โรงเรียนแห่งความสุข : ว่าด้วยต้นไม้แห่งความคาดหวัง (เริ่มหยั่งรากลงในหัวใจ...)


ส่วนใหญ่ได้ก้าวข้ามพ้นออกมาสู่ความสาธารณะมากขึ้น สามารถมองเห็นรูปรอยของ “จิตวิญญาณความเป็นครู” หรืออุดมคติ หรือแม้แต่อุดมการณ์ของการใช้ชีวิตอย่างน่าชื่นใจ

 

การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวที  “โรงเรียนแห่งความสุข”  เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2554 ทีมวิทยากรยังคงไม่ละเลยที่จะเดินตามขนบของการจัดกิจกรรมโดยทั่วไป นั่นก็คือการ “ประเมินความคาดหวัง” ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม

การประเมินความคาดหวังดังกล่าว  คุณจตุพรฯ ในฐานะหัวหน้าทีมใช้ชื่อกิจกรรมว่า “ต้นไม้แห่งความคาดหวัง” (ขณะที่ผมเรียกแบบแซวๆ ภายในอย่างเป็นกันเองว่า “ดวงใจแห่งความคาดหวัง”)

 

 

กิจกรรมดังกล่าวเปิดตัวจากการที่คุณจตุพรฯ  กล่าวเชิญชวนให้แต่ละคนได้สะท้อนความคาดหวังต่อกิจกรรมครั้งนี้  ด้วยการเขียน หรือสะท้อนความรู้สึกนึกคิดลงในกระดาษรูปหัวใจสีสวยสดใส ซึ่งทางเจ้าภาพจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ตระเตรียมไว้ให้เสร็จสรรพ และนั่นก็รวมถึงการจัดเตรียมดินสอสี ปากกาเคมีอย่างครบครันด้วยเช่นกัน

นั่นคือ ภาพสะท้อนที่ฉายชัดให้เห็นถึงผลพวงของการประสานความร่วมมือของทีมวิทยากรกับคณะผู้ประสานงานโครงการที่ดูเรียบง่าย เป็นกันเอง  แต่มีความงดงามและลงตัวอย่างมหัศจรรย์  

แน่นอนครับ  กิจกรรมต้นไม้แห่งความคาดหวัง ดูจะเป็นกิจกรรมในเชิง “ขนบนิยม” ที่ใครๆ มักหยิบมาใช้เป็นการละลายพฤติกรรมทางความคิด  รวมไปถึงการประเมินสถานะทางความคิดของผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามวิถีการจัดการความรู้  ซึ่งไม่ว่าเวทีใด งานใด ก็มักมีกิจกรรมในทำนองนี้ให้เห็นอยู่เรื่อยๆ

 

Large_dsc_2574

 

สำหรับผมแล้ว,  กิจกรรมเช่นนี้  มีความสำคัญอย่างมาก  ผมไม่ได้มองว่าเป็นเพียง “ขนบของการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้” เท่านั้น  หากแต่หมายถึงการเป็นเครื่องมือหรือกลไกในการสะกิดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ “สำรวจตัวเอง” อีกครั้งว่าเขากำลังต้องการอะไรจากกิจกรรมที่กำลังจะมีขึ้น!  เสมือนการชวนให้คนๆ นั้นได้เรียนรู้ที่จะกำหนดทิศทาง (เข็มทิศ) ในการก้าวเดิน  หรือแม้แต่การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการใช้ชีวิตโดยการลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมีเป้าหมาย ...

 

ขณะเดียวกัน ก็เป็นเสมือนการชวนคนๆ นั้นได้ตั้งสติฝึกสมาธิ มองอดีตและปัจจุบัน หรือแม้แต่อนาคตของตัวเองไปในตัว 

และสิ่งเหล่านี้  ก็ยังมีสถานะเป็น “กระจก” ที่ฉายให้เห็นมุมมองความคิด หรือ “ทัศนคติ” ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี  (เพราะทัศนคติ คือเข็มทิศในการเติบโตของผู้คน)   ซึ่งวิทยากรสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวมาเป็น “ทุน” ในการปรับแต่งรูปแบบกิจกรรมให้สอดรับกับความต้องการของผู้เข้าร่วมฯ  ได้ทันเวลา และไม่กระทบต่อจุดหมายปลายทางอันเป็นเป้าประสงค์หลักของกิจกรรมนั้นๆ





กิจกรรมดังกล่าว  ทีมวิทยากรพยายามสร้างสรรค์บรรยากาศให้เป็นกันเอง สนุกสนานและอบอุ่น  เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดความรู้สึกที่ผ่อนคลาย ปลอดภัยและไว้วางใจ (Trust) ที่จะสะท้อน หรือเปิดเผย (0peness) ความคาดหวังออกมาอย่างเปิดเปลือย และเมื่อเขียนความคาดหวังเสร็จแล้ว  ก็ให้แต่ละคนนำไปติดรวมกันเป็นกลุ่มๆ โดยทีมวิทยากรจะเป็นผู้สะท้อนภาพรวมของความคาดหวังนั้นให้ทุกคนได้ร่วมรับรู้และแบ่งปัน(Share)  ร่วมกัน  อันเป็นการผูกโยงความเป็นเป็น “ปัจเจก” สู่ความเป็น “ลักษณะร่วม”ของกลุ่มคนที่มีวิชาชีพเดียวกันอีกรอบหนึ่ง

อย่างไรก็ดี  เป็นที่น่าสังเกตว่าข้อมูลความคาดหวังที่สะท้อนออกมานั้น มีไม่น้อยเลยทีเดียวที่มุ่งไปสู่ความเป็น  “ปัจเจก”  ค่อนข้างสูง และในความปัจเจกนั้น ก็ครอบคลุมอยู่แต่เฉพาะสวัสดิการและความมั่นคงของตัวเองเป็นหัวใจหลัก เช่น  การสอบบรรจุครู  การได้รับใบประกอบวิชาชีพ  การเลื่อนขั้นเงินเดือน  ความสนุกสนาน  ความผ่อนคลาย 


 

นอกจากนี้  ยังพบความคาดหวังที่มีลักษณะการก้าวข้ามวังวนภายในของตัวเองออกมาสู่การเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองผ่านกระบวนการทางการศึกษาในเชิงบวก เช่น  ต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนๆ และวิทยากร  คาดหวังที่จะได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับเทคนิคการสอนและการถ่ายทอดความรู้  รวมถึงการปรารถนาที่จะมี “แรงบันดาลใจ” ในการเป็น “ครูเพื่อศิษย์”  

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างมาก  เพราะปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่านั่นคือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและพวกเขาทั้งหลายก็กำลังเผชิญอยู่กับเรื่องราวเหล่านั้นอยู่อย่างเข้มข้น บางคนอาจเริ่มมองเห็นปลายทางความคาดหวังบ้างแล้ว  แต่บางคนก็ยังดูเหมือนว่าจุดหมายปลายฝันนั้นยังดูห่างไกลและมีหมอกจางๆ ห่มคลุมอยู่เป็นระยะๆ  

และนั่นก็คือสิ่งที่วิทยากรกำลังมุ่งที่จะบอกกับทุกคนให้รับรู้ร่วมกันว่า  เวทีวันนี้อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระบวนการ “เสริมและเติมพลังชีวิต” ให้กันและกัน  -

 

 

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการประเมินความคาดหวังในเบื้องต้นนี้แล้ว  ทีมวิทยากรก็เปิดเวทีสู่การเรียนรู้ร่วมกันผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ  กิจกรรม “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  บรรยายแลกเปลี่ยนในประเด็น สมองกับการเรียนรู้  การถอดบทเรียน ความเป็นครู  ผ่านประสบการณ์ของ คุณครูพิสมัย เทวาพิทักษ์”  รวมถึงการเรียนรู้เพื่อถอดบทเรียนความเป็นครูผ่านภาพยนตร์เรื่อง  Coach Carter  (โค้ชคาร์เตอร์..ทุ่มแรงใจจุดไฟฝัน)  ที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงของ “เคน คาร์เตอร์”  โค้ชบาสเกตบอลที่มุ่งมั่นกับการสอนเด็กให้โตเป็นผู้ใหญ่ ผ่านเกมส์กีฬาและกระบวนการศึกษา
 

ในทุกกระบวนการของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครั้งนี้  ทีมวิทยากรไม่เน้นการบรรยายและไม่เน้นให้ผู้ฟังได้ก้มหน้าก้มตาจดบันทึก

ครั้งนี้ วิทยากรเน้นการ “เล่าเรื่อง” ผ่านปากคำและเรื่องราวอันเป็นชีวิตจริงของวิทยากรเป็นหลักสำคัญ  รวมถึงการปล่อยให้ "สื่อ" หรือ "นวัตกรรม" ที่นำมาได้ทำหน้าที่ในการเป็น "ครู"  ด้วยตนเองอย่างอิสระ  โดยปล่อยให้สื่อนั้นๆ ได้แสดงตัวตนและถ่ายทอดสาระนั้นๆ อย่างเต็มที่  เพราะทีมวิทยากรต่างก็เชื่อว่ากระบวนการเช่นนั้น จะบ่มเพาะให้เกิดทักษะในการรับรู้  หรือฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening)  ได้ในที่สุด   ซึ่งถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อการ “เรียนรู้...สู่การเติบโตของชีวิต” 

 

 

 

  

จนในที่สุดก่อนเวทีจะปิดตัวลง  ทีมวิทยากรก็ได้ชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เปิดเปลือยใจสะท้อนสิ่งที่ได้รับจากเวทีนี้อีกรอบ  โดยย้ำให้แต่ละคนได้หันกลับไปทบทวน “ความคาดหวัง” ในกิจกรรม “ต้นไม้แห่งความคาดหวัง” ของตัวเองอีกครั้ง ว่า ณ ห้วงนั้นรู้สึกอย่างไร ! อยากได้อะไร !  และบัดนี้เมื่อผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันมาทั้งวันแล้ว “ได้อะไรบ้าง ! ...เหมือน หรือต่างจากที่คาดหวังไว้ตั้งแต่ต้น !

 

 

  

และนี่คือข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สะท้อนออกมา  ซึ่งสรุปโดยองค์รวมแล้วพบข้อมูลอันเป็นทัศนคติ
เชิงบวกที่น่าสนใจหลายประเด็น  ดังนี้

 

·        ได้แรงบันดาลใจในการเป็นครูที่ดี (ครูเพื่อศิษย์) 

·        ได้เรียนรู้ความเป็น “จิตวิญญาณ และจิตวิทยา” ของการเป็นครู 

·        ได้มุมมองใหม่ที่ไม่ใช่แค่ความมั่นคงในเรื่อง “การงาน และเงินเดือน” 

·        ได้เรียนรู้ “พลัง” ความเป็นครูที่มีต่อการ “สร้างเด็กและสร้างสังคม” 

·        ได้ความรู้ทักษะในการสอนและถ่ายทอดความรู้จากครูสู่ศิษย์ 

·        ได้ “ความสุข”

 

 

 

ครับ นั่นคือเสียงสะท้อนที่บรรดาผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สะท้อนออกมาอย่างแจ่มชัด  และเข้มข้น  ซึ่งดูเหมือนจะแตกต่างจากความคาดหวังในเบื้องต้นของการเปิดเวทีฯ มากพอสมควร  เพราะข้อมูลที่สะท้อนออกมานั้น  ดูเหมือนส่วนใหญ่ได้ก้าวข้ามพ้นออกมาสู่ความสาธารณะมากขึ้น  สามารถมองเห็นรูปรอยของ “จิตวิญญาณความเป็นครู”  หรืออุดมคติ หรือแม้แต่อุดมการณ์ของการใช้ชีวิตอย่างน่าชื่นใจ

 

ข้อมูลที่พบเจอนั้น  อาจหมายถึงนัยสำคัญของการผลลัพธ์ที่เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันในเวทีแห่งนี้-เวทีที่เรียกรวมๆ ว่า “โรงเรียนแห่งความสุข”  ภายใต้การขับเคลื่อนนอกกรอบของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตลอดจนทีมวิทยากรและทุนอันดีงามที่มีอยู่ในตัวของ “ผู้เรียน” ....

  

 

 

Large_dsc_2623

 


สำหรับผมแล้ว

ในฐานะทีมวิทยากร  ผมมีความสุขกับภาพสะท้อนอันเป็นสิ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับมากเป็นพิเศษ  เพราะนั่นหมายถึงว่ากระบวนการทั้งวันที่วิทยากรได้ร่วมกันรังสรรค์ขึ้นนั้นได้สร้าง “แรงบันดาลใจ” (แรงใจไฟฝัน) ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างชัดเจน  ถึงแม้จะยังไม่สามารถพิสูจน์
ได้ว่า
“แรงบันดาลใจ”  ที่เกิดขึ้น ณ ห้องประชุมแห่งนี้  จะลุกโชนเปล่งประกายได้ยาวนานสักแค่ไหน  แต่อย่างน้อยมันก็ได้เกิดขึ้นและเริ่มต้นขึ้นแล้ว

  

หรือหากจะเรียกว่า “ต้นไม้แห่งความคาดหวัง”  ได้เริ่มหยั่งราก แตกกิ่งก้าน ผลิใบ หรือแม้แต่ออกดอกออกผลในหัวใจของ “ผู้เรียน” บ้างแล้วกระมัง 

 

...
๒๓ มกราคม ๒๕๕๔
โรงเรียนแห่งความสุข@ม.ราชภัฏเชียงใหม่
ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 426311เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2011 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ขอบคุณบันทึกเปิดเปลือยหัวใจของหนึ่งในวิทยากรคนสำคัญครับ ;)...

  • สวัสดีค่ะ
  • ขออนุญาตนำขนบของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ไปใช้บ้างนะคะ
  • ประทับใจเรื่องนี้มากค่ะ

ขอบคุณค่ะ..ชื่นชมความหวังดีๆของครูเพื่อสร้างจิตสำนึกสู่การขับเคลื่อนการเป็น "ครูเพื่อศิษย์"..ขอให้กำลังใจค่ะ..

                      

ครูในดวงใจ....คือครูผู้ที่สามารถสร้าง   "แรงบันดาลใจ"   แก่ศิษย์ได้

ประทับใจ และภาคภูมิใจมาก ๆ ค่ะ ที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับทีมวิทยากร 

ปลูกต้นไม้แห่งความรักในวิชาชีพครู

ใช่หรือเปล่าครับ

 

ชัดมาก อยากได้คนเสนอข้อคิดนี้มาเป็นครูมากครับ

ครูยุคปัจจุบัน งานน้อยหน่อย ว่างมากหน่อย ค่อพอเหมาะ

เต็มความรู้ เต็มเวลา เต็มความสามารถ เต็มใจ............และอีกหลายเต็มครับ

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

เพิ่งกลับมาจากการเดินสายครับ...นั่งเคลียร์งาน ก่อนเดินทางในรุ่งเช้าเพื่อไปสมทบกับคุณเอก...

ขอบคุณ อ.วัสฯ มากเลยทีเดียวที่ให้ผมได้มีเวทีเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปในตัว เพราะจริงๆ แล้ว  ผมใฝ่ฝันจะเป็นครูในชนบท หรือครูดอยมายาวนานมาก  ย่ิงได้เห็นว่าที่คุณครูหลายท่านสะท้อนเรื่องราวตัวเองผ่านภาพเล็กๆ ในเชิงดอย ยิ่งพลอยให้ผมมีพลังชีวิตและอยากแบ่งปันพลังที่ว่านั้นกลับไปยังครูเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

ชื่นชมทีมงานเล็กๆ เพียงไม่กี่คนที่สามารถผลักดันให้เกิดโครงการนี้ฯ  ..ชื่นชม และขอปรบมือให้กำลังใจดังๆ ...(นะครับ)

สวัสดีครับ อ.ลำดวน

ไม่ได้ทักทายอาจารย์มานานเหลือเกินฯ ...การงานและสุขภาพเป็นยังไงบ้างครับ...
ระยะหลังผมหายไปจากโลกแห่งการเรียนรู้ใบนี้พอสมควร แต่ช่วงนี้พลังต่างๆ พอได้กลับคืนมาบ้างแล้ว เลยได้เริ่มทะยอยเขียนเรื่องต่างๆ อีกครั้ง

บันทึกนี้อาจไม่ได้แจ่มชัด หรือคมชัดในทาง "ศาสตร์และศิลป์"  อย่างที่ควรจะเป็น แต่ยังคงแบบฉบับการเล่าเรื่องตามวิธีการเฉพาะของผม  และผมเน้นให้เห็น "กระบวนการ" ที่ "วิทยากร" นำไปใช้เป็นกลไก หรือเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เรียนให้ได้มากที่สุด โดยมุ่งให้เกิด "แรงบันดาลใจ หรือแรงใจไฟฝัน"  นั่นเอง

ซึ่งถ้าไม่เข้าข้างตัวเองนัก ผมว่าก็สำเร็จได้มากโขเลยทีเดียว

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

การได้เป็นส่วนหนึ่งกับกระบวนการเหล่านี้ ทำให้ผมเห็นคุณค่าตัวเองมากขึ้น เป็นการเติบโตเล็กๆ ในตัวตนของตัวเอง และที่สำคัญคือได้เห็นความงาม ความสำคัญของคำว่า "ครู" ที่ควรค่าต่อการประกาศเป็นวาระในระดับชาติอย่างจริงๆ จังๆ เพราะครูคือคนสร้างชาติที่น่ายกย่องและให้กำลังใจจริงๆ...

 

ขอบคุณกิจกรรมสร้างครูเพื่อศิษย์ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ

 

สวัสดีครับ คุณ✿อุ้มบุญ✿

กิจกรรมครั้งนี้ ผมเรียนรู้อย่างหนักแน่นว่า ครูยังคงแบกรับอะไรๆ เยอะแยะไปหมด แต่ก็ดีใจว่าระยะนี้กระแสของ "ครู" กลับมามีชีวิตชีวา ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า สังคม หรือแม้แต่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมองและให้ความสำคัญกับคนในอาชีพครูมากกว่าที่ผ่านมาแล้วด้วยเหมือนกัน

สวัสดีครับ คุณแหม่ม noomam lek

เป็นเกียรติอย่างยิ่งครับที่ให้ผมได้เป็นส่วนหนึ่งในงานครั้งนี้...
ส่วนตัวผมนั้น  ผมโชคดีมากที่เห็นพลังของคนไม่กี่คนในโครงการฯ นี้ที่ได้ขับเคลื่อนงานนี้ได้อย่างมหัศจรรย์

แน่นอนครับ  ยังจะมีบันทึกเรื่องเหล่านี้อีก-ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

 มาชมกิจกรรมดีๆ ต้นไม้แห่งความคาดหวัง

สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานได้ดีค่ะ เป็นกำลังใจให้ครูทุกท่านค่ะ

ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

สวัสดีค่ะอ.พนัส

รู้สึกนานมากแล้วที่ห่างหายไป  แต่ความรู้สึกและความทรงจำยังคงอยู่  ยังระลึกถึงเสมอ

วันนี้ได้อ่านบันทึกนี้  แรงบันดาลใจของคุณครูที่ก่อเกิดและจะส่งผลต่อเนื่องต่อไป  นั่นคือสิ่งที่มองเห็นแสงเรืองรองในหนทางข้างหน้า  ความรู้สึกที่ดีนั้นถูกส่งต่อไปสู่ผู้อ่านบันทึกด้วย  พี่รับรู้ถึงสัมผัสนั้น

 

 

 

สวัสดีค่ะอาจารย์แผ่นดิน

      ชื่นชม และเป็นกำลังใจให้กับคนเก่งทุกคนในทีมงานนะคะ  และชื่นใจกับว่าที่คุณครูที่ได้พบกับสิ่งดีๆๆ ข้อคิดดีๆๆที่ไม่มีในหลักสูตรใด และไม่มีหน่วยกิตให้คิดเกรดด้วย  ฟัง คิด อ่าน เขียน เรียนชีวิตด้วยใจต่อใจ ใจประสานใจในประสบการณ์ ใจประสานในความมุ่งมั่นของคณะวิทยากรค่ะ  ว่าที่ครูรุ่นต่อๆๆไปคงได้พบเจอประสบการณ์ดีๆ เยี่ยมๆเช่นนี้อีกนะคะ ขอเอาใจช่วยในความคาดหวังค่ะ...

สวัสดีค่ะ

ถ้าครูเก่งเด็กก็เก่งค่ะ และถ้าครูดีเด็กก็ดีเช่นกันค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท