อันตราย !! อาหารใส่บาตร


ส่วนใหญ่เวาลาเราใส่บาตร มักเลือกอาหารที่ชอบ หรือที่ผู้ที่เราอยากทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ชอบ เราจึงมักมองข้ามเรื่องสุขภาพ อนามัย ของพระคุณเจ้าท่านไป

มีข่าวจากนิตยสารธรรมลีลาชิ้นหนึ่ง เนื้อความเกี่ยวกับอันตรายจากอาหารที่เราใส่บาตร ดังนี้ค่ะ

" ระวัง!! อันตรายใส่บาตร-ทำบุญเลี้ยงพระ อันตรายต่อสุขภาพพระทั้งกายและจิต

นครปฐม : รองศาสตราจารย์ ดร.พินิจ รัตนกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการประชุมเรื่องการสาธารณสุขสำหรับพระสงฆ์ที่จัดขึ้นที่วิทยาลัยศาสนศึกษา เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ปรากฏว่า สถิติของพระสงฆ์เจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในโลหิตสูง และโรคภูมิแพ้ มีจำนวนมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง

โรคเหล่านี้เกิดจากโภชนาการเป็นสำคัญ สามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยโภชนาการเช่นเดียวกัน จากการสนทนาและเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างพระสงฆ์จำนวน 70 รูป ที่เข้าร่วมประชุม เป็นที่ชัดเจนว่า อาหารที่ญาติโยมนำมาถวายพระสงฆ์ ไม่ว่าจะโดยการใส่บาตร หรือการทำบุญเลี้ยงพระ ถึงแม้จะเป็นอาหารที่ดีที่สุดในความคิดเห็นของญาติโยม แต่ส่วนมากมีคุณค่าทางโภชนาการน้อย และมักเป็นอาหารที่อันตรายต่อสุขภาพทางกาย เช่น มีรสหวาน เค็ม เปรี้ยว และเผ็ดเกินไป

และอาหารบางอย่างอันตรายต่อสุขภาพทางจิตควบคู่ไปด้วย โดยทำให้กามกิเลสของพระสงฆ์กำเริบขึ้น

ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมจึงมีความเห็นว่า หากชาวพุทธต้องการให้พระสงฆ์มีสุขภาพอนามัยดี และสามารถทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและสังคมไทยได้เต็มที่ตามศักยภาพที่มีอยู่ ชาวพุทธควรให้ความสำคัญแก่การเสริมสร้างสุขภาพของพระสงฆ์ มากกว่าการทำบุญตามใจชอบของตนเอง

การมีความรู้ทางโภชนาการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวพุทธควรขวนขวายแสวงหา จะได้รู้จักเลือกอาหารที่มีคุณค่าสำหรับตนเอง และการทำบุญ

อนึ่ง อาหารสำหรับถวายพระสงฆ์นั้น ควรมีสารอาหารครบ 5 หมู่ มีไขมันต่ำ คาร์โบไฮเดรตพอเหมาะ ไฟเบอร์ หรือไยอาหารสูง โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่

ถ้าเปลี่ยนจากข้าวเหนียว หรือข้าวขาว มาเป็นข้าวกล้อง จะเพิ่มวิตามินบีและใยอาหาร

ถ้าเปลี่ยนจากแกงกะทิ เป็นอาหารนึ่ง หรือทอดอ่อนๆ หรืออบ ก็จะลดปริมาณไขมันลงไปมาก

นอกจากนั้น การเพิ่มผัก ผลไม้สด ก็จะทำให้ปริมาณวิตามินเกลือแร่ที่ได้รับ มีมากขึ้น และส่งผลให้ระบบขับถ่ายดีตามไปด้วย"

อยากเสนอท่านผู้อ่านบันทึกนี้อีกนิดค่ะ พระคุณเจ้าส่วนใหญ่มักเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก การจัดอาหารที่มีสารยับยั้งโรคนี้ เช่น บล็อกเคอรี่ ก็เป็นอีกทางที่สามารถทำได้

หรืออาจจัดอาหารที่ทำจากเต้าหู้บ้าง เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน

ที่จริง พระคุณเจ้าท่านเลือกไม่ได้หรอกนะคะ ใครถวายอะไรก็ต้องรับตามนั้น

แต่เรา ผู้ถวาย เลือกได้ค่ะ ว่าจะเลือกรักษาสุขภาพให้พระคุณเจ้าด้วยหรือไม่

.....................................

ที่มา ธรรมลีลา ปีที่ 9 ฉบับที่ 108 พฤศจิกายน 2552

ควรตั้งใจมั่นตักบาตรพระอรหันต์?

หมายเลขบันทึก: 315698เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2009 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดีค่ะ

ส่วนมากอาหารถวายพระ จะเป็นอาหารที่คนส่วนใหญ่ ลงมือทำด้วยตนเอง และคัดสรรอาหารที่ดี

หรืออาจจะมีบางส่วนที่รีบเร่ง ขอขอบพระคุณกับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ค่ะ

สวัสดีค่ะครูคิม

เพิ่งออกจากบ้านครูคิมมาค่ะ สุขใจกับเสื้อกันหนาวของเด็กๆจังค่ะ

  • สวัสดีค่ะพี่ณัฐรดา
  • เห็นด้วยค่ะ การใส่บาตรสมัยนี้ต่างจากสมัยก่อนราวฟ้ากับเหวประมาณนั้นค่ะ ส่วนใหญ่จะเตรียมของจากที่บ้านหุงข้าวใส่ขันไปเองแล้วขับรถไปใส่บาตรที่ตลาดค่ะ ก็ไม่ห่างกันมากเพราะว่าแถวๆบ้านปัจจุบันไม่มีพระเดินบาตรแล้ว แต่ตอนที่เราตักข้าวสิคะ มีแม่ค้าเขาก็ใส่บาตรด้วย แต่ว่าต่างกับเราตรงที่เขาซื้อข้าวเป็นถุงแล้วฉีกถุงเทลงในบาตรค่ะ เห็นแล้วก็รู้สึกว่าสมัยนี้เขาเป็นเช่นนี้เองหรือ จะแก้ยางแล้วค่อยๆใส่จะดีกว่าไหม คิดแล้วได้แต่ปลงๆค่ะ -_-"

สวัสดีค่ะ

ดีใจที่มีคนหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาค่ะ

พระสงฆ์ท่านเลือกอาหารไม่ได้ ต้องฉันตามที่ญาติโยมใส่บาตร หากอยากให้ได้บุญเต็มตามวัตถุประสงค์ ควรจะต้องเลือกสรร สิ่งที่ประณีต มีประโยชน์ มากกว่าทำบุญตามที่เราชอบหรือเราคิดว่าดีค่ะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะคุณณัฐรดา

จะน้อมนำไปปฏิบัติในการจัดอาหารถวายพระนะคะ ขอบคุณค่ะ

คุณณัฐรดาคะ

ขออนุญาตเรียนถามนะคะ

มีอาจารย์และคุณแม่ชีแนะนำว่าควรตั้งใจมั่นหาโอกาสไปตักบาตรพระอรหันต์

ขอความกรุณาคุณณัฐรดาชี้แนะค่ะ เพราะในห้วงเวลาวันที่ท่านชี้แนะ

บางทีเราก็ติดภารกิจที่ยังปลีกเวลาไม่ได้และหลังจากนั้นท่านก็ติดกิจนิมนต์ต่างจังหวัด

ในส่วนตน ตั้งใจมั่นอยู่แต่ก็รอโอกาสเหมาะสมด้วย จึงคิดว่าจะหาโอกาสในช่วงเวลาอื่น

คุณณัฐรดามีเห็นว่าเช่นไรโปรดชี้แนะด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

เขาว่าพระวัดป่าไม่ค่อยเป็นโรคพวกนี้นะคะ ไม่รู้จริงเท็จแค่ไหน

อาจจะเป็นไปได้ว่า พระวัดป่าได้ฉันอาหารที่มีคุณภาพดีกว่าพระวัดบ้าน (หรือเปล่า?)

ขอบพระคุณสำหรับความรู้ ข้อคิดก่อนตักบาตรค่ะ....ดาวเคยคิดว่าอยากใส่พิซซ่า แต่ยังไม่เคยได้ใส่ซักที

สวัสดีค่ะ...คุณ P ณัฐรดา

ขอบคุณมากค่ะที่นำข้อคิดนี้มาให้ได้คิดคำนึงค่ะ

เคยใส่บาตรพระด้วยอาหารหวานคาวนะคะ พระคุณเจ้าถามว่าไม่ถวายปัจจัยด้วยหรือโยม

  • ปกติที่บ้านจะรับประทานข้าวกล้อง  และหุงข้าวกล้องตักบาตร
    อยู่แล้วค่ะ
  • อาหารที่ถวายพระจะพยายามคำนึงถึงประโยชน์และคุณค่า  เน้นพืชผักผลไม้
    อาหารธรรมชาติ   อาหารมังสวิรัติเพื่อความบริสุทธิ์
  • อนุโมทนาค่ะ

อาหารเวียนเทียนก็มีมากนะคะ  อิอิ

บาปไหมเนี่ย

 

สวัสดีค่ะ ตามมาใส่บาตรค่ะ ..ขอเชิญมากอดกันในบันทึกอ้อมกอดของครูบันเทิงน่ะค่ะ ..

กว่าจะพยายามใส่บาตรได้ทุกวันเหมือนทุกวันนี้ ต้องตั้งใจมากเลย

ใส่ข้าวกล้อง เพราะทานข้าวกล้อง

ใส่อาหารที่ ตนเองชอบทาน หรือ คิดว่าพระท่านน่าจะได้ทานอาหารนี้บ้าง หรือคิดว่าพ่อชอบทาน(หวังให้พระสื่อสารถึงพ่อ)

ขอบคุณ ข้อคิดดีๆ ที่ให้เป็นธรรมทาน

สวัสดีค่ะ คุณณัฐรดา

ที่จริง พระคุณเจ้าท่านเลือกไม่ได้หรอกนะคะ ใครถวายอะไรก็ต้องรับตามนั้น

แต่เรา ผู้ถวาย เลือกได้ค่ะ ว่าจะเลือกรักษาสุขภาพให้พระคุณเจ้าด้วยหรือไม่

  • ด้วยคนเมืองที่หาโอกาสเข้าวัดเข้าวาได้น้อยเต็มที การซื้ออาหารใส่บาตรตามตลาดสด และก็คงมีอาหารให้เลือกไม่มากนัก เมื่อถวายอาหารเสร็จ ก็รีบเร่งไปทำงานต่อ
  • เฮ้ออ .. สะท้อนใจ ไปถึงพระคุณเจ้านะค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ ค่ะ ^^
  • นอนหลับฝันดีนะค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ .•:*´¨`*:•.☆..ตะวันอ้อมข้าว..☆.•.*´¨`*:•.

กิริยาขณะให้ก็นับว่าสำคัญนะคะ

ขอบคุณค่ะที่แวะมา

.

สวัสดีค่ะคุณคนไม่มีราก

ที่จริง ตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้วค่ะ แต่รีรออยู่ พอได้ข่าวมาเลยได้ฤกษ์เสียทีค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ Supalak

เปลี่ยนนามปากกาใหม่แล้วนะคะ

ขอตอบความเห็นที่ 6 ไว้ในบันทึกถัดไปนะคะ เพราะยาวมากค่ะ

ขอบคุณจังค่ะที่เอ่ยถึงเรื่องนี้ขึ้นมาค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ BlueStar

เอ ไม่ทราบนะคะข้อนี้

ขอบคุณค่ะที่แวะมา

สวัสดีค่ะคุณธรรมทิพย์

ลูกชายไม่ชอบทานผัก มีอยู่ช่วงหนึ่งมีเส้นสีคล้ำ 2-3 เส้น คล้ายๆปื้นขี้ไคลที่ขัดไม่ออกบริเวณหลังคอ อ่านพบในหนังสือว่าเป็นอาการบ่งชี้ว่าอาจเป็นโรคเบาหวาน เลยให้ทานข้างกล้องแทนข้าวขาว

ตอนนี้หายแล้วค่ะ

อนุโมทนาด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะ

  • เวลาคุณยายกับน้องกานต์ ไปทำบุญหรือใส่บาตร
  • เราจะคิดว่า การทำบุญครั้งนี้ เพื่อนำผลบุญไปรอไว้ในปรภพ
  • ทำบุญมากๆก็ไปอยู่อย่างสุขสบาย
  • จึงมักจะใส่บาตร อาหารที่ตนชอบ
  • บางครั้งลืม นำน้ำไปวัดยังเสียใจกลัวชาติหน้าจะอดน้ำ
  • ครั้งหลังต้องพาไป 2 เท่า ต้องใส่ปัจจัยไปด้วยจะได้นำไปจับจ่ายได้
  •  เดี๋ยวจะยากจน ไม่มีเงินทอง
  • คิดแต่ตนเองยังมีกิเลสมากมาย..
  • อ่านแล้วอายจัง ลืมคิดถึงผู้รับ
  • ครั้งต่อไปจะเตือนตน ก่อนตักบาตรค่ะ
  • ขอบคุณที่สุด

 

                         ธรรมะธรรมโม - Hi5 กราฟฟิคสำหรับคอมเมนต์ 

ขอบคุณคุณกานต์นะคะที่แวะมาค่ะ

ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการใส่ปัจจัยในบาตรค่ะ

แวะมาเยี่ยมและรับธรรมะดีๆค่ะ

เห็นด้วยอย่างมากเลยครับ อาหารหลายๆอย่างที่วางขายมีแต่ของมันๆ ยังไงทำเองได้ยิ่งกุศลแรงเลยครับ

ยังไงมีเวลามาแวะเยี่ยม blog ผมที่ http://www.oknation.net/blog/captant

สวัสดีครับ

ช่วงที่ผมบวชอยู่ ผมไม่เลือกฉันอาหาร ฉันทุกอย่างที่ชาวบ้านใส่บาตร แต่ฉันอย่างละนิด อย่างละหน่อย เพื่อตอบสนองศรัทธาของผู้ถวาย แล้วออกกำลังกาย ด้วยการออกมากวาดลานวัด เก็บขยะ วัดสะอาด บรรยายน่าอยู่

พระภิกษุ สงฆ์ สามารถสร้างสติ สมาธิ ด้วยการเจริญภาวนาแบบนี้ได้ด้วยพร้อมกัน

พระสงฆ์นอกจากเรียนบาลีแล้ว การเรียนรู้เรื่องสุขภาพ น่าจะมีการสอดแทรกเข้าไปบ้างก็น่าจะดี

เห็นด้วยที่พระสงฆ์อ้วนกันมาก เป็นโอกาสหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับงานสาธารณะสุขที่จะเข้าไปดูแล แนะนำ

วัดใหญ่ หากมีการบริหารจัดการที่ดี อาหารเหลือ สามารถนำไปแบ่งตามสถานที่ต่างๆที่ขาดแคลน

ขอบคุณครับ ที่นำเสนอเรื่องเหล่านี้ เพื่อการต่อยอดของผู้เกี่ยวข้อง(หากสนใจต่อไป) ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท