ต้านลมหนาวสานปัญญา : พันธกิจศรัทธาที่ไม่เคยเกี่ยงงอน ..


จุดหมายของเรานั้น มีค่าต่อการแบ่งปัน



ขณะที่ผมกำลังนั่งพักผ่อนอยู่ที่ห้องพักโดยตั้งใจว่าสักครู่คงเข้าไปยังสำนักงานเสียงลมหนาวจากทิวไม้หลังเรือนพักดังหวีดวิวลอดไล้เข้ามายังห้องนอนชวนให้ผิวกายเย็นสะท้านประหนึ่งการสะกิดเตือนให้หวนคิดถึงภารกิจอันสำคัญที่ปล่อยวางไว้ก่อนการไปเมืองปาย

ภารกิจที่ว่านั้นก็คือ การร่วมขับเคลื่อนโครงการ “ต้านลมหนาวสานปัญญา” นั่นเอง


ผมเคยได้เขียนถึงเรื่องราวและบรรยากาศตลอดจนที่มาที่ไปของโครงการนี้มาแล้วหลายบันทึกอย่างน้อยก็เขียนถึงอย่างต่อเนื่องมาแล้วถึงสองปีและเรื่องราวที่ว่านั้นก็เกิดขึ้นที่จังหวัดชัยภูมิและอุดรธานี


ในปีนี้โครงการดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในระหว่างวันที่12 – 14 ธันวาคม2551ชุมชนบ้านหนองหญ้าปล้องหมู่ที่10ตำบลแซงบาดาลอำเภอสมเด็จจังหวัดกาฬสินธุ์






ถึงแม้พื้นที่ดังกล่าวจะไม่ไกลไปจากมหาวิทยาลัยมากนักแต่ก็เป็นที่ยอมรับและรู้ซึ้งกันดีว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดกาฬสินธุ์กับจังหวัดสกลนครและที่สำคัญคือเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับเทือกเขาภูพานด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภูมิอากาศจะหนาวเย็นสักแค่ไหน


ลมหนาวของผืนแผ่นดินที่ราบสูงอย่าง “อีสาน”ถึงแม้จะไม่หนาวแบบชื้น ๆ นัก แต่พลังของความหนาวเย็นที่สยายปีกมาพร้อมกับสายลมแบบแห้ง ๆ โหย ๆ นั้นกลับเป็นเสมือนเครื่องประหัตประหารอันน่าเกรงขามเป็นที่สุด





ผมมีโอกาสได้ร่วมคิดกิจกรรมและแนวทางของการระดมทุนกับเจ้าหน้าที่และนิสิตมาสองรอบใหญ่ ๆก่อนปล่อยให้แต่ละคนได้ลงมือทำในสิ่งที่เขาควรจะต้องคิดและทำด้วยตนเองซึ่งเบื้องต้นน้องนิสิตได้ตระเวนสำรวจพื้นที่ต่าง ๆเสร็จแล้วก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์ – คัดเลือกกันอย่างเข้มข้นจากนั้นก็ลงพื้นที่กันอีกรอบเพื่อศึกษารายละเอียดอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งเพราะกิจกรรมนี้จะไม่เพียงถูกจัดขึ้นด้วยรูปแบบการส่งมอบสิ่งของเท่านั้น หากแต่จะมีกิจกรรมบูรณาการอย่างหลากหลายเข้าไปเติมเต็มอย่างเข้มเข้นและที่สำคัญก็คือมิติของการเชื่อมโยงระหว่างบ้าน, โรงเรียน, และวัด





และที่สำคัญอีกประการก็คือ นิสิตที่เข้าร่วมโครงการก็ต้องทำอะไรได้มากกว่าที่จะไปส่งมอบสิ่งของและไม่ใช่ไปเพียงเพื่อชมนกชมวิวตากอากาศกับเพื่อนรักเท่านั้นแต่ต้องเข้าสู่กระบวนการของการเรียนรู้ชีวิตร่วมกับเพื่อนและชาวบ้านอย่างมีกระบวนการเพื่อปรับแต่งโลกทัศน์และชีวทัศน์ของตนเอง เพราะนั่นคือกระบวนการหนึ่งของการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของนิสิตผ่านกระบวนการของ "กิจกรรมนอกหลักสูตร" ที่ผมไม่อาจปล่อยวางได้ เพราะผมเชื่อและศรัทธาเสมอมาว่า "กิจกรรมนิสิต คือรสชาติชีวิตปัญญาชน" และ "กิจกรรมนิสิต ก็เป็นเสมือนเรือนเพาะชำชีวิตของปัญญาชน" ด้วยเช่นกัน





ในระยะต้นของการเตรียมการในเรื่องเหล่านี้น้อง ๆ นิสิตได้ระดมแรงจับเสือมือเปล่าโดยการออกตระเวนเก็บขวดพลาสติกมาชั่งกิโลขายแต่เป็นที่น่าเสียดายว่าขวดจำนวนพัน ๆ ขวดกลับขายได้เพียงไม่ถึง 400บาททำให้เราต้องปรับยุทธศาสตร์กันยกใหญ่ด้วยการตีกลองร้องเพลงขอรับบริจาคใน “ตลาดน้อย” ของ มมสเพื่อหวังว่าจะมีทุนรอนในการขับเคลื่อนเรื่องนี้





ถึงตอนนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าการงานเหล่านี้เคลื่อนไปได้ไกลแค่ไหนติดขัดอะไรบ้างเพราะช่วงที่ผ่านมาผมก็สัญจรไปเมืองปายเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกัลยาณมิตรในกิจกรรมที่มีชื่ออันเปี่ยมพลังว่า “จิตอาสา gotoknow”แต่เท่าที่ยกหูสอบถามไปยังแกนนำเมื่อเช้านั้นก็พอได้รู้มาบ้างว่าทุกอย่างยังคงต้องลงแรงกันอีกเยอะและเที่ยงของวันนี้ก็จะเปิดเวทีเล่นดนตรีเปิดหมวกแบบเก๋ ๆ ในโรงอาหารส่วนพรุ่งนี้ก็จะร่วมแรงใจกันซักเสื้อผ้าผึ่งเสื้อผ้าตลอดจนจัดเรียงสิ่งของที่จะนำไปส่งมอบให้กับน้อง ๆ และชาวบ้าน –


ปีนี้ผมมอบแนวคิดว่าเราต้องจัดกิจกรรมนี้อย่างน้อย 2ครั้ง, และตั้งศูนย์รับบริจาคไว้อย่างยาวนานเพื่อรองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นทั้งที่เป็นภาคอีสานและภาคอื่น ๆ บนความเป็นไทยที่เราผูกพัน






ปีนี้นิสิตเลือกที่จะไปเยือนบ้านหนองหญ้าปล้องโดยยึดโรงเรียนในหมู่บ้านเป็นศูนย์กลางของการจัดกิจกรรมซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นทุ่งนาล้อมรอบหมู่บ้านและมีลำห้วยเล็ก ๆไหลรินหล่อเลี้ยงเป็นพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านพร้อม ๆ กับการมีเทือกเขาภูพานยืนตระหง่านเป็นม่านหินล้อมรอบชุมชนไว้อีกชั้นหนึ่ง


หมู่บ้านดังกล่าวนี้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการครั้งแรกในราวปี 2510แต่เหตุการณ์อันผันผวนทางการเมืองผลักส่งให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นสนามรบระหว่างซีกรัฐบาลกับอีกฝ่ายที่ถูกเรียกขานอย่างน่าเกรงกลัวว่า “คอมมิวนิสต์”จนเกิดการล้มตายอย่างมากมายบ้านเรือนและทรัพย์สินถูกเผาทำลายจนต้องอพยพทิ้งถิ่นไปหาที่อยู่ใหม่นานร่วมสิบปีก่อนกลับมาปักหลักปักชีวิต ณ หมู่บ้านอันเป็นที่รักนี้อีกครั้ง





ทุกวันนี้ชาวบ้านยังคงเผชิญปัญหาหนี้สินล้นตัวไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ทำกิน เพราะเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวน ฯชาวบ้านขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำและผืนป่าขณะที่ภาครัฐเองก็เคลื่อนความช่วยเหลือเข้าไปได้ไม่ทั่วถึงชาวบ้านไม่มีรายได้เสริมสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตก็สัญจรเคลื่อนแรงงานไปสู่เมืองใหญ่ ๆขณะที่ด้านการศึกษานั้นก็ถือได้ว่ายังคงขาดแคลนอยู่มากโดยปัจจุบันมีนักเรียนในระดับประถมศึกษา 38คนมีครูสอนหนังสือ 2 คนซึ่งยังไม่รวมกับเด็กอนุบาลอีก 20คน






นี่คือเรื่องเล่าที่นำมาฝากในเช้าที่สายลมหนาวยังไม่ลดราความหนักหน่วง ...
และถึงแม้ว่าลมหนาวจะยังคงหยัดยืนต่อการทำหน้าที่ของตนเองอย่างเที่ยงแท้ตามปรากฏการณ์ของธรรมชาติแต่ทั้งผมและน้องนิสิตก็ไม่เคยกลัว หรือท้อแท้ที่จะ
“ต้านลมหนาว”เพราะจุดหมายของเรานั้นมีค่าต่อการ “แบ่งปัน”เป็นที่สุด


และที่สำคัญก็คือสิ่งหนึ่งที่เรารู้และเข้าใจมาโดยตลอดก็คือความหนาวเย็นของสายลมหนาวนั้นเป็นเพียงบททดสอบของการอยู่ได้ด้วยตนเองของผู้คนซึ่งรวมถึงบทพิสูจน์มิตรภาพของผู้คนในสังคมด้วยเช่นกัน และสำหรับเราแล้ว เราต่างก็ตระหนักเช่นเดียวกันมานานแล้วว่า เราเป็นเพียงผู้นำสารที่มีหน้าที่นำสารแห่งความห่วงใยและผูกพันจากผู้มีจิตศรัทธาไปส่งมอบให้ถึงมือของผู้รับ โดยไม่เกี่ยงงอนว่าเส้นทางแห่งการเดินทางนั้นจะยาวไกลและกันดารแค่ไหน หรือจุดหมายนั้นจะเต็มไปด้วยม่านหมอกอันหนาวเหน็บ - เราก็ไม่หวั่น และทำหน้าหน้าที่นั้นอย่างเต็มที่และเต็มกำลัง โดยไม่เกี่ยงอนว่า สิ่งที่ได้มานั้นจะมีจำนวนกี่มากน้อย !





มาเถอะครับ... ถ้าใครพร้อมมาเป็นส่วนหนึ่งกับการหว่านเมล็ดพันธ์แห่งความหวังไว้ในตัวเด็ก ๆ หรือเพียงถ้อยคำที่ท่านพึงมีก็ล้วนเป็นความงดงามอันยิ่งใหญ่ที่ผมพร้อมที่จะนำไปสู่การเป็นกำลังใจให้กับ “ทีมงาน” หรือแม้แต่เด็กและชาวบ้านที่กำลังทำสงครามกับ “สายลมหนาว”


ข้อมูลเพิ่มเติม

กิจกรรมที่จะมีขึ้น

  • มอบเครื่องกันหนาว
  • สร้างเวทีกิจกรรมใต้ถุนอาคารเรียน
  • ซ่อมรั้วโรงเรียน
  • ซ่อมเสาธง
  • จัดทำสื่อการเรียนการสอน
  • มอบหนังสืออุปกรณ์การเรียน
  • เวชภัณฑ์
  • ทุนอาหารกลางวัน
  • ซ่อมแซมศูนย์เด็กเล็ก
  • ซ่อมม้านั่งสำหรับนั่งทานข้าวในโรงอาหาร
  • จัดทำบ้านชื่อหมู่บ้าน
  • ฯลฯ...

หมายเลขบันทึก: 228339เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2008 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2016 00:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)
  • ภาพทุกภาพมีเรื่องราวดี ๆ
  • ชอบมากครับ
  • เด็ก ๆ น่ารักดีครับ
  • บรรยากาศโอเคเลยครับ
  • ได้แต่บอกว่า เสียดายๆๆๆๆๆๆๆๆ

"กิจกรรมนิสิต คือรสชาติชีวิตปัญญาชน" และ

"กิจกรรมนิสิต ก็เป็นเสมือนเรือนเพาะชำชีวิตของปัญญาชน"

เห็นด้วยค่ะ

ร่วมแรงแข็งขัน แบ่งปันน้ำใจ เพื่อไทยด้วยกัน

สะบายดีนะครับพี่

แล้วกลุ่มไหลไปไหนหรอครับ?

น่าเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้

สวัสดีครับ ครูโย่ง หัวหน้า~ natadee

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ

ตอนนี้นิสิตกำลังจัดเตรียมข้าวของเพื่อไปจัดกิจกรรม  ผมยังไม่ได้เดินไปดู  เพราะติดพันอยู่กับการฝึกซ้อมต้นแบบรับปริญญาบัตร

แต่เดี๋ยวสักครู่คงไปดู  เพราะสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น เป็นต้นว่า ซักและตากเสื้อผ้านั้น เป็นแนวคิดของผมเอง  ผมอยากให้นิสิตมาช่วยกันเหมือน "งานบุญ"  จะได้ร่วมทำกุศลด้วยกัน

เดี๋ยวคงนำมาเล่าอีกบันทึก ...ติดตามต่อไปแล้วกันนะครับ

สวัสดีค่ะ เป็นกิจกรรมที่ดี มากๆค่ะ กล่อมเกลาจิตใจของนิสิตและทุกคนที่ได้อ่านด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ..tuk-a-toon

โดยหลักแล้ว  ผมให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในห้องเรียนมาก  แต่ก็ไม่ลืมที่จะสอนให้นิสิตได้เลือกที่จะเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านมิติของกิจกรรม  เพราะเชื่อว่า  กิจกรรม คือ กระบวนการของการพัฒนาศักยภาพชั้นดีของคนหนุ่มสาว  ได้ฝึกทั้งการเป็นผู้นำและผู้ตาม  ยิ่งหากได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยแล้ว ยิ่งสอนให้เห็นคุณค่าของคำว่า "จิตอาสา"  หรือ "จิตสำนึกสาธารณะ"  นั่นเอง

ขอบคุณครับ

 

  • นักศึกษาโชคดี
  • เพราะมีต้นแบบที่ดี แบบ อ. พนัส
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกที่ได้สาระ และแง่คิดที่ดี

สวัสดีครับ ย่ามแดง

สบายดีนะครับ..

ดีใจที่พบเจอกันในบันทึกนี้ ...

และงานนี้  เราก็กำลังรวบรวมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การมอบให้กับชุมชน รวมถึงร่วมเรียนรู้ในมิติของชุมชน  เพื่อให้นิสิตได้เกิดมุมมองใหม่ของการใช้ชีวิต และเห็นคุณค่าของการ "ให้" 

นั่นเป็นความคาดหวังของผม  ส่วนนิสิตจะเกิดการเรียนรู้ตามนั้นหรือไม่ ก็อยู่ที่เขาแล้วแหละครับ

สวัสดีครับพี่...ต้องขอโทษแทนกลุ่มไหลด้วยน่ะครับ..การลงไปทำงานครั้งนี้ผมโดดเดี่ยวจริงๆ เพื่อนพี่น้องไหลกระจัดกระจายกันไปคนละทาง...แต่ทางตรงกันข้ามผมก็ได้มิตรภาพจากเพื่อนกลุ่มอื่นๆที่ทำงานในครั้งนี้อีกมากโข...ตอนนี้กำลังเขียนเพลงเพื่อที่จะนำไปเล่นที่ค่ายอยู่ครับ...อากาศเย็นรักษาสุขภาพด้วยน่ะครับ..

สวัสดีค่ะ

  • มาติดตามข่าวกิจกรรมของน้อง ๆ นิสัตค่ะ
  • ขอเป็นกำลังใจนะคะ
  • การทำความดีไม่มีขีดจำกัด
  • และการทำเพื่อความสุขของคนในสังึคม
  • เป็นแบบอย่างที่ดีค่ะ

ท่าน สาดตาจาน  ครับ..

คิดถึงเสมอนะขอรับ,  แต่คิดว่า ถ้าท่านยังอยู่กับท่านสมปอง  คงมีสีสันมากกว่านี้เป็นแน่

รักษาสุขภาพ และตั้งใจกับการฝึกงาน นะครับ

เป็นกำลังใจให้ไม่เปลี่ยนแปลง,

สวัสดีครับ.♥.·° ♥paula ที่ปรึกษา~natadee·° ..✿

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ.

ผมไม่เคยแคลงใจเลยว่า กิจกรรมนิสิตทุกกิจกรรม จะไม่เป็นเครื่องของการขัดเกลานิสิตให้เรียนรู้ถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่  เฉพาะการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้อย่างสมเหตุสมผล ..

สิ่งเหล่านี้  บางครั้งกระบวนการในห้องเรียนก็สร้างให้ได้ไม่หมด  ดังนั้น กระบวนการ "นอกห้องเรียน"  เช่นนี้แหละครับ  จะช่วยเติมเต็มให้พวกเขาเอง -

ขอบคุณครับ

วันนี้เจอ เฉลิมเกียรติ ที่ มสธ.โลกกลมจริงๆครับ

(อ.เฉลิมเกียรติ)

สวัสดีครับ. พี่เกด เกศนี บุณยวัฒนางกุล

ผมเองก็โชคดีครับที่มีนิสิต "ใจสู้" และมี "จิตอาสา" (ที่ มมส นิยมใช้คำว่า จิตสำนึกสาธารณะ) 

กำลังวางแผนจะขยายโครงการอีกสักครั้งสองครั้ง  แล้วจะสื่อสารในระบบอีกครั้ง นะครับ

สวัสดีครับ เดียร์ muangkhan

ตอนนี้ทีมไหล ต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าที่ผ่านมา แต่ก็เชื่อว่าจะไปกันรอด (นะ) ..  และงานนี้ก็อยากให้ชวนน้อง ๆ ไหลมาร่วมันเยอะ ๆ จะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของชมรมต่าง ๆ ไปด้วย

แน่นอนนะ.. งเป็นกำลังใจไม่เปลี่ยนแปลง

สวัสดีครับ ครูคิม

ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ

และผมก็จะส่งต่อกำลังใจนี้ไปถึงนิสิตด้วยเช่นกัน

วันนี้นิสิตจะออกเดินทางไปยังโรงเรียนและชุมชน  เราได้รับสิ่งของและเสื้อผ้ามากพอสมควร  และจะพยายามทำให้ส่วนที่เหลือให้ดีที่สุด

คุณเอก ครับ. จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

วันที่ 10  ผมก็เจออาจารย์เฉลิมเกียรติเหมือนกัน ยังเล่าให้ฟังเลยว่า เพิ่งไปจัดกิจกรรมทางสังคมกับคุณเอกมา ..

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ   เป็นหมู่บ้านภายในชุมชนของผมเองครับ  ชาวบ้าน ลำบากมากครับ ขอบคุรที่ทำหัยชุมชนได้มีส่วนร้วมครับ   มีอะไรที่ ผม จะช่วยได้ ต่อต่อผมด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท