ฉาย : เทคโนโลยีและวิถีความรู้ชาวนา


                           

 

 

 ฉาย  เป็นเครื่องมือสำหรับการนวดข้าวของชาวนา  ทำจากไม้ไผ่ที่จะต้องเลือกสรรจำเพาะลำไผ่ที่ไม่มีรูกลวงในปล้อง ขนาดพอมือ สูงประมาณเสมอหน้าผาก และต้องมีกิ่งที่แข็งแรงพอที่จะทำเป็นตะขอ เหลาปล้องและผิวให้กลมนุ่มมือ 

หากลำไผ่คดมากแต่ความยาวและความแข็งแรงใช้ได้ ก็จะตัดตบแต่งแล้วใช้ไม้ดัดทิ้งไว้ก่อน ๒-๓ วัน จากนั้น ก็จะนำมารมไฟให้อ่อนและดัดให้ตรง เมื่อตรงแล้วก็ดัดและตบแต่งส่วนที่เป็นกิ่งให้เป็นตะขอ ลักษณะเหมือนขอสับช้าง แต่ขนาดสั้นและเล็กกว่า จากนั้นก็นำไปตากให้แห้งสนิท

ฉายเป็นอุปกรณ์แยกฟางข้าวออกจากเมล็ดข้าวเปลือกในขั้นตอนการนวดข้าว การนวดข้าวนั้น ชาวนาจะนำเอามัดข้าวมาตั้งกองเรียงกัน ๒ ชั้น เมื่อตั้งมัดข้าวแล้วก็จะใช้มีดสับให้ตอกมัดข้าวขาดแล้วดึงตอกออก ส่วนที่ตั้งอยู่จึงมีแต่รวงข้าวอย่างเดียว จากนั้นก็ใช้ฟางข้าววางปิดไว้ชั้นหนึ่งสำหรับให้ควายเหยียบหรือใช้รถบดลงไปโดยไม่ทำให้เมล็ดข้าวแตกกระเทาะเสียหาย

 การนวดข้าว  เป็นการแยกรวงข้าวออกเป็นเมล็ดข้าวและฟางข้าว ทุกครั้งที่ควายเหยียบหรือรถบดลงไปบนกองรวงข้าวซึ่งมีฟางปิดทับไว้นั้น เมล็ดข้าวซึ่งมีน้ำหนักมากก็จะหล่นไปกองอยู่ด้านล่างของฟางและฟางก็จะลอยอยู่ด้านบน  พอนวดให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวงข้าวและเหลือเป็นฟางอยู่บนผิวหน้าแล้ว ชาวนาก็จะใช้ฉายนี้กรีดแยกเอาฟางออก ทุกครั้งที่กรีดลงไปฟางก็จะติดขึ้นมากับตะขอฉายและเมล็ดข้าวก็จะหล่นกลับลงไปกองรวมกัน ส่วนฟางนั้นก็ใช้ฉายค่อยสางให้ข้าวหลุดให้หมดแล้วตะล่อมให้ไปกองรวมกัน

เมื่อแยกฟางออกมาได้เป็นกองๆแล้ว ชาวนาก็จะใช้ฉายเพียงอันเดียวเช่นกัน แทงด้านตะขอเข้าไปม้วนก้อนฟางข้าว แล้วก็นำไปสุมกองรวมกันเป็นกองฟาง

เมื่อสางแยกฟางออกจากเมล็ดข้าวหมดแล้ว ก็จะกองมัดข้าวลงไปอีก แล้วก็นวดอีกหลายรอบโดยทุกรอบก็ใช้ฉายแยกฟางออกจากข้าว กระทั่งหมดทั้งลอมข้าวก็จะฝัดข้าวเปลือกด้วยสีฝัดข้าว แล้วขนข้าวเปลือกเก็บไว้ในฉางข้าวต่อไป

การใช้ฉายกรีดลงไปบนกองเมล็ดข้าวเพื่อแยกฟางออกจากข้าวนั้น เป็นลีลาที่งดงามที่ต่อเนื่องเหมือนการร่ายรำ อีกทั้งให้เสียงกรีดขอไม้ไผ่กับเมล็ดข้าวที่แสนจะไพเราะ  การกรีดฉายเป็นความชำนาญ หากกรีดไม่เป็นฉายจะครูดลานให้แตกเสียหายและไม่มีเสียงกรีดที่ไพเราะออกมา

ก่อนถึงหน้าเกี่ยวข้าวของทุกๆปี ครอบครัวหนึ่งๆก็มักจะทำฉายให้เป็นฉายประจำตัวที่พอแก่สมาชิกทุกคนในบ้าน ขณะเดียวกัน เมื่อจะไปเอาแรงหรือเดินไปหากันตามบ้านในหน้านวดข้าว ชาวบ้านก็มักเดินเอาฉายพาดไหล่ติดตัวไปด้วย หากกำลังนวดข้าวกัน ก็เดินขึ้นไปสางฟางข้าวช่วยกันพร้อมกับคุยกันไปด้วย

 ฉาย  ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่นั้น  จัดว่ามีความแข็งแรงและทนทานต่อการใช้สางฟางข้าวบนข้าวเปลือกมากกว่าใช้เหล็กทำ เพราะเปลือกข้าวเปลือกและละอองฝุ่นจากข้าวเปลือกนั้นแข็ง ทำให้มีด เคียว ตะขอ อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆที่ทำด้วยเหล็ก ถูกกร่อนจนทื่อและเสียหายหมดสภาพการใช้งานเร็วกว่าอุปกรณ์ที่ทำด้วยไม้และไม้ไผ่.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ภาพ ข้อมูล และบรรยาย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์
ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 347598เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2010 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (31)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • อาจารย์คงสบายดีนะคะ
  • เพิ่งได้รู้จักอุปกรณ์ "ฉาย" ของชาวนาค่ะ
  • ดิฉันไปบรรจุเป็นครูที่บ้านนอก ได้มีโอกาสไปฝึกดำนา เกี่ยวข้าว
  • ส่วนการนวดข้าว  ตั้งใจไปช่วยแต่ไม่ได้ช่วยค่ะ  เพราะไปแบบแต่งตัวไปเที่ยว  เจ้าของข้าวจึงไม่ให้เข้าใกล้ กลัวจะแพ้คายของข้าว
  • เพื่อคนหนึ่งกระโดดขึ้นไปนั่งบนกองฟางที่เขานวดข้าวเสร็จใหม่ ๆ ถึงต้องส่งโรงพยาบาลเพราะแพ้คาย  มีผื่นขึ้นเต็มตัวปวดแสบปวดร้อนค่ะ
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

ผมนึกว่าเป็นบันทึกเกี่ยวกับเทคโนโลยี "เครื่องฉายภาพ" ครับ...

แต่เห็นภาพที่อาจารย์วาดแล้วฉาย "วิถีความรู้ชาวนา" ได้ชัดกว่าเป็นไหน ๆ ครับ...

เอาคันหลาวใาร่วมแจมค่ะ..ฉายของพี่อาจารย์..แถวบ้านครูอ้อยเล็กก็จะเรียก คันฉาย ด้วยเช่นกันค่ะ

คันหลาว..เป็นอุปกรณ์จากภูมิปัญญาของชาวนาอีกชิ้นหนึ่งที่ใช้หาบข้าวแทนไม้คาน โดยนำไม้ไผ่ที่มีลำปานกลางไม่อวบอ้วนมากนัก มาเหลาปลายทั้ง 2 ข้างให้แหลม และคว้านเนื้อไม้ตรงกลางลำออกบ้าง เพื่อเมื่อหาบข้าวขึ้นบ่าแล้วลำไม้ไผ่จะได้อ่อนตัวลงบ้าง ทำให้ผู้หาบไม่เจ็บบ่า..เมื่อมัดข้าวเป็นฟ่อนๆไวางไว้เป็นจุดๆในนาข้าวแล้ว ผู้มีหน้าที่หาบ จะใช้คันหลาวทิ่มไปในฟ่อนข้าว แล้วยกขึ้นประทับไว้บนบ่า ยกปลายไม้อีกข้างหนึ่งทิ่มฟ่อนข้าวฟ่อนต่อไป แล้วจึงยกขึ้นตั้งในท่าหาบ การหาบข้าวหรือหาบน้ำนั้นครูอ้อยถูกสอนให้หาบด้วยบ่าข้างเดียว จะได้เดินได้สะดวกกว่าใช้บ่าทั้ง 2 ข้างค่ะ...

ผมจำไม่ได้ว่าผมเคยเห็นอุปกรณ์ที่อาจารย์นำมาเขียนบันทึกอยู่ไหม ...เเต่ผมลองนึกย้อนไปสมัยท้องทุ่งยังมีสีสัน เสียงตีข้าวดังก้องทุ่ง เวลาเเสงจันทร์บางๆ กลางคืน ...ผมจินตนาการไปไกลเลยทีเดียวครับ

อ่านบันทึกเเล้วผมมีเเรงบันดาลใจอย่างหนึ่งว่า น่าจะมีการรวบรวม เครื่องมือเก่าๆที่ใช้ในวิถีของชนบท ที่นับวันเราไม่ค่อยเห็นเเล้ว ไม่มีฝีมือวาดแต่ถ่ายรูปเก็บไว้ พร้อมคำอธิบาย คิดว่าจะเป็นความรู้ที่ทรงคุณค่ามาก...

ขอบคุณมากครับอาจารย์

 

 

ชมครูอ้อยเล็ก...วาดรูปได้น่ารักมากๆครับ

P..ขอบคุณค่ะอาจารย์จตุพร..ได้แรงบันดาลใจต้นแบบจาก

พี่อาจารย์ดร.วิรัตน์P และเพื่อนอาจารย์ กู้เกียรติPนี่แหล่ะค่ะ...เดินตามรอยเท้าพี่และเพื่อน...ชีวีเป็นสุขเน๊าะ...อย่างน้อยก็ไม่โดดเดี่ยวในโลกของวิชาการล่ะค่ะ...

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

อาจารย์วาดคันฉาย(กะฉาย)ได้สวยดี การกรีดข้าวตกแรก(ข้าวฟ่อนชุดแรกที่นำมานวด)ต้องระวังปลายขอจะกรีดหน้าลานดินแตก เมล็ดข้าวก็จะมีดินและขี้ควายยาลานปนเยอะ ถ้านวดหลายตกข้าวเปลือกหนามากๆก็กรีดสบาย ขั้นตอนที่เหนื่อยมากอยู่ที่การรุข้าวคือเอาฟางออกจากเมล็ดข้าวที่นวดแล้วนั่นเอง

 

กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล...

คำว่ารุข้าว...นี้ใช้ศัพท์เหมือนกัน..แต่ความหมายเหมือนกันไหมคะ..แถวบ้านครูอ้อยเล็ก..การรุข้าวก็คือ..การสงฟางออกจากลานนวดข้าว..สงเอาฟางออกไปเรื่อยๆ(ดังภาพพี่อาจารย์วิรัตน์)จนกว่าข้าวจะหลุดออกจากรวงหมด ใช่ไหมคะ...

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

คุณครูอ้อยเล็ก

รุข้าวคือขั้นตอนที่ใช้ควายเหยียบฟ่อนข้าวจนเมล็ดข้าวล่วงออกจากฟ่อนข้าวเกือบหมด แต่ยังมีเมล็ดเหลือติดอยู่บ้าง เราก็เอาควายออกแล้วคนก็มารุข้าวด้วยการเอาฟางออกจากเมล็ดข้าวที่นวดแล้วคือใช้คันฉายเขย่าฟางข้าวให้ร่วงลงลาน ส่วนเมล็ดที่ยังติดอยู่กับรวงข้าวก็ใช้ด้ามคันฉายที่ปักดินในภาพวาดของอาจารย์วิรัตน์นั้น ฟาด,ทุบ,ตี หลังจากนั้นก็ใช้ควายขึ้นมาเหยียบ-นวดอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ก็เลยไม่ทราบว่าความหมายรุข้าวตรงกันกับแถวบ้านคุณครูอ้อยเล็กไหม

ในภาพวาดอาตมาเข้าใจว่าการสางฟาง(คือนำฟางออกได้เลย)

  สวัสดีครับคุณครูคิมครับ   ผมสบายดีครับ ขอบพระคุณมากเลยครับ เพิ่งไปประชุมต่างจังหวัดมา ๓ วันครับ ไปที่โน่นแน่ะ ชายแดนไทย-เขมรด้านคลองลึก อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ขอเอารูปมาฝากรูปหนึ่งนะครับ น่ารักดีครับ

                           

สาวน้อยเธอนั่งเล่นอยู่กลางลานคอนกรีด พ่อแม่ขายของอยู่บนรถเข็นด้านหลังของเธอ บางจังหวะก็กระโดดหยอยๆวิ่งไปเกาะคนโน้นที-คนนี้ที ดูน่ารื่นรมย์และช่างไว้วางใจโลกกว้างดีจริงๆ

การคันและคายจากฝุ่นข้าวนั้น อย่าว่าแต่คนที่ไม่เคยทำนา พอไปสัมผัสเข้าก็อาจจะถึงกับผื่นขึ้นและคันคายรุนแรงเลยครับ คนเคยทำนาที่นานๆครั้งไปเจอก็อาจรู้สึกคัน-คายได้ครับ แต่พวกเด็กๆและชาวบ้านนั้นเจอเป็นวิ่งใส่ครับ นอนเล่นอย่างกับเป็นเบาะนุ่มนิ่มเลยทีเดียว

 สวัสดีครับท่านดิเรก  การวาดรูปและแสดงผลวิเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นรูปวาดนั้น ในงานวิจัยแล้วสามารถพัฒนาเป็นเครื่องมือการวิจัยได้อีกหลายลักษณะครับ ในงานวิจัยชุมชนเราก็มักจะคุ้นเคยกับการวาดรูปเพียงใช้วาดแผนที่ชุมชน เพราะหากวาดซับซ้อนมากกว่านั้นก็มักจะวาดไม่ได้ การวาดรูปได้จึงทำให้มีทางเลือกทำงานข้อมูลในขั้นตอนต่างๆได้หลากหลายมากขึ้นน่ะครับ

  สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก   แถวบ้านก็เรียกฉายและคันฉายเหมือนกันครับ คันหลาวก็เหมือนกับที่น้องคุณครูอ้อยเล็กวาดนี้เลย เวลาหาบนี่ ก่อนให้หาบมัดฟ่อนข้าว พ่อแม่และผู้ใหญ่ก็มักจะให้เด็กๆหัดหาบน้ำจนสามารถหาบด้วยไหล่ข้างเดียวและโยนจังหวะเป็น แต่บางทีก็เริ่มหัดมัดฟ่อนข้าวข้างละ ๑ มัด ผู้ใหญ่ที่ชำนาญจะหาบได้ข้างละ ๒ มัด ผมนั้นหาบได้เพียงข้างละมัดเหมือนกันครับ

 สวัสดีครับคุณจตุพร  แถวภาคเหนือและภาคใต้นั้นคงจะไม่มีหรอกครับ เพราะภาคเหนือกับภาคใต้จะใช้การตีคนละมัดข้าวและยืนล้อมวงตีกันบนเสื่อลำแพน พอเมล็ดข้าวหลุดหมดก็โยนมัดฟางข้าวออก เสร็จแล้วก็ตบและกระพือลมด้วยพัดขนาดใหญ่ให้เศษฟางและเมล็ดข้าวลีบแยกออกจากกัน พอเสร็จก็ขนเมล็ดข้าวเปลือกไปเก็บเลย ผมเคยไปเห็นชาวบ้านของประเทศลาวที่นอกตัวเมืองหลวงพระบาง ก็ทำลักษณะเดียวกันครับ วิธีอย่างนี้จะไม่ต้องใช้คันฉายครับ

เห็นดีด้วยกับแนวคิดของคุณจตุพรนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูปและใช้ทักษะการถ่ายรูปช่วย แล้วก็เก็บรวบรวมข้อมูล สร้างความรู้และเรื่องราวควบคู่ไปกับเสริมศักยภาพชาวบ้านให้นำเอาสิ่งต่างๆที่เป็นวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของตน ออกมาจัดการความรู้จากความทรงจำ คำบอกเล่า และเรื่องราวที่สืบสานกันไว้ในรูปการบอกเล่าปากต่อปาก นิทาน ตำนาน เหล่านี้ ก็คงจะทำให้ชุมชนและหมู่บ้านอีกมากมายในประเทศ ได้เห็นตัวตนและความดำรงอยู่ของภูมิปัญญาที่กลมกลืนอยู่กับชีวิต ได้มากขึ้นนะครับ ซึ่งคงจะทำให้การวิเคราะห์และวางแผนเรื่องราวต่างๆในชุมชนพัฒนาให้เข้มข้นได้มากยิ่งๆขึ้นนะครับ

  • ต้องกราบขอบพระคุณพระอาจารย์มหาแลครับ ผมเลยกลับเข้าไปเพิ่มรายละเอียดบันทึกไว้แล้วครับ เลยขอหมายเหตุไปด้วยเลยครับที่พระคุณเจ้าทำให้นึกได้ว่าการกรีดฉายนั้นดูเหมือนง่าย แต่หากลองทำแล้วจะไม่ง่ายเพราะอาจจะทำให้ลานแตก ซึ่งการจิกฉายและครูดทำให้ลานแตกนั้น ถือว่าทำให้เสียหายไปอีกหลายขั้นตอน
  • แล้วก็ขอขอบพระคุณพระอาจารย์มหาแลและขอบคุณน้องคุณครูอ้อยเล็กไปด้วยเลยที่ทำให้นึกขึ้นได้อีก รุข้าว กับการ สงฟาง นั้นพูดรวมๆก็พอจะสื่อกันได้ว่าเป็นการทำอย่างเดียวกันได้เหมือนกัน แต่พอได้ทำกับมือแล้วก็จะประมาณจากอาการได้ว่าแท้จริงแล้วต่างกัน
  • การุข้าว จะเป็นวิธีกรีดฟางขึ้นมาจากการจมอยู่ในกองเมล็ดข้าว ในขั้นตอนการทำก็จะคล้ายอย่างที่ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านว่าแหละครับ คือ..หลังจากควายเหยียบหรือใช้รถบดแล้ว รอบแรกเราก็จะต้องใช้คันฉายรุฟางข้าว เหมือนกับพลิกให้ฟางส่วนใหญ่ขึ้นมากองอยู่บนเมล็ดข้าวเปลือกก่อน
  • ส่วนการสงข้าวนั้น จะเป็นการสงฟางซึ่งอยู่ด้านบนกองเมล็ดข้าวแต่อาจจะมีเมล็ดข้าวปะปนอยู่ เมื่อสงฟางเขย่าๆแล้วเมล็ดข้าวก็จะร่วงลงไปครับ 
  • เรียนท่านอ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    ครูต้อยเพิ่งได้ยิน และรู้จักฉายวันนี้เองค่ะ

    กองฟางนั้นเคยเห็น

    พูดแล้วอายจังเลย

    เกิดเป็นคนไทย กินข้าวไทยทุกวัน แต่ไม่รู้ประสาวิถีชาวนาไทย

    ขอเรียนรู้นะคะ เพราะว่าอีกไม่นานครูต้อยจะไปใช้ชีวิตแบบชาวสวนชาวไร่

    แล้วจะลองปลูกข้าวกินเองสักแปลง

    ไม่รู้เหมือนกันว่าจะขึ้นไหม

    แต่ตั้งใจว่าฝนนี้จะทดลองปลูกในกระถางค่ะ

    และจะพยายามเรียนรู้จากภูมิปัญญาใกล้บ้านใหม่

    ขอบพระคุณค่ะ

    ปล.อาจารย์วาดรูปลายเส้นสวยมากค่ะ..ขอบอก

     สวัสดีครับคุณครูต้อยติ่งครับ  ดีใจครับที่ทำให้คุณครูต้อยติ่งและคนไทยรำลึกขึ้นมาได้ เป็นแง่มุมที่เห็นกระบวนการเรียนรู้และผลงานทางปัญญา-การคิดค้นอย่างเป็นระบบ มีความลึกซึ้ง และเป็นปรีชาญาณในการเข้าถึงความเป็นหนึ่งกับความเป็นธรรมชาติมากเลยครับ มีผู้ช่วยนักวิจัยของทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถามผมว่าทำไมชาวนาไม่ทำตะขอและคันฉายด้วยเหล็ก

    หากเป็นท่านพระอาจารย์มหาแลและคุณครูอ้อยเล็กก็จะตอบได้ทันทีเหมือนผมเลยว่า สำหรับการทำงานกับฟางและเมล็ดข้าวเปลือกแล้ว ไม้จะเหมาะสมกว่าเหล็ก ใครขืนเอามีดและเครื่องมือโลหะไปรานกับเมล็ดข้าวหรือฟางแล้วละก็เป็นโดนผู้ใหญ่เอ็ดเอาเลยว่าประเดี๋ยวมันจะทื่อและแหว่งเสียหายไปหมด ส่วนไม้ไผ่นั้น นอกจากจะทนกว่าแล้วก็จะมีน้ำหนักเบา ใช้ทำงานได้นานทั้งวัน...เป็นการยืมพลังและวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ฉลาดมากเลยนะครับ

    ขอบคุณค่ะพี่อาจารย์Pที่ให้ความกระจ่างในการถ่ายทอดคำพูดที่จะถ่ายทอดให้คนรับสารเข้าใจได้ตรงกันค่ะ...

    สวัสดีครับ อาจารย์ วิรัตน์

    "เพราะเปลือกข้าวเปลือกและละอองฝุ่นจากข้าวเปลือกนั้นแข็ง ทำให้มีด เคียว ตะขอ อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆที่ทำด้วยเหล็ก ถูกกร่อนจนทื่อและเสียหายหมดสภาพการใช้งานเร็วกว่าอุปกรณ์ที่ทำด้วยไม้และไม้ไผ่."

    เห็นด้วยครับอาจารย์ ขนาดเหล็กกล้า เจอตาไม้ไผ่ ยังบิ่นเลยครับ

    ด้วยความยินดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก

     สวัสดีครับท่านวอญ่า-ผู้เฒ่า  แต่จริงอย่างที่วอญ่าว่า คนที่ทราบก็คงไม่ใช้มีดฟันตาไม้ไผ่และข้อไม้ไผ่โดยตรง เพราะมันจะสะท้านมือและเข้าได้นิดเดียว แต่มีดจะบิ่นเอาง่ายๆ โดยปรกติแล้วจึงจะฟันตามปล้อง และหากจะตบแต่งหรือฟันตรงข้อไม้ไผ่โดยเฉพาะข้อที่มีตา ก็จะไปนั่งค่อยๆตบแต่งเอาทีหลัง ดีครับ..เป็นความรู้ดีครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    คุณครูอ้อยเล็กพูดถึงการหาบข้าวฟ่อนสองบ่าแล้วอดขำไม่ได้ คนที่หาบข้าวฟ่อนหรือหาบน้ำสองบ่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ เพราะเป็นการฝึกหาบครั้งแรกๆนั่นเอง เด็กตัวเล็กการหาบด้วยบ่าข้างเดียวเดินไม่ไหวแน่ เพราะข้าวฟ่อนมีขนาดใหญ่น้ำหนักมากน้ำหนักขนาดนั้นก็จะกดทับบ่าจนบ่าแอ่น

    บางครั้งเด็กทดลองทดสอบหาบน้ำหรือข้าวฟ่อนด้วยบ่าข้างเดียว พอทำท่าพยุงตัวยืนตรงได้ แต่ด้วยน้ำหนักที่มากก็จะยืนทรงตัวได้นิดเดียว แค่ยืนอยู่กับที่ก็ขาสั่นแล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่าจะก้าวขาออกเดิน หมดสิทธิ์

    หรือถ้าเดินไปได้ก็จะมีสภาพแบบนี้ เวลาเดินขากางแขนกางจับไม้คันหลาวแน่น ตัวก็จะแถไปข้างหน้าหัวคะมำทิ่มตำซุกซุนแถลแถเถือกดูไม่จืดเลย

    ก่อนจะใช้หลาวแทงมัดฟ่อนข้าวทั้งสองข้างแล้วก็หาบด้วยไหล่ข้างเดียวนั้น ต้องฝึกและเรียนรู้ความเป็นหนึ่งเดียวกันกับหลาว ตนเอง และฟ่อนข้าว มากทีเดียวนะครับ  เพราะหลาวไม่มีปุ่มที่ปลายทั้ง ๒ ข้างเหมือนไม้คาน ทว่า กลับเป็นปลายแหลมแทน ทำให้มัดฟ่อนข้าวหลุดและหล่นออกจากหลาวได้ง่าย จึงฝึกหัดก็ยากเพราะลองหัดกับมัดฟ่อนข้าวที่ตีเมล็ดออกหมดแล้วก็จะง่ายเพราะมันเบาเหมือนฟาง ไม่ได้น้ำหนักเหมือนจริง แต่ถ้าหากหัดกับมัดฟ่อนข้าวเพื่อได้น้ำหนักเหมือนจริง หากผิดพลาดก็จะทำให้เมล็ดข้าวหล่นร่วง

    การใช้หลาวจึงเป็นทักษะและความรู้จักธรรมชาติขององค์ประกอบต่างๆของชาวนาเป็นอย่างดี หากเคยลองทำแล้วก็จะรู้ว่าที่เห็นชาวนาทำได้อย่างง่ายๆ เดินปักหลาวมัดฟ่อนสวบๆข้างละสองมัดแล้วก็เดินฉิวนั้น มันทำได้ยากจริงๆ ในวิถีการดำเนินชีวิตและการทำมาหากินจึงมีองค์ประกอบด้านกระบวนการเรียนรู้และการฝึกหัดตนเองที่ผสมกลมกลืนไปกับชีวิตอย่างเข้มข้น ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเดียว

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

    สวัสดีพี่อาจารย์P...การใช้หลาวจึงเป็นทักษะและความรู้จักธรรมชาติขององค์ประกอบต่างๆของชาวนาเป็นอย่างดีหากเคยลองทำแล้วก็จะรู้ว่าที่เห็นชาวนาทำได้อย่างง่ายๆ เดินปักหลาวมัดฟ่อนสวบๆข้างละสองมัดแล้วก็เดินฉิวนั้น มันทำได้ยากจริงๆ ในวิถีการดำเนินชีวิตและการทำมาหากินจึงมีองค์ประกอบด้านกระบวนการเรียนรู้และการฝึกหัดตนเองที่ผสมกลมกลืนไปกับชีวิตอย่างเข้มข้น ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเดียว

    สนับสนุนบทสรุปนี้ค่ะพี่อาจารย์..การจะหาบบ่าเดียวได้ถนัดคล่องแคล่วนั้นต้องฝึกหัด เรียกว่าจับไข้กันเลยทีเดียว..แต่เมื่อผ่านด่านนี้ไปแล้ว ผู้หาบก็จะต้องเลือกคันหลาวที่เหมาะกับตนเอง จังหวะการแทงฟ่อนข้าว การเหวี่ยงขึ้นประทับบ่าที่มีพลังหากแต่นุ่มนวลเพื่อไม่ให้ข้าวหลุดจากรวง แล้วพยุงฟ่อนข้าวบนบ่าไว้ไม่ให้หลุด เพื่อไปแทงฟ่อนข้าว ฟ่อนที่ 2 เมื่อแทงครบแล้ว ก็ต้องค่อยๆเลื่อนออกเพื่อให้น้ำหนักทั้ง 2 ข้างสมดุล แล้วผู้หาบจึงออกเดิน การเดินก็ต้องเดินแบบเอวคต เอวอ่อน ซึ่งครูอ้อยเล็กชอบทำซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมจึงชอบทำ..ตอนนั้นรู้แต่วว่าการเดินแบบนั้น มันช่วยให้น้ำหนักบนบ่าไม่หนักมากเหมือนกับการเดินตรงๆทื่อๆ ทั้งหาบน้ำหาบข้าวครูอ้อยเล็กก็จะทำแบบนี้..จนได้ฉายาจากย่าว่า.."นังอ้อยจอมสะดิ้ง หาบน้อยทิงนองนอย"ฮาๆ มานั่งนึกตอนนี้..ก็เออแหะ..เราก็มีสุนทรียในการหาบเหมือนกันนะ...

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    คุณครูอ้อยเล็ก ดูมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้มากทีเดียว ถ้าคนหาบข้าวฟ่อนเหมือนภาพวาดของครูอ้อยเล็กนั้น ดูแล้วตลก ขำๆ ที่ผู้ใหญ่ต้องเอ็นดูเด็กซะมากกว่า ภาพวาดน่ารักดี

    ตอนหัดแทงข้าวฟ่อนใหม่ๆ มีพลาดบ้างคือแทงข้าวฟ่อนขาดเพราะปลายคันหลาวโดนตอกด้านล่าง การแทงข้าวฟ่อนแล้วงัดเหวี่ยงขึ้นบ่าโดยไม่ให้เมล็ดข้าวร่วงนั้นต้องใช้เวลา ที่ผู้เขียนทำมานั้นคือการงัดข้าวฟ่อนขึ้นเกวียนโดยให้คนหนึ่งขับเกวียนไปตามแถวข้าวฟ่อนที่ยาวเป็นร้อยสองร้อยฟ่อน คนอยู่บนเกวียนนั้นทั้งขับเกวียนและรับข้าวฟ่อนเรียงให้เป็นระเบียบโดยที่อีกคนหนึ่งงัดข้าวฟ่อนส่งมาให้จากด้านล่าง เกวียนก็เคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ จนเต็ม แล้วไปลงที่ลานโดยไม่ต้องปลดแอกควาย (ถ้าเป็นรถก็ไม่ต้องดับเครื่องเลย-งัวควายเหนื่อยพอสมควร)ที่ทำอย่างนี้เพราะต้องรีบเข็นข้าวให้ได้หลายเที่ยว เพราะเมื่อแดดร้อนมากๆ ก็ต้องพักเหนื่อยให้งัวควายกินหญ้า

    บางเจ้ามีนามากข้าวฟ่อนเยอะเวลาทำลอมก็เป็นลอมข้าวที่ใหญ่สูงมาก จนการส่งข้าวฟ่อนด้วยคันหลาวสั้นๆที่ใช้หาบนั้นส่งไม่ถึง ต้องมีคันหลาวชนิดยาวและเจาะรูใส่สลักที่ปลายข้างหนึ่งตรงข้อคันหลาวเพื่อไม่ให้ข้าวรูดลงมาเวลาส่งขึ้นด้านบน ตรงนี้เหนื่อยกว่าปกติ เพราะใช้แรงส่งขึ้นลอมที่สูงมากกว่าส่งขึ้นเกวียน

    นมัสการพระอาจารย์มหาแล

          ใช่ค่ะผู้ใหญ่จะล้อเล่นด้วยเอ็นดู โดยเฉพาะเด็กที่เชื่อฟัง ขยัน ไม่เกเร จะได้รับการปกป้องและส่งเสริมทุกอย่างเท่าที่จะทำได้..นั่นคือส่งเสริมในเรื่องขวัญและกำลังใจ สมัยเด็กนั้นขนมนมเนยเแบบในเมืองเป็นของหายาก แต่ครูอ้อยเล็กจะได้รับของฝากแบบนั้นเสมอ ไม่มากนักแต่ก็เป็นกำลังใจให้ครูอ้อยมากโข...ก็เลยเป็นประสบการณ์ตรงตั้งแต่นั้นมาว่า..จะทำอะไรจะอยากได้อะไร..จงทำให้ดีที่สุดเต็มความสามารถเพื่อให้งานนั้นๆลุล่วงไปด้วยดี รางวัลหรือสิ่งต่างๆอันเป็นที่ชื่นใจจะตามมาเองค่ะ..

           สังคมไทยโชคดีที่เรามีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่อบอุ่นเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมในครอบครัว วัฒนธรรมในการทำงานร่วมกัน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เราได้มาจากท้องไร่ท้องนา..ครูอ้อยเล็กอยากบอกเราท่านทั้งหลายว่า...องค์กรชาวนาไทย เป็นองค์กรที่ทันสมัยและดีที่สุดในโลก ลองเอาหลักการทฤษฎีต่างๆทางการบริหารงานในปัจจุบันมาเทียบซิคะ...องค์กรชาวนาไทยไม่เคยตกยุคเลยค่ะ....

    ซึ่งพี่อาจารย์วิรัตน์ได้ใช้เชื่อมโยงในการเขียนกระบวนการทำงานและการบริหารจัดการด้านการใช้ทรัพยากร พลังงาน บุคลากร ของชาวนาไทยไว้เป็นขั้นคือ

    ไดเจ๊กห้า : แหล่งบุกเบิกเกษตรผสมผสานและเศรษฐกิจพอเพียงของหนองบัว

    การนวดข้าวด้วยควายเหยียบของชาวนาหนองบัว

    การลงแขกของชาวบ้านหนองบัว : กระบวนการเรียนรู้ ความเป็นชุมชน และการบริหารจัดการเป็นกลุ่ม

    เป็นการฉายภาพที่แสดงให้ครูอ้อยเล็กเห็นชัดและยืนยันความคิดเห็นของตนเองได้ว่าชาวนาไทยเป็นองค์กรที่ทันสมัยและยั่งยืนที่สุดในโลกไม่แพ้การบริหารจัดการของประเทศอื่นๆเลยค่ะ

      กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ  

    โดยทั่วไปแล้ว ชาวบ้านมักจะทำงานเป็นขั้นๆ หากเป็นในภาคกลางและแถวหนองบัวซึ่งใช้วิธีเกี่ยวข้าวเป็นกำแล้วนำไปวางผึ่งแดดเป็นฟ่อนๆสักวันสองวัน จากนั้น ก็จะค่อยๆรวมฟ่อนข้าวไปมัดรวมเป็นมัดฟ่อนข้าว มัดละประมาณ ๑๐ ฟ่อน แต่ละมัดก็จะวางเรียงกันเป็นแนว เมื่อต้องการขนข้าวไปพักเป็นลอมข้าวไว้ในลานเพื่อรอการนวดข้าวต่อไป ก็จะใช้หลาว หาบมัดข้าวไปกองรวมกันเป็นจุดๆ ตามแหล่งที่เกวียนเข้าถึงได้ใกล้ที่สุด จากนั้น ก็จะเอาเกวียนมาขนข้าวไปลาน เมื่อขนข้าวหมดแล้วก็นวดข้าวและฝัดข้าว ขนข้าวเข้ายุ้งต่อไป

    แต่อ่านพระคุณเจ้าถ่ายทอดไว้แล้วสนุกครับ ไม่ต้องทำอย่างนั้น การขี่เกวียนเดินผ่านแล้วก็มีอีกคนหนึ่งคอยใช้หลาวแทงมัดฟ่อนข้าวงัดเหวี่ยงส่งให้คนที่อยู่บนเกวียนเรียงไปเรื่อยๆ พอเต็มก็ขี่เกวียนไปลานแล้วจัดมัดข้าวขึ้นลอมข้าวเลยนั้น นอกจากต้องวางแผนเป็นอย่างดีมากแล้วก็ต้องมีการทำงานเป็นทีมที่ต่อเนื่องดีมากอย่างยิ่งนะครับ

    เป็นการคิดค้นหาความสนุกและได้ความสร้างสรรค์จากการทำงาน เป็นองค์ประกอบด้านศิลปะ ความรื่นรมย์และสุนทรียภาพที่อยู่ในชีวิตและการงาน ที่ในการดำเนินชีวิตและการทำงานหนักสาขาต่างๆ ก็อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งที่สามารถพัฒนาตนเองให้เข้าถึงภาวะความเป็นศิลปะของการทำงานและการดำเนินชีวิตดังกล่าวนี้ได้

    หลายครั้งเราจึงสามารถเห็นคนที่เป็นปราชญ์และมีพลังปรีชาญาณที่ฉายโชนความสร้างสรรค์ มีกำลังทางปัญญามาก ที่เป็นชาวนา เช่นเดียวกับในสาขาอื่นๆ เพราะคนอย่างนี้มีชีวิตเป็นการเรียนรู้ ฝึกอบรมตน และหาความลุ่มลึกแยบคายจากทุกประสบการณ์ชีวิตได้อยู่เสมอ เป็นมรรควิถีของการเป็นผู้ใช้ปัญญาและถือเอาการศึกษาเรียนรู้เป็นเครื่องชี้นำการดำเนินชีวิตหรือเปล่านะครับ ในวงวิชาการผมก็เห็นมีคำว่า State of the Art  เพื่อเรียกการเข้าถึงภาวะที่มีฝีมือและความเป็นศิลปะเหนือความเป็นศาสตร์สาขานั้นๆ

    สวัสดีครับอาจารย์ เห็นภาพแล้วนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่เคยสัมผัสเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว ตะเกียงเจ้าพายุ คันฉาย(บ้านผมเรียก) ลอมฟาง....อยากเห็นเลื่อนที่ทำด้วยไม้ใผ่(ไม่ใช่ล้อนะครับ)ใช้ควายลาก บรรทุกฟ่อนข้าวได้ทีละห้า-หกฟ่อน.....ขอบพระคุณครับ

      สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก

    • อ่านการสะท้อนความประทับใจของน้องคุณครูอ้อยเล็กแล้วก็รู้สึกว่าเห็นความเป็นชาตินิยม-ชาวนานิยม ขึ้นมาเลยเชียวนะครับ
    • มุมมองอย่างน้องคุณครูอ้อยเล็กนี่เป็นมุมมองการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีกแบบหนึ่งนะครับ เมื่อก่อนนี้กระแสการพัฒนาก็มักเน้นความทันสมัยและความก้าวหน้าทางสังคมซึ่งก็มักมองว่าการทำนาในวิถีชาวบ้านแบบเมื่อก่อนนี้เป็นการผลิตที่ไม่ก้าวหน้า แต่เดี๋ยวนี้แนวคิดอย่างที่มองว่าแท้จริงแล้วการผลิตแบบที่ช่าวบ้านเมื่อก่อนทำนั้น เป็นวิธีการที่ยั่งยืนกว่า ก็เริ่มเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คนเริ่มนำมาพัฒนาและใช้ปฏิบัติในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆทั้งในประเทศไทยและหลายแห่งของโลก
    • อีกแง่หนึ่งก็เป็นการนำมามองอีกอยู่เรื่อยๆในด้านที่เป็นศักยภาพและทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง เพื่อเข้าใจว่าการที่การทำนา-ทำเกษตรกรรมของสังคมหนึ่งคือสังคมไทยที่มีพัฒนาการและเหมือนกับอยู่ในดีเอ็นเอของพลเมืองในสังคมนั้น มันต้องมีตัวปัญญาและความเฉพาะตนอะไรสักอย่างที่นอกเหนือจากปัจจัยแวดล้อมและความอุดมสมบูรณ์ของถิ่นฐาน
    • ตัววิธีคิดและความรู้ที่อยู่ในการปฏิบัติและในวิถีชีวิต ก็อาจจะเป็นคำตอบหนึ่งนะครับ เลยลองนำเอาวิถีชีวิตแบบที่เราคุ้นเคยมานั่งทบทวนหรือถอดบทเรียนดูครับ ซึ่งก็ทำให้เห็นแง่มุมดีๆและมีความงดงามอยู่ด้วยหลายอย่าง

      สวัสดีครับคุณหนุ่ม กร    หากเป็นคนอยู่หนองบัว  คนที่รู้จักเลื่อนนี่ก็จะเป็นไทยหนองบัวหรือคนที่อยู่ในชุมชนที่เป็นตัวเมืองหนองบัว เพราะบริเวณบ้านหนองบัวจะเป็นดินทราย ชาวบ้านก็จะใช้ล้อและเลื่อนครับ หน้าน้ำซึ่งมีน้ำเซาะทรายไหลท่วมไปตามทางเกวียนและดินก็เป็นทรายด้วย ชาวบ้านก็จะใช้ล้อหรือเกวียนเป็นพาหนะบรรทุกของ

    ส่วนหน้าแล้ง ตามทางเกวียนและถนนหนทางจะมีแต่ทรายกับฝุ่นหนาเป็นปึก  หากใช้เกวียนล้อเกวียนก็จะจม วัวควายลากไม่ไหว ต้องใช้ในโอกาสพิเศษจริงๆ โดยทั่วไปก็จะใช้เลื่อน ผมเคยเห็นเลื่อนอย่างคุ้นตาแต่ไม่เคยใช้ครับ เกวียนนี่ขี่และบังคับเป็นแต่ไม่ชำนาญ ขี่ไปทางตรงเรื่อยๆได้และจอดชั่วครู่ได้ครับ แต่ขี่ไปจอดในที่แคบๆตามลานหรือเลาะเลี้ยวตามซอกซอยไม่ได้ครับ ขับยากกว่ารถครับ แต่มีระบบที่วัวควายก็ทำหน้าที่เหมือนมีเครื่องอัลตร้าซาวด์หรือคลื่นเรดาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ของรถได้เหมือนกันนะครับ คอยหลบหลีกสิ่งของและเดินเลี้ยวไปตามทางเอง แม่นยำไม่น้อยไปกว่าะบบอัตโนมัติเหมือนกันนะครับจะว่าไป

    ฉาย คันฉาย ดองฉาย แปลว่า ตะขอด้าม และมีรากศัพท์มาจากภาษาเขมร

    เมื่อเช้านี้ได้ฟังรายการวิทยุรายการภาคเช้าของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ในช่วงเรียนรู้รักษ์ภาษาไทย ของราชบัณฑิตยสถานและสถานีวิทยาแห่งประเทศไทย ซึ่งหัวข้อวันนี้เป็นเรื่อง คันฉาย จึงได้ข้อมูลมาเพิ่มเติมไว้ แต่เนื่องจากได้ฟังในขณะทำงานอยู่เลยไม่สะดวกที่จะจด เลยอาจจะจำความมาได้ไม่ทั้งหมด แต่ก็พอจะทำให้ได้ความลึกและความรอบด้านน่าสนุกดีมากยิ่งๆขึ้นมาต่อเติมองค์ความรู้ในเรื่องเดียวกันนี้ของเวทีคนหนองบัว

    ฉาย มีชื่อเรียกได้หลายชื่อ คือ คันฉาย ดองฉาย  เป็นตะขอไม้ส่งฟางออกจากลานข้าว นับแต่กรีดฉายบนกองข้าวที่กำลังนวด สงฟางให้เมล็ดข้าวตกลงไปรวมกันและทำให้ฟางแยกออกจากข้าว เรื่อยไปจนถึงรวมฟางเป็นก้อนแล้วส่งออกลานนวดเข้าเข้าไปรวมเป็นลอมฟางดังในภาพ

    ฉาย เป็นศัพท์เขมร แปลว่า ตะขอ ตะขอจับ  จับโหย่ง โหย่งจับ
    คัน และดอง ก็เป็นศัพท์เขมร แปลว่า ด้ามจับ ด้าม

    ดังนั้น โดยความหมายของชื่อเรียกแล้ว คันฉาย จึงเป็นชื่อเรียกที่มีความหมายตรงกับหน้าที่การใช้สอยและสะท้อนลักษณะการใช้งานคือเป็น ตะขอด้าม แต่เป็นภาษาเขมร

    เป็นร่องรอยที่น่าสนใจว่า ลักษณะการทำอยู่ทำกิน การผลิตเครื่องมือใช้สอยใชีวิตประจำวัน และความรู้ที่บันทึกไว้ในประสบการณ์ชุมชน สืบทอดกันไว้ด้วยการพูด บอกเล่า ฟัง และนำไปตรวจสอบเพื่อสร้างความหมายในบริบทของตนเองอีก สามารถเก็บภูมิปัญญาของสังคมไว้ได้อย่างยาวนานไม่ใช่น้อย แต่สิ่งที่น่าสนใจมากต่อไปอีกก็คือ กลุ่มพื้นฐานของชาวบ้านหนองบัวนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นไทยโคราชและคนลาว จากสระบุรี ซึ่งก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เชื่อมโยงมาจากลาว เหตุใดจึงมีร่องรอยของการแลกเปลี่ยนทางสังคมวัฒนธรรมจากเขมรผ่านการเรียก คันฉาย นี้

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท