ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

สังคมแห่งสันติวิธีภายใต้วิถีแห่งสามัคคีธรรม


“หลักการสามัคคี” เป็นพื้นฐานของแนวคิดที่ว่าด้วยการอยู่กันในสังคมที่มีพลานุภาพอย่างมาก เพราะว่ากระบวนการสันติวิธีจะ “ไร้ความหมาย” และ “ไร้ผลในเชิงปฏิบัติการ” อย่างสิ้นเชิง หากคู่กรณี หรือสังคมเป็นสังคมที่ “ไร้พลังของสามัคคี” ที่เป็นเช่นนี้เพราะพลังสามัคคีเป็น “ตัวแปร” และ “องค์ประกอบ” ที่สำคัญในการผลักดันกระบวนการ “สังคมแห่งความไร้ระเบียบ ความโกลาหลและยุ่งเหยิง” ไปสู่ “สังคมแห่งสันติ”

สังคมแห่งสันติวิธีภายใต้วิถีแห่งสามัคคีธรรม
โดย
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร.
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
+++++++++++++++++++

             จากบทความเรื่อง "ความยุติธรรมไม่มา ความสามัคคีจึงไม่เกิด" ใน http://gotoknow.org/blog/peaceful-means/362613 ผู้เขียนได้กล่าวถึง "ความสามัคคี" เอาไว้พอสมควร หากแต่เป็นแนวคิดของนักคิดที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย แต่ไม่ได้กล่าวถึงหลักการใน "พระพุทธศาสนา" เท่าที่ควรจะเป็น ฉะนั้น จึงถือโอกาสนี้อธิบายถึงความสามัคคีในมิติของพระพุทธศาสนาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

              คำถามมีว่า เพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าจึงเพียรพยายามที่จะสร้างสังคมสงฆ์ หรือสังคมทั่วไปให้ดำรงอยู่บนบาทฐานของ “สังคมแห่งสามัคคีธรรม”  โดยเฉพาะการเน้นให้เห็นว่า สังคมที่พึงปรารถนาคือ “สังคมแห่งความพร้อมเพรียง”  ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงตรัสย้ำว่า “ความพร้อมเพียงแห่งหมู่คณะ นำความสุขมาให้”[1] และนำเสนอหลักการนี้ผ่านหมวดธรรมต่างๆ เช่น ย้ำเน้นให้คุณค่าค่าของความพร้อมเพียงในการประชุมเพื่อแบ่งปันความคิด และปรึกษาหารือกันตามหลักอปริหานิยธรรม  และการคิด การใช้คำพูด และแสดงออกต่อกันในเชิงบวกที่ก่อให้เกิดการระลึกนึกถึงกันของคนในสังคมตามหลักสาราณียธรรม

             เมื่อกล่าวถึงหลักสามัคคีธรรม  คำว่า “สามัคคี”[2] หมายถึง “ความพร้อมเพรียงทั้งในเชิงกายภาพที่แสดงผ่านกิจกรรมต่างๆ  และจิตภาพที่แฝงตัวอยู่ภายในใจของคนหรือกลุ่มคนต่างๆ” ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญว่า “ธรรมอย่างหนึ่ง   เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก  เพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก  เกิดขึ้นเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”[3]    “ธรรมอย่างหนึ่ง” ดังกล่าวก็คือ “ความสามัคคี”  

             จะเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่พระสงฆ์เกิดความพร้อมเพรียงกัน  ชื่นชม ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำกลมกลืนกับน้ำนมมองดูกันและกันด้วยสายตาที่รักกันอยู่[4] การบาดหมางกัน การข่มขู่กัน การขับไล่กัน ย่อมไม่เกิดขึ้น อีกทั้งทำให้ประชาชนที่ยังไม่เลื่อมใสย่อมเลื่อมใส ส่วนผู้ที่เลื่อมใสแล้วก็จะเลื่อมใสกันมากยิ่งขึ้น[5]  ฉะนั้น การแสดงออกถึงความสามัคคีนั้น พระพุทธเจ้าจึงมุ่งเน้นทั้งทางกาย วาจา และจิตใจของคน หรือกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งต้องประสมกลมเกลียวกันทั้งสามมิติดังเช่นพระองค์ได้อุปมาว่า ประดุจแม่มองนัยน์ตาบุตร หรือบุตรมองนัยน์ตาแม่

             จากนัยข้างต้นพบว่า พระพุทธเจ้าได้  “ยืนยันคุณสมบัติ” ของ “ความสามัคคี” ว่า ถ้าหากสังคมใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสังคมสงฆ์ หรือสงฆ์คฤหัสถ์ก็ตาม เมื่อตั้งมั่นอยู่ใน “ป้อมสามัคคี” ดังกล่าว  ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะใครจะโจมตี หรือทำลายได้  นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ใน “ป้อม” ได้รับคุณประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ “ชุมชน”  หรือ “หมู่คณะ” ดังที่พระองค์ได้สรุปว่า “ความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์นำสุขมาให้”[6]

             อย่างไรก็ตาม “หลักการสามัคคี” เป็นพื้นฐานของแนวคิดที่ว่าด้วยการอยู่กันในสังคมที่มีพลานุภาพอย่างมาก  เพราะว่ากระบวนการสันติวิธีจะ “ไร้ความหมาย” และ “ไร้ผลในเชิงปฏิบัติการ” อย่างสิ้นเชิง  หากคู่กรณี หรือสังคมเป็นสังคมที่ “ไร้พลังของสามัคคี” ที่เป็นเช่นนี้เพราะพลังสามัคคีเป็น “ตัวแปร” และ “องค์ประกอบ” ที่สำคัญในการผลักดันกระบวนการ “สังคมแห่งความไร้ระเบียบ ความโกลาหลและยุ่งเหยิง” ไปสู่ “สังคมแห่งสันติ”

             พระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของการใช้แนวคิดสามัคคีประสานพระภิกษุที่มีความแตกต่างในแง่ของ “วรรณะ”  “ลัทธิ” และ “ความคิด” ให้เกิดเป็น “สังคมสงฆ์” ขึ้นมา  และครั้งใดที่เกิดขึ้นวิกฤติการณ์ต่างๆ อันก่อให้เกิดความแตกแยก  พระองค์ใช้หลักการนี้เข้าไปเป็น “ตัวเชื่อม” อยู่เสมอ  ไม่ว่าจะเป็นกรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับการตีความพระวินัยตามที่ปรากฏใน “โกสัมพีศึกษา”  และ “กรณีสงครามน้ำ” ก็เช่นเดียวกัน  พบว่า การนำเสนอพระสูตรที่บรรจุด้วยหลักการและแนวคิดเพื่อโน้มน้าวให้พระภิกษุเกิดความสมานฉันท์กันนั้น ก็มักจะสอดรับกันในสองพระสูตรดังกล่าว

             ดังจะเห็นได้จากกรณีของนำเสนอ “วัฏฏกชาดก” มาเป็นอุทาหรณ์สอนใจพระภิกษุชาวโกสัมพี และพระญาติทั้งสองฝ่ายของพระองค์ โดยชี้ให้เราได้เห็นถึงความหายนะที่จะเกิดขึ้น จากการแตกความสามัคคีกัน “เมื่อฝูงนกกระจาบพร้อมเพรียงกันอยู่  นายพรานก็ไม่อาจหาช่องทำร้ายได้  ต่อเมื่อใดฝูงนกกระจาบเกิดการแก่งแย่งขึ้น  เมื่อนั้น  บุตรนายพรานคนหนึ่งจึงทำลายเอา       นกกระจาบเหล่านั้นไปเสีย  ขึ้นชื่อว่า ความหายใจคล่องในการทะเลาะวิวาทย่อมไม่มีเลย”[7]

             อย่างไรก็ตาม การนำเสนอ “ชาดก” ในเชิงบุคคลาธิษฐาน และธรรมาธิษฐานนั้น แม้จะมีความแตกต่างกันในแง่ของ “ชาดก”  แต่สอดคล้องกันเกี่ยวกับ “หัวใจ” ของคำสอน ดังจะเห็นได้จากการใช้  “ลฏุกิกชาดก”[8]  เตือนสติพระภิกษุเมืองโกสัมพี  และนำเสนอ “รุกขธรรมชาดก”[9] เตือนสติหมู่ญาติ “สารัตถะ” ของชาดกทั้งสองก็ยังพุ่งตรงไปที่ “ความสามัคคี” เช่นเดิม

             จะเห็นว่า “หลักการสามัคคี” ในพระพุทธศาสนานี้เป็นประเด็นที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญอย่างมาก  ดังจะเห็นได้จากหลักฐานต่างๆ ที่ชี้ให้เราได้ประจักษ์แล้วข้างต้น   ฉะนั้น  หลักการนี้ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้พระพุทธเจ้าได้วางเป็นหลักการ หรือเป็นเป้าหมายสำคัญที่ปรารถนาจะเห็นสังคมของพระสงฆ์ หรือชุมชนต่างๆ อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 


                      [1] สุขา สังฆัสสะ สามัคคี

                      [2] “สามัคคีตามที่ปรากฏในพระบาลีมี ๓ ประเภท คือ คณสามัคคี ธัมมสามัคคี และอนภินิพพัตติสามัคคี”  ดูรายเพิ่มเติมใน  ขุ.ม. (บาลี) ๒๙/๔๕/๑๐๙-๑๑๐,  ขุ.ม. (ไทย) ๒๙/๔๕/๑๕๙-๑๖๐.

                      [3] ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๑๙/๒๔๓. ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๑๙/๓๖๒.  

                      [4] “พหู เจปิ  ภิกฺขู  สมคฺคา  สมฺโมทมานา  อวิวทมานา  ชีโรทกีภูตา อญฺญมญฺญํ  ปิยจกฺขูหิ  สมฺปสฺสนฺตา  วิหรนฺติ, อยํ คณสามคฺคี”   ขุ.ม. (บาลี) ๒๙/๔๕/๑๐๙, ขุ.ม. (ไทย) ๒๙/๔๕/๑๕๙.

                      [5] ขุ.ธ.  (บาลี) ๒๕/๑๙/๒๔๓, ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๑๙/๓๖๓.

                      [6]ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๑๙/๒๔๓. ดูเทียบใน  ขุ.ธ. (บาลี) ๒๕/๑๙๔/๕๑.

                      [7] มหามกุฏราชวิทยาลัย, ขุททกนิกาย  เอกนิบาตชาดก  เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒, หน้า ๔๔๕-๔๕๐.

                      [8] นางนกไส้ อาศัยการทะเลาะกัน  ยังอาจทำให้พระยาช้างถึงความสิ้นชีวิต

                      [9] “มหาบพิตรทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายได้นามว่าเป็นญาติกัน  ควรจะสมัครสมานสามัคคีร่วมใจกัน  เพราะว่า  เมื่อญาติทั้งหลายยังสามัคคีกันอยู่  หมู่ปัจจามิตร (ข้าศึก) ย่อมไม่มีโอกาส อุปมาเหมือนกับลมพายุไม่สามารถที่จะทำลายป่ารังที่เกาะประสานกันอยู่เป็นกลุ่มเดียวกันได้  แต่ลมสามารถพัดพาต้นไม้ใหญ่ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวให้ล้มลงได้”  ดูเพิ่มเติมที่ มหามกุฏราชวิทยาลัย, ขุททกนิกาย  เอกนิบาตชาดก  เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่  ๔,  (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๒๐๐.

หมายเลขบันทึก: 362946เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2010 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • ตามมาอ่านครับ
  • อันนี้เป็นคำขวัญโรงเรียนผมที่กาญจนบุรี
  • สมัยเรียนมัธยมศึกษาเลยครับ
  • สุขา สังฆัสสะ สามัคคี

อาจารย์ ดร.ขจิต

อนุโมทนาขอบคุณอย่างยิ่งที่แวะมาเยี่ยม จากคำขวัญของโรงเรียนที่ดร.พูดถึงนั้น อาตมาได้แต่ภาวนาว่า "นักเรียน และคุณครูในโรงเรียน" ดังกล่าวจะได้รับผลจากคุณธรรมดังกล่าว และตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ตัวของดร.ขจิตเอง บอกได้คำเดียวว่า ใครได้คบ และอยู่ใกล้แล้ว จะติดใจไปอีกนาน

ด้วยสาราณียธรรม

นมัสการพระคุณเจ้า

กราบขอบพระคุณสำหรับคำสอนและตัวอย่างของความสามัคคี  หากคนเรามีความสามัคคีกัน ความเป็นเราเป็นเขาก็คงลดน้อยลงนะคะ

มากราบนิมนต์พระคุณเจ้าไปค่ายฯ เจ้าค่ะ

เป็นบทความที่ผมประทับใจ

แต่ก่อนผมรับผิดชอบโครงประชาธิปไตยในโรงเรียน จะเน้น คารวะธรรม สามัคคีธรรม ปัญญาธรรม ขอรับ

ขอบคุณครูคิม

ไปที่ไหน เมื่อไร รบกวนแจ้งด้วยจ๊ะ เพราะวันที่ 20 เดือนนี้อาตมาต้องเดินทางหายไปจากประเทศไทยหลายวัน หวังว่าจะได้มีโอกาสพบกัลยาณมิตรอีก

ด้วยสาราณียธรรม

นมัสการเจ้าค่ะพระคุณเจ้า

พวกเราตั้งใจจะเรียนนิมนต์พระคุณเจ้า ๒ แห่งเจ้าค่ะที่ค่ายนี้ขอเชิญทุกท่านร่วมติดตามและเป็นส่วนหนึ่งของค่ายจิตอาสา : ค่ายไร้กรอบแต่ไม่ไร้ใจ GotoKnow จัดให้ ผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุน ครั้งที่ ๓ วันที่ ๔- ๗ มิถุนายน  และวันที่ ๙-๑๒ ที่ดอยมูเซอ  จังหวัดตากของน้องหนานเกียรติ  เจ้าค่ะ

แต่หากพระคุณเจ้าไม่สะดวกก็ไม่เป็นไรเจ้าค่ะ  มีเอะไรก็ต้องมาบอกกล่าวพระคุณเจ้าเสมอ  กราบขอบพระคุณอย่างสูงเจ้าค่ะ

๙-๑๒ ที่ดอยมูเซอ เดือนกรกฏาคม เจ้าค่ะ

พี่ครูคิม

ขอบคุณและ รับทราบ และพร้อมที่จะดำเนินการ แต่ขออนุญาติเช็ควันและวันเวลาก่อนน่ะ เพราะเทอมนี้ ต้องสอนทั้งป.ตรี โท และเอก จะรีบแจ้งให้พี่ครูคิมทราบ เมื่อเห็นตารางการสอน

ด้วยสาราณียธรรม

กราบนมัสการ...พระคุณเจ้า

ตะหน่อง...(อุดมเภสัชฯศิลปากร) ได้ลองเข้ามาแวะเยี่ยมบล๊อกท่านหน่อย

พอดีได้ถูกเรียกให้ทดสอบสอนในวันที่ 10 มิ.ย. นี้ ที่ วิทยาลัยแห่งหนึ่งจังหวัดหนองบัวลำภู

สอนสังคมศึกษา

อยากจะเรียนถามพระคุณเจ้าว่า

ในช่วงนี้...เรื่องใดเหมาะสำหรับการสอบสอน..และควรเริ่มต้นยังไง

เพราะทำงานสายสนับสนุนมาเสียนานก็เลย...ลืมครับ

กราบนมัสการครับ..โปรดชี้แนะพระคุณเจ้าผู้มากด้วยประสบการณ์และคุณธรรม

"ตะหน่อง" เองครับ ศิษย์พุทธศาสนศึกษาธรรมศาสตร์

ตะหน่อง

ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่มีเรื่องใดที่น่าพูดคุย นอกจากเรื่อง "การคืนสู่วัฒนธรรมอีสาน: จิตวิญญาณแห่งการลงแขก" การพูดถึงวิญญาณของเรื่องนี้ น่าจะทำให้เราหวนคู่ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เหินห่างและหายไปจากบ้านเรา

ด้วยสาราณียธรรม

กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ ดร.เป็นอย่างยิ่ง

กระผมจะลองนำไปประยุกต์การสอบครั้งนี้ ดู แต่ขอแจ้งท่านไว้ก่อนนะว่าจะนำเรื่อง "สันติวิธี" แนวพุทธของท่านไปนำเสนอเท่าที่ปรากฏในบทความทางวิชาการของท่าน ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ จักนำเสนอการลงแขกที่พระคุณเจ้าแนะนำ..ส่วนจะเตียมตัวทันหรือป่าวยังไม่ทราบต้องเดินทางคืนนี้ครับ

กราบขอบพระคุณและนมัสการอย่างสูง

ตะหน่อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท