Palliative Care ปฐมนิเทศน์แพทย์ใช้ทุนใหม่ ๒ : ความรู้สึกกับความคิด


พื้นฐานหนึ่งของการสื่อสาร คือ ความเข้าใจความรู้สึกของตนเองเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น บางครั้งยังไม่ทันคุยกัน แค่เห็นหน้าเราก็รู้สึกพอใจหรือไม่พอใจคู่สนทนาเสียแล้ว ทำนองเคยทำเวรทำกรรมกันมาแต่ชาติปางก่อน และเมื่อได้พูดคุย คำพูดของทั้งสองฝ่ายต่างก็มีผลต่อความรู้สึกของอีกฝ่าย ซึ่งนำไปสู่รูปแบบของการสื่อสารและการกระทำต่อไป ที่เป็นได้ทั้งราบรื่นละตรงกันข้าม

ถ้าเราตามความรู้สึกของตนเองทัน เช่น รู้ว่าตนเองกำลังโกรธ ของขึ้น ย่อมมีโอกาสระงับคำพูดหรือกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมของตนเองได้ง่ายกว่าคนที่ไม่รู้ตัว ทักษะนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแพทย์ที่ต้องทำงานในภาวะที่มีความเครียดสูง

หลายครั้งเวลาผมจัดอบรมหรือพูดถึงเรื่องนี้ นักศึกษาหรือแพทย์บางคนจะไม่สามารถบอกความรู้สึกของตนเองได้ เช่น เมื่อฉายภาพยนตร์ให้ดู แล้วผมถามว่ารู้สึกอย่างไร บางคนจะบอกว่า ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ต้นทุนต่ำ ซึ่งความจริงนั่นเป็นความคิดของเขา ไม่ใช่ ความรู้สึก ความคิดที่เกิดจากการวิเคราะห์ ความรู้และประสบการณ์ของตนเอง เพียงแต่เขาใช้คำว่า รู้สึก นำหน้าเท่านั้น เขายังไม่สามารถบอกออกมาได้ว่า เขารู้สึกชอบ เซ็งหรือเบื่อเวลาดูหนังนั้น เพราะความเคยชินที่จะใช้สมองซีกซ้ายในการคิดวิเคราะห์ มากกว่าใช้สมองซีกขวาตามความรู้สึกของตนเอง

ครั้งนี้ผมจึงเริ่มการอบรมแพทย์ใช้ทุนปี ๑ สำหรับช่วง palliative care โดยแบ่งน้องหมอออกเป็น ๓ กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันหาคำที่บ่งบอกความรู้สึกของตนเองแล้วเขียนลงบนกระดาษให้ได้มากที่สุด ในเวลาที่กำหนดให้ ๓ นาที โดยมีข้อแม้ว่า ห้ามใช้คำตรงข้ามโดยการเติมคำว่า ไม่ เช่น ชอบ ไม่ชอบ ให้นับได้ ๑ คำ


กลุ่มที่ช่วยกันได้มากที่สุด ได้ถึง ๔๐ คำ

ตัวอย่าง
คำพื้นๆ เช่น  ดีใจ เสียใจ ชอบใจ เกลียด โกรธ เครียด สงสาร อิจฉา
คำหวือหวา เช่น โหยหา หื่น เงี่ยน
และอื่นๆอีกมากมาย


คำบางคำค่อนข้างคลุมเครือเป็นคำกิริยามากกว่าความรู้สึก  เช่น หลง อิ่ม เพลีย หิว ผมก็ให้กลุ่มนั้นอธิบายว่า มันเป็นความรู้สึกตรงไหน ถ้าไม่สามารถพูดโน้มน้าวให้กลุ่มอื่นเชื่อได้ว่านั่นเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง ก็ต้องถูกตัดออกไป

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ขนาดน้องหมอซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย กลับมีคำวัยรุ่นค่อนข้างน้อย
กลุ่มใหญ่จึงช่วยกันคิดเพิ่มได้มาอีกหลายคำ เช่น นอย เซ็งเป็ด วีน กิลต์ สะมูอี


ผมปิดท้ายช่วงนี้ โดยบอกให้ทุกคนจำคำเหล่านี้ไว้ เพื่อที่จะใช้บ่งบอกความรู้สึกของตนเองได้ในช่วงต่อไป

หมายเลขบันทึก: 254987เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2009 06:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท