จิตตปัญญาเวชศึกษา 67: 4-Barriers to Learn; Not recognize what we see


4-Barriers to Learn, Revisit 1

ขอ reference ถึงบทความที่เนื้อหาค่อนข้างจะสำคัญมาก (ในความเห็นส่วนตัวของผม) คือเรื่องของ 4-Barriers to Learn and Change ที่เขียนไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว นำมาขยายแต่ละช่อง (quadrant) ช่องละบทความ

 

 Think

 See

 not to recognize what we see

ไม่ตระหนักสิ่งที่เราประสบ 

 not to say what we think

ไม่พูดสิ่งที่เราคิด 

 Say

 not to see what we do

ไม่เห็นสิ่งที่เราได้ทำลงไป 

 not to do what we say

ไม่ทำสิ่งที่เราพูด 

 Do

The First Quadrant: Not to recognize what we see 

ไม่ตระหนักหรือไม่รับรู้สิ่งที่ตนเห็น การ "เห็น" ในที่นี่ก็คือการ "ให้ความหมาย" Barrier ในช่องนี้ก็คือการให้ความหมายของสิ่งต่างๆที่เรามีประสบการณ์นั่นเอง

จุดบอดที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นได้ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ หรือเป็นแรงผลักดันลึกๆภายในก็ได้ (ซึ่งกลายเป็นจุดบอดที่ยากแก่การมองเห็น) จุดบอดแบบไม่ตั้งใจก็คือ เราไม่เคยสนใจคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น เห็นอยู่ตำตา ก็ไม่ได้ตีความ คิดต่อ หรือให้ความหมายอะไรไป กลไกที่ทำให้เกิดจุดบอดแบบไม่ตั้งใจนี้ น่าจะโทษเรื่องของการทำอะไรซ้ำๆ จำเจ routine หรือทำจนเป็นประจำเกิดความเคยชินไม่รู้สึกอะไร

ยกตัวอย่าง พฤติกรรมบางอย่างที่แต่ก่อน เราบอกว่าผิด ไม่พึงกระทำ หรือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่ควรนำมาพูดอย่างโจ่งแจ่้งในที่สาธารณะ เพราะอาจจะเกิดผลเสียในวงกว้่าง แต่การณ์ปรากฏว่า เดี๋ยวนี้ถ้าจะเด่น ถ้าจะดัง จะต้องทำอะไรที่ shock ความรู้สึกคนจำนวนมาก และอะไรก็ไม่ shock ได้ดีไปกว่า การฝ่าฝืน norm ของเก่า หรือ taboo หรือขนบธรรมเนียมประเพณีที่ง่ายต่อการใส่ความหมายว่า "เชย ล้าสมัย" เกิดเป็นกิจกรรมที่ shock คนได้อ่อนๆ เรียกร้องความสนใจ และสร้างภาพพจน์ที่แปลกใหม่ นำสมัย วัยรุ่น จ๊าบ cool เท่ห์ ฯลฯ หรือศัพท์บัญญัติของบรรทัดสยามเซ็นเตอร์เดี๋ยวนี้

สิ่งหนึ่งที่เห็นเป็นประจำ จนอดมิได้คิดว่าทำไมหนอมันยังมีอยู่และมากขึ้น คงจะได้แก่​ "เรื่องการเข้าคิว"

ไม่ว่าจะเป็นที่ lift ที่ทางเข้า ที่อะไรก็แล้วแต่ ที่ควรจะเป็นคิว เราจะเห็น "การมุงออ" ล้อมรอบจนมองไม่เห็นแถว ไม่เห็นที่ทาง ไม่เห็นก่อนหลัง ถ้าเป็นตามถนนหนทาง ก็จะเห็นเวลามีเลนถนนพิเศษ ที่จะมีรถไปสร้างขึ้นมาเองเติมจากที่มี การลัดเลาะไปผิดเลนเพื่อจะตัดเข้าตรงเชิงสะพาน หรือมุมทางแยกที่ตนเองต้องการ แต่ไม่อยากจะเข้าแถวยาวที่มีคนที่มาถึงก่อนกำลังต่อคิวอยู่

ผมคิดว่าพยาธิสภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เขาเหล่านั้นไม่ได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น จีงไม่เห็นว่าเป็นอย่างไร ไม่เห็นคนที่มาก่อนมีความหมายอะไรต่อตัวเขา อะไรที่มีความหมายมีเพียงสิ่งที่ตนเอง "จะได้" เท่านั้น ที่สมองจะแปลสัญญานออกมา

ปัญหาก็คือ ความเคยชินจะสร้างกฏใหม่ขึ้นมาไม่ช้าก็เร็ว และอะไรก็จะไม่อยู่ได้นานกับสิ่งที่เราได้​ "เห็นเป็นปกติ เป็นนิจศีล"

จุดบอดแบบตั้งใจ เป็นอีกกลไกหนึ่ง มีแรงผลักดันมาจากระดับที่ลึกกว่าจุดบอดแบบไม่ตั้งใจ เป็นการใช้ intellectual หรือสติปัญญา (ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ morality แต่อย่างใด) มาสร้างความหมายใหม่ กลบเกลื่อน จนกระทั่งความสำคัญของของเก่าหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะบอดแบบนี้จะเป็นการทำลายความหมายเดิม ที่มี value อะไรบางอย่างแต่ดั้งเดิม ด้วยความรู้สึก guilt หรือสำนึกผิดอะไรบางอย่าง ก็ได้สร้าง mechanism นี้ขึ้นมาแทน ในทางจิตวิทยาจะอธิบายคล้ายๆกับเรื่อง coping mechanism เวลาเกิด crisis ขึ้นแต่ละ episode เราก็จะสร้าง theme of story มาอธิบายว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร theme เหล่านี้บางทีก็ไม่ได้สร้างตรงไปตรงมา หรือแบบ documentary แต่จะสร้างเพื่อเป็น self-defence mechanism ว่า self ของเรายัง OK อยู่

ตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งสอบประจำภาค แล้วคะแนนออกมาแย่มาก นักเรียนคนนี้ก็จะต้องหาคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น นักเรียนคนนี้อาจจะยอมรับว่าเขาไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ หรือขี้เกียจ ก็เป็นคำอธิบายที่ดูจะตรงไปตรงมา หรือสมเหตุผล แต่ถ้าเขาให้ความหมายของการสอบไม่ดีครั้งนี้แบบนี้ ก็จะเกิดการเสีย self หรือเสียความมั่นใจไปพอควรทีเดียว ดังนั้น อาจจะง่ายกว่าที่เขาจะอธิบายว่า จริงๆเป็นเพราะท้องเสียวันสอบ หรือลืมส่งกระดาษคำตอบไปแผ่นนึง หรืออะไรที่เป็นความผิดพลาดเหนือต่อสิ่งที่จะกระทบต่อ self ของเขาเอง

ปัญหามีสองประการคือ 1) เราคิดอย่างไร เราก็จะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับกระบวนความคิดของเรา และ 2) ทำบ่อยๆ เราจะเผลอคิดไปว่าเหตุผลที่เราอ้างเป็นอะไรที่จริงที่สุด และเราจะไม่พยายามคิดหาเหตุผลอื่นมาอธิบายเลย

ดังนั้น ถ้าจริงๆเราขี้เกียจไปหน่อย แต่ดันคิดว่าเป็นเพราะเราท้องเสีย ไม่สบาย เราก็จะไม่อ่านหนังสือเพิ่ม และไปหาอะไรที่สะอาดกินแทน ผลลัพธ์ในการสอบครั้งต่อไปก็แทบจะพยากรณ์ได้ว่าไม่น่าจะดีขึ้นสักเท่าไร ยิ่งเราคิดห่างไกลจากความเป็นจริงเท่าไร วิธีแก้ปัญหาของเราก็จะยิ่งไม่สอดคล้องและไม่ได้แก้อะไร อาจจะเพิ่มปัญหาเสียด้วยซ้ำไป

แค่นี้ยังไม่ค่อยเท่าไร แต่จุดบอดแบบตั้งใจนั้น บางทีนำมากลบเกลื่อนทาง morality หรือ ethics อันนี้จะน่ากลัวกว่า

หลายปีก่อนเคยมีนักศึกษาปลอมลายเซ็นอาจารย์ ลงท้ายจดหมาย

ไม่นานมานี้ เคยมีนักศึกษาปลอมลายเซ็นอาจารย์ในสมุด logbook แถมมีการให้คะแนนซะด้วย เป็นวิชาที่ไม่ได้คิดคะแนนอะไรด้วย

สองเรื่องนี้ พูดถึง degree ความรุนแรง ก็ไม่มีอะไรเสียหายมากนักตามเนื้อผ้า แต่ความเสียหายด้านลึกมันมากกว่า เพราะมันเริ่มเกิดความ "เคยชิน" หรือ "ไม่คิดอะไร" เพราะเห็นเป็นอะไรเล็กๆน้อยๆ แต่พวกนี้แหละ เป็นเมล็ดของพืชต้นใหญ่ที่จะงอกงามภายหลัง หรืออาจจะเป็นประเภทพันธุ์หญ้าแพรกที่ไม่ต้องการปุ๋ยอะไรมาก มันพร้อมจะลาม พร้อมจะกระจายอยู่แล้ว ทนทานบรรยากาศซะด้วย

norm นั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเริ่มต้นด้วย "เคยชิน" นี่เอง และ motto ที่ว่า "ไม่เป็นไร" หรือ "อย่าทำอะไรเขาเลย เขายังเด็กอยู่" (เด็กที่อีกไม่กี่ปีจะเริ่มรับผิดชอบชีวิตคนนับหมื่นในพื้นที่ของชุมชน!!) ปัญหาก็คือ blindspot นี้ยากแก่การมองเห็นด้วยตนเอง จะต้องอาศัยกัลยาณมิตรมาช่วยเหลือ ทำการสะท้อนให้ดีๆ

ในยุคที่การตักเตือน การทำอะไรก็กลัวจะเสียใจ สะเทือนใจไปหมด เราอาจจะรักลูก (ศิษย์) ไม่ถูกทาง และปล่อยให้เขาเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของ not recognize what we see ไปเรื่อยๆ

วิธีการแก้ไขและป้องกัน

จะเป็นเรื่องท้าทายพอสมควรทีเดียว เพราะเป็นจุดบอด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถทำอะไรกับจุดบอดได้เลย พอจะมีวิธีอยู่บ้าง

  • อยู่ท่ามกลางกัลยาณมิตร: สังฆะ หรือ กัลยาณมิตร เป็น asset ที่สำคัญอย่างยิ่ง และในที่นี้ กัลยาณมิตรไม่ได้หมายถึงคนที่จะพูดจาแต่คำหวานหู ไพเราะเพราะจับใจตลอดเวลา แต่หมายถึงคนที่ห่วงใยเราอย่่างแท้จริงไปถึงตัวตน สามารถแยกแยะหนักเบา จัดลำดับความสำคัญได้ ไม่ได้พะวงกลัวแต่จะทำร้ายจิตใจเรา จนกระทั้งไม่สามารถจะตักเตือนแนะนำอะไรได้เลย
  • ฝึกหัดทำการสะท้อนตนเอง self reflection: นั่งสมาธิ ภาวนา วิปัสสนา อย่าลืมว่าเราไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่มีสมาธิทำอะไรนาน แต่เราควรจะฝึกวิปัสนากัมมัฎฐาน เพ่งพิจารณาใคร่ครวญเรื่องราวความเป็นไป ว่าจะมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเรามองเห็น กับตัวเรา คนรอบข้าง ครอบครัว สังคม และไปจนถึงนิเวศอย่างไรได้บ้าง
  • ให้ความสำคัญกับ feedback: สามารถฟังได้หมด แม้กระทั่้งเสียงจากศัตรู เสียงจากคนที่เราไม่ชอบหน้า (และไม่ชอบหน้าเรา) เพราะทุกสิ่งทุกอย่างน่าจะมีสาเหตุที่ทำให้เขาเหล่านั้นคิดไม่เหมือนเรา และทำให้มา criticize เรา สิ่งที่เขาเห็นอาจจะมีความเป็นจริง หรือเกิดจากมุมมองที่น่าสนใจ ที่เราไม่เคยเดินไปมองมาจากมุมนั้นมาก่อน ยิ่งเป็นความคิดของศัตรู ยิ่งจะมีประโยชน์ เพราะมุมมองจากศัตรูของเรา จริงๆแล้วก็คือมุมมองที่เป็น "จุดบอด" ของตัวเราเอง ที่เราไม่ชอบไปยืนจากทางด้านนั้น ไม่ชอบคิดทำนองนั้น แต่จริงๆก็เป็นเพียงอีกมุมที่จะมองเรื่องเรื่องเดียวกันนี้ได้

 

หมายเลขบันทึก: 188439เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2008 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 00:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

not to recognize what we see  กรณีนี้ใช้ได้ไหมครับ เช่น 

1.เราเข้าห้องน้ำและเจอก๊อกน้ำที่ไหลอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร คิดว่าธุระไม่ใช่

2.มีความผิดปกติ ไม่โปร่งใส อย่างใดเกิดขึ้นในที่ทำงาน องค์กร หรือสังคม ทั้ง ๆ ที่เรามีข้อมูลที่ชัดเจน แต่เราก็ทำตัวเฉย ๆ เป็นปกติเพราะไม่ได้กระทบอะไรกับเรา

เป๊ะเลยครับ คุณเอกราช

และที่น่าสนใจนำมาใคร่ครวญต่อไปก็คือ หาสาเหตุว่า "ทำไม" เราหรือคนๆนั้นจึงอ้างเหตุผลดังกล่าวเพื่อที่จะไม่ใคร่ครวญ หรือคิดถึงเรื่องนี้ สืบค้นไปถึงที่มา อาจจะพบต้นตออะไรบางอย่างที่ถ้าแก้ไข อาจจะช่วยคนได้ทั้งองค์กรก็เป็นได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท