ธรรมะ ปฏิบัติเพื่อ “จิตประภัสร์...”


 

ปีกว่า ๆ ตั้งแต่ที่ฉันตัดใจเดินหน้าตามสายทางแห่งธรรม ฉันได้พากเพียรเดินตามหนทางแห่งอริยมรรคซึ่งมีองค์ ๘ อีกทั้งประพฤติข้อวัตร ปฏิบัติที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ได้ตั้ง ได้ขีดเป็นสายหรือแนวทางให้ฉันนั้นก้าวเดิน

การเดินในแต่ละก้าวนั้นล้วนเต็มไปด้วยข้อสงสัยว่าทำไมต้องทำแบบนี้ เจอเรื่องแบบนี้ทำไมต้องทำแบบนั้น แต่วันนี้คำถามและคำตอบทั้งหลายมีหนทางเดินสู่จิตที่ “ประภัสร์”

จิตอันประภัสร์ หรือจิตประภัสสรนั้นเป็นดวงจิตที่มนุษย์ทุกผู้ทุกคนพึงจะทำให้มีให้เป็น
จิตอันประภัสร์นั้นจะอุดมไปด้วยสุขซึ่งเป็นสุขแท้
สุขที่ปราศจากความโกรธ ความโลภ และความหลง

ธรรมะปฏิบัติต่าง ๆ ก็มุ่งไปที่การลดความโลภ ความโกรธ และความหลง

ถนนในทางเดินตามสายแห่งอริยมรรคนั้นก็มุ่งสร้างแรงแห่งกำลังและปัญญาเพื่อให้จิตคลายจากความโลภ ความโกรธ และความหลง เมื่อจิตคลายได้แล้วจิตนี้ก็จะพบกับความสุขอันประภัสสร

จิตเดิมแท้ของเรานั้นประภัสสร แต่ต้องมัวหมองก็ด้วยเพราะกิเลสนั้นจรเข้ามา

การปฏิบัติธรรมนั้นมีหนทางมุ่งหน้าให้จิตเรากลับเป็นจิตเดิมอันประภัสสร

ถ้าโลภก็ให้รีบลด ละ เบิกความโลภเสีย
ถ้าโกรธก็ให้รีบลด ละ เลิกความโกรธเสีย
ถ้าหลงก็ให้รีบลด ละ เบิก ความหลงเสีย

อุบายในธรรมเป็นหนทางดำเนินของจิตให้ตัดเสียได้จากกิเลสและตัณหาทั้งสามนี้

เห็นของชอบ ของรักก็ไม่ซื้อ ไม่หา ไม่โลภ ใครด่าก็ไม่โกรธ ใครชม ใครสรรเสริญ ใครเยินยอ ใครให้ยศ ตำแหน่ง หรืออำนาจก็ไม่หลง

หรือถ้ายังตัดไม่ได้ขาด มิได้สิ้น จิตดวงนี้ก็จะเริ่มแย้มรับความสุขที่สัมผัสได้ในเมื่อครั้งที่เราหายใจสบาย หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย
รับได้เมื่อครั้งที่เรานั่งสมาธิ เราปล่อย เราวาง ทำตัว ทำวาจา ทำใจให้ว่างเปล่า โดยทิ้งภาระ ทิ้งความโลภ ทิ้งความโกรธ ทิ้งความหลง แม้ในชั่วขณะหนึ่งก็ถือได้ว่าเราได้สัมผัสความสุขจากจิตอันประภัสร์แล้ว

การปฏิบัติธรรมนี้มิได้ทำเพื่อความรู้ ความเก่ง ความฉลาด เพื่อนำความเก่ง ความฉลาดนี้ไปเพื่อหาเงิน หาทอง หางาน โดยการพูดเก่ง ปฏิบัติเก่ง นั่งนาน ทำความเพียรได้นาน แต่การปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็ทำเพื่อละ เพื่อปล่อย เพื่อวาง เมื่อวางได้จิตก็จะประภัสสรเหมือนดังเดิม

การให้ทานก็ดี การรักษาศีลก็ดี การภาวนาก็ดีล้วนแล้วแต่ทำให้จิตนั้นประภัสสร

การให้ทานก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เรารู้จักเสีย รู้จักสละ รู้จักการให้ รู้จักการตัดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง การให้ทานจึงเป็นการทำจิตให้ประภัสสรได้ในระดับหนึ่ง

การรักษาศีลมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เรารู้จักความจริง รู้จักตน รู้จักบุคคล  ไม่หลงมัวเมาอยู่ด้วยสังคม โลภ ยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ และนินทา

การภาวนามีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างกำลังแห่งจิต สร้างกำลังให้รู้จักชีวิตนี้ รู้จักชีวิตนี้ว่าทุกข์ การเกิด การแก่ การเจ็บ และการตายคือความทุกข์ เมื่อรู้แล้วเราจะได้หาหนทางแก้ไข สร้างกำลังจิต กำลังใจ โดยมีองค์แห่งพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง

บุคคลที่สมบูรณ์ไปด้วยทาน ศีล และภาวนาจักเป็นบุคคลที่มีจิตอันประภัสสร
บุคคลที่มีจิตประภัสสรย่อมอุดมไปด้วยสุขอันเป็นสุขแท้
รอยยิ้มแห่งจิตที่ประภัสสรย่อมอิ่มไปด้วยความอบอุ่นที่เต็มไปด้วยกลิ่นไอแห่งความเมตตา
ด้วยเหตุนี้กาย วาจา และใจจึงพบสุขจาก “ความสงบ” ได้อย่างแท้จริง...


หมายเลขบันทึก: 212586เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2008 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ

หนูอยากทำได้บ้างจัง

ธรรมะ สวัสดี แด่ผู้เพียรเพ่งเผากิเลสค่ะ

 

ตามมาอ่านครับ...ได้รับรู้เรื่องธรรมะวันละนิด เป็นมงคลแก่ชีวิตครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท