ท่าสักไดอารี่ การวิจัยชุมชน(3) : ร่วมเรียนรู้ ร่วมกันทำงาน ร่วมมีเจ้าภาพ


           จากนั้นนักศึกษาก็เริ่มเรียนรู้เรื่องระเบียบวิธีวิจัยทางธุรกิจโดยเน้นไปที่กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม และร่วมวางแผนการดำเนินโครงการ ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องวางแผนและพูดคุยกันก็ได้แก่เรื่องของทีมวิจัย หรือ “คน (man)” นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้มีประมาณ 80 คน ก็ถือว่าเป็นทีมวิจัยที่ค่อนข้างใหญ่มาก ซึ่งความใหญ่ของทีมสามารถแปลเป็นพลังได้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน  (ประเด็นเรื่องคนไม่ค่อยน่าเป็นห่วง) ส่วนที่ 2 เรื่อง “งบประมาณหรือเงิน (money)” ในการเรียนรายวิชาธุรกิจ (3503901) ครั้งนี้ ก็จะมีงบประมาณส่วนตัวอยู่เป็นค่าวัสดุฝึกรวมกันก็ประมาณ 2 พันกว่าบาท ซึ่งไม่ได้ออกมาเป็นตัวเงิน แต่จะออกมาเป็นพวกวัสดุปากกา กระดาษ แผ่นดิสก์  “อื่ม! ประเด็นนี้น่าหนักใจ เราจึงเริ่มคุยกันนะว่าจะไปทำกันที่ไหนดี ต้องดูที่ใกล้ ๆ เพื่อประหยัดเรื่องค่าเดินทาง  ตอนนั้นเราก็คุยกันว่าที่หมู่บ้านหนึ่งแถว ๆ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแลมั๊ย อยู่ไม่ไกลเท่าไรนัก (ประมาณ 5-6 กิโลเมตร)
                หลังจากนั้นผมและนักศึกษาประมาณส่วนหนึ่งประมาณ 5-6 คน ก็ได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่เพื่อดูลักษณะของพื้นที่และพูดคุยกับชุมชนถึงความเป็นไปได้ในการทำโครงการครั้งนี้
                “เป็นอย่างไรบ้างคะ ที่นี่ไม่ไกล เดินทางไม่ถึงสิบนาที”
                “เดินทางน่ะไม่นาน แต่ที่กลัวว่าจะนานก็คือเวลาที่จะทำงาน”
                พื้นที่ที่พวกเราร่วมกันคิดและลงไปสำรวจเบื้องต้นครั้งแรก ผลสรุปออกมาได้ว่า ระยะทางเหมาะสมกับการทำงาน แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ เวลาที่จะต้องใช้ทำงานคงจะต้องทำกันในระยะยาว เพราะจะต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลย ก็คือสร้างความคุ้นเคยกับชุมชน สร้างความสัมพันธ์กับผู้นำ แกนนำในชุมชน แค่ขั้นตอนแรกนี้ก็กินเวลาไปเป็นเดือน ๆ แล้ว แต่ตอนนี้เรามีเวลาเหลือแค่ 3 เดือนเอง คงจะไม่ได้การแน่
                “ท่าสัก?”
                เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ครูเคยทำการทำวิจัยเรื่องของกองทุนหมู่บ้านร่วมกันกับชาวชุมชนท่าสัก เคยทำงานร่วมกันมาแรมปี แกนนำชุมชนที่นี่เข้มแข็งมาก ชาวชุมชนก็น่ารัก ถ้าเราทำที่ท่าสัก เราก็สามารถใช้บริบทชุมชนที่เคยศึกษาไว้ในการทำวิจัยเรื่องกองทุนหมู่บ้านฯ ได้เลย
                “เป็นท่าสักดีไหม?”
                ในภาคเรียนนี้มีนักศึกษาที่เรียนวิชาวิจัยธุรกิจ ซึ่งต้องเรียนรู้กระบวนการ ขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำงานวิจัยตั้งแต่ต้นจนจบ และนักศึกษาก็ร่วมกันลงความคิดเห็นว่า น่าจะทำโครงการวิจัยเพื่อเสริมสร้างในเรื่องของเศรษฐกิจชุมชน มีขั้นตอนหลัก ๆ ก็คือ สำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน ในเรื่องของรายได้ ค่าใช้จ่าย แล้วก็หนี้สินของหมู่บ้านทั้งหมด แล้วก็นำข้อเสนอมานำเสนอให้กับทุก ๆ คน ในชุมชนได้ทราบ โดยข้อมูลที่พวกเราทำการสำรวจครั้งนี้ เราจะทำการวิเคราะห์ ประมวลผลข้อมูลจนเสร็จเรียบร้อย โดยพวกเราจะไม่เอาข้อมูลของชุมชนไปไหนเลย จะมอบข้อมูลตัวเลขทั้งหมดที่ได้ให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ “ชุมชนได้ข้อมูล นักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการทำวิจัย ได้ประสบการณ์”  พี่โย่ง*มีความคิดเห็นว่าอย่างไรครับ 

 

(พี่โย่งพาไปเก็บข้อมูลกรณีตัวอย่างผู้กู้เงินกองทุนฯแล้วนำไปใช้ประโยชน์อย่างได้ผล : โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างการบริหารจัดการที่ดีของกองทุนหมู่บ้านจังหวัดอุตรดิตถ์)
                “ยินดีครับ อาจารย์”
                 “เป็นสิ่งที่ดีมากเพราะผมก็เคยเก็บข้อมูลแล้วแต่ทำไม่สำเร็จเพราะชาวบ้านไม่ค่อยให้ความร่วมมือและมีปัจจัยอีกหลายๆ อย่างที่ทำให้การเก็บข้อมูลไม่สำเร็จ
                นับตั้งแต่วันนั้นก็จัดได้ว่าจุดเริ่มต้นของกระบวนการได้เกิดขึ้นอย่างเป็นและมองถึงผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยวันต่อมาภายในชั้นเรียน ก็ได้แจ้งให้กับทีมวิจัยได้ทราบว่า มีเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เราจะได้ร่วมทำงานวิจัยครั้งนี้กับชาวชุมชน “บ้านท่าสัก”
                “โครงการนี้ก็มีโอกาสอันดีที่เรามีคนเข้ามา”
                โดยคนหรือทีมวิจัยในขณะนั้น ก็เริ่มที่เรียนรู้และทำการศึกษาทบทวน เอกสาร ทฤษฎี วรรณกรรมและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของเรื่อง “ชุมชน” “เศรษฐกิจ” และ “เศรษฐกิจ  ชุมชน”
*พี่โย่ง : นายชูจิตต์ เหมาะประไพพันธ์ เลขานุการกองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 บ้านท่าสัก ตำบลท่าสัก อ.พิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

 

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

ฉันมิใช่ "ครูดี" แต่ฉันเป็นคนมีหัวใจที่ทำเพื่อ "ศิษย์"



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท