ฉวยโอกาสทำ advance care plan ตอนนี้กันดีกว่า ๒: โรงพยาบาลทำอย่างไร


บันทึกนี้เกี่ยวข้องกับ การเตรียมตัวของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อ อำนวยความสะดวก ให้ผู้มีความประสงค์จะทำหนังสือแสดงเจตนาฯ​ตามบันทึกก่อนหน้า นะครับ

แรกสุด คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลก็แต่งตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ โดยมีผมเป็นประธาน ผมก็รวบรวมคนที่คาดว่าจะเกี่ยวข้อง จากหน่วย palliative care คืออาจาร์สกล ขาประจำ น้องแย คุณสุณี พยาบาลของหน่วย งานสิทธิประโยชน์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานเวชระเบียน แล้วก็พ่วงนิติกรมาด้วย เผื่อมีข้อกฏหมายที่อ่านไม่รู้เรื่อง

เราคุยกันหลายครั้งเรื่องแนวทางดำเนินการ โดยสรุปก็คือ

- จะไม่ประชาสัมพันธ์เชิงรุกกับคนไข้ แบบ ..พอคนไข้เดินเข้ามาในโรงพยาบาลปุ๊บ ก็จะมี PR สาวสวยเดินเข้าไปประกบปั๊บ แล้วถามว่า รู้จักสิทธิปฏิเสธการรักษาฯมั้ย ถ้าไม่รู้..สนใจจะทำมั้ย  หรือให้หมอมาดเข้มยื่นแบบฟอร์มคล้ายๆแบบฟอร์มยินยอมการรักษา (แต่ฉบับนี้ตรงข้าม) แล้วบอกว่า มาโรงพยาบาลนี้ต้องเขียนหนังสือแสดงเจตนาฯไว้ก่อนทุกคน  ทำแบบนี้มีหวังคนไข้ค้อนใส่ตาเขียวปัด ..ตั้งใจจะมารักษา หวังฝากผีฝากไข้ แต่ดันมาถามชวนให้ทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษา นี่มันจะแช่งกันรึเปล่า เอ..ไอ้โรงพยาบาลนี้มันทำท่าจะไม่รักษาเราเต็มที่หรือเปล่า   ...คิดได้สารพัด

 เราคิดว่าการประชาสัมพันธ์เชิงรุกแบบนี้ น่าจะเป็นบทบาทคนอื่น เช่น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นต้นเรื่องของกฏหมายฉบับนี้ ไม่ใช่บทบาทของโรงพยาบาลรัฐ ที่เสี่ยงต่อข้อครหา..ทิ้งคนไข้

แต่เราจะแอบวางแผ่นพับให้ความรู้สำหรับประชาชนที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดทำขึ้นไว้ตามจุดต่างๆ ถ้ามีคนอ่านแล้วสนใจ เขาจะเป็นคนเดินมาถามเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเอง

 

- เตรียมบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเพื่ออำนวยความสะดวก ให้คนไข้หรือผู้ประสงค์จะทำหนังสือแสดงเจตนาฯ

การเตรียมบุคลากรไว้รองรับเหตุการณ์ เป็นจุดที่คณะกรรมการให้ความสำคัญมากกว่า แต่เราก็รู้ว่า โอกาสที่จะมีคนสนใจอยากจะทำเองเช่นนั้นเกิดน้อยมาก ก็ขนาดสหรัฐอเมริกาที่มีทั้งกฏหมาย มีทั้งแนวทางกำหนดไว้ให้ทำ ก็มีคนทำเรื่องนี้เป็นเอกสารแค่ ๕ -๒๕​% เท่านั้น

แล้วทำไมถึงทำเป็นตื่นเต้นกันนักเล่า ถ้าคนทำไม่มาก

ก็เพราะเราถือเป็นโอกาสทอง ที่จะประชาสัมพันธ์เรื่อง advance care plann ตามบันทึกที่แล้วต่างหาก เพราะนั่นคือเรื่องที่สำคัญมากกว่า และเป็นหัวใจสำคัญของ palliative care เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ถูกกำหนดเอาไว้ว่า ถ้าทำ palliative care ต้องมีเรื่องนี้ นั่นคือ การมีส่วนร่วมของคนไข้และครอบครัวในการตัดสินใจเรื่องการดูแลรักษาต่างๆ

พูดง่ายๆ คือ เราไม่ได้ทำเพื่อกฏหมาย แต่ใช้กฏหมายฉบับนี้มาช่วยงานของเรา


เราเตรียมบุคลากรอย่างไร

- เผยแพร่ให้ความรู้เรื่องกฏหมายฉบับนี้ โดยเชิญตัวจริงเสียงจริง คนร่างกฏหมายฉบับนี้ ท่านศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส มาบรรยายแบบครึ่งวันเนื้อๆ ชนิดถามตอบข้อข้องใจกันเต็มอิ่ม ซึ่งก็จัดไปแล้วในวันที่ ๗ เมษายนที่ผ่านมา อ่านรายละเอียดได้ในบันทึกถัดไป

หลังการบรรยาย ผมตั้งใจจะหักมุม ถือโอกาสใช้สิทธิการเป็นผู้จัดเชิญชวนผู้เข้าฟังการบรรยาย ให้หันมาให้ความสนใจเรื่องของเรา คือ advance care plan แบบขอพลอยเกาะกระแส

- จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้บุคลากรของโรงพยาบาล มีทักษะการสื่อสารเรื่อง advance care plan ทำกันแบบกลุ่มเล็กๆไม่เกิน ๔๐ คน จัดเดือนละครั้ง ได้ฝึกกันจริงๆ อันนี้ก็เริ่มจัดครั้งแรกไปแล้ว เมื่อ ๒๘ ​เมษายน ที่ผ่านมา อ่านรายละเอียดได้ในบันทึกถัดไปเช่นกัน

- จัดทำแบบฟอร์มหนังสือแสดงเจตนาฯตัวอย่างฉบับของโรงพยาบาล และแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากร ๒ เรื่อง คือ เมื่อคนไข้อยากทำแล้วมาถาม กับ เมื่อคนไข้เอาหนังสือฯมายื่นให้ ซึ่งก็จัดทำเรียบร้อย ผ่านการรับรองโดยคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลไปแล้ว เมื่อ ๒๕ เมษายน ที่ผ่านมา

หมายเลขบันทึก: 438502เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 07:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท