คิดเรื่องงาน (6) : เมื่อจู่ ๆ เธอก็บอกว่า "อยากให้ผมเปลี่ยนสไตล์การเขียนจากเดิมที่เน้นบันเทิงคดีไปสู่ความเป็นวิชาการให้มากขึ้น"


การเขียน คือ กิเลสของผู้เขียน แต่บางทีเราอาจจะต้องหันกลับไปมองคนอ่านบ้างเหมือนกัน

เมื่อไม่นานมานี้  หลังการบรรยายอันยาวนานสิ้นสุดลง    ผมได้รับการทักทายจากนิสิตท่านหนึ่ง   เธอแนะนำตัวเองและบอกกับผมว่า  เธอติดตามอ่านข้อเขียนของผมอยู่ต่อเนื่อง  ทั้งใน G2K  และในเว็บบอร์ดของชมรมต่าง ๆ    รวมถึง ชุมชนคนตลาดน้อย  ...ก็ไม่เว้น

 

ผมชื่อว่าเธอพูดความจริง   เพราะหลายอย่างที่เอ่ยถึงนั้น  ล้วนเป็นข้อคิด ข้อเขียนที่ผมเขียนขึ้นทั้งสิ้น  รวมถึงบทกวีต่าง ๆ  อีกจำนวนมากที่เธอท่องขึ้นใจอย่างน่าทึ่ง

 

ผมสัญญากับเธอว่า   วันใดที่หนังสือฉบับทำมือผมเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์  เธอจะเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับหนังสือโดยไม่ต้องควักตังค์ซื้อแม้แต่สตางค์แดงเดียว...

 

การสนทนาของเราใช้เวลาไม่นานนัก   เพราะเธอรู้ดีว่า   ผมมีภารกิจใหญ่รออยู่เบื้องหน้า   ดังนั้น  เธอจึงรีบยิงประเด็นแบบคมกริบมายังผมแบบไม่ให้ตั้งตัว    และประเด็นที่ฝากให้ผมเก็บไปคิดนั้น  ก็ถือเป็นมิติทางความคิดที่ผมต้องสะดุ้งคิดอยู่มากและน้อมรับน้ำใจแห่งเธอไว้อย่างเต็มล้น

 

เธอบอกกล่าวในทำนองว่า  "อยากให้ผมปรับสไตล์การเขียนให้เป็นวิชาการขึ้น   หาศัพท์แสงทางวิชาการและภาษาต่างชาติมาเทียบเคียงในสิ่งที่กล่าวถึง   ข้อเขียนจะได้ดูดีและมีน้ำหนักในแบบวิชาการ ...และจะได้นำไปอ้างอิงได้อย่างเต็มรูปแบบ

 

ไม่อยากให้นำกลวิธีการเล่าเรื่องแบบบันเทิงคดีมาใช้มากจนเกินไป    เพราะทำให้ความเป็นวิชาการหดหายไปอย่างไม่รู้ตัว..

 

อยากให้ผมวิเคราะห์ที่มาของความสำเร็จของกิจกรรมนั้น ๆ มากกว่าการเสนอภาพรวม ๆ  ของเรื่องราวที่ประสบความสำเร็จ  เพราะจะกลายเป็นความบันเทิงเริงใจมากกว่าบันเทิงเริงปัญญา...

 

อยากให้ผมเขียนแนววิเคราะห์กิจกรรมนิสิตอย่างถึงพริกถึงขิง  ตรงไปตรงมา  และให้นำไปเผยแพร่ในเว็บบอร์ดชุมชนคนตลาดน้อยบ้าง  เพราะระยะหลังผมไม่เข้าไปนำเสนอข้อเขียนให้นิสิตได้อ่านเลย..."

 

ผมได้แต่ขอบคุณและขอบใจเธอคนนั้น

 

ผมไม่ได้อธิบายอันใดนัก  ได้แต่น้อมรับคำติชมนั้นอย่างเปี่ยมปิติ  หากแต่ก็เปรยกลับไปบ้างว่า   ผมติดสไตล์บันเทิงคดีค่อนข้างมาก  แต่ก็ต้องการเขียนในแนวนี้  โดยทิ้งสาระวิชาการไว้เพียง 1 - 2 บรรทัดเท่านั้น  ที่เหลือคือบรรยากาศของการเล่าเรื่อง  โดยเฉพาะข้อเขียน "คิดเรื่องงาน"    ผมก็บอกกล่าวกับเธอว่า   ผมต้องการเล่าเรื่องงานในแบบพื้น ๆ  ไม่มุ่งวิชาการจ๋า  แต่หยิบเอาเหตุการณ์จริงในแต่ละวันมาบอกเล่าในแบบฉบับของการเขียนบันทึกประจำวันทั่ว ๆ ไป    คนอ่านจะได้อ่านแบบเพลิน  ๆ  และถึงเรื่องจะดูยาวไปหน่อย แต่ผู้อ่านจะรู้สึกได้ว่าไม่รู้สึกเคร่งเครียดจนเกินไป

 

"เหรอค่ะ.. มิน่าล่ะ  บันทึกคิดเรื่องงานที่พี่พนัสเขียนขึ้น  แม้ดูจะไม่เข้มข้น  เรื่อย ๆ  เฉื่อย ๆ  ไม่ออกแนววิชาการจ๋า  แต่ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริงจากการทำงาน..."   เธอทิ้งท้ายก่อนเอ่ยลาไปด้วยรอยยิ้ม ...

 

ผมดีใจที่มีคนกล้าติชมอย่างชัดเจน  ตรงไปตรงมา และเป็นกันเองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  ...  และผมก็กอบเก็บเอาทุกกระบวนคิด ทุกกระบวนความของเธอมาขบคิดอยู่อย่างไม่รู้จาง

 

การเขียน  คือ กิเลสของผู้เขียน   แต่บางทีเราอาจจะต้องหันกลับไปมองคนอ่านบ้างเหมือนกัน  (ใช่หรือไม่) ...

 

แล้วท่านล่ะครับ ...  ผมควรจะเดินหน้า  และปรับแต่งข้อเขียนของตนเองอย่างไรบ้าง   เพื่อมิให้เวทีการจัดการความรู้ดูจะเป็นบันเทิงคดีมากเกินไป  

 

ผมขอใช้เวทีนี้  ขอบคุณและขอบใจเธอผู้นั้น  อีกครั้ง .... 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 97302เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2007 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

มีแฟนคลับ ที่กล้าจะแสดงความคิดเห็นอย่างนี้ ต้องน้อมรับไว้อย่างเต็มใจครับ และเธอก็ได้รับของขวัญจากคำติชมนี้ จากหนังสือทำมือ ที่ไม่ต้องควักตังค์แล้วครับ

ผมว่าในเชิงไม่วิชาการ มันก็มีวิชาการแฝงอยู่ทั้งนั้นครับ แล้วแต่มุมมองใครอ่านแล้วจะคิดตาม และต่อยอดไปเรื่อยๆ

สถิติ และความยั่งยืน จะเป็นตัวบ่งชี้เองครับ ว่าแนวใหนเหมาะกับตัวผู้เขียน

สวัสดีครับ

  • บางทีผมก็"เอียน" งานวิชาการครับ มันแข็งๆทื่อๆ และเป็นทฤษฎีที่ยากต่อการขบเคี้ยว บางทีเคี้ยวยังไงก็ไม่อร่อยเหมือน "น้ำพริกหนุ่ม"บ้านผม
  • งานวิชาการที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ คือ งานเขียนอันทรงพลัง และจะยอดเยี่ยมมากขึ้นไปอีก เมื่อคุณอ่านงานชิ้นนั้นเหมือนนิยาย สนุกสนาน ผมให้เครดิตผู้เขียนแบบนี้ได้ ว่า "สุดยอด" แล้ว
  • เห็นหนังสือธรรมะในตลาดมั้ยครับ การเปลี่ยนรูปแบบของหนังสือธรรมะ น่าสนใจอย่างยิ่งในการ research ตลาดผู้อ่าน รูปเล่ม สีสัน และสไตล์การเขียนที่เนียนไปกับชีวิตจริง ไม่ใช่ภาษาบาลี ที่สลบไสลตั้งแต่อักษรแรกที่อ่าน
  • ทุกอย่างคือการเรียนรู้ ผมไม่ชอบการคิดแบบ ขาว-ดำ ผมมองว่าเรามีหลากหลายสีสัน สีหม่น ๆ สีเทาๆ ก็มี ดังนั้นการเขียนเชิงวิชาการจ๋าๆ กับ คนที่เขียนเชิงสารคดีเน้นสนุก(แต่แฝงสาระ) คุณค่าวรรณกรรมมันต่างกัน จริงๆมีคุณค่าเท่าเทียวมกัน แล้วแต่จริตผู้อ่าน แต่ผมเชื่อว่าคนจะเลือกอ่านแบบหลังมากกว่า
  • เป็นตัวของตัวเองดีที่สุดครับ คุณพนัสเขียนได้ดี ผมเองได้เรียนรู้กระบวนการทำงานผ่านการเขียนมากมาย และผมชอบอ่าน เหมือนผมกำลังละเลียดกาแฟสดอันหอมกรุ่น ระหว่างทางเชียงใหม่ - ปาย บ้านผม
  • หากวิชาการทำให้คุณพนัสไม่เป็นตัวของตัวเอง และคุณพนัสยังต้องเขียนเพื่อเอาใจตลาด ไม่นานก็เราคนเขียนก็เบื่อครับ
  • ผมให้กำลังใจครับ เป็นตัวของตัวเองดีที่สุดครับ แต่ยังไงก็ตามต้องขอบคุณ มิตรรักแฟนเพลงสะท้อนเข้ามา ก็เลือกอ่านกันได้จุใจครับ ในGotoknow มีหลากหลายรสชาติ
  • เชิญน้องมาเขียนด้วยดีมั้ยครับผม

 

                                                        ขอบคุณครับ

  • ประเด็นดีครับ
  • คำถามตรงกับข้อยุ่งยากใจของคนตัวไปครับ
  • คำถามพื้นฐานว่า เราอยากเป็นอย่างที่เราเป็น หรือ เป็นอย่างที่คนอื่นอยากให้เราเป็น
  • เช่นเดียวกับข้อเขียน หรือละเอียดลงมา ว่าเป็นข้อเขียนในเวปบล็อค ผมคิดว่า ถ้ากำหนดรูปแบบความชื่นชอบ กำหนดเนื้อหา ลีลา และเป้าหมายของตัวเองไว้แล้ว
  • หรือได้มีความสุขในขณะที่เขียน สื่อสารได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็เป็นคำตอบในด้านการเรียนรู้นะครับ
  • เพียงแต่ ผมเห็นด้วย ว่ารักที่จะเขียน ชอบที่อธิบาย และเรียนรู้ว่า เรากำลังอธิบายสิ่งใดเพื่ออะไร ก็น่าจะมากพอครับ
  • เพราะยิ่งมีความหลากหลาย มากเท่าไร ผู้คนแตกต่างด้วยข้อเขียนเพียงใด ยิ่งสร้างพลังบางอย่างให้เกิดขึ้นครับ
  • เขียนอย่างที่ชอบ อย่างที่คิด ดีแล้วครับ
  • ถ้าคนอ่านจะเลือก จะชอบไม่ชอบ อยากอ่านหรือไม่อยากอ่าน ก็เป็นพื้นที่ในการตัดสินใจของเขาครับ
  • สำหรับคนเขียน การทำหน้าที่ ของการคิด การอธิบาย และลำดับเรื่องราว พ้นไปตั้งแต่ตัวอักษรได้วางทิ้งไว้ครับ
  • นอกนั้น เป็นเรื่องการตีความ การลำดับความเข้าใจ และเงื่อนไขในการสื่อสารครับ
  • แต่สรุปประเด็น ข้อเสนอจากแฟนคลับ ก็น่าสนใจนะครับ
  • แสดงว่าข้อเขียน มีผลกระทบต่อความสนใจครับ
  • ต้องถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่มีคนติดตามงานเขียนอยู่เสมอ สำหรับข้อเขียน และสำหรับคนที่ชื่นชอบการเขียนครับ
  • ยินดีด้วยครับ
  • สวัสดีพนัส
  • จงเชื่อมั่นในสิ่งที่เราเป็น
  • เราจะทำได้ดีและมีความเชื่อมั่น
  • พี่เป็นคนหนึ่งที่มีสไตส์บันเทิงมากกว่าวิชาการ
  • และชอบอ่านสไตส์บันเทิงมากกว่าวิชาการ
  • แล้วพี่จะคอยติดตาม

 

 

ขอบคุณมากครับ...

P

สถิติ และความยั่งยืน จะเป็นตัวบ่งชี้เองครับ ว่าแนวใหนเหมาะกับตัวผู้เขียน

.....

ถ้างั้น... แบบปัจจุบันนี่แหละครับ  เหมาะสุดแล้ว  เพราะพอมีมิ่งมิตรติดตามอ่าน  ดูไม่เงียบเหงาดี...

.... พี่ไม่ใช้สไตล์ ตรงไป  โป้งเดียวดับ เหมือนน้องแจ๊ค...  แต่พี่ต้องเลียบ ๆ  เคียง ๆ  เรียบ ๆ ง่าย ๆ  ชักแม่น้ำหลาย ๆ สายมารวมกัน

เรียกว่า  แม่น้ำสามร้อยสาย  วิชาการ 3  บรรทัด  ได้หรือเปล่าเนี่ย..

ขอบคุณ - คุณเอก มากครับ
P
  • ผมชอบอ่านงานวิจัยเชิงสังคมวิทยา - มนุษยวิทยา  เพราะผมไม่ชอบอ่านหนังสือที่เป็นตัวเลข  ยิ่งงานเขียน หรืองานวิชาการที่นำเสนอข้อมูลในเชิงสารคดีนั้น  โดยส่วนตัวผมจะถือว่าน่าสนใจ, อ่านสนุก  ได้สาระ  และกระเทาะแก่นเรื่องนั้น ๆ  ได้อย่างมีชีวิต
  • ระยะหลังผมเห็นงานวิจัยของ สกว.  หลายต่อหลายเรื่องมีกลวิธีการนำเสนอทำนองนี้  ทั้งรูปแบบและภาษาฯ   แต่งานวิจัยเชิงปริมาณก็ดูเหมือนจะเกลื่อนกลบงานวิจัยเชิงคุณภาพอยู่ไม่น้อย 
  • ผมยังมีความสุขที่จะนำเสนอเรื่องราวในแบบฉบับของตนเอง   100 บรรทัด  และมีความเป็นแนวิชาการอยู่เพียง 5  บรรทัดผมก็ถือว่าไม่เสียหายอะไร
  • แต่ข้อเสนอแนะของน้องท่านนั้น  ก็มีมุมมองที่สร้างสรรค์  และควรค่าต่อการรับฟังเป็นอย่างมาก  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า   เขาอยากเห็นข้อความของผมปรากฏการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการก็เป็นได้  .. และการอ้างอิงนั้น  คงไม่ใช่ในแวดวงอันกว้าง  แต่อาจจะหมายความแต่เฉพาะในแวดวงมหาวิทยาลัยของเราเอง
  • ....
  • ส่วนการชวนมาเขียนบันทึกนั้น  ก็เอ่ยชวนแล้ว  แต่น้องเขายังมีความสุขกับการอ่านและสะสมข้อเขียนของใคร ๆ มากกว่า, คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่
  • ....
  • ...
  • เรื่องของเรา   เราก็คงต้องเล่าด้วยวิธีของเราเอง ...(ใช่ไหมครับ)
สวัสดีครับ
P

ทุกกระบวนความผมถือว่าเป็นทัศนะวิพากษ์ที่อุดมไปด้วยการเข้าใจโลกและชีวิตอย่างมากมาย  รวมถึงการแจ่มชัดในวิถีการดำเนินไปในโลก G2K  แห่งนี้อย่างลึกซึ้ง

เคยมีคนกล่าวไว้ในทำนองว่า  G2K  เป็นตลาดแห่งปัญญาที่สามารถแลกเปลี่ยน  - แลกเสพสาระทางความคิดได้อย่างหลากหลาย  ทั้งในรูปของบันเทิงเริงรมย์และบันเทิงเริงปัญญา  ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่า  มีให้เลือกแสวงหาอย่างหลากหลาย  สุดแท้แต่ว่า  ใครและใครมุ่งมาดปรารถนาที่จะเสพสัมผัสกับบันทึก หรือสารัตถะในแง่มุมใด  และติดตามบรรยากาศใดจากบันทึกอันหลากหลายและไม่รู้จบ

หน้าที่ของคนเขียนคือการสื่อสารความคิดของตนเองไปยังผู้รับสาร    ส่วนผู้รับสารจะตีความหมายแห่งสารนั้นอย่างไรเป็นอีกประเด็น    สิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอบางทีผู้รับสารอาจมองคนละมุมคนละอย่างก็เป็นได้... และมุมมองนั้นก็ถือว่าไม่ผิด   หากแต่เป็นการมองมุมต่างที่พร้อมไปสู่การ "ต่อยอด"  ทางความคิดในเรื่องนั้น ๆ

การได้เขียนและบอกเล่า  คือ ความสุขของผม   ส่วนการเสพบรรยากาศและสาระแห่งบันทึก  หรือแม้แต่สไตล์ของผมนั้น  ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้อ่าน หรือผู้เสพจะเลือกเสพ หรือไม่เสพผมก็ไม่ว่ากัน -

เพราะการได้มีเวทีแห่งการสื่อสารนั้น  ถือว่า   ยิ่งใหญ่  และผมก็มีความสุขกับเวทีเช่นนี้เสมอ...

ยิ่งมีคนติดตามและพูดคุยอย่างเปิดอก  ผมยิ่งถือว่า  ดีเยี่ยมและภูมิใจเป็นที่สุด

....

ขอบพระคุณครับ

ขอบคุณ  มากครับ พี่ตุ๋ย
P
  • จงเชื่อมั่นในสิ่งที่เราเป็น
  • เราจะทำได้ดีและมีความเชื่อมั่น
  • ................

    ผมก็คงเดินตามวิถีของตนเองเช่นเคยแหละครับ  แต่ก็ไม่ปฏิเสธเหมือนกันว่า   ต้องมีการปรับแต่งให้ดีขึ้นไปตามจังหวะที่ควรจะต้องเป็น

    ผมเป็นกำลังใจให้เช่นกันนะครับ

    น้องชาย

    ชอบอย่างที่ "เป็น" อยุ่ทุกวันนี้ค่ะ

    ยิ้ม

    สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

    เห็นบันทึกคุณแผ่นดินบันทึกนี้  แล้วอยากเล่าความรู้สึก ที่ดิฉันเคยคิดเองเออเอง    เลยวิ่งจู๊ดมาเล่าให้ฟัง   อยากเล่าอะค่ะ 

    ดิฉันชอบเขียนบทความตามใจตัว   คือการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มักเป็นเรื่องที่ดิฉันประสบมาและคิด คิดแล้วก็เขียน ตอนเขียนก็สนุก  เขียนเองสนุกเอง   เป็นบทความตามใจ(ฉัน)  เดาไม่ถูกจริงๆว่าคนอ่านจะรู้สึกอย่างไร  เพราะตอนเขียนนั้น ได้เอาความรู้สึกของตนเองเป็นสรณะ

    ขณะเดียวกัน  ดิฉันเขียนเรื่อง "การรู้เท่าทันการสื่อสาร" ในลักษณะการบอกเล่าอย่างไม่เป็นวิชาการ  ดิฉันฝึกเด็กมากับมือเป็นสิบปี  และเห็นผล  จนออกจะมั่นใจว่าเรื่องนี้ จะเป็นที่เข้าใจได้อย่างรวดเร็ว ในวงศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน   จะได้ร่วมกันพัฒนาให้เป็นงานฝึกคน ส่งไม้ต่อมือ  ต่อเนื่องกันไป  

    ปรากฏว่าพูดกับใครๆก็ไม่พูดด้วย  เขียนไปเพื่อนก็ไม่อ่านแม้แต่คนเดียว   ง้อแล้วง้ออีกก็ไม่อ่าน  จนดิฉันขำตัวเองว่าเรานี่ก็เพ้อเจ้อคนเดียวได้เป็นสิบปี   เลยไปเขียนออกอากาศ และไม่มีคนอ่านอยู่ดี  แต่ก็มันส์ดีตามประสาเรา 

    ข้อคิดที่ดิฉันได้เห็นกับตัวเป็นๆ  ก็คือถ้าเราคนเขียน  อ่านแล้วสนุก  หรือรู้สึกว่าดี  คนอ่านอาจไม่จำเป็นต้องรู้สึกเหมือนเราทุกคนไป

    และการเลือกรูปแบบการเขียน    เพื่อนำเสนอข้อเขียนแต่ละประเภท  ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย  ว่าเราต้องการนำเสนอเพื่ออะไร  พอจุดมุ่งหมายชัด  ก็เลือกรูปแบบการนำเสนอให้สอดรับกับจุดมุ่งหมาย  เพื่อให้การนำเสนอนั้นๆ เกิดประสิทธิผล (อันนี้จำมาจากหนังสือหลักการเขียนเล่มใดเล่มหนึ่ง)

    การนำเสนอแบบเป็นวิชาการนั้นออกจะน่าเบื่อ  เพราะวิชาการจริงๆ  มันไม่มีอารมณ์ และมันไม่มีอารมณ์   ดิฉันเคยพยายามจะเขียน และพบว่าแทบจะต้องตีลังกาเขียน เพราะมันแข็งเป๊กน่าเบื่อสิ้นดี   แต่มันตีพิมพ์ในวารสารวิชาการได้  เพราะมันไม่มีอารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียนเข้าไปเกี่ยวข้อง  ประมาณว่าเป็นวิทยาศาสตร์  วิทยาศาสตร์คือหมดอารมณ์ 
                อันนี้กระซิบกันเฉพาะเรานะคะ    อิอิ

    ดิฉันจึงได้เห็นว่า ดิฉันเป็นพวกชอบถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึก มากกว่าวิชาการกลไกล้วนๆ  และจะเขียนแบบมีอารมณ์ได้ดีกว่าแบบหมดอารมณ์  : )  

    และได้เห็นด้วยตัวเองว่า วิธีเขียนแบบที่ดิฉันชอบ จะไม่มีวันได้ลงในวารสารวิชาการเลย   และยากมากที่จะเผยแพร่แนวคิดให้เป็นที่ยอมรับได้

    ดิฉันจึงได้คำตอบเฉพาะตัวดิฉันนะคะ  คือบางทีก็ต้องตีลังกาเขียน  แปลว่าต้องฝืนใจตัวเอง   ดิฉันอย่ในบทบาทที่ต้องทำให้เป็นวิชาการได้ตามความคาดหวัง   นึกแล้วหนักใจชะมัด.....

    เข้ามาเล่าสู่กันฟังเฉยๆนะคะคุณ แผ่นดิน  ดิฉันบ่นเสร็จแล้วก็จะไปเขียนบทความตามใจ(ฉัน)ต่อ  
    การได้เขียนอะไรๆตามที่หัวใจเราปรารถนานั้น ทำให้เรามีความสุขขะมัดเลยอะค่ะ   : ) 

    • ผมเข้าใจว่า ภาษา "วิชาการ" ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยชนชั้นกลาง-สูงที่ไปรับการศึกษาจากตะวันตกมาแต่แรกนะครับ
    • จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ภาษาทุกภาษา ภาษาในทุกระดับ ในทางสังคมวิทยามันเป็นอำนาจเชิงสัญลักษณ์ที่ทรงพลังแบบหนึ่ง
    • การต่อสู้/ ครอบงำทางภาษา เป็นการเมืองนะครับ อย่างภาษาอังกฤษนี่ ก็เป็นการเมือง เป็นอำนาจของตะวันตกที่มากดให้ชาวตะวันออก โดยเฉพาะประเทศเมืองขึ้น ประเทศ "ด้อย" พัฒนาทั้งหลาย ต้องรับรองว่าเป็น "สากล" 
    • ภาษาวิชาการ ก็มาพร้อมกับคุณค่าที่สังคมอุปโลกและมายาคติที่ว่า มันเหนือกว่า ภาษาที่ไม่เป็นวิชาการ ทั้งที่ตัวมันมีข้อจำกัดมากมาย และเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการผลิตซ้ำสถานภาพทางสังคมวัฒนธรรมของตน
    • บางประเทศ ภาษากลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆถูกห้าม ตำราดีๆก็ถูกเผาทำลาย เพราะผู้ปกครองไม่ต้องการให้มีการสืบสานวัฒนธรรมกันต่อ แต่ต้องมาเรียนในภาษาที่ชนชั้นปกครองกำหนด
    • จะใช้ภาษาอะไร ถ้าเรารุ้เท่าทัน สามารถระวัง "ด้านมืด" หรือด้านที่มันไปกีดกันเอาเปรียบภาษา/ผู้คนกลุ่มอื่นๆได้ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า"เราใช้ภาษา" มิฉะนั้นเราอาจจะถูก (ผู้สร้าง)"ภาษาใช้เรา"เป็นเครื่องมือได้ครับ

    เขียนแบบเดิมก็มันดี อ่านสนุก สบายๆ

    ลองแบบใหม่ก็จะตามอ่านค่ะ แล้วค่อยสะท้อนให้อาจารย์ ทราบ

     

    ขอโทษที่มาช้า อ่านจะเครื่องอื่น แต่เพิ่งเข้ามาครับ

    .

    ผมขออนุญาต โหวตคุณแผ่นดินนะครับ

    เหตุผล

    อ่านบันทึกคุณแผ่นดินที่ไร ต่อมความคิด ได้หลั่ง สารคิด ไปไหลเวียนผ่าน ต่อมสุนทรีย์ ได้อรรถรสแห่งสุนทรียภาพทางตัวอักษร

    เอกลักษณ์ เฉพาะบุคคลเลยครับ

    แม้จะยาว แต่ยังรู้เลยว่าสื่อสารอะไร ถ้าสั้นไปแล้ว ขาดซึ่งสิ่งที่จะสื่อสารกัน แบบนี้สวยงามกว่ากันเยอะเลยครับ

    ใน G2K นับคนได้ครับ

    สั้นๆกึ่งยาวๆ

    อักษรศิลป์ สวยงาม

    สื่อสาร ตรงประเด็น

    สวัสดีครับ เอื้อย..
    P

    ดีใจเอื้อยมายาม  มาถามข่าว...

    ข่อยกะมักแบบนี้คือกัน.. เขียนแล้ว มันบ่อึดอัด  ..และกะสิเขียนแบบนี่คือเก่า

    ขอบคุณหลาย ๆ   เด้อเอื้อยเด้อ

    ขออนุญาตฝากข่าว 

    เชิญพี่พนัสและมิตรทุกท่าน ร่วมทักทายอนาคต blger ผู้ร่วมพัฒนาชาวคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม

    เชิญชวนมิตร G2K ร่วมต้อนรับ bloger คนใหม่ ล่วงหน้า

    ขอบคุณครับ

    กัมปนาท

    สวัสดีครับ 

    P

    ดีใจมากครับที่มีโอกาสได้รับฟังและรับรู้กระบวนคิด - ทัศนะของอาจารย์   และจะว่าไปแล้วก็เป็นในแนว "คอเดียวกัน"   เลยก็ว่าได้

    การนำเสนอแบบเป็นวิชาการนั้นออกจะน่าเบื่อ  เพราะวิชาการจริงๆ  มันไม่มีอารมณ์ และมันไม่มีอารมณ์   ดิฉันเคยพยายามจะเขียน และพบว่าแทบจะต้องตีลังกาเขียน เพราะมันแข็งเป๊กน่าเบื่อสิ้นดี   แต่มันตีพิมพ์ในวารสารวิชาการได้  เพราะมันไม่มีอารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียนเข้าไปเกี่ยวข้อง  ประมาณว่าเป็นวิทยาศาสตร์ 

    ผมขออนุญาตคัดลอกทัศนะอาจารย์มานำเสนอซ้ำอีกรอบ  เพราะมองว่า  เป็นการวิพากษ์ที่ชัดแจ้งในเรื่องการนำเสนอในทางรูปลักษณ์และเนื้อหาของบทความ  หรือแม้แต่บันทึกในโลก G2K  ...

    ระยะหลังผมเห็นงานวิจัยหลายชิ้นที่นำรูปแบบการเขียนแบบสารคดีไปใช้ในงานวิจัย  ซึ่งช่วยให้การอ่านเต็มไปด้วยอรรถรสที่มีชีวิตชีวา  ภาษาไม่แข็งทื่อ   สร้างจินตนาการให้ผู้อ่านได้อย่างไม่น่าเชื่อ   และงานวิจัยในทำนองนี้ยังประสบความสำเร็จในด้านตัวเลขการจำหน่ายด้วยเช่นกัน

    ผมเองก็เคยเขียนบทความให้มหาวิทยาลัยบ้าง  แต่ส่วนหนึ่งถูกติงว่ารูปแบบและภาษาไม่เป็นวิชาการเต็มที่   จึงไม่ผ่านการพิจารณา  โดยให้ผมปรับแก้   แต่ผมก็ยืนหยัดความเป็น "รูปลักษณ์"  คนเองด้วยการไม่แก้  และไม่ส่งตีพิมพ์   แต่นำไปแจกจ่ายให้นิสิตได้อ่าน  ผลตอบรับกลับอบอุ่นไม่น้อย  เพราะนิสิตชอบอ่าน  รวมถึงนิสิตนำไปเผยแพร่ในวาระต่าง ๆ   

    ....

    สำหรับอาจารย์แล้ว    ผมเป็นกำลังใจให้นะครับ  และยินดีที่จะเป็นแฟนคลับติดตามผลงานข้อเขียนของอาจารย์สืบไป

    ผมยกธงเชียร์เต็มที่ครับ...

     

     

            ผมพึ่งได้เข้ามาอ่านงานของพี่อีกครั้งอ่ะค้าบ  ผมชอบสไตล์การเขียนงานของพี่แบบนี้นะค้าบ  ไม่รู้สิค้าบผมก้อบอกไม่ถูกเหมือนกัน  รุ้แต่ว่าผมชอบคำ 3 คำที่พี่พูดเสมอๆ  จนทำให้ผมได้ยินคำพวกนี้ติดหุ้แล้วก้องอยู่ตลอดเวลาก้อว่าได้ในการทำกิจกรรม

                 " รากเหง้า   วัฒนธรรม   วิถีชีวิต "

    • ภาพยนต์,ละครทีวี  ผู้กำกับยังต้องมีสไตล์ของใครของฉัน นะครับคุณแผ่นดิน  จะให้หม่ำ จ๊กม๊ก ไปกำกับหนังรักโรแมนติก คงไม่มีคนดูเช่นกัน 
    • ให้คุณแผ่นดินไปเขียนเชิงวิชาการ เพื่อนำไปอ้างอิงผมก็ออกความเห็นว่า  ท่านเป็นผู้ผลิตผลงานแล้วมีคนติดตามหรือบริโภคเพียงกลุ่มน้อยนิด  ผลดำเนินการเขเรียกว่า"ขาดทุนกำไร" แบบนี้ต้องศึกษาตลาดผู้บริโภคก่อนนะครับ
    • ขอเป็นกำลังใจและติดตามผลงานตลอดไปนะครับ

    สวัสดีครับ

    P

    ขออภัยอย่างยิ่งที่ผมตอบบันทึกล่าช้ามาก  เพราะมีภาระการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ  อยู่อย่างสม่ำเสมอ

    ผมประทับใจในทัศนะของคุณยอดดอยมาก  วิพากษ์ได้อย่างตรงไปตรงมา  และมีกลิ่นอายของความเป็นผู้ให้เกียรติต่อวัมนธรรมทุก ๆ  วัฒนธรรมอย่างเสมอภาค  โดยการสะกิดถึงคุณค่าทางภาษาพื้นถิ่นเหมือนกัน  ดังทัศนะเหล่านี้

    จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ภาษาทุกภาษา ภาษาในทุกระดับ ในทางสังคมวิทยามันเป็นอำนาจเชิงสัญลักษณ์ที่ทรงพลังแบบหนึ่ง

    หรือ

  • ภาษาวิชาการ ก็มาพร้อมกับคุณค่าที่สังคมอุปโลกและมายาคติที่ว่า มันเหนือกว่า ภาษาที่ไม่เป็นวิชาการ ทั้งที่ตัวมันมีข้อจำกัดมากมาย และเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการผลิตซ้ำสถานภาพทางสังคมวัฒนธรรมของตน
  • บางประเทศ ภาษากลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆถูกห้าม ตำราดีๆก็ถูกเผาทำลาย เพราะผู้ปกครองไม่ต้องการให้มีการสืบสานวัฒนธรรมกันต่อ
  • ...

    วันนี้ผมก็เพิ่งมีโอกาสได้กล่าวขอบคุณวิทยากรที่มาบรรยายแก่นิสิตใหม่  ผมยังถือโอกาสเชื่อมโยงให้นิสิตได้ตระหนักในวัฒนธรรมพื้นถิ่นของตนเอง  โดยเฉพาะในเรื่องภาษาของท้องถิ่นต่าง ๆ  ที่มักจะถูกสังคมเมืองตีตราให้ดูด้อยไปกว่าภาษาสังคมเมือง  ทั้งที่ความเป็นจริง  ทุกภาษามีคุณค่าและงดงามเสมอกันทั้งนั้นเลย...

    ...

    ขอบคุณมากครับ

    สวัสดีครับ
    P

    ผมดีใจและถือเป็นเกียรติอย่างมากที่อาจารย์ติดตามอ่านบันทึกของผม  ซึ่งระยะหลังผมเองก็เฉื่อยชาต่อการเขียนบันทึกอยู่ไม่น้อย

    ขอบพระคุณมากครับ

     สวัสดีครับ

       เป็นตัวของตัวเอง ยั่งยืนกว่า

                ชอบคุณครับ

    สวัสดีครับ
    P

    ขอบคุณมาก ๆ เลยที่ชมและเชียร์โหวตให้กับผม...ลำพังคุณตาหยูคนเดียวคงส่งผมไปไม่ถึงวันงานเป็นแน่  ต้องขอแรงใจใคร ๆ ช่วยโหวตให้กระมังครับ ยิ้ม ๆ ...

    ....

    สั้นๆกึ่งยาวๆ

    อักษรศิลป์ สวยงาม

    สื่อสาร ตรงประเด็น

    ....

    นั่นคือนิยามความหมายที่ผมชื่นชอบ..แต่ก็ไม่ใคร่แน่ใจนักว่า  ประเด็นหลังนั้น  ,  ผมสื่อสารได้ตรงประเด็น จริง ๆ หรือครับ..

    ....

    สวัสดีค่ะ

     ขอให้กำลังใจ เขียนอย่างที่คุณเขียนดีแล้วค่ะ ชอบอ่านค่ะ

    พี่เองไม่ใช่นักเขียนภาษาสละสลวยอย่างคุณ และทำไม่ได้ แม้จะจบอักษรศาสตร์ด้วยซ้ำ เห็นเขาเขียนกันเพราะ ๆก็ชอบอ่าน แต่เขียนเอง ไม่เป็น 

    ถนัด เขียนแบบสบายๆ ตามใจฉัน ค่อนข้างตรงๆ  ไม่ค่อยชอบเขียนยาว เหมือนวิธีการทำงานของตัวเอง ที่ชอบทำธุระกิจ   และวิธีการทำงาน ติดเป็นแบบผู้ชายๆค่อนข้างมากเลยค่ะ ไม่ค่อยหวานเลย

    เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด  แต่ยังไงก็เป็นผู้หญิง ขอให้ดอกไม้เป็นกำลังใจค่ะ

    สวัสดีครับ น้องแจ๊ค
    P
     

    พี่ได้เข้าไปฝากรอยแห่งกำลังใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  และขอให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีพลัง

    คนคุณภาพ  ไปที่ไหน  ย้อมพกพาความเป็นคุณภาพติดตัวไปด้วยเสมอ...

    พี่เชื่อเช่นนั้น !

    คุณน้องสภา  ครับ
    ไม่มีรูป
    น้องสภา 

    ยังไงเสีย  พี่ก็ฝากคิด  ฝากย้ำให้นำไปวิเคราะห์ปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยนะ  กับคำ 3  คำนั้น

    " รากเหง้า   วัฒนธรรม   วิถีชีวิต "

    สวัสดีครับ  พี่สมนึก
    P

    นี่ก็เพิ่งกลับจากการไปราชการนอกสถานที่,  เสาร์ - อาทิตย์ไม่ได้หยุดพักเลยนะครับ..

    ตอนนี้ผมยังยืนยันวิถี หรือสไตล์การเขียนของตนเอง  ผมเขียนเพราะผมมีความสุข,  และมีความสุขที่มีกลุ่มคนเฉพาะเฝ้าติดตามอ่านอยู่อย่างไม่หนีหาย

    ผมจะยังเขียนในรูปลักาณ์เช่นนี้ ... ไม่ใช่เขียนให้ได้รางวัล  แต่ต้องการเขียนให้คนได้อ่านอย่างเพลิดเพลิน ...เริงปัญญานิด ๆ   แต่เติมสีสันชีวิตอันเป็นธรรมชาติอย่างไม่ตกหล่น

    ...

    ขอบคุณพี่สมนึกมากครับ..

    สวัสดีครับ ลุงวอ..  (ขออนุญาตเรียกเช่นนี้สืบไปเลยนะครับ)

    P

    ...

    สไตล์  เป็นสิ่งที่เลียนแบบกันได้ยากพอสมควร ..  ผมเองก็มีความสุขที่จะเป็น "ตัวเอง"  ดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้  ... รู้สึกอ้างว้างบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับโดดเดี่ยว..และมีความสุขอย่างมหาศาลในบล็อก

    ขอบพระคุณมากครับ

    สวัสดีครับ
    P

    ขอให้กำลังใจ เขียนอย่างที่คุณเขียนดีแล้วค่ะ ชอบอ่านค่ะ

    ...

    ขอบคุณมากครับ..

    จะว่าไปแล้ว  บันทึกของแต่ละคนก็สะท้อนตัวตนในวิถีการดำเนินชีวิตและสไตล์ของการทำงานของแต่ละคนได้อย่างชัดเจนอยู่ไม่น้อยนะครับ

    เพียงแต่ผมจะมีลักาณะขัดแย้งกันอยู่ในที  "ตรงไปตรงมา  ราวกับการแข็งกร้าว  แต่เบื้องลึกกลับอ่อนไหวและสั่นไหวอย่างง่าย ๆ ..."

    ดังนั้น ..บันทึกของผมจึงเป็นตัวตนของผมที่ชัดเจนยิ่งกว่าภาพที่ผมกรีดกรายอยู่ตามสังคม...

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท