มูลนิธิหนองบัว : มรดกชีวิตและจิตวิญญาณของคุณครูอุดม โต๊ะปรีชา เพื่อพัฒนาการศึกษาและสังคม


เมื่อวาน วันอังคารที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ ผมได้ทราบข่าวคราวจากเพื่อนๆพี่ๆน้องๆจากหนองบัว รวมทั้งผ่านเว๊บล๊อกเวทีคนหนองบัวว่าคุณครูเก่าแก่ของคนหนองบัวหลายรุ่น คือ คุณครูอุดม โต๊ะปรีชา ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้วเมื่อเช้าวานนี้

คุณครูอุดม โต๊ะปรีชาเป็นคุณครูเก่าแก่ดั้งเดิมที่สุดท่านหนึ่งของโรงเรียนหนองคอกหรือโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเมื่อก่อนนั้น หนองบัวเป็นชุมชนที่ห่างไกลความเจริญ อยู่บ้านนาป่าดง ครูขาดแคลนทั้งในระดับประถมและมัธยม คุณครูหนึ่งคนจึงต้องสอนและทำหน้าที่หลายอย่างทั้งเพื่อเด็ก โรงเรียน รวมทั้งงานชุมชนและหน่วยงานสาธารณะต่างๆที่อยู่ในอำเภอ คุณครูอุดม โต๊ะปรีชาของหนองคอกและครูของคนหนองบัวก็เช่นกัน คุณครูต้องสอนทั้งอาหารและคหกรรม ศิลปะและวาดเขียน วิชาลูกเสือ และบางครั้งก็ดูแลกิจกรรมวิชาเกษตร สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ คุณครูนับว่าเป็นครูที่ส่งเสริมกิจกรรมของสาธารณะ ทั้งของโรงเรียนและของอำเภอมากที่สุดท่านหนึ่ง ท่านเป็นมือถ่ายรูปกิจกรรมต่างๆ ทั้งของโรงเรียนและของอำเภอหนองบัว นับแต่ยุคที่คนหนองบัวส่วนใหญ่ไม่เคยถ่ายรูป คุณครูมีกล้องแบบ Single Lens Reflex กับจักรยานคู่ชีพ ไปทุกหนแห่งจนผู้คนเห็นจนเจนตาว่าในอำเภอหนองบัวมีอยู่คนเดียว ก่อนที่ต่อมาจะมี คุณครูทิม บุญประสม เล่นกล้องถ่ายรูปและทำห้องอัดขยายรูปขาว-ดำในบ้านพักครูของตนเอง กับ ร้านถ่ายรูปแสงสุริยา ในตลาดหนองบัวซึ่งมาในยุคหลังคุณครูหลายปี

เมื่อครั้งที่คุณครูสุนทร สันคามิน เป็นคนดูแลกิจกรรมลูกเสือและเนตรนารี รวมทั้งการทำวงดุริยางค์และการซ้อมเดินสวนสนามในโอกาสต่างๆ และคุณครูทิม บุญประสมกับคุณครูปรีชา (ยังนึกนามสกุลท่านไม่ออก) บุกเบิกการตั้งวงดนตรีและปรับปรุงวงดุริยางค์ของโรงเรียน ทว่า ขาดงบประมาณและขาดเครื่องดนตรีหลายอย่าง คุณครูก็เป็นท่านหนึ่งที่ช่วยสมทบทุนและเสริมแรงสารพัดที่ท่านจะทำได้ กระทั่งไปตะพานหินและควักสตางค์ของตนเองซื้อทรัมเป็ตทองเหลืองอย่างดีตัวหนึ่งมาให้ใช้เล่นไปก่อนแล้วค่อยหาเงินมาจ่ายคืนคุณครูในภายหลังในราคาต่ำกว่าที่ท่านได้ซื้อมา

หลายคนมีความทรงจำดีๆต่อคุณครูอุดม โต๊ะปรีชาของเรามากมาย รวมทั้งผม โดยเฉพาะการลงโทษด้วยการบิดพุงเด็กๆผู้ชายแทนการตีด้วยไม้เรียว ซึ่งมีอยู่คนเดียว และอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องเล่าผจญภัย ถีบจักรยานยกกล้องในมือทำท่าเหมือนปืนขู่โจร ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ ยิ่งแก่ตัวและมองย้อนกลับไปก็ยิ่งนึกขำ

วิธีบิดพุงนั้นมันน่าจะจั๊กจี้ ทว่า ใครที่โดนต่างก็ออกปากเหมือนกันว่าเจ็บและจุก ส่วนการขี่จักรยานแล้วยกกล้องในมือขู่จนโจรหนีกระเจิงนั้น มานึกๆดูแล้ว น่าจะเป็นคุณครูเล่าให้เป็นเรื่องตื่นเต้นอำพวกเราให้มีนิทานฟังกันสนุกๆเสียมากกว่า เพราะคุณครูท่านเป็นคนถีบจักรยานช้า รอบคอบ รัดกุม และไม่น่ากลัวอย่างสิ้นเชิง แววตานิ่งเฉยทว่าเหมือนมีรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา กับบุคลิกดังกล่าวของท่านนั้น แม้นถือปืนจริงๆขู่ก็เชื่อว่าโจรผู้ร้ายก็จะไม่กลัว อีกทั้งพวกเราต่างก็ทราบโดยทั่วกันเป็นอย่างดีว่า คุณครูไม่ใช่คนที่จะทำสิ่งที่เป็นความเสี่ยงใดๆอย่างแน่นอน เพราะฉนั้น ก็คงจะเป็นเรื่องอำและเล่าให้ตื่นเต้นประสาโรงเรียนบ้านนอกในยุคนั้นของพวกเรา 

ผมยังนึกถึงภาพคุณครูออก เวลาพูดถึงตอนปล่อยมุขเด็ดว่าผู้ร้ายพอเห็นคุณครูยกกล้องในมือใส่ ความที่ไม่เคยเห็นกล้องถ่ายรูปและท่าทางนักเลง ก็ผงะและวิ่งหนีกระเจิง....คุณครูพูดถึงตรงนี้ก็จะทำเป็นหรี่ตา กระหยิ่มแบบมาดพระเอก...รอให้พวกเรารอฟัง พอได้จังหวะก็จะเล่าต่อ พวกเราก็ชอบ และยิ่งกลับไปนึกถึงก็ยิ่งรักคุณครูมากจริงๆ

เมื่อวานที่ผมได้ทราบข่าวนั้น คุณครูสืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว ซึ่งเป็นศิษย์หนองคอกของคุณครูรุ่นเดียวกับผม นอกจากแจ้งข่าวให้ทราบแล้วก็ได้คุยกันซึ่งทำให้ผมเพิ่งได้ทราบอีกหลายอย่างที่คุณครูได้ทำให้กับคนหนองบัว โดยเฉพาะกองทุนมูลนิธิหนองบัว

คุณครูสืบศักดิ์ เล่าให้ฟังว่าหลังจากเกษียณแล้ว คุณครูอุดม โต๊ะปรีชาก็มักทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ให้กับเด็กหนองคอกและคนหนองบัวอยู่เสมอ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือท่านได้ทั้งกองทุนมูลนิธิหนองบัว ด้วยเงินทุนส่วนตัว ๔๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นกองทุนนำเอาดอกเบี้ยและรายได้ที่เกิดจากการทำกิจกรรม ไปส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาและสังคมของคนหนองบัว ปีหนึ่งๆกองทุนจากมูลนิธิดังกล่าวจะมีดอกเบี้ย ๑ หมื่นกว่าบาท มูลนิธิที่คุณครูก่อตั้งขึ้นก็จะนำไปเป็นทุนการศึกษาของเด็กๆรวมทั้งให้การช่วยเหลือฉุกเฉินแก่คนทุกข์ยากและประสบภัยในโอกาสต่างๆ

นอกจากนี้ คุณครูได้ซื้อที่ดินและอุทิศให้เป็นของมูลนิธิไว้ ๑ แปลง ขนาด ๙๙ ตารางวา คุณครูได้ขอให้คนหลายฝ่ายในหนองบัวซึ่งโดยมากก็เป็นลูกศิษย์เก่าแก่หลายรุ่นของคุณครูมาร่วมกันเป็นกรรมการและดำเนินกิจกรรมต่างๆตามแนวทางที่คุณครูและกรรมการร่วมกันพิจารณา

คุณครูสืบศักดิ์เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังก็เนื่องจากก่อนที่ท่านจะสิ้นลมนั้น คุณครูท่านขอให้ลูกหลานนำเอาเสื้อของมูลนิธิหนองบัวไปใส่ให้ แล้วก็บอกฝากให้ช่วยกันดูแลต่อไปด้วย ท่านให้คุณครูสืบศักดิ์ช่วยเป็นประธานมูลนิธิและให้อยู่ในความดูแลของกรรมการที่จะช่วยกันดำเนินการต่อไป ผมได้ฟังแล้วก็ตื้นตันใจและตระหนักได้อยู่เสมอว่าท่านก็ปฏิบัติในความเป็นผู้ให้แก่ลูกศิษย์และคนหนองบัวมาอย่างนี้ตลอดชีวิตการเป็นครู

ลูกหลานและลูกศิษย์ลูกหาได้เตรียมการบำเพ็ญกุศลศพของท่าน คุณครูอุดม โต๊ะปรีชา ที่วัดหนองกลับตั้งแต่เมื่อวานนี้ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ กำหนดการต่างๆและการฌาปนกิจ ญาติพี่น้องและลูกศิษย์ลูกหาที่หนองบัวกำลังช่วยกันปรึกษาหารือในรายละเอียด ซึ่งก็คงจะมีคนนำมาบอกกล่าวให้ทราบในวันสองวันนี้

ขอกราบคารวะดวงวิญญาณของคุณครู และขอชวนเชิญทุกท่านที่เป็นลูกศิษย์ เพื่อนครู คนหนองบัว พ่อค้า ข้าราชการ ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองและบริหารจัดการท้องถิ่น ตลอดจนผู้เคารพนับถือของท่าน ได้กล่าวอาลัยหรือเขียนสิ่งต่างๆให้กับคุณครู ทั้งเพื่อเก็บไว้ในบันทึกนี้และนำเอาไปไว้เผยแพร่แสดงความเคารพคุณครูต่อไปในโอกาสต่างๆเมื่อช่วยกันทำกิจกรรมดำเนินงานมูลนิธิหนองบัว รวมทั้งขอเชิญทุกท่านใช้บันทึกนี้เป็นสื่อ บอกกล่าวและปรึกษาหารือเตรียมการต่างๆเพื่อเป็นโอกาสหนึ่งในการแปรความอาลัยต่อคุณครูอย่างยิ่งของทุกท่านในครั้งนี้ ไปสู่การได้ร่วมกันสืบสานปณิธานคุณครูอุดม โต๊ะปรีชา ตามพลวัตรปัจจัยสบายๆของทุกท่านครับ.

.....................................................................................................................................................................

    ขอชวนเชิญ    

ได้ทราบอีกอย่างหนึ่งว่า คุณครูอุดม โต๊ะปรีชา นอกจากตั้งกองทุนมูลนิธิหนองบัว ด้วยทุนตั้งต้นจากเงินส่วนตัวของท่าน ๔๐๐,๐๐๐ บาทแล้ว ท่านได้รวบรวมเงินซื้อที่ดินแปลงหนึ่งขนาด ๙๙ ตารางวาและยกให้กับมูลนิธิด้วย ผมได้หารือกับคุณครูสืบศักดิ์ว่า หากรวบรวมวัสดุสิ่งของไปสร้างเป็นที่พบปะและทำกิจกรรมทั้งของมูลนิธิ รวมทั้งเป็นที่พบปะของศิษย์เก่าและคนหนองบัวก็คงจะเหมาะสมดี โดยยังไม่ต้องทำให้สิ้นเปลืองมาก ทำตามกำลังทรัพย์และสิ่งของ เอาแค่เทพื้น ตั้งเสามุงหลังคาคุ้มแดดฝน แล้วก็ทำห้องพอได้เก็บวัสดุ-สิ่งของเครื่องใช้ ที่เหลือก็ซื้อเก้าอี้เอาไว้นั่งประชุมกัน โต๊ะ บอร์ด สำหรับใช้เป็นเวทีชุมชนง่ายๆ

เลยบอกกล่าวไปด้วยครับ เผื่อจะมีใครที่ไปร่วมงานจะถือเป็นโอกาสได้ทำอย่างอื่นไปด้วย สิ่งหนึ่งที่อาจนึกถึงได้ก็คืออาจจะหิ้วสิ่งของ ปูน หิน ไปแทนหรีด นำไปรวมๆกันสะสมทีละเล็กละน้อยไว้ก็ได้นะครับ เมื่อถึงตอนงานงิ้ว และหลายคนกลับบ้าน ก็จะสามารถตั้งกองผ้าป่าได้อีกนะครับ พอได้สิ่งของพอสมควรแล้วก็สร้างกันเลย ก็น่าจะดีนะครับ.

หมายเลขบันทึก: 401119เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2010 06:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

เข้ามาอ่านบันทึก และน้อมระลึกถึงความงดงามที่คุณครูอุดม ท่านทำเป็นต้นแบบไว้ค่ะ......ขอบพระคุณนะคะสำหรับบันทึกที่งดงาม

ขอคารวะต่อคารวะธรรมของคุณใบไม้ร้องเพลงเช่นกันครับ งดงามดีครับ

  • ผมขอทำบุญมอบอุทิศให้แก่พ่อฟื้น-แม่บุญมา คำศรีจันทร์ โดยร่วมสมทบกองทุนมูลนิธิหนองบัว ของคุณครูอุดม โต๊ะปรีชาและเหล่าลูกศิษย์คนหนองบัว ๑ พันบาทครับ
  • และในนามของผมกับภรรยา ๕๐๐ บาท ร่วมสมทบทุน กองทุนมูลนิธิหนองบัว เช่นกันครับ
  • จะนำไปมอบให้แก่กรรมการมูลนิธิต่อไปครับ แต่ผมมีงานประชุมวิชาการในวันเสาร์อยู่งานหนึ่ง หากไม่ได้กลับไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลให้อาจารย์ก็จะนำไปมอบให้ในภายหลังต่อไปครับ
  • หากเพื่อนๆพี่ๆและน้องๆ จะทำกิจกรรมอะไร ก็สื่อสารและบอกกล่าวให้ทราบทั่วกันในนี้ได้อีกที่หนึ่งนะครับ ผมเองก็ยินดีร่วมทำและร่วมสนับสนุนตามที่ทำได้ อย่างเต็มที่นะครับ
  • คุณฉิก คุณเสวก ได้ไปไหม หากได้มีโอกาสกลับบ้าน ก็ขอฝากถ่ายรูปเก็บไว้เยอะๆได้ไหมครับเนี่ย เชื่อว่าจะเป็นงานหนึ่งที่มีคนเก่าแก่ทุกสาขาของหนองบัวอยู่ในงานทุกวันเลย หาโอกาสรวบรวมไว้อย่างนี้ได้ไม่บ่อยนัก

    • เพิ่งทราบว่าคุณครูอุดมตั้งกองทุนมูลนิธิหนองบัว
    • ขออนุญาตเรียกชื่อคุณครูอุดมตามที่ชาวบ้านหนองบัวเรียกกันว่า "ครูดม"
    • คนทั้งหนองบัวหลายรุ่นจะเห็นภาพๆหนึ่งที่ชินตามากๆเลยเกี่ยวกับครูดม ภาพการถีบจักรยานคันใหญ่ๆ
    • ท่านน่าจะเป็นผู้หนึ่งที่ริเริ่มเลี้ยงไก่ชนคนแรกๆในหนองบัว กิจกรรมนี้จึงเป็นภาพที่พบเห็นบ่อยๆของชาวบ้าน ใครผ่านไปมา ก็มักจะเห็นไก่ชน สุ่มไก่ในบริเวณบ้านของท่านอย่างมากมาย
    • ขอสนับสนุนแนวคิดอาจารย์วิรัตน์ที่เชิญชวนศิษย์ของคุณครูและทุกท่านร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อการศึกษาในนามกองทุนมูลนิธิฯให้แก่เยาวชนลูกหลานในชุมชนหนองบัว
  • ผมก็เพิ่งได้ทราบเหมือนกันครับ แล้วก็เพิ่งทราบว่าท่านตั้งไว้นานหลายปีแล้ว
  • แต่มอบทุนการศึกษาให้เด็กนั้นคุณครูทำมาแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ อาจจะเป็นเพราะอย่างนี้ก็ได้ที่ทำให้ไม่ทราบว่าท่านได้ทำเป็นมูลนิธิ
  • ลูกศิษย์และคนหนองบัวทุกคนทราบกันดีว่า คุณครูอุดมเป็นผู้ที่เห็นคุณค่าของเงินและประหยัดมัธยัสถ์อย่างที่สุด คุณครูถีบจักรยานตลอดชีวิต เอาข้าวใส่ปิ่นโตไปกินที่โรงเรียน นุ่งกางเกงตัวเก่าๆ เก่าจนรัดพุงคุณครูคอด แต่คุณครูมีเงินให้ทุนการศึกษาและทำกิจกรรมที่โรงเรียนตลอด
  • เพียงทราบแค่นั้นก็นับว่ามากแล้ว แต่นี่ยิ่งได้ทราบว่าเงินที่คุณครูรวบรวมไว้นั้น ก็ยังเอามาทำเป็นมูลนิธิอุทิศให้กับหนองบัวถึง ๔ แสน รวมที่ขนาด ๙๙ ตารางวาในตัวเมืองอำเภอหนองบัวอีกก็เป็นล้านบาทอีก คุณครูดำเนินชีวิตอย่างคนจนสำหรับความสุรุ่ยสุร่าย แต่ร่ำรวยให้แก่การพัฒนาการศึกษาและช่วยเหลือสังคม ท่านมีชีวิตเป็นครูจริงๆ
  • หากถือเป็นตัวแบบอีกแนวหนึ่งของครูเพื่อชีวิตที่พอเพียงก็นับว่างดงามและ'ใช่' อย่างที่สุดท่านหนึ่งเลยนะครับ คุณครูพนม จันทร์ดิษฐ์แห่งโรงเรียนบ้านหนองไผ่ของเราซึ่งเป็นเครือข่ายโรงเรียนเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคงคุยแง่มุมนี้ให้ได้วิธีคิดดีๆเยอะ
  • ขอแสดงความเสียใจด้วยครับกับการจากไปของ คุณครูอุดม โต๊ะปรีชา เห็นด้วยกับรายการเชิญชวนของอาจารย์ ต่อไปจะได้มีรายการจัดกิจกรรมที่มูลนิธิได้ครับ

    ว่ากันว่า Old teacher never die

    • ตอนแรกที่อาตมาเห็นตัวเลขจำนวนเงินของกองทุนตั้งหลายแสน ก็นึกว่าท่านคงจะต้องเก็บรวมมาตลอดทั้งชีวติของท่านเป็นแน่ และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตามที่อาจารย์กล่าว
    • การที่ท่านสะสมให้ได้มากขนาดนี้ได้ต้องเก็บออมอย่างสุดๆ เลยเชียว และสิ่งที่เก็บสะสมไว้ทั้งชีวิตนั้นท่านก็นำมาทำประโยชน์สร้างสรรค์ทางการศึกษาให้แก่ลูกหลานในหนองบัวและสังคมอีกด้วย
    • นับว่าชีวิตของคุณครูเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบแห่งชีวิตดีที่งาม สร้างคุณค่าทางปัญญาให้เกิดแก่ชุมชนหนองบัวและสังคมอีกท่านหนึ่งตราบนานเท่านาน
  • สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
  • ใช่เลยครับสำหรับวิถีอย่างนี้ของคุณครูอุดม
  • ท่านทำให้คนหนองบัวเป็นนักเรียนที่จะต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดไป และตัวท่านเองก็รวบรวมเอาทุนชีวิตทั้งหมด มาเป็นพลังเกื้อหนุนส่งเสริมสังคมต่อไปแทนตัวท่าน never die ครับ never die  
  • นี่ผมไม่ได้หารือใครเลยละครับ ขอใช้สิทธิ์ความเป็นลูกศิษย์ของท่านและคนหนองบัวเลยนะครับ ที่จะขอส่งคุณครูอุดม โต๊ะปรีชาและกลุ่มคนที่ทำกองทุนมูลนิธิหนองบัวของท่าน ให้เป็น ความเป็นครูเพื่อศิษย์ ของกลุ่มครูและกลุ่มคนกับอาจารย์เลยละครับ
  • เสนอเป็นเครื่องให้พลังคิดและเป็นแรงบันดาลใจทั้งต่อคนทางการศึกษาและคนทำงานสาขาอื่นๆในสภาพที่ขาดโอกาสหลายด้าน
  • กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลครับ

    • ตรงแง่มุมที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงนี่ เป็นความยิ่งใหญ่ในจิตวิญญาณความเป็นครูของคุณครูมากอย่างยิ่งครับ
    • พวกเราลูกศิษย์และคนหนองบัวนั้นรู้กันดีว่าการใช้จ่ายเงินแต่ละบาทของคุณครูนั้น กว่าจะหลุดมือออกไปสัก ๑ บาท หรือ ๑ สลึง ในยุคของผมซึ่งก๋วยจั๊บชามละ ๑ บาท กับชามพิเศษ ๖ สลึงนั้น ๒-๓ ปีจึงจะได้เห็นสักครั้งหนึ่งเลยทีเดียว
    • แต่สำหรับการให้ทุนการศึกษาเด็กๆและนำมาทำเป็นมูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษากับพัฒนาสังคม ๓-๔ แสนบาทและรวมราคาที่ดินแล้วก็เป็นล้านบาทนั้น ก็สุดจะจินตนาการได้เลยนะครับว่าคุณครูให้ความสำคัญต่อการศึกษาเรียนรู้และการช่วยเหลือแบ่งปันของคนที่มีโอกาสดีกว่าให้แก่คนที่มีโอกาสน้อยกว่ามากเพียงไหน

    ขอร่วมไว้อาลัยแด่คนดีที่จากไปแต่กาย..ผู้อยู่เบื้องหลังรำลึกถึงมากมายนะคะ

    ในนามลูกศิษย์คุณครูและคนหนองบัว ต้องขอขอบพระคุณน้ำใจคุณพี่นงนาทด้วยอย่างยิ่งครับ

    • ภาพวาดคุณครูภาพนี้ ได้ดึงความทรงจำย้อนหลังกลับไปให้มีความแจ่มชัดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเลย
    • ได้เห็นความเคลื่อนไหวอื่นๆตามมาในชุมชนบ้านเราในยุคนั้นพร้อมกันไปด้วย เช่น ชาวบ้านหนองบัว ไปนา ไปไร่ ไปป่า ยานพาหนะที่ใช้ก็มีแต่เกวียนอย่างเดียวเท่านั้น ไฟฟ้าในหมู่บ้านก็ยังไม่มี ไปโรงพยาบาลหนองบัว ก็ใช้บริการรถสามล้อถีบ
    • โรงพยาบาลหนองบัวและบ้านคุณครู ที่มีความเป็นตัวเมืองในปัจจุบันนี้นั้น แต่เมื่อก่อนต้องถือว่าเป็นบ้านนอก ชานเมืองมากๆ เพราะเลยบริเวณนี้ไปเพียงเล็กน้อยก็จะเข้าเขตป่า เขา ลำเนาไพร
    • ขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ที่ได้เขียนบันทึกเรื่องราวงานชีวิตของคุณครูและวาดภาพอันเป็นภาพแห่งความทรงจำของลูกศิษย์และชาวบ้านหนองบัวนี้ไว้
    • เรื่องและภาพที่บันทึกไว้นี้ ก็จะเป็นประโยชน์ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวชีวิตของท่าน ประวัติของท่านก็จะเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชุมชนหนองบัวสืบไป

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลครับ

    • แถวนั้นไปจนกระทั่งถึง ๔ แยกต้นอีซึก ขยายตัวและเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาเลยนะครับ
    • เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาผมได้กลับบ้านก็นั่งดูสองข้างทาง ลองพยายามมองหาบ้านอาจารย์กับบ้านเพื่อนที่อยู่แถวหน้าโรงพยาบาลหนองบัวในอดีตอยู่นะครับ แต่ก็จำไม่ได้ ไม่เหลือเค้าเดิมเลยละครับ
    • บางส่วนก็เลยคิดว่าดีเหมือนกันอย่างที่พระคุณเจ้าว่านั้นเลยครับ ที่พระคุณเจ้าและพวกเราคุยๆกันแล้วก็เก็บรวบรวมไว้ทั้งข้อมูลการแลกเปลี่ยนสนทนา ภาพถ่าย และรูปวาด
    • ไม่อย่างนั้นคนเก่าๆก็สูญเปล่าในประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ตัดตอนความรู้และเรื่องราวพื้นเพของตนเองไปเลย เพราะให้จินตนาการความเป็นมาและหน้าตาอย่างในอดีตของชุมชนออกไปจากสภาพที่ร่วมสมัยกับยุคของเขาแล้วละก็ เชื่อว่ายากที่จะนึกภาพออก
    • ผมได้บอกแก่กรรมการมูลนิธิหนองบัว ที่คุณครูอุดมฝากให้คนหนองบัวและลูกศิษย์สืบทอดแนวคิดของท่านต่อไปว่า หากเว็บบล๊อกเวทีคนหนองบัวที่พวกเราช่วยกันทำนี้เป็นประโยชน์ต่อการใช้เป็นสื่อ รวมทั้งเป็นเวทีสาธารณะรองรับให้ใครก็ได้ที่อยากทำสิ่งดีๆผ่านเวทีคนหนองบัวและมูลนิธิหนองบัวแล้วละก็ ผมยินดีอุทิศให้เป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิหนองบัวและของคนหนองบัวไปเลย พร้อมกับยินดีร่วมดูแลและเขียนช่วยกันไปอย่างนี้ไปด้วย
    • ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวได้ดีขึ้นกว่าเดิมเสียอีกนะครับ

    กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแล และสวัสดีพี่วิรัตน์ และทุกๆท่าน

    • ได้อ่านเรื่องที่พี่วิรัตน์เขียนถึงคุณครูอุดมแล้ว ตั้งแต่เช้าวันที่ 6 ต.ค. พอตอนสายๆ คอมพิวเตอร์ก็มาเจ๊งพอดี ยังโชคดีที่ข้อมูลต่างๆยังไม่เสียหาย เลยไม่ได้มาแสดงความเห็นเพิ่มเติม ไปซื้อฮาร์ดดิสค์ตัวใหม่มาเพิ่งลงโปรแกรมเสร็จ ต่อเน็ตได้ก็รีบเข้าบล็อกหนองบัวก่อนเลย เพื่อจะมาอ่านต่อจากที่พี่วิรัตน์ได้บรรยายภาพของคุณครูอุดม
    • ภาพวาดลายไทย ลายกนกของคุณครูอุดมนั้นอ่อนช้อยมาก (พวกผมมักจะเรียกว่า จารย์ดม) เวลาได้เห็นภาพวาดเหล่านี้จะต้องนึกถึงคุณครูอุดมทุกครั้ง พี่วิรัตน์ที่ได้มีโอกาสมาเรียนต่อด้านนี้หลังจบจากม.ศ.3มาน่าจะเป็นศิษย์เอกของคุณครูคนหนึ่ง
    • ที่พี่วิรัตน์และพระอาจารย์ได้กล่าวบรรยายถึงคุณครูอุดม ทั้งเรื่องไก่ชนที่แกประคบประหงมอย่างกะลูก จักรยานคู่กายไว้เดินทางที่แกจะปั่นไปเรื่อยๆ กล้องถ่ายรูปคล้องสะพายข้างตัวเวลามีงานต่างๆ ตลอดจนการใช้ชีวิตที่สมถะ การเอาข้าวกลางวันไปกินที่โรงเรียน ภาพแบบนี้คิดว่าลูกศิษย์คุณครูทุกคนจะต้องชินตา
    • เวลาที่มีการรวมรุ่นกัน พวกเรามักจะถามถึงอาจารย์คนนั้นคนนี้ มีอาจารย์หลายท่านที่พอพวกเรากล่าวถึงแล้วบางคนอาจจะนึกไม่ค่อยออก ลืมเลือนไป แต่กับอาจารย์อุดมแล้วทุกคนในรุ่นจะต้องรู้จักทันที ไม่มีคำถามกลับมาว่า คนไหน สอนวิชาอะไร เปรียบเหมือนเป็นปูชนียบุคคลที่อยู่ในใจของลูกศิษย์ทุกคน
    • อาจารย์อุดมมีลูก 3 คน ทุกคนก็จบจากหนองคอก คนโต-พี่จิ๋ม/รุ่น15 คนกลาง-ตุ๊ก/รุ่น17 รุ่นเดียวกับผม และคนเล็ก-หนุ่ม/รุ่น19 ผมมีโปรแกรมจะกลับหนองบัววันอาทิตย์อยู่แล้ว จะพยายามเก็บภาพ และบรรยากาศต่างๆมาให้ได้มากที่สุด

      สวัสดีครับฉิกครับ

      • ช่วงนี้สงสัยจะเป็นทั้งระบบกระมัง ของพี่และหลายคนที่มหาวิทยาลัยก็เป็นครับ
      • คุณครูอุดมสอนศิลปะของพวกเราด้วย พี่ชอบวาดรูปด้วย แต่ตอนที่สนุกนั้นต้องเป็นตอนส่งงานและตรวจให้คะแนน พวกนักเรียนมักจะไปยืนออ ห้อมล้อมคุณครูเหมือนรอแจกขนม พอคุณครูให้ใครเท่าไหร่ก็เฮกันสนุกสนาน คุณครูอุดมพอให้คะแนนและพวกเราเฮตาม ก็จะเว้นระยะสักนิดหนึ่งแล้วก็ทำเป็นยิ้มกริ่ม สนุกครับ สนุกตรงลูกเล่นของคุณครูกับพวกเราอย่างนี้แหละ
      กำหนดการฌาปนกิจศพคุณครูอุดม โต๊ะปรีชา วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๐๐น. ณ.วัดหนองกลับ

       

      • ฝีมือด้านวาดเขียนของคุณครูอุดมนี่ไม่เป็นสองรองใครเลย ยังสงสัยอยู่ว่าคุณครูจบจากสถาบันไหนมา ลายไทยต่างๆเขียนได้สวยงามมาก ลายกนกเอย กระจังตาอ้อยเอย นี่คือพื้นฐานลายไทยที่ลูกศิษย์เอาไปต่อยอดต่อไปได้ เรื่องการส่งงานคุณครูนั้นก็เป็นที่สนุกเฮฮา โดยเฉพาะพวกผู้หญิง คุณครูจะเมตตาเป็นพิเศษ คะแนนจะได้เต็มซะเป็นส่วนใหญ่ ฟ้าเป็นฟ้า น้ำเป็นน้ำ พวกเราผู้ชายต้องใช้วิธีฝากให้พวกผู้หญิงส่งให้ก็จะได้คะแนนเพิ่มขึ้น เพื่อนผู้หญิงบางคนขอยืมงานของเพื่อนผู้ชายมาส่งกลับได้คะแนนดีกว่าเจ้าของผลงาน คนที่สามก็เอางานชิ้นนี้มาลบคะแนนแล้วเอาไปส่งอีกก็โดนคุณครูเบรกมาว่า อ้าวๆ เอ๊ะอ้าว นี่มันรอบสามแล้วนี่ ความเมตตาของคุณครูนั้นมีให้ลูกศิษย์เสมอแต่ก็มีขอบเขตไม่เกินเลยไป 
      •  ผลงานของคุณครูที่สำคัญอีกอย่างคือการอนุรักษ์ป่าข้างโรงเรียน คุณครูมักจะนำพวกเราไปจัดการพวกหญ้าคา เถาวัลย์ โดยเฉพาะต้นสาบเสือที่ขึ้นรกทึบ เพื่อให้เป็นป่าที่โปร่งร่มครึ้ม ที่สามารถเข้าไปได้ จนเดี๋ยวนี้ป่าข้างโรงเรียนก็จะมีสภาพไม่รกทึบน่ากลัวมาก โปร่งร่มเย็นสบายตา 
      • เมื่อวานได้คุยกับตุ๊ก ลูกสาวคนกลางของคุณครูซึ่งมีกิจการขายเครื่องเขียน บอกว่ากำลังจะเข้าไปค้นหาข้อมูลเก่าๆของคุณพ่อเพื่อจัดทำชีวประวัติเก็บไว้ วันอาทิตย์คงได้เจอจะถามรายละเอียดการจัดทำ และจะเอาเนื้อหาที่พี่วิรัตน์เขียนไว้ที่บล็อกนี้ไปให้ดู ถ้ามีเวลาก็ว่าจะเอางานที่พี่วิรัตน์ได้กล่าวถึงคุณครูนี้ ทำไว้หลายชุดหน่อยเอา ไปแจกจ่ายในงานด้วย เพื่อเผยแพร่เวทีคนหนองบัวให้ได้รู้จักมากขึ้น
      • วันก่อนครูออด (ที่พี่วิรัตน์ไปเจอที่วัดป่าหนองบัว) ได้ฝากรูปที่ได้ถ่ายไว้ในงานร่วมกับตุ๊กลูกสาว และหนุ่มลูกชายของคุณครู (หน้าตาเหมือนคุณครูเลยนะ)

       

      สวัสดีทุก ๆ ท่านครับ

      ตามมาเพื่อขอคารวะ ดวงวิญญาณของท่านอาจารย์อุดม......

      ครูผู้ใหญ่ของลูกศิษฺย์ชาวโรงเรียนหนองบัวของเราครับ

      • เห็นรูปน้องทั้งสองท่านที่เป็นลูกของคุณครูอุดมแล้วก็ต้องนั่งยิ้มเลยละครับ เหมือนคุณครูมากเลย
      • ขอบคุณฉิกและครูออดที่เอารูปและรายละเอียดของงานมาบอกกล่าวกันนะครับ รู้สึกเหมือนได้ไปร่วมงานด้วยเลย

      เรียนพี่อาจารย์...ในเว็บhttp://www.watchari.com/board/index.php?topic=2234.msg10841;topicseen#msg10841 เขาก็แจ้งมาว่า

      santi suwannapuek
      สมาชิก

      กระทู้: 0

          (ไม่มีหัวข้อ)
      « ส่งให้: ♪♪Webmaster♪♪ เมื่อ: 06,ตุลาคม,2010, 10:12:18 PM » อ้างถึง ตอบ ลบทิ้ง   

      --------------------------------------------------------------------------------

      ส่งข่าวอาจารย์ธรรมวิทย์ สุวรรณพฤกษ์ เสียชิวิตเเล้ว ศพ ตั้งที่ ศาลา 1 วัดชลประทานฯ เเคลาย ปากเกร็ด  ศพ จะเผาเสาร์ ที่ 9 นี้เเล้ว ลูกศิษย์ เพื่อน ญาติ พี่น้อง โปรดเเจ้ง ทางญาติไม่ได้ประกาศให้ทราบ

      อ.ธรรมวิทย์(ธนิตย์) สุวรรณพฤกษ์
      http://www.watchari.com/board/index.php?topic=1839.0 ผู้วาดสีน้ำ วิถีไทย

       

      • ผลงานของอาจารย์ธรรมวิทย์ดูสวยงามและได้เรียนรู้สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ไปด้วยเลยนะครับ
      • ถึงแม้งานจะเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อบ่ายวันนี้ แต่ก็ยังเข้าไปชมผลงานของอาจารย์ได้ตามลิงก์ที่คุณครูอ้อยเล็กนำมาฝากเวทีคนหนองบัวนะครับ

                              

      ขอเอางานศิลปะมาคารวะดวงวิญญาณของคุณครูอุดม โต๊ะปรีชาของลูกศิษย์ลูกหาโรงเรียนหนองคอกครับ เวลาผมคิดถึงคุณครูอุดมนั้น อริยาบทที่ผมมักคิดถึงคุณครูมากกว่าตอนอื่นๆก็มักจะมีอยู่ ๓ อริยาบท คือ ตอนที่คุณครูกำลังถีบจักรยาน ท่าเดินของคุณครูที่แต่งชุดลูกเสือ และการยืนวาดรูปด้วยชอล์คบนกระดานดำ

      คุณครูแต่งตัวเป็นระเบียบเรียบร้อย ชุดลูกเสือของคุณครูนั้นก็สวยและงดงามกว่าเพื่อน หมวกของคุณครูกับหมวกลูกเสือของคุณครูสุนทร สันคามินนั้นจะเหมือนกันคือเป็นหมวกสานอย่างดี สีน้ำตาลเข้ม

      ห่วงที่ติดผ้าผูกคอนั้น คนทั่วไปก็จะใช้ห่วงทองเหลือง แต่คุณครูจะใช้ห่วงที่สานด้วยเส้นหวายและทาสีน้ำตาลเข้ม หัวเข้มขัดของคุณครูก็ทำด้วยหัวทองเหลืองที่หนาและลายชัดเจนสวยงามกว่าใคร เมื่อได้เรียนศิลปะแล้วผมจึงพอจะนึกภาพออกว่าคุณครูมีความรู้ที่จะเลือกได้ดีกว่าคนอื่น เพราะคนที่ดูลายนูนสูงและงานหล่อโลหะเป็นก็จะรู้ว่าหัวเข็มขัดลูกเสือของคุณครูนั้นดีและอย่างแพงกว่าใคร คุณครูจะขัดบรัสโซจนมันวาว จำได้ว่าหัวเข็มขัดทองเหลืองของคุณครูอุดม โต๊ะปรีชากับคุณครูสุนทร สันคามิน จะวาววับกว่าใคร

      ครั้งหนึ่ง คุณครูอุดมกับคุณครูของพวกเรา จัดให้รุ่นพวกผมอยู่ค่ายวิชาลูกเสือ-เนตรนารีในป่าข้างโรงเรียน ซึ่งในปัจจุบันนี้ บริเวณที่เป็นป่าก็คือบริเวณที่เป็นสนามบาสของโรงเรียนนั่นเอง เมื่อนอนในป่า คุณครูอุดมและคุณครูท่านอื่นๆ ก็จะคอยสร้างสถานการณ์ให้พวกเราเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาเป็นกลุ่ม หลักคิดก็คือการใช้ชีวิตลูกเสือ เรียนรู้ความมีระเบียบวินัย เรียนรู้ความเป็นพลเมืองดีของสังคม มีความสามัคคี รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รวมทั้งเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถดำรงชีพและอยู่รอดในข้อจำกัดต่างๆ กิจกรรมต่างๆที่คุณครูสร้างสถานการณ์ให้พวกเราได้ทำและแก้ปัญหา ก็จะเป็นคะแนนของกลุ่มและหมู่ลูกเสือไปด้วย

      เย็นวันหนึ่งระหว่างตั้งค่าย หมู่ลูกเสือก็เตรียมหุงหาอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องสนุกและให้ความรู้สึกเผชิญความเป็นจริงของชีวิตได้อย่างดียิ่ง เพราะคนส่วนใหญ่หุงข้าวและทำกับข้าวด้วยตนเองยังไม่เป็น เพียงแค่ก่อไฟเป็นและหุงข้าวไม่ให้แฉะหรือไหม้ ก็แย่แล้ว เป็นกิจกรรมที่ให้บทเรียนการดำเนินชีวิตรวมกลุ่มเป็นอย่างดีที่สุด

      หลังจากหุงหาอาหารและเตรียมการต่างๆเสร็จแล้วก็เตรียมรับประทานอาหารกัน แต่จู่ๆคุณครูก็ออกมาประกาศท้าทายแก่หมู่ลูกเสือทั้งหมดว่า ตอนนี้ถึงเวลากินข้าวแล้ว เราจะกินข้าวพ้อมกัน แต่ว่า ตอนนี้มีพวกเราเอาน้ำพริกมาให้ครู ครูมีน้ำพริกแต่ไม่มีผักกิน อยากกินผักบุ้ง แต่ผักบุ้งดิบก็จะไม่สะอาด เลยอยากได้ผักบุ้งลวกกินกับน้ำพริก ลูกเสือหมู่ไหน ไปหาผักบุ้งมาได้และทำผักบุ้งลวกมาให้ครูกินได้ จะให้คะแนนไปตามลำดับก่อนหลัง หมู่ไหนได้ก่อน หมู่นั้นได้มากที่สุด และหากไม่เกิน ๑๐ นาที ก็เอาไปเลยเต็ม....ประมาณนี้

      เป็นเรื่องสิครับ หูผึ่งและตื่นเต้นจนลืมมื้อข้าวไปเลย ลูกเสือทุกหมู่รวมตัวและวางแผนกันปฏิบัติการในแต่ละกลุ่มของตนเองอย่างระวังความลับจะรั่วไหล จัดการแบ่งงาน มอบหมาย กำกับและบังคับบัญชาการปฏิบัติการกลุ่มของตนเองอย่างเป็นระบบ เรียกว่ารวมตัวกันเป็นกลุ่มจัดการความรู้เพื่อให้ทันใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เป็นต้นว่า วิธีไปหาผักบุ้งจะต้องไปทางไหน ไปอย่างไร ใครไปหา ใครจะไปหาฟืนและเชื้อเพลิง ใครจะก่อไฟ ใครจะไปหิ้วน้ำ จะเอาภาชนะอะไรมาต้มน้ำ ....แต่ละขั้นตอนถูกวิเคราะห์อย่างรวดเร็วและกระจายการปฏิบัติแข่งกับเวลาโดยพลัน

      ปรากฏว่าเกือบทั้งหมดหน้าดำคร่ำเครียดกับการก่อไฟ..ก่อไฟไม่ติดครับ คุณครูก็ทำเป็นสร้างสถานการณ์เร่ง ทำเป็นว่าจะรอไม่ไหวแล้ว นานจังเลย

      ในหมู่ผมนั้น เมื่อทำท่าจะก่อไฟไม่ติดเหมือนกับหมู่อื่นๆเหมือนกันก็ชักเริ่มสุมหัวกันใหม่ เพราะความรู้จากคุณครูวิทยาศาสตร์นั้นบอกแก่เราว่า กว่าน้ำในหม้อจะร้อนและเดือดได้ก็ต้องใช้เวลากว่า ๑๕ นาทีขึ้นไป แล้วนี่จะต้องรวมช่วงเวลาที่ก่อไฟไม่ติดกันอีก ทุกคนก็จนปัญญา

      ผมในฐานะที่หุงข้าวเป็นและคุ้นมือกับการก่อไฟอย่างยิ่ง ก็เลยเสนอโมเดลใหม่ ซึ่งก็เล่นเอาเพื่อนๆตาค้าง เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ทว่า ในเมื่อก็ไม่มีวิธีอย่างอื่นแล้ว ก็เลยลองเชื่อและทำตามผม

      ผมบอกว่าไม่ต้องก่อแล้วไฟ กว่าจะติดก็เป็นชั่วโมง ผมบอกว่าให้ไปหาใบไม้แห้งมาสักหอบหนึ่ง หญ้าแห้งหรือใบไม้แห้ง ไปเอามาเลย อีกคนหนึ่งให้ไปเอากระป๋องโอวัลติลเปล่าขนาดใหญ่ซึ่งในหมู่ของเรามีอยู่ ๑ ใบ มา เสร็จแล้วก็ตั้ง ๓ เส้า

      แนวคิดและสูตรของเรานั้นจะเป็นการต้มผักบุ้งด้วยไอน้ำ พอได้ใบไม้มาแล้ว ก็นำใบไม้มากองใน ๓ เส้าหย่อมเดียว พอใบไม้ติดไฟ ก็เอากระป๋องโอวัลตินเปล่าๆขึ้นไปตั้งบน ๓ เส้าและเหนือเปลวไฟ เพื่อนคนหนึ่งให้เติมใบไม้ลงไปอย่าได้ขาด ใบไม้แห้งและหญ้าแห้งจะติดไฟได้เร็วและต่อเนื่อง ทันการณ์ยิ่งกว่าก่อด้วยฟืนอย่างที่ทุกกลุ่มกำลังทำแน่ๆ

      อีกคนหนึ่ง เมื่อกระป๋องโอวัลตินร้อนฉ่ามากแล้ว ก็ให้ใช้ช้อนโต๊ะ ตักน้ำหยอดลงไปในกระป๋อง ความร้อนจะทำให้น้ำจำนวนน้อยกลายเป็นไออย่างรวดเร็ว เราจะหยอดน้ำลงไปอย่างต่อเนื่องสัก ๒-๓ ช้อน พอเกิดไอน้ำตลบแล้ว อีกคนหนึ่งก็ให้รีบใส่ผักบุ้งลงไปในกระป๋อง

      ไอน้ำจะมีความร้อนกระจายได้ทั่วและทำให้ยอดผักบุ้งสลบ จากนั้นเราก็รีบเอาฝากระป๋องปิดให้ไอน้ำได้อบผักบุ้งไว้สักครู่ ทุกคนทำตามที่ผมบอก ปรากฏว่าเป็นไปอย่างที่วางแผนได้เป็นอย่างดี หมู่ขอผมได้ผักบุ้งลวกสุกและใส่จาน นำส่งไปถึงเต๊นท์ของคุณครูได้ก่อนใครเพื่อน อีกทั้งทิ้งช่วงกันไปนานเลยทีเดียวเพราะกลุ่มอื่นต้องก่อไฟและต้มน้ำเกินกว่า ๒๐ นาที ส่วนในหมู่ของเรานั้นได้ผักบุ้งสุกไม่เกิน ๑๐ นาที ผมไม่รู้ว่าคุณครูได้นำไปกินกันจริงๆหรือเปล่า แต่กิจกรรมครั้งนั้นนับว่าเป็นวิชาลูกเสือจากคุณครูที่ให้ความสนุกตื่นเต้นมาก

      วิชาศิลปะที่คุณครูอุดมท่านสอน ก็เป็นวิชาหนึ่งที่ผมมักทำได้ดี แต่คะแนนก็จะไม่ดี คงจะเป็นอย่างที่ฉิกเล่าไว้แล้วนั่นแหละครับ แต่ผมก็ชอบ เพราะไม่ได้ชอบตรงได้คะแนน แต่ชอบตรงที่คุณครูทำให้มันสนุก ผมได้วิชาความรู้และฝีมือไปจากการอบรมสั่งสอนของคุณครูไป แล้วก็นำไปพัฒนาการเรียนรู้ ทำการทำงานได้พอควรแก่อัตภาพจนแม้นทุกวันนี้ จึงขอนำรูปเขียนของผมเองซึ่งเป็นรูปเขียนสีน้ำมัน เขียนเมื่อครั้งเรียนเพาะช่าง มากราบบูชาคุณครู  ...ขอกราบคารวะคุณครูอุดม โต๊ะปรีชาร่วมกับทุกท่านครับ 

      • ขอขอบคุณคุณฉิกที่นำรูปนี้มาฝาก หลังจากปี๒๕๒๓ ถึงปัจจุบัน(๒๕๕๓) สามสิบปีพอดี
      • เป็นสามสิบปีให้หลังที่ไม่ได้พบเห็นคนในครอบครัวของคุณครูอุดม ก่อนบวชนั้น(๒๕๒๓)ถึงจะไม่รู้จักโดยส่วนตัวเลย แต่ก็ได้เห็นท่านและครอบครัวอยู่บ่อยๆ
      • เมื่อเห็นรูปถ่ายทั้งสองท่านที่คุณฉิกนำมาลงไว้นี้ อาตมาจำได้ทันทีเลยว่า ทั้งสองท่านเป็นลูกครูอุดม
      • เลยก็ได้ทราบจากคุณฉิกว่าลูกคุณครูอุดมทุกคนนั้นไม่ได้อยู่ที่หนองบัว ทุกทคนประกอบกิจการส่วนตัว โดยสัมมาชีพมั่นคงดีทุกท่าน
      • วันนี้เป็นวันฌาปนกิจศพคุณครูอุดม ขอให้คุณงามความดีที่คุณครูบำเพ็ญสร้างสรรค์มาตลอดชีวิตของท่าน จงเป็นพลวปัจจัยช่วยอำนวยผลดลสุขในสัมปรายภพเบื้องหน้าด้วยเทอญ.
      • ขอน้อมคารวะ และขอคุณพระศรีรัตนตรัย รวมทั้งคุณงามความดีทั้งหลายที่คุณครูได้ปฏิบัติมาตลอดชีวิต จงเป็นพลวัตรปัจจัยให้ดวงวิญญาณคุณครูได้สุขสงบตลอดไป
      • ดีใจที่เพื่อนๆหลายคนได้กลับบ้านและได้ทักทายกัน โดยเฉพาะ อาจารย์ ผอ.ทองสุข อยู่ศรี คนเก่งของบ้านหนองบัว วัดเทพสุทธาวาส ซึ่งตอนนี้ไปเป็น ผอ.ของพื้นที่การศึกษาอยู่แถวแม่สอด
      • ทองสุขเป็นเพื่อนรักของผมและทุกคนของหนองคอกในทุกชั้นปีในรุ่นของพวกเรา เป็นนักร้องนำของวงดนตรีน้ำตาลเหลืองของหนองคอกและเป็นคนเรียนอยู่ในกลุ่ม Top-Five ของห้องคิงส์ตลอด
      • เมื่อวานได้มีโอกาสไปงานฌาปนกิจอาจารย์อุดม เหมือนกับเป็นงานชุมนุมศิษย์เก่าหนองคอก(โรงเรียนหนองบัว) มีครูบาอาจารย์เก่าๆมาหลายท่านเช่น คุณครูเขจร เปรมจิตต์ ครูใหญ่คนแรกของหนองคอก ซึ่งมาทันงานพอดีก่อนที่จะเริ่มพิธีไม่นาน คุณครูสุนทร คุณครูลัดดา คุณครูเหล่านี้รุ่นผมไม่ทันได้เรียน ท่านได้ย้ายไปสอนที่อื่นซะก่อน แต่ก็ได้ยินชื่อตลอดจากพวกพี่ๆที่เรียนอยู่ที่หนองคอก 
        อาจารย์โสภณ สารธรรม, อาจารย์เทิน ราชสันเทียะ, อาจารย์ขุน โอภาษี เป็นต้น ที่เป็นทั้งอาจารย์ผู้สอนและรุ่นพี่หนองคอกด้วย
        ลูกศิษย์ลูกหา และผู้ที่เคารพนับถือมาร่วมส่งดวงวิญญาณของคุณครูกันเยอะมาก
        มีตัวแทนศิษย์เก่าหนองคอกตั้งแต่รุ่น1ถึงรุ่นยี่สิบกว่าๆ ซึ่งรวมทั้งตัวผมด้วยที่ได้รับเกียรติเป็นตัวแทนรุ่น17 ขึ้นไปทอดผ้าบังสุกุล
      • ผมได้คัดลอกงานเขียนและรูปวาดที่พี่วิรัตน์ได้จัดทำไว้พร้อมทั้งความคิดเห็นต่างๆทำไว้ 10 ชุด(12หน้า) เอาไปแจกจ่ายในงานเพื่อเผยแพร่คุณความดีของคุณครูอุดม และประชาสัมพันธ์ บล็อกชุมชนคนหนองบัวไปด้วยในตัว โดยเฉพาะคุณครูเขจรได้ขอไป 1 ชุด และได้มอบให้กับตุ๊กลูกสาวคุณครูอุดมไว้ 1 ชุด มีหลายคนที่ไม่ได้ผมได้บอกไปว่าได้ให้ไว้กับอาจารย์สืบ และอาจารย์ประทวน ท่านละ 1 ชุด ให้ไปขอสำเนาได้  
      • ได้มีเวลาคุยกับพี่ติ๋มช่วงสั้นๆ พี่เขาไปอยู่อเมริกายี่สิบกว่าปีแล้ว เปิดร้านอาหารไทยที่ LA ชื่อร้าน OrigianlThai บอกว่าได้ส่งเงินมาให้คุณพ่อไว้ใช้เสมอ แต่คุณพ่อมักจะเอาเงินไปบริจาคให้มูลนิธิและการกุศลอย่างที่พี่วิรัตน์กล่าวไว้ พี่ติ๋มต้องคอยกำชับว่าต้องมีเหลือพอให้มีกินมีใช้ด้วย (พี่เขาบอกว่าเข้ามาดูบล็อกหนองบัวนี่ตลอด และฝากด้วยว่าใครไป LA แวะไปเยี่ยมได้นะจ๊ะ ป.ล.ผมได้ทำลิ้งค์ไว้ให้แล้ว) 
      • ชีวประวัติของคุณครูอุดมที่ผ.อ. ขุน โอภาษีได้เป็นผู้กล่าวในงานนั้น ผมได้ขอผ.อ. ขุนไว้แล้ว ภายในสัปดาห์นี้คงจะได้รับ แล้วจะรีบนำมาลงให้โดยเร็ว ซึ่งมีข้อมูลบางส่วนที่คงจะต้องให้พี่วิรัตน์ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้บันทึกของ มูลนิธิหนองบัว : มรดกชีวิตและจิตวิญญาณของคุณครูอุดม โต๊ะปรีชา เพื่อพัฒนาการศึกษา สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
      • เห็นรูปของพระหนุ่ม ลูกชายคนเล็กที่ได้บวชอุทิศส่วนกุศลให้คุณพ่อแล้ว อดยิ้มในใจไม่ได้ ช่างเหมือนยิ่งกว่าแพะกะแกะซะอีก ความเหมือนนี่ผมว่าเกิน 100 % นะ
      • เชื่อว่าคงมีลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่เคารพรักคุณครูอุดมอีกหลายท่าน ยังไม่ทราบว่าคุณครูได้จากพวกเราไปแล้ว อยากจะให้พื้นที่ตรงนี้ เป็นที่ที่ได้แสดงความอาลัยแด่คุณครูผู้ยิ่งใหญ่ของเรา 

      • เห็นรูปคุณครูเก่าแก่ทุกท่านแล้วให้แสนตื้นตันใจครับ ขอบคุณฉิกมากจริงๆครับ
      • เข้าใจว่าจะทำให้คนหนองบัวและศิษย์เก่าทั้งโรงเรียนหนองบัวเทพและโรงเรียนหนองคอกที่ไม่ได้ไปร่วมงาน ได้มีโอกาสได้น้อมใจรำลึกถึงและกราบคารวะคุณครูของเรา รวมทั้งได้คิดถึง-ผูกพันหนองบัวถิ่นฐานบ้านเกิดมากยิ่งๆขึ้นไปอีก ขอบคุณมากเลยนะครับ ทั้งการเล่าถ่ายทอดและการทำให้เห็นงานได้ทุกแง่ทุกมุม เป็นสื่อชาวบ้าน-สื่อศิษย์เก่าที่เหมาะแก่สถานการณ์จริงๆ
      • ยิ่งได้เห็นคุณครูเก่าแก่ทุกท่าน ในงานอย่างนี้และในวัยวารอย่างนี้แล้ว ก็ไม่เพียงทำให้เกิดความเคารพและคิดถึงท่านมากเท่านั้นนะครับ เห็นความศักดิ์สิทธิ์เปล่งออกมาจากคุณธรรมบารมีของทุกท่านเลย เหมือนเห็นลายไม้ที่เก่าแก่ สื่อสะท้อนจิตวิญญาณของสังคมที่หนักแน่น มีเรื่องราวงดงามต่อเนื่อง ทั้งคุณครูเขจร เปรมจิตต์ คุณครูสุนทร และคุณครูลัดดา สันคามิน คุณครูเทิน ราชสันเที๊ยะ คุณครูโสภณ สารธรรม และรุ่นพี่เก่าๆ รวมทั้งผู้นำชุมชนและนักการเมืองของท้องถิ่น เห็นแล้วผมจำได้หมดละครับ
      • คุณครูเขจร เปรมจิตต์ ดูเหมือนว่าท่านต้องเดินทางไปจากตาคลี และคุณครูสุนทรกับคุณครูลัดดา สันคามิน ท่านก็ต้องเดินทางไปจากจังหวัดนนทบุรี ต้องนับว่าเป็นขวัญและกำลังใจอย่างยิ่งทั้งของลูกศิษย์และคนหนองบัว
      • เห็นรูปพระหนุ่ม ลูกชายของคุณครูอุดม โต๊ะปรีชาของเราที่ฉิกถ่ายมาให้ได้ชมและทำความรู้จักกันในนี้ครั้งแรกแล้ว ก็หลงคิดไปว่าฉิกเอารูปคุณครูอุดมตอนบวชพระช่วงไหนของชีวิตที่ผมยังไม่เคยทราบมาให้ดูเสียอีก เหมือนครับ เหมือนจนเหมือนกับคุณครูอุดมมายืนให้ดูตรงหน้าเลย
      • ฉิก พี่ขุน และทุกท่านที่ได้ข้อมูลเพิ่มของคุณครู ก็ส่งมาให้ผมดำเนินการปรับปรุงต่อไปได้อีกทันทีเลยนะครับ
      • รูปถ่ายผู้คนแต่ละรุ่น หากส่งพอไหวก็ขอด้วยนะครับ จะได้เป็นแหล่งเข้ามาเยี่ยมเยือนของคนหนองบัวและช่วยเป็นสื่อให้ผู้คนแต่ละรุ่นวัยได้รู้จักคุ้นเคยกันมากยิ่งๆขึ้น
      • ขอบคุณฉิกมากเลยนะครับที่ทำให้รู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมไปด้วยอย่างใกล้ชิด วันนี้ผมเพิ่งสอบจบวิทยานิพนธ์นักศึกษาของผมชาวภูฏานได้คนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเหตุเดียวที่ทำให้ผมไม่ได้ไปร่วมงานของคุณครูอุดม โต๊ะปรีชาของเราเพราะผมเป็นที่ปรึกษาและเป็นประธานควบคุมผู้ต้องจัดการสอบให้แก่เขาให้เรียบร้อย หากเกิดความผิดพลาดหรือติดขัดอันใดนิดเดียวก็จะหมายถึงอนาคตและชีวิตการงานของเขา เขาเป็นนักศึกษารับทุนและเป็นชาวต่างชาติ จะเกิดความยุ่งยากหลายเท่ากว่านักศึกษาไทย รวมทั้งเกิดความเสียหายทั้งต่อผู้อื่นและต่อกรรมการท่านอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย
      • ก็เลยตัดสินใจไม่ไปและขอทำหน้าที่ครูให้กับลูกศิษย์ เป็นเครื่องบูชาคุณครูของเรา ซึ่งก็ไม่ผิดหวังครับเพราะนักศึกษาผมสอบผ่าน อีกทั้งได้รับความชื่นชมจากประธานกรรมการสอบซึ่งเป็นคนภายนอกจากมหาวิทยาลัยอื่นว่างานของเขานั้น Excellence หรือดีเยี่ยม พอเสร็จและได้มาเห็นรูปและการรายงานที่ฉิกนำมาเผยแพร่ในนี้แล้ว ก็ให้รู้สึกดีใจและอิ่มเอิบใจในจังหวะที่ดีมากจริงๆ
    • ขอคุยต่อจาก dialoque box ที่ ๒๔ สักหน่อยหนึ่งนะครับ เมื่อเช้านี้ต้องไปสอบวิทยานิพนธ์นักศึกษาเลยต้องวางมือก่อน
    • ทองสุข อยู่ศรี เป็นขวัญใจของเพื่อนๆในรุ่นที่ ๑๔ มากทีสุดคนหนึ่ง แต่ก็เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่หายแซ๊บไปเลย เวลามีงานเลี้ยงรุ่น หรือเมื่อเพื่อนๆมีการพบปะกัน ทองสุขก็จะเป็นคนที่เพื่อนๆมองทางและถามไถ่ถึงมากที่สุด ผมเองนั้น ตั้งแต่จบหนองคอกแล้วก็ไม่เคยเจอทองสุขเลย จากปี ๒๕๑๘ ถึงปีนี้ก็ ๓๕ ปี ก็ยังไม่ได้เจอกันอีก
    • เมื่อวานนี้ ทองสุขได้ไปร่วมงานของคุณครูอุดมของเราด้วย พอเสร็จแล้วก็โทรคุยกับผม เขาถามผมว่า จำได้ไหมว่าใคร ?!!!....ผมได้ยินเสียงแล้วตอบเชิงถามกลับอย่างไม่ลังเลว่า ทองสุขใช่ไหม ?!!!!  ไม่น่าเชื่อว่าถึงแม้จะกว่า ๓๕ ปีแล้ว ผมกลับคุ้นหน่วยเสียงของเขาและตอบทีเดียวถูก 
    • ทองสุขนอกจากเป็นที่รักของเพื่อนๆแล้ว ก็เป็นที่รักและที่เมตตาของคุณครูทุกท่านด้วย เขาเป็นมือหนึ่งจากวัดเทพสุทธาวาสกับนิจ เพ็ชรคง วิศวกรของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งไปจบโทของนิด้า แล้วก็ไปเป็นผู้อำนวยการกองวิชาการฯอยู่ที่สำนักงานเขตทางหลวงชนบทอยู่ที่สระบุรี
    • เพื่อนอีกคนในรุ่น ที่เพื่อนๆถามหาแต่ก็ยังตามกันไม่เจอเลยคือ แบน :  อนันต์  ศรีโมรา ข่าวว่าไปเป็นทหารเรือและอยู่ที่สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูงอยู่ข้างๆที่ทำงานผมนี่เอง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เจอกันสักที อันที่จริงแบนเป็นคนที่ผูกพันกับเพื่อนมากอย่างยิ่ง เขาติดเพื่อนฝูง น่าจะเป็นตัวกลางเจ้ากี้เจ้าการให้เพื่อนๆได้ติดต่อพบปะกันด้วยซ้ำ
    • ผม แบน สี หรือประสิทธิ์ รอดนิล จากห้วยวารี, ๓ คนนี้  เป็นที่ยอมรับกันในหมู่เพื่อนๆให้เป็นมือทำงานศิลปะของห้องและถือว่าเป็นลูกศิษย์ศิลปะของคุณครูอุดมกับครูทิม
    • เขียนบอกกล่าวไว้เพื่อให้ได้ทราบว่าเพื่อนๆคิดถึง ก่อนที่จะแก่จนไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ จะได้หาโอกาสเยี่ยมเยือนกันน่ะครับ
    • พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
      ClassStart
      ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
      ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
      ClassStart Books
      โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท