หนังกลางแปลง : การระดมทุนสุดฮิตในวิถีกิจกรรมของ “คนค่าย” มมส


ปัจจุบันการจัดฉายหนังกลางแปลงเพื่อระดมทุนจัดกิจกรรมค่ายนั้น จะมีขึ้นในทุกวันศุกร์และวันเสาร์อย่างต่อเนื่อง

ในระยะ 2 – 3  ปีที่ผ่านมา 
เห็นได้ชัดว่า  สถิติจำนวนการออกค่ายอาสาพัฒนาของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีจำนวนมากขึ้นทุกปี เป็นต้นว่าในช่วงปิดภาคเรียนปลายในเดือนมีนาคม
เมษายนของทุกปีนั้น  ก็มักมีค่ายอาสาพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ  ปีละไม่น้อยกว่า  20  ค่าย ส่วนช่วงปิดภาคเรียนต้นในเดือนตุลาคมของทุกปี  จำนวนค่ายที่จัดขึ้นก็มีสถิติใกล้เคียงกับช่วงปิดภาคเรียนปลายด้วยเช่นกัน

          จำนวน หรือสถิติที่กล่าวถึงนั้น  เป็นข้อมูลที่เกิดจากการสำรวจอย่างกว้างๆ  และส่วนใหญ่ก็เป็นข้อมูลจากองค์กร หรือชมรมที่สังกัดองค์การนิสิต  แต่ส่วนหนึ่งอันเป็นข้อมูลในสังกัดคณะ หรือสโมสรนิสิตคณะนั้น  ก็พบว่ามีหลายกิจกรรมด้วยกันที่ยังไม่ถูกนำมารวบรวมอย่างเป็นทางการ 

           ประเด็นการขบคิดที่อยู่เหนือจำนวน   หรือสถิติอันเป็นข้อมูลดังกล่าวนั้น คงไม่ใช่การสะท้อนให้เข้าใจว่า ทุก ๆ กิจกรรมที่จัดขึ้นนั้นเป็นการได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากมหาวิทยาลัยเสียทั้งหมด  หากแต่ในความเป็นจริงนั้น  เกือบทั้งหมดกลับล้วนแล้วแต่มาจากหยาดเหงื่อและแรงคิดของนิสิตล้วน ๆ เลยที่เดียว 

 

หนังกลางแปลง :  หนังสร้างค่าย 

 

          การออกค่ายหรือการจัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง  มักใช้เวลาอย่างน้อย 2 – 7  วัน  และมีผู้เข้าร่วมอยู่ระหว่าง 20 – 60  คนเสมอ  แต่นั่นก็ยังพบว่าบางโครงการมีคนทะลักเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากถึง 100- 140 คนเลยก็มี  และไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็น ค่ายสร้าง, ค่ายสอน, หรือค่ายเรียนรู้  ก็ตาม  ต่างก็ใช้งบประมาณเป็นหลายหมื่นบาทด้วยกันแทบทั้งสิ้น  หรือแม้แต่บางค่ายก็ใช้งบประมาณขับเคลื่อนโครงการมากถึง 100,000 – 150,000  บาทเลยก็มี 
          คำถามสำคัญก็คือ ค่ายแต่ละค่าย กิจกรรมแต่ละกิจกรรม ได้รับงบประมาณมาจากที่ไหนล่ะ
?

          แต่ที่แน่ ๆ ค่ายแต่ละค่าย กิจกรรมแต่ละกิจกรรมล้วนได้รับการสนับสนุนจากเงินรายได้ฯ หมวดเงินอุดหนุน ค่าบำรุงกิจกรรมนิสิตและกีฬาของมหาวิทยาลัยกันน้อยมาก  เพราะทั้งหลายทั้งปวงนั้น  ล้วนแล้วแต่เป็นงบประมาณ จัดหาเอง  แทบทั้งสิ้น  โดยเฉพาะการจัดหาเองผ่านวิธีการ หรือกิจกรรมสุดฮิตที่เรียกติดปากกันในรั้ว มมส  ว่า หนังกลางแปลง  หรือ หนังสร้างค่าย

 

ปัจจุบันการจัดฉายหนังกลางแปลงเพื่อระดมทุนจัดกิจกรรมค่ายนั้น  จะมีขึ้นในทุกวันศุกร์และวันเสาร์อย่างต่อเนื่อง  โดยยึดสนามกีฬาลานโล่งแจ้งใกล้ๆ กับอาคารพลศึกษาเป็นสถานที่จัดฉาย  และการฉายแต่ละครั้ง จะเก็บค่าตั๋วหนังใบละ 20  บาท  มีหนัง 3  เรื่องให้ดูอย่างออกรสออกชาติ  ซึ่งแต่ละเรื่องก็เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว  และที่สำคัญก็คือการฉายแต่ละครั้งเป็นการฉาย หนังใหม่  ที่เพิ่งออกจากโรงมาได้ไม่ถึงสัปดาห์ บางเรื่องก็ออกโรงวันพฤหัสบดี  พอถึงวันศุกร์ก็ถูกนำมาจัดฉายในมหาวิทยาลัยต่อเนื่องทันทีเลยก็มี 

          เรื่องการฉายหนังกลางแปลงในมหาวิทยาลัยนั้น  จัดว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันนี้

เพราะในสมัยที่ยังคงมีสถานะเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (มศว.มหาสารคาม)  ก็พบว่ามีการฉายหนังกลางแปลงอยู่บ้างเหมือนกัน  แต่เป็นการจัดขององค์กรเพียงไม่กี่องค์กรเท่านั้น  เป็นต้นว่า  ชมรมอาสาพัฒนา  พรรคชาวดิน  พรรคพลังสังคม  พรรคก้าวใหม่  โดยเฉพาะชมรมอาสาพัฒนานั้นต้องถือว่า ช่ำชอง  ในเรื่องนี้กว่าใครอื่นเป็นไหน ๆ  ซึ่งในสมัยนั้น  สถานที่ที่นิยมเปิดวิกล้อมผ้าฉายหนังกลางแปลงมากที่สุดก็หนีไม่พ้นสนามฟุตบอล (ปัจจุบันคือสนามรักบี้ฟุตบอล)  และรองลงมาก็คือ โภชนาคาร  (ปัจจุบันคือโรงเรียนสาธิตฯ ระดับประถม)

  

  

 

  

คอนเสริ์ต  :  การระดมทุนที่เกือบเลือนหาย

    

          อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า  ในช่วงปี พ.ศ.2534 – 2537  การจัดหาทุน หรือเรียกกันโดยทั่วไปในแวดวงนักกิจกรรมว่า ระดมทุน เพื่อหารายได้ไปจัดกิจกรรมนั้นก็ดูจะมีรูปแบบที่หลากหลายไปกว่ายุคสมัยนี้อยู่มิใช่น้อย  เพราะเท่าที่สัมผัสมาก็เห็นได้ชัดว่าบางครั้งก็ระดมทุนด้วยการทำ สติ๊กเกอร์  ออกมาขายในราคาแผ่นละ 2 – 3  บาท  หรือบางครั้งก็ปิดห้องเรียนจัดฉายภาพยนตร์ด้วยม้วนวีดีโอและเก็บค่าตั๋วในราคา 5 – 10  บาทก็มีให้เห็นบ่อยครั้งเหมือนกัน  ส่วนการ ร้องเพลงเปิดหมวก หรือการ จำหน่ายเสื้อชมรม  นั้นยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนัก  แต่ที่ดูจะท้าทายที่สุดในยุคนั้น  ก็ดูเหมือนจะหนีไม่พ้นการจัดคอนเสิร์ตแสดงดนตรี  หรือไม่ก็เชิญศิลปินชื่อดังมาทอล์คโชว์  ซึ่งทางเลือกหลังนี้ใช้งบลงทุนค่อนข้างมาก  และสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนอยู่มากโข 

          กรณีการจัดคอนเสริ์ตนั้น  ถ้าจำไม่ผิดช่วงประมาณปี พ.ศ. 2532  พรรคชาวดินเคยจัดคอนเสิร์ตของศิลปินร็อคชื่อดังท่านหนึ่ง  แต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้เท่าที่ควร  หรือหากจะเรียกว่าขาดทุนก็คงไม่ผิดนัก  โดยผลลัพธ์ในครั้งนั้น  ทำเอาหลายคนและหลายองค์กรตัดสินใจที่จะไม่ฝากหวังเรื่องการระดมทุนจัดกิจกรรมผ่านเวทีตคอนเสริ์ตไปตาม ๆ กัน 

          กระทั่งปี พ.ศ. 2537  พรรคชาวดินก็หวนกลับมาจัดคอนเสิร์ตเพื่อออกค่ายกันอีกครั้ง  คราวนี้เป็นคอนเสริ์ตง่าย ๆ เล็ก ๆ  เน้นคอนเซ็ป ปูเสื่อนั่งแบบสบายๆ ไม่ดิ้นไม่เมา  ภายใต้ชื่อโครงการว่า คอนเสริ์ตหอบสื่อมาเผื่อน้อง    โภชนาคาร     ซึ่งขายตั๋วในราคา 49  บาท    ส่วนศิลปินที่ถูกเชิญมาแสดงก็คือ ศุ บุญเลี้ยง  
           
และเป็นที่น่ายินดีว่าคอนเสริ์ตดังกล่าวดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย  นิสิตและบุคลากรมาให้กำลังใจต่อทีมงานกันอย่างอบอุ่น  ถึงไม่มากมายนัก  แต่ก็ถือว่าเกินความคาดหมายอย่างเห็นได้ชัด  และที่สำคัญยังเป็นเสมือนการยืนยันว่า  ในมหาวิทยาลัยยังคงมีวัฒนธรรมทางดนตรีที่ สนุกได้โดยไม่จำเป็นต้องเต้นแร้งเต้นกา  
 

ภายหลังคอนเสริ์ตในครั้งนั้นสิ้นสุดลง  ทีมงานและศิลปินได้ตรวจเช็ครายรับรายจ่ายทั้งหมดร่วมกัน  อย่างเป็นกันเอง  ปรากฏว่ามีกำไรในราวๆ  3  พันกว่าบาท  แต่สุดท้ายศิลปินท่านนั้นก็มอบเงินจำนวน 5,000  บาทสมทบทุนออกค่ายแบบชนิดไม่เอา ค่าตัว  จนกลายมาเป็นต้นกำเนิดของค่าย สาธารณสุขสู่ชนบท  ในยุคนั้น  และเรื่องราวดังกล่าวยังถูกนำไปบันทึกไว้ในหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คชวนอ่านของศุ บุญเลี้ยงที่มีชื่อว่า ลิ้นชักนักเดินทาง  ด้วยเหมือนกัน



ถึงแม้คอนเสิร์ตในครั้งนั้นจะประสบความสำเร็จไม่ขาดทุนตามที่หลายคนคาดการณ์ไว้  แต่ก็ยังถือว่ากระบวนการดังกล่าวยังไม่สามารถกลายมาเป็น
ทางเลือก ในการระดมทุนจัดกิจกรรมของนิสิตในยุคนั้นได้  เพราะการฉายหนังกลางแปลงก็ยังคงเป็นทางเลือกแรกที่ใครๆ ก็เลือกที่จะใช้เป็นกระบวนการของการจัดหาทุนทำกิจกรรม  แต่ถึงกระนั้นภายหลังการยกฐานะมาเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ก็เริ่มเห็นได้ชัดว่าเริ่มมีการจัดทำพวงกุญแจ วาดภาพระบายสีบนกระเบื้อง  และขายเสื้อองค์กรกันอย่างจริงจังขึ้นเรื่อยๆ และถัดจากนั้นพรรคชาวดินก็แหวกขนบการระดมทุนกิจกรรมอีกรอบด้วยการเปิดคอนเสิร์ตขึ้นเองในชื่อว่า เสียบปลั๊กยักไหล่ใส่แร็กเก้ 

คอนเสริ์ตครั้งนั้นเป็นการเข็นเอาคุณประจวบ จันทร์หมื่น (ปัจจุบันเป็นศิลปินวงอีเกิ้ง สังกัดค่ายอาร์สยาม)  ขึ้นแสดงดนตรีด้วยตัวเอง  โดยขณะนั้นเจ้าตัวก็ถือว่าเป็นแกนหลักของพรรคชาวดินและยังเป็นนักร้องนำวงสตริงของนิสิตในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อว่า เดอะทม  (ผู้ก่อตั้งวงดนตรี ปัจจุบันคืออาจารย์ทม  เกตวงศา)  และครั้งนั้นก็เก็บตั๋วเข้าชมเพียง 20  บาทเท่านั้น


ถึงแม้การแสดงดนตรีครั้งนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่ถึงกับขาดทุนจนต้องเจ็บตัวไปตาม ๆ กัน แต่ก็ถือได้ว่าเวทีครั้งนั้นได้กลายมาเป็นการจุดประกายให้นิสิตได้กล้าแสดงศักยภาพของตนเองบนเวทีอันสร้างสรรค์ในมหาวิทยาลัย   ซึ่งจากนั้นไม่นานนักทั้งคุณประจวบ จันทร์หมื่นและนิสิตบางท่านก็หันมาทำเทปตนเองวางขายในมหาวิทยาลัยไปโดยปริยาย

 

ปี 2540   พรรคชาวดินเข็นเอาคอนเสริ์ต หอบเสื่อมาเผื่อน้อง โครงการ 2”  กลับมาอีกครั้ง 

          คราวนี้  ไม่เพียงเป็นการแสดงดนตรีในอัลบั้ม เด็กหลังห้อง ของคุณแท่ง (ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง)  เท่านั้น  แต่ยังหมายถึงการมาของคุณ โน้ตอุดม แต้พานิช  ด้วยเช่นกัน  ซึ่งรายหลังนั้นมาทอล์คโชว์ในชุด โชว์ห่วย 

ครั้งนั้น คอนเสริ์ตดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2540  เก็บค่าเข้าชมคนละ 200  บาท แต่เมื่อหักลบต้นทุนแล้วมีเงินเหลือเป็นทุนรอนทำกิจกรรมในราว ๆ ประมาณ 120,000  บาท  รายได้ส่วนหนึ่งของเงินก้อนนี้ก็ถูกนำไปจัดกิจกรรม ผ้าป่าอาหารสัตว์  ที่จังหวัดชัยภูมิ  และโครงการค่ายสาธารณสุขอีกครั้งที่โรงเรียนบ้านผาน้อย อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย

กิจกรรมในทำนองเดียวกันนี้  ในยุคไล่หลังกันมานั้นพบว่าพรรคพลังสังคมเองก็เคยจัดคอนเสิร์ตวงสตรีวัยรุ่นชื่อดังบ้างเหมือนกัน  แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ตรงกันข้ามกลับต้องควักเนื้อตัวเองกันพอสมควร  เช่นเดียวกับสโมสรนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ก็เคยจัดกิจกรรมระดมทุนเช่นนี้เหมือนกัน  แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด  แต่ก็ยังถือว่าโชคดีเพราะได้ทางคณะเข้ามาดูแลและเป็นส่วนหนึ่ง  พร้อม ๆ กับการสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งจึงทำให้พอเอาตัวรอดไปได้บ้าง   

 

 

 

 

 

หนังกลางแปลง  :  ทางเลือกที่ยังนิยมเลือก

 

 

ปัจจุบันการระดมทุนหารายได้ทำกิจกรรมของนิสิตผ่านรูปแบบการจัดคอนเสริ์ตโดยมีศิลปินชื่อดังเป็น จุดขาย  แทบไม่ปรากฏให้พบเห็นอีกแล้ว  ขณะที่กระบวนการหรือรูปแบบอื่น ๆ  อาทิเช่น ขายเสื้อ  ขายสมุด  หรือแม้แต่การขอรับบริจาคทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยจะดูหลากหลายขึ้นก็จริง  แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวิธีการเหล่านี้ยังไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเพียงพอให้ออกค่ายในแต่ละครั้งได้   เว้นเสียแต่การเสนอโครงการขอรับการสนับสนุนจากองค์กร หรือมูลนิธิภายนอกเท่านั้น  ที่ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า  แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ  นิสิตส่วนใหญ่ก็ยังคงไม่ค่อยให้ความสนใจกับการนำเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรหรือมูลนิธิอย่างที่ควรจะเป็นเท่าใดนัก  จะมีก็แต่ หนังกลางแปลง เท่านั้นที่ดูเหมือนว่ายังคงเป็น ทางเลือก  ที่องค์กรนิสิต หรือชมรมต่าง ๆ  ให้ความสำคัญ และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการระดมทุนฯ  ด้วยวิธีนี้อย่างไม่รู้เบื่อ

 

          จากข้อมูลที่ประจักษ์ชัดที่สุดเมื่อสักประมาณ 3 – 4  ปีที่แล้ว  พบว่ากลุ่มนิสิตพรรคพลังสังคมเคยฉายหนังกลางแปลงเพื่อนำเงินไปออกค่าย  โดยนำเรื่อง เพื่อนสนิท  มาเป็นหนังชูโรง  ซึ่งหลังจากหักต้นทุนอันเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในราว ๆ  12,000 – 15,000  บาทคงเหลือเป็นกำไรมากถึง  60,000  บาทเลยทีเดียว 

 

ปัจจุบันองค์กรนิสิตหลายองค์กรยังคงยึดมั่นในแนวทางการระดมทุนออกค่าย หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ  ด้วยการฉายหนังกลางแปลงกันอย่างคึกคักต่อเนื่อง  จนดูเหมือนว่านี่คือ ทางเลือก  ที่ทุกองค์กรพร้อมใจที่จะเลือก  เพราะการบริหารจัดการไม่ซับซ้อนอะไรนักและที่สำคัญก็คือ ทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง


 
   หนังกลางแปลงไม่เพียงเป็นภาพสะท้อนด้านมุมมองการระดมทุนของเหล่าบรรดาองค์กรนิสิตที่พยายามยืนหยัดด้วยตนเอง  โดยไม่ฝากหวังไว้แต่เฉพาะการขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเสียทั้งหมด  ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการยืนหยัดอย่างมีพลัง  มีเหตุผล  และถือเป็นการเลือกที่จะเรียนรู้ด้วยวิธีของตนเองที่น่าสนใจมิใช่น้อย

 

 

 



ผลพวงของการระดมทุนด้วยการฉายหนังกลางแปลง  คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกเหนือจากผลกำไรในตัวเงินที่สามารถนำไปออกค่ายและจัดกิจกรรมอื่น ๆ  แล้วยังสามารถสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวอื่น ๆ  อยู่บ้างเหมือนกัน  ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิงในมหาวิทยาลัยที่ย่นระยะทางจากตัวเมืองมาสู่สถานศึกษา  หรือภาพสะท้อนด้านความสัมพันธ์อันเป็นกันเองของชุมชนกับมหาวิทยาลัย  ดังจะเห็นได้จากการฉายหนังในแต่ละครั้ง  ทั้งผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ  ก็ถาโถมเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้อย่างมากโข   หรือแม้แต่การสานต่อวัฒนธรรมการฉายหนังกลางแปลงให้คงอยู่กับมุมเล็ก ๆ ในสังคมไทยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

จากวันนั้นถึงวันนี้  ถึงแม้ผมจะไม่ค่อยมีโอกาสย่างกรายเข้าไปนั่งดูหนังกลางแปลงในมหาวิทยาลัยมากนัก  แต่ก้เคยแวะเวียนพบปะและให้กำลังใจกับองค์กรนิสิตอยู่บ้าง  รวมถึงการช่วยสมทบทุนซื้อตั๋วหนังกับนิสิตเสร็จแล้วก็แจกจ่ายให้นิสิตและบุคลากรไปดูบ้างตามโอกาสอันอำนวย  และเท่าที่พบเจอนั้นก็ถือได้ว่าบรรยากาศค่อนข้างดี  ถึงแม้จะแตกต่างบ้างกับบรรยากาศที่เคยนั่งดูในหมู่บ้านของตนเอง  แต่เรื่องราว หรือภาพชีวิตที่เกิดขึ้นของที่นี่ก็ได้บอกย้ำกับความทรงจำเก่าก่อนอย่างมีพลัง

การฉายหนังกลางแปลงในมหาวิทยาลัยยังคงมีกลิ่นอายของหนังกลางแปลงในหมู่บ้านอย่างชัดเจน  มีการหอบเสื่อมาปูนั่ง  มีการขายหนังสือพิมพ์แผ่นละบาทเพื่อรองนั่ง  มีการขายลูกชิ้นของชมรม  และสิ่งของอื่น ๆ ตามแต่จะนึกสนุกเอามาขาย  ขณะที่รถเข็นของชาวบ้านก็มีโอกาสได้ตั้งแผงขายขนม  ผลไม้  เครื่องดื่ม  หรือแม้แต่ปลาหมึกปิ้งกันอย่างคึกคัก  ส่วนนิสิตอีกกลุ่มหนึ่งก็รับผิดชอบบริหารจัดการรับฝากรถกันอย่างน่ารักน่าเอ็นดู   พอหนังฉายเสร็จ  แต่ละคนก็ช่วยกันเก็บขยะและไม้เสียบลูกชิ้นกันอย่างครึกครื้น -

และในที่สุดแล้ว  อาจเรียกได้ว่า  การฉายหนังกลางแปลงในมหาวิทยาลัยกำลังถูกยอมรับและยกฐานะให้เป็นอีกตำนานหนึ่งในแวดวงกิจกรรมของชาว มมส    

         

 

หมายเลขบันทึก: 221340เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2008 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • เหมือนกันเลย
  • สมัยอยู่ มศว ภาคใต้
  • ตอนทำงานอาสา ก็ใช้วิธีนี้ครับ
  • หนังกลางแปลง :  หนังสร้างค่าย
  • เข้าใจว่าตารางมีผลต่อบล็อก
  • ลองแก้ไขดูนะครับ
  • สบายดีไหม
  • เห็นเงียบๆๆไป

ท่าทางสนุกดีน่ะครับ กิจกรรมนักศึกษา ของ มมส. เห็นวิวัฒนาการเด่นชัด ส่วนทางใต้ เห็นว่าเงียบ ๆ ครับ แต่กิจกรรมด้านอาสาพัฒนาของ ม.วลัยลักษณ์ มีค่าย ๆ ปี ละ 2-3ครั้ง

หนังกลางแปลง ยังมีเสน่ห์นะคะ

เมื่ออาทิตย์ก่อน นั่งรถข้ามเขา

เห็นเค้า กำลังฉายหนังกลางแปลง บนเขาสูง

ได้บรรยากาศอีกแบบค่ะ

คุณแผ่นดิน รักษาสุขภาพนะคะ

สวัสดีครับ อาจารย์ขจิต ฝอยทองที่ปรึกษา~natadee,~natachoei(หน้าตาเฉย),~ natamaidee - - But narak... 

  • ยอมรับครับว่าหายไปนานมาก
  • เป็นภารกิจที่เกี่ยวกับเดินทางไปราชการ
  • ซึ่งมีทั้งในและต่างประเทศ
  • ....
  • การฉายหนังกลางแปลง  ของชาว มมส.
  • เข้มข้นและต่อเนื่องมาก
  • เพราะเมืองมหาสารคาม  ไม่มีสะพานลอยให้นิสิตยืนขอรับบริจาคเหมือนสังคมเมือง
  • เมืองมหาสารคาม เป็นเมืองเล็ก ๆ  เวลาขอรับงบสนับสนุนก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ
  • วิธีการ หรือกระบวนการเช่นนี้  จึงเป็นทางออกที่ดี ...
  • ไม่เหนื่อยมาก
  • และได้ทั้งเงินและความบันเทิงไปในตัว
  • รวมถึงการผุกโยงความสัมพันธ์กับชุมชนก็ถือว่าเป็นผลพวงที่น่าสนใจมาก
  • ....
  • รักษาสุขภาพ นะครับ

 

สวัสดีค่ะ เมื่อปี พ.ศ. 2525 พี่บรรจุรับราชการครู กศน.ค่ะ ก็ไม่การฉายหนังในหมู่บ้านพร้อมกับประชาสัมพันธ์งาน กศน. เช่น การเรียนระดับประถม (ระดับ 3) มัธยาศึกษา (ระดับ 4) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ระดับ 5) และการเรียนการสอนวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น ๆ เช่น การตัดผมชาย ตัดเย็บเสื้อผ้า ดัดผมเสริมสวย อาหาร - ขนม และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

สวัสดีครับพี่แผ่นดิน

บันทึกนี้ดูเป็นประวัติศาสตร์ได้เลยครับ เรียบเรียงได้เยี่ยม ผมชอบเรื่องราวของหนังอยู่แล้ว แล้วหนังกลางแปลงก็เป็นอะไรที่ชอบมาก บรรยากาศการดูหนังกลางแจ้ง มันโรแมนติกอยู่แล้ว

ดูกะสาว ๆ หนาว ๆ น้ำค้างโปรย

เป็นวัฒนธรรมที่ดีครับ เป็นการกระจายศิลปะแขนงนี้ไปสู่ชุมชน ในราคาไม่แพง สร้างโอกาส

ผมเห็นด้วยกับการที่นักศึกษาทำกิจกรรมนี้นะครับ

แต่ถ้าจัดกันทุกกลุ่ม บ่อย ๆ ผมก็ว่ามันคงจืด ๆ ไปเหมือนกัน

เคยทำสมัยเรียนที่วิทยาลัย เพื่อนฉายวีดีโอ เก็บตังค์ระดมทุน จัดบ่อยเข้า คนก็ไม่ค่อยสนใจ

แต่ก็เป็นรูปแบบการเรียนรู้ครับ

บันทึกอ่านสนุกครับ

อ่านแล้วนึกถึงสมัยเรียนครับ ไม่ใช่หนังกลางแปลง แต่เป็นหนังในหอประชุม สมาชิกชมรมช่วยกันขายบัตร บัตรก็ไม่แพง

สวัสดีครับ..คุณเอกราช แก้วเขียว

ผมเขียนบันทึกนี้ เพราะหลายครั้ง มีคนถามในเวทีต่าง ๆ ว่าทำไมนิสิตถึงออกค่ายกันเยอะมาก  ปีละไม่ต่ำกว่า 50  ค่ายเลยก็ว่าได้  ซึ่งทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณมากมายนัก  งบส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนสู่กิจกรรมประเพณีในสถาบันเป็นที่ตั้ง

และนี่คือคำตอบของคำถามเหล่านั้น ...ครับ

 

  • เป็นกำลังใจให้ตลอดเวลาและเหมือนเดิม

มาดูและเชียรืหนังกลางแปลง

เหมือนสมัยก่อน

มอขอ ขายบัตรฉายหนังในโรงภาพยนต์

คิดถึงตอนวันรุ่น ไปดูหนังกลางแปลง

ขอให้ระดมทุนได้มาก ๆ นะคะ

สวัสดีครับพี่แผ่นดิน

หวังว่าตอนนี้พี่ยังทำงานเกี่ยวกับกิจกรรมนิสิตที่มหาวิทยาลัยอยู่และคงสบายดีนะครับ อดคิดถึงเพื่อนๆ ชาวค่าย มมส.ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ายในสังกัดองค์การนิสิต หรือสังก้ดคณะ ต่างๆ เมื่อผมได้อ่านบทความที่พี่เขียนถึงกิจกรรมของชาว มมส. ที่มีวัฒนธรรมค่ายอันเป็นสายใยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของนิสิตกับชุมชนอย่างมีเอกลักษณ์

คิดถึงสมัยที่ได้ทำกิจกรรมออกค่าย มีอาจารย์ พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ร่วมร้องบทเพลงในค่ำคืนเดือนหงายกลางสนาม มันเป็นความทรงจำที่น่าประทับใจมากที่สุดอีกมุมหนึ่งของชีวิตการเป็นนิสิต ครั้งนั้นผมเป็นนิสิต มมส. รุ่นภูมริน 8 ปี 2547 กิจกรรมในรั้วมหาลัยที่ผมได้สัมผัสเมื่อแรกเริ่มนั้นก็คือ กิจกรรมรับน้อง ที่จัดขึ้นทั้งในส่วนกลาง และคณะ ต่อมาก็คือ กิจกรรมรอดซุ้ม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและพี่ได้เป็นอย่างดี ทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนทั้งในคณะและต่างคณะอย่างมากมาย กิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่จุดชนวนความคิดให้ผมสนใจที่จะเลืกทางเดินในการเรียนและการทำกิจกรรม

สิ่งที่เด่นชัดมากที่ทำให้ผมรู้จักคำว่า จิตสาธารณะ ก็คือ การออกค่ายครั้งแรกกับชมรมครูอาสาและครั้งนั้นผมก็ได้เป็นอนุกรรมการของชมรมด้วย เป็นอีกค่ายหนึ่ง ที่อาจใช้คำว่า ผู้ให้อย่างแท้จริง เป็นการฝึกฝนตนเองในการออกไปเรียนรู้นอกรั้วมหาลัย ที่ไม่มีให้เรียนในตำรา ทำให้เรารู้จักการแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อเพื่อสังคม โดยเฉพาะสังคมที่ด้อยโอกาส สังคมที่เด็กๆโหยหาความเอื้ออาทรณ์ จากใครหลายๆคน และผมก็เชื่อว่าคุณค่าชีวิตของการเป็นนิสิตไม่ใช่เฉพาะการตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเท่านั้นแต่การทำกิจกรรมก็มีความสำคัญพอกัน การเรียนและการทำกิจกรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะทำควบคู่กัน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถหล่อหลอม กล่อมเกลาให้เราเป็นคนที่มีโลกทัศน์ ความคิดที่กว้างไกล เข้าใจสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น มีความบริบูรณ์ก่อนที่จะออกไปช่วยสร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญเพราะการทำกิจกรรมสอนให้เรารู้ว่าเรามิได้อยู่เพื่อตนเองเพียงคนเดียว

กิจกรรมการจัดหาทุนในการออกค่ายของนิสิต มมส. ที่มีความโดดเด่น ลงทุนน้อย ได้ผลกำไรมาก ก็คือ กิจกรรมดูหนังกลางแปลง ดังที่พี่แผ่นได้กล่าวไว้ เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อผู้คนทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สามารถเข้าถึงผู้เสพหรือผู้ดูได้ทุกเพศทุกวัย

การฉายภาพยนตร์กลางแปลงเป็นการทำสื่อโฆษณาประเภทหนึ่งซึ่งถ้าว่ากันไปแล้วถือว่าเป็นสื่อที่ใกล้ชิดผู้บริโภคในลักษณะเอื้อมมือถึงเสมือนหนึ่งการเคาะประตูบ้านบอกกล่าวเล่าขานจากสภาพสังคมของคนในต่างจังหวัด แต่ละชุมชน แต่ละอำเภอ หรือว่าจังหวัด นั่นคือกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายซึ่งคละเคล้าคนทุกระดับให้มารวมกันอยู่เป็นกลุ่มก้อน ณ สถานที่นั้นๆเราจึงสามารถสื่อกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครบถ้วนหมดจด

้ เราจะจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสสร้างความผูกพันธ์สร้างความสนิทสนมกับ "แบรนด์"ของเราให้ผู้บริโภคนึกถึงเราเมื่อเขามีความต้องการบริโภคสินค้าตัวนี้ เขาจะมีความมั่นใจในคุณภาพสินค้า"แบรนด์"นี้ชัยชนะเหนือ"แบรนด์"อื่นก็ไม่ใช่สิ่งที่"ยาก"สำหรับเรา

อีกประการหนึ่่งหากจะย้อนมาพิจารณาถึงต้นทุนการลงทุนสื่อโฆษณาประเภทนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อประเภทนี้มี"ต้นทุน"ที่ต่ำที่สุด แต่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างใกล้ชิดที่สุดและมีปริมาณมากที่สุดในการลงทุนแต่ละครั้ง แต่ละสถานที่เราเจาะได้ตรงเป้าที่สุด (นันทวันภาพยนตร์ จ. สุรินทร์) นี่คือรูปแบบกิจกรรมที่สามารถทำให้กลุ่มนิสิตชาวค่ายหารายได้ในการออกไปจัดกิจกรรมกับชุมชนอีกหนทางหนึ่ง ซึ่งยังคงยึดถือปฏิบัติต่อกันมา ถึงทุกวันนี้

หากมีโอกาสผมก็อยากกลับไปนั่งดูหนังกลางแปลงที่ ชาวค่าย มมส. จัดเหมือนกัน เพราะจะทำให้เราคิดถึง และได้สัมผัสบรรยากาศเก่าๆเหล่านั้นได้อย่างแจ่มชัดที่สุด หากว่ามีข่าวกิจกรรมดีๆ ที่น่าสนใจ พี่แผ่นดินก็แจ้ง ประชาสัมพันธ์ให้ทราบด้วยนะครับ...ท้ายสุดนี้ผมก็ขอให้พี่แผ่นดินมีความสุขกับการทำงานมากๆนะครับ

(การเรียนทำให้เรามีความรู้ในการทำงาน กิจกรรมทำให้เราทำงานเป็น)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท