ท้องถิ่นในโลกความเชื่อมโยงที่อ่อนไหวและเต็มไปด้วยภัยพิบัติ...ควรวางทางเลือกอย่างไร


ตั้งแต่เมื่อกลางเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ กับอีกเพียงสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ ยังไม่ถึงเดือน สังคมไทยและสังคมโลกก็มีอุบัติภัยทั้งจากธรรมชาติและจากวิกฤติทางสังคมของมนุษย์ ก่อเกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงและพลิกผันสถานการณ์ต่างๆไปอย่างรวดเร็ว เห็นความไม่แน่นอน เห็นความเป็นโลกาภิวัตน์ทางภัยพิบัติ และเห็นความมีชะตากรรมร่วมกัน โดยต่างก็เป็นปัจจัยแห่งความทุกข์โศกโรคภัยซึ่งกันและกันทั้งหมดทั้งสิ้น อย่างที่เรามักกล่าวในบทแผ่เมตตา ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งๆขึ้น

นับแต่เริ่มมีข่าวคราวพายุเข้า ฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก กระทั่งเริ่มน้ำท่วมโคราช นครสวรรค์ หนองบัว ซึ่งก็สร้างความตระหนกชนิดที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นได้ คนโคราชไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน ไม่เคยมีปรากฏการณ์น้ำท่วมมาก่อน จึงคาดไม่ถึงว่าในชีวิตจะได้เจอกับน้ำท่วมและเสียหายมากมาย

เช่นเดียวกับคนหนองบัว เกิดมาก็หลายรุ่นแต่ก็ไม่เคยเห็นน้ำเอ่อขึ้นถึงที่ดอนอันเป็นที่ตั้งของตลาดและตัวเมืองหนองบัวเลย เคยเห็นแต่การขาดแคลนน้ำเพาะปลูกและน้ำอุปโภคบริโภคประสาเป็นที่ดอนและดินทราย แต่มาถึงปี ๒๕๕๓ นี้ ก็ต้องประสบกับน้ำบ่าทะลักทั้งจากแนวเขาข้างตัวเมืองและจากน้ำเหนือ ไหลเข้าท่วมร้านค้า ที่อาศัย วัด และโรงพยาบาล 

 จากนั้น ก็ต่อเนื่องด้วยน้ำท่วมภาคใต้และหนักสุดที่ตัวเมืองหาดใหญ่เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภาคใต้ ซึ่งมีบทเรียนจากน้ำท่วมก็หลายครั้ง อีกทั้งมีระบบป้องกันและจัดการน้ำท่วมที่เชื่อว่าจะไม่เกินกำลังมากไปกว่าที่เคยผ่านมาแล้วในอดีต แต่แล้วก็ต้องพบกับน้ำท่วมสูง ๒-๓ เมตรอย่างฉับพลันมากกว่าในอดีตหลายเท่า ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นทั้งย่านเศรษฐกิจและย่านที่อยู่อาศัยของเมือง

ร่องรอยของการสั่งสมสิ่งบั่นทอนระบบสังคม ระบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อ่อนแอ เข้าสู่ภาวะเสี่ยงต่ออุบัติภัยและสามารถเกิดภัยพิบัติต่างๆที่คาดไม่ถึงได้อยู่เสมอมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ อุบัติการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในเงื่อนไขแวดล้อมที่ต่างจากอดีตมากแล้ว

ทีมงานที่กำลังเตรียมไปดูแลระบบสุขภาพให้กับคนอื่นในภาคใต้ ก็กลับมาต้องประสบทุกขภาวะและเรียนรู้เพื่อช่วยตนเองเช่นเดียวกับทุกคน ที่เห็นในภาพนี้คือทันตแพทย์ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ สงขลา เข้าไปช่วยเหลือทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พากันไปช่วยถอดบทเรียนและจะพัฒนาเครือข่ายระบบโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพระดับตำบลภาคใต้ แต่ต้องยกเลิกการประชุมและติดอยู่ในโรงแรมตลาดกิมหยง ๓ วัน กำลังหาทางเดินออกจากแหล่งน้ำท่วม (ขอบคุณภาพจากอาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ)

ผลกระทบและผลสืบเนื่องต่อสังคมไทยโดยรวมเกิดขึ้นทันที นับแต่แผนงบประมาณที่จะมุ่งสู่ภาคการผลิต บริการ และการพัฒนาหลายสาขา ต้องนำกลับมาทบทวน เบื้องต้นก็ต้องระดมงบประมาณและทรัพยากรเข้ากอบกู้ความเสียหายจากน้ำท่วมในปีนี้ทั่วประเทศหลายหมื่นล้านบาท หน่วยงานต่างๆต้องนำเอาแผนงานและแผนงบประมาณต่อเนื่องกลับมาทบทวน และมีแนวโน้มว่าปีหน้า ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้หลายอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่คาดหวังไว้ก่อนหน้านั้น

มองออกไปนอกสังคมไทยและทั่วโลก ที่อินโดนีเซียก็เผชิญกับแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามี นอกจากเสียหายอย่างใหญ่หลวงแล้ว ก็มีคนบาดเจ็บล้มตายหลายร้อยคน

ที่สหรัฐอเมริกา ก็ต้องประสบกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหนัก ภาวะคนตกงานสูงสุด และระบบต่างๆทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ การพัฒนาสังคม ก็กำลังประสบกับวิกฤติปัญหาอย่างรุนแรง คนอเมริกันกว่า ๓๐ ล้านคนอยู่ในภาวะยากจนและอ่านเขียนหนังสือสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ รัฐบาลอเมริกาต้องทุ่มเงินเข้ากอบกู้วิกฤติครั้งนี้ คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๑๗ ล้านล้านบาท

มีแนวโน้มว่าวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา จะส่งผลกระทบและก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกรอบขึ้นทั่วโลก อุบัติภัยและวิกฤติการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นหลายทิศทางและทั้งจากธรรมชาติและจากวิกฤติสั่งสมในระบบสังคมระดับต่างๆ

กล่าวได้ว่าชั่วเวลาไม่ถึง ๑ เดือนที่ผ่านมานี้ โลกได้หมุนไปอย่างรวดเร็วด้วยแรงอุบัติภัยหลายระดับ และหลายอย่างเมื่อสูญสิ้นเสื่อมสลายไป ก็จะไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว

การเรียนรู้และพัฒนาสิ่งที่สั่งสมไว้เป็นทักษะชีวิต ทุนศักยภาพสะสมในตัวเอง และทักษะในการเผชิญปัญหา ตลอดจนความสามารถในการเผชิญภาวะวิกฤติต่างๆด้วยการพึ่งตนเอง สามารถแก้ปัญหาและแปรวิกฤติต่างๆให้เป็นโอกาสที่ดีได้อยู่เสมอ เป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาอย่างสั่งสมเหมือนกับการออมทุน-ออมทุนชีวิต ออมทุนทางสังคม เพื่อเป็นทุนต่อทุนและใช้เพื่อการพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงอยู่เสมอ

อีกทั้งในบางสถานการณ์ ดังเช่นในท่ามกลางวิกฤติมากมายทั่วโลก ณ เวลานี้ ก็จะเห็นได้ว่าสามารถให้ความมั่นคงทั้งแก่ปัจเจก ชุมชน และสังคม ได้มากกว่าทุนทางวัตถุเงินตราและความล้นเกินทางด้านอื่นๆเสียอีก.

หมายเลขบันทึก: 406941เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2010 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
  • หลายระดับตั้งแต่ชุมชนจนถึงระดับรัฐยังใช้วิธีตามแก้อยู่ ทำเป็นฤดูกาลไป จะบอกว่าตั้งรับก็ยังไม่มีแผนตั้งรับ เพราะเหตุเกิดตั้งหลายวันแล้ว เพิ่งจะตั้งศูนย์ทำงาน
  • ยุคนี้มีเครื่องมือสื่อสารถึงประชาชน ชนิดส่งถึงตัวถึงบ้านได้รวดเร็วที่สุด ซึ่งน่าจะช่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ช่วยไม่ทัน
  • อีกอย่างทุกๆคน ก็อาจนิ่งนอนใจในระดับหนึ่งว่าไม่น่าจะมีเหตุร้ายแรงอะไรมาก หรือคิดว่าบ้านเมืองของเราอยู่ในเขตที่ปลอดภัยจากมรสุมภัยพิบัติทางธรรมชาติก็ได้

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

  • พระคุณเจ้าอย่าลืมแวะเข้าไปดูกิจกรรมและประเด็นเนื้อหาของกิจกรรมเวทีมหิดล-คนหนองบัวของต้นปีหน้านะครับ
  • หากเป็นไปได้ก็จะขอกราบอาราธนาในฐานะเจ้าภาพ ช่วยเสนอแนะ ให้ข้อชวนกันคิด หรืออยากเห็นกิจกรรมอะไรก็สามารถริเริ่มด้วยการลองๆคิดและหารือกันก่อนได้ครับ
  • อีกทั้งในช่วงจัดงาน หากไม่ติดกิจนิมนต์อย่างอื่นและดูแล้วไม่ขัดต่อกิจอันพึงโคจรของสงฆ์ ก็จะขอกราบนิมนต์ไว้ล่วงหน้าเพื่อไปร่วมเสวนาด้วยนะครับ คุยและเสวนากันอย่างคนบ้านนอก-บ้านนอกที่อยากทำสิ่งดีให้คนรุ่นหลังๆในชนบทน่ะครับ ผมจะทำแผ่นโปสเตอร์เผยแพร่บล๊อกเวทีคนหนองบัวให้ด้วยครับ
  • คลิ๊กเข้าไปตรงท้ายๆบทความก็จะถึงหัวข้อการระดมความคิดเลยละครับ
  • น้ำท่วมที่หนองบัวมากเลยนะครับ
  • ผมกลับไปหาปลามาอีกแล้วครับ
  • นี่ไงครับที่ผมเรียกมันว่าตะคัด
  • บ้านอาจารย์เรียกว่าอะไร
  • ผมเอามาจากที่นี่ครับ

ที่ดักปลาครับ

 

  • แถวบ้านผมเรียก'ข่าย'ครับ ก็เรียกเหมือนกับที่อื่นๆหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะครับ แรกที่เห็นอาจารย์เรียก'ตะคัด'นั้นผมก็คิดว่าเป็นของแปลกที่ไม่เคยเห็นแน่เลย ที่แท้ก็เป็น'ข่าย'นี่เอง แถวบ้านจะเรียกว่าไป'ลงข่าย' หรือ 'ดักข่าย'
  • นี่ถ้าไปอยู่แถวบ้านอาจารย์และมีคนบอกให้เอื้อมหยิบ'ตะคัด'ให้หน่อยละก็ ผมคงหยิบ'ตะข้อง'ให้เขาแน่เลย

เรียนท่านอ.วิรัตน์

แถวบ้านพี่เรียกว่าอวนค่ะ

บางบ้านเรียกตาข่ายดักปลา

ตาถี่ๆไม่ใช้เพราะจะได้ปลาเล็ก

ต้องตาใหญ่ๆจึงจะดักปลาใหญ่

ให้ปลาเล็กรอดไป รอเติบโต ขยายพันธุ์

ปลาน้ำจืดแบบที่น้องอ.ขจิตดักมาไม่ต้องใช้ทุ่น

แต่ที่บ้านประจวบฯเห็นเขาลอยอวนทะเลต้องมีทุ่น

วิถีไทยหลากหลายแปลกดีคะ

  • พอเห็นแถวบ้านของคุณครูต้อยติ่งเรียกอวนแล้วก็ต้องยิ้มเลยละครับ
  • ที่ต้องยิ้มก็เนื่องจากแถวบ้านผมกับอาจารย์ขจิตนี่ เครื่องมือหาปลาอยู่ในระดับแม่น้ำลำคลอง
  • พอมาเจอระดับทะเลของคุณครูต้อยติ่งนี่หลบไปเลยครับ
  • ผมเคยเห็นอวนลอยยาวเป็นกิโลๆ พอเอาตะคัดหรือตาข่ายมาเทียบนี่ กองแหมะลงข้างๆแล้วละก็ ก็เหมือนเป็นของเด็กเล่นไปเลยละครับ
  • ทำให้นึกกลับกันเหมือนกันนะครับว่า เมื่อแรกไปเห็นทะเลนั้น ตื่นเต้นและประหลาดใจแทบตายว่าทำไมมันกว้างใหญ่อย่างนั้น แล้วคนที่เขาเห็นทะเลจนชินนี่ เวลาไปเจอคลองหรือน้ำตกนี่ จะรู้สึกเหมือนเห็นโลกย่อส่วน หรือเหมือนเห็นสวนบอนไซไหมนะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท