ตัวประกอบยอดเยี่ยมได้แก่....


ตัวประกอบยอดเยี่ยมได้แก่...

เดี๋ยวนี้ใครๆก็พูดกันถึงเรื่องประสิทธิภาพ ความสำเร็จ ทำยังไงจะรวย เคล็ดการเป็นยอดมนุษย์ ยอดคน เจ้าสำนัก เจ้ายุทธภพ จนเหมือนกับว่าจะหมดยุคหรือหมดพื้นที่สำหรับคนธรรมดาๆไปเสียแล้ว มีโรงเรียนพิเศษ พิเศษกว่าโรงเรียนธรรมดา เหนือกว่า สูงกว่า เก่งกว่า เด็กเดี๋ยวนี้อาจจะต้องตื่นแต่เช้าวันเสาร์อาทิตย์เพราะมีตารางสอนพิเศษแน่นกว่าวันธรรมดาเสียอีก พ่อแม่ต้องพาลูกไปส่ง นั่งรอ และรับไปส่งอีกที่หนึ่ง นั่งรอ รับไปส่งอีกที่หนึ่ง นั่งรอ พากลับบ้าน สลบ... (ก็อาจจะเป็นวันพิเศษจริงๆ คือ หนักกว่าวันธรรมดาเยอะ)

เวลาเราจะพูดถึง incentive หรืออะไรที่จะเพิ่มแรงบันดาลใจ สิ่งที่ผุดโผล่ขึ้นมาในใจทันทีก็จะเป็น "ยอดเยี่ยม รางวัลที่หนึ่ง ดีเด่น...." มีการประกวด มี contest มีประชันขันแข่ง แล้วก็จะมีการร่างตัวชี้วัด ร่างคุณสมบัติอันพึงประสงค์ (หรือพึงดีเด่น) จะว่าไปในยุคที่ใครๆก็นิยม "พอเพียง" ปรากฏการณ์เหล่านี้ก็อาจจะดูเป็นพอเพียง version ที่พิศดารดี เพราะมันเต็มไปด้วยคำ "กว่า" คำ "อีก" คำ​ "เพิ่ม" คำ "เหนือ" คำ "ด้อย"

ใน workshop ที่ผมกับทีมได้ไปทำให้คนมากมายหลายกลุ่ม บ่อยครั้งที่เรามักจะขอให้ผู้เข้าร่วมนึกถึงเรื่องราวที่เป็น "แรงบันดาลใจ" นึกถึงทีไรก็มีความสุข นึกถึงทีไรหัวใจพองโต นึกถึงทีไรก็อยากจะพุ่งตัวลุกจากเตียง ตื่นขึ้นมาอย่่างกระฉับกระเฉง คนก็จะเริ่มก้มหน้าก้มตาเขียนลงไปในสมุดบันทึกส่วนตัว แต่ก็อดมิได้ที่จะสังเกตเห็นทุกครั้งว่ามีคนที่เขียนไม่ออก นั่งหน้านิ่ว คิ้วขมวด เหม่อลอย พยายามคั้น จะเค้น จะเคล้น ออกมาให้ได้ "งานสุดยอด" ที่ว่านี้ให้ได้ เพราะขนาดเป็นแรงบันดาลใจนี่ มันต้อง "ไม่ธรรมดา"

เรามองหาอะไรที่ไม่ธรรมดา จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา และที่น่าตลกก็คือ เรื่องไม่ธรรมดากลับกลายเป็นธรรมดาไปหมด

ผมเคยได้ยินคนรำพึงรำพัน ในโรงพยาบาลรัฐนี่เอง บางทีเราก็มีคนไข้บางคนที่เจ็บป่วยเรื้อรัง บางโรคก็น่าสงสารมาก เพราะเด็กที่มีระบบทางเดินอาหารผิดปกติมากๆ เช่น ลำไส้อักเสบรุนแรง เน่าเสีย ต้องตัดลำไส้ทิ้งไปเยอะเพื่อรักษาชีวิต สุดท้ายก็รอดมาได้ แต่ต้องพึ่งพาอาศัยอาหารทางหลอดเลือดดำตลอดเวลา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก การดูแลก็ต้องเพิ่มอย่างใกล้ชิด เพราะมันเสี่ยงติดเชื้อ เสี่ยงอะไรต่อมิอะไร กลายเป็นเกือบๆจะเรียกว่าย้ายบ้านมาอยู่ที่โรงพยาบาล การกลับไปบ้านกลายเป็น "เยี่ยมบ้าน" ส่วนการมาโรงพยาบาลกลายเป็น "กลับโรงพยาบาล" ไป แต่ก็เป็นไปเช่นนี้ เด็กโตขึ้น เข้าโรงเรียน (มีรถไปส่งที่โรงเรียน) พ่อแม่ก็ปรับตัวที่จะ "เยี่ยมลูก" ที่โรงพยาบาล ชีวิตไม่เหมือนเด็กคนอื่นแต่ก็มีชีวิต

สิ่งที่โรงพยาบาล "เห็น" ก็จะกำหนดความสุข ทุกข์ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง

บ้างก็เห็นว่านี่เป็นภาระ เด็กโตขึ้นมาก ต้องย้ายจาก ward เด็ก ไปอยู่ ward ผู้ใหญ่ เพราะอายุเกินเด็ก เนื่องจากเราดูแลดี ก็มีชีวิตต่อไปได้เรื่อยๆ แต่บางคนก็คิดว่า เมื่อไรจะพอ เมื่อไรจะหยุด นี่จะต้องเลี้ยงไปอีกนานเท่าไร เด็กคนนี้จะกลายเป็น resident ถาวร ย้ายสัมมะโนครัวมาอยู่ รพ.เลยหรือไม่

บ้างก็เห็นว่านี่แหละคือสาเหตุที่เรามีโรงพยาบาลมาแต่แรกเริ่ม คือดูแลผู้คน เงินที่ใช้ในการดูแลเด็ก ก็คือเงินภาษี ที่คนส่วนใหญ่มาช่วยเหลือจุนเจือคนบางคนที่โชคร้ายกว่า ด้อยโอกาสกว่า เป็นศักยภาพของชุมชนที่เอื้อเฟื้อกัน ดูแลกัน

การมองโลกอย่าง poverty mentality หรือ prosperity mentality จะแตกต่างกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขา ก็จะขึ้นกับว่าจิตเราติดไปที่มุมไหน หรือมาหาสมดุลได้ที่จุดไหน แต่ที่แน่ๆก็คือ เมื่อไรที่เราทุกข์เพราะการที่ต้องดูแลผู้คน ก็น่าจะถึงเวลาที่เราจะมาทำ self reflection สะท้อนตนเองให้จริงจังอีกนิดนึง ค้นหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันใหม่ และหาทางออกที่ดูเหมือนจะตันให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการมองหามูลนิธิที่อาจจะมี fund support มาช่วยเหลือทางโรงพยาบาล การยื่นมือออกไปหาความช่วยเหลือถ้าเราอยู่ในสภาพเตี้ยอุ้มค่อม

ซึ่งคนเตี้ยที่อยากจะอุ้มค่อมก็มีจิตใจที่งดงาม และอาจจะต้องการวิธีอื่นมาเสริม intention ที่งดงามนั้น จะได้ทุกข์น้อยลง

เรื่องราวเหล่านี้ไม่ค่อยมีพระเอก นางเอก ไม่มีฮีโร่ ไม่มีฮีโรอีน ถ้าจิตเราแสวงหาแค่เรื่องดีเด่น กว่า อีก ยอดเยี่ยม มีกรณีแบบนี้เยอะๆเราก็อาจจะจิตตก แต่อย่าลืมว่า ในคืนแห่งความสำเร็จ ความหรูหราของรางวัลออสการ์ แม้ว่ารางวัลสุดยอดคือหนังยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม ดารานำชายยอดเยี่ยม ดารานำหญิงยอดเยี่ยม เขาก็มีรางวัล "ตัวประกอบยอดเยี่ยม" ด้วย

และในชีวิตจริงนั้น แทบจะไม่มีปรากฏการณ์อะไรเลยที่คนใดคนหนึ่งคนเดียวจะประสบความสำเร็จสุดยอดด้วยลำพังคนเดียว แต่ละคน จะมี "ตัวประกอบ" จำนวนมาก ไม่ใช่คนเดียวด้วยซ้ำ ที่ประคับประคอง และทำให้ "งานสุดยอด" นั้นประสบความสำเร็จลงได้

ในบทความเรื่อง "ความรู้นั้นตกผลึก หรือตกตะกอน" ผมยกตัวอย่างของคุณพ่อคนหนึ่ง สร้างซุ้มให้ลูกสาวเพื่อจะใช้ในงานแต่งงาน อาศัยตำรับตำราการออกแบบหลายเล่ม แต่การที่ผลงานออกมาแบบ masterpiece สุดยอดนั้น อยู่ที่ "สภาวะภายใน" ของคุณพ่อที่กำลังทำซุ้มนี้ในงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของลูก ซุ้มนี้กำลังจะเป็นที่ถ่ายโอนความรับผิดชอบ ที่จะดูแลคนที่เราได้รักมาตลอดยี่สิบปีให้อีกคนหนึ่งมารับช่วงต่อ แต่ก็ไม่เพียงแค่นั้น ถ้าเราคิดดูดีๆ ขณะที่คุณพ่อกำลังเกิดแรงบันดาลใจ ลงมือสร้างซุ้มอย่างประณีตบรรจงนั้น หากคุณพ่อหิว หากคุณพ่อเหนื่อย งานก็จะขาดตอน แต่ทุกครั้งก็จะมีคุณแม่บ้าง ลูกชายบ้าง เดินมาเอาน้ำมาให้ เอาขนมมาเสริฟ บางทีก็มีลูกสาวมายืนเกาะบ่าให้กำลังใจ พูดขอบคุณเบาๆที่ข้างหู บางทีก็มีเพื่อนบ้านมายืนเกาะข้างรั้ว พูดคุยชมเชยความสวยงามที่กำลังผุดปรากฏ

ฯลฯ ฯลฯ

เหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อ final product ทั้งสิ้น ผสมกลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียว

รวมไปถึงสัณชาติญาณความเป็นมนุษย์ ที่สามารถถ่ายทอดความรัก การให้ การทำให้ผู้อื่นและเกิดแรงบันดาลใจ

ทั้งหมดนี้่รวมกันเป็น "ตัวประกอบยอดเยี่ยม" ทำให้คนที่อยู่บนเวทีแสดงนำ ได้ทำอย่างที่เขาทำ ได้เป็นอย่างที่เขาเป็น

ในความ glamour ของดารานำชาย ดารานำหญิง บทบาทของเขาเหล่านี้จะไม่ได้ทรงพลังอย่างที่เป็น หากขาดซึ่งพลังแห่ง narrative พลังจากตัวประกอบจำนวนนับสิบ นับร้อย ช่างภาพ ช่างแต่งหน้า ผู้กำกับ พ่อแม่คนมาเชียร์ ชาวบ้านที่มุงดู ชาวบ้านที่รอชมภาพยนต์ ฯลฯ คนเหล่านี้มีส่วนทำให้ผลงานออกมาอย่างที่เราได้เห็น ได้ชม ทั้งสิ้น

แต่เราไม่ค่อยคิดถึงคนเหล่านี้เท่าไรนัก ใช่หรือไม่?

เราคิดว่า contribution จากคนเหล่านี้น้อยนิด เมื่อเทียบกับดารานำชาย ดารานำหญิง ดังนั้นใครๆก็ไม่อยากเป็นตัวประกอบ ใครๆก็อยากจะแสดงนำ

ใน workshop เราจึงเติมกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งลงไป นั่นคือ Honor ตัวประกอบยอดเยี่ยม การรำลึกถึงพระคุณของตัวประกอบของชีวิตของเรา จากเรื่องราวที่เราถือว่าสุดยอด เป็นแรงบันดาลใจ ทำหัวใจพองโตของทุกๆคน ลองมองหาไปว่า เราอาศัยตัวประกอบใครบ้างที่มาช่วยเหลือเรา ลองบันทึกรายชื่อของคนเหล่านี้เข้าไปในเรื่องราวของเราดู

และลองถามตัวเองว่าเราเคยที่นึก "ขอบคุณ" ตัวประกอบเหล่านี้บ่อยแค่ไหน หรือบ้างหรือเปล่า?

ลองถามตัวเองว่าเราเคยคิดไหมว่า หากขาดคนเหล่านี้ไป ชีวิตเราก็อาจจะไม่ได้มีเรื่องราวความสำเร็จเหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างที่เป็น?

และหากคนเหล่านี้มานั่งอยู่เบื้องหน้า เราอยากจะบอกให้เขารู้ไหมว่า สิ่งเล็กๆน้อยๆที่เขาได้ทำนั้น มีผลอย่างไรต่อชีวิตของเราบ้าง?

สิ่งสุดท้ายที่ผมจะขอให้เขียนลงไปก็คือ ตัวเราเองนั้น ก็ได้มีโอกาสเล่นเป็น "ตัวประกอบ" มากมายสำหรับชีวิตคนอื่นเช่นกัน มีโอกาสที่ได้เป็นตัวประกอบยอดเยี่ยมด้วยในกรณีมากมายเหลือคณานับ แต่เราเองก็ไม่ค่อยจะได้ชื่นชมในบทบาทตัวประกอบของเราเท่าไหร่นัก... หรือไม่?

แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆที่เราทำ หากเราสามารถนับเป็นอะไรที่เราได้ "ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า" บางทีตอนเราเขียนเรื่องแรงบันดาลใจของเรา มันอาจจะไม่ได้ยากเท่าที่เคย หน้าเราไม่ต้องนิ่วคิ้วขมวด หรือจะต้องนึกอะไรที่มันวิลิศมาหรามากนัก เพราะบทตัวประกอบนั้นหาง่าย ทำอยู่ทุกวี่วัน ขอเพียงเราไม่ได้รังเกียจรังงอนอะไรกับการเป็นตัวประกอบ เพียงเท่านี้ เราก็อาจจะมีชีวิตกับการมีแรงบันดาลใจแบบง่ายๆ

มาเป็นตัวประกอบยอดเยี่ยมกันเถอะ

หมายเลขบันทึก: 413645เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2010 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 03:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

หลังกลับมาจากworkshopที่เชียงใหม่หนูได้มีโอกาสไปขอบคุณผู้ที่ให้แรงบันดาลใจในชีวิตการเป็นพยาบาลของหนูหลายคน

และที่อยากทำต่อไปคือหนูอยากเป็นตัวประกอบที่ดีของคนอื่นๆที่อยู่รอบข้าง ( หว้งเอาไว้เช่นนั้นคุะ )

อาจารย์ที่เคารพครับ...

อ่านบันทึกนี้อย่างช้าๆ เเละ ได้ printout ออกมาอ่านอีกครั้งครับ...ผมสนใจในส่วนของกระบวนการใน workshop ที่อาจารย์ได้ออกแบบ หลายครั้งงานของผมจำเป็นต้องสร้างพลังจากภายใน (ทั้งผมเเละ participant) ดังนั้นผมจึงมองว่า "กระบวนการ"ใดที่เราทำเเล้ว มีพลังเเละสร้างเเรงบันดาลใจเเรกเริ่ม เป็นเรื่องที่วิเศษมากเลยครับ

ผมได้นำหลายวิธีคิดผ่านการอ่านงานของครูอาจารย์ รวมถึง อ.หมอสกล ไปใช้หลายครั้งเลยทีเดียว นี่ก็เป็นต้นเหตุให้ อยากเจออาจารย์เพื่อนั่งลงสนทนากัน ถึงประสบการณ์ที่ผมพบเจอ...

ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งครับ

เอก -จตุพร

เอกครับ

เมื่อเราได้นั่งลงคุย เราก็จะได้ทำแน่นอน เมื่อเอยก็เมื่อนั้น

workshop มันสนุกดีตรงที่เราเริิ่มจาก energy ที่มีอยู่แล้วในตัวผู้คน แต่เรากำลัง "กวน" ให้เกิด spiral dynamic โดยอาศัย energy เหล่านี้ ซึ่งจะทำได้ก็ต้องเข้าใจ participants ทั้งแบบรวมๆ และ "วาระ" พอสมควร ว่าถึงนี่ จะเล่นเรื่องไหนดี ฉะนั้นที่ผมและเพื่อนๆกลัวสุด ก็ workshop ประเภทหนึ่งชั่วโมง เพราะเราไม่มีทางทราบวาระของผู้เข้าร่วม ได้แต่หวังว่า "ถึงวาระแล้ว" ในเรื่องที่กำลังจะทำ ไม่เหมือนที่เราชอบ set 3 คืน 3 วันครึ่ง ซึ่งเราสลับสับเปลี่ยนบทเรียนได้ตามสิ่งที่เรามี กับป้จจุบันกาลได้สะดวกกว่า

ขอบคุณเอกด้วยครับ การสนทนาหลายๆครั้งที่เรามี ก็ได้สร้างแรงบันดาลใจ ไม่ตอนนั้น ก็ในเวลาต่อมาเสมอๆ

ด้วยความยินดีครับอาจารย์จันทวรรณ ว่าแต่เรื่องอะไรครับ แหะ แหะ

WS ครูที่เชียงใหม่ ผมกำลังคิดว่า เริ่ม check in จาก"เรื่องสุดยอดที่สร้างเเรงบันดาลใจ" นี่หละครับ จากนั้นค่อยๆตบเข้าสู่กระบวนการคิด ใคร่ครวญไปด้วยกัน จับประเด็นให้ไหลวนอย่างเป็นธรรมชาติในทั้งวัน สุดท้ายสายธารเเห่งพลังก็คงเพิ่มพูนในช่วงสุดท้าย WS (ผมคาดหวังแบบนั้น)

ด้วยเป็นประเด็นการศึกษา ผมเองก็ไม่ได้เป็นครูโดยอาชีพ บางสิ่งก็ได้เเต่เติม เเละชวนคิด ชวนคุยด้วยกัน

ใน session สุดท้าย ผมใช้หนังครับ หนังที่ผมโพสใน FB นั่นละครับ "Coach Carter" ที่ผมดูเเล้ว หนังเรื่องนี้ให้เเง่คิดที่ดี ผมคาดหวังให้ครูเป็นเสมือน FA ซึ่งปกติท่านก็เป็นอยู่เเล้ว เเต่หากยกระดับเป็น Change FA. ได้ ก็จะสอดคล้องกับประเด็นครูเพื่อศิษย์ศตวรรษที่ ๒๑ ที่ อ.วิจารณ์ท่านได้บันทึกมาโดยตลอด

เเล้วผมจะเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี่ครับ ว่าผมได้เรียนรู้ เเละผมเติบโตอย่างไร ในงานของผมอีกไม่กี่วันนี้

 

ดีครับ เอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ไม่ทราบว่าเอกมีเวลาสำหรับ workshop แค่ไหนนะครับ เรื่องแรงบันดาลใจนี่ เป็น energy ลึก การ prepare participants สำคัญทีเดียว ไม่งั้นเราจะได้เรื่องราวจาก "ฐานคิด" เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแรงบันดาลใจที่ไม่ได้มาจากทั้งฐานใจ และฐานกาย จะหลวม ไม่ทรงพลัง และที่สำคัญคือไม่ยั่งยืน เพราะการคิดนั้นติดอยู่ที่ cortex ของสมองชั้นตื้นๆ วันๆเราคิดเป็นหมื่นเป็นแสนเรื่อง

จะลงฐานใจ จะต้องทลาย fear ให้ได้ก่อน สำหรับในบรรยากาศที่คนรู้จักกันดี คุ้นเคย ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวก็ง่าย เริ่มได้เร็ว แต่ถ้าเปลี่ยนบรรยากาศ อยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า มีความระแวดระวังว่าจะถูกตัดสิน ฐานใจจะปิด เปิดแต่ฐานคิดเพื่อความระแวดระวังตัว สิ่งที่ออกมา จะเป็นอะไรที่ดูดี ปลอดภัย

วาทะที่ motivate นั้น จะทะลุทะลวง "อารมณ์" หรือฐานใจเสมอ ไม่เปิดใจ ก็ไม่บันดาลใจ แต่จะเปิดใจผู้เข้าร่วมได้ยังไง นี่เป็นหน้าที่กระบวนกรโดยแท้

เอาใจช่วยครับ

ขอบคุณครับอาจารย์

วาทะที่ motivate นั้น จะทะลุทะลวง "อารมณ์" หรือฐานใจเสมอ ไม่เปิดใจ ก็ไม่บันดาลใจ แต่จะเปิดใจผู้เข้าร่วมได้ยังไง นี่เป็นหน้าที่กระบวนกรโดยแท้

 

ผมจะพยายามทำให้ประณีตเเละทำด้วยความระมัดระวัง อดทน รอคอย

ผมอาจจะมีเวลาน้อย เพียง ๑ วัน 

เเต่เพียง ๑ วันผมก็อยากให้ช่วงเวลาเล็กๆที่เราอยู่ด้วยกัน เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามากที่สุด ผมพยายามทดลองหลายๆวิธีการที่พยายามเข้าไปนั่งในใจของกันเเละกันผ่าน Workshop หลายๆครั้งพบว่า บุคลากรทางการเเพทย์(สาวนใหญ่) เราเดินทางเข้าไปเขตปลอดภัยของกันเเละกันไม่ยากนัก เเละวงการครูก็เคยมาบ้าง ก็ไม่ได้ยากมากมายเช่นกัน

ท่าทีของกระบวนกรสำคัญนัก ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ พลังความดีงาม เมตตา เอื้ออาทรอย่างบริสุทธิ์ใจ ของกระบวนกรที่อยู่ข้างในนั้นยิ่งสำคัญ จะเอ่อท้นมาเเบ่งปันผู้เข้าร่วมตลอดเวลา เป็นพลังที่ผมว่าทุกคนรับรู้ เเละ รู้สึกอบอุ่น มีพลังได้ครับ 

"ทำให้คนแปลกหน้า เปิดใจโดยง่าย" ทำอย่างไรดีครับ?

เห็นด้วยครับเอก

นี่คือเหตุผลสำคัญว่ากระบวนกรต้องใช้ชีวิตตนเองอย่างมีสติ และเจริญธรรม เป็นเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการดูแลฐานกายให้ดี ฐานกายไม่ดี จิตจะตกตามเป็นธรรมชาติ ยิ่งทำเดี่ยว ไม่มี backup ยิ่งต้องดูแลตนเองเยอะ (ผมชอบทำ ws ใช้กระบวนกร 3-4 คน)

พวกหมอ ครู เราคุ้นเคยกับคนแปลกหน้า แต่ก็ใช่ว่าเราเปิดหัวใจให้คนแปลกหน้าเข้ามาง่ายๆเหมือนกันทุกคน เพียงแต่เราคุ้่นชินที่จะต้องพูดคุย สนทนากับคนหลากหลาย และการพูดในชุมชนอาจจะดูง่ายกว่าวิชาชีพอื่นๆนิดหน่อย

เรื่องแรงบันดาลใจเป็นเรื่อง personal และอยู่ลึก คนที่เคยใคร่ครวญกับตนเองก็จะเข้าใจตนเอง มีแรงบันดาลใจของตนเอง แต่หลายคนที่ใช้ชีวิตปราศจากโยนิโสมนสิการ หรืออาจจะถูก burden ด้วยภาระที่ห่างไกลจาก the source ของตนเอง เช่น ต้องไปทำตาม KPI ตาม requirement ที่ set มาโดยคนอื่นที่ไม่เข้าใจบริบทการทำงานของเราเอง แต่ไม่ทำไม่ได้ จิตก็ตกไปแต่แรกเริ่ม

ดังนั้นคำถาม "จะเปิดใจคนแปลกหน้า" นั้น ถ้าจะตอบรวมๆก็ต้อง "สร้าง safe zone" ขึ้่นมาให้ได้

เพราะถ้า guard ยกตลอด คนเราไม่เปราะบาง สวมเกราะเหล็ก กางโลห์ มี helmet เต็มยศ ที่เราได้ก็คือเกราะแวววาวที่เอาไว้ตั้งโชว์ แต่ไม่ได้ดวงวิญญาณภายใน การสร้าง safe zone ให้คนแปลกหน้าก็มีหลากหลายวิธี ขึ้นกับ background ขึ้นกับวาระ ขึ้นกับว่าเขามากันทำไม ถูกเกณฑ์มา สมัครใจมา มาแล้วต้องกลับไปเขียนรายงานเบิกเงินย้อนหลัง มาแล้วต้องมีโครงการใหม่เกิดขึ้น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อความคิด ความรู้สึก และความมุ่งมั่นของคนเข้าร่วมกิจกรรม

บางคนก็ใช้กิจกรรมฐานกายปลดล็อก (ฐานกาย กับความกลัว สัมพันธ์ใกล้ชิด) เราพบว่าถ้าผู้เข้าร่วมสามารถ "เต้นกายภาวนา" ไปกับเรา ไหล่เปิด ตัวอ่อน ไม่แข็งกระโด๊ก มีอิสระในการเคลื่อนไหวร่างกายเต็มที่ มักจะลดความกลัวไปมากแล้ว แต่ถ้าพบบางคนจะขยับแขน แกว่งขา ส่ายสะโพก ยังเหลียวซ้ายแลขวา เปรียบเทียบตนเองกับคนโน้นคนนี้ ชำเลืองดูว่าเราทำผิด หรือทำถูก นี่อารมณ์กลัวยังครอบงำเป็นเจ้าเรือนอยู่ สิ่งที่พูดออกมา จะพูดเพราะมัน safe แต่อาจจะไม่ใช่เรื่องลึกๆในใจของตนเอง อ่านกวีก็จะตามฉันทลักษณ์ ไม่ใช่ตามความสุนทรีย์ ซึ่งมันต่างกัน (คิด กับ รู้สึก)

เคยเปิดเพลงของบรรจบ ถ้าเต้นได้คล่อง หรือบางคนก็หลุดความกลัวตรงที่เห็นทั้งหมดเต้นกันนี่แหละ ก็ง่ายเลย ก็มี

บอกยากเหมือนกัน มันมีหลากหลายวิธี แล้วแต่ pants ครับ

ครูดอย ณ เชียงใหม่ และ ณ แม่ฮ่องสอน ... จะเฝ้ารอกระบวนการของท่านอย่างใจจดใจจ่อทีเดียวเชียวแหละ ... ถึงแม้จะต้องให้วิทยากรไปนอนวัดก็ตาม ;)...

ขอบคุณครับ อาจารย์หมอ ;)

ขอบคุณครับ คุณเอก ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท