OUTCOME MAPPING II: M&E Part 8 ดอกอะไร เก๊าะ Dialogue!!


ดอกอะไร เก๊าะ Dialogue!!

อาจจะเริ่มมีคนสงสัยว่าคนบันทึกเริ่มเพี้ยนรึเปล่า ตั้งหัวข้อ OM แล้วมาจู่ๆก็ U-turn ไปเขียนเรื่อง Dialogue เหมือนที่เริ่มเขียนใหม่ๆเมื่อปีที่แล้ว

ดอกอะไรอยู่หน้าห้องประชุม? Dialogue ครับ!?!?

ถ้าจะโทษก็ไม่ต้องโทษผมครับ ต้อง (ขออภัย) โทษโน่น อ.ประพนธ์ เพราะท่านได้ดึงเอา Dialogue หรือสุนทรียสนทนา (หรือสานเสวนา) เข้ามาใน workshop OM ครั้งนี้เนื้อๆ เต็มๆ หนึ่งคืนสดๆทีเดียว คือในคืนที่สองก่อนกลับบ้าน เรียกว่าพลังงานของผู้เข้าร่วมกำลัง peak ถึงขั้นทะลวงจุดหยิมต๊ก ฝ่าด่านความเป็นตายกันเลย ก็คงจะมีมูลเหตุกระมัง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นใน workshop นี้ ไม่มีอะไรที่เกิดโดยความบังเอิญ

ตอนที่แล้วของ OM เรื่อง Work OM, Live OM ผมเขียนโยงความสัมพันธ์ของการทำงานเข้ากับ Fifth Discipline ของ Peter Senge นั้นคือการพัฒนา personal mastery และ mental model คราวนี้จะลองพยายามตีขลุม จับโน่น โยงนี่ ในประเด็นที่เหลือ คือ share vision, team learning และถ้าหาช่องทางลงได้ อาจจะออก system thinking (แสดงว่าตอนกำลังเขียนนี่ ก็ no idea ว่าจะจบยังไง!! แหะๆ)

หนึ่งทุ่มตรง ก็ได้ฤกษ์เบิกชัย ลานห้องปูผ้าขาวถูกเคลียร์พื้นที่และวงกลมสนทนาที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ก็ถูกตั้งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง อาจารย์ประพนธ์เล่าให้ฟังสั้นๆถึงกฏกติกาเล็กๆน้อยๆของวง dialogue เสริมโดยสิ่งที่ผมเคยเห็น เคยทำมาบ้างในวงอื่นๆ

  • no agenda dialogue พูดเรื่องอะไรก็ได้ หลังจากที่เรารู้สึกเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้เวลาเล่าออกมา

  • no side talking ณ ขณะนี้เราเป็นองคพยพของวงสนทนา ขอให้มีปฏิสัมพันธ์กับวงสนทนา

  • ขณะไม่ได้พูด เรากำลังทำกิจกรรมที่สำคัญที่สุด คือ "การฟังอย่างลึกซึ้ง" หมายถึง การฟังที่ปราศจากการตัดสิน ปราศจากตัวตนของเราแต่เดิม ฟังโดยปัจจุบัน ฟังโดยปราถนาจะเข้าไปอยู่ในหัวใจของคนพูด เพื่อเข้าใจว่าเขาต้องการจะสื่ออะไร

  • พูดเพราะถึงวาระอันสมควร ไม่ใช่พูดเพราะถึงคิว จำกัดเวลา ไม่กินพื้นที่มากเกินไป

มีบางคนที่ไม่เคยเข้าวง dialogue มาก่อน ขยับตัวอย่างไม่แน่ใจ พี่แม้วถามมาตั้งแต่กลางวันหลังจากทราบว่าคืนนี้จะทำ dialogue กันว่ามันคืออะไร ทำยังไง ต่างจากการทำ ลปรร (แลกเปลี่ยนเรียนรู้) อย่างไร บางคนพอทราบว่า dialogue ไม่มีคิว ไม่มี topic ไม่มีหัวข้อ ถึงกับมึน เอ... แล้วจะพูดเรื่องอะไรดีล่ะ

การไม่มีหัวข้อ ทำให้แต่ละคนคิด และรู้สึกไปต่างๆนานา นอกเหนือจากคิดเรื่องของตนเองแล้ว ยังคิดต่อไปอีกว่า เอ.. เรื่องนี้เป็นที่สนใจสำหรับคนอื่นไหมเนี่ย? ในที่สุดพี่แม้วก็อารัมภบทเชิงคำถามออกมาดังๆ ว่า "ตกลง dialogue มันเหมือน หรือมันต่างจาก KM ยังไงคะ? แล้วเราจะรู้ไหมเนี่ยว่าที่เราทำน่ะ มันเป็น dialogue รึเปล่า?"

นั่นหลังจากที่ทั้งวงเงียบไปประมาณ 1 นาที (ซึ่งบางคนอาจจะรู้สึกเหมือนทั้งคืน!!) เมื่อน้ำแข็งถูกทุบแตกไปแล้ว ฟันเฟืองเล็กๆของการสนทนาก็ค่อยหมุนอย่างช้าๆ สัมประสิทธิ์ความฝืดสถิตย์ (static friction co-efficient) จะสูงกว่าความฝืดจลน์ (dynamic) ฉันใด พอมีคนกล้าหาญทำลายความเงียบแล้วคนหนึ่ง คนอื่นๆก็เริ่มรู้สึกง่ายขึ้นที่พูดบ้าง

topic เปลี่ยนไป เปลี่ยนมา บ้างก็พูดถึง workshop บ้างก็พูดถึงประสบการณ์ พี่กอปรชุษณ์เปิดประเด็นเรื่อง การคิดถึงความตาย ขึ้นมาก่อน (ชำเลืองมาทางผม โทษเป็นนัยๆว่า ผมอาจจะเป็นคนทำให้เริ่มเรื่องนี้) หลังจากนั้น วงก็เหมือนกับจะหา topic ร่วม และความตาย กลายเป็นหัวข้อ theme หนึ่งของ dialogue คืนนี้

คุณอ้อ กระบวนกรขนาดกระเป๋าของเรา รับลูกต่อ บอกว่า เธอมี omen อยู่ประการหนึ่งคือ ไม่ทราบว่าเพราะอะไร ที่เธอมีโอกาสไปงานศพ หรือมีส่วนในข่าวเรื่องการตายของคนรอบข้าง คนรู้จัก อยู่เรื่อยๆเลย (คุณอ้อนั่งอยู่ข้างๆผม ผมก็เลยขยับออกมาห่างนิดนึง.... เอ่อ คือให้พื้นที่แกเพิ่มน่ะครับ) อาจารย์นวลจันทร์เสริมเรื่องประสบการณ์ใกล้ชิดกับความตาย บางครั้งความตายทำให้เราได้ "ฉุกคิด" อะไรต่อมิอะไรได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ และบางทีก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเราในช่วงชีวิตที่เหลือไปเลย

อาจารย์เพิ่มศักดืเล่าเรื่องความเจ็บป่วยครั้งหนึ่ง ที่อาจารย์มีอาการไอเรื้อรังเป็นเดือนๆ กินยา antibiotics หลายต่อหลาย generations จนคุณหมอเริ่มเคือง อะไรกันฟะ เปลี่ยนยาไม่รู้จะกี่ตำรับ ใหม่ล่าสุดแล้วก็ยังไม่ work จนมีอยู่วันหนึ่ง อาจารย์เพ่ิมศักดิ์ได้ expose ต่อองค์ความรู้ด้านธรรมชาติบำบัด จากหนังสือในบ้าน จากที่ประชุมวิชาการ จาก personal communication ในเวลาไล่เรียงกัน จนอาจารย์คิดว่า what the heck ลองดูก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร อาจารย์ก็เริ่มปรับอาหาร ปรับการออกกำลังกาย นำเอาการหายใจทางโยคะ ทางจี้กง เข้ามาประกอบ อย่างไม่น่าเชื่อ อาการไอที่เป็นมานาน เริ่มหายไปทีละน้อยๆ สุขภาพโดยทั่วไปของอาจารย์ดีขึ้นเรื่อยๆ อาจารย์เพิ่มศักดิ์จึงเริ่มสนใจในธรรมชาติบำบัดมากขึ้น อาจารย์อยากจะลองนำไปให้คุณแม่ลองใช้ดู คุณแม่อาจารย์ก็บอกให้อาจารย์ทำดูเองก่อน ว่ามันทำได้ไหม work ไหม ด้วยแรงบันดาลใจที่จะนำไปช่วยคุณแม่ และคนอื่นๆ อาจารย์เพิ่มศักดิ์จึงเริ่มศึกษาการออกกำลังกายแบบโยคะ แบบจี้กง และการปรับสุขภาพตามวิถีธรรมชาติ และศึกษาแบบเพื่อสามารถนำไปสอน นำไปสำแดงให้คนอื่นชมด้วย

มีอยู่ครั้งหนึ่ง อาจารย์กำลังเกิดจิตวอกแวก หยิบหนังสือขึ้นมา ปรากฏเป็นตำราอาหารที่เคยมีรสชาติเอร็ดอร่อยแทนที่จะเป็นตำราอาหารธรรมชาติ ณ เวลานั้นเอง เหมือนกับเป็นบททดสอบเล็กๆ ว่าอาจารย์จะมีความมุ่งมั่น และศรัทธาในวิถีธรรมชาติมากเพียงใด หนังสือเล่มนั้นถูกวางลงบนที่เดิม และวิถีชีวิตอันกลมกลืนกับธรรมชาติ ที่มีการเยียวยาตนเอง ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน รวมทั้งการมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ความรู้ด้านนี้ให้แก่คนทั่วไปด้วย

เรายังได้ยินเรื่องราวของพี่ดาวน้อยกับเพื่อนที่ญี่ปุ่น เรื่องราวของคุณอรพิน และคุณภัทรีพันธุ์ในการทำงานกับแรงงานนอกระบบ (และระบบการจัดการงานบ้านโดยคุณพ่อบ้าน ที่หลายๆคนสนใจใน model อย่างยิ่ง)

คุณอมรรัตน์แลกเปลี่ยนเรื่องราวที่ไปทำจิตสมาธิโดยการปลงเวทนา อยู่กับปัจจุบัน และงดการพูดคุยเป็นเวลา 10 วัน ที่ได้เปลี่ยนเธอไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ มองเห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง และการมองเห็นมิติมุมมองของชีวิตอีกด้านหนึ่ง

และเราได้ยินเรื่องราว การเผชิญหน้ากับการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ที่มีผลต่อการปรับกระบวนทัศน์ การใช้ชีิวิต และทำให้ดูเหมือนว่า ชีวิตที่กำลังไม่แน่นอน บางที.... เราอาจจะมีส่วนทำให้มันอยู่ในการควบคุมได้อีกครั้งโดยการเจริญสติ เจริญสมาธิ (ผมขอร่วมนั่งสมาธิในการส่งความเมตตา และความรักไปช่วยเหลือด้วยคนครับ) และเราก็มองเห็นว่า เบื้องหลังการทำงานของกัลยาณมิตรของเรานั้น บางท่านได้มีการเสียสละ บางท่านได้มีการเจริญสมาธิจิต บางท่านได้เชื่อมต่อโยงใยกับสัจจธรรมในชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง

เราทำ dialogue ประมาณ 2 ชั่วโมงเต็ม และผมคิดว่าเราได้เข้าสู่อย่างน้อย level 3 ของ dialogue แน่ๆ ส่วนจะมีใครเป็น level 4 หรือไม่ คงจะต้องตอบด้วยตนเอง

การสนทนานั้นเป็นการสร้างโลก สร้างสังคม ที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะเรื่องราวที่เรานำมาพูด มัน matter กับตัวเรา และมัน matter กับคนรอบข้าง ในการทำโครงการเชิง OM ซึ่งเป็นโครงการที่มีผลกระทบซับซ้อน ก็เพราะมันมี "ชีวิตคน" อยู่ในจิตวิญญาณของโครงการนั้นๆ มันไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรม budget งบประมาณ การนับ การคิด แต่มันสำคัญเพราะมันมี impact ต่อชีวิต ต่อคุณภาพของชีวิตคน

ในการทำงานกับเรื่องแบบนี้ ไม่เพียงแต่เราเกิดทักษะ ความรู้ขึ้นในระหว่างทำงาน บูรณาการเข้ากับตัวตนของเราไม่เพียงที่ทำงาน แต่ที่บ้านด้วย ยังทำให้เราเกิดมุมมองใหม่จากประสบการณ์ตรงในการทำงาน จากประสบการณ์ตรงในการร่วมงาน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะไม่มองเรื่องราวจากสายตาการรับรู้ของเพื่อนร่วมงาน ของนาย ของลูกน้อง และผลกระทบต่อชีวิตกับคนจำนวนมาก เราจึงควรจะนำเอาความมีนัยยะสำคัญเหล่านี้มาแลกเปลี่ยนกัน มา shape มาขัดเกลามุมมองของเรา จนเราสามารถมองเห็น impact ของงานเราได้มากยิ่งขึ้น กระบวนที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติก็คือ Share Vision

เรื่องบางเรื่องที่ดี ที่สำคัญ และมีผลกระทบกว้าง จนเราอดไม่ได้ที่จะต้องนำไปเผยแพร่ หรือขวนขวายไปรับฟัง เพราะเราพบว่ามันก็มีความเกี่ยวข้องกับงาน กับตัวเราด้วย

ในเวที dialogue ที่เราลองทำไปนั้น ถ้าเราฟังอย่างลึกซึ้ง และฟังอย่างรับเรื่องราวทั้งหมด ฟังอย่างค้นหาว่า เพราะเหตุใด เราถึงต้องเดินทางกว่าพันกิโลเมตร ไม่ได้นอนเล่านิทานให้ลูกอยู่กับบ้าน มันน่าจะมีความหมายอะไรบางอย่างที่เราจะได้มาฟังเรื่องราวเหล่านี้ เราจะพบว่าเรานี้ช่างมีอภิสิทธิ์เหลือเกิน ที่ได้มาได้ยินเรื่องราวบางเรื่อง ที่เป็นแรงบันดาลใจ ได้ยินเรื่องราวบางเรื่องที่เพิ่มความเข้าใจในชีวิต ได้ยินเรื่องราวบางเรื่องที่เชื่อมร้อยดวงใจ มองเห็นความงามที่แท้ของมนุษย์มากยิ่งขึ้น

เป็นวงสุนทรียสนทนาที่สวยงามที่สุดครั้งหนึ่ง

 

คำสำคัญ (Tags): #dialogue#outcome mapping#share vision
หมายเลขบันทึก: 223315เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดดีครับคุณ phoenix

นึกว่าปริศนา คำทาย ที่แท้ก็ DIALOGUE ดอกอะไร

กำลังจะตอบว่า ดอก ARUMIRAI ดอกอะรูมิไร้ 5555555

ครับท่าน ขอบคุณเรื่องราวดีๆที่มีภาพประกอบให้เห็นถึงการสนทนา

พาที แบบกันเอง เรื่องอย่างนี้ต้องขยายพื้นที่ให้มากๆๆๆ

พวกเราทีมงาน ศวพถ*. ก็ใช้เวทีอย่างนี้เวลาไปสัญจร

 เราคุยกันแบบ"นาคร" (นอนคาบ้านที่เราคุย)รุ่งขึ้นคุยต่อสรุปแล้วกลับ

*ศวพถ  (ศูนย์ประสานงานเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น)

สวัสดีครับ บังหีม P

ขอบพระคุณที่มาเยี่ยมเยียนครับผม ฮ่ะ ฮ่ะ ดอกอะไรก็ dialogue เป็นน้ำจิ้ม แสดงความรุ่มรวยของภาษาไทย ฝรั่งมี anagram เราก็มีคำผวน

"นาคร" นี่ดีครับ ไม่ต้องกังวลว่าห้องประชุมจะปิดเมื่อไร ส่วนใหญ่ตอนจบ dialogue ภาคสวรรค์ประมาณ 3 ทุ่ม ทีมกระบวนกรจะต่อ "Dark Dialogue" (เราเรียกย่อๆว่า DD) ไปแบบที่บังหีมว่าแหละครับ เตรียมทรัพยากรการ DD ให้พร้อมสรรพ์ หาห้องมุดรวมหัว แล้วก็ว่ากันยันเช้าบ้าง ดึกบ้าง

นอนคาบ้านที่เราคุย ก็ยังดีกว่า นอนคุ้ยบ้านที่เราคา นะครับ อิ อิ

สวัสดีครับ

  • เนื่องจากชีพจรลงเท้า จึงเข้ามาอ่านเรื่องราวที่สนใจไม่ค่อยต่อเนื่องครับ
  • ยืนยันว่าเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดผ่านบันทึกนี้ ก่อความคิดดีๆ ให้พอกพูนขึ้นไม่น้อย
  • ได้ อ.ประพนธ์ ไปร่วมวงเสียอย่าง .. อะไรๆดีๆย่อมเกิดได้แบบไม่คาดคิด
  • จากคิวให้มาเป็นวิทยากรบรรยาย .. เปลี่ยนบทบาทกระทันหันไปเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ท่านยังเคยทำเลย .. เพื่อประโยชน์สูงสุดของงาน .. ซู้ด หยอด จริงๆครับ
  • ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ อ. handy P

ยังไม่จบนะครับ นี่พึ่งมาได้สองวันสองคืน ยังเหลืออีกครึ่งวันยังไม่ได้เขียน น่าจะอีกสัก 1-2 บทครับ ติดตามและ comments ได้เลยนะครับ

สวัสดีครับ อ.อัจฉรา P ครับ

ดีใจที่กรุณามาเยี่ยมเยียน แถมเซ็นชื่อซะด้วย ขอบคุณครับ

ตามมาให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท