จิตตปัญญาเวชศึกษา 65: ศาสตราวุธกายสิทธิ์ ต้องตี ต้องเคี่ยวกรำ ต้องตรากตรำ


ศาสตราวุธกายสิทธิ์ ต้องตี ต้องเคี่ยวกรำ ต้องตรากตรำ

บทหนึ่งของพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปรียบเทียบว่าดาบเหล็กเนื้อดีนั้น เป็นเพราะผ่านการตีเนื้อเหล็ก ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นพันๆหมื่นๆครั้ง จึงจะได้เนื้อเหล็กที่ทั้งหยุ่นเหนียว ทั้งแข็งแกร่งฉันใด ปัญญาวุธก็เฉกเช่นเดียวกัน จะต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ ผ่านการภาวนา ผ่านอุปสรรคนานาประการ ผ่านประสบการณ์ที่จะเสริมความคงทน พิสูจน์ธาตุอันแท้จริงของตัวบทสมมติฐาน ทฤษฎี ว่าจริงแท้เพียงไร จึงกลายเป็นปัญญาวุธที่ถูกต้องแล้ว เป็นมงคลแล้วฉันนั้น ดังนั้นงานที่หนักนั้น ให้พิจารณาว่าเป็นเนื้อแท้ของศาสตร์ ของปัญญา ที่จะเกิดขึ้นมาได้จากประสบการณ์นั้นๆ

ได คาตานา หรือดาบที่นักรบซามูไรใช้นั้น มีชื่อเรื่องความคมกริบสุดแสน แต่ก็เหนียวหยุ่น แข็งแกร่งอย่างยิ่ง เพราะผ่านการตีเหล็กที่กอปรด้วยเศษเหล็กธาตุดี ชิ้นเล็กชิ้นน้อย เผา ตี เผา ตี จนชั้นเหล็กหลายต่อหลายสิบชั้น หลอมรวมเป็นเนื้อเดียว และธาตุแท้ของแต่ละชั้น แต่ละชิ้น ยังคงสำแดงอยู่ในทุกเนื้อ ทุกอณู ประสบการณ์ที่ผ่านไปของเราก็เช่นกัน ถ้าเรานำมาขบคิด ใคร่ครวญ ไตร่ตรองภาวนา ก็จะเสมือนนำเอาชิ้นประสบการณ์มาตี มาเผา มาหลอมรวม เกิดความต่อเนื่องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เราก็จะสามารถมองเห็นตัวตนของเราเอง ว่าทำไมเราจึงคิดแบบนี้ ทำไมเราจึงทำแบบนี้ ทำไมเราจึงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทำไมเราจึงโกรธ ไม่พอใจ ทำไมเราจึงภาคภูมิใจ ให้คุณค่า ให้ความหมาย ในเรื่องราวต่างๆ องค์ความรู้ฉาบฉวยทฤษฎีเมื่อนั้นจึงจะหล่อหลอมเข้าสู่เนื้อตัวเราอย่างแท้จริง

 

ในการเรียนวิชาแพทย์นั้น นอกเหนือจากเนื้อหามากมายที่แพทย์พึงเรียนรู้เป็นฐานแล้ว วิชาความรู้ใหม่ๆยังถูกคิดค้นขึ้นตลอดเวลา วิธีการตรวจ วินิจฉัย และรักษาที่ดีที่สุด มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา บางหัวข้อ บางรายวิชา มีการทบทวนวรรณกรรมทุกหกเดือน ทุกสามเดือน เพื่อให้สามารถก้าวทันกับองค์ความรู้ใหม่ที่ว่านี้

ไม่เพียงแต่เท่านั้น วิชาแพทย์ยังต้องหมายถึงการนำไปใช้กับคนจริง ซึ่งเป็นความหมาย เป็นต้นตอ ของวิชาชีพนี้มาแต่แรกเริ่ม

เป็นความจริงที่การเรียนแพทย์นั้น ต้องทุ่มเทและทำงานหนัก เพื่อที่จะได้มาทั้ง cognitive knowledge หรือความรู้เชิงทฤษฎี และ psychomotor หรือความเชี่ยวชาญชำนาญในการทำหัตถการ การนำความรู้มาใช้ในบริบทจริง เพื่อที่จะเกิดเจตนคติที่ดีของงาน ต่ออาชีพ และเกิดความหมายที่แท้ของการที่ตนเองเข้ามาทำงานในวงการวิชาชีพนี้ นักรบที่สง่างามจึงไม่เพียงมีศาสตรวุธที่สมศักดิ์ศรีเท่านั้น แต่ยังสามารถกวัดแกว่งสำแดงกระบวนท่าใช้อาวุธได้อย่างชำนิชำนาญ สวยงาม และใช้ออกอย่างมีจิตวิญญาณความรู้สึก คือมีการฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝีกภาวนา ในการปวารณาตนมาใช้ศาสตราวุธศักดิ์สิทธิ์นี้ ซึ่งสามารถยังประโยชน์สูงสุด หรืออาจจะให้โทษมหันต์หากนำไปใช้อย่างผิดพลาดด้วย

ประสบการณ์การทำงานนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ไม่ได้แปลว่าเรา "ได้เรียนรู้" ตลอดเวลา การจะเรียนรู้ให้เกิดความลึกซึ้งนั้นจะต้องมีทั้ง attention และ intention คือมีทั้งความสนใจ ใคร่ครวญ สมาธิ และมีทั้งเจตนารมย์แรงกล้าและความมุ่งมั่นทำให้เกิด จึงจะเป็นการเรียนที่ทะลุปรุโปร่ง หล่อหลอม cognition, psychomotor และเกิดภาวนามยปัญญาในที่สุด

ทั้งนี้การเรียนที่ใช้ "ฐานกาย" คือการลงมือกระทำนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราจะใช้ความรู้สึกทุกส่วน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นสื่อรับรู้ภายนอก หากนำมาประสานกับความคิด จากสมองส่วนหน้า และความรู้สึกจากสมองส่วนกลางและ limbic system เราก็จะ hard wiring เชื่อมโยงศูนย์ต่างๆของสมองทั้งหมด พัฒนา "ฐานใจ" และ "ฐานแห่งจินตนาการความสร้างสรรค์" บรรลุศักยภาพที่แท้จริงของมนุษย์ งานหนักทางกายภาพนั้น จะเป็นหลักฐานถึง raw materials ที่เราจะนำมาใช้ในการภาวนา ใช้ในการหลอมเหลาบุคลิกภาพ กลายเป็นคนอย่างที่เราจะเป็นในอนาคต หากเราไม่ระมัดระวังให้ดี ปล่อยปละละเลยไปตามอารมณ์ ณ ขณะนั้นๆ ให้ความโกรธ ความเกลียด ความไม่เห็นด้วย มาครอบงำสติมากเกินไป แทนที่เราจะ appreciate ประสบการณ์ เรากลับเกลียดชังประสบการณ์ แทนที่เราจะอิ่มเอมกับการให้บริการ เรากลับรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าโดยไม่เห็นรางวัลเบื้องหน้า ไม่เกิดความภาคภูมิใจในงาน ไม่สามารถแม้กระทั่งยิ้มออกมาได้ขณะทำงาน งานกลายเป็น burden แทนที่จะเป็นธรรมะ หรือ การฝึกธรรมะ อย่างที่ท่านพุทธทาสได้แนะนำ เทศนาสั่งสอนไว้

นักเรียนแพทย์ที่รู้สึกว่าตนเองทำงานหนักนั้น ขอให้เข้าใจเถิดว่ามาถูกทางแล้ว สิ่งที่น้องๆกำลังทุ่มเทอยู่ ณ ขณะนี้ จะไม่สูญเสียเปล่าอย่างแน่นอน แต่จะเป็นต้นทุนชีวิตต่อไปอีกนานเท่านั้น คุณานุประโยชน์จากงานในตอนนี้จะผลิดอกออกผลงดงามยิ่งนัก ต่อตัวน้องเอง ต่อครอบครัว คนรอบข้าง และสังคมต่อๆไป

หมายเลขบันทึก: 188030เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2008 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่านอาจารย์

หลังจากอ่านข้อความจบ อดใจไม่ไหวต้องออกมาแสดงความคิดเห็น มีความรู้สึกว่าข้อความชุดนี้ไม่ได้ให้กำลังใจเฉพาะนักเรียนแพทย์เท่านั้น บุคคลทั่วไปก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ค่ะ ยิ่งเคยเห็นตัวจริงเสียงจริงแล้วรับรู้ได้ค่ะว่า ข้อความชุดนี้มาจากข้างใน ติดตามอ่านงานท่านอาจารย์มาโดยตลอด ขอเป็นกำลังใจด้วยอีกคนและขอให้อาจารย์มีแรงกายแรงใจในการรังสรรสิ่งดีดีให้กับวงการสาธารณสุขไทยตลอดไปค่ะ

ขอขอบพระคุณค่ะ

ศิริมา โตตตาแสง

ขอบคุณที่พบว่าบทความนี้พอมีประโยชน์ครับ ขอรับกำลังใจที่ส่งมาด้วยความขอบพระคุณและปิติครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท