BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

หัวโม้ง หัวอ่อน คันหลาว และคางโคะ


หัวอ่อน หัวโม้ง คันหลาว และคางโคะ

สองวันก่อนไปทอดกฐินที่วัดบางโหนดกับบรรดาญาติโยม... เมื่อกลับมาขึ้นรถ บรรดาญาติโยมก็วิจารณ์กันว่า แกงส้มปลาหัวโม้งกินอร่อย และไข่ปลาหัวโม้งก็อร่อยมาก...  ผู้เขียนนั่งฟังอยู่ในรถก็นึกขำๆ เพราะผู้เขียนรู้จักปลาหัวโม้งดีพอสมควร เนื่องจากครอบครัวผู้เขียนเคยขายปลาหัวโม้งมาก่อน... และผู้เขียนก็ไม่ชอบอาหารที่ปรุงจากปลาหัวโม้งเกือบทุกชนิด เพราะรู้สึกว่า คาวจัด มาตั้งแต่จำความได้....

ปลาหัวโม้ง เป็นปลามีเงี่ยง ไม่มีเกล็ด คล้ายๆ กับปลาแขยง หรือปลากด เพียงแต่โตกว่าปลาแขยง และเล็กกว่าปลากด เท่านั้น... ถ้าคัดเฉพาะตัวโตๆ ๘-๑๐ ตัวก็จะหนักหนึ่งกิโล และถ้าขนาดย่อมลงมาหรือคละกันก็ประมาณ ๑๒-๑๕ ตัวก็จะได้หนึ่งกิโล...

ผู้เขียนเกิดบ้านคูขุด ริมทะเลสาบสงขลา... จำได้ว่าสมัยเด็กๆ นั้น ปลาหัวโม้งจัดเป็นปลาชั้นเลว ซึ่งปกติไม่ค่อยจะมีใครนำมาประกอบอาหารสดๆ... แต่เพราะปลาหัวโม้งมีมากมาย จึงมักจะทำเป็นปลาแห้ง หรือไม่ก็สับเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นอาหารเป็ด....

อย่างไรก็ตาม ปลาหัวโม้งก็สามารถนำมาแกงส้มได้ นำมาทอดก็ได้ แกงเผ็ดก็ได้ หรือทอดก่อนแล้วจึงนำมาแกงเผ็ดก็จะอร่อยยิ่งขึ้น... แต่ความคาวของปลาหัวโม้งก็ไม่อาจกำจัดให้หมดไปได้แม้ว่าจะมีวิธีปรุงดีอย่างไรก็ตาม ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่กินปลาหัวโม้งเป็นปกติ....

คล้ายคลึงกับหัวโม้งที่สุดก็คือ คันหลาว โดยคันหลาวจะมีสีผิวเข้มกว่า ลำตัวค่อนข้างจะยาวกว่า และส่วนหัวค่อนข้างจะเล็กกว่านิดหน่อย... รสชาดของคันหลาวคงจะอร่อยกว่าหัวโม้งนิดหน่อย ดังนั้น สมัยก่อนจึงมักจะแยกคันหลาวออกจากหัวโม้ง ทำนองว่าหัวโม้งกองหนึ่งประมาณ ๑๐๐ กิโล ก็อาจแยกคันหลาวออกมาได้สัก ๑-๒ กิโล... ประมาณนั้น

ส่วน คางโคะ รู้สึกว่าตัวจะใหญ่กว่าหัวโม้งและคันหลาวนิดหน่อย และส่วนหัวของคางโคะจะค่อนข้างใหญ่กว่าหัวโม้งและคันหลาว.... ซึ่งถ้ากองปลาหัวโม้งประมาณ ๑๐๐ กิโล ก็อาจมีคางโคะสอดแทรกอยู่เพียง ๑-๒ ตัว หรือไม่มีเลย 

เมื่อมาอยู่สงขลาจึงได้ความรู้ใหม่ว่า คนทั่วไปนิยมเรียกปลาหัวโม้งว่า ปลาหัวอ่อน นั่นก็คือ หัวอ่อนและหัวโม้ง เป็นปลาชนิดเดียวกัน 

........ 

หลังจากย้ายครอบครัวมาอยู่สงขลาแล้ว ช่วงหนึ่ง (ประมาณ ๑๕ ปี) ครอบครัวก็ยึดอาชีพขายปลาในตลาด โดยรับปลามาจากสทิงพระและระโนด (สทิงพระและระโนดเป็นอำเภอ และมีบางส่วนที่ติดกับทะเลสาบสงขลา) ซึ่งโดยมากก็เป็นปลาหัวอ่อนหรือหัวโม้งนี้เอง... วันหนึ่งก็หลายร้อยกิโลหรือพันกว่ากิโลเป็นบางครั้ง โดยทางบ้านจะเป็นทั้งแม่ค้าคนกลางคือส่งต่อปลาเหล่านี้ไปยังพ่อค้าแม่ค้าคนอื่นๆ หรือส่งต่อไปยังตลาดหาดใหญ่หรือปัตตานีเป็นต้น... และส่วนหนึ่งก็ขายปลีกในตลาด

บางช่วงผู้เขียนก็ไปช่วยขายปลาหัวโม้งหรือหัวอ่อนนี้ที่ตลาด ลูกค้าที่มาซื้อนั้น โดยมากก็เรียกว่า หัวอ่อน หรือบางคนก็เรียกว่า หัวโม้ง คันหลาว หรือ คางโคะ ซึ่งผู้เขียนก็รู้ว่า ชื่อทั้งหมดก็คือปลาที่วางขายอยู่นั่นเอง

บางครั้งสินค้า (ปลา) มีมากเกินไป ไม่สามารถส่งต่อหรือขายให้หมดตามกำหนดได้ก็จะดองน้ำแข็งไว้ โดยใช้หีบไม้เป็นที่ดองปลา วิธีการก็คือโรยน้ำแข็งต่อย (น้ำแข็งก้อนเล็กๆ) สลับกับวางปลาไว้เป็นชั้นๆ ... น้ำแข็งต่อยที่ใช้ดองปลานี้ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการจะดองไว้นานหรือไม่

เมื่อสินค้ายังมากเกินไป และไม่ค่อยจะสดเท่าที่ควร... ปลาหัวอ่อนเหล่านี้ก็จะถูกแปรสภาพเป็นปลาแห้ง... วิธีการก็คือนำปลาหัวโม้งเหล่านี้มาสับเงี่ยงออกแล้วผ่ากลางเอาขี้เอาใส้ปลาออกหมด แล้วก็นำมาดองหรือหมักกับน้ำเกลือไว้ในโอ่ง ๑ คืน รุ่งเช้าก็นำขึ้นตากแดด ... การทำปลานั้น โดยมากทางบ้านจะจ้างคนอื่น แล้วก็นำมาดองและตากเอง...

ช่วงไหนผู้เขียนอยู่บ้าน มักจะถูกบังคับให้นำปลาเหล่านี้มาตากในตอนเช้าตรู่เสมอ (ขี้เกียจสุดๆ)... วิธีการก็คือคุ้ยปลาออกจากโอ่งใส่เข่งโดยมีกะละมังรองเข่งอีกชั้นเพื่อให้สะเด็ดน้ำ แล้วก็นำมาตากบนแผงไม้ไผ่หรือแผงที่ขึงด้วยเนื้ออวนเก่าๆ...

ถ้าแดดจัดๆ ประมาณบ่ายโมง ก็จะไปพลิกปลาที่ตากไว้ เอาอีกด้านขึ้นมา และประมาณ ๔-๕ โมงเย็น ผู้เขียนก็จะเก็บบางส่วนใส่เข่งนำไปขายที่ตลาดเลย... ปลาหัวอ่อนตากแห้งแดดเดียว ดูสดใสสวยงาม บางครั้งไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ผู้เขียนก็สามารถขายสินค้า ๑ เข่ง (๓๐-๔๐ กิโล) ได้หมด แต่บางครั้งก็อาจขายไม่ได้เลยแม้แต่กิโลเดียว....

ตามที่เล่าไปข้างต้น เป็นเหตุการณ์ที่พึงประสงค์ แต่บางครั้งไม่ค่อยมีแดด คลึ้มฟ้าคลึ้มฝน หรือฝนตกก็ไม่สามารถนำปลาที่ดองเกลือไว้มาตากแดดได้... ที่โชคร้ายไปกว่านั้นก็คือ พอตากปลาเสร็จ ฝนเริ่มลงดอก ต้องเก็บแผงปลามาเรียงไว้ภายในบ้าน กลิ่นก็ไม่ดี... รออีกพักหนึ่ง ฝนหาย แดดออก แต่พอนำแผงปลามาตากเสร็จ ฝนก็เริ่มตกอีก.... ถ้าเป็นไปทำนองนี้หลายวันก็ค่อนข้างเศร้า เพราะปลาก็ต้องตากหลายแดดกว่าจะแห้ง และต้องขายราคาถูกเพราะสินค้าไม่สดใสนั่นเอง...

............... 

ปลาหัวอ่อนตากแห้งนี้ นำมาทอดกินกับข้าวต้มหรือข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อย นำมาแกงส้ม (โดยเฉพาะแกงน้ำส้ม) ก็อร่อย... หรือบางคนก็นำไปแกงเทโพ โดยใช้ปลาแห้งแทนหมูสามชั้นก็อร่อยดีเหมือนกัน...

ปลาหัวอ่อนตากแห้งนี้ ผู้เขียนก็กินเหมือนกันตามโอกาส เพราะความคาวจะจางไปมากแล้ว... ส่วนปลาสดๆ นั้น ผู้เขียนเกือบจะไม่กินเลยตั้งแต่จำความได้จนกระทั้งปัจจุบัน...

ไข่ปลาหัวโม้งนี้ จะกลมๆ ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย... ถ้าสุกดีจะแข็ง แต่ถ้าสุกไม่ดีก็เหนียวๆ และคาวจัด... แต่บางคนชอบกินไข่ปลาหัวโม้งสุกๆ ดิบๆ ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าเค้าชอบได้ยังไง!

.............

ตามที่เล่ามานี้ ก็เพียงจะบอกว่า หัวโม้ง และ หัวอ่อน คือปลาชนิดเดียวกัน เพียงแต่การเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นเท่านั้น...

ส่วน คันหลาว และ คางโคะ นั้น ก็คือหัวโม้งหรือหัวอ่อนอีกสายพันธุ์หนึ่งที่แยกตัวออกไป ซึ่งคนสมัยก่อนอาจแยกออกมาได้ เนื่องจากปลามาก... แต่เดียวนี้ปลามีน้อย คนโดยมากจึงมักเข้าใจว่ามิได้แตกต่างกัน...     

หมายเลขบันทึก: 144411เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2007 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

นมัสการครับหลวงพี่

            ก่อนที่พ่อผมจะเสียในปี ๒๕๔๔

            วันที่ ๑๐ เมษาในปีนั้น ผมพาพ่อไปทำบุญที่สาธุเจดีย์ ทิ้งพระ           

            ขับรถจากโคกโพธิ์ ถึงสพานเปรมพ่อบอกว่า "พ่อไม่ได้กินแกงส้มปลาหัวอ่อนนานแล้ว "

            ผมก็เลยบอกพ่อว่า"เดี๋ยวลูกพาไปกิน แต่ลูกไม่รู้จักปลาหัวอ่อนนะพ่อ เดี๋ยวค่อยถามที่ร้านเอา"

            ผมขับรถจากจุดนั้นมาสัก ๔-๕ โล เห็นร้านขายข้าวแบบชาวบ้าน ก็เลยเลี้ยวรถเข้าไป

           ถามว่า"มีแกงส้มปลาหัวอ่อน หม้ายครับ"

           แม่ค้าบอกว่า"มีค่ะ..พึ่งได้มาจากหลาด ไม่มีปลาหัวอ่อนขายหลายวันแล้ว"

           พ่อเลยโชคดีที่ได้กินปลาหัวอ่อนเป็นครั้งสุดท้าย

           ผมพาพ่อไปทุกที่ที่พ่ออยากไป แม้กระทั่งคูขุด ซึ่งพ่อเคยไปเที่ยวแล่นมาแต่ยังแด็ก

           ๑๒ กันยายน ปีนั้นพ่อก็เสียครับ

           ผมเห็นหลวงพี่เขียนถึงปลาหัวอ่อน ผมก็นึกถึงประโยคที่พ่อพูดทันทีเลยครับ

                                  นมัสการครับ

นมัสการหลวงพี่

- ผมเคยได้ยินแต่ปลาหัวโม้ง ชื่ออื่นๆ ไม่ค่อยคุ้น

- เพิ่งได้ทราบจากหลวงพี่วันนี้เอง

- สบายดีไหมครับ ไม่เห็นเสียหลายวัน

P

นายช่างใหญ

บางที รสชาดของปลาหัวอ่อนที่แปลกไปจากปลาอื่นๆ ทำให้บางคนที่คุ้นเคยรู้สึกถวิลหาทำนอง ข้องใจ ประมาณนั้น...

เมื่อก่อนปลาหัวอ่อน อาจจัดเป็นปลาชั้นเลว แต่ปัจจุบันกำลังยกระดับเป็นปลาชั้นดี...

ตามความเห็นส่วนตัว ปลาที่มีการเลี้ยงและส่งสู่ตลาดได้ตลอดปีในปัจจุบัน อาจมิใช่ปลาชั้นดี...

ส่วนปลาที่ยังไม่ได้เลี้ยง ซึ่งหาได้เฉพาะบางฤดูกาลตามธรรมชาติ จัดเป็นปลาชั้นดีและมีราคาค่อนข้างแพง....

เจริญพร 

 

ไม่มีรูป

ธ วั ช ชั ย

นอกจาก หัวโม้ง หัวอ่อน คันหลาว และ คางโคะ แล้ว ยังเรียกอย่างอื่นได้อีก แต่หลวงพี่นึกไม่ออกตอนนี้...

เจริญพร 

ไข่ปลาหัวโม้งกินอร่อยนะครับ  แม่ชอบบ่นเสมอว่าพวกนี้ชอบเจาะกินแต่ไข่  เพราะผมไม่กินเนื้อปลาเหมือนท่านมหาเลยครับ

เย็นนี้กับสงขลา  ก็จะกินแต่ไข่เหมือนกัน  เพราะคุณยินดีบอกมาแล้วว่าว่าแกงส้มไว้แล้ว  มีไข่เยอะด้วย

กราบ

จริงแล้วกระผมก้อ ชอบๆมากกะบรรดา ปลาทั้งสี่หัว คือ หัวโม่ง หัวอ่อน คันหลาว และคางโค๊ะ มาอยู่ยางทอง สงขลา มีปลาให้ทานแยะเลยชอบ ติดที่ ยังงัยก้อแล้วแต่บางคนน่ะชอบไม่คล้ายกัน ท้ายสุดนี้ ขอให้ชาวโลกมีแต่ความสงบสุขทุกคนทุกครัวเรือน และให้หลวงน้าชัยวุฒิมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ออดๆ แอดๆเสมอน่ะคร้าบ 

กราบนมัสการ น้าหลวงชัยวุฒิ แหนประวัติปลา และทาญาติหัวโม่งแล้ว ป่มชอบมากปลาแบบนี้ เคยจำได้ว่า ที่วัดยางทองในวันพระ น้าหลวงส่งแกงส้มปลาหัวโม่งให้ป่ม ในปิ่นโตโยม วันนั้นอร่อยที่สุดเรย ก้อขอให้พระมหาชัยวุฒิ มีสุขภาพแข็งแรง และแปนพ่อท่านยางทองต่อไปนานๆ สิ้นกาลนานเทอญ .หลวงเบีย คอหงษ์.*--------*

ผมคนหนึ่งนิยมชอบตกปลาหัวโม่ง..หัวอ่อนบนสพานป๋าเปรมช่วงวันหยุดเสาร์  อาทิตย์ พาลุกชายไปด้วยเพื่อฝึกความอดทนให้ลูกได้รู้ความลำบากกว่าจะได้แต่ละตัว  เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับลุกๆๆดีกว่าอยู่เปล่าๆๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท