พลังผลักดันและโอกาสของการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาไทย


          วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2550  เวลา 13.30 -16.00 น. ศาสตราจารย์พรชัย  มาตังคสมบัติ :  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แสดงทัศนมุมมอง เรื่อง พลังผลักดันและโอกาสของการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาไทย  ในการอบรม นบม. ไว้ดังนี้

          พลังผลักดันในทัศนะของผม หมายถึง ความคาดหวังของสังคมไทยต่อมหาวิทยาลัย  ซึ่งมี 3 ประเด็นใหญ่ๆ  คือ

  1. คาดหวังให้มหาวิทยาลัยสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ
  2. คาดหวังให้มหาวิทยาลัยช่วยภาคผลิต ภาคอุตสาหกรรม ให้ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
  3. คาดหวังให้มหาวิทยาลัยชี้นำประเด็นปัญหาสังคมอย่างรู้จริง และเป็นกลาง

การสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ 

  • จำนวนมหาวิทยาลัยเปิดใหม่มีมากขึ้น สาขาวิชาใหม่ๆ มีมากขึ้น  ดูเหมือนว่าจะดี ที่โอกาสในการศึกษาในระดับอุดมศึกษาสูงขึ้น  แต่หลักสูตรที่เปิดรับนักศึกษาเยอะๆ รับเพียงเพื่อสร้างคนที่มีปริญญา  ขยายในสาขาที่ขยายง่าย และไม่ต้องลงทุน  ดังนั้น สัดส่วนของสาขาที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศต่อสาขาที่ไม่จำเป็น มีค่าน้อยมาก ประมาณว่า 30 : 70  เพราะฉะนั้น ควรพิจารณากันให้ดี ว่าสังคมต้องการอะไรแล้วจึงลงทุน และคุมกำเนิดสาขาที่ไม่จำเป็น
  • คุณภาพของเด็กที่เข้าเรียน และที่จบจากมหาวิทยาลัยต่ำมาก  เพราะระบบการศึกษาไทยเป็นระบบชอบเลียนแบบ  เรา copy รูปแบบของยุโรปมาเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว ลักษณะของหลักสูตรแบบนี้ จะเป็นแบบ Fix curriculum  เข้าสู่เนื้อหาเป็นลำดับขั้นแล้วค่อยไปปฏิบัติ  เพราะฉะนั้น วิธีการประเมิน คือต้องผ่านทุกวิชา  เช่น แพทย์ เรียน pre-clinic ผ่านแล้วจึงต่อด้วย วินิจฉัย  บำบัดรักษา  ป้องกันโรค  ดังนั้น ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เด็กต้องเรียนรอบรู้กว้างขวาง เข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็จะได้เรียนเจาะลึกเลย
  • การให้นักเรียน ม.ปลาย เลือกเรียน สายวิทย์  สายศิลป์  เป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์  ทำให้เด็กสายวิทย์ไม่สนใจวรรณคดี  ศิลปะ  เด็กสายศิลป์ไม่สนใจการคำนวณ ต้องแก้ไขการเรียนการสอนมัธยมปลายให้รู้รอบ อย่าบีบให้แคบ
  • สำหรับมหิดล มีการปรับปรุงวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต ตามมาตรฐานของทบวง แต่จะเปลี่ยนแนวคิด วิชา Introduction to….หรือ Elementary of  …. ทั้งหลาย ให้เป็นชื่อวิชาน่ารู้ เช่น ฟิสิกส์น่ารู้  ชีวน่ารู้  เคมีน่ารู้  ฯลฯ  ปูพื้นให้เพียงพอที่จะเป็นแก่นสารในการหาความรู้เพิ่มเติมในอนาคตได้  ซึ่งนิสิตทุกสาขาต้องเรียน รวมทั้งหมด 7 หน่วยกิต  9 หน่วยกิตสำหรับภาษา และอีก 14 หน่วยกิตให้แต่ละหลักสูตรไปพิจารณากันเอาเอง
  • บ่มฟักคนรุ่นใหม่ให้โตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ด้วย ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา  ให้แทรกซึมในทุกวิชา  โดย ม.มหิดล ดึงเอาอาจารย์ทั้งเก่าและใหม่ โดยเฉพาะอาจารย์ใหม่จับกลุ่ม 5-6 คนจัดสัมมนา เตรียม trainer ทำให้อาจารย์ทุกคนเข้าใจปรัชญาของการสอนเด็ก เรื่องไตรสิกขา  เรียกว่า จิตตปัญญาศึกษา  ผมยินดีต้อนรับทุกเครือข่ายครับ
  • ม. มหิดล ตั้งสถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้  ซึ่งต่างจากคณะศึกษาศาสตร์ หรือคณะครุศาสตร์   เพราะคนสอนไม่ใช่ตัวตั้งของการเรียนรู้  ศิลศาสตร์ของการเรียนรู้ ต้องเป็นของจริง Real Experience Learning เรียนรู้ประสานกับทุกแขนงวิชา  เป็นการเตรียมเด็กให้จบไปรู้จริง ทำงานได้

การบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยภาคผลิต ภาคอุตสาหกรรม ให้ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

  • ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของรัฐ (ทั้งแบบส่วนราชการและแบบในกำกับ)  ใช้จ่ายเงินกับการเรียนการสอนมาก  โดยรัฐให้เงินอุดหนุนอยู่  70%  ของค่าใช้จ่ายจริง อีกเพียง 30%  ได้จากค่าลงทะเบียนของนิสิต
  • มีความเข้าใจอย่างผิดๆ เกี่ยวกับการออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับว่า รัฐบาลจะไม่สนับสนุนงบประมาณอีกต่อไป  เพราะเข้าใจว่าเป็นการแปรรูปเป็นบริษัท (privatization) มหาวิทยาลัยจะเก็บค่าลงทะเบียนนิสิตสูงขึ้น
  • ม.มหิดล แม้จะได้รับงบประมาณสูง (ปี 50 ได้ 7 พันกว่าล้านบาท) แต่จริงๆ แล้วรายจ่ายสูงกว่ามาก ( ปี 50 ต้องจ่าย 2 หมื่น 8 พันกว่าล้านบาท)  ต้องหาเงินมาเพิ่มเองอีกเยอะ  ซึ่งแหล่งที่ได้มากที่สุด คือ เงินทุนวิจัย  นอกนั้นก็มี ทรัพย์สินทางปัญญา  และการบริการวิชาการอื่นๆ
  • อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องทำงานวิจัย สร้างนวัตกรรม ต้องทำให้ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมเห็นว่า เอาไปใช้ประโยชน์ได้ อาจารย์ที่ทำวิจัย จะสอนได้ดีกว่าอาจารย์ที่ไม่ได้ทำงานวิจัย
  • ม.มหิดล กำหนดชัดว่า ผลงานวิจัยของบุคลากรของม.มหิดล ต้องเป็นของมหาวิทยาลัย  แต่ผู้สร้างผลงาน และมหาวิทยาลัย จะปันผลประโยชน์กัน 50 : 50  ถ้าเป็นลิขสิทธิ์แต่งตำรา ผู้เขียนได้ 70%  คนจัดพิมพ์ 20%  มหาวิทยาลัย 10%  แต่ถ้าเจ้าของผลงานพิมพ์เองก็ได้ไป 90%  มหาวิทยาลัย 10%  โดยมหาวิทยาลัยมีหน่วยงานจัดการ และสอดส่องดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ
  • ในการที่รัฐจ่ายเงินอุดหนุนการศึกษา ป.ตรี แก่มหาวิทยาลัย 70%  ก็เพราะถือว่า ผู้เรียนเป็นผู้ได้ผลประโยชน์เมื่อเรียนจบมีงานทำ  ดังนั้นต้องจ่ายเองบางส่วน  แต่แนวคิดเรื่องบัณฑิตศึกษานั้น  รัฐจะคิดว่าผู้เรียนได้รับประโยชน์ทั้งหมด แล้วไม่สนับสนุนเลย ก็ไม่ถูกทั้งหมด มีบางสาขาที่ได้ประโยชน์เต็มที่ เช่น MBA แต่บางสาขานั้นเป็นการผลิตนักวิจัยให้กับประเทศด้วย  รัฐไม่ควรสนับสนุนแต่คนไปเรียนนอก เพราะเหมือนเสียเงินไปจ้างฝรั่งมาสอนให้เรา  ควรสนับสนุนการผลิต ป.โท ป.เอก ในประเทศด้วย เพื่อจะได้พึ่งตัวเองได้มากขึ้น โดยสนับสนุนในสาขาที่จำเป็น  ทำให้มีผลงานวิจัยเป็นปึกแผ่น
  • มหาวิทยาลัย จะต้องสร้างศรัทธาให้เกิดกับภาคการผลิตก่อน เช่นเริ่มจาก เข้าไปช่วยวิเคราะห์การใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศให้เหมาะกับบริบทของเราหรือพื้นที่ของเรา  คอยให้ความช่วยเหลือแก้ไขเวลามีปัญหาทางเทคนิค  ปรับให้เป็นแบบของเราเอง ในที่สุดก็พัฒนาแบบใหม่ขึ้นมา  ยึดหลัก sti : skill  technology transfer และ innovation
  •  แทนที่บริษัทจะต้องจ่ายเงินให้ต่างประเทศ ในการนำเข้าเทคโนโลยี หรือผู้เชี่ยวชาญ ก็จ่ายให้มหาวิทยาลัยแทน  มหาวิทยาลัยก็จะได้เงินมาพัฒนา  และยืนบนขาตัวเองได้
  • BOI เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่สนับสนุนการสร้างงานของมหาวิทยาลัยโดยอ้อม โดยงดเว้นภาษีให้กับบริษัทที่ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่มหาวิทยาลัย

การชี้นำประเด็นปัญหาสังคมอย่างรู้จริง และเป็นกลาง

  • ขณะนี้ สังคมหิวโหยผู้ที่มีความรู้ที่จะหาทางออก  เพราะสังคมไทยมีคนให้ความเห็นเยอะมาก  บางทีก็เป็นความเห็นมุมเดียว  บางทีบอกว่าเป็นข้อสรุป แต่จริงๆแล้วเป็นความเห็นส่วนตน
  • มหาวิทยาลัยชี้นำประเด็นปัญหาสังคมอย่างรู้จริง และเป็นกลางได้   โดยการเปิดเวทีสาธารณะ และเชิญผู้มีประสบการณ์จากหลากหลายสาขามาพูดคุยกัน  โดยเวทีนี้ต้องมีกติกา  เช่นไม่กล่าวร้าย หรือโจมตีบุคคลใด  สามารถให้ข้อคิดเห็นแตกต่างกันได้  เอาชนะกันด้วยเหตุผล
  • ตัวอย่างเรื่องที่ ม.มหิดล เคยจัด ได้แก่
    • ความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรม ภาษาและชาติพันธุ์ เป็นปัญหาหรือเป็นทุนทางสังคม
    • ศาสนเสวนา : พุทธ – อิสลาม
    • FTA โอกาสทางการค้า หรือ กับดัก
    • เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา : เศรษฐกิจพอเพียง

 ฟังแล้วปิ๊งอะไรบ้าง?......

        

หมายเลขบันทึก: 84747เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2007 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วปิ๊งหลายอย่างเลยค่ะ  ขอบคุณอาจารย์มากเลยนะคะที่นำบทความดีๆมาเผยแพร่อย่างเป็นระบบและเข้าใจง่ายค่ะ......................ขอบคุณค่ะ

1. เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะที่มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมภาคอุสาหกรรมลดการนำเข้าจากต่างประเทศ  อย่างเช่นโครงงานนิสิตที่มีความคิดดีๆๆหลายโครงงานเลยค่ะและคาดว่าโครงงานที่รับผิดชอบอยู่จะขอลุ้นขอทุน IPUS3 ในรอบสองนี้ด้วยค่ะ

2.  ชอบมากเลยที่รัฐควรให้การสนับสนุนการศึกษาระดับ ป.โทและป.เอกในประเทศให้เพิ่มขึ้นดิฉันคิดว่าเป็นแนวทางพัฒนาการศึกษาในประเทศที่ยั่งยืนค่ะ

3.  Real experience learning มีความสำคัญและจำเป็นมากสำหรับหลักสูตรปริญญาตรีเพราะจะทำให้มีความมั่นใจในการทำงานและเรียนรู้งานได้เร็วขึ้นด้วยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ อ.วัชรา ที่ติดตามอ่าน และให้ข้อคิดเห็นเสมอ เพราะเหล่านี้คือพลังผลักดันที่แท้จริง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท