากพ่อเฒ่า ผมร่วมนั่งฟังบ่อยๆแม้ว่าไม่ค่อยเข้าใจภาษาที่พูดคุย แต่ก็ร่วมซึมซับบรรยากาศอบอุ่นข้างกองไฟในค่ำคืน

ช่วงกลางวัน อะเลมะ  มาบอกผมที่บ้านพักบอกว่า อาหวู่ผะ ที่ผมนับถือเสมือนพี่ชาย ไม่ค่อยสบาย ผมจึงตั้งใจจะไปเยี่ยมดูอาการพี่ ...ปกติไม่เคยเจ็บป่วย ออกไปทำไร่ทุกวัน หากมีใครสักคนบอกว่าป่วย...คงหนักหนานัก

อะหวู่ผะ กับเมียของเขา -อะเลมะ

แสงตะเกียงน้ำมันกาด วับแวม ลอดออกมาจากรอยแตกของฝาบ้าน ได้ยินเสียงไอดังถี่ๆ ก่อนที่ผมจะเดินขึ้นบ้านของพี่อะหวู่...

พี่..อยู่มั้ยครับ ผมเคาะประตู พร้อมส่งเสียงเรียกเบาๆ เสียงตอบรับจากในบ้าน ก่อนผลักประตูเข้าไป

อะเลมะ เมียพี่อาหวู่ กำลังพัดวีกองไฟ ต้มยาสมุนไพร  ที่กลิ่นหอมฉุย พี่อาหวู่กึ่งนั่งกึ่งนอนยิ้มเผล่ คาดคะเนจากท่าทางอาการคงไม่หนัก

ไม่เป็นอะไรมากหรอก...พี่ปวดหัว ปวดตัวรู้สึกไม่ค่อยสบาย อากาศคงเปลี่ยน พี่อาหวู่บอกผมพลางปัดพื้นบอกผมนั่งลงก่อน

พี่อาหวู่และลูกๆของเขา

...อยู่เมืองหรือป่าก็มีปัญหาให้แก้ทั้งนั้น พี่อาหวู่เล่าให้ผมฟังว่าเดี๋ยวนี้บางครอบครัว กังวลกับหนี้เงินกองทุนหมู่บ้านละล้าน  ราคาขิงปีนี้ก็ไม่ดี ถั่วแดงก็เมล็ดไม่ค่อยสมบูรณ์เพราะฝนขาดช่วง  ลงทุนทำไร่เสียค่าปุ๋ย ค่ายาไปเยอะ ยังไม่รู้จะทุนคืนหรือเปล่า เมื่อวานลูกสาวของบ้านใกล้ๆโรงเรียนก็หนีออกไปทำงานในเมืองเชียงใหม่แล้ว...

คงต้องใช้เวลาอีกนานที่จะแก้ไขปัญหา การต่อสู้เพียงลำพังของคนชายขอบ ไร้แม้แต่พลังที่จะเรียกร้องสิทธิใดๆที่เขามีอยู่ การเกษตรแบบเดิมๆ ที่เปลี่ยนไปเป็นเกษตรเพื่อขาย ทำให้พวกเขาเหนื่อยมากขึ้น พร้อมกับค่อยๆจนลง ปัญหาของคนเล็กๆเมื่อไหร่จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและถูกต้อง ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าอดทนและสู้ต่อไป

แต่ไม่ว่าอยู่ที่ไหน อย่างไร ทุกชีวิตล้วนเกิด แก่ เจ็บและตายกันทั้งนั้น เราต่างเหมือนกันในโลกใบนี้ จะมีอะไรดีไปกว่าการคบมิตรที่เข้าใจ พร้อมที่จะเรียนรู้และช่วยเหลือกัน

พี่อาหวู่ จะสุขหรือทุกข์อย่างไร เขาก็ยังอดทนเสมอ รอยยิ้มแม้เห็นบางเบาในวันนี้ เขาก็ยังยิ้มอยู่ ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ไร้อคติ

ชีวิตก็พร้อมที่จะต่อสู้กับอุปสรรคที่มาโรมรันอย่างเต็มกำลัง...


เก็บตกชีวิตคนชายขอบ

จตุพร(อะตะผะ) วิศิษฏ์โชติอังกูร

กลางฤดูหนาว ปี ๔๕ บนดอยสูง กึ้ดสามสิบ แม่ฮ่องสอน

ภาพที่สองเอื้อเฟื้อจากไต๋  painaima.com

 

หมายเลขบันทึก: 91673เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2007 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

แวะมาเยี่ยมเพื่อนรักชาวเหนือครับ

ชอบอ่านบรรยากาศบนดอยครับ เพราะเคยเรียนมอชอ ตีนดอยสุเทพนะกะ

โชคดีวันหยุดจากชาวเมืองกทม.

 

ขอบคุณอาจารย์ป๊อบครับ

  • วันก่อนมีอาจารย์ท่านหนึ่งจากเชียงรายโทรมาคุยกับผมว่า หากอาจารย์ป๊อบจะมาเยี่ยมผมจะนัดเจอที่เชียงรายเพราะอยู่ตรงกึ่งกลาง
  • อ.ป๊อบ คงต้องทบทวนดูสักนิดแล้วครับ ว่า กึ่งกลางที่ว่า คือ เชียงรายมั้ยครับ 5555
  • ติดตามเรื่องราวอาจารย์ตลอดเวลาครับ รักษาสุขภาพด้วยครับงานหนักมากๆที่มหิดล
  • ขอบคุณมากครับ
  • ซึ้งใจคุณจตุพร ที่ยังมองเห็นปัญหาและพร้อมจะช่วยเหลือ กัน
  • เป็นคนที่ผ่านมาอ่านเจอ ได้แต่ให้กำลังใจทุกคน เท่านั้น รอยยิ้มที่ยิ้มให้แก่กัน ต่อเติมกำลังใจไปได้อีกวัน สู้ๆ
สวัสดีครับ น้องชายที่รัก
    เข้ามาซึมซับ รับรู้ บรรยากาศ และความจริงครับ
    ความงามในจิตใจจักคงอยู่  ตราบใดที่เหล่านักสู้ (ไร้อาวุธ) ไม่ยอมพ่ายต่อพวกพาล
มาเยี่ยมและให้กำลังใจน้องชายของผมครับ
P

ได้กำลังใจจากคุณแก่นจังเพียบเลยครับ...ต้องขอขอบคุณ

ตามจริงเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นนานแล้ว ผมนึกถึงบรรยากาศบนดอยแล้วก็มีความสุขครับ

ที่ไหนก็มีปัญหาเหมือนกัน อยู่ที่เราจะตั้งรับ และมีทัศนคติกับปัญหาอย่างไร

ขอบคุณครับ

P

ขอบคุณท่านอาจารย์มากครับ ดีใจมากที่อาจารย์มาเยี่ยมบันทึกผม

บรรยากาศที่ผมซึมซับมานั้น ผมอยากจะเขียนเพื่อสื่อออกมาให้ได้รู้สึกกันพร้อมกับผม แต่อ่านยังไงก็ไม่ได้ครึ่งของความรู้สึกที่ผมมี

สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ที่หล่อหลอมความเป็นผมครับ ปัญหา และความไม่เท่าเทียมกัน..ต้องช่วยกันต่อสู้ครับ

"ความงามในจิตใจจักคงอยู่  ตราบใดที่เหล่านักสู้ (ไร้อาวุธ) ไม่ยอมพ่ายต่อพวกพาล"

ขอบคุณพี่ชายที่แสนดีครับ

 

ไม่มีรูป
พี่ชาย
ขอบคุณพี่ชายนิรนามมากครับ...ได้กำลังใจครับ และขอให้พี่มีพลังใจเช่นผมเช่นกันครับ
P

ดีใจครับที่แวะมาเยี่ยม...

ขอบคุณมากครับ

ฟู่ลู่เป็นเครื่องดนตรีของชาวไทยภูเขาเผ่า "ลีซู"เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า ทำจากน้ำเต้าเล็ก ต่อท่อออกมากับท่อ(ใช้ไม้ใผ่) เสียงของฟู่ลู่จะไพเราะมาก พบเห็นช่วงปีใหม่ลีซู(กินวอ)

น้องจตุพรกับอาจารย์ป็อปก็เป็นลูกช้างด้วยกันหรือคะ มีโอกาสเมื่อไรคงได้ไปให้กำลังใจกันถึงยอดดอย

แม้อยู่ท่ามกลางความยากลำบากยังยิ้มได้ คือสุดยอดของการใช้ชีวิต ขอให้มีกำลังใจมหาศาลในการช่วยคนอื่นให้มีพลังขึ้นมาด้วย

หรือว่าไม่รู้ใครช่วยใครให้ยังคงมีกำลังใจสู้ต่อไป บางทีเราเห็นคนที่ลำบากกว่าเราแล้วยังไม่ย่อท้อ ก็ทำให้เราเกิดพลังได้เหมือนกันนะคะ

ถ่ายทอดเรื่องได้งดงามมากค่ะ

เจริญพรโยมจตุพร

  • เจริญพรโยมเอก ช่วงนี้อาตมามีโอกาสเข้ามาช่วยงานองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ พระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่ เมตตาให้อาตมาเข้ามาช่วยงานเรื่องสำคัญของชาติในอินเทอร์เนท อาตมาจึงได้มีโอกาสเข้ามาในบล็อกช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงขอโอกาสฝากโยมเอกช่วยดูแลแทนอาตมาอีกแรงหนึ่งด้วย
  • องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ พระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่จะเดินทางไปยังวัดสันป่าสักวรอุไร จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 26 เมษายนนี้ ถ้าโยมเอกมีโอกาสขอให้เข้าไปกราบท่านที่วัดด้วยนะครับ
  • มาร่วมกันทำกุศลธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปครับ
  • เจริญพร
  • พระปภังกร ขนฺติวโร

อ.

P

ผมกับ อ.ป๊อบ เป็นลูกช้างครับ คนละคณะ

วิถีบนดอยอยู่ง่ายๆกินง่าย มีพริกกะเกลือก็อยู่ได้ครับ ป่าเหมือนเป็นซุปเปอร์มาเกตขนาดใหญ่ เป็นแหล่งอาหารของชุมชน

ปัจจุบันวิถีมันเปลี่ยนแปลงเร็วมากครับ หากชาวบ้านรู้ไม่เท่าทัน ก็สุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลายได้ครับ

น่าเป็นห่วง

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

P

นมัสการท่านพระปภังกรครับ

ยินดีและมีความสุขมากครับ ที่ทราบว่าท่านเข้ามาเขียนบันทึกต่อเนื่อง ผมจะติดตามบันทึกท่านด้วยใจจดจ่อนะครับ

วันที่ ๒๖ ผมเดินทางกลับเชียงใหม่ หากมีโอกาสดีๆผมจะไปที่วัดสันป่าสักวรอุไรธรรมาราม ครับ จะได้ไปนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่

กราบขอบพระคุณท่านครับ

ผมมาแลกเปลี่ยนในฐานะที่รู้ว่าคุณจตุพรอยากไปเรียนต่อเอก ก็เลยแวะมาดูสักหน่อย ประสากัลยาณมิตรที่อยากเห็นดาวอีกดวงหนึ่งเจิดจรัสแสงเป็นแรงส่องทางผู้ยากไร้

แวะมาตามคำเชิญครับ ไม่รู้จะเอาหลักวิชาการอะไรมาจับ แต่เฝ้าติดตามงานที่จตุพรเขียนมันก็เป็นมุมมองที่เน้นไปในด้านอารมณ์ความรู้สึก อันนี้ก็ดีนะครับ เป็นจุดแข็งของข้อเขียนที่ติดตลาดได้ ถ้ารวมเป็นเล่มพ็อกเก็ตบุคส์น่าจะมีคนซื้ออยู่มาก

อย่างไรก็ตาม ถ้าจตุพรจะยกระดับงานเขียนโดยใช้มุมมองหรือหลักวิชาที่ตัวเองเรียนมาจับ ว่าหลักการ แนวคิด ทฤษฎีที่มีอยู่นั้น ใช้ได้จริงกับสิ่งที่ตนพบเจอมากน้อยแค่ไหน ก็จะทำให้งานเขียนเป็นเชิงวิเคราะห์ และมีประเด็นแหลมคมขึ้น

เงื่อนไขก็คือ คุณจำเป็นต้องตามให้ทันแนวคิดทฤษฎีปัจจุบันที่ก้าวไปเร็วมาก

ผมเข้าใจจากมุมมองตื้นๆของผมว่า นักวิชาการพอมาทำงานสนามมากๆ บ่อยครั้งก็ห่างหลักวิชา ห่างตำรา เพราะไปอินอยู่กับความแปลกใหม่ สิ่งตื่นตาตื่นใจที่เราไม่เคยพบเห็นในพื้นที่อื่นๆ  ประมาณว่าได้ "บู๊"แล้วลืม "บุ๋น" นักมานุษยวิทยาหน้าใหม่จำนวนมากก็เป็นเช่นนี้ในระยะแรกๆครับ

ผมอยากเห็นการพูดคุย ถกเถียงทางแนวคิด ทฤษฎีมากๆ โดยเอามาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ในภาคสนามที่แต่ละคนได้พบเจอ นี่เป็นสิ่งที่วงวิชาการและการพัฒนาของประเทศไทยขาดแคลนอย่างยิ่งครับ

เข้าใจว่า มีบันทึกเชิงพรรณนาเล่าเรื่องอย่างนี้จำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรนะครับ

แต่ถ้าคุณจตุพรจะก้าวไปในถนนวิชาการของโลกปัจจุบัน ผมคิดว่าลำพังการบันทึกอย่างเดียวไม่พอครับ ต้องตั้งคำถาม และแบ่งเวลาไปทุ่มเทค้นคว้า นี่เป็นเงื่อนไขที่มองข้ามไม่ได้เลยนะครับ

แล้วทุกถ้อยคำที่คุณเขียนไป จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้ที่งอกต่อไปได้อย่างเป็นระบบ

แนะนำให้ไปอ่านหนังสือ "สังคมวิทยาการพัฒนา" แต่งโดย ผศ. ดร. จามะรี เชียงทอง ที่ร้านหนังสือดวงกมลเชียงใหม่มีจำหน่าย จะทำให้เห็นภาพแนวคิดต่างๆที่อยู่เบื้องหลังวิธีคิดของผู้คน (รวมทั้งตัวเราเอง)เกี่ยวกับการพัฒนาครับ ผู้สอนเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของผมเอง การันตีได้ว่าแตกฉาน ผมว่าอ่านง่าย กระชับที่สุด (ในความคิดของผม)

เป็นการฝึกวิทยายุทธของคุณจตุพรก่อนไปต่อเอกได้เป็นอย่างดีครับ

คุณยอดดอย

ขอบคุณครับ :) ที่เติมเติมพร้อมข้อเสนอแนะครับ

 

 

  • สวัสดีครับ  คุณเอก
  • เมืองหรือป่า.....มีปัญหาให้แก้ไม่แพ้กัน 
  • แต่เพราะชีวิตคือการต่อสู้  ...และผลพวงของชัยชนะย่อมอยู่เคียงข้างของคนที่มีหัวใจไม่แพ้
  • แต่จะมีสักกี่คนล่ะครับที่อยู่ไกลโพ้น  จากตัวเมืองที่ต่อสู้อยู่อย่างไม่ไร้เพื่อน

สวัสดีครับ

P
คุณพนัส

ทั่วทุกหย่อมหญ้าครับ หากเรามุ่งประเด็นไปที่ปัญหา โดยเฉพาะปัจจุบันปัญหาเรื่อง"ปากท้อง" มาเป็นอันดับแรกๆ ของคนชนบท

สิ่งที่ทำได้คือ การต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้ ใช้ความรู้ ศักยภาพที่มี แปรเป็นปัญญาใช้ในการเดินไปข้างหน้าของชีวิต

ยินดีครับที่ได้แลกเปลี่ยน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท