คุยกันเรื่องงานวิจัยในเมืองไทย (เฮฮาศาสตร์เล่มที่ 1 บทที่ 2)


เมื่อไหร่บ้านเมืองเราจะถึงเวลา คิดเอง ผลิตเอง ใช้เอง

กราบสวัสดีญาติมิตรทุกท่านครับ 

        อยากจะชวนทุกท่านมาคุยเรื่องวิจัยในเมืองไทยนะครับ คุยกันเรื่องงานวิจัยในเมืองไทยนี่คุยกันได้นานเลยครับ ผมขอทำนายไว้เลยว่า ตราบใดก็ตามที่นักวิจัยไทยไม่ได้สร้างเครือข่ายระหว่างตัวนักวิจัยเอง กับผู้ทำวิจัยในสาขานั้นตลอดทั้ง การได้มาซึ่งปัญหาการวิจัยจากภาคเอกชน หรือภาคส่วนที่จะนำผลงานไปใช้จริง การวิจัยไทยก็ขึ้นหิ้งเสมอ และตลอดกาลจนกว่าจะมีคนไปปัดฝุ่นแล้วเจอว่ามันน่าจะดีหรือมีประโยชน์แล้ว จึงนำมาใช้

        เมืองไทยเรามีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก เหมาะสำหรับการทำวิจัยเลยทีเดียว แต่นักวิจัยที่เรามีอยู่ ไม่ใช่แค่ ผศ. รศ. ศ. หรือว่า อาจารย์ในมหาลัยเท่านั้น แต่ชาวบ้านก็เป็นนักวิจัยได้ เพราะการวิจัยไม่ใช่ทำกันแค่คนสองคน ปัญหาปัจจุบันมันมีความซับซ้อน มันหมดยุคที่จะมานั่งทำอยู่คนเดียวแล้ว เพราะคุณไม่สามารถที่จะมานั่งแก้ปัญหาทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว เว้นแต่ว่าคุณต้องทำปริญญาให้จบ สำหรับการทำงานวิจัยจริง นักวิจัยต้องมีทุนสนับสนุนทางภาคเอกชนที่ต้องนำงานเราไปใช้จริง แล้วหากนำไปใช้แล้วมีปัญหาก็จะมีการหันมาปรับกระบวนการวิธีการอีก เพื่อให้นำไปใช้ได้ดีขึ้น นักวิจัยต้องไม่รอแค่แหล่งทุนจากรัฐเท่านั้นในส่วนของวิจัยด้านการประยุกต์ ส่วนการวิจัยด้านบริสุทธิ์นั้นรัฐต้องให้ความสำคัญเพราะมันจะเป็นสิ่งที่จำเป็นและยังต้องมีอยู่ เพราะคนเหล่านี้ต้องคิดให้ล้ำหน้าไปจากปัญหาวิจัยปัจจุบัน พอโลกเจอปัญหานั้น งานที่ขึ้นหิ้งเหล่านั้นอาจจะนำมาใช้ได้

        ยกตัวอย่างลองมาดูคนที่ประสบผลสำเร็จในทางด้านการวิจัยปัจจุบันนะครับ จะมีการทำงานแล้วเชื่อมโยงกันหลายๆ สาขาแบบบูรณาการ คือในโครงการหนึ่งจะมีคนที่ชำนาญกันในหลายๆ สาขามาทำงานด้วยกัน แล้วแบ่งงานกัน ทีมงานจะเข้มแข็ง เครือข่ายก็จะเกิด

        เราเหล่านักวิจัยสามารถทำวิจัยเพื่อให้ต่อยอดได้ ประยุกต์ไปใช้ได้ด้วย ไม่เน้นเรื่องธุรกิจการวิจัย (ควรจะเน้นศรัทธานำหรือศรัทธาวิจัย) ต้องไม่ของบประมาณจากรัฐแล้วไปจ้างต่างชาติมาทำ หากเป็นแบบนี้เราก็จะไม่ประสบผลสำเร็จอยู่ดี
     

        เราเหล่านักวิจัยควรจะมีจุดยืนของตัวเองด้วย ไม่ใช่พอมีงบสนับสนุนมาจากด้านใด ก็ต้องทำตัวให้เอนเอียงเพื่อปรับตัวและจุดยืนของตัวเองไปในด้านนั้นเพื่อ ให้ได้มาซึ่งทุน โดยลืมคิดถึงความถนัดของตัวเอง ว่าเราถนัดด้านใด แบบนี้ก็มีปัญหาได้

        เราเหล่านักวิจัยควรจะเรียนรู้แล้วก็ต้องทำ ทำแล้วก็แก้ไขปรับปรุงแล้วก็ถ่ายทอดด้วย และที่สำคัญเราเหล่านักวิจัยต้องทำงานร่วมกับพ่อแม่ ประชาชน เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน และอาชีพอื่นๆ ได้เพราะบุคคลในสาขาอื่นๆ ก็กำลังทำวิจัยเช่นกัน อย่างน้อยก็วิจัยใจ วิจัยชีวิต

       เราเหล่านักวิจัยต้องไม่ขัดขากันเองในหมู่นักวิจัยด้วยกัน เพื่อทำลายซึ่งกันและกัน และไม่ควรโม้หรือเก่งแต่โม้ แต่ทำเองไม่เป็น ควรจะทำเป็นทั้ง "I Think" โมเดล และเน้น "I Do" โมเดล

       เราเหล่านักวิจัยควรจะรู้จักปรับตัวเกี่ยวกับการได้มาซึ่งข้อมูล ไม่ใช่ว่าไม่มีเครื่องมือแล้วต้องรอเครื่องมือนั้นอย่างเดียวถึงจะทำได้ หรือว่าต้องมีเครื่องมือเองแล้วจะทำได้ เราเหล่านักวิจัยไทยต้องรู้จักการใช้ทรัพยากรเครื่องมือร่วมกัน ไม่ใช่หวงไว้ใช้เองเป็นการส่วนตัว ต้องมีนโยบายการใช้เครื่องมือร่วมกันและทำได้ในทางการปฏิบัติด้วย

        เราเหล่านักวิจัยต้องมีจินตนาการ และควรจะมีบทบาทในการนำเสนอโครงการต่างๆ ต่อรัฐบาลด้วย เพราะผู้บริหารจะต้องเข้าใจในเรื่องการทำวิจัยด้วย จะได้วางแผนให้คนที่สนใจจะทำวิจัยในด้านต่างๆ สามารถทำงานได้

        เราเหล่านักวิจัยรุ่นใหม่ไม่ควรจะไปรับงานบริหารในช่วงแรกๆ ของการทำงานด้านวิจัย เพราะว่างานบริหารเน้นการประชุม พูดคุย ไม่มีเวลาทำวิจัยแน่นอน อาจจะด้วยความหวังดีของความเป็นเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงก็ตาม ต้องอดใจรอไว้ เพราะยังไงวันหนึ่งท่านก็จะได้เป็็็็็็นผู้บริหารแน่นอน ขอให้เร่งทำวิจัยเพื่อส่วนรวม

        รัฐบาลควรสนับสนุนให้นักวิจัยทางด้านศีลธรรม จรรยาด้วย เพราะสังคมจะแย่ หากคนไร้ศีลธรรม จะเห็นว่าทุนที่มีให้ในด้านศีลธรรม สังคมศาสตร์มีค่อนข้างน้อยหากเทียบกับทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัยทางศาสนา จิตใจ พฤติกรรม

        เราเหล่านักวิจัยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนได้ เปิดโอกาสให้ทำงานวิจัยร่วมกัน ไม่ใช่เอกชนไม่เชื่อฝีมือแล้วก็หันไปซื้อแต่เทคโนโลยีต่างชาติมาอย่างเดียว ทั้งโปรแกรมและเครื่องมือ เงินรั่วไหลไปแค่ไหน เราต้องสร้างความรู้พื้นฐานให้กับสังคมไทย ก็จะโยงไปเกี่ยวกับเรื่องครู เรื่องนักเรียน อีก เรื่องการศึกษาอีก มันจะเกี่ยวโยงกัน รัฐบาลต้องพร้อมที่จะปูการศึกษาระดับล่างของเด็กให้แน่นตั้งแต่เด็กๆ เพื่อให้เค้าเหล่านี้มาเป็นนักวิจัยกันต่อไป ตลอดจนเป็นนักถ่ายทอดที่ดี เป็นครูที่ดีของสังคม

       ท้ายที่สุดแล้ว เราเหล่านักวิจัยจะทำวิจัยเรื่องใดก็ตามแต่ ก็ต้องไม่ลืมทำวิจัยเกี่ยวกับตัวเอง ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตัวเองเป็นระยะๆ จะได้ไม่ลืมตัวลืมตน อยู่อย่างสม่ำเสมอ หากคนไทยทุกคนวิจัยตนเอง รู้ว่าตนเองเป็นอย่างไร ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม เราไม่ต้องไปพิจารณาพวกปริมาณค่า impact factor อะไรมากหรอกครับ ค่าเหล่านั้นมันไม่ได้จำเป็นและสำคัญอะไรมาก หากงานวิจัยนั้นนำมาใช้ได้ดีและเหมาะกับพื้นที่และกลุ่มคน เป้าหมาย สภาพแวดล้อม

        ด้วยความเชื่อมั่นว่าคนไทยเก่งและเก่งได้ เรียนรู้ได้ และทำงานได้ดี มีคุณภาพ มีศักยภาพในการทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ ขอเพียงแต่เราเชื่อมใจของตัวเราให้เข้ากับใจคนอื่นได้ แล้วผูกใจเพื่อทำวิจัยร่วมกัน มองประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง แล้วเราจะพบว่า....

ไทยคิด ไทยทำ ไทยใช้

ไทยพัฒนา ไทยยั่งยืน ไร้ฟื้นฟู

ไทยมุ่งสู่ ความพอเพียง อย่างเพียงพอ

        บทความแนะนำคู่่บทความนี้  เมื่อไหร่บ้านเมืองเราจะถึงเวลา สร้างเอง ผลิตเอง ใช้เอง (http://gotoknow.org/blog/mrschuai/10560) 


ด้วยมิตรภาพและพระธรรมชาติคุ้มครอง

เม้ง  สมพร ช่วยอารีย์

หมายเลขบันทึก: 142928เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2007 03:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
  • สวัสดีครับ อ.เม้ง สมพร
  • ผมเองก็เป็นนักวิชาการ ซึ่งตามธรรมชาติต้องวิจัย หรือต้องสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง
  • แต่ในการทำงานจริง ระบบไม่ได้เป็นไปตามนั้น การทำวิจัยก็ต่อเมื่อจะปรับซีเท่านั้น  เป็นนักวิชาการก็ยังทำงานตามที่เขากำหนดมา(แบบเสื้อโหล) ซึ่งยังไม่ได้เป็นไปตามที่มันควรจะเป็น
  • ตอนนี้ผมกำลังจะปรับเปลี่ยนใหม่แล้วครับ จะพยายามหาโอกาสเพื่อให้เป็นไปตามบทบาทที่ควรจะเป็นแบบนอกกรอบ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำได้แค่ไหน
  • ขอบคุณมากครับที่ช่วยให้ผมได้คิดต่อ

 P

sasinanda
มีคนทำวิจัยเรื่อง การเกษตรที่ปลอดสารพิษหรือยังคะ   อาหารจากธรรมชาติเป็นของขวัญสายใยความสัมพันธ์เพื่อสุขภาวะ ซึ่งต้องมีการปรับพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย
เรื่องนี้จะสอดคล้องกับกระแสรักสุขภาพทั่วโลก

 เมื่อมีข้อมูลแล้ว  ต้องหาวิธีการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับรู้เพื่อใช้พัฒนาพื้นที่ได้ต่อไป  เรื่องนี้ เป็นการทำ value addedให้สินค้าเกษตรค่ะ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

ผลักดันให้เป็นนโยบายในระดับพื้นที่ ไม่ใช่วิจัยแล้วก็แล้วกัน  ทางรัฐต้องเข้ามาสนับสนุนด้วย

P 1. สิงห์ป่าสัก

สวัสดีครับพี่ยุทธ

  • สบายดีนะครับพี่ ขอบคุณมากๆ เลยครับ
  • ใช่แล้วครับ เราก็เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ เรามีการเรียนรู้ การเรียนรู้นำไปสู่การปรับตัวที่ดีกว่า นั่นคือคือกระบวนการวิจัยแล้วครับ
  • หากเราคิดเล่นๆ ต้นไม้ในยุคแรกๆ กว่าจะมาเป็นไม้ยืนต้น จากยุคแรกเป็นมอส ไลเค่น จะเห็นว่าเค้าปรับตัวมาได้เป็นพันเป็นล้านปี ตามแต่ความซับซ้อน เค้าเหล่านั้นล้วนต้องทำวิจัยทั้งสิ้นครับ
  • ต้นไม้ก็ต้องทำวิจัยครับ ต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ ก็ล้วนทำวิจัย ในพื้นที่หนาวๆ ก็ต้องวิจัยตัวเองในการที่จะปรับตัว คนเราไปอยู่ที่ต่างๆ เราก็ล้วนต้องวิจัยเพื่อปรับใจเข้าหากันใช่ไหมครับ
  • การวิจัยองค์กรเพื่อวิจัยใจร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวในองค์กรนั้นเลยสำคัญครับ
  • ผมว่าสิ่งที่เราทำได้ คือ ทำวิจัยแบบใจสั่งมา หรือผมเรียกว่า ศรัทธาวิจัย นั่นเองครับ ทำแล้วดี ปรับปรุงต่อยอดจนนำไปใช้ได้ แน่นอนว่าวิจัยหนึ่งชิ้นจะส่งผลต่อคนในระดับต่างๆ ต่างกัน นั่นคือประโยชน์จากผลงานวิจัยจะได้รับแตกต่างๆกันตามลักษณะการนำไปใช้
  • การคิดวิจัยแบบไร้กรอบ หรือไม่ยึดติดกับกรอบหรือขอบ หรือรั้วนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญมากครับโดยเฉพาะการเปิดใจแบบไร้กรอบ จะทำให้เราวิจัยกับพ่อแม่ ชาวบ้าน ได้อย่างไม่มีกำแพงกั้น ไปขอความรู้พื้นฐานจากชาวบ้าน เพื่อนำมาประมวผล แล้วให้ชาวบ้านเป็นที่ปรึกษาแล้วนำเสนอต่อรัฐให้รับทราบผลการวิจัย แล้วกลับไปหาชาวบ้านอธิบายให้ท่านทั้งหลายในชุมชนฟังผลการวิจัยนั้น แล้วชวนทำต่อ เป็นการเรียนรู้ร่วม จะสนุก ชาวบ้านจะเพลิดเพลิน แล้วทำด้วยใจ เพราะท่านเหล่านั้นจะรู้ึสึกว่า ท่านมีความชำนาญในด้านนั้นจริงๆ มีคุณค่าในชุมชนด้วย แล้วทำงานร่วมกันกับนักวิจัยของรัฐของคนของการศึกษาได้
  • เราทานอาหารเผ็ดร่างกายเรายังต้องวิจัยอาหารทุกๆ มื้อเลยครับ ว่ากินอะไรมา จะปล่อยกรดออกมาเท่าไหร่ ให้เพียงพอ กินมากกินน้อย ปล่อยกรดน้อยมากอย่างไร
  • งานวิจัยจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเรามีระบบคิด สงสัยอย่างมีหลักการ ทดลองอย่างมีเป้าหมาย แล้วเราจะเดินได้...
  • เข้ามาเพิ่มได้อีกนะครับ ผมอยากจะคุยเรื่องเหล่านี้มากๆ ครับ เพราะส่วนหนึ่งของผมคือ ผมวางแผนจะทำวิจัยร่วมกับพ่อแม่ในทางด้านการเกษตรเ่ช่นกันครับ ตอนนี้เป็นเพื่อนร่วมวิจัยทางสายโทรศัพท์ครับ
  • ขอบคุณพี่มากครับ

 

 

สวัสดีครับ อ.เม้ง

          ใช่ครับการขัดขากันเองสำคัญมากพวกเรามักคิดว่าคนอื่น ๆ ไม่ได้เรื่องเสมอ  เมื่อเป็นดังนี้มันก็เป็นเครือข่ายความรู้ไม่ได้

            ก็เครือข่ายของมหาวิทยาลัยเป็นต้นครับผมว่าหาไม่ค่อยเจอนะ  ส่วนใหญ่จะคุยกันในสนามของตัวเองมากกว่า

           ต้องวางหัวใจออกมาก่อนครับเหล่านักวิชาการ

 

P sasinanda

สวัสดีครับพี่ศศินันท์

  • ขอบคุณมากครับ สบายดีนะครับ
  • เรื่องวิจัยปลอดสารพิษ ผมว่ามีคนทำหลายที่นะครับ ในเมืองไทย ที่เกี่ยวข้องกับทางโรงพยาบาล และทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ ตลอดจนการวิจัยชุมชนในหลายๆ พื้นที่ ประกาศตัวอย่างชัดเจนที่จะไม่ใช้สารเคมีครับ
  • คราวนี้ คำว่า ปลอดสารพิษ นี่หน่ะครับ มีความหมายลึกซึ้้งพอสมควร และนั่นไม่ได้หมายความว่าไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่ฉีดยาฆ่าแมลงอย่างเดียวนะครับ นั่นรวมไปถึงว่า
  • ดินที่ปลูกต้องไม่มีสารพิษตกค้าง น้ำที่ใช้รด ปุ๋ยที่ใช้ใ่ส่ อากาศที่ให้ในพื้นที่ ด้วยครับ
  • จริงตามที่พี่นำเสนอนั้นดีมากครับ เป็นแนวทางหนึ่งในการรับประกันสินค้าการเกษตรเลยครับ การส่งสินค้าเกษตรออกต่างประเทศจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้ด้วยครับ ไม่งั้นเราจะเก็บเอาไว้กินกันในประเทศ ก็เอาไว้ฆ่าคนไทยด้วยกันนะครับ
  • เมื่อก่อนสมัยคนที่ยังไม่ตื่นในเรื่องผักปลอดสารพิษชาวบ้านที่ไม่รับทราบ เค้าจะปลูกผักไว้สองแปลง คือแปลงไว้กินเองกับแปลงไว้ขาย
  • พี่คงจะเดาได้นะครับ ว่าแปลงไหนจะใส่อะไร พอมาถึงช่วงระยะหลังที่มีการขายไปออกหากผักที่ไม่มีรู มีหนอนเจาะเลย เพราะทำให้สงสัยถึงสารตกค้างครับ
  • มาถึงปัจจุบันอะไรหลายๆ อย่าง เข้าไปในการผลิต สู่การรณรงค์ และให้ความสำคัญเรื่องของสุขภาพมากขึ้น หลายๆ อย่างกลับมาสู่สิ่งที่ดีขึ้นครับ
  • ดินนั้นสำคัญมากๆ ครับ เราต้องเอาดินไปให้หมอดินตรวจด้วยนะครับ เพราะหากดินตรงไหนมีสารพิษ หรือโลหะหนักผสมอยู่เช่น บริเวณที่เคยทำเหมืองแ่ร่มาก่อน อาจจะมีสารโลหะหนักผสมในดิน ต่อให้เราไม่สนใจที่จะใส่ยาฆ่าแมลงก็ตาม พืชก็ดูดสารโลหะหนักเข้าไปด้วยครับ ดังนั้น โรงพยาบาลหรือ กระทรวงสาธาฯ ต้องเข้ามาดูแลด้วยครับ
  • รพ.ในชุมชน มีส่วนในการดูแลเื่รื่องนี้ด้วยถึงจะดี เพราะหากคนป่วย ก็ รพ.ใกล้เคียงนั่นหล่ะครับ ที่ต้องดูแล ผมว่าหมอคงดีใจหากมีผู้ป่วยน้อย คนแข็งแรงขึ้น (ผมไม่คิดว่าจะเป็็นแนวทางตรงกันข้ามนะครับ)
  • บริษัทประกันสุขภาพในเยอรมัน ที่ผมเคยทำ เค้ามีโปรโมชั่นให้ไปออกกำลังกายครับ เพราะว่า หากเราแข็งแรง เค้าจะได้ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลด้วย เกิดผลดีทั้งสองฝ่ายครับ
  • ขอบคุณพี่มากๆ นะครับ

P 4. mr. สุมิตรชัย คำเขาแดง

สวัสดีครับคุณมิตร

  • ขอบคุณมากครับผม สบายดีนะครับ
  • จริงๆ ผมชอบการมองต่างมุมครับ แต่ไม่ชอบความขัดแย้ง จนนำไปสู่การขัดขา หรือการขัดตัว ขัดกลุ่ม ขัดผลประโยชน์ นะครับ
  • ทำวิจัย คงต้องอยู่ว่า เราจะวางเป้าไว้ตรงไหน จะวางเป้าไว้ที่ ผลงานทางวิชาการ ตีพิมพ์นานาชาติ Impact factor หรือว่า วางเป้าไว้ที่ P (People) ครับ
  • หากเรามองเป้าหมายที่ผลประโยชน์ของประชาชน หรือส่วนรวมเป็นหลัก ยึด P ให้มาก่อน ส่วนอื่นเป็นสิ่งรอง นั้นจะดีมากๆ ครับ
  • ผลประโยชน์ขัดขาต่างๆ มันจะไม่เกิดขึ้นมากครับ
  • การพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ในความเห็นของผมแล้วจริงๆ น่าจะมีการนำเสนอให้คนนั้นคนนี้ได้รับ แทนการต้องยื่นเสนอ ภาพจะดีกว่ากันเยอะครับ แล้วถึงค่อยมีคณะกรรมการพิจารณาอีกที คนที่ได้มา อย่างน้อยก็ได้รับการมองระดับหนึ่งแล้วว่า ผ่านเกณฑ์เบื้องต้น
  • คุณค่าของงานวิจัยในแต่ละหมวดหมู่นั้นขึ้นกับการนำไปใช้ เราต้องแบ่งให้ชัดครับ ว่าส่วนไหนต้องสนับสนุน อย่างสายสังคมฯ นั้นสำคัญไ่ม่น้อยไปกว่าสายวิทย์์ เช่นกันครับ อยู่ที่ว่าเราจะเน้น ปริมาณ หรือคุณภาพครับ
  • ขอบคุณมากครับ เดี๋ยวเพ้อพร่ำยาวไปครับ โชคดีในการทำงานนะครับ

คุณเม้งคะ

ขอบคุณในคำอธิบาย พี่เองก็เคยทำอุตสาหกรรมการเกษตรมาหลายปี ตอนนี้บริษัทฯก็ทำอยู่ค่ะ

แต่ที่พูดมาเหมือนยกตัวอย่างค่ะ

พี่เคยมีบริษัทชื่อเกษตรธรรมชาติค่ะ ทำเรื่องปลอดสารพิษโดยเฉพาะส่งขายที่อังกฤษ เช่น Tesco

ประเด็นคือ การเกษตรเรายกเว้นข้าวทำไม่ค่อยลงลึก และยั่งยืน เช่น การวิจัยและผลิตเมล้ดพันธุ์เองเป็นต้น จะทำให้มีการควบคุมคุณภาพได้ตั้งแต่ต้นเลย

ลูกค้า รายสำคัญของพี่คนหนึ่งคือ Nestle' เขาผลิตเมล็ดกาแฟเองจนถึงขั้นตอนจำหน่าย

เขาบอกว่า......

ธุรกิจกาแฟ ถ้าเราคิดเพียงว่ารับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวบ้าน เขาอาจจะไม่ได้ปลูกต้นที่เราส่งเสริมก็ได้ ฉะนั้นสุดท้ายแล้วจะมีข้อที่เราต้องคำนึงว่า เวลาเรารับซื้อผลผลิตสุดท้าย เราต้องคำนึงถึงคุณภาพเป็นมาตรฐานหลัก"

คุณภาพเป็นตัวกำหนด และเชื่อมโยงกับมาตรฐานการผลิต เพียงแค่สั่งให้เกษตรกรหันไปปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ด้วยตัวเอง คงไม่ใช่ทางออกที่ดีมากนัก สิ่งที่ดีและการันตีได้มากกว่าก็คือ ต้องเข้าไปสอน เข้าไปคลุกคลี สร้างการยอมรับ และมองเห็นประโยชน์ยั่งยืนร่วมกันในวันข้างหน้า

คุณเม้งถามว่า......เมื่อไหร่บ้านเมืองเราจะถึงเวลา คิดเอง ผลิตเอง ใช้เอง

ตอนนี้ เกษตรกรก็ยัง ต้องได้เมล็ดพันธุ์จากบริษัทใหญ่ๆนะคะ ก็ยังทำเองไม่ได้เลย

พีเคยไปดูงานที่ฝรั่งเศสหลายหน เขาก็ปลูกอะไรธรรมดานี่แหละ แต่คุณภาพดีขึ้นๆ เขาใช้หนอนชนิดหนึ่ง ให้กินหนอนอีกชนิดหนึ่งค่ะ ไม่ได้ใช้เคมี สำหรับสินค้าpremium

P 7. sasinanda

สวัสดีครับพี่

  • ขอบคุณพี่มากๆ เลยครับ ที่ช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนกันนะครับ ได้ัรับรู้อะไรลึกๆ เพิ่มขึ้นครับ
  • ผมชอบแนวคิดนี้จังครับ

    คุณภาพเป็นตัวกำหนด และเชื่อมโยงกับมาตรฐานการผลิต เพียงแค่สั่งให้เกษตรกรหันไปปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ด้วยตัวเอง คงไม่ใช่ทางออกที่ดีมากนัก สิ่งที่ดีและการันตีได้มากกว่าก็คือ ต้องเข้าไปสอน เข้าไปคลุกคลี สร้างการยอมรับ และมองเห็นประโยชน์ยั่งยืนร่วมกันในวันข้างหน้า
  • เมื่อเค้าเข้าไปถึงผู้ผลิตจริงๆ หมายถึงว่าเข้าถึงหัวใจของชุมชนแล้วได้รับการตอบสนอง จนอยู่ตัวแล้ว จะทำให้เกิดการยอมรับจนได้้รับประโยชน์ร่วมกัน อยากให้รัฐลงไปแบบนี้บ้้้างเหมือนกันครับ
  • ส่วนเรื่องเมล็ดพันธุ์นั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จุกพอสมควรครับ เพราะหากพี่ไปซื้อข้าวโพดกระป๋องมา แล้วปลูกเสร็จได้รับผล แล้วพี่เอาเมล็ดพันธุ์นั้นจากฝักที่ปลูกไป ปลูกอีกรอบนะครับ อัตราการงอก การได้รับผล คนละเรื่องจากที่ซื้อมาในรอบแรก คงต้องลองทำดูครับ เพราะแนวทางนี้เป็นแนวทางทางธุรกิจครับ ดังนั้น หากอยู่ไปนานๆ หลายๆ รุ่นเข้า เกษตรกร จะไม่มีทางเหลือเมล็ดพันธุ์ดังเดิมเลยครับ หากเรานักวิจัยพันธุ์พืชไม่สนใจให้ความสำคัญในจุดนี้ เพราะแน่นอนว่า ยางล้อรถยนต์ หรือหลอดไฟนั้นไม่มีหลอดไหนจะใช้ได้ตลอดชีวิตครับ แน่นอนว่าเค้ากำหนดไว้แล้วว่าวันไหนจะต้องดับ คอมพิวเตอร์ก็เช่นกันครับ ที่เราซื้อกันอยู่ใช้กันอยู่มีอายุขัยทั้งสิ้นครับ เพราะแนวทางทางด้านธุรกิจ เรื่องการขาย กำไร ขาดทุนผูกติดอยู่ด้วยครับ
  • ผมจำน้องแหลม ที่ออกในรายการ คนค้นคน เรื่องอรหันต์ชาวนา เค้าบอกว่า เค้าจะต้องเก็บเมล็ดพันธุ์เอง ซึ่งผมว่าก็ถูกต้องของเค้านะครับ และนี่คือแนวทางที่เกษตรกรควรจะทำ โดยมีรัฐเป็นพี่เลี้ยงที่ดี ในเรื่องนี้
  • สำหรับการให้ธรรมชาติจัดการ กำจัดกันเองเพื่ออยู่ร่วมแบบพึ่งพาและเป็นความสัมพันธ์แบบห่วงโซ่อาหาร มีเหยื่อมีผู้ล่านั้นผมชอบมากๆ เลยครับ
  • ในนาข้าวของประเทศไทยบ้านเรา หากเราปล่อยไว้เราจะเจอแมลงอยู่สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือมีประโยชน์ต่อข้าว อีกกลุ่มคือ มีโทษต่อข้าว หากเราปล่อยให้เค้าอยู่ด้วยกัน เค้าจะจัดการกันเอง แต่หากเราใช้สารเคมีเราก็ทำลายเค้าทั้งสองกลุ่ม นิเวศเพี้ยนทันที คราวนี้เราก็ติดโดยต้องฉีดตลอด แล้วผลกระทบต่อน้ำ ต่อดิน ต่อสภาพนิเวศก็เปลี่ยนไป
  • แล้วพืชชนิดอื่นๆ ก็เป็นเช่นนั้นเช่นกันครับ
  • จริงๆ เราน่าจะลองหันมาทบทวนตัวเราดูว่า เราผลิตอะไรได้บ้าง อะไรไม่ไ้้ด้บ้าง ร่วมมือกันระหว่างรัฐเอกชน และประชาชน เพื่อการเกื้อกูลและพึ่งพากัน เราจะพบจุดที่เราควรจะปรับปรุงร่วมกันครับ
  • การทำงานร่วมกันจึงสำคัญมากๆ เลยครับ หากเราบริหารใจ บูรณาการใจ ร่วมกันไม่ไ้ด้ เรายากที่จะบูรณาการงานวิจัยร่วมกันได้ครับ
  • ร่วมแลกเปลี่ยนกันต่อนะครับ แลกเปลี่ยนกับพี่สนุกดีครับ แนวทางการเกษตรนั้นเป็นทรัพย์สมบัติของประเทศเลยครับ
  • ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ  มีทั้งดิน และทั้งน้ำ น้ำจืด กร่อย เค็ม ครบเลยครับ
  • ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ก็ทำนองเดียวกันครับ
  • ขอบคุณพี่มากครับ

ขอบคุณที่คุณเม้งเข้าใจค่ะ

พี่ว่า เราขาดการวิจัยแบบเจาะลึกมาก มีอะไรให้ทำเยอะมากนะคะ แต่เราอาจจะเห็นว่าเสียเวลา จริงๆแล้ว ไม่มีการเสียเวลา มันคุ้ม แต่เกษตรกร ติดปัญหาเรื่องทุนและนักวิชาการที่จะไปช่วย แต่นักวิชาการ ถ้าไม่มีทุน เขาก็ทำไม่ได้

ข้าวโพดหวานและพืชผักทุกชนิดที่พี่ขาย ผลิตเมล็ดพันธุ์เองทั้งนั้น ปลูกได้ครั้งเดียว

เคยส่งผลไม้ไปขายยุโรป โดยระบบ Controlled Atmosphere แบบที่เนเอร์แลนด์ทำเป็นอุตสาหกรรม แต่เราทำยากมาก เพราะ เราcontrol ชาวไร่ไม่ได้ ชาวไร่ ต้องใช้ปุ๋ยและเคมีตามที่เรากำหนดให้ มิฉะนั้น ของจะเสียในตู้Container เพราะพืชเป็นสิ่งมีชีวิต เขาจะหายใจเข้าออก และจะมีแกสเสียออกมา เช่น มีเธน  สาเหตมาจากพวกปุ๋ยที่ใช้ในแปลงปลุก  ทำให้พืชผักเสียค่ะ มันเป็นอะไร ที่ซับซ้อน ไม่ง่ายค่ะ

จุดยืนของเนสท์เล่ทำมาหากินอยู่ในธุรกิจอาหาร

ฉะนั้นไม่ว่าเนสท์เล่จะขยายอาณาจักรไปที่ไหน สิ่งหนึ่งที่ต้องเติบโตควบคู่กันไปก็คือ ชุมชนแวดล้อมที่อยู่ร่วมกัน ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

พี่ชอบ กลยุทธ์ CSR ของธุรกิจเนสท์เล่ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา อย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง

"ทำอะไรก็ได้ที่ยั่งยืนไม่ฉาบฉวย แต่ในทุกสิ่งที่ทำ ต้องสามารถช่วยเหลือชุมชนให้ยืนได้ด้วยตัวเอง"

เนสท์เล่อยู่ในธุรกิจกาแฟมานานในประเทศเราร่วม 20 ปีค่ะ  เนสกาแฟเป็นแบรนด์ที่สร้างรายได้ให้เนสท์เล่สูงสุด เกินกว่าครึ่งของรายได้รวมทั้งบริษัท

ไม่ได้เชียร์ เพราะเป็นลูกค้านะ แต่เขาชำนาญจริงๆ

P 9. sasinanda

สวัสดีครับพี่ 

  • กราบขอบพระคุณมากครับ ที่พี่ได้เล่าสู่กันฟังหลายๆ ส่วนที่น่าสนใจครับ
  • เมื่อคืืนคุยกับท่าน อ.แสวง ท่านบอกว่า บทความนี้ใหม่ ในสมัย 20 ปีที่แล้วนะครับ อิอิ ตอนนั้นผมยังเรียน อยู่ ม.1 เลยครับ
  • ท่านอาจารย์แสวงเลยสรุป 30 ปัญหาที่น่าสนใจให้อ่าน ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้อะไรมากขึ้นครับ ตามอ่านได้ที่นี่นะครับ  ๓๐ ประเด็นปัญหาและทางออกในการทำงานวิจัยของเมืองไทย
  • คงต้องร่วมด้วยช่วยกันนะครับ ส่วนตัวผมยังประสบการณ์น้อยอยู่เลยครับ ยังฟุ้งอยู่ในอากาศมากกว่าจะจับต้องได้ เลยต้องทำอีกเยอะเลยครับ แต่ก็ร่วมทำกันต่อไปครับ
  • ขอชื่นชมในบริษัทเอกชนทุกองค์กรนะครับ ที่คิดดี และเน้นผลประโยชน์ของสังคม ทำให้ ผู้บริโภคสบายใจ ผู้ผลิตได้้้กำไร และสังคมมีความสุขนะครับ
  • กราบขอบพระคุณมากครับ
น.ส.เทียมจันทร์ ดวงจันทร์, น.ส.ศศิธร หวนบุตตา

* สวัสดีคุณเม้ง

*เราสองคนได้อ่านบทความคุณเม้งแล้วรู้สึกเห็นด้วยกับคุณเม้งมาก

สวัสดีครับคุณ น.ส.เทียมจันทร์ ดวงจันทร์, น.ส.ศศิธร หวนบุตตา

ขอบคุณมากครับผม ผมมองตามที่รับรู้และสัมผัสนะครับ ส่วนหนึ่งเท่านั้นครับ ถูกต้องส่วนหนึ่งเท่านั้นครับ และอาจจะเก่าไปแล้วก็ได้นะครับ หรืออาจจะยังใหม่สำหรับบางที่ก็ได้ครับ

ศึกษาไปเรื่อยๆ นะครับ  ไม่ทราบว่าเรียนกันอยู่ที่ไหนครับ

ขอบคุณมากครับ 

  อ.เม้งครับ ตามโรงเรียนที่ครูและนักเรียนร่วมกันปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เพื่อเป็นอาหารกลางวัน ถ้าได้รับการส่งเสริมให้เป็นศูนย์วิจัยและเรียนรู้ของนักเรียนและประชาชน น่าจะเป็นรูแบบที่ดีรูปแบบหนึ่งของงานวิจัย

สวัสดีครับคุณสุขสวัสดิ์

  • ขอบคุณมากครับ สำหรับความเห็นที่ดีครับ และยินดีต้อนรับนะครับ
  • เห็นด้วยเลยหล่ะครับ สำหรับเรื่องการทำวิจัยร่วมระหว่างนักเรียนและประชาชนร่วมกับครูในพื้นที่ร่วมกัน อาจจะเริ่มจากนักเรียนทำร่วมกับครูเมื่อได้ผลแล้วเด็กก็เอาไปทำและถ่ายทอดต่อที่บ้าน ทำร่วมกัน อาจจะเกิดการถ่ายเทแนวทางวิจัย หรือแม่แต่ เด็กทำร่วมกับพ่อแม่หรือที่บ้าน แล้วเอามาถ่ายทอดต่อกับโรงเรียน แล้วจะมีการส่งต่อไปยังครอบครัวอื่นในต่างพื้นที่ได้เช่นกันครับ
  • งานวิจัยเหล่านี้ ทำได้มากมายเลยนะครับ งานวิจัยเราเริ่มได้ในระดับต่างๆ และส่งผ่านถึงระดับต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันได้ครับ อาจจะส่งผลต่อการวิจัยในระดับประเทศได้เช่นกันครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ
ผมขอเสนอทางออกเรื่องทุนดำเนินงานครับ  การสร้างดรีมทีมขึ้นมาเพียง1ทีมเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้สังคมยอมรับและศรัทธาเสียก่อน อาจจะช่วยให้เรามีโอกาสได้รับเงินบริจาคเข้ามามากพอทีจะขยายงานเพิ่มขึ้นได้อีกเรื่อยๆ  ทุนสำหรับดรีมทีมอาจจะต้องลงขันช่วยกันภายในกลุ่มภาคีร่วมอุดมการณ์เท่าที่เรามีอยู่   จะกำหนดให้ภาคีใดภาคีหนึ่งขึ้นมาเป็นดรีมทีมก็ได้  โดยเน้นคัดเอาภาคีที่น่าจะง่ายต่อการเรียกศรัทธาจากประชาชน กล่าวคือหลังจากภาคีดรีมทีมเรีมงานครบ1-2ปีแล้วต้องส่งผลให้ประชาชนที่ทดลองนำความรู้ด้านการวิจัยจากภาคีดรีมทีมไปใช้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่พวกเราต้องทุ่มเทแบบสุดๆครับ

สวัสดีครับคุณคมศิลป์

        ขอบคุณมากๆ เลยครับ เป็นแนวทางหนึ่งที่ดีมากครับ เพราะหากนักวิจัย หรือเราเริ่มทำด้วยเอาแรงศรัทธาเป็นตัวตั้ง แล้วสู้จริงๆ กัดไม่ปล่อยกับปัญหา น่าจะเป็นต้นทุนทางสังคมที่ดีครับ ก็จะเกิดได้ครับ ศรัทธาวิจัย

       ในช่วงแรกคงต้องร่วมกันลุยเองก่อนครับ หรือใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วจัดการบริหารให้ลงตัวเท่าที่จะทำได้ครับ  เมื่อศรัทธาวิจัยเกิดแล้ว แหล่งทุนจะตามมาเองหากงานที่ทำส่งผลที่ดีต่อสังคม จะมีคนเห็นดีและสนับสนุนเองใช่ไหมครับ ผมคิดว่าทำได้เช่นกันครับ แต่หากเราเอาเงินเป็นตัวตั้ง หากไม่มีทุนเราไม่ทำวิจัย อันนี้ก็อาจจะจอดได้ง่ายมากๆ เลยครับ

ขอบคุณมากครับผม ที่ร่วมขับเคลื่อนนะครับ 

บทความมีประโยชน์มาก....(กำลังวุ่นวายอยู่กับ หัวข้อ THESSiS)ตอนนี้เรียนโทวิจัยอยู่ปี 1 เพื่อนในห้องบอกว่ายิ่งเรียนเหมือนยิ่งโง่ รู้งี้ไม่มาดีกว่า เลยบอกเพื่อนไปว่า ไม่โง่หรอก ได้รู้มากขึ้น เคยมีเหมือนกันที่ว่ายิ่งเรียนสูงยิ่งจะพูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง.....พบสัจจธรรมข้อหนึ่ง(พบเองน่ะ)ว่า เวลาเราพูดคุย เราจะพูดในสิ่งที่คนอื่นไม่เคยรู้ หรือไม่เคยเห็น...ไม่ใช่เราดัดจริต แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทำให้คนที่เราคุยด้วยว่าเราคุยไม่รู้เรื่อง....เอวัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท