การทำนุ่นและเครื่องนอนของชาวบ้านหนองบัว : หัตถกรรมและมรรควิถีพอเพียง


                       

                                                       อธิบายภาพ : ต้นนุ่น การปั่นนุ่น เพื่อทำหมอนและเครื่องนอน 
                                                       วาดภาพ :
วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม   เป็น ๑ ในปัจจัย ๔ สำหรับการดำรงชีวิตของทุกคน ดังนั้น ภูมิปัญญาชาวบ้านในการผลิตและสร้างสรรค์เกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า ตลอดจนเครื่องนอนต่างๆ จึงเป็นเสมือนทักษะและวิชาชีวิตที่ชุมชนต่างๆจะต้องเรียนรู้ และพัฒนาความสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ อีกทั้งจัดว่าเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นตัวของตัวเอง เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคมและชุมชนที่มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับวัตถุดิบและทรัพยากรของท้องถิ่น บ่งชี้การพัฒนาวิธีคิดและความสร้างสรรค์ของชุมชน ตลอดจนแสดงถึงการพัฒนาภูมิปัญญาและความผสมผสานของวิทยาการและเทคโนโลยี ที่เหมาะสมและพอเพียง

ในมิติสังคมวัฒนธรรมและกระบวนการเรียนรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิตนั้น ชุมชนจะให้คุณค่าและความหมายของการทอผ้า ตลอดจนการทำเครื่องนุ่งห่มและเครื่องนอน สำหรับใช้ในโอกาสต่างๆ เหมือนกับเป็นผลรวมของของการพัฒนาชีวิตหลายด้าน สามารถใช้เป็นของฝากและสิ่งแสดงความเคารพในวาระพิเศษต่างๆ เช่น การเป็นของไหว้พ่อแม่และบุพการีในงานแต่งงาน ซึ่งสื่อแสดงถึงความเป็นคนรู้ทำมาหากินและรู้จักจัดหาปัจจัยเพื่อการดำเนินชีวิตให้มีความเจริญงอกงาม ใช้เป็นของที่ระลึก ทำบุญ และสันถาวะแขกผู้มาเยือน คนหนุ่มคนสาว รวมทั้งครอบครัวพ่อแม่ที่มีลูกหลานที่จะต้องออกเรือนในอนาคต ก็จะเรียนรู้ที่จะต้องทอผ้า ทำหมอนและเครื่องนอนสะสมต่อเนื่องเป็นแรมปีเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในของสำหรับจัดงานแต่งงานและทำบุญ 

ด้วยบทบาทและความสำคัญดังกล่าวนี้ ชาวบ้านและชุมชนคนหนองบัว ตลอดจนชุมชนอีกหลายแห่งในถิ่นชนบทของสังคมไทย จึงมีวัฒนธรรมการทอผ้า ทำนุ่น ทำเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า และเครื่องนอน เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ในอดีตนั้น ต้นนุ่น การทำนุ่น และการทำเครื่องนอนเครื่องนุ่งห่ม จึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปและเป็นพื้นฐานความสร้างสรรค์สิ่งต่างๆก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการสู่เงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆของสังคม

ต้นนุ่น การทำนุ่น หมอน และเครื่องนอน

   ลักษณะต้นนุ่น ฝักนุ่น และนุ่น

ต้นนุ่น เป็นไม้ยืนต้นที่มีฝัก ซึ่งในฝักจะมีนุ่นสำหรับนำมาทำหมอนและเครื่องนอนให้อ่อนนุ่ม ลักษณะของต้นนุ่นจะเหยียดตรง ทั้งลำต้นและกิ่งก้านจะมีสีเขียว เริ่มออกดอกและติดลูกในหน้าหนาว ดอกของต้นนุ่นนำมาทำเป็นผักจิ้มน้ำพริกกินเป็นอาหารได้ เมื่อถึงคราออกดอกและฝัก ก็จะทิ้งใบจนเกือบหมดทั้งต้น เหลือเพียงฝักซึ่งจะมีน้ำหนักและโน้มให้กิ่งลู่ ฝักต้นนุ่นเมื่ออ่อนจะมีสีเขียวเช่นเดียวกับเปลือกลำต้น เมื่อเข้าสู่หน้าแล้งฝักนุ่นก็จะแก่ ฝักแก่ของต้นนุ่นมีสีน้ำตาลด้าน หากไม่สอยมาตากให้แห้งและเก็บไว้ใช้ประโยชน์ฝักนุ่นที่แก่คาต้นก็จะแตกออกและเมล็ดสีดำของต้นนุ่นซึ่งจะมีปุยนุ่นติดอยู่ตามขั้วเมล็ดก็จะปลิวลอยล่องไปตามลม ตกลงไปที่ใด เมื่อถึงหน้าฝนก็จะงอกและเติบโตอย่างง่ายดาย ต้นนุ่นจึงแพร่กระจายได้ง่ายมาก

   การเก็บและสอยฝักนุ่น 

เมื่อเข้าสู่หน้าแล้งหลังเกี่ยวและนวดข้าวซึ่งฝักนุ่นก็จะแก่พอดี ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านวางมือจากการทำนาหันไปทำงานสร้างสรรค์สิ่งต่างๆทั้งของชุมชน วัด สิ่งสาธารณะ และของตนเอง การทำนุ่น ทอผ้า และทำเครื่องนอนหมอนมุ้ง ก็จะเป็นงานหัตถกรรมสำหรับเด็ก สตรี และกลุ่มแม่บ้านแม่เรือน โดยจะเริ่มจากการช่วยกันไปใช้ส้าวสอยฝักนุ่นและเขย่าที่กิ่งให้ฝักแก่หลุดจากขั้ว

   แกะนุ่นและตะกร้าใส่นุ่น

จากนั้น ก็จะนำไปตากกลางลานจนแห้งสนิท เมื่อต้องการทำนุ่นก็เพียงเคาะฝักนุ่นกับท่อนไม้ ฝักนุ่นก็จะแตกออก ชาวบ้านจะแกะปุยนุ่นใส่ในเครื่องสานซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ให้มีตาห่างๆ เนื่องจากในรอบแรกนี้ ปุยนุ่นจะมีเมล็ดนุ่นติดอยู่ด้วยจึงต้องใส่ในตะกร้าขนาดใหญ่เพื่อปั่นให้ปุยนุ่นฟูและเมล็ดหลุดออกไปจนหมด

   ไม้กากบาทสำหรับปั่นและตีปุยนุ่น

เมื่อแกะปุยนุ่นติดเมล็ด ใส่ในตะกร้าสานขนาดใหญ่เต็มแล้ว ชาวบ้านก็จะปั่นนุ่นให้ฟูพร้อมกับแยกเมล็ดออกจากปุยนุ่น ไม้ที่ใช้ปั่นนั้น เป็นเทคโนโลยีและงานหัตถกรรมอย่างง่ายๆแต่มีประสิทธิภาพมาก โดยจะเหลาไม้ไผ่เป็นท่อนยาวขนาดพอเหมาะ ที่ปลายข้างหนึ่งทำไม้ไขว้กันเป็นกากบาทขนาดประมาณ ๑ คืบเพื่อปั่นและตีปุยนุ่น และบางครั้งก็อาจจะทำเป็นสองจังหวะโดยทำตรงกลางท่อนไม้อีกที่หนึ่ง

   การปั่นแยกเมล็ดนุ่นและตีนุ่นให้เป็นปุยนุ่ม

ชาวบ้านจะใช้ไม้ปั่นและตีปุ่ยนุ่นด้านที่มีกากบาทดังกล่าว แหย่เข้าไปในปุยนุ่นในตะกร้านั้น พร้อมกับใช้มือทั้งสองข้างประกบที่ด้ามแล้วปั่นให้กากบาทหมุนกลับไปมาอย่างต่อเนื่อง ก้อนปุยนุ่นเมื่อถูกไม้กากบาทตีก็จะแตกออก เมล็ดนุ่นสีดำสนิทขนาดประมาณ ๒ เท่าของเมล็ดพริกไทยก็จะหลุดลอดออกจากตาห่างๆของตะกร้า ชาวบ้านจะค่อยๆปั่นและตีจนปุยนุ่นฟู อ่อนนุ่ม เสร็จแล้วก็จะเก็บไว้ในกระสอบและนำนุ่นที่ยังไม่ได้ปั่นมาใส่ตะกร้าชุดใหม่แล้วก็ปั่นต่อไปอีกเรื่อยๆจนได้ปริมาณที่ต้องการ

   การยัดนุ่นใส่หมอนและเครื่องนอน

จากนั้น จึงจะนำเอาหมอนและเครื่องนอนต่างๆที่เย็บผ้าเตรียมไว้ออกมายัดนุ่น ทำทีละชิ้นและอย่างเป็นงานศิลปหัตถกรรม อดทน มีสมาธิ หากรีบเร่งและใจร้อนหรือขาดการเรียนรู้ นุ่นที่ยัดใส่หมอนและเครื่องนอนก็จะแข็งและเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำ หากใส่น้อยไปและคำนวณไม่ได้ที่ ก็จะเหลวและอ่อนเกินไป

จะเห็นได้ว่า กว่าที่จะออกมาเป็นหมอนและเครื่องนอนที่สวยงามและอ่อนนุ่มน่านอนนั้น  มีกิจกรรมที่ออกมาจากชีวิตจิตใจของผู้คนและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังอีกมากมาย การทำนุ่นและเครื่องนอนจึงบ่งบอกความเป็นผู้สังเกต เรียนรู้ มีภูมิปัญญาปฏิบัติ ความเป็นคนเอาธุระ และความเป็นคนทำการทำงาน เป็นแม่บ้านแม่เรือน เรียกอย่างชาวบ้านได้ว่า 'เป็นคนเอาถ่าน'

การจัดการการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม
และการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้อย่างบูรณาการ

การทำนุ่น หมอน และเครื่องนอนต่างๆ นอกจากเป็นกระบวนการเรียนรู้และสั่งสมภูมิปัญญาชาวบ้านไว้ในชุมชนและครัวเรือนแล้ว เราสามารถพัฒนาเป็นองค์ความรู้ชุมชนและพัฒนาเป็นทรัพยากรการจัดการศึกษาเรียนรู้อย่างบูรณาการ เพื่อบรรลุจุดหมายการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม

ด้านวิทยาศาสตร์ชาวบ้านและวิทยาศาสตร์ชุมชนก็สามารถพัฒนากระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างเป็นระบบให้ได้สีสันจากวัตถุดิบในธรรมชาติที่สวยงามและไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เทคนิคการย้อมที่คงทนและได้ความสม่ำเสมอ ลักษณะการวางเพื่อตากแดดให้ฝักแก่ของนุ่นแห้งสนิทอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ในด้านการคิดก็สามารถเรียนรู้วิธีออกแบบสร้างสรรค์ลวดลายต่างๆ

ด้านศิลปหัตถกรรมก็สามารถเรียนรู้การทำนุ่นและเครื่องนอนด้วยการพึ่งฝีมือและความสร้างสรรค์ของตนเอง ด้านการวางแผนและบริหารจัดการเชิงเศรษฐกิจก็สามารถพัฒนาการเรียนรู้ด้านการกระจายผลผลิตของชุมชนให้มีประสิทธิภาพที่สุด การตั้งราคา การนำไปขายจ่ายแจก และการจัดการด้านรายได้ ด้านภาษาอังกฤษก็สามารถพัฒนาคำศัพท์พื้นฐานและการใช้ในสถานการณ์ต่างๆจากสิ่งที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้ความสามารถด้านภาษาต่างประเทศที่ออกมาจากการมีความลึกซึ้งเกี่ยวกับตนเอง

ด้านการเรียนรู้ทางสังคมและพัฒนาความเป็นพลเมือง ก็สามารถพัฒนาความสำนึกต่อสังคม การเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนและรากเหง้าของตนเอง ด้านสุขภาพและสุขภาวะชุมชนก็สามารถพัฒนาการเรียนรู้ความเป็นปัจจัยสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เหล่านี้เป็นต้น

กระบวนการเรียนรู้และการจัดการศึกษาเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะเป็นการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้แก่เด็กอย่างเป็นองค์รวมแล้ว ก็จะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์และมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดของโรงเรียนกับชุมชน ชุมชนก็จะมีโรงเรียนเสริมกำลังเป็นหน่วยจัดการทางวิชาการ ส่วนโรงเรียนก็จะมีกำลังสนับสนุนจากเครือข่ายชุมชน ทำให้โรงเรียนในชุมชนหนองบัวและในแหล่งชนบทมีโอกาสพัฒนาการศึกษาด้วยตนเองได้มากยิ่งๆขึ้น.

หมายเลขบันทึก: 359371เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)

สงสัยผมเป็นคนโบราณ แหงๆๆเลยครับอาจารย์ เมื่อหลายอาทิตย์ก่อน สอยนุ่นหน้าบ้านไร่ ถ้าสอยไม่ดี นุ่นที่แก่จัดจะแตกกระจายเลยครับ แม่เอาไปทำหมอน ปัญหาสำคัญตอนปั่นนุ่นคือ เมล็ดนุ่นครับ มันชอบติดไป แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นใครทำแล้ว หรือว่าผมเป็นคนโบราณอยู่บ้านเดียว...ถ้าเอาประยุกต์ใช้ในการสอนคงดี แต่คงต้องปรับบริบทให้เข้ากับนักเรียน ลืมถามไปว่า ต้นนุ่นบ้านอาจารย์เอาไปทำอะไร บ้านผมเอาไปทำเรือเล็กๆๆให้เด็กๆๆ อีกอย่างคือทำ ตาหลุมเพชร (ศิวลึงส์) วางไว้ตามสี่แยกเพื่อขอฝน ฮ่าๆๆ ตอนนี้ที่บ้านเหลือนุ่นต้นเดียว แต่ดกมากๆๆ จะพยายามปลูกเพิ่มนะครับ...

ผมเพิ่งคุยถึงอาจารย์กับน้องๆว่าผมประทับใจและแปลกใจจริงๆว่าทำไมครอบครัวของอาจารย์และอาจารย์มีประสบการณ์ชีวิตหลายอย่างอย่างคนบ้านนอกเหมือนผมและชุมชนในชนบทหลายแห่งมาก บางเรื่องที่อาจารย์คุยและนำมาแบ่งปันนั้น ก็รู้เลยว่าเป็นการคุยออกมาจากสิ่งที่อยู่ในการดำเนินชีวิตจริงๆ

อย่างเรื่องต้นนุ่นและการทำนุ่นนี้ก็เช่นกัน ผมแปลกใจมากจริงๆว่าทำไมอาจารย์รู้ในรายละเอียดถึงวิธีใช้ประโยชน์จากต้นนุ่น หากเป็นคนแก่ๆอย่างผมหน่อยก็จะไม่แปลกใจ แต่ในกรณีของอาจารย์นี่ผมแปลกใจสองชั้นเลย คือ ชั้นแรกเลยก็แปลกใจว่าแถวเมืองกาญจนบุรีบ้านอาจารย์นั้น คนรุ่นอาจารย์ที่ยังสามารถได้ทันเห็นการทำนุ่นนั้นต้องนับว่าน่าประทับใจมากละครับ

แปลกใจชั้นที่สองก็คือ จากการบอกเล่าของอาจารย์นี่ สื่อให้เห็นได้ว่าไม่เพียงเป็นการทันได้เห็นผ่านตาเฉยๆละครับ แต่มาจากการมีประสบการณ์และการได้สัมผัสธรรมชาติของนุ่นและต้นนุ่นจริงๆเลยทีเดียว มันชอบฝักแตกในขณะที่สอยและทำให้มีปุยนุ่นปลิวมาติดจมูก ยิ่งอากาศร้อนและเหงื่อออกก็จะติดตามเนื้อตัว

เด็กๆผมก็ชอบต้นนุ่นครับ หน้าน้ำหลากก็นำมามาทำเรือ หน้าแล้งก็เอามาทำล้อรถลาก ลากไปโรงเรียนและลากไปตามหมู่บ้าน ต้นนุ่นเนื้ออ่อนและงอกใหม่อย่างง่ายดาย ก็เลยเหมาะสำหรับเป็นวัตถุดิบให้เด็กๆหัดเรียนรู้การทำงานฝีมือ  

ทันทีที่ที่ได้กลับบ้านจะเอาบันทึกนี้ไปอ่านให้แม่ฟังนะครับ แม่ต้องดีใจมากๆๆที่ยังมีคนใช้ประโยชน์จากนุ่น ถ้าเป็นไปได้ ผมจะหาภาพการสอยนุ่นที่บ้านมาประกอบบันทึกนี้นะครับ เดี๋ยวนี้ผมพัฒนาแล้ว ผมใช้มีดเล่มเล็กๆๆคมๆๆผูกติดปลายไม้ ตอนสอยเลยเป็นเหมือนการตัดแทน นุ่นไม่กระจายครับ แต่ต้องผูกมีดแน่นๆๆ ไม่อยากนั้น อาจเจอมีดลี้กิมฮวงของตนเองได้ครับ ฮ่าๆๆๆๆ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

การทำเครื่องนอนและหมอนเป็นงานสำคัญของงานออกเรือนฝ่ายหญิงของคนหนองบัว-หนองกลับเมื่อจะแต่งงานมีคู่ครอง

เป็นภาระงานใหญ่ของกลุ่มญาติที่ลูกหลานจะแต่งงานและภาระการจัดหาเฟอร์นิเจอนี้ก็ไปตกอยู่กับบ้านฝ่ายหญิง เป็นงานที่จะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจเป็นการเอาแรงกันหรือขึ้นแรงกันไว้ก่อนแล้วค่อยใช้แรงคืนเมื่อลูกของผู้ที่ขึ้นแรงตนไว้นั้นออกเรือน

เมื่อถึงวันแต่งงานเรือนหอหลังใหม่จะต้องมีที่นอนและหมอนใส่ตู้(ชั้ว)นำมาโชว์คู่บ้านหลังใหม่(เฟอร์นิเจอร์) โดยเฉพาะหมอนนั้นมีมากมายเป็นจำนวนร้อยๆใบ มากขนาดมีงานบวชหรืองานทำบุญอื่นๆ สามารถใช้หมอนมุ้งจากเรือนหอหลังเดียวนี้รองรับญาติพี่น้องที่มานอนช่วยงาน(แม่ครัว)และผู้เฒ่าผู้แก่หลายสิบคนโดยไม่ต้องหยิบยืมจากเพื่อนบ้านเลย นอกจากที่นอนหมอนมุ้งแล้วก็ยังมีเครื่องใช้ประจำบ้านอีกหลายอย่าง

ตอนที่นุ่นยังไม่แก่ เด็กๆมักจะไปสอยฝักนุ่นอ่อนๆมาแกะเมล็ดอ่อนกินกัน และที่ชอบมากๆก็เป็นอย่างที่อาจารย์กล่าวคือต้นนุ่นนำมาทำล้อรถลากเล่นกันอย่างสนุกสนาน

 

เรียนท่านอ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ดีใจจังเลยที่ได้เจอบันทึกนี้

ไม่เคยทำอย่างน้องอ.ขจิตค่ะ

แต่จำได้ว่าเคยช่วยแม่ทำเมาะค่ะ แม่จะซื้อนุ่นเป็นถุงๆจากตลาด เอานุ่นมายัดใส่ถุงผ้าขนาดใหญ่ ใส่ไม่เต็มใบ พอตบๆให้เป็นแอ่งสำหรับนอนได้ ก็เย็บปิดปากถุงกันนุ่นออก

ขณะยัดนุ่นใส่เมาะ จะมีเศษนุ่นติดตามเนื้อผ้า ตามมือก็เอามือชุบน้ำให้เปียกก่อนแล้วมาลูบเอานุ่นที่ติดเมาะออก ซึ่งจะออกง่าย แล้วตบเบาๆ  หลังจากนั้นนำไปผึ่งแดด ก่อนนำไปใช้ เสียดายจังเลย ไม่มีรูปเมาะในสมัยนั้นให้ชม

แล้วถ้าเมาะเกิดเปียกเพราะน้องนอนแล้วปล่อยให้เมาะเปียก ก็จะนำเมาะไปซัก โดยปัดให้นุ่นไปรวมกันตรงที่ไม่เปียก แล้วก็ซักบริเวณผ้าที่เปียก ส่วนผ้าที่นำมาเย็บเมาะก็นิยมใช้ผ้าริมเขียว บางครั้งก็ใช้ผ้าลายดอกค่ะ

 

  • อ่านการประดิษฐ์เครื่องมือของอาจารย์ ดร.ขจิตแล้วเสียวในใจหวิวๆเลยครับ
  • กลัวมันหลุดหล่นใส่คนที่กำลังเดินเก็บลูกนุ่นบนพื้นดินอยู่ละสิครับ
  • อาจารย์เป็นลูกบ้านนอกที่น่าภูมิใจดีนะครับ ไม่ใช่เพียงสำหรับครอบครัว แต่สำหรับสังคมไทยน่ะครับ 

 กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

  • ตรงที่พระคุณเจ้าเล่าบันทึกข้อมูลไว้นี้ เป็นวิถีปฏิบัติที่สำคัญของชาวบ้านหนองบัวเลยละครับ หมอนเป็นของในตู้โชว์ เพราะเป็นผลจากกิจกรรมที่บ่งชี้หลายอย่างของคนในบ้าน ยิ่งมีแม่บ้าน ลูกสาว การทำหมอนก็ยิ่งมีวัฒนธรรมหลากหลายเพิ่มขึ้นมาอีก
  • การทำปลอกหมอน การทำหมอน ที่สาวๆรวมกลุ่มและช่วยกันทำ ก็จะเป็นสื่อแสดงออกในหมู่หนุ่มสาวให้พอประมาณแก่กาลเทศะอีกด้วย เช่น หากมีงานบวชละก็ นอกจากจะขนที่นอนหมอนมุ้งไปช่วยกันแล้ว ผู้คนก็อยากจะเห็นว่าในขบวนแห่นาคนั้น มีหมอนของใครมาเป็นเครื่องอัฐบริขาร และใครจะเป็นคนถือหมอนของพ่อนาคในขบวนแห่ อย่างนี้เป็นต้น
  • สิ่งเหล่านี้เลยมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบนิเวศ สังคม เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการก่อเกิด ดำรงอยู่ และพัฒนาการของกันและกัน หากสิ่งใดสิ่งหนึ่งขาดหายหรือหลุดออกไปจากความเป็นระบบที่เกื้อหนุนส่งเสริมกันอยู่ หลายอย่างก็จะดำรงอยู่และพัฒนาไปให้เข้มแข็งได้ยากต้องเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน
  • ความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ในวิถีประชาสังคม ที่มีอยู่ในชุมชนต่างๆ จึงเป็นองค์ประกอบการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนะครับ เวทีคนหนองบัวน่าจะเข้าข่ายในการเติมสิ่งนี้เล็กๆน้อยๆให้กับชุมชนคนหนองบัวและสังคมไทยนะครับ

สวัสดีครับคุณครูkrutoitingครับ เมาะนี่รู้จักครับ แถวบ้านก็ใช้สำหรับเป็นที่นอนของเด็กเล็กครับ เด็กนอนเมาะนี่ หากเป็นแถวบ้านก็จะเป็นเด็กที่โตกว่าเด็กนอนอู่และต้องไกวเปล แต่ก็ยังเล็กแบเบาะมากกว่าเด็กที่นอนอย่างทั่วไปได้แล้วน่ะครับ

  • เอาต้นนุ่นมาฝากครับ
  • บอกให้แม่สอยนุ่น
  • แม่บอกว่าจะสอยกระท้อน อร่อยกว่า
  • ฮ่าๆๆๆ

ดีใจมากที่มาเจอกระทู้นี้ ผมรักนุ่น รักชีวิตแบบเดิมๆ ทุกวันนี้ก็ยังสนับสนุนให้ทุกคนที่รู้จักใช้นุ่น โดยเฉพาะเบาะหรือเมาะที่ตัดด้วยนุ่น

เคยทำแจกคนยากคนจนที่ละหลายใบที่เดียว เดี๋ยวนี้ก็ยังแจกถามีคนมาขอครับ

  • สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
  • บรรยากาศบ้านอาจารย์เหมือนแถวบ้านผมมากเลยละครับ
  • ทราบว่าได้ไปเวิร์คช็อปงานประชุมพุทธศาสนาโลกมาถึงครึ่งเดือน
  • คงได้ประสบการณ์มากมาย รวมทั้งได้ทำงานส่งเสริมพระศาสนา ขออนุโมทนานะครับ
  • สวัสดีครับคุณเสนอ รัตนวลีครับ
  • แถวบ้านผมก็ยังมีวัฒนธรรมทำนุ่นและทำหมอนแจก-ฝากกันครับ
  • วิถีชีวิตแบบเดิมๆในแง่หนึ่ง ก็เป็นแนวดำเนินชีวิตที่เรามีฐานชีวิตรองรับ มีความเข้มแข็งของตัวเอง ผมก็ชอบมากครับ

สวัสดีครับอาจารย์ ผมใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ 20 ปี คนในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง U.K. จะพยายามหาวัสดุที่มาจากธรรมชาติมาใช้ในชีวิตประจำวัน แทน artificial material อย่างใยสังเคราะห์ แต่บ้านเรามีสิ่งของธรรมชาติอย่างนุ่นที่เป็นของที่น่ารักษาใว้ แต่ไม่มีใครสนใจใยดี แต่นิยมวัสดุที่ต้องทำ ต้องผลิตจากสารเคมีต่างๆ และเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาผมรณรงค์ให้คนใกล้ตัวผมหันมาใช้วัสดุธรรมชาติในการดำรงค์ชีวิต และผมได้ทำเบาะ หรือเมาะที่ใช้นุ่นแจกให้ลูกน้องที่ที่ทำงานเอาไปใช้แล้วไม่น้อยกว่า 30-40 ใบ ทุกวันนี้ถ้ามีใครมาขอ ผมก็ยังยินดีที่จะสั่งทำ และให้เขาเอาไปใช้โดยไม่คิดเงิน ชอบเรื่องที่อาจารย์ Toiting เขียนมากครับ นึกถึงภาพสมัยเด็กๆชัดเจนมาก ถ้าอาจารย์มีเรืองดีๆอย่างนี้อีก อยากอ่านครับ

สวัสดีครับคุณเสนอ รัตนาวลี

  • การแบ่งปันประสบการณ์ รวมทั้งการสะท้อนวิธีคิดต่อเรื่องราวในลักษณะนี้ ทั้งของคุณเสนอ รัตนวลี อาจารย์ ดร.ขจิต และคุณครู Toiting เป็นเรื่องการคุยกันเล็กๆน้อยๆแต่ทำให้ผมดีใจมากเลยนะครับว่าคนที่มีแนวการดำเนินชีวิตอย่างนี้มีอยู่
  • มันเหมือนเป็นเสียงสะท้อนของสังคมด้านที่ยังเห็นโอกาสและความสร้างสรรค์ด้านที่เป็นตัวของตัวเองของสังคมหนึ่งๆ
  • แทนที่จะมองสิ่งเดียวกันที่กระแสหลักของสังคมอาจจะมองว่าเป็นความล้าหลัง เป็นสภาพปัญหาที่จะต้องทิ้งไปเสีย และเป็นตัวบ่งบอกความไม่พัฒนา ก็กลายเป็นเห็นคุณค่าทั้งต่อการใช้สอยพอเพียงแก่ตนเอง และกลายเป็นการปฏิบัติเพื่อแสดงการมีส่วนร่วมต่อประเด็นสากล ทั้งของท้องถิ่นและของสังคมโลก อีกด้วย
  • แต่ข้อสังเกตจากการมีประสบการณ์ในต่างประเทศของคุณเสนอนี่ดีจังเลยนะครับ ที่ว่าคนในประเทศที่เรามักบอกว่าเขาเจริญกว่าและทันสมัยกว่านั้น เขากลับให้คุณค่าในสิ่งที่เป็น Non-artificial ทั้งด้วยวิธีคิดต่อการให้คุณค่าสิ่งที่เป็นธรรมชาติและสะท้อนความเป็นมนุษย์ และด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นโลก เราจะได้มีอีกภาพหนึ่งมาชั่งน้ำหนักตนเองให้สมดุลมากขึ้นว่า หลายอย่างที่เรากำลังจะละทิ้งและละเลยไปมากมายนั้น ในอนาคตจะเป็นสิ่งที่โหยหาและกลับมาฟื้นฟูอีกยาก คนจะได้เห็นตนเองและให้คุณค่าสิ่งที่ตนเองมีได้ลึกซึ้งมากขึ้นน่ะครับ

อ่านข้อเขียนของอาจารย์ พี่๕ณต้อยและคุณเสนอแล้วประทับใจครับ ในภาพเป็นที่ไร่ที่พนมทวนไม่ไกลจากที่อาจารย์ศิวกานต์อยู่ครับ...

  • อยู่ใกล้ป่าสักอาศรมของ ผศ.ศิวกานท์ด้วยหรือครับ
  • สักวันคงได้ไปขอนอนฟังเสียงสายลมกรีดใบไม้สักหน่อยนะครับ

เรียนอาจารย์วิรัตน์

เมื่อวานลางานไปตีกอล์ฟที่นครชัยศรี ผ่าน ม.มหิดล ยังนึกถึงอาจารย์อยู่เลยครับ ผมมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับที่ผมรณรงค์ที่จะให้คนไทยเราหันมาใช้ของที่ผลิตจากธรรมชาติ บ้างคนก็แซว บางคนก็พูดว่า"คุณเสนอไปอยู่ต่างประเทศมาตั่งนานทำไมยังเชยและก็บ้านนอกอยู่" เหตุเกิดตอนที่ผมพยายามอธิบายว่าทำไมเราถึงควรหันกลับมาใช้วัสดุธรรมชาติในการดำรงชีวิต เพราะ ช่วงก่อนที่ผมจะกลับมาอยู่เมืองไทย ได้มีเหตุการณ์ที่เรียกว่า Baby Sudden Death Syndrome หรือ"หลับตายโดยไม่รู้สาเหตุ" ผมได้หาข้อมูลจากการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เด็กนอนคว่ำในเปลหรือเตียงนอนที่ใช้เบาะหรือที่นอนที่ทำมาจากฟองน้ำ และได้หายใจเอาสารระเหยจากสารเคมีที่ใช้ผลิตฟองนำเข้าไป ทำให้ระบบหายใจหยุดทำงาน ผมส่งข้อมูลและเอกสารดังกล่าวมาให้นิตยสาร"สกุลไทย" ซึ้งก็ได้รับการตอบรับและตีพิมพ์ในหนังสือ ผมยังได้ส่งข้อมูลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นไปที่หน่วยงานของรัฐฯอีกหลายแห่ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ แถมยังมีคนออกมาพูดว่าการวิจัยดังกล่าวไม่ conclusive จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังหาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้ นอกเหนือจากที่นักวิทยาศาสตร์ได้วิจัยออกมาแล้วข้างต้น เขียนมาเล่าให้ฟังครับ ว่าทำไม วิธีการคิดแก้ไขปัญหาต่างๆในประเทศที่ยังได้ชื่อว่า under developed country ถ้ามีผลประโยชน์ของพ่อค้า หรือนักการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องการแก้ปัญหานั้นๆก็จะไม่เป็นไปตามเหตุ ตามผลที่มันควรจะเป็น (ถ้าออกมาบอกว่าเบาะเด็กอ่อนที่ทำมาจากฟองนำอาจเป็นอันตรายต่อเด็กถึงตายได้ อาจจะมีโรงงานผลิตที่นอนฟองน้ำเด็กอ่อนถึงกับเจ็งได้งัยครับ) นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมออกมารณรงค์ให้คนไทยเลิกใช้ฟองน้ำในผลิตภัณฑ์ที่เด็กอ่อนใช้ เช่นเบาะฟองน้ำเป็นต้น และหันกลับมาใช้ของธรรมชาติที่บริสุทธ์ และปลอดภัยอย่าง นุ่นเป็นต้น เขียนมาเล่าสู่กันฟังครับ

  สวัสดีครับคุณเสนอ รัตนวลี 

  • ในทุกประเทศทั่วโลกจะมีกลุ่มประชากรที่เป็นพลเมืองรุ่นใหม่ New Genration ที่มีวิธีคิดและเลือกรูปแบบชีวิตอย่างคุณเสนอ รัตนวลี นี้ ก่อเกิดและเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นลักษณะของพลเมืองที่เป็นยุคใหม่หรือ New Age ผสมผสานสิ่งที่สังคมมีทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ได้กลมกลืนลงตัวมากกว่าเดิม
  • ความเป็นเมืองและหมู่บ้านในชนบท รวมทั้งในที่อันห่างไกลที่เกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบันนี้ ในหลายสังคมก็จะมีลักษณะต่างไปจากอดีต
  • ความเป็นชนบทและหวงแหนธรรมชาติมาก พร้อมกับก้าวหน้าทางด้านความรู้ ข่าวสาร และภูมิปัญญา เพราะมักจะเป็นกลุ่มคนที่อิ่มตัวจากสังคมเมืองและมีความสุขความพอใจต่อวิถีชีวิตกับความเป็นชนบท หนีออกจากความเป็นเมืองไปดำเนินชีวิตในวิถีชนบท
  • ส่วนชุมชนเมืองและความเป็นสังคมเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ ก็จะต่างออกไปจากในอดีตเช่นกัน มักจะกลายเป็นกลุ่มคนที่ชุมชนในชนบทล่มสลายและเป็นกลุ่มพลเมืองที่มุ่งสู่เมืองด้วยแรงกดดันให้แข่งขันเข้าถึงโอกาสที่ดีกว่าอยู่ในชนบท ให้ตนเอง สังคมเมืองก็จะมีความหรูหรา แข่งขัน มีแรงกดดันมหาศาล และอยู่ร่วมกันบนความสัมพันธ์ที่ผิวเผินมากกว่าเดิม
  • แต่เราก็คงจะสามารถเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงไปให้ดีกว่าที่เป็นไปตามกันโดยทั่วไป
  • เรื่อง Sudden Death Syndrome ในกลุ่มเด็กอ่อนที่เชื่อมโยงกับปัญหาการใช้ฟองน้ำหรือผลิตภัณฑ์จากของเทียมที่คุณเสนอเล่าแบ่งปันกันนี้น่าสนใจมากเลยครับ การรณรงค์ให้ผลิตฑ์จากวัตถุดิบธรรมชาติหรือของที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เลยมีคุณค่าและความหมายมากกว่าเป็นสินค้าท้องถิ่นเพื่ออนุรักษ์เฉยๆนะครับ

                            Thairemider 

  • ขอมีส่วนร่วมด้วยครับ มุ่งใช้ของธรรมชาติที่บริสุทธิ์ รวมทั้งการมองปัญหาให้เห็นความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ 

แวะมาอ่านข้อคิดจากท่านอ. คุณเสนอ น้องอ.ขจิต ด้วยความสุขใจ

ก่อนจะขอลาไปพักผ่อน

ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณครูkrutoitingครับ

  • สวัสดียามเช้าครับ เมื่อคืนแวะเข้ามาฝากความสนทนาไว้แล้วคงได้นอนหลับสบาย แล้วก็ตื่นมาในวันใหม่อย่างสดชื่นนะครับ
  • ทำให้รู้สึกเหมือนมีบอร์ดสำหรับปักหมุดฝากข้อความถึงกันอยู่รอบๆตนเองเลยครับ พอเข้ามา รวมทั้งคุณเสนอและอาจารย์ ดร.ขจิตเข้ามา แม้ต่างเวลากัน ก็ยังเหมือนกับได้ต่อความคิดให้กันได้อย่างดีอยู่อีก

สวัสดีค่ะ

แวะเอาเมาะมาฝากค่ะ

ครูต้อยได้รับเมาะวันนี้จากคุณเสนอ

ซึ่งได้รู้จักกันจากบันทึกของอ.นี่เอง

แต่ยังไม่เห็นตัวเป็นๆทั้งท่านอ.และคุณเสนอ

เด็กน้อยตื่นเต้นกันมาก ขอกอดกัน บอกว่า

ทำไมหมอนใหญ่ใบนี้นุ่มและอบอุ่น

จึงอธิบายคร่าวๆ และแนะนำให้มาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับkrutoitingครับ

  • คนถ่ายภาพ ถ่ายภาพเก่งมากนะครับ จังหวะการกดชัตเตอร์ การจัดวางองค์ประกอบเพื่อบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวและรายละเอียด กับการรู้อารมณ์ภาพ เรียกได้ว่าถ่ายภาพเป็นครับ
  • หากเป็นเด็กๆหรือเป็นมือสมัครเล่นก็ต้องเรียกว่ามี sense ความเป็นศิลปะครับ
  • เป็นเรื่องราวที่นอกจากน่าประทับใจแล้วก็ทำให้สนุกและตื่นเต้นด้วยครับว่าเมาะใบเดียวก็สามารถมีวิธีทำให้เป็นสื่อการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ต่อสังคมให้แก่คนรุ่นเยาว์ที่สร้างสรรค์มากจริงๆครับ
  • ผมเชื่อว่าเด็กๆทั้งกลุ่มจะประทับไว้ในความทรงจำไปด้วยว่าสังคมมีพลังความเอื้ออาทรและผู้คนที่หยิบยื่นสิ่งดี สิ่งสร้างสรรค์ให้กันนั้น มีอยู่และจับต้องได้ สัมผัสได้ อบอุ่น อ่อนโยนเหมือนเมาะ คุณเสนอเหมือนเป็นนิยามแทนความไม่มีตัวตนของสิ่งนั้นทว่าสามารถจับต้องได้ พวกเขาสัมผัสสิ่งดีบางอย่างจากสังคมอันกว้างใหญ่ได้ เป็นวิธีช่วยกันให้ประสบการณ์เด็กๆที่งามจริงๆครับ
  • คุณครูkrutoitingก็ช่างสร้างสรรค์มากครับ เห็นเด็กๆในอริยาบทต่างๆแล้วก็รับรู้ได้ว่าเป็นประสบการณ์ร่วมกันทั้งกลุ่มที่น่าสนุกครับ
  •  

                      

  • ผมก็มีหมอนที่ทำด้วยมือและยัดนุ่นจากต้นนุ่นที่บ้านนอกมาอวดด้วยครับ เป็นฝีมือแม่ผมและน้องสาวครับ
  • เมื่อตอนเป็นเด็กก็มีเมาะไว้นอนและกอดเล่นกันเหมือนกันครับ

เรียนท่านอ.วิรัตน์

เด็กๆมาเรียนรู้เต็มโต๊ะคอมของครูต้อยแล้ว

จึงคลิ๊กลิงค์มาที่นี่ค่ะ

นี่กำลังตื่นเต้นมากๆ

บอกว่าอ.คนนี้หนูเคยเข้ามาcopyภาพลายเส้น

ไปส่งม่ามี๊(อิอิ.ต้องแอบยิ้มคะ

เพราะเด็กน้อยยังไม่เข้าในเรื่องการเรียนรู้แบบออนไลน์

พอให้อ่านร้องโอโห..เยอะจังเลย

นุ่นนี่วิเศามาก

แล้วครูต้อยก็ต้องหาลิงค์ให้ดูภาพ

และคิดว่าจะพยายามหาต้นนุ่นมาปลูกสักต้น

ให้เป็ฯต้นไม้แห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนค่ะ

เอาบันทึกนี้มาฝากด้วยนะคะ

โอกาสหน้าจะนำภาพวาดลายเส้นของเด็กๆ

ที่เข้ามาเรียนรู้มาฝากค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

มาอีกรอบลืมฝากลิงค์ค่ะ

http://gotoknow.org/blog/patipan/369067

ขอบคุณค่ะ

อยากเรียนว่าครูต้อยถ่ายเอง

เพิ่งได้กล้องมาใหม่กำลังเรียนรู้และฝึกหัดค่ะ

ทุกวันนี้ใช้หหมอนแบบในภาพหนุนนอนค่ะ ใบเดียวจบ

ไม่ปวดต้นคอด้วย หมอนแบบนี้เคยเรียนในชั่วโมงการฝีมือ

สมัยเด็กๆคุณครูสอนให้ทำแล้วก็ปักชื่อแสดงความเป็นเจ้าของแบบในภาพนี้เลยค่ะ

คุณครูได้ประเมินฝีมือการปักตัวอักษรไปพร้อมๆกับการเย็บ และการยัดนุ่น

ตลออดจนการทำความสะอาดฝุ่นนุ่นหลังจากงานเสร็จแล้ว

การเรียนวิชาการฝีมือจบแต่ละปีจะมีผลงานที่นำมาใช้ประโยชน์ที่บ้านได้ค่ะ

และเป็นการการันตีว่าเรียนมาแล้วผ่านแล้วผลงานเชิงประจักษ์

ต่างจากการวัดผลการเรียนรู้สมัยนี้มาก

ส่วนผลงานนร.สมัยก่อนจะอยู่ในห้องรับแขกที่บ้านของนักเรียน

หรือไม่ก็นำไปใช้ต่างจากสมัยนี้

ครูต้อยเป็นครูร่วมสมัยค่ะและเรียนรู้เทคโนโลยีด้วยตนเอง

โดยอาศัยคอมเป็นอุปกรณ์นำพาตัวเองไปสู่โลกกว้าง

สื่อITนี่ก็งูๆปลาๆแบบครูพักรักจำแล้วอาศัยมิตรในg2k

และกูรูอย่างท่านเป็นตำรา เป็นห้องสมุดที่มีชีวิต

โอกาสนี้ขอขอบพระคุณที่แบ่งปันพวกเราค่ะ

 

สัวสดีครับkrutoitingครับ

  • กลายเป็นจุดไต้ตำตอเสียแล้ว
  • คุณครูkrutoitingถ่ายรูปสำหรับบันทึกเรื่องราวได้ดีนะครับ
  • วิธีสอนของkrutoitingดูบูรณาการมากเลยทีเดียวครับ ทั้งได้เรียนการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การศึกษาค้นคว้าเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งความรู้ในโลกออนไลน์ แล้วก็ให้ได้วิธีคิดและการเรียนรู้สังคม สิ่งแวดล้อม การใช้และจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน

ร่วมขอบคุณคุณวิญญูกับผู้อ่านและผู้ที่เข้ามาชมด้วยนะครับ ที่ลิงก์เรื่องราวเกี่ยวกับต้นนุ่นที่สวนจิตรลดาและที่บ้านห้วยมงคล หัวหิน มาช่วยทำให้ได้เรื่องราวสำหรับการเรียนรู้และได้ความงดงามในใจอย่างกว้างขวางมากยิ่งๆขึ้น

เรียนอาจารย์

ต้นนุ่นทั้งประเทศไทยถูกตัดไปเกือบหมดแล้วเพื่อปลูกสัปรด , อ้อย และนำไปทำเยื่อกระดาษ

ผมได้วิจัยและค้นคว้าเรื่องนุ่นใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง เรื่องและรูปของอาจารย์ดีมากครับ

http://varunyou.blogspot.com/2009/02/blog-post_05.html

http://www.greennetworkthailand.com/green_article/green_resource_06.pdf

http://www.youtube.com/watch?v=1WUL_pSXQcA

สวัสดีครับคุณวิญญููครับ

  • ขอบคุณคุณวิญญูครับที่นำลิงก์มาฝากและแบ่งปันกับผู้สนใจ ท่านที่สนใจสามารถนำเอาที่อยู่เว็บเพจที่คุณวิญญูนำมาให้ เข้าไปอ่านรายละเอียดได้ครับ น่าสนใจมากเลยละครับ
  • ในเว็บที่คุณวิญญูนำมาฝากนี้ มีเรื่องราวของการทำกิจการที่สืบเนื่องกับนุ่นและเครื่องนอนที่อำเภอโพธารามด้วย คือ เรื่องราวความเป็นมาของที่นอนจารุภัณฑ์ ได้ทั้งในแง่ความเป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับสังคม และได้ทราบเรื่องราวความบุกเบิกริเริ่มอันเข้มข้นของเรื่องเบาๆอย่างปุยนุ่น
  • เมื่อวานผมเพิ่งได้ไปประชุมที่มหาสารคามมาครับ ในการประชุม ผู้เป็นเจ้าภาพอันได้แก่มหาวิทยาราชภัฎมหาสารคาม ได้เปิดเวทีให้กับการแสดงออกถึงความมั่งคั่งของทุนทางสังคมวัฒนธรรมของอีสานหลายอย่างครับ หนึ่งในนั้นก็คือศิลปะและผลผลิตจากหัตถกรรมด้านเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ซึ่งในตอนท้ายการประชุม ผมก็ได้มีโอกาสกล่าวสะท้อนความคิดและความประทับใจ ก็เลยสะท้อนให้ที่ประชุมและเจ้าภาพได้เห็นถึงความเป็นภูมิปัญญาและมีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชาวบ้านอีกหลายอย่างของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ผมคิดว่าปุยนุ่นไม่เพียงเป็นวัตถุดิบที่จะเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์การนำเอาผ้ามาเข้าสู่กระบวนการผลิตสิ่งของเครื่องใช้อีกอย่างหนึ่งเท่านั้น ทว่า คงจะเกี่ยวข้องกับวิถีชุมชนและภาคสังคมการผลิตอักหลายวงจรเลยนะครับ
  • ผมถามอย่างคนไม่มีความรู้เลยสักหน่อยนะครับว่า อย่างต้นนุ่นและวัสดุคงเหลือจากการใช้ปุยนุ่นแล้วนั้น สามารถใช้ผลิตกระดาษหรือทำวัสดุทดแทนอย่างอื่นอีกได้หรือไม่ครับ หรือว่า ระหว่างการปลูกไร่ต้นนุ่นซึ่งจะไปกระตุ้นวงจรของศิลปหัตถกรรมผ้าและสิ่งทอซึ่งก็เป็นจุดแข็งของสังคมไทยมากอย่างยิ่งเช่นกัน กับการปลูกสัปรดและอ้อยนี่ มองอย่างคนไม่รู้อย่างผมนี่ผมก็ต้องว่าเครื่องนอน เสื้อผ้า และไร่นุ่นนั้นน่าจะมีศักยภาพและโอกาสต่างๆตามมามากกว่าสัปรดและอ้อย
  • ที่สำคัญคือ เป็นผลผลิตที่ใช้ปัจจัยที่เป็นภูมิปัญญาและความสร้างสรรค์ที่สะท้อนความจำเพาะตนของสังคมไทยลงไปได้ ซึ่งในเรื่องนี้แล้วประเทศไทยสามารถอยู่แถวหน้าของสังคมโลกได้อย่างหนึ่งมากกว่าอย่างหลัง แต่ทำไมจึงขยายตัวไม่ได้ การที่ต้นนุ่นถูกตัดหมดไปแล้ว บอกอะไรได้บ้างครับ หรือว่าสู้การทำกำไรด้วยวัสดุทดแทนอย่างอื่นไม่ได้ครับ น่าเสียดายมากเลยนะครับ
  • หากฟื้นฟูได้ เท่าที่ผมรู้จักต้นนุ่นนั้น ทำไร่นุ่นน่าจะให้ผลผลิตดีและมีผลดีต่อสภาพแวดล้อมมากกว่าอย่างอื่นหลายอย่างนะครับ
  • ผมขออนุญาตเข้าไปอ่านเรื่องราวของท่านทนง วรัญญูและญาติพี่น้อง ที่เกี่ยวข้องกับที่นอนจารุภัณฑ์ด้วยนะครับ เป็นประสบการณ์ชีวิตและเรื่องราวที่น่าประทับใจมากเลยนะครับ 
  • ดีใจครับที่ชอบเรื่องราวและรูปวาดวิถีชีวิตชาวบ้าน เป็นสื่อไปในตัวที่จะทำให้ชาวบ้านได้เห็นมิติที่ลึกซึ้งและมีความเป็นมรดกภูมิปัญญาที่มีชีวิตของสังคม จากสิ่งที่อยู่ในวิถีการทำมาหากินและการดำเนินชีวิต ซึ่งจะทำให้ได้ความแยบคายในชีวิตและมีความร่ำรวยอยู่ในตนเองอีกหลายอย่างน่ะครับ

สันถวะและสนทนากับพี่วิญญู วรัญญู
สมาชิกครอบครัวเจ้าของกิจการ 'ที่นอนจารุภัณฑ์' อำเภอโพธาราม ราชบุรี
ขุมความรู้เรื่องนุ่นและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากนุ่นเจ้าหนึ่งของสังคมไทย

                        

เมื่อวันศุกร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ผมได้ต้อนรับพี่วิญญู วรัญญู สมาชิกของครอบครัวรัญญูซึ่งทำกิจการที่นอนจารุภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนอนที่มีชื่อเสียงเจ้าหนึ่งของไทย พี่วิญญูได้เข้ามาอ่านเรื่องนุ่นในเวทีของคนหนองบัวแล้วท่านประทับใจ ประจวบกับที่ท่านมีลูกสาวกำลังเรียนอยู่ปี ๓ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ท่านมาส่งลูกสาว เลยก็แวะมานั่งคุยกับผมด้วย

                        

                        

                        

มาก็ไม่ได้มาเปล่าๆ ครับ หอบหมอนที่ทำด้วยนุ่นมาฝากผมด้วย ๒ ใบ ท่าทางเหมือนนักศึกษาต่างประเทศรุ่นใหญ่กำลังหอบเครื่องนอนพะรุงพะรังเข้าหอพักมหาวิทยาลัย แล้วเราก็นั่งคุยกัน ผมได้ความรู้มากมายที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยเกี่ยวกับนุ่น เป็นต้นว่า

  • ในอดีตนั้นประเทศไทยมีกิจการรับซื้อนุ่นและปั่นนุ่นอยู่ ๒ โรงงานที่ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหนึ่งปั่นและส่งออกนุ่นไปที่อินโดนีเซีย แต่เดี๋ยวนี้ได้เลิกกิจการทั้งหมดไปนานแล้ว
  • ผู้ที่บุกเบิกกิจการทำนุ่นและผลิตภัณฑ์ที่นอนจารุภัณฑ์ คือท่านทนง วรัญญู (ภาพบน) คุณพ่อของพี่วิญญู วรัญญู ซึ่งเป็นนักกฏหมาย ลูกๆและครอบครัวก็เป็นนักกฏหมาย ทนายความหมดทุกคน
  • ที่นอนจารุภัณฑ์เป็นกิจการทำเครื่องนอนจากนุ่นและมีชื่อติดตลาดของประเทศ แต่ต่อมาก็ไม่สามารถสู้กับผลิตภัณฑ์ใยสังเคราะห์ อีกทั้งต้นนุ่นก็ถูกตัดเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่น ทำให้ต้องเลิกกิจการไปในที่สุดเช่นกัน
  • นุ่นไม่เปียกและอุ้มน้ำ แต่น้ำจะไหลผ่าน และสามารถใช้ทำเครื่องชูชีพได้ดีกว่าโฟม หากมีวัสดุห่อหุ้มไม่ให้สัมผัสกับประกายไฟโดยตรง นุ่นก็จะเป็นฉนวนกันความร้อนและไม่ไหม้ไฟ
  • หากทำที่นอน หมอน จะมีใยที่อากาศไหลเวียนได้ตลอดทำให้เย็น ซึ่งข้อนี้ยืนยันได้ครับ นอนที่นอนที่ทำด้วยนุ่น หรือหนุนหมอนที่ยัดข้างในด้วยนุ่น จะรู้สึกเย็นจากเครื่องนอนชนิดอื่นอย่างชัดเจน

พี่วิญญูไปได้ฝักนุ่นจากในวังสวนจิตรมาฝักหนึ่ง ก็เลยเพียรนำเอาเมล็ดมาเพาะเป็นกล้าต้นนุ่นได้หลายต้น เมื่อโตขึ้นก็แผ่กิ่งก้านรูปร่างเหมือนฉัตร และตอนนี้พี่เขามีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูกิจการของครอบครัวขึ้นมาอีกครั้งโดยจะเป็นคนปรับปรุงเทคโนโลยีต่างๆเอง ผมได้นั่งคุยและขอเรียนรู้เรื่องราวต่างๆเพื่อนำมารวบรวมไว้ในนี้ด้วย ด้วยความประทับใจ

เรื่องต้นนุ่นและเครื่องนอนที่ทำจากนุ่นนี้ให้การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงได้อย่างกว้างขวางถึงกันไปหมด ที่มาของการเขียนและวาดรูปหัวข้อนี้ไว้ก็สืบเนื่องมากจากการที่ท่านพระมหาและและคุณเสวกท่านได้คุยบันทึกข้อมูลชุมชนไว้เรื่องการทำหมอนและที่นอนเตรียมขึ้นบ้านใหม่และจัดงานแต่งงานของคนหนองบัว รวมทั้งการทอผ้าและทำเครื่องนอนอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่ในที่สุดก็สามารถเชื่อมโยงให้เห็นการประกอบการในสังคมไทย

พี่วิญญูรอบรู้เรื่องนุ่นทั่วประเทศไทย ท่านบอกว่าที่หนองบัว อุทัยธานี สุโขทัย รวมไปจนถึงขอนแก่นและภาคอีสาน สามารถปลูกนุ่นและเคยผลิตปุยนุ่นให้กับที่นอนจารุภัณฑ์ด้วย ที่อุทัยธานีนั้นมีประสบการณ์ในการปลูกนุ่นเป็นพืชไร่

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ผมได้ไปเป็นวิทยากรให้แก่เครือข่ายทำงานสุขภาพภาคประชาชน ของศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคกลาง จังหวัดชลบุรี ที่ชมเดือนรีสอร์ต จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียน เรื่อง ตำบลจัดการสุขภาพ สู่นวัตกรรมสุขภาพชุมชน ๗๓. การพัฒนานวัตกรรมสร้างสุขภาวะชุมชน : วิธีคิด การถอดบทเรียน การนำเสนอและสื่อสารเผยแพร่ [คลิ๊กเข้าไปอ่านที่นี่]

                      

                     

                      

                     

                     

  ในเวทีดังกล่าว   ผมได้นำเอาเวทีคนหนองบัวไปยกตัวอย่าง ทั้งในแง่ของกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันสร้างความรู้ของชาวบ้านและคนจากชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งในแง่ความเป็นนวัตกรรมที่ร่วมกันคิดและสร้างขึ้นจนสามารถผสมผสานวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับวิถีความรู้ของชาวบ้าน สะสมความรู้และเป็นระบบปฏิบัติการสร้างความรู้ พร้อมกับจัดการความรู้ สื่อสารกับสังคมเรียนรู้สาธารณะอย่างกว้างขวางทั้งในระดับประเทศและจากทั่วโลก และผมได้ยกตัวอย่างจากเรื่องต้นนุ่นกับการทำเครื่องนอน

หลังจากทำงานกันในเวทีเสร็จ ก็มีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง ท่านเป็น อสม.ดีเด่นระดับชาติและเป็นผู้สูงวัย ได้เดินเข้ามาทักทายและขอแนะนำตัวว่าท่านได้เห็นเรื่องราวในเวทีคนหนองบัวและเรื่องต้นนุ่นกับกิจการทำที่นอนจารุภัณฑ์ของครอบครัววรัญญูที่ราชบุรีแล้วมีความสุขมาก เพราะท่านบอกว่าในอดีตเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อนโน้นท่านเป็นคนเย็บที่นอนของที่นอนจารุภัณฑ์

ผมเองนั้นก็ประทับใจมากอย่างยิ่งที่เรื่องจากพื้นถิ่นคนหนองบัว สามารถถักทอและเชื่อมโยงความเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันของสังคมไทยและโลกกว้างด้วยแง่มุมที่เห็นความงดงามของชีวิตผู้คนหลากหลายมิติ เห็นความเป็นญาติพี่น้องผ่านความเป็นปัจจัยแห่งการดำรงอยู่ด้วยกันในสังคมที่สัมผัสได้ เป็นความรู้ที่สร้างขึ้นจากวิถีชีวิตซึ่งให้ทั้งความซาบซึ้ง ควรค่าแก่การน้อมรำลึก และเกิดความเคารพต่อพลังแห่งความสร้างสรรค์ของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม มากยิ่งๆขึ้น.

นางหนู วรัญญู

เป็นคนโพธาราม  อาชีพเดิมพายเรือรับจ้างพาคนข้ามแม่น้ำแม่กลองที่อำเภอโพธาราม  ต่อมาได้ฝึกหัดการเย็บเปลือกที่นอน(เย็บด้วยมือไม่ได้ใช้จักร)ขายเพื่อให้คนซื้อนำไปยัดนุ่น  ด้วยเป็นคนมีฝีมือสามารถเย็บเปลือกที่นอนได้สวยต่อมาจึงสอนคนงานให้เย็บเปลือกที่นอนจำนวนมาก  นำไปขายยังอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี  ต่อมาจึงมีคนแนะนำให้ยัดนุ่นเป็นที่นอนสำเร็จขาย  เลยเกิดกิจการทำที่นอนที่ อ.โพธาราม  ลูกๆ นางหนู ทำโรงานที่นอนนุ่น 3 โรงงานด้วยกัน คือ ที่นอนกิมเจียง , ที่นอนจันทนา และที่นอนจารุภัณฑ์

ต่อมามีญาตินางหนู มาเรียนทำที่นอนนุ่นไปเปิดกิจการที่จังหวัดสุพรรณบุรี

รวมทั้งพี่สาวนางวัจนี วรัญญู (ภรรยานายทนง วรัญญู)  ได้เปิดร้านที่นอนนิทราทิพย์ ที่ ต.อ่างศิลา อ.เมือง จังหวัดชลบุรี

ปัจจุบันเจ้าของร้านที่นอนได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว  คงเหลือนางวัจนี วรัญญู ภรรรยานายทนง วรัญญู เพียงคนเดียว

และยังคงมีช่างเย็บที่นอนด้วยมือ เหลืออยู่ 2 คน  อายุ 80 ปี ยังแข็งแรง  ปัจจุบันทำงานเป็นช่างทำตุ๊กตา

ผมขอขอบคุณอาจารย์วิรัตน์  เป็นอย่างมากที่บันทึกเรื่องราวนี้

 

  • เห็นความเป็นชุมชนโพธารามในอีกแง่มุมหนึ่งเลยนะครับ
  • เก็บรวบรวมไว้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะครับ เพราะบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากจริงๆ
  • มีเรื่องราวอย่างนี้ไว้ให้ศึกษาเรียนรู้สังคมท้องถิ่นต่างๆ ก็จะเห็นพัฒนาการและความเป็นชีวิตจิตใจของผู้คนได้ดีขึ้น

ขอบคุณค่ะ..ตามมาดูการทำหัตถกรรมจากนุ่น สะท้อน " การถักทอและเชื่อมโยงความเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันของสังคมไทยและโลกกว้างด้วยแง่มุมที่เห็นความงดงามของชีวิตผู้คนหลากหลายมิติ เห็นความเป็นญาติพี่น้องผ่านความเป็นปัจจัยแห่งการดำรงอยู่ด้วยกันในสังคมที่สัมผัสได้ เป็นความรู้ที่สร้างขึ้นจากวิถีชีวิตซึ่งให้ทั้งความซาบซึ้ง ควรค่าแก่การน้อมรำลึก และเกิดความเคารพต่อพลังแห่งความสร้างสรรค์ของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม มากยิ่งๆขึ้น."

เป็นหัวข้อที่รวบรวมข้อมูลได้มากขึ้นเรื่อยๆเลยนะครับ
เชื่อมโยงไปได้ไกลถึงระดับนานาชาติเลยทีเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท