โรงเรียนแห่งความสุข : ว่าด้วยภาพและเรื่องเล่า "วีรกรรมทำเพื่อศิษย์"


ไม่เพียงช่วยให้ทุกคนได้ฝึกสมาธิ ฝึกทบทวนตัวเอง หรือช่วยจรรโลงบรรยากาศในห้องประชุมให้ดู “สงบงาม” และชวนให้เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้นเท่านั้น แต่ผมก็เชื่อเหลือเกินว่า กิจกรรมในวันนั้น จะช่วยให้แต่ละคนหันกลับมาให้ “เครดิต” กับตัวเอง และเห็น “คุณค่า” ในตัวเองมากยิ่งขึ้น

เวทีล่าสุดของการจัดกระบวนการเรียนรู้ “โรงเรียนแห่งความสุข” ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ  ผมยังคงได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบกระบวนการกลุ่มที่มีชื่อว่า “รู้จักฉันรู้จักเธอ” เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ส่วนประเด็นเรื่อง “เรียนหลากฤดู” นั้นก็ได้รับมอบหมายมาเช่นกัน แต่จะมีโอกาสได้ทำกระบวนการหรือไม่ ต้องดูเรื่องเวลาและโอกาสอีกที

เรียกได้ว่าเตรียมตัวให้พร้อมไว้ก่อน  พกพาเครื่องมือและอาวุธทางปัญญาไว้ให้ครบครัน เมื่อบรรจบโอกาส จะได้หยิบฉวยออกมาใช้ได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องออกอาการ “คิดไม่ออก บอกไม่ถูก” หรือไม่ก็เงอะๆ งะๆ พลอยให้เสียงานเสียเวลา หรือเสียกระบวนการไปเปล่าๆ

 

 

ก่อนกิจกรรมจะเริ่มต้นขึ้น  ผมได้หารือกับหัวหน้าทีม (จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร)  ถึงประเด็นที่จะจัดการเรียนรู้  สิ่งหนึ่งที่เราได้ “รับข้อมูลมาตรงกัน” ก็คือผู้เข้าร่วมกระบวนการกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีขีดความสามารถแตกต่างไปจากกลุ่มอื่นๆ ที่เราเคยจัดเวทีมาเป็นต้นว่า  มีความเป็นตัวเองสูง มีความรู้และทักษะการคิดที่ดี เพราะส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนที่ทำงานอยู่แล้ว ทั้งในอาชีพครูและอาชีพอื่นๆ

 

ข้อมูลดังกล่าว  ทำให้ผมเปลี่ยนมุมคิดใหม่ว่าควรจัดกระบวนการให้ “เข้มข้น” ขึ้นกว่าแต่ก่อน และนั่นก็หมายความว่า  ผมจะไม่ใช้หัวข้อในการ “วาดรูปและเล่าเรื่อง” แบบกว้างๆ หรือพื้นๆ อีกต่อไป แต่จะเน้นประเด็นที่เป็นเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ  ซึ่งที่ผ่านมานั้น  ผมมักให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ได้วาดรูป/วาดภาพ “ความสุข” ของตัวเองแบบกว้างๆ โดยมีกระบวนการของการ “เล่าเรื่อง” ในภาพนั้นๆ ให้เพื่อนได้ร่วมรับฟังควบคู่กันไป  เป็นการเสริมแรงให้ภาพเกิด “พลังชีวิต” มากขึ้น

 

 

ครั้งนี้-ผมหารือกับหัวหน้าทีมว่า “ต้องการให้ทุกคนวาดรูปในหัวข้อวีรกรรมทำเพื่อศิษย์”  โดยพุ่งประเด็นไปสู่เรื่องราวที่คุณครูได้ก้าวเข้าไปดูแลช่วยเหลือ หรืออุปถัมภ์ค้ำชูให้เด็กนักเรียน หรือลูกศิษย์ของตัวเองสามารถเกิดทักษะในการดำรงชีวิต  จนสามารถฝ่าข้ามวิกฤตชีวิตมาได้  หรือในอีกมุมหนึ่งก็คือกระบวนการที่ก่อให้เกิดการแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีของนักเรียน

กิจกรรมที่ว่านี้  ผมฝากย้ำให้แต่ละคนได้พยายามสะท้อนภาพให้เห็นถึงปัญหาของลูกศิษย์  รวมไปถึง “กระบวนการ” และ “วิธี” ที่คุณครูแต่ละคนได้เข้าไปช่วยเหลือ จนช่วยให้ลูกศิษย์เปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็น หรือกระบวนการเช่นนั้น  ผมถือว่าเป็นวิธีสำรวจความสำเร็จอันเป็น “ปัญญาปฏิบัติ” จากกลุ่มคนที่เป็น “คนหน้างาน” หรือทีมงานทุกภาคส่วนที่ยึดโยงกันอย่างมิตรภาพ 

สิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงสื่อให้เห็นแต่เฉพาะเรื่องราวอันเป็นภาพชีวิตที่เป็นความดี หรือวีรกรรมที่ครูทำเพื่อศิษย์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงกระบวนการของการกระตุ้นให้แต่ละคนเกิด “แรงจูงใจ” (motive) ที่จะทบทวนตัวเอง และจัดกระทำกับข้อมูลอันเป็น “ทุนชีวิต” ของตัวเองอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยให้คนๆ นั้นรู้สึกหนักแน่นและภูมิใจในตัวเอง  เสมือนย้ำให้เรียนรู้ที่จะให้ “เครดิตตัวเอง” หรือเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ในอีกมิติอย่างเป็นทางการว่า “เห็นคุณค่าตนเอง” (self-esteem) มากขึ้น

 

 

นอกจากนี้  โดยส่วนตัวผมเองก็มองว่ากระบวนการในทำนองนี้  จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้เรียนรู้ที่จะฝึกฝนตนเองอย่างมีสติไปในตัว  เพราะเป็นการยากไม่ใช่น้อยกับการสร้างสรรค์กระบวนการให้คนจำนวนร้อยกว่าคนที่มาใช้ชีวิตร่วมกันในห้องประชุมเช่นนี้จะเกิดการควบคุมตัวเองให้เกิด “ความสงบ” และมี “ความสุข” ได้อย่างง่ายดาย

ผมมองเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวงกับการต้องจัดการกับความสับสนวุ่นวายเล็กๆ ที่มีในห้องประชุม  ซึ่งมักพบสาเหตุหลักๆ จากพฤติกรรมต่างๆ นานาของผู้เข้าร่วมกระบวนการ อาทิ  พูดคุยหยอกล้อกันราวกับไม่พบกันมาเป็นแรมปี บ้างก็ใช้โทรศัพท์มือถือ  ทั้งพูดทั้งเล่นเกมส์จนไม่สนใจใคร่ดีกับกิจกรรมใดๆ ส่วนบางคนและบางกลุ่ม ก็พิสมัยกับการถ่ายรูปเดี่ยวรูปกลุ่ม ราวกับจะจัดทำหนังสือรุ่นก็ไม่ปาน

ขณะที่บางกลุ่มก็เกิดภาวะง่วงนอน หรือไม่ก็ลุกเดินเข้าๆ ออกๆ ราวกับเต็มไปด้วยภารกิจ (และนั่นก็ยังครอบคลุมถึงขีดความสามารถของวิทยากรที่ไม่เจ๋งพอด้วยเหมือนกัน  จนทำให้เกิดภาวะเบื่อๆ ไปโดยปริยาย) 

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของการ “เบื่อหน่าย” 
ส่งผลกระทบให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการรู้สึกสับสน และขัดแย้งต่อกระบวนการเรียนรู้อย่างเลี่ยงไม่ได้

 

 

กรณีดังกล่าวเช่นนี้  ผมเห็นวิทยากรหลายท่านงัดไม่เด็ดออกมาใช้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการให้นั่งสมาธิ หรือไม่ก็นอนหลับตาฟังเพลงเบาๆ ซัก 4-5 นาที  หรือไม่ก็ให้ดูหนังฟังเพลงเบาๆ ไปเป็นระยะๆ  เพราะต่างก็เชื่อว่าวิธีการเหล่านั้นจะช่วยให้แต่ละคนกลับเข้ามาอยู่กับ “ตัวตนของตัวเอง” กลับมามีสติ และเปิดใจต่อการเรียนรู้ร่วมกันในเวทีนั้นๆ ได้เร็วขึ้น

ซึ่งก็ต้องยอมรับแหละว่าวิธีการเช่นนั้นก็ได้ผลดีเหมือนกัน เนื่องจากช่วยให้ผู้คนเกิดภาวะที่ “ผ่อนคลาย” ยึดโยงไปสู่ภาวะ “ความสงบภายในตัวเอง” และมีความพร้อมที่จะ “เรียนรู้” มากยิ่งขึ้น

 

แต่สำหรับผมนั้น  ผมกลับนิยมชมชอบที่จะใช้กิจกรรม “การเขียนและการวาดรูป” มาเป็นกระบวนการของการเชื้อเชิญผู้ร่วมกระบวนการได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเอง เรียนรู้ที่จะจัดการกับภาวะแทรกซ้อนภายนอกที่รุกเร้าเข้ามาจนสูญเสียสมาธิ เพราะเชื่อว่าการวาดรูป หรือการเขียนเรื่องราวของตัวเองนั้น จะทำให้แต่ละคนชะลอความเร่งรีบต่างๆ ลงได้  มันคล้ายกับการบอกลาโลกภายนอกในห้วงสั้นๆ เพื่อให้ชีวิตได้มีพลังพอที่จะขจัดสิ่งเร้าอันเป็นความวุ่นวายเล็กๆ น้อยๆ ออกไปทีละนิดๆ  โดยมีกิจกรรมการวาดรูปและการเขียนเป็นเครื่องมือในการจัดวางชีวิตให้เดินทางสู่ความ “นิ่งและสงบ” อย่างค่อยเป็นค่อยไป

และนั่นก็คงไม่จำเป็นถึงขั้นต้องอธิบายอย่างเป็นวิชาการเสริมแรงอีกกระมังว่า การวาดรูปและเขียนเรื่องราวเช่นนั้น ช่วยให้สองชั้นหน้า (การคิด) สมองชั้นกลาง (อารมณ์ความรู้สึก) และสมองชั้นในสุด (การเคลื่อนไหวของร่างกาย) ได้ทำงานไปพร้อมๆ กันอย่างสมดุล

ซึ่งผมเรียกกระบวนการเหล่านี้ว่า กระบวนการ “ถอดบทเรียนชีวิต”  นั่นเอง




ด้วยเหตุเช่นนี้แหละ  ผมจึงได้รับไฟเขียวให้จัดกระบวนการ “เรียนรู้ตัวเองสู่การเรียนรู้ในแบบกลุ่ม”  ผ่านกิจกรรมวาดรูปและเขียนเรื่องราว หรือแม้แต่การบอกเล่าด้วยคำพูดสู่กันฟัง  

และนี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่แต่ละคนได้สื่อสารออกมา  อาทิ...

  • การช่วยเหลือนักเรียนยากจน ด้วยการให้ทุนการศึกษา
  • การช่วยเหลือนักเรียนที่ติดสุรา และพ่อแม่หย่าร้าง
  • การช่วยเหลือนักเรียนในยามเจ็บป่วยด้วยการพาไปโรงพยาบาล หรือไม่ก็พากลับไปส่งที่บ้าน
  • การช่วยเหลือนักเรียนที่เกเรและเพื่อนไม่ยอมรับ จนกลับใจเป็นคนดี ตั้งใจเรียน เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ
  • การช่วยเหลือนักเรียนด้วยการนำพากลับไปส่งที่บ้าน เพราะผู้ปกครองมารับกลับบ้านไม่ทัน
  • การช่วยเหลือนักเรียนให้ทำโครงงานจนได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนเข้าร่วมการแข่งขันในระดับภูมิภาค
  • การเล่านิทานสอนใจให้นักเรียนฟังในช่วงพักเที่ยง หรือไม่ก็ช่วงรอผู้ปกครองมารับกลับบ้าน
  • การช่วยเหลือให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ได้ด้วยตนเอง

 

 

ครับ, นี่เป็นเพียงเรื่องจำนวนน้อยนิดในอีกหลายเรื่องที่ผู้เข้าร่วมการเรียนรู้ร่วมกันได้สะท้อนออกมา ฟังดูอาจเหมือนเรื่องธรรมดาๆ ทั่วไปอยู่พอสมควร แต่หากใช้หัวใจสดับฟังจริงๆ จะรู้ได้เลยว่าเรื่องเล็กๆ ที่ว่านี้ยิ่งใหญ่และงดงามอย่างยิ่งเลยทีเดียว


อย่างไรก็ดี จะว่าไปแล้วพอจัดกิจกรรมขึ้นจริงๆ  ผมกลับยิ่งเชื่อว่า กระบวนการที่ว่านั้นเกิดประโยชน์มากกว่าที่คิด  เพราะไม่เพียงช่วยให้ทุกคนได้ฝึกสมาธิ ฝึกทบทวนตัวเอง  หรือช่วยจรรโลงบรรยากาศในห้องประชุมให้ดู  “สงบงาม” และชวนให้เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้นเท่านั้น  แต่ผมก็เชื่อเหลือเกินว่า กิจกรรมในวันนั้น จะช่วยให้แต่ละคนหันกลับมาให้ “เครดิต” กับตัวเอง และเห็น “คุณค่า” ในตัวเองมากยิ่งขึ้น มีความกล้าหาญที่จะบอกเล่าเรื่องราวอันดีงามของตนเองและคนรอบกายไปสู่สาธารณะ 

 

 

 

สำหรับผมแล้ว  เมื่อมีโอกาสได้รับผิดชอบกระบวนการเรียนรู้ที่ว่านั้น พร้อมๆ กับการได้พบเจอเรื่องราวอันดีงามของคุณครูทั้งหลาย ก็อดที่จะเพิกเฉยไม่ได้  จึงได้เสนอให้มีการรวบรวมเรื่องราวต่างๆ มาจัดทำเป็นหนังสือในชื่อ “วีรกรรมทำเพื่อศิษย์” โดยมีภาพวาดของแต่ละคนเป็นภาพประกอบในตัวเล่มหนังสือ  ซึ่งผมได้ร้องขอให้แต่ละคนกลับไปเขียนเรื่องราวเหล่านั้นให้แจ่มชัดมากขึ้นกว่าเดิม เขียนให้เห็นปัญหา, กระบวนการแก้ปัญหาและผลลัพธ์อันทรงคุณค่านั้นอีกครั้ง

นั่นคือสิ่งที่ผมเสนอไว้ในเวทีการเรียนรู้ครั้งนั้น
และบัดนี้คุณครูจำนวนไม่น้อยก็ทยอยส่งเรื่องราวและภาพที่ว่านั้นมายังผมเป็นระยะๆ...

 

...

โรงเรียนแห่งความสุข
๒๓ เมษายน ๕๔
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

หมายเลขบันทึก: 439068เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2011 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

น้องแผ่นดินครับ แต่ละภาพเป็นแรงบัลดาลใจให้ทำความดียิ่งๆขึ้นไปมากเลยครับ

ขอบคุณค่ะ..กระบวนการเช่นนี้ เยาวชนของเราได้แสดงออกด้วยภาพเขียนที่สะท้อนการเล่าเรื่องดีๆในชีวิต ในโครงการกล้าใหม่-ใฝ่รู้ ของ SCB เช่นกันค่ะ..

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

กิจกรรมที่จัดขึ้น จะว่าไปแล้วก็คือการวาดแลการเขียนเพื่อ "บำบัดและเติมพลังชีวิต" นั่นเอง ในฐานะคนทำกระบวนการเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ในแบบกลุ่มร่วมกันนั้น ก็อดที่จะชื่นชมเรื่องดีๆ เหล่านี้ไม่ได้ และเชื่อว่า หากสามารถทำออกมาเป็นรูปเล่มได้ มันก็ไม่ต่างอะไรจากจดหมายเหตุชีวิตของแต่ละคน  สามารถใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ดีได้เหมือนกัน

ขอบพระคุณครับ.

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

น่าชื่นใจจริงๆ กับภาพของเด้กและเยาวชนที่สะท้อนออกมา  มันไม่ใช่แค่เรื่องราวอันเป็นจินตนาการเท่านั้น หากแต่บางมุมก็เหมือนบอกเล่าความเป็นอุดมคติของชีวิตและสังคมไปในตัว  สิ่งเหล่านี้ยังสื่อสารถึงมุมแห่งการใช้ชีวิตร่วมกันของสรรพสิ่งในสังคมได้อย่างนุ่มนวล

ชื่นชมเจ้าของภาพเหล่านั้น พอๆ กับการชื่นชมไทพาณิชย์ฯ ที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้คนในสังคมได้เติบโตในมิติต่างๆ...

ขอบพระคุณครับ

ขอบคุณครับคุณพนัส

สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจในการทำงานร่วมกับคุณพนัสคือ การให้ความรักกับการทำงาน เเละความยืดหยุ่นในบางสถานการณ์ทำให้ การทำ workshop เป็นไปได้ด้วยความสุขเเละสำเร็จ

การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายนี่สำคัญมาก...หากพลาดตรงนี้ไป ต่อให้ทำกระบวนการประรีต ตั้งใจเเค่ไหน ประสิทธิภาพที่ได้ก็ไม่ถึงเป้าหมายที่เราต้องการ

โดยรวมเเล้ว ไม่ว่า Workshop ไหนๆที่ผ่านมาต่างก็ให้ประสบการณ์ที่ดี รวมไปถึงบทเรียนใหม่ๆให้กับคนทำงาน เราเติบโตพร้อมกันไปด้วยกับ participants

ขอบคุณครับสำหรับบันทึก AAR บันทึกนี้...มีคุณค่าเเละน่าประทับใจครับ

                                                            จตุพร

ในนามของทีมงานโรงเรียนแห่งความสุข ขอขอบพระคุณท่านวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ที่ได้มอบสิ่งดี ๆ ให้กับนักศึกษาของเรา ถึงแม้ว่าในบางครั้งอาจจะเกิดความผิดพลาดไปบ้าง ทางทีมงานก็ขออภัยท่านวิทยากรด้วยนะคะ เรื่องราวดี ๆ ของโรงเรียนแห่งความสุข จะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไปค่ะ ^_^

สำหรับเรื่อง KM Workshop นั้น ได้ยินข่าวแว่ว ๆ มาเหมือนกันครับ

แต่ทีมงาน "โรงเรียนแห่งความสุข" มิได้รับผิดชอบโครงการนี้โดยตรง

คงสภาพ เหลือแต่จะดูแลในฐานะ "กัลยาณมิตร" แบบ Forever

ส่วนตัวเนื้องาน เราไม่ทราบรายละเอียดอะไรมากครับ

แต่ยินดีที่จะได้พบกันอีกครับผม ;)...

อ.แผ่นดิน

 เป็นสิ่งดีงามที่หลากหลายเยี่ยมจริงๆค่ะ  ต้องให้ลูกสาวลูกชายได้มาอ่านสิ่งดีงามของทีมงานท่าน (เรียนศึกษาศาสตร์ที่มช.ค่ะ)  เอ้าอยู่รพ.ก็ได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับทางโรงเรียนค่ะ

+

ทำกิจกรรมการใช้การแพทย์ทางเลือกในการสร้างสุขภาพค่ะ

 

สวัสดีครับ คุณเอกจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ก่อนอื่นต้องขอบคุณครับที่ชวนไปช่วยงานและให้โอกาสของการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ...
สิ่งที่เราเห็นชัดเจนของการทำงานร่วมกันในแต่ละครั้งก็คือ เราต่างพยายามวิเคราะห์กลุ่มผู้เข้าร่วมกระบวนการว่าเป็นใคร-  เพื่อให้รู้ว่าควรต้องจัดกระบวนการแบบใดถึงจะเหมาะสมและสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ร่วมกันได้

ผมอาจโชคดีหน่อยที่เติบโตมาในสายกิจการนักศึกษา  การปรับแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า จึงเป็น "ทุน" ที่ผมพอมีอยู่บ้าง  และนั่นคือสิ่งที่ผมก็รู้สึกเสมอว่า ผมเติมเต็มเวทีนั้นได้แม้เป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณแหม่ม noomam lek

จริงๆ ผมต้องเป็นฝ่ายขอบคุณทุกท่านต่างหาก ขอบคุณที่ช่วยให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับทุกคน  ส่วนการทำงานนั้น  ผมเห็นว่าอะไรที่ลุ่มๆ ดอนๆ นั้นเป็นกฎธรรมชาติ ซึ่งมันก็ไม่ยิ่งใหญ่ไปกว่าแรงใจที่คุณแหม่มและทีมงานพยายามรังสรรค์ออกมาให้ดีที่สุด

วันนี้ คิดถึงเรื่องราวเวทีแห่งความสุขเมื่อใด  ก็เหมือนสิ่งนั้นเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ  ยิ่งคิดถึงยิ่งเห็นการเติบโตของรอยยิ้มของตัวเอง

ขอบคุณครับ

ครับคุณเอกจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

แสดงว่า ผมจะได้ไปยกเก้าอี้อีกแล้วสินะ-

สวัสดีครับ อ.วัสฯWasawat Deemarn

มิตรภาพไร้พรมแดน ..ยังไงๆ...ก็ต้องพาหัวใจไปพบหน้าอยู่ดีครับ !

สวัสดีครับ คุณท้องฟ้า

ชื่นชมมากเลยครับที่เห็นชาวโรงพยาบาลมีกิจกรรมเชิงรุกเข้าสู่สถานศึกษา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นแผนกลยุทธที่สำคัญมากครับ  ทั้งในแง่ของการป้องกัน สร้างภูมิต้านทาน หรือแม้แต่การบำบัดเยียวยาไปในตัว

ผมดีใจนะครับที่ชอบบันทึกที่ผมเขียนขึ้น  ผมคิดแต่เพียงว่า "เขียนเถอะ เล่าแบบเปิดเปลือยออกมาให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยก็จะได้เป็นจดหมายเหตุของชีวิตเราเอง ส่วนจะเป็นประโยชน์ต่อใครๆ หรือไม่นั้น  คนอ่านจะตัดสินเอง"

ขอบคุณครับ

แสดงว่าที่นู๋เห็นในความฝันนั้น คงเป็นจริงแล้วค่ะ ^_^

  • ชอบจังกับคำกล่าวนี้..
  • "วีรกรรมทำเพื่อศิษย์"
  • แต่ละภาพบอกความหมาย
  • ได้มากกว่าคำพูดใดๆมากมาย
  • และแป๋มเชื่อว่า..ในโลกหล้าเรานี้
  • จะยังมีวีรกรรมที่ครูทำเพื่อศิษย์อีกมากมาย
  • ที่ยังไม่ได้นำมากล่าวกันให้ทราบ
  • ชื่นชมกิจกรรมนี้มากค่ะพี่..

ขอบคุณค่ะ.

คุณแหม่มครับ noomam lek

ความฝันที่ว่านั้น เป็นฉันใดครับ ?

สวัสดีครับ ครูแป๋ม

  • กิจกรรมที่ว่านี้ ก็คล้ายกับที่เคยแนะนำให้น้องแป๋มจัดทำขึ้นนั่นแหละครับ
  • เราต่างหลงลืมเรื่องเล้กๆ น้อยๆ รอบตัวไปมากเลยนะ
  • เราหลงลืมการให้เครดิตตัวเอง ซึ่งนั่นก็ยังหมายถึงหลงลืมที่จะปลุกปลอบตัวเองด้วยเหมือนกัน
  • เราควรต้องสร้างพื้นที่ให้เรื่องดีงามเล็กๆ น้อยๆ ได้เติบโต โลดแล่น เพราะมันหมายถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนต้นเรื่อง>องค์กร>สังคม
  • ช่วยกันครับ-ช่วยกันสื่อสารความดีงาม
  • ...เป็นกำลังใจให้เช่นเคย นะครับ

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อประมาณ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา นู๋ฝันว่า อ.เอก กับ อ.พนัส มาจัดเวทีที่เชียงใหม่อีก แต่ไม่รู้ว่าเป็นเวทีอะไร ที่แปลกก็คืออยู่ ๆ ก็ฝันถึงวิทยากรทั้งสองท่าน 555555

ครับ นู๋เเหม่ม

จะมีเวมีเรียนรู้ให้กับคณะ..

KM CMRU ครับ ตอนนี้รู้สึกว่าทางคุณกบจะจองตั๋ว Flight ให้เเล้ว...เเสดงว่าไม่ไปไม่ได้เเล้วครับ :)

ครับคุณแหม่ม..

ฝันแม่นจริง - ได้เจอกันอีกรอบ นี่แหละที่เขาเรียก ไม่มีเรื่อง "บังเอิญ" ...

คุณเอก- คราวนี้เฉียดเกือบเปิดเรียนเลย  แต่เลี่ยงไม่ได้เช่นเคย 55...
ไว้พรุ่งนี้ผมติดต่อเรื่องการเดินทางกับคุณกบอีกทีแล้วกัน

เลขาโครงการฯ ครับ ที่ฝันว่า จะต้องพบกับวิทยากรกันอีกครั้ง อิ อิ

"ไม่มีอะไรที่บังเอิญ" อีกใช่ไหมครับ ;)...

สวัสดีครับ อ.วัสฯ Wasawat Deemarn

ยังยืนยันครับ ไม่มีความบังเอิญ,...
ทุกอย่างคือ "ชะตากรรม" -

เป็นชะตากรรมที่พวกเรายังไงก็หนีกันไม่พ้น ใช่ไม๊คะ 5555 แต่นู๋ว่าการถือเคล็ดของ อ.พนัส นี่เจ๋งจริง ๆ ค่ะ

ครับคุณแหม่ม,...
ผมเชื่อว่าเราล้วนถูกผลักเข้าสู่เวทีชะตากรรมใดชะตากรรมหนึ่งจากมือที่มองไม่เห็น  ต่อจากนั้น เป็นเราเองที่จะลิขิตเรื่องราวและทิศทางด้วยตนเอง...

บางทีการคิดในระบบ "มือที่มองไม่เห็น" หรือเชื่อว่าไม่มีเรื่อง "บังเอิญ" นั้น ก็เหมือนชวนมองมุมบวกไว้ก่อน แต่ไม่ใช่หลงลอยไปกับวิธีคิดเช่นนั้นเสียทั้งหมด เพราะระยะต้นของการคิดคือการผ่อนเบา-ผ่อนคลายให้เราไม่หม่นๆ สับสนๆ กับเรื่องที่เผชิญ พอสบายใจก็กลับเข้าสู่การ "ท้าทาย" และ "ท้าชน" อย่างมีศิลปะ..

คิดถึง,ระลึกถึง นะครับ

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์พนัส

ประทับใจและดีใจมาก ที่ได้มีโอกาสได้เข้ารับการอบรมจากบริษัทโรซ่าร่วมกับคณะคุณครู เรื่องโภชนาการอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งจัดที่่นาข่าบุรี ได้รู้จักอาจารย์ที่ดูแลโซนกลุ่ม 1 อุดรธานีและวิทยากรอีกหลายๆท่าน แม้จะเป็นเพียงระยะเวลา 1 วัน แต่ก็ได้อะไรมาคิดและวางแผนงานที่จะทำงานต่อไปในชุมชน เพื่อเด็กๆที่ผอมแห้งแรงน้อย:) ในชุมชนต่อไป ขอบคุณวิทยากรทุกท่านอีกครั้งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท