นาตาแฮก : ขวัญกำลังใจและความสำราญใจสู่ฤดูเก็บเกี่ยว


                      

                                                   เกี่ยวข้าวนาตาแฮก : โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์  
                                                   เนื่องในวันพืชมงคลและพิธีแรกนาขวัญ พฤษภาคม ๒๕๕๓

 นาตาแฮก  : วิถีแห่งการน้อมตนต่อธรรมชาติและสิ่งที่มีคุณต่อการดำเนินชีวิต

นาตาแฮก เป็นสำเนียงลาวซึ่งมีความหมายในภาษาไทยว่านาแปลงแรก(ตาแฮก ในสำเนียงลาวจะออกเสียง  และ  เป็น ) การทำนาในขั้นตอนต่างๆ นับแต่การไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว ตำข้าวและเริ่มกินข้าวใหม่ เหล่านี้ ชาวนาจะมีการปฏิบัติที่เป็นการแสดงความเคารพนอบน้อมต่อข้าว แม่พระโพสพ ที่นา ผืนดิน ฟ้า น้ำ ป่า เขา ธรรมชาติ รวมไปจนถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนแนวการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่อยู่ในคติชาวบ้าน เนื่องในเทศกาลแห่งการผลิตในวิถีชีวิตของการกสิกรรมต่างๆ ที่สำคัญคือ เกี่ยวข้าวนาตาแฮกในหน้าเกี่ยวข้าว กับเมื่อเริ่มต้นดำนาซึ่งก็เรียกว่าดำนาตาแฮก 

ในหน้าไถนานั้นก็อาจมีการไถนาตาแฮกบ้างเช่นกัน แต่ก็อาจทดแทนด้วยการนำเอาเครื่องมือและอุปกรณ์การไถนามาทำพิธีแสดงความเคารพ รวมทั้งเกี่ยวหญ้าและตักน้ำให้วัวควายกินเพื่อเป็นการนอบน้อมต่อวัวควาย ดังนั้น จึงมักพบการเกี่ยวข้าวนาตาแฮกและดำนาตาแฮก ในหน้าเกี่ยวข้าวและดำนา มากกว่าฤดูกาลไถนาหรือนวดข้าว ฝัดข้าว ซึ่งจะมีพิธีอย่างอื่นมาแทน

  พิธีกรรมการดำนาตาแฮกและเกี่ยวข้าวนาตาแฮก 

ในการดำนาตาแฮก ชาวบ้านมักทำเครื่องหมายและสร้างขวัญกำลังใจเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกอย่างง่ายๆโดยนำเอาแขนงไม้ไผ่แห้งมาปักที่มุมนาแปลงที่จะเริ่มต้นปักดำต้นข้าวลงไปเป็นแห่งแรก ปักแขนงไม่ไผ่ดังกล่าวลงไปที่หัวมุม แล้วเด็ดเอาใบข้าวมาม้วนทำเป็นวงกลมเล็กๆร้อยกันเป็นห่วงลูกโซ่เหมือนกับพวงมาลัยใบข้าวสอง-สามพวง ตั้งนโม ๓ จบ กล่าวบูชาพระรัตนตรัย บูชาแม่พระโพสพ แม่พระธรณี แม่พระคงคา เจ้าป่าเจ้าเขา บรรพบุรุษบุพการี และสิ่งศักดื์สิทธิ์ทั้งหลาย จากนั้นก็นำเอาพวงมาลัยใบข้าวดังกล่าวไปแขวนแขนงไม้ไผ่ แล้วเดินกลั้นใจลงไปปักดำต้นกล้าโดยหันหน้าออกจากมุมนาตาแฮกพอเป็นพิธีหนึ่งอึดใจ

การเกี่ยวข้าวนาตาแฮก มักมีการทำเครื่องมือและอุปกรณ์ที่พิถีพิถันมากขึ้น อาจทำงานฝีมือโดยสานไม้ไผ่ให้เป็นเรือนใส่รวงข้าวจากการเกี่ยวข้าวนาตาแฮก หรือใช้ไม้ทำเหมือนศาลพระภูมิ ปักที่หัวมุมผืนนาแปลงใดแปลงหนึ่งแล้วก็เดินกลั้นใจลงไปเกี่ยวข้าวหนึ่งกำมือขึ้นมาแล้ววางไว้ในศาลเพียงตาที่ทำขึ้น

 วิธีคิดและกระบวนการเรียนรู้

การดำนาตาแฮกและการเกี่ยวข้าวนาตาแฮก จัดว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ รวมทั้งแสดงถึงความสุขความรื่นรมย์ใจ ในหน้าดำนาก็เป็นการแสดงความสุขความรื่นรมย์ใจต่อความสมบูรณ์ของดินดำน้ำชุ่ม ในหน้าเกี่ยวข้าวก็มีความสุขความรื่นรมย์ใจที่ได้เห็นผลผลิตจากแรงกายแรงใจของตนงอกงามให้ได้เก็บเกี่ยว

ในแง่ของความเป็นเสรีชนนั้น ก็จัดว่าเป็นการสร้างเสริมกำลังใจเพื่อพึ่งพาการปฏิบัติด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย ตลอดจนความทุ่มเทดั่งเป็นชีวิตจิตใจของตนเอง คิดค้นวิธีเสริมพลังใจเพื่อนำชีวิตตนเองด้วยการปฏิบัติ เป็นนายตนเองและสร้างพลังการปฏิบัติออกมาจากขวัญและกำลังใจตนเอง

ในแง่ที่เป็นการสะท้อนโลกทัศน์และชีวทัศน์นั้น การดำนาตาแฮกและการเกี่ยวข้าวนาตาแฮกนั้นสื่อถึงการจัดความสัมพันธ์ตนเองของมนุษย์กับธรรมชาติ รวมทั้งต่อสิ่งที่สูงส่งและอยู่เหนือกว่าความรู้ความเข้าใจของตนเองด้วยการน้อมตนลงให้กับธรรมชาติและสิ่งที่เป็นความศรัทธาอยู่เบื้องหน้า เป็นประธาน เป็นอันดับแรก มนุษย์อยู่ในฐานะผู้ได้รับการประทาน ต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้สมดุลและเกิดความเหมาะสมตามเงื่อนไขแวดล้อมของธรรมชาติ มีความนัยและแนวคิดเบื้องหลังเหมือนกับพิธีแรกนาขวัญ ที่ได้ทำเป็นพระราชพิธีลงมือทำนาครั้งแรกของพระยาแรกนา เพื่อเป็นกำลังใจและส่งสัญญาณเข้าสู่ฤดูกาลทำนาของสังคมเกษตรกรรม เช่นกัน

ในแง่วิถีประชาสังคม การให้ความนอบน้อมต่อธรรมชาติและความเป็นส่วนรวมที่ใหญ่กว่าตนเองของปัจเจกเป็นอันดับแรกหรือมาก่อนตนเอง รวมทั้งการให้ความเป็นตัวกูของกูอยู่ในอันดับหลังของสิ่งอื่นที่มีคุณต่อตนเองเช่นเดียวกับวิถีปฏิบัติในนาตาแฮกนี้ จะสะท้อนอยู่ในหลักการปฏิบัติต่อผู้อื่นและต่อความเป็นส่วนรวมอยู่เสมอของชาวบ้านไทย เช่น การตักบาตรและทำบุญก็จะทำด้วยข้าว แกง และอาหารคาวหวานที่เป็นทัพพีแรก ผลไม้ที่สุกรุ่นแรก หรือการทำสิ่งของส่วนรวม การทำไม้กระดานเพื่อสร้างสาธารณสมบัติ ก็จะเลือกส่วนที่ดีในอันดับแรกยกให้วัดหรือส่วนรวมก่อนตนเอง นาตาแฮกจึงเป็นส่วนหนึ่งในวิธีคิดที่มาจากจิตสำนึกสาธารณะที่มีอยู่แต่เดิมในวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน

ในแง่การบันทึก วิจัย และบอกกล่าวสื่อสารในชุมชนการผลิตของชาวบ้าน การดำนาตาแฮกและการเกี่ยวข้าวตาแฮก อาจไม่ได้เป็นที่เดิมและแปลงนาแปลงเดิมเสมอไป จึงมีบทบาทต่อการบันทึกให้ชาวบ้านหมายรู้นาตาแฮกในแต่ละปีว่ามีแบบแผนและความถี่อย่างไร ซึ่งทำให้ชาวบ้านมีข้อมูลทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งต่อลักษณะความเป็นที่ลุ่มและที่ดอนของผืนนา และความอุดมสมบูรณ์ของน้ำท่า

นอกจากนี้ การเห็นเครื่องหมายที่เป็นสัญญาณการดำนาตาแฮกและเกี่ยวข้าวนาตาแฮก ก็จะเป็นการสื่อสารและบอกกล่าวถึงกันของชาวบ้านในทางอ้อม ให้รู้ถึงลำดับการทำนาและหากจำเป็นต้องมีการเอาแรงหรือลงแขกช่วยกัน ก็มีเกณฑ์ในการจัดลำดับก่อนหลังโดยดูจากความพร้อมของการลงมือดำนาตาแฮกและการเกี่ยวข้าวนาตาแฮก เป็นหลักอ้างอิงที่รู้กันทั่ว.

........................................................................................................................................................................

  แหล่งข้อมูล   : (๑) แม่บุญมา คำศรีจันทร์ (๒) พ่อใหญ่น้อง เจียมบัวศรี (ถึงแก่กรรมแล้ว) (๓) พ่อใหญ่บุญ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
                             บ้านห้วยถั่วและบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
  เรียบเรียงและวาดภาพ   : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 358852เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2010 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2014 05:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีคะ อาจารย์วิรัตน์

  • เมื่อเช้าเพิ่งได้ชมทีวี การประกอบพิธีทำขวัญข้าว ในหมู่บ้านแห่งนึงจากรายการทุ่งแสงตะวันของพี่นก ป่าใหญ่ครีเอชั่น .. พอเข้ามา gotoknow ก็พบบันทึกใหม่ของอาจารย์เรื่องนี้พอดีเลยคะ ..
  • เคยคิดว่า ประเพณีวัฒนธรรมไทย เป็นกุศโลบายในการทำความดีอย่างมีจิตสำนึกรักษ์อย่างนึงของคนไทยในสมัยก่อน เพื่อการสืบสานประเพณีให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจิตใจที่งดงามของคนไทยในปัจจุบัน ..
  • พอดีอีกเหมือนกันคะว่า เมื่อวันพืชมงคลที่ผ่านมา หลังจากดูการถ่ายทอดสดการประกอบพิธีแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวง ตกเย็นจึงออกไปที่ ต.มหาสวัสดิ์ เพื่อเตรียมงาน ๑๕๐ ปี แห่งการเฉลิมฉลองคลองมหาสวัสดิ์ และเพื่อถ่ายภาพคลองมหาสวัสดิ์ จึงได้พบ นาแรก ของพื้นที่นี้เหมือนกัน แต่ไม่ทันเห็น เฉลว ที่คิดว่าคงต่างจาก ศาลนาตาแฮก ของอาจารย์ แต่คงอยู่มุมใดมุมนึงของผืนนาหล่ะคะ ..

                   

                   

  • จากเคยพูดคุยกับชาวนาท่านนึงที่อ่างทอง (แม่ : สื่อพลังทางจิตวิญญานเพื่อสุขภาวะทางจิตใจ) ซึ่งบอกว่าการทำขวัญข้าวในปัจจุบันหายากเต็มที เสียดายกับกระเพณีอันงดงามแบบนี้ถ้าเกิดว่าหายไปจริงๆ และก็หวังว่าขวัญและกำลังใจของชาวนาทุกท่านคงยังไม่หมดไปนะคะ ..
  • นำภาพ คลองมหาสวัสดิ์ ที่กำลังจะมีการเฉลิมฉลอง ๑๕๐ ปี ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๕๓ นี้มาฝากคะ ..

                   

                    

ขอบคุณมากนะครับกับความรู้ใหม่ๆ

 สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • นอกจากมีประเพณีทำขวัญข้าวที่เป็นเหมือนกุศโลบายสืบสานมรดกทางสังคมวัฒนธรรมจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งแล้ว ข้าวก็เป็นขวัญของคนไทยอย่างแนบแน่นและลึกซึ้งด้วยละครับ
  • ครอบครัวของอาผมครอบครัวหนึ่ง ย้ายถิ่นฐานจากบ้านนอก จังหวัดอุทัยธานีมาอยู่กรุงเทพกับลูกหลานจนกลายเป็นคนกรุงเทพฯไปแล้ว แกปลูกข้าวไว้ในกระถางตั้งเด่นไว้หน้าบ้าน ๒-๓ กระถาง ผมเพิ่งได้ไปเยี่ยมบ้านแกเมื่อต้นปีนี้ พอเดินเข้าไปก็เจอกอข้าวที่ว่านี้ เลยแปลกใจ แรกเลยก็คิดว่าแกคงปลูกไว้เพื่อกระตุ้นความสำนึกรู้ให้แก่ตนเองว่าอย่าลืมพื้นเพและรากเหง้าของตนเอง แต่ดูแล้วก็น่าจะมีมากกว่านั้น เพราะมีการปลูกเหมือนเป็นรุ่นๆไม่ให้ขาดหาย พอถามเอาความแล้วก็เป็นอย่างที่คิดจริงๆ
  • แกบอกว่า ต้นข้าวที่เห็นนี้ เป็นข้าวที่เพาะต่อๆกันมาจากข้าวเปลือกเมล็ดเดียวที่ได้มาจากพิธีแรกนาขวัญที่สนามหลวงเมื่อหลายปีมาแล้ว อาผมบอกว่า วิ่งเข้าไปแย่งกับผู้คนมาได้หลายเมล็ดแล้วก็นำมาแบ่งๆกันไป แกเหลือเมล็ดเดียว เลยเอามาเพาะไว้ พอออกรวงก็กลายเป็นได้อีกหลายเมล็ดก็เพาะต่ออีก ตอนนี้เลยกลายเป็นหลายกอและหลายรุ่น ก็เลยปลูกเอาไว้เป็นสิ่งมงคลในบ้าน
  • นาแรกของอาจารย์ที่ไปถ่ายรูปมาจากบ้านคลองมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และนำมาแบ่งปันกันไว้นี้มีความหมายมากครับ ทั้งคลองและนาแรก ในอีกความหมายหนึ่งของนาแรก
  • คลองมหาสวัสดิ์นี้ เป็นคลองที่ขุดด้วยแรงงานคนเมื่อ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๐๓ โดยรัชกาลที่ ๔ เพื่อเป็นชลมารคสำหรับเสด็จไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ที่มลฑลนครชัยศรีในอดีต ต่อมาก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายคูคลองในพื้นที่ทำเกษตรกรรมที่ดีที่สุดของประเทศ ต่อจากระบบคูคลองของทุ่งรังสิตที่ขุดขึ้นก่อนหน้านั้นเพื่อทำเป็นแหล่งผลิตข้าวของประเทศ ซึ่งเป็นระบบคูคลองเพื่อการจัดการชลประทานที่ดีที่สุดในยุคแรกๆของประเทศ ปีนี้คนพุทธมณฑลเลยจัดกิจกรรมรำลึก ๑๕๐ ปีคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งอาจารย์ณัฐพัชร์คงร่วมทำงานช่วยหน่วยงานของท้องถิ่นและชาวบ้านในพื้นที่หลายอย่าง
  • สองฝั่งคลองของคลองมหาสวัสดิ์นั้นเป็นที่ดินที่รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงแบ่งซอยเป็นหลายแปลงให้แก่พระราชโอรส พระราชธิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าผืนดินแถวบ้านคลองมหาสวัสดิ์ในอำเภอพุทธมณฑลนั้นชื่อเจ้าของในโฉนดที่ดินนั้นคือพระเจ้าแผ่นดิน จนแม้กระทั่งปัจจุบัน บางส่วนก็ยังทรงเป็นของในหลวง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ซึ่งได้ให้ชาวบ้านเช่าทำนาและเป็นที่อยู่อาศัยโดยขายสืบทอดกันเพื่อทำนา ทำกินทำอยู่ได้ แต่ไม่ให้ขายเก็งกำไรและไปทำกิจการอย่างอื่น ชาวบ้านแถวนั้น รวมทั้งองค์กรท้องถิ่น เขาทำนาแถวนั้นอย่างภาคภูมิใจมากครับ เพราะเป็นการทำนาแรกในความหมายของการทำนาบนที่ดินของพระเจ้าแผ่นดิน
  • ที่บ้านคลองมหาสวัสดิ์นี้ มีชาวบ้านที่ทำนาบัวเจ้าเก่าแก่อยู่ แกปลูกบัวฉัตรแดงและสืบทอดกันไว้ทั้งในครอบครัว ญาติพี่น้อง และในหมู่ชาวบ้านท้องถิ่น เมื่อมีเทศกาลและพระราชพิธีสำคัญที่จะต้องใช้ดอกบัว ก็จะนำเอาดอกบัวที่เลือกสรรอย่างดีนี้ไปให้สำนักพระราชวังจัดเป็นดอกไม้ในพระราชพิธีต่างๆ ฟังดูแล้วช่างงดงามครับ เป็นดอกใจที่ปฏิบัติบูชาต่อนาแรกเหมือนกัน

                                    ชุมชนเกษตร ชุมชนเมือง นาข้าว  นาบัว  เฉลว

  • ชาวบ้านแถวพุทธมณฑลทำเฉลวและศาลบูชาแม่พระโพสพสวยงามและมีรายละเอียดหลายอย่างมากกว่าแถวบ้านนอกครับ ผมเคยไปเห็นที่ชุมชนบ้านมะเกลือ อำเภอคอลงโยง จังหวัดนครปฐม ก็เลยนำมาเขียนรูปบันทึกไว้ ชาวบ้านไม่ได้เรียกว่านาแรกและวิธีทำกิจกรรมก็แตกต่างกันไปบ้าง โดยที่วัดของชุมชนนั้น จะมีรูปปั้นและเทวสถานของแม่พระโพสพอยู่ในวัดด้วย
  • เมื่อจะทำขวัญนาและขวัญข้าวก็จะเป็นการไหว้แม่พระโพสพนำสิ่งของไปจัดพิธีกรรมสำคัญนี้ด้วยกันอย่างที่อาจารย์ได้ไปเห็นและนำมาบันทึกถ่ายทอดไว้ใน แม่ : สื่อพลังทางจิตวิญญานเพื่อสุขภาวะทางจิตใจ เมื่อเสร็จแล้วก็นำเอาสิ่งของในพิธีไปวางไว้ในศาลขวัญข้าวและไหว้สาแม่โพสพของชาวบ้านแต่ละเจ้าต่อไปอีกทีหนึ่ง
  • รูปถ่ายได้บรรยากาศชีวิตความเป็นชนบทดีจังเลยนะครับ

                                        ชุมชนเกษตร ชุมชนเมือง นาข้าว  นาบัว  เฉลว

ภาพการไหว้แม่พระโพสพ ชื่อภาพคือ อาภรณ์แห่งท้องทุ่ง โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ เป็นงานที่ทำเป็นชุดและจัดแสดงร่วมกับจิตรกรกลุ่ม ๑๐ จิตกรรมสากลเพาะช่าง ที่ท่านที่สนใจงานศิลปะและแง่มุมการเรียนรู้ทางสังคมผ่านงานศิลปะ ก็สามารถเข้าไปชมได้อีก ๒ แห่ง ที่ในบล๊อก ศิลปะวิถี[Clickhere] ในบล๊อกโอเคเนชั่น และใน ศิลปะและสุนทรียภาพในชีวิตและการงาน [ClickHere] ในบล๊อก GotoKnow

สวัสดีครับคุณราชิต สุพรครับ ด้วยความยินดีอย่างยิ่งครับ ขอบคุณมากครับที่มาเยือนและแวะเข้ามาทักทายกันครับ มีความสุขครับ

สวัสดีตอนเช้าครับอาจารย์

นาตาแฮกจึงเป็นส่วนหนึ่งในวิธีคิดที่มาจากจิตสำนึกสาธารณะที่มีอยู่แต่เดิมในวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน

เก็บบันทึกนี้ของอาจารย์ ไว้ในความทรงจำอีกบันทึกหนึ่ง

การหลงรักตัวตนของใครสักคน บางครั้งเราก็สัมผัสได้จากภาษาที่ถ่ายทอดไว้ นะครับ

เหมือนกับที่ผมรักและศรัทธางานเขียนของใครหลาย ๆ คนในสังคมแห่งนี้

...

ด้วยความรักและเคารพ

 

  สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ 

  • ขอบคุณครับที่มาเยี่ยมยามกันในยามเช้า
  • เหมือนกำลังลงแหหรือขุดลอกบ่อเลยนะครับ เห็นบรรยากาศบ้านทุ่งของชาวชนบทเลยนะครับ
  • คุณแสงแห่งความดีเหมือนกับทดลองการปฏิบัติกับชีวิตจริงและเดินในแนวที่มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตเลยนะครับ
  • มีการแก้ปัญหา ได้การค้นพบ ได้บทเรียนและความแยบคายในชีวิต รวมทั้งได้วัตถุดิบมาบันทึก ทั้งเพื่อการทำหน้าที่รายงาน ถ่ายทอด แบ่งปัน สร้างกำลังความสร้างสรรค์ให้กับส่วนรวม  ส่วนตนเองก็ได้สะสมเป็นข้อมูลระหว่างทางเดิน
  • การมีข้อสังเกต ทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ สร้างความเป็นจริงจากการปฏิบัติด้วยตนเอง เปิดรับความรู้และทบทวนผสมผสานทั้งในโลกกว้างกับประสบการณ์ตรงที่ท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็สามารถเป็นผู้หมั่นสังเกตอย่างใส่ใจลึกซึ้ง แล้วก็ถ่ายรูปเก็บรวบรวมข้อมูลร่วมกับการคิดวิเคราะห์และเขียนบันทึก เหล่านี้ เป็นเครื่องมือและวิธีจัดการความรู้ในตนเอง ที่ทำให้คุณแสงแห่งความดีมีพลังชีวิตมากนะครับ
  • เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาเรียนรู้แต่ติดดินและเป็นชาวบ้านที่ก้าวทันกับความทันสมัยด้วยความรู้ที่พอเพียง กลมกลืน เข้าสู่สังคมสมัยใหม่ก็เป็นปัจเจกที่มีความรู้ เป็นวิชาการ เท่าทันโลกกว้าง เดินลงทุ่งลงมือใช้แรงงานก็ทะมัดทะแมง ไม่แปลกแยกและไม่เคอะเขินกับความลักลั่นในสังคมดีครับ เป็นแนวที่ให้ความเป็นตัวของตัวเองดีที่น่าสั่งสมมากครับ
  • มีความสุขครับผม

พิธีตาแฮกและทำขวน ของชาวหนองคาย

วันนี้ได้เห็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน ชาวบ้านที่ห้วยไคร จังหวัดหนองคาย ได้จัดพิธีตาแฮก เป็นพิธีนาตาแฮกและทำขวนในวิถีชาวบ้าน โดยนำเอาควายเทียมไถแล้วไถนา ส่งสัญญาณถึงฤดูการทำไร่ไถนาและเสริมขวัญกำลังใจ การทำขวนในภาษาท้องถิ่น หมายถึงการทำขวัญ เป็นกิจกรรมในระบบคิดชุดหนึ่งซึ่งเชื่อว่า มนุษย์กับธรรมชาติและสรรพสิ่งเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ธรรมชาติเป็นเหมือนมารดาบิดาผู้ให้กำเนิด ขวัญก็เหมือนกับสายรกที่เชื่อมโยงปัจเจกและสังคมไว้กับแผ่นดิน

วันนี้ศุกร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เป็นวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชทานวโรกาสประกอบพิธีเป็นหัวหน้าผู้นำชาวนาและมวลเกษตรกรลงไถแรกเข้าสู่ฤดูกาลทำนา

เมื่อครั้งทำนาอยู่ที่บ้าน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ ๓๐ ปีก่อน พิธีแรกนาขวัญของทางการและการทำนาตาแฮกของชาวบ้าน จะให้ขวัญกำลังใจแก่ชาวบ้านมาก ได้บรรยากาศความเป็นชีวิตชีวา อยากทำนา พ่อแม่และชาวบ้านจะทำอะไรสักอย่างในวันนี้ เช่น ตื่นแต่เช้าเทียมไถประเดิมไถนาสักรอยสองรอย ไปขุดดินและพรวนดินผลหมากรากไม้ ลงเมล็ดผักพืชพันธุ์ ทำศาลเพียงตาไหว้แม่พระโพสพ ไหว้เจ้าพ่อเขาเขียว ไหว้แผ่นดิน ผีปู่สังกะสาย่าสังกะสี ทำขวัญควาย ตักน้ำหอบหญ้าให้วัวควายและแสดงความเคารพวัวควาย จากนั้น ก็จะทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสทั้งวัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท