คิดเรื่องงาน (48) : ปั้นรูปสัตว์-สกัดความรู้


ผมพยายามสื่อสารออกมาผ่านตัวละครที่เป็นสัตว์ชนิดต่างๆ แล้วเชื่อมรัดไปสู่การเรียนรู้ในวิถีแห่งการทำงานของทีมงาน รวมถึงการเขย่าความรู้เดิมที่เคยได้ร่ำเรียนเขียนอ่านมาของแต่ละคน

วันนี้  ผมมีภารกิจที่จะต้องหอบหิ้วทีมงาน
ในสังกัดออกไปจัดกิจกรรมกันนอกสถานที่ 
ครั้งนี้สำคัญมากครับ  เพราะเป็นการต่อยอดจากกิจกรรมพฤหัสสกัดความรู้  เรียกได้ว่า
เป็นครั้งที่ ๓ ก็ว่าได้  แต่เนื่องเพราะวันพฤหัสหน้านั้น  เรามีงานรัดตัวกันมาก อีกทั้งหลายคนต้องเข้าอบรมยาวเหยียด  เลยจำต้องยึดเอาฤกษ์สะดวกของวันนี้เป็นที่ตั้ง

วันนี้สำคัญมากๆ เพราะผมใช้เวลาคิดเกี่ยวกับวาระนี้นานมาก  จนมาลงตัวภายใต้วาทกรรมแห่งการขับเคลื่อนว่า “สอนงาน...สร้างทีม” ..

แต่ก่อนที่จะไปสู่บรรยากาศนั้น  ผมขออนุญาตนำบันทึกที่เขียนค้างไว้มานำเสนอให้แล้วเสร็จ  เพื่อเป็นการปูพรมทวนความจำกันอีกรอบกันดีกว่า  ....

.....................................................................................................................

เชิญครับ

ผมยังเล่าเรื่องพฤหัสสกัดความรู้ ครั้งที่ ๒ ยังไม่จบ…
ภายหลังกิจกรรม “สถานการณ์เฉพาะกิจ-ความคิดเฉพาะตน”  ยุติลงอย่างชื่นมื่นต่างคนต่างได้รับความเฮฮาอย่างถ้วนหน้า
  แถมยังได้เกร็ดความรู้เรื่อง “ควายปลูกข้าวและหมาเก้าหาง” ไปประดับชีวิตอย่างเหนือความคาดหมาย  จากนั้น-ผมก็ไม่รีรอที่จะนำทุกคนเข้าสู่บทเรียนแห่งการละลายพฤติกรรมทางความคิดในกระบวนการที่ ๒ นั่นก็คือ “ปั้นรูปสัตว์-สกัดความรู้”

ก่อนเริ่มกระบวนการ  ผมเกริ่นนำถึงกฎกติกาเล็กๆ น้อยๆ อย่างเป็นกันเอง  เป็นต้นว่า  ให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมาจับฉลากว่าจะได้ชื่อสัตว์ชนิดใดไปบ้าง  ซึ่งเดิมทีนั้น  ผมตั้งใจจะใช้กิจกรรม “สัตว์ ๔ ทิศ” (หมี-อินทรี-กระทิง-หนู)  มาเป็น “บทเรียน”  หรือตัวขับเคลื่อนการ “เรียนรู้” 

แต่ด้วยความที่ว่า กิจกรรมดังกล่าว ทีมงานทุกคนเคยได้รับรู้และรับฟังมาแล้ว  จึงจำต้องเว้นวรรคเก็บเข้าลิ้นชักไว้ก่อน

ดังนั้น  ผมจึงตัดสินใจเลือกเอาสัตว์ ๓ มาเป็นบทเรียนนี้แทน  อันได้แก่  ช้าง-ม้า-ลิง  โดยสัตว์ทั้งสามชนิดนั้น  ผมได้กำหนดกรอบแนวคิดไว้แล้วว่าจะสื่อสารถึงเรื่องราวอันเป็น “ชีวิตและการงาน” อย่างไร  และที่สำคัญกิจกรรมที่ว่านี้  ผมกำหนดกรอบให้เป็นเครื่องมือหนึ่งของการพัฒนาความเป็น “ทีม-ความคิดสร้างสรรค์-สังเคราะห์-บริหารจัดการ-การนำเสนอ” 

แต่ทั้งปวงนั้น  ผมก็ไม่ได้อธิบายอะไรมาก  เพราะอยากให้แต่ละคนได้ตีโจทย์และขบคิดกับบทเรียนเหล่านั้นด้วยตนเอง  ดังนั้น  กิจกรรมดังกล่าว  จึงเริ่มต้นจากการแจกกระดาษสีและกระดาษชาร์ดแข็ง พร้อมกาวอีก ๑ ขวด และปากกาเคมีอีก ๓ ด้ามให้แต่ละกลุ่ม  

จากนั้นก็นำเข้าสู่กระบวนการง่ายๆ  คือ  (๑)  ให้แต่ละกลุ่มปั้นรูปสัตว์ตามที่จับฉลากได้  (๒)  ไห้วิเคราะห์ความหมายเชิงนัยยะของสัตว์ดังกล่าวในมิติทางชีวิตและการทำงาน (๓) ให้วิเคราะห์กระบวนการบริหารจัดการความเป็นทีมในกิจกรรมดังกล่าว (๔)  ให้นำเสนอผลการดำเนินงานในโจทย์ที่ ๑-๓  (๕) พร้อมๆ กับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนกลุ่มอื่นๆ

กิจกรรมดังกล่าวนั้น  ผมกำหนดเวลาแบบบีบรัดไว้อย่างแน่นหนาด้วยกรอบคร่าวๆ คือไม่เกิน ๔๕ นาที …และนำเสนอกลุ่มละไม่เกิน ๕  นาที …ซึ่งใครๆ ก็ร้องทักในทำนองว่า “เวลาน้อยเกินไป”  แต่ผมก็ยืนยันว่า “แค่นี้สบายมาก-ผมเชื่อว่า..ทำกันได้” (ทั้งที่ความเป็นจริง หากเวลาไม่พอ ผมก็ยินดีต่อเวลาพิเศษให้  เพียงแต่เก็บงำเรื่องการต่อเวลาไว้ก่อน-เท่านั้นเอง)

 

ทันทีที่กิจกรรมเริ่มต้นขึ้น ผมก็เฝ้าสังเกตและเก็บข้อมูลพฤติกรรมการทำงานของแต่ละทีมอย่างใกล้ชิด  บางครั้งเข้าไปหยอกล้อ บางทีเข้าไปแกล้งอำ-เพื่อสร้างสถานการณ์ หรือสมมติให้ตัวเองเป็น “อุปสรรค” ของการทำลายสมาธิของแต่ละกลุ่มแบบเก๋ๆ …

แน่นอนครับ-กิจกรรมนี้เปิดตัวแตกต่างจากกิจกรรม“สถานการณ์เฉพาะกิจ-ความคิดเฉพาะตน”  อย่างเห็นได้ชัด  เพราะกิจกรรมแรกนั้น เป็นกระบวนการเฉพาะกิจ เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ผ่านทักษะแต่ละคนเป็นที่ตั้ง ไม่มีเวลาสร้างระบบการบริหารจัดการเลยก็ว่าได้

แต่ครั้งนี้,ทุกคนเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากกิจกรรมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปอย่าง “ไร้ทิศทาง” คราวนี้จึงเริ่มต้นจากการล้อมวง “ถกคิด” ร่วมกัน…มีการตีโจทย์…กำหนดขั้นตอน-เป้าหมาย… แบ่งสรรปันงาน…จัดสรรวัตถุดิบ… และลุยงานกันอย่างคึกคักและครึกครื้น


ในช่วงของการนำเสนอผลการเรียนรู้ในบทเรียนที่กำหนดให้นั้น  ถึงแม้บรรยากาศจะไม่สรวลเสเฮฮาเหมือนกิจกรรมแรก  แต่ก็ถือว่าไม่เครียดและเป็นไปได้อย่างมี “ชีวิตชีวา” โดยภาพรวมนั้น  แต่ละกลุ่มสามารถนำเสนอผลการเรียนรู้แบบไม่ขี้เร่นัก บางกลุ่มสังเคราะห์ออกมาได้เป็นอย่างดี  ขณะที่บางกลุ่มก็สังเคราะห์ออกมาได้ในระดับปานกลางๆ  ซึ่งนั่นคงเป็นเพราะข้อจำกัดเรื่องความหมายทาง “นัยยะของสัตว์” นั้นๆ รวมถึงต้นทุนทางความรู้ของแต่ละคนด้วยเช่นกัน

เริ่มจากทีมงานกีฬา-นำเสนอเรื่อง “ม้า” อย่างง่ายๆ ตามสไตล์ของงานกีฬาที่ไม่หวือหวา  แต่เห็นภาพที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน  โดยทีมนี้ชูวาทกรรมว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า-กาลเวลาพิสูจน์คน”  พร้อมๆ กับการชวนคิดชวนคุยว่า “ม้า” เป็นสัตว์ที่สะท้อนถึงความองอาจ สง่า มีพละกำลัง และยังเป็นกำลังอันสำคัญของการขับเคลื่อนภารกิจในทางสังคม  ดังจะเห็นได้จากการเปรียบเปรยคนทำงานที่มีศักยภาพว่าเป็นเสมือน “ม้าศึก”

เกี่ยวกับเรื่องนี้  ผมไม่แปลกใจเลยว่า  ทำไมทีมกีฬาถึงเลือกวาทกรรม  “ระยะทางพิสูจน์ม้า-กาลเวลาพิสูจน์คน”  มาเป็นตัวชูโรงทางความคิด  เพราะในสถานการณ์ที่ผ่านมา  งานกีฬาตกเป็นเป้าถูกวิพากษ์อย่างต่อเนื่องในเรื่องต่างๆ  เป็นต้นว่า ทำงานช้า, ไม่มีระบบแบบแผน, ขาดจิตวิญญาณของการให้บริการ, ไม่ค่อยได้ช่วยเหลือหรือสนับสนุนงานอื่นๆ เท่าที่ควร เป็นต้น

ซึ่งกลุ่มนี้  จึงพยายามส่งนัยยะความรู้สึกมายังเพื่อนพ้องน้องพี่ว่า  “ขอเวลาพิสูจน์ตัวเอง”  เสมือนม้าที่ถูกพิสูจน์ด้วยระยะทาง  พร้อมๆ กับบางคนก็สารภาพกลางวงเลยว่า “จากนี้ไปจะเป็นคนใหม่..เทใจให้องค์กร…”

สำหรับกลุ่มนี้  ก่อนลงจากเวที  ผมก็เลยโยนวาทกรรมไปให้คิดว่าเคยได้ยินคำๆ นี้บ้างหรือไม่ “ชักม้าชมเมือง…”  ซึ่งคำตอบที่ได้รับมาคือ “ไม่…”-ทำเอาผมงง แต่ก็ไม่ลืมที่จะปลอบโยนพวกเขาแบบทีเล่นทีจริง พร้อมๆ กับการทิ้งให้ไปต่อยอดในเชิงความหมายนั้นด้วยตัวของเขาเอง

ส่วนทีมงานกิจกรรมนิสิตนั้น  นำเสนอรูปปั้น “ลิง”  ผ่านวาทกรรมว่า “วานรได้แก้ว…คล่องแคล่วเหมือนลิง”  ซึ่งก็ไม่แปลกหรอกนะครับ  เพราะทีมงานกิจกรรมนั้น โดยธรรมชาติก็เป็นกลุ่มคนที่ต้องคิดเชิง “รุก” และทำงานแบบ “ลุก” ออกจากเก้าอี้อยู่แล้ว  และยังต้องมีบุคลิกทั้งต่อการเรียนรู้ ขวนขวาย ใฝ่รู้  และกระฉับกระเฉงว่องไวในสถานการณ์ต่างๆ  มิเช่นนั้นก็คงไม่สามารถกระตุ้นให้นิสิตเกิดกระบวนการของการ “เรียนรู้” ได้

ซึ่งผมก็ไม่วายที่จะแซวแบบหยิกลึกว่า  กลุ่มนี้ดูเหมือนต้อง “ลิงหลอกเจ้า…หาใช่คล่องแคล่วเหมือนลิง”  ทำเอาแต่ละคนหัวเราะออกมาพร้อมกันแบบไม่ได้นัดหมาย

 

แต่อย่างไรก็ตาม  กลุ่มนี้ก็สามารถนำเสนอแนวคิดของกลุ่มได้อย่างชัดแจ้งพอสมควรแหละ  ถึงแม้จะไม่มีสำนวนไทย หรือสุภาษิตคำพังเพยมาเทียบเปรยกันมากนัก  แต่ก็ถือว่าสอบผ่านไปได้อย่างไม่อายเพื่อน

ขณะที่ผม ก็เข้าไปเกริ่นผูกโยงเนื้อความสู่การเรียนรู้เอาไว้อย่างแน่นหนักว่า  ลิงเป็นสัญลักษณ์ของการทำงานที่สำคัญมาก  ไม่ใช่แต่เพียงเพราะเป็นสัตว์ที่ฉลาดว่องไวเท่านั้นหรอก  แต่ลิงยังเป็นสัตว์ที่ควรค่าต่อการศึกษาเป็นยิ่งนัก  โดยเฉพาะในมิติวรรณคดีไทย ลิงมีวีรกรรมที่ฮือฮามาก ดูกันง่ายๆ เลยก็คือ “หนุมาน” จากเรื่องรามเกียรติ์นั่นแหละ

ซึ่งเกี่ยวกับหนุมานนั้น  ผมพยายามชี้ให้เห็นว่าตัวตนของหนุมานนั้น มีทั้งความเก่ง ฉลาด กล้าหาญ เสียสละ และกตัญญูอย่างน่ายกย่อง  และนั่นก็เป็นคุณลักษณะที่น่าสนใจมากสำหรับคนทำงานอย่างเราๆ

ถัดจากนั้น  ผมก็ยกเอาเรื่องลิงพี่น้องอันลือลั่นมาเล่าผูกโยงการเรียนรู้ต่อ นั่นคือ เรื่องราวของ “พาลีและสุครีพ” โดยเริ่มมาตั้งแต่กำเนิด  ออกจากเมือง  สู่ตอนการสู้รบกับทรพี  และปิดท้ายด้วยก่อนตายจาก  พาลีก็ล่ำลาน้องรัก ด้วยการสอนสั่งน้องชายให้ตระหนักถึงแนวทางของการเป็น “ขุนนาง”  ที่ดี ประมาณว่า

1. หมั่นเฝ้าเช้าเย็นเป็นนิจกาล อย่าเกียจคร้านทำตามอำเภอใจ

2. สิ่งใดพระองค์จะตรัสถาม อย่าเบาความเท็จทูลแต่โดยได้

3. อย่าแต่งตัวโอ้อวดพระทรงชัย ที่ในพระโรงรัตนา หมอบเฝ้าอย่าก้มอย่าเงยหงาย อย่าเตร่ตร่ายเหลือบแลซ้ายขวา

4. พระที่นั่งบัลลังก์อลงการ์ อย่าฝ่าฝืนขึ้นนั่งอิงองค์

5. อันฝูงพระสนมนางใน อย่าผูกจิตพิสมัยใหลหลง

6. จงภักดีต่อใต้บาทบงสุ์ อย่าทะนงว่าทรงพระเมตตา

7. แขกเมืองอย่าบอกความลับ อย่าสนิทคบหา

8. อย่ามีใจฉันทาทัดทาน

9. แม้กริ้วโกรธลงโทษผู้ใดอย่าใส่ใจยุยงจงผลาญ

10. อย่าโลภลักราชทรัพย์ศฤงคาร พระบรรหารสิ่งใดจงจำความ

 

ครับ นั่นคือ เรื่องเล่าสังเขปอันยืดยาวที่ผมพยายามสื่อสารออกมาผ่านตัวละครที่เป็นสัตว์ชนิดต่างๆ  แล้วเชื่อมรัดไปสู่การเรียนรู้ในวิถีแห่งการทำงานของทีมงาน  รวมถึงการเขย่าความรู้เดิมที่เคยได้ร่ำเรียนเขียนอ่านมาของแต่ละคน 

ส่วนอีกงานที่ผมขอละไว้โดยไม่นำมากล่าวถึงในบันทึกนี้ นั่นก็คือ งานสารสนเทศ ...ซึ่งจับได้รูปช้าง  โดยจะนำมาเล่าในโอกาสต่อไป

นี่คือกิจกรรม “ปั้นรูปสัตว์-สกัดความรู้”   ในมิติที่ผมนำมาใช้กับทีมงานตามมุมมองของผม  ผมไม่รู้หรอกว่า  แท้จริงแล้ว  พวกเขาได้เรียนรู้และตีโจทย์นั้นเช่นใดบ้าง  แต่ที่แน่ๆ ผมดีใจที่เห็นทุกคนมีความสุขกับกิจกรรมนี้

..................................................................................................................

http://gotoknow.org/blog/pandin/246121

คิดเรื่องงาน (37) : สถานการณ์เฉพาะกิจ...พลังความคิดเฉพาะคน

http://gotoknow.org/blog/pandin/245274

เปลือยความสุข (28) : เมื่อน้องดินต่อยอดบทเรียนใหม่...

 

 

หมายเลขบันทึก: 277606เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 06:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ขอให้มีความสุขกับงาน และโชคดีครับ

ชื่นชมและชอบวิถีการทำงานในกระบวนการที่อาจารย์เลือกใช้กับนักศึกษามากครับ มีโอกาสผมอยากไปเยี่ยมและเรียนรู้กิจกรรมดีๆนะครับ กล้าใหม่จะเป็นกล้าที่สมบูรณ์ก็ด้วยผู้ดูแลที่หมั่นรดน้ำพรวนดินทุกๆวัน

สวัสดีค่ะ  ขอชื่นชมการทำงานค่ะ  สบายดีนะคะ   วันหยุดไปไหนหรือเปล่าคะ

รับกาแฟร้อนๆสักแก้วมั้ยคะ

    รูปแบบเทคนิควิธีการยอดเยี่ยม ชื่นชมครับ

มาชื่นชมการคิดต่อยอด ความรู้ และ พัฒนาของ คุณพนัส ครับ.....จาก หมี กระทิง อินทรีย์ หนู มาสู่ ช้าง ม้า และ ลิง ได้อย่างเด่นชัดและสุ่มลึก

วันนี้ โอนเงิน อุดหนุน ความฝัน ของ อาจารย์ จำนวน 2 เล่ม นะคะ

ขอความกรุณา อาจารย์ เขียนข้อความ และ ลงลายมือ ชื่อ นักเขียน เล่มส่วนตัว เป็นที่ระลึก ด้วยนะคะ

กราบขอบคุณ เจ้า

  • สวัสดีครับ ท่านพี่แผ่นดิน
  • สุขกายสบายใจนะครับ

สวัสดีจ๊ะ  สุขสันต์วันอาทิตย์นะจ๊ะ

แวะมาส่งกำลังใจ

  • ว้า...
  • กำลังอ่านมันๆ
  • ต้องรออ่านว่าเป็นช้าง
  • หมายความว่าไงบ้าง
  • แต่ถ้าเป็นพี่เขี้ยว
  • คิดว่าคงเลือกปั้นช้าง
  • แต่เหตุผลเราอาจเหมือน /ไม่เหมือนก็ได้
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ  ทักทายตอนเช้าค่ะ

วันนี้วันจันทร์

กำลังจะทำการบ้านส่งบอสค่ะ

  • มารอคำเฉลยช้างค่ะ
  • รักษาสุขภาพทั้งครอบครัวนะคะ
  • ช่วงนี้หวัดมาแรง

ใส่หน้ากาก

สวัสดีครับคุณ เบดูอิน

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจก่อนออกสู่เวทีการบ่มเพาะความคิดสู่ความเป็นทีมของผมนะครับ...

ครั้งนี้ เป็นการลงแนวคิดค่อนข้างเป็นรูปธรรม หลังจากศึกษาต้นทุนและสภาวะขององค์กรมาหลายเดือน  ซึ่งผมตัดสินใจที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยการเคลื่อนเรื่อง "สอนงาน...สร้างทีม" เป็นอันดับแรก

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ พี่. แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

สุขกาย สบายใจนะครับพี่แก้ว..
ผมเป็นกำลังใจให้

สวัสดีครับ อ.สุรชัย เสียงเล็กๆ

เหมือนที่ผมเคยพูดครับ  ไม่มีพื้นที่ใดในโลกนี้ที่มิตรภาพอันดีงามจะเดินทางไปไม่ถึง
ผมเองก็เชื่อเช่นนั้นอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
เพราะเชื่อเช่นนั้น
ผมจึงรู้สึกว่า  สักวันเราจะได้พบเจอตัวจริงและนั่งคุยกัน

..

ผมเป็นกำลังใจให้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท