จิตตปัญญาเวชศึกษา 8: Open Mind, Open Heart, Open Will


Open Mind, Open Heart, Open Will

จากหนังสือเรื่อง Theory U ของ Otto Scharmer ได้มีการพูดถึงการเรียนรู้ที่แตกต่างจากวิธีเก่าๆในอดีต เพราะความจำเป็น ณ ปัจจุบัน และในอนาคตไว้น่าสนใจ

 

   

 

ในอดีตนั้น เราเรียนของที่เกิดขึ้นมาแล้ว เรียนรู้ และเพื่อจะนำไปใช้สำหรับของที่กำลังเกิดอยู่ หรือจะเกิดในอนาคต ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากพอสมควร แต่ ณ ปรัตยุบันกาล ปรากฏว่า "อนาคต" นั้น เริ่มมี "ความต่าง" จากอดีตมากขึ้น

และบางครั้งมากจนวิธีเก่าๆที่เคยใช้ได้นั้น ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

คนที่อ่านวารสารการแพทย์บ่อยๆ อาจจะสังเกตพบว่าเดี๋ยวนี้ มันมีอะไรที่ break-through เกิดขึ้นในอัตราที่สูงมาก แต่ก่อนหัวข้อTOPIC  สำคัญๆ มักจะมี review กัน ทุกสองสามปี หรืออย่างมากปีละครั้ง ปรากฏว่าเรื่องบางเรื่องในขณะนี้ มีการ review ทุก 6 เดือนก็มี และไม่ใช่เพราะสำนักพิมพ์อยากทำ แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "ความจำเป็นต้องทำ" เนื่องจากมีการขยับองค์ความรู้ใน scale ที่ใหญ่

Otto Scharmer จึงได้เสนอวิธีการเรียนรู้ที่ชี้นำของ "อนาคต" ณ ขณะที่กำลังจะเกิด แทน (Leading from the Future as It Emerges)

ถ้าจะเปรียบเป็นการศึกษาศิลปินกำลังระบายรูปบนผืนผ้าใบ ในอดีต เรามีการนำเอาผลงานมาศึกษาโดยละเอียด ฝีแปรง พู่กัน น้ำ น้ำมัน ชอล์ก การให้แสง การให้ความหมาย นี่เป็นการเรียน What did he do?

ต่อมาเริ่มมีการศึกษาขณะที่ศิลปินกำลังทำงาน ศึกษาการใช้เครื่องมือ ศึกษาการลงน้ำหนัก การลงสี การเลือก การทำ นี่กลายเป็นการเรียน How did he do it?

แต่เมื่อถามว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจ อะไรเป็น "ที่มา" ของงานชิ้นนี้ หาคนตอบได้น้อยมาก

เสมือนกับการศึกษาว่า ณ ค่อหน้าผืนผ้าใบอันว่างเปล่านั้น อะไรเกิดขึ้นภายในสมอง ภายในหัวใจ ภายในตัวตนของจิตรกร จึงได้บันดาลใจ สร้างสรรค์ ผลงานออกมาได้

การทำความเข้าใจ ที่มา หรือ The Source นี่เอง ที่ Otto คิดว่าจะเป็นคำตอบของการเรียนรู้จากอนาคต ณ จุดกำเนิดเริ่มต้นได้

และสาเหตุทั้งหมดที่เราเรียนรู้ พัฒนาตนเอง ก็เพราะเรามีชีวิต และอยู่ในสังคมนั่นเอง

ไมเคิล เมนดิสซา และ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ (Michael Mendizza and Joseph Chilton Pearce) เขียนไว้ในหนังสือ Magical Parent, Magical Child ว่า "สิ่งทั้งหมดที่เราเรียนรู้ ตลอดทั้งชีวิตนั้น เราเรียนรู้ผ่าน "การสอนในชั้นเรียน" แค่ 5% เท่านั้น และใน 5% ที่เราเรียนรู้นี้ มีเพียง 5% ที่เราจะจำได้ และนำไปใช้ต่อในช่วงชีวิตทีเหลืออยู่"

   

 

Joseph Chilton Pearce

 

Michael Mendizza

สิ่งที่เราทำ ปฏิบัติ ที่เหลือนั้น มาจากการเรียนรู้ทางการปฏิบัติ การทำจริง บริบทจริง การเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม เรียนรู้จากขณะจิตที่ผ่านไปตอนกระทำ

อะไรที่เราเรียน แต่ไม่ได้เอามาปฏิบัติ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของเราเลย ก็จะถูกคัดเลือกให้ลืมเลือน หรือเอาไปไว้ในที่ไม่ค่อยได้ใช้ ของที่จำเป็น ใช้บ่อยๆก็จะถูกเก็บไว้ในที่ที่เรียกใช้ง่าย

Open Mind จิตตื่นรู้

หรือ Awaken Mind การเรียนรู้ที่เปิดรับเต็มที่ เป็นการเรียนที่ผสมผสาน แทรกซึมเข้าไปในตัวตน ณ ขณะที่จิตใจผ่อนคลาย ปลอดภัย และกระตือรือร้นที่จะเรียน ถ้าตามที่ Bruce Lipton บรรยายไว้ในหนังสือเรื่อง Biology of Belief ก็จะหมายถึง normal mode หรือ mode ปกติของเซลล์นั้นเอง ที่จะทำหน้าที่ 4 อย่างได้เต็มที่ คือ เติบโต ซ่อมแซม สื่อสาร และเรียนรู้

แต่มีเรื่องบางเรื่อง เราเรียนรู้แล้วก็จริง เราไม่ได้นำไปปฏิบัติ ทำคนละอย่างกับที่เรียนรู้ หรือที่ตนเองทราบ เช่น หมอเรียนรู้เรื่องการออกกำลังกาย ประโยชน์ การกินอาหารที่เป็นประโยชน์ ฯลฯ แต่บางคนก็ไม่ได้นำมาใช้เลยในชีวิตประจำวัน ความรู้ที่มีกับพฤติกรรม ไม่สอดคล้องกัน เป็นเพราะเหตุใด?

Open Heart จิตกระจ่าง

เรื่องบางเรื่อง เราเรียนรู้ในระดับสติปัญญา หรือ intellectual แต่ไม่ได้ "โดนใจ" ไม่ได้ไปสัมผัสกับ "คุณค่าของตัวตนที่แท้จริง" ของคนๆนั้น กิจกรรมที่ดูเหมือนจะมีค่า มีประโยชน์ก็จริง แต่ถูกจัดลำดับความสำคัญไว้หลังกิจกรรมอื่นๆ กิจกรรมที่ทำก่อนนั้น อาจจะไม่ได้เป็นเพราะ "เหตุผล" เหนือกว่า แต่เป็นการบูรณาการระหว่างเหตุผล ความนึกคิด กับ "อารมณ์ ความรู้สึก" ที่หล่อหลอมมานานตั้งแต่การเติบโต การเลี้ยงดู ความเชื่อ การเรียนรู้ ฯลฯ มาตลอดทั้งชีวิตนั่นเอง

เราจึงเลือกเรื่องที่ โดนใจ มาทำก่อน เลือกเรื่องที่ น่าทำ มาทำก่อนเรื่องที่ควรทำ หรือแม้แต่บางครั้งก่อนเรื่องที่ต้องทำ

ถึงกระนั้นก็ตาม เรื่องสำคัญหลายเรื่อง ที่ทั้งความรู้สติปัญญาเราบอกว่าควรทำ ต้องทำ และอารมณ์ของเราก็บอกว่าน่าทำ เราก็ยังไม่ทำ เพราะเหตุใด?

Open Will เจตน์จำนงค์ มุ่งมั่น

ในการเรียนรู้วิถีแบบเก่านั้น เราจะพยายามทุกวิถีทางที่จะพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าไว้ก่อน รู้ว่าอะไรจะเกิด หรืออาจจะเกิด แล้วเราก็จะวางแผนรับสถานการณ์เหล่านั้นให้หมด จึงจะวางใจ เบาใจ แล้วค่อยกระทำ เป็นการเรียนรู้วิธีในอดีต มาเพื่อปรับใช้ หวังว่าใช้กับสถานการณ์ในอนาคตแล้วมันจะ work ด้วย

เรื่องบางเรื่อง ทำมาก็หลายครั้ง แก้ปัญหามาก็หลายปี ซ้ำซาก เราก็ยังใช้วิธีเก่าๆ ยังใช้ระบบความคิดแบบเทปม้วนเก่า หรือภาษาที่ Otto Scharmer ใช้ก็คือ downloading เพราะอะไรที่เรา download มา มันก็จะเหมือนกับของเดิมทุกประการ เป็น reflex เหมือน knee-jerk reaction น่าประหลาดที่เรใช้วิธีเก่า ที่ไม่ work มาแก้ปัญหาเดิมซ้ำๆซากๆ อยู่ร่ำไป

นี่เป็นเพราะเราขาดความกล้าหาญ ที่จะทำอะไรสักอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ที่ไม่ทราบผลล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร หรือไม่?

ความกล้าหาญ หรือ เจตน์จำนงค์ ความมุ่งมั่น หรือ WILL นี้สำคัญมากที่จะทำให้คน "ก้าวกระโดดทะลุกำแพง" เพื่อแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ปัญหาที่ยังไม่เคยถูกแก้อย่างเหมาะสมมาก่อน

ตามทฤษฎีเรียนรู้ของ Rudolf Steiner ผู้ก่อตั้งโรงเรียน Waldolf ได้แบ่งฐานการเรียนรู้ออกเป็นสามขั้นตอน ขั้นตอนแรก ตอนเราอายุ 1-7 ปี จะเป็นฐานความมุ่งมั่น หรือ will นี่เอง ถ้าเราสังเกตเด็กๆเรียนรู้ จะพบว่าเด็กเรียนรู้อย่างบริสุทธิ์ 100% เรียนแบบ "ทั้งตัว" เลยก็ว่าได้ แต่ถ้าเด็กๆ ถูกยับยั้งการเรียนแบบทุ่มเท เรียนแบบอยู่ใน ความรู้สึกปลอดภัย เขาก็จะสูญเสียเจตน์จำนงค์ ความมุ่งมั่นไป

 

Moral Courage หรือ ความกล้าทางคุณธรรม นั้น คนเราได้ทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่เพราะว่ารู้ผลลัพธ์ล่วงหน้า แต่เป็นเพราะมั่นใจว่าเป็น สิ่งที่พึงกระทำ เป็นมงคลที่จะทำ ควรแล้วที่จะทำ นี่จึงเป็นความกล้าหาญทางคุณธรรมที่แท้จริง 

 

ดังนั้น ด่านสุดท้ายนี้สำคัญและต้องการพัฒนาอย่างจริงจัง มีเรื่องสำคัญๆหลายเรื่องเกิดขึ้น บางเรื่องควรทำ บางเรื่องยังไม่ควรทำ แต่จะมีบางเรื่องที่สำคัญจริงๆ ขนาดที่ว่า ไม่ทำไม่ได้แล้ว I cannot not do this ตรงนี้จะต้องใช้ เจตน์จำนงค์ ความมุ่งมั่น การมีศรัทธาในสิ่งที่เรารู้ เราศึกษาใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างเนิ่นนาน แล้วก็ทำ

สมดุลของ จิตตื่นรู้ ใจกระจ่าง และเจตน์จำนงค์ (Open Mind, Open Heart, Open Will) ก็มีความสำคัญ ถ้าเราใช้สติปัญญาความรอบรู้เพียงอย่างเดียว ไม่ใช้ใจ หรือไม่ได้มีใจ เราก็จะขาด conviction ขาดความเชื่อในสิ่งที่เราทำ ถ้าเราทำอะไรโดยใจรัก ใจชอบเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะขาดการคิดใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง ถ้าเราทำอะไรต่อเมื่อเราทราบผลล่วงหน้า เราก็จะไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคใหม่ๆ ความท้าทายใหม่ๆ ที่จะต้องอาศัยเจตน์จำนงค์ความมุ่งมั่นเป็นฐานที่สำคัญ

ขอให้พวกเราพัฒนา จิตตื่นรู้ ใจกระจ่าง และเจตน์จำนงค์ กัน ณ บัดนี้เถิด

หมายเลขบันทึก: 114329เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2007 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

บันทึกนี้สุดยอดมากๆ

สงสัยต้องหา theory u มาอ่านซะแล้วครับ

ฮึ ฮึ หนังสือเล่มนี้ผมเห็น วฆ เขาเอามาให้ดู ตอนที่ไปทรัพย์ไพรวัลย์ หลังงานที่ มน.นั่นแหละครับ เข้าใจว่าตอนนี้พวกเราๆกำลังขม้ำขย้ำกันอยู่อย่างเมามัน

แต่อย่างพิชิต เท่าที่ทำอยู่นี่่ ดูๆแล้ว เจตน์จำนงค์ความมุ่งมั่นเหลือเืออยู่แล้วนะครับ ผมเอาตัวอย่างการจัดกิจกรรมรับน้องของทันตะ มน.ไปเล่าให้คณะแพทย์ที่นี่ฟัง เขาก็ตื่นตาตื่นใจชื่นชมกันมากครับ 

ขอบพระคุณอาจารย์ครับ สำหรับคำชม

เพิ่งทำให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของคณะทันตะเสร็จไปครับ รวมสามวันมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประมาณ 80%  อาจารย์ 30% (หลักสูตรหนึ่งวัน ทำ 5 วันรวดครับ แบ่งเข้าวันละประมาณ 20 กว่าคน) 

อีกสองสัปดาห์จะไปเป็นกระบวนกรให้เจ้าหน้าที่สำนักหอสมุดของ มน.ครับ

อ้อ! ผมให้เลขาฯของผม เค้า print บันทึกของอาจารย์ออกมาอ่านตั้งแต่บันทึกแรกจนถึงปัจจุบันเลยครับ ถ่ายเอกสารแจกเพื่อนๆอาจารย์ไปหลายเล่มด้วย ผมขออนุญาตเผยแพร่ย้อนหลังนะครับอาจารย์

อื้อหือ... หมดเลยหรือครับ อาจจะเป็นการทรมานเพื่อนพิชิตบางคนมากพอสมควรเลยนะครับ!!

บทความลักษณะนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเรียนรู้ สามารถตอบโจทย์ให้กับความรู้สึกบางอย่างที่ำำไม่สามารถหาคำตอบได้จากแหล่งความรู้ทั่้วๆไป ขอบคุณมากค่ะสำหรับบทความดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท