จิตตปัญญาเวชศึกษา 139: อภิชาตศิษย์ 7: ต้นทุนของชีวิต


อภิชาตศิษย์ 7: ต้นทุนของชีวิต

เมื่อวานซืนนี้ผมคุมกิจกรรมให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่สี่ที่ผ่าน block ศัลยกรรม ในประเด็นเรื่อง Health Promotion เป็นวาระที่เราจะแบ่งนักศึกษา 50 คนออกเป็น 6 กลุ่ม แจก case ผู้ป่วยศัลยกรรมไปให้กลุ่มละราย ให้ไปสัมภาษณ์และทำประเด็นเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ เสร็จแล้วแต่ละกลุ่มจะเขียนรายงาน รวมทั้งทำการนำเสนอ

ผมเคยเขียน series อภิชาตศิษย์มาแล้วทั้งหมด 6 ตอน

ยกเว้นตอนที่ 4 และ 5 ที่ได้เรื่องราวจากกิจกรรม clinical immersion ที่เหลือจะเกิดขึ้นในกิจกรรมเดียวกันหมด คือ health promotion (การสร้างเสริมสุขภาพ) ของนักศึกษาแพทย์ปี 4 กองศัลย์ รวมทั้งตอนนี้ด้วย อยากจะตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องราวดีๆเหล่านี้ มีปัจจัยร่วมที่สำคัญประการหนึ่งคือ เกิดขึ้นเมื่อน้องๆที่กำลังจะเป็นหมอ สลัดเอาความรู้ ทิฎฐิ สังกัปปะ ด้าน bio-medical ออกวางไว้ชั่วคราว และหันมา "ทำความรู้จักความเป็นมนุษย์" ของคนไข้หรือของผู้คน ชาวบ้าน เมื่อไรเมื่อนั้น เราจะสามารถ "มองเห็น สัมผัสได้" ว่าการแพทย์ที่ใช้หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์นั้น อยู่ในทุกหนทุกแห่ง ทุกวันทุกเวลา เพียงแค่เปิดหูเปิดตา และมองหาเท่านั้น

ซึ่งความจริงข้อนี้ ทำให้ผม ผู้ซึ่งประกอบอาชีพเป็นครู รู้สึกอบอุ่นใจและมั่นใจ และรู้สึกว่าตนเองโชคดีกระไรเช่นนี้ ที่ทำให้งานประจำกลายเป็นสิ่งที่เกิดแรงบันดาลใจได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่มีวันจำเจ ไม่มีวันที่จะกลายเป็น routine แบบซ้ำซากเลย

กายป่วย ใจไม่ป่วย ต้องมีต้นทุน

เรื่องราวครั้งนี้ เป็นเรื่องของคุณมานะ (นามแฝง) หนุ่มอีสาน จากบ้านมาไกลหลังจากจบการศึกษา มาหาประสบการณ์การทำงานในโรงงานไม้แปรรูปที่พัทลุง อยู่มาวันหนึ่ง เคราะห์หามยามร้าย ขณะที่กำลังทำงานส่งท่อนไม้ลงไปแปรรูป แขนขวาข้างที่ถนัดลงไปติดกับสายพาน ดึงรูดลงไป จนมานะต้องตัดสินใจกระชากตัวออกมา ก่อนที่จะถูกดึงลงไปทั้งตัว ผลก็คือแขนขวาขาดกะรุ่งกะริ่ง มานะยังมีสติพอที่จะเก็บแขน ใส่ถุงพลาสติก และเดินออกมาตามเพื่อนให้ช่วยพาส่ง รพ. และถูกส่งต่อมา รพ.ม.อ. ซึ่งก็ทำอะไรไม่ได้มากที่จะต่อแขน และพบว่าต้องตัดทิ้งรวมไปถึงกระดูกสะบักข้างขวาด้วย นักศึกษากลุ่มนี้มีทั้งหมด 8 คน ที่จะต้องไปสัมภาษณ์คุณมานะ และดูแลอย่างต่อเนื่องประมาณ 1 เดือน ก่อนที่จะมานำเสนอ

Presentation

อย่างที่เคยเล่าให้ฟังในตอนที่แล้วๆมา รูปแบบการนำเสนอในชั่วโมงนี้เป็นแบบ free style ซึ่งมีทั้งแบบใช้ powerpoint เฉยๆ แบบทำเป็น video clips ประกอบ โดยการถ่ายทำเองบ้าง ตัดต่อ clip จาก internet บ้าง ทำละครหุ่นแล้วถ่ายอัดมาบ้าง ไปจนถึงเล่นละครสด หรือทำเป็นรายการเสนอข่าวแบบในโทรทัศน์ มีพิธีกร มีเชิญแขกมาสัมภาษณ์ ฯลฯ แต่ในครั้งนี้ เป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

เพื่อนๆจากกลุ่มที่นำเสนอได้แจกกระดาษเปล่าแก่เพื่อนๆทุกคนใน class แล้วบอกว่า "ไหนเพื่อนๆทุกคน ลองเขียนตัวหนังสือลงมาในกระดาษเปล่าที่แจกไป แต่ให้เขียนโดยใช้มือข้างที่ไม่ถนัดนะ"

พอเพื่อนๆเขียนเสร็จ ก็โยนคำถามว่า "รู้สึกยังไงบ้าง ที่ต้องเขียนด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด?" เพื่อนๆก็ตอบกันไป

หลังจากนั้น เรื่องราวของคุณมานะ ก็ถูกถ่ายทอดออกมา ด้วยไตเติ้ล "Life is drawing without an erazor" (ชีวิตวาดได้หนเดียว ไม่มีการลบแล้ววาดใหม่) กลุ่มได้เล่าเหตุการณ์อุบัติเหตุของคุณมานะ การผ่าตัด และผลการพักฟื้น แล้วตามด้วยคำถาม

  • ถ้าเป็นคุณ เหตุการณ์นี้จะทำให้คุณเสียใจเรื่องอะไรมากที่สุด?
  • คุณมีแรงบันดาลใจอะไร ที่่จะทำให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง?
  • ถ้าความฝันของคุณคือเป็นหมอที่ดี แต่วันนี้.... คุณเป็นไม่ได้ คุณจะทำอย่างไรต่อไป?

เพื่อนๆก็ตอบกันใหญ่ สะท้อนกัน บางคนก็ถามว่า เอ.. แขนขาดเป็นหมอได้ไหม ได้มั้ง หมอพยาธิก็ได้ หมอนิติเวชก็ได้ เอ.. แล้วเขาจะให้จบไหมเนี่ย ฯลฯ แต่เพื่อนๆก็สะท้อนกันค่อนข้างเยอะ หลังจากนั้นกลุ่มก็นำเสนอว่า สำหรับคุณมานะนี่ เขาสู้กับปัญหาด้วยวิธีที่ไม่มีใครคิดมาก่อน ปรากฏว่าคุณมานะไม่ได้แสดงอาการเศร้า เสียใจ ท้อแท้มากมายอย่างที่คิดไว้ล่วงหน้าว่าคนแขนขาดน่าจะเป็น ตรงกันข้าม หนึ่งในกิจวัตรประจำวันของคุณมานะก็คือ การใช้แขนข้างที่เหลืออยู่หัดเขียนอะไรต่อมิอะไรทุกวัน รวมทั้งวาดรูปด้วย เพราะคุณมานะเคยเป็นคนที่ชอบวาดรูป เรียนจบการช่างมา ในฝันก่อนหน้านี้ที่จะเกิดอุบัติเหตุ อยากเปิดร้านซ่อมรถเป็นของตนเอง

ปรากฏว่าบันทึกหัดเขียนของคุณมานะ ไม่ได้เป็นแค่แบบฝึกหัดเขียนหนังสือเท่านั้น บันทึกนี้ได้กลายเป็น diary เล่าความคิด ความรู้สึก และเรื่องราวต่างๆมากมาย ซึ่งพอน้องๆนศพ.ได้มีโอกาสอ่านบันทึกนี้ ก็เกิดความรู้สึกทึ่งมาก ในความสามารถในการ cope กับปััญหาใหญ่แบบนี้ของคุณมานะ ตัวหนังสือที่ตอนแรกจะโย้เย้ เพราะหัดเขียน ค่อยๆดีขึ้นทุกๆวัน จนภายหลังแทบจะแยกไม่ออกว่าเป็นการเขียนด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด

ตอนแรกๆ

ตอนหลังๆ

พอเริ่มเขียนถนัดขึ้น คุณมานะก็เริ่มเขียนเป็น diary พรรณนาสิ่งต่างๆออกมาทุกวันๆ เวลาน้องๆนศพ.ไปราวน์ พอถึงใกล้ๆเตียงคุณมานะ ทุกคนก็จะเริ่มส่งสายตา ส่งรอยยิ้ม เพราะการสัมภาษณ์ต้องใช้เวลายาวนานและหลายครั้งมาก ก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์พิเศษขึ้น ไม่เพียงเฉพาะระหว่างคุณมานะกับน้องๆ แต่พลอยรวมไปถึงคุณพ่อ คุณแม่ของคุณมานะด้วย

คุณมานะเขียน progress note ของตนเอง

ตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล คุณมานะให้ความร่วมมือในการรักษาทุกอย่าง พูดคุย เล่าอาการ ถามไถ่ แทบจะไม่มีตอนไหนเลยที่น้องนักศึกษาแพทย์จะเห็นอาการแสดงของความท้อแท้ สิ้นหวัง หรือแม้แต่การเสียใจ อาจจะมียกเว้นเพียงครั้งเดียว ตอนที่คุณพ่อ คุณแม่ ของคุณมานะมาเยี่ยม แล้วช่วยกันพยุง ป้อนข้าว เพราะยังใช้แขนไม่ถนัด การทรงตัวก็เสียไป (ปรากฏว่าน้องๆบอกว่าพึ่งทราบเหมือนกัน แขนไม่ได้ใช้แต่เขียน แต่ทำงาน มันช่วยเรื่องการทรงตัว ท่าเดิน และสมดุลต่างๆด้วย) คุณมานะตอนนั้นก็จิตตกไปนิดหน่อย ภายหลังบอกว่าไม่เคยคิดว่าตนเองจะต้องเป็นภาระแบบนี้ให้แก่พ่อแม่ตั้งแต่โตมา

แต่การที่คุณพ่อคุณแม่มาช่วยเหลือ ยิ่งทำให้คุณมานะตั้งใจมากยิ่งขึ้นที่จะพยายามหัดใช้แขนข้างที่เหลืออยู่ให้เร็วที่สุด จะได้ช่วยเหลือตัวเองให้ได้เร็วที่สุดด้วย

ปรากฏว่าคุณพ่อ คุณแม่ของคุณมานะ ก็ได้ทราบเรื่องสมุดบันทึก แล้วก็เลยร่วมเขียนบันทึกลงไปด้วย พอน้องๆนศพ.อ่านแล้วก็ถึงกับน้ำตาซึม และซาบซึ้งในความอ่อนไหว รู้สึกร่วม และการเป็นกำลังใจของคุณพ่อ คุณแม่คุณมานะมาก

พ่อแม่ร่วมเขียนบันทึกกับลูก

ทุกๆคนที่มีส่วนในการดูแลคุณมานะ ต่างเกิดความรู้สึกร่วม และหันมาเขียนเพิ่มเติมลงในบันทึกฉบับนี้ (ดูจะกระตือรือร้นกว่าเขียน progress note เสียอีก ฮึ ฮึ) แม้แต่พยาบาลก็ยังมาร่วมเขียนด้วย

ใน case แบบนี้ เราก็เริ่มจะ blurๆ แล้วว่าใครกำลังจะ empower ใครกันแน่ เพราะตอนแรกน้องๆหลายคนก็บอกว่าไม่รู้จะไปคุยเรื่องอะไร พูดยังไงดี กลัวพูดผิด จะทำให้คนไข้เสียใจ กลัวคุณมานะจะแสดงออกในรูปแบบต่างๆที่ตนเองไม่แน่ใจจะรับมือไหวไหม

ล้วนเป็น fear ความกลัว ที่เกิดจาก sympathy คือการมีอารมณ์ร่วม และเอาอารมณ์ของเราเข้าไปสวมทับ แต่ถอยออกมาไม่ทัน จิตเลยตก จมดิ่งไปกับการจินตนาการว่า "ถ้าเราเป็นแบบเขา..."

โชคดีที่คุณมานะ ดึงเอาพลังมาจากไหนไม่ทราบ ทำให้เขาสามารถแสดงออกอย่างที่เป็น ก็เลยไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่คิด น้่องๆทั้งกลุ่มก็เลยกล้าออกไปสัมผัสมากขึ้น และพลอยได้เรียนอะไรมากขึ้นไปด้วย

รวมทั้งโอกาสมากมายหลายครั้งที่ได้ "ชมคนไข้" อย่างเต็มปากเต็มคำ ว่าทำได้ไง สุดยอด คิดอย่างนี้มาได้อย่างไร ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นการชมที่มี solid evidence ชัดเจน ไม่ได้เป็นการชม "ตามมารยาท" หรือ "ตามที่ควรทำ" แต่เป็น authentic complimentary จริงๆ

ซึ่งการชมคนไข้ ไม่เพียงแต่เป็น "ยาที่ราคาถูกที่สุด ได้ผลมากที่สุด" แล้ว ยังเป็นการเปิดโลกทรรศน์ของน้องๆหมอว่า บ่อยครั้งเราไม่ได้เป็นคนให้คนไข้หรอก เราเองที่เป็นผู้รับ ผู้เรียนรู้อะไรมากมายจากคนไข้ คนไข้เป็นคนทำให้เราเป็นหมอที่งดงามขึ้น แข็งแกร่งขึ้น ฉลาดเฉลียวมากยิ่งขึ้น

บทเรียนบทสุดท้ายที่คุณมานะฝากให้น้องๆนักเรียนแพทย์ก่อนคุณมานะกลับบ้าน

ผมฝากคำถามสองสามคำถามไปให้น้องๆนักศึกษาแพทย์ทุกคนไปคิดต่อว่า เราได้ "เรียนอะไรบ้าง" จากคุณมานะและครอบครัว การที่คนเรามี "ต้นทุน" อย่างที่เราเห็นนั้น มันไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบ automatic อัตโนมัติ หากแต่เกิดขึ้นจากการ "ลงทุน ลงแรง" หรือ "การกระทำ" ของเราเอง บ่อยครั้งที่เราเจอคนไข้ที่มีต้นทุนดีๆอย่างของคุณมานะ เราจะต้องถามตัวเองว่า "เอ... เราได้ทำอะไรบ้าง ที่ทำให้เราเองมีต้นทุนดีอย่างที่คนไข้มีหนอ?"

ขอขอบคุณน้องๆนักศึกษาแพทย์กลุ่ม B ทุกคน น้องสิทธิกร รุจิรา พูนสวัสดิ์ พิชญ์ ถิรายุ ณรงค์ฤทธิ์ ญาดา และน้องกาญจนา You have indeed made my day!!

หมายเลขบันทึก: 381574เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2010 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ขอบคุณค่ะ..พี่ขอแอบตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า "เสียแขน แต่ไม่เสียกำลังใจ"...ทำให้รำลึกว่า ทุกปีใหม่ มีส.ค.ส วาดภาพโดยกลุ่มศิลปินวาดภาพด้วยปากและเท้า ส่งทางไปรษณีย์มาให้อุดหนุนซื้อลักษะเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่การกุศล ทุกชุดประกอบด้วยภาพวาดสวยงามไม่แพ้ศิลปินทั่วไป พี่ซื้อและเก็บไว้เองด้วยความชื่นชม..วันนี้ไม่มีรูปวาดที่กล่าวมาแสดง ขอส่งดอกไม้หน้าฝนในสวนมาฝากค่ะ..

 

ขอบพระคุณครับพี่นงนาท จริงอย่างที่พี่ว่า "เสียแขน แต่ไม่เสียกำลังใจ"

ลืมบอกไปว่าคุณมานะมีแฟนแล้วด้วย แล้วก็เขียนบันทึก จดหมายโต้ตอบสนทนาพูดคุยกันตลอด น่ารักมากๆ แต่ผม censor ไปไม่ได้เอามาแสดงครับ

เป็นเรื่องเร้าพลังใจมาก ๆ ค่ะอาจารย์หมอ อ่านแล้วได้อมยิ้ม อิ่มใจ และดีใจแทน ยิ่งมาทราบว่าได้ใช้ทักษะการเขียนสร้างพันธนาการรักด้วยแล้ว ยิ่งมหัศจรรย์ค่ะ ดูเหมือนว่า ทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้ หากมีพลังใจ ... ชื่นชมด้วยจิตคารวะค่ะ

-ขอบคุณคนไข้ ครอบครัวของเขา ชุมชน ความเป็นมนุษย์ของทุกๆคน ที่เรื่องราวของเขาเหล่านี้ทำให้เราเติบโตขึ้นทุกวันครับ

บันทึกของอาจารย์มีสาระที่เป็นประโยชน์มากครับ

ขอบคุณครับ

ในที่สุดก็ได้เห็น Biographical Journey ที่ Otto เคยเอ่ยถึง ในองค์กรระดับสี่ บนแผ่นดินไทย ด้วยน้ำมือของคนไข้ และว่าที่คุณหมอในอนาคต Hope ยังมีเสมอในก้นหีบ Pandora อันมืดมน

เพิ่มพลังค่ะ ได้เพิ่มพลังจริงๆ ขอบคุณอาจารย์ น้อง นศพ. และ คุณมานะมากๆ ค่ะ

Biological journey is there and has been there all the time. Just underrated!!

ขอบคุณครับคุณดอกผักบุ้ง น้องๆคงจะดีใจที่มีกำลังใจเยอะครับ

ขอบคุณอาจารย์ที่เขียนให้อ่าน อย่างน้อยก็รู้สึกจิตใจมันสบายขึ้น เพราะเราผิดกับน้องนี่คือ กายไม่ป่วย แต่ใจมีแนวโน้มจะป่วย

Susan

จริงครับ บางทีจิตตกก็ต้องเดินหาๆเอาว่าหล่นอยู่แถวไหน หรือแวะเข้าปั๊มเติมน้ำมันเหมือนกันครับ

เพิ่งกลับจากการอบรม Med Ed ค่ะอาจารย์

อ่านเรื่องนี้แล้ว ทึ่งกับ อภิชาติครู(คนไข้) อภิชาติศิษย์ และอภิชาติครู(คนเขียนบันทึก)ให้หลาย ๆ คนได้อ่านเรื่องดี มีพลัง ค่ะ

 

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ

เมื่อไรก็ตามที่มีคนไข้ มีหมอ มีนักเรียน เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา ทุกวัน ทุกสถานที่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท