ท่าสักไดอารี่ วิจัยชุมชน (5) : เรียนรู้เรื่องกระบวนการเก็บข้อมูลในชุมชน


การเดินเข้าไปในชุมชนไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเดินเข้าไปเพื่อทำงานร่วมกันกับชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนสิยากกว่า,เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมความรู้ เตรียมความสามารถ เตรียมงานของตัวเองให้เรียบร้อย ,ใช้เวลาของชุมชนเป็นที่ตั้ง เวลาทำงาน ไปตามนัด ไม่ควรผิดสัญญากับชาวบ้าน,ทำงานร่วมกันกับเขา ไม่ได้เข้าไปช่วยเขา ไม่ได้เข้าไปสอนเขา เราเข้าไปเพื่อร่วมกันเรียนรู้,นักศึกษาจะต้องเข้าใจผู้อื่น

เรียนรู้เรื่องกระบวนการเก็บข้อมูลในชุมชน
                “การเดินเข้าไปในชุมชนไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเดินเข้าไปเพื่อทำงานร่วมกันกับชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนสิยากกว่า

                 เทคนิคการเข้าสู่ชุมชน จึงเป็นสิ่งที่นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอนหลัก ๆ คือ การเตรียมตัวก่อนที่จะเข้าไปสู่ชุมชน การปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในชุมชน และการออกจาก  ชุมชน

                การลงชุมชนเราจะต้อง “พร้อม” เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมความรู้ เตรียมความสามารถ เตรียมงานของตัวเองให้เรียบร้อย พร้อมที่จะลงชุมชนอย่างสม่ำเสมอ ลงไปอย่างมั่นไป ใช้เวลาของชุมชนเป็นที่ตั้ง เวลาทำงาน ไปตามนัด ไม่ควรผิดสัญญากับชาวบ้าน
                การทำงานอะไร ทำที่ไหน โดยเฉพาะทำกับใคร เป็นสิ่งที่นักศึกษาโดยเฉพาะนักวิจัยแบบมีส่วนร่วมจะต้องเรียนรู้ และเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่
                สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนแรกก็คือ การเตรียมตัวและเตรียมใจของตนเอง อันดับแรกคือ ทำความเข้าใจถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักในการทำงานครั้งนี้
                “วิจัยครั้งนี้ วัตถุประสงค์คืออะไร”
                “เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน”
                “เสริมสร้างอย่างไร”
                “จัดกระบวนการเรียนรู้ให้เขาได้รู้จักตัวของเขาเอง ให้เขาแก้ปัญหาด้วยตนเอง จนนำไปสู่การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนของเขาเอง”
                เป็นคำถามและคำตอบที่จะต้องพูดซ้ำแล้ว ซ้ำอีกในทุกคาบของการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจบทบาทของตัวเองว่า “เราเข้าสู่ชุมชนครั้งนี้เพื่ออะไร”
                เราเข้าไปเพื่อทำงานกับชุมชน ทำงานร่วมกันกับเขา ไม่ได้เข้าไปช่วยเขา ไม่ได้เข้าไปสอนเขา เราเข้าไปเพื่อร่วมกันเรียนรู้ ประโยชน์ที่ได้เกิดจากการเรียนรู้ตามกระบวนการที่ถูกต้องและสมบูรณ์ จะต้องไม่นำสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเข้าไปสู่ชุมชน โดยเฉพาะ “ความรู้” ของเราซึ่งเป็นความรู้จากภายนอก จากหนังสือ ตำรา  แต่เราเข้าไปเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้โดยฐานความรู้และทุนของชุมชน ดังนั้นความรู้ที่เราจะเอาเข้าไปคือ ความรู้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้เท่านั้น ไม่มีการอบรม สอน บรรยาย สั่งการ ชี้แนะ และชี้นำ แต่อย่างใด
                เทคนิคการสนทนาในชุมชน
                การพบชุมชน นักศึกษาจะต้องเรียนรู้เรื่องมนุษยสัมพันธ์  โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ทักษะเรื่องมนุษยสัมพันธ์นั้นคงจะไม่สามารถยึดเอาตามทฤษฎีได้ร้อยทั้งร้อย สิ่งสำคัญ   ที่สุดก็คือ การรู้จักปรับตัวและความยืดหยุ่น นักศึกษาจะต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าสิ่งที่ถูกใจ เรียนรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้ร่ำเรียนมาตั้งแต่จำความได้ บุคลิก ลักษณะนิสัย เขาทำอย่างไร เราทำอย่างนั้น เขาไม่ชอบอะไร เราอย่าทำแบบนั้น
                “คนในเมือง กับคนในชุมชนชนบท ใครที่เมื่อมีคนมาอยู่ใกล้ ๆ แล้วจะรู้สึกอึดอัดมากกว่ากัน?”

                นักศึกษาจะต้องเรียนรู้เรื่องของ “ความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ (Space) ว่าคนที่เราจะต้องเข้าคุยด้วยกัน เขามีความรู้สึกรักในพื้นที่หรือช่องห่างระหว่างคนสองคนที่กำลังคุยกัน หรือทำงานด้วยกัน และโดยเฉพาะคนแปลกหน้า เขาชอบที่จะให้อยู่ใกล้ ๆ หรือรู้สึกอึดอัดเมื่อมีคนมาอยู่ใกล้มาก ๆ นักศึกษาจะต้องเข้าใจผู้อื่น


                คนในชุมชนชนบทส่วนใหญ่ คุ้นชินกับการได้อยู่ในที่โล่ง ในที่กว้าง ดังนั้นเขาจะชินกับการที่อยู่แบบห่าง ๆ กับผู้คนมากกว่าคนในชุมชนเมือง เช่น การนั่งทานข้าวในร้านอาหารโต๊ะเดียวกับคนที่เราไม่รู้สึกในขณะที่โต๊ะอาหารอื่นเต็มหมด “เราจะนั่งดีไหม” คงจะเรื่องที่ตัดสินใจไม่ยากและเป็นภาพปกติเมื่อคนไปนั่งทานข้าวโต๊ะเดียวกันแต่ไม่รู้จักกันถ้าร้านนั้นตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ แต่น้อยนักที่จะเห็นภาพแบบนั้นในร้านอาหารต่างจังหวัด โดยเฉพาะในชุมชนชนบท
                ดังนั้น เวลาที่นักศึกษาเข้าไปสำรวจข้อมูลหรือจัดการสนทนา จะต้องรู้ว่าเราควรจะนั่งอยู่ห่างจากคนที่เราคุยด้วยมากน้อยขนาดไหน นอกจากที่จะต้องดูเรื่องของสภาพพื้นที่โดยรวมรอบ ๆ แล้ว นักศึกษาจะต้องดูเพศ ดูวัย ดูลักษณะนิสัยใจคอ ซึ่งจะต้องอาศัยทักษะ ประสบการณ์ และการสังเกตอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้การสนทนานั้นราบรื่น และเกิดความสบายใจทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

ฉันมิใช่ "ครูดี" แต่ฉันเป็นคนมีหัวใจที่ทำเพื่อ "ศิษย์"

หมายเลขบันทึก: 28647เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท