คิดเรื่องงาน (17) : คิดออก บอกได้ .. ไปถึง


สำรวจ "ตัวตน" ของตนเอง - สำรวจความเป็น “องค์กร” ของตนเอง

คิดให้ออก  บอกให้ได้  และไปให้ถึง  เป็นแนวคิดที่ผมนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้นำนิสิต  และเรื่องราวต่อไปนี้คือปรากฏการณ์หนึ่งที่ผมกับนิสิตได้ร่วมถกคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันอย่างมันส์ฮา.. และเข้มข้น     

 

 

(๑)

   

สองวันก่อนผมนั่งคุยกับประธานชมรมคณะละครทอสายไทยอย่างยาวนาน ...

  

อันที่จริงผมกับประธานชมรมดังกล่าว  (นายธีรภัทร  สินธุเดช)  สนิทชิดเชื้อกันมากพอสมควร   เพราะผมเคยหอบหิ้วน้องนิสิตท่านนี้ไปโชว์ความสามารถในงานต่าง ๆ  อยู่อย่างบ่อยครั้ง

   

น้องนิสิตท่านนี้เป็นคนมีจิตสำนึกสาธารณะที่พร้อมจะทำประโยชน์เพื่อสังคมอยู่อย่างเต็มล้น  รวมถึงเป็นผู้มีความสามารถอันหลากหลายในทางศิลปะแขนงต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็น   การแต่งเนื้อและร้องกลอนลำ,  แต่งผญา,  ร้องสรภัญญะ  หรือแม้แต่การแสดงละครก็ถือว่าไม่ด้อยไปกว่าคนที่เรียนในด้านนี้โดยตรงเลยก็ว่าได้

   

และที่สำคัญคือเป็นคอกิจกรรมขนานแท้ 

ไม่ว่างานไหน ที่ไหน และอย่างไร  แกก็จะพาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่อย่างต่อเนื่อง

   

กระทั่งในปีนี้,  

เจ้าเล็ก  หรือธีรภัทร  สินธุเดช  ก็ได้จัดตั้งชมรมคณะละครทอสายใยขึ้นในแวดวงกิจกรรมของชาว มมส   ซึ่งผมเองก็เชื่อว่านิสิตจำนวนไม่น้อยเพ่งมองถึงจังหวะก้าวขององค์กรนี้อย่างใจจดใจจ่อ    .. เป็นการจ้องมองเพราะคาดหวังว่าชมรมนี้จะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในวิถีแห่งกิจกรรมนิสิต

       

(๒)

   

ล่าสุดเมื่อประมาณสักสองสามวันที่ผ่านมา  -

 

เจ้าเล็ก  นำโครงการ ปลูกอีสาน  หว่านฮีตคอง  ปรองดองไทบ้าน ลูกหลานม่วนซื่น  มาหารือกับผม  แต่ที่สุดแล้วก็ต้องกลับไปนอนขบคิดอย่างหนัก   เพราะผมอธิบายว่า  กิจกรรมที่จะจัดขึ้นยังไม่ชัดเจน  ซึ่งผมไม่รู้เลยว่า   ทำไมต้องจัดเวทีระดมความคิดในแนวเรื่อง ปัญหาการอยู่ร่วมกันของนิสิตกับชาวบ้าน”  แบบแข็ง ๆ  และไร้ชีวิตมากมายถึงเพียงนี้ 

   

อันที่จริงผมก็สนใจในประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างมาก  แต่ในวิถีกิจกรรมก็ทำให้ผมไม่สามารถมองข้าม มิติกิจกรรม  ที่นิสิตต้องเรียนรู้ไปได้   -

ผมถามเขาว่า  กิจกรรมที่มีขึ้นตอบโจทย์ความเป็นองค์กรอย่างไร ?  ผลของกิจกรรมจะนำไปใช้ประโยชน์อันใดได้บ้าง ?  และกิจกรรมที่จัดขึ้นจะช่วยแก้ไขปัญหาระหว่างนิสิตกับชาวบ้านได้มากน้อยแค่ไหน   หรือเป็นแต่เพียงการประจานซ้ำอย่างสะใจเท่านั้น ...     

(๓)   

 

 

ไม่รู้สิครับ,  

ผมไม่มีอคติใด ๆ กับโครงการนี้  ตรงกันข้ามกลับชื่นชอบชื่ออันสวยหรูของโครงการนี้ด้วยซ้ำไป  พร้อมกับเชื่อว่าจุดหมายปลายทางของโครงการนี้  จะช่วยให้นิสิตและชาวบ้านเกิดมิติแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างน่าชื่นชม 

แต่ในวิถีกิจกรรมนั้น,

ผมอยากให้เขาได้ขบคิดถึง ตัวตนองค์กร  ตนเองให้แจ่มชัดว่าตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร  และมีอะไรเป็น เครื่องมือ  แห่งการเรียนรู้ตนเองและสังคม  

  

 

ดังนั้น   จึงบอกกล่าวอย่างสุภาพและให้กำลังใจไปกับเขาว่า     ไปพักสักวันสองวัน  แล้วค่อยมาคุยกันใหม่  บางครั้งความคิดดี ๆ  ก็จำต้องใช้เวลากับการหยั่งคิดให้มากกว่านี้ก็เป็นได้

ผมจำเป็นต้องทำเช่นนี้

เพราะอยากให้เขาได้ขบคิดให้ตกผลึกมากกว่าที่เป็นอยู่ ...

และยืนยันว่าการสนทนาระหว่างผมกับเจ้าเล็กนั้นเป็นการสนทนาเพื่อเติมเต็มกันและกัน  ไม่มีการสนทนาเพื่อหักล้างความคิด  หากแต่เป็นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ในสิ่งที่เราต่างก็สนใจร่วมกัน

   

ผมอยากให้เขาได้สำรวจตัวตนของตนเอง - สำรวจความเป็น องค์กร  ให้ชัดเจนมากกว่านี้

ผมอยากให้เขาค้นให้เจอว่าตัวเขาและองค์กรของเขามีอะไรดี (ขุมทรัพย์ทางปัญญา) ...

และสิ่งที่ว่าดีนั้น  พร้อมที่จะแปรสภาพเป็นเครื่องมือในการนำพาไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนได้อย่างไรบ้างก็เท่านั้นเอง

(๔)     

กระทั่งตอนเช้าของวันนี้ 

ผมพบเจอเอกสารชุดหนึ่งวางแนบนิ่งอยู่บนโต๊ะทำงานของผม   ซึ่งเอกสารที่ว่านั้นก็คือโครงการ   ปลูกอีสาน  หว่านฮีตคอง  ปรองดองไทบ้าน ลูกหลานม่วนซื่น แต่ผมก็ยังไม่มีเวลาในการหยิบขึ้นมาดูเป็นพิเศษ  เพราะทั้งวันก็วิ่งวุ่นอยู่กับการประชุมอันหลากเวที     

 

 

 

(๕)

    

ภายหลังการเลิกงานของวันนี้   เจ้าเล็กกลับมาหาผมอีกครั้ง

คราวนี้เจ้าเล็กแววตาสดใสและดูมั่นใจเป็นพิเศษ   ซึ่งเจ้าตัวพยายามบอกเล่ากิจกรรมที่ต้องการจัดขึ้นให้กับผมฟัง ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์หลักคือ  การนำนิสิตไปร่วมเรียนรู้วัฒนธรรมในชุมชนใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย  และสร้างจิตสำนึกให้นิสิตและคนในชุมชนได้รักในถิ่นฐานบ้านช่องของตนเอง  

และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องนั้นก็คือ  ทำบุญตักบาตรที่วัด,  ร้องสรภัญญะและกลอนลำเกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชน,  สอนศิลปะการแสดงละครให้นักเรียน,   เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรื่องวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้านกับหนุ่มสาวชาวมหาวิทยาลัย   จากนั้นก็นำข้อมูลอันเกิดจากการ ลปรร  มาเขียนเป็น บทละคร   และนำบทละครนั้นมาสื่อสารบนเวที   ผ่านมิติของศิลปะการแสดงละครสะท้อนสังคม  เพื่อให้ชาวบ้านและชาวมหาวิทยาลัยได้รับรู้และขบคิดร่วมกัน  ฯลฯ    

 

 

นั่นเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมต่าง ๆ  ที่จะมีขึ้น   ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่านี่คือ ตัวตน ของเขาและองค์กรของอย่างแท้จริง      

 

 

ก่อนจากลากันในเย็นวันนี้

ผมจึงพูดกับเขาอย่างเอ็นดูว่า  นี่แหละคือเหตุของการฝากให้เขาได้กลับไปคิดทบทวนถึง ตัวตน  อันเป็น ศักยภาพ  ของตนเอง  รวมถึง จุดยืน  ในเส้นทางกิจกรรมขององค์กรที่เขาควรต้องใส่ใจให้มากเป็นพิเศษ 

พร้อมกันนี้ 

ผมบอกล่าวกับเขาอีกครั้งว่า  เหตุที่ไม่ยอมบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมานั้น  ไม่ใช่เพราะต้องการแกล้งให้เขาต้องกลับไปนอนคิดจนหัวหมุนอยู่หลายตลบ   หากแต่เป็นเพราะต้องการให้เขาได้ทำอะไรด้วยตนเอง  ซึ่งหมายถึง  คิดให้ออก  บอกให้ได้  และไปให้ถึง.. 

     

 

(๖)

    

วันนี้  เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผมกับนิสิต  จากนี้ไปก็ถึงคิวการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน  ผ่านเวทีทางวัฒนธรรมที่ผมมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถสร้างกระบวนการที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้อย่างไม่ยากเย็น

  

แล้วค่อยติดตามตอนต่อไป ...  นะครับ

...  

 

๒๔  ตุลาคม

 

ทุ่มเศษ ๆ ในห้องทำงาน

 
หมายเลขบันทึก: 141605เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2007 05:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • เยี่ยมมากครับ
  • คิดให้ออก  บอกให้ได้ ไปให้ถึง
  • บางครั้งการทอดเวลา ก็ช่วยให้เกิดการตกผลึกทางความคิดได้ดี
  • นิสิตฯ นับว่าโชคดีที่ได้เจอพี่เลี้ยงที่เข้าใจอย่าง อ.พนัส
  • ขอบคุณครับ
  • ชื่อ โครงการ  
     
  • ปลูกอีสาน 
  • หว่านฮีตคอง 
  • ปรองดองไทบ้าน
  • ลูกหลานม่วนซื่น
  • บอกอะไรหลายอย่างที่นักศึกษาจะได้รับและนำประสบการณ์ไปใช้ในอนาคต ที่ดีค่ะ
พี่ชาย ขยันจริงๆ ช่วงนี้งานเยอะมาก ไม่ค่อยได้มาทักทายกัน มีเวลาแว่บเข้ามาเฉพาะดึกๆ นี่ก็จะหมดก๊อกแล้วค่ะ คิดถึงพี่เสมอนะคะ

ปล. เมล์พี่ส่งหาไม่ได้ไม่รู้ทำไม วันก่อนจะส่งเรื่องดีๆ ไปให้อ่านซะหน่อย มันตีกลับค่ะ

สวัสดีครับ

 

P

  • ขอบคุณมากครับ
  • และผมก็ชื่ชอบกระบวนความนี้มาก

บางครั้งการทอดเวลา ก็ช่วยให้เกิดการตกผลึกทางความคิดได้ดี

บ่อยครั้งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนว่า   เวลาช่วยให้อะไรต่อมิอะไรดีขึ้นอย่างมหาศาล

สวัสดีครับ

 

P

อีกไม่กี่วันก็คงได้รู้ว่ากิจกรรมที่นิสิตคิดนั้นจะก่อเกิดผลสัมฤทธิ์ทั้งต่อนิสิตและชาวบ้านสักแค่ไหน  และอย่างๆ ไรบ้าง

แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ผมฝากให้นิสิตได้ขบคิดให้มากขึ้นก็คือ  การทำกิจกรรมต่อเนื่อง  หรือแม้แต่กระบวนการที่จะช่วยกระตุ้นให้ชุมชนได้เห็นความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาตนเอง   ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญพอ กับการที่นิสิตกำลังเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเหมือนกัน

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ

 

P

ขอบคุณครับ .. พี่เองก็คิดถึงเช่นกัน  แต่ก็ดังที่ทรบช่วงนี้งานการเยอะแยะมาก   จนแทบไม่มีเวลาได้ท่องแวะไปเยี่ยมใคร ๆ มากนัก

เมล์พี่มีปัญหาอะไรสักอย่างนี่แหละ ... ยังไม่ได้แก้ไขเลย

คงรออีกพักใหญ่ครับ

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีค่ะP

มาอ่านบันทึกคุณพนัสแต่เช้าเลย

ภูมิใจในนิสิตของคุณพนัสไปด้วย ค่ะ

  การนำนิสิตไปร่วมเรียนรู้วัฒนธรรมในชุมชนใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย  และสร้างจิตสำนึกให้นิสิตและคนในชุมชนได้รักในถิ่นฐานบ้านช่องของตนเอง    

สวัสดีครับ  พี่ศศินันท์

P

เป็นเวลาร่วม 5 - 6  เป็นเวลาร่วม 7 - 8  เดือนที่ผมลองผิดลองถูกเรื่องความคิดของตนเองที่มีต่อการให้นิสิตเกิดการตระหนักในพันธกิจทางชุมชน  โดยเริ่มต้นจากชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย  ..

ดังนั้น  สิ่งต่าง ๆ จึงเป็นเสมือนการโยนหินถามทาง   หรือแม้แต่โยนหินลงแม่น้ำเพื่อสร้างทางเดินให้คนก้ามข้าม,

เป็นการทดลองเพื่อค้นหาแนวทาง... พร้อม ๆ กับการวางรูปร่างของวิถีทางบางอย่างที่น่าจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่ายุคสมัยที่ผ่านล่วงมา

มีความสุขมากครับ....

และคิดว่าไม่นานนี้ก็คงวางมือ  และถอยออกมาให้น้อง ๆ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำอย่างเต็มตัว.. 

ผมเองมีความสุขกับการทำงาน  แต่ก็มีบ้างที่อึดอัดกับระบบของหัวโขนอยู่เหมือนกัน 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท