จิตตปัญญาเวชศึกษา 150: Salutogenesis and Self-transcendence


Salutogenesis and Self-transcendence

"What do I like about SHA?"

มีคำถามหนึ่งป๊อบขึ้นมาในศีรษะก่อนจะถึงวันงานประชุมสัมมนา SHA conference and contest ณ รร.อิมพีเรียลควีนส์ปาร์คในอีกไม่กี่วันนี้ เนื่องจากผมได้มีโอกาสอันดีที่ได้มาเกี่ยวเนื่องพัวพันกับ SHA หรืออีกนัยหนึ่ง HA ที่เพิ่ม S เข้าไป (Safety, Standard, Sustainability, Sufficiency economy และ Spirituality) ด้วยการร่วมจัดกิจกรรม workshop ให้แก่โรงพยาบาล SHA รุ่นสอง และบางส่วนของรุ่นหนึ่งเกือบๆร้อยโรง และกับท่านที่ปรึกษาผู้ตรวจเยี่ยมของ สรพ.อีกชุดหนึ่ง ในระหว่างนั้นได้ยินได้ฟังเรื่องราว มุมมอง เสียงสะท้อน ทั้งเป็นและไม่เป็นทางการ ทั้งจากตัวเราเองและตัวคนอื่น จากผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร แนวหน้า แนวหลัง แนวสนับสนุน

ตามธรรมเนียมของอะไรที่ไม่เหมือนเดิม (บางท่านเรียกว่า "ใหม่" แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใหม่ แค่ "ไม่เหมือนเดิม" เท่านั้น) ก็จะมีคนหวาดระแวง จากที่เคยอยู่ใน safe zone ของตนเองมาดีๆ กำลังจะมี threat มาคุกคามหรือไม่ ก็ตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกตไปพลางๆ

"ทำ spirituality เยอะๆ ระวังจะทิ้งเรื่อง safety เรื่อง standard น่ะหนา"

ก็เป็น remark ที่ได้ยินมาแว่วๆ แต่เราก็ไม่ได้กังวลอะไรมาก เพราะสาเหตุที่ทำงาน SHA (หรือทำเรื่องดูแลผู้คน) แล้วจะได้ spirituality ไม่ได้เป็นอะไรที่เปลี่ยนตรงพฤติกรรม หากแต่ยังเป็นคนๆเดิมที่ทำอะไรเพื่อความปลอดภัย ความสุขของคนไข้ เพียงแค่ทำด้วยจิตภายในที่ละเอียดขึ้นเท่านั้น เพราะที่สุดแล้ว เราได้เรื่องจิตวิญญาณก็ต่อเมื่อเรา "เห็น" หรือเกิด seeing ในสิ่งที่เราทำ หรือพยายามจะทำ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอยากได้มาตรฐาน ได้รางวี่ รางวัล ชิงดีชิง award อะไร

สิ่งที่ผมชอบมากในเรื่องของ SHA มีหลายเรื่อง ยังกำหนดไม่ได้ตอนนี้ เดี๋ยวจะเขียนไปเรื่อยๆ แล้วค่อยนับตอนหยุดเขียน (ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่ามีแค่นั้น แต่เพราะหยุดเขียนจึงมีแค่นี้... เท่านั้น)

SHA มากับรอยยิ้มของคนทำงาน

ที่จริงคนทำงานก็ยิ้มอยู่แล้วล่ะ แต่ผมมีอคติไปเองว่าคนทำ SHA มันยิ้มแบบมีเลศนัยแห่งความสุขลุ่มลึกยังไงก็ไม่รู้

คือบางทีการ "เห็น" เป็นเรื่องสำคัญ ใน workshop ที่เราทำกัน เราจะเน้นสองเรื่องคือ seeing และ sensing เป็นหลัก (ส่วน presencing จะมีหรือไม่มีไม่เป็นไร) การเห็นนี่เป็นวิชาที่สอนไม่ได้ ได้แต่เดินไปด้วยกัน ทำด้วยกัน และสะท้อนกันและกัน เป็นกระจกให้กันและกัน (จะว่าไป สีหน้าท่าทางของคนรอบข้างนี่แหละ เป็นกระจกเงาของตัวเราเป็นอย่างดี แต่คนไพล่ไปนึกว่าเป็นของเขาอื่นๆเสียนี่)

เมื่อเราเห็นทะลุกรอบผิวนอกของการช่วยเหลือผู้คน เราจะสัมผัสกับอะไรบางอย่สงที่เป็นเอกลักษณ์อัตตลักษณ์ของมนุษย์ นั่นคือ การหลุดพ้น self ไปทำอะไรเพื่อผู้อื่นและทำให้สิ่งนั้นมีความหมายต่อการมีอยู่ของตนเอง นัก epistemologist เช่นฟรานซิสโก วาเรลา และฮัมเบอร์โต มาตูรานา เรียกคุณสมบัติเหล่านี้เป็น "การรับรู้ว่าเรากำลังรับรู้ (know that we know)" เป็น consciousness อีกระดับที่เผ่าพันธุ์มนุษย์มี แต่ไม่พบว่าสัตว์อื่นๆสามารถกระทำได้

แม้ว่าเราจะรู้สึกถึงแรงกดดันขณะปฏิบัติงาน รู้สึกต้องตั้งใจ มีสมาธิกับคนไข้เบื้องหน้า ฟังอย่างลึกซึ้ง แต่เมื่อจิตเรานิ่งและสงบเพียงพอ เราจะ "รับรู้ว่าเรากำลังตั้งใจ เรากำลังมีสมาธิ และเรากำลังฟัง" การรับรู้นี้เกิดขึ้นและเราก็จะกำลัง "เห็น" (seeing) และให้ความหมาย รอยยิ้มที่เกิดจากการเห็นนี้ ที่ผมว่ามันแปลกๆ ลุ่มลึก แนบเนียน สุขอย่างสุขุม ปิติแต่ไม่ตื่นเพริด

SHA สะท้อนต้นทุนชีวิตของผู้คน

การทำ SHA (ภาษาในวงการตอนนี้ฮิตคำว่า "ชงชา" ซึ่งผมว่าเนียนดี และให้อารมณ์ละเมียด อ่อนโยน ไม่เหมือนไม้บรรทัด) เราวางกรอบของเราเอาไว้ที่หน้าประตู และเดินเข้าไปหาผู้คนอย่างพร้อมที่โอบกอดสิ่งที่เขามี ก่อนที่จะนำเรื่องราวของเขาและของเรามาบูรณาการไปสู่ทางปฏิบัติจริง เมื่อเราไม่มีกรอบ ไม่ได้หอบอะไรหนักๆติดตัวไป เราก็เบา เราก็แห้ง พร้อมที่จะรับของใหม่ และพร้อมที่ดูดซับสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า

วันก่อนมีพี่ึคนหนึ่งเป็นทุกข์ มาถามผมว่า "หมอ ถ้ามีน้องคนหนึ่ง ใครๆก็รู้ว่ากำลังทำผิด กำลังทำไม่ดี ตัวเขาเองก็รู้ แต่เราพยายามเปลี่ยนเขายังไงก็ไม่ยอมเปลี่ยน จะให้ทำยังไงดี?"

ปัญหาเกิดขึ้นเพราะกรอบ เพราะ guidelines ทีเราแบกเข้าไปหาเขา พอเขาไม่ยอมรับแบ่งสิ่งที่เราถือไป เราก็เกิดอาการหนัก ลังเล และพาลโกรธ และข้อสำคัญคือ ไม่พร้อมที่จะฟัง และรับอะไรเพิ่มเติมมาอีก เราก็อดได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง เรื่องราวของเขา เราก็จะไม่มีทางเข้าใจในพฤติกรรมของเขา วิธีคิดของเขา เกิดเป็นทุกข์

SHA จะใช้วิธี appreciatvie enquiry และ dialogue เป็นเครื่องมือสำคัญ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราค้นพบว่าการใช้ชีวิตมีหลากหลายวิธี และหลากหลายผล แต่ละวิธีก็จะเกิดการปรุงแต่งให้เหมาะสมไปตามบริบท ตามความชอบความเชื่อ ตามวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป ตามจังหวะเวลาที่แตกต่างกันออกไป

ตัวเราเองก็ใช้ชีวิตอยู่บนต้นทุนที่เรามีอยู่ หากแต่ว่าเราให้ความสำคัญมากหรือน้อยกว่ากัน ระหว่างสิ่งที่เรามีและสิ่งที่เราอยากจะมีแต่ไม่มี

ไปๆมาๆ ก็กลับมาที่ประเด็นเดิมคือการ "เห็น" seeing อีกแล้ว ตัวเราที่เกิดทุกข์นั้น บางทีเราไม่ได้ใช้ชีวิตบนสิ่งที่เรามี แต่เรากำลังใช้ชีวิตไปกับสิ่งที่เราอยากจะมีแต่ยังไม่มี เป็นชีวิตที่ struggle ดิ้นรน แสวงหา ก็ไม่ใช่ว่าการดิ้นรนแสวงหาเป็นสิ่งไม่ดี แต่สิ่งที่ต้องไปควบคู่กันก็คือสติ การรับรู้ และการพึงพอใจในเบื้องต้น ไม่เกิดอยากจนเป็นกิเลศ หรือตามใจอารมณ์เพราะเชื่อว่าอารมณ์เป็นใหญ่ (ซึ่งขนาดไม่คิด อารมณ์ก็เป็นใหญ่เพียงพออยู่แล้วในตัวมันเอง)

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเรา "เห็น" ต้นทุนชีวิตที่หลากหลาย เราจะเกิดความ "เข้าใจได้" (อาจจะยังไม่เข้าใจ แต่พอเข้าใจได้) ในพฤติกรรมของผู้คน อันนี้ก็คือเกิด "รู้สึก" หรือ sensing ไปกับคนอื่นๆได้

การรู้สึกจะเกิดขึ้นเมื่อเราทำให้เกิด "พื้นที่ว่าง" ขึ้นมาในหัวใจของเราเองก่อน ไม่ได้เปิดเฉพาะพื้นที่คิด แต่เปิดไปถึงพื้่นที่อารมณ์ความรู้สึก เรารู้สึกเขาและเขารู้สึกเรา

ตอนนี้ที่เรากำลังก่อร่างสร้าง "ต้นทุนแห่งความสุข หรือสุขภาวะกำเนิด (Salutogenesis)" นั่นเอง

SHA คือการทำงานประจำเพื่อก้าวพ้นแต่ปนอยู่

ท่ามกลางงานอันหนักหน่วง งานประจำที่ดูเหมือนจะซ้ำๆ เดิมๆ ทุกข์เหมือนเดิม หนักเหมือนเดิม แต่มันมีอยู่แค่นั้นจริงหรือ?

กลับไปที่ตัวอย่างที่ผมเขียนไว้ในเรื่อง "ตัวประกอบยอดเยี่ยมคือ..." ความทุกข์ของโรงพยาบาลที่ discharge จำหน่ายคนไข้เด็กที่มีระบบลำไส้ล้มเหลวไม่ออก ต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย ค่าอาหารทางหลอดเลือดดำที่แพงหูฉี่ อาการก็ทรงๆและรอโอกาสจะทรุด แต่ถ้าเรามองเห็นเพียงแค่ปัญหา เพียงแค่ความทุกข์ เราก็จะ "ติดกับดัก"

ถ้าเราไม่ได้เห็นว่าเรากำลังทำงานช่วยชีวิตคน เรากำลังทำให้ชีวิตๆหนึ่ง หากปราศจากความช่วยเหลือทางการแพทย์แล้ว คนๆนี้กำลังจะตายจากการขาดอาหาร กินไม่ได้

ถ้าเราไม่ได้เห็นว่าเด็กคนนี้เขาขอบคุณเราขนาดไหน ถ้าเราไม่ได้เห็นว่าครอบครัวนี้เขาคิดเช่นไรที่โรงพยาบาลช่วยเหลือครอบครัวเขามาเป็นสิบปี

ถ้าเราไม่ได้เห็นว่าสิ่งที่เราทำ มีผลกระทบต่อญาติโกโหติกา ผลกระทบต่อนักเรียนแพทย์ นักเรียนพยาบาล มีผลกระทบต่อชุมชนที่โรงพยาบาลเราตั้งอยู่

ถ้าเราไม่ได้เห็นว่าสิ่งที่เรากำลังทำเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของสิ่งที่มนุษย์ และสังคมมนุษย์สามารถทำให้กันและกันได้ ทำให้เราแตกต่างจากสัตว์ species อื่นๆตรงที่เรา "สามารถ" ทำเรื่องนี้ได้ และได้ทำ

กับดักแห่งการคิดติดลบนี้ก็จะหยุดเราอยู่กับที่

แต่เมื่อไรที่เรามองเห็นเรื่องเหล่านี้ บางทีเรากำลัง "ก้าวพ้น" เป็นการก้าวพ้นเรื่องราวแต่เพียงผิวๆ ก้าวพ้น mundane ที่เราอาจจะเผอเรอหมกมุ่นกับมันมากเกินไป

เรียกว่าเกิดการก้าวพ้นแต่ปนอยู่ (transcend and include)

การใช้ SHA ที่ slow down จิตของเราให้สงบ และเห็น และรู้สึก (suspend, seeing and sensing) เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเรา ที่มัน chaos โกลาหลอลหม่าน ไร้เหตุผล ไร้สาระ เริ่ม make sense และเราสามารถสร้างความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของ events ต่างๆได้มากยิ่งขึ้น

ว่าทำไม ทำไม เราจึงได้มาเจอะเจอเรื่องราวเหล่านี้

เราจะพบว่ามีความ "(ดูเหมือนจะ)บังเอิญ" เยอะเหลือเกิน กว่าที่เราจะได้มาได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็นสิ่งต่างๆที่เราทำในโรงพยาบาล ในเนื้องานของเรา

มากจนกระทั่งไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญได้

ในงาน SHA conference and contest ครั้งนี้ เราจะได้มาร่วมกันเชื่อมโยงร้อยเรียงความบังเอิญต่างๆให้เป็นรูปร่าง เป็น mosaic จนกว่าเราจะได้ทราบถึง collecive karma ที่ทำให้เราได้ทำ ได้เป็น ได้มีความหมายกัน

คำสำคัญ (Tags): #sha#salutogenesis#self transcendence
หมายเลขบันทึก: 413709เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2010 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • ตามมาอ่านก่อนนะครับ
  • ผมอยู่วันที่ 16 แล้วจะได้พบคุณหมอสกลไหมเนี่ย
  • อดไปดู world cafe' เลย

งั้นคงไม่ได้เจอครับ ผมไปถึงคืน 16 ทำ ws เช้า 17 แต่อาจจะไม่ใช่ world cafe อย่างเดียว เพราะมีเวลาพอควร น่าจะทำอย่างอื่นด้วยน่ะครับ

แง อดเจอเลย รออ่านทางบันทึกนะครับ...พี่ดร.บัญชา ทำกิจกรรมวันนี้ด้วยครับ

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆแบบนี้ค่ะ อยากให้สังคมไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตทางจิตวิญญาน และปรับทัศนคติแบบนี้จังค่ะ

ขอบคุณพี่สกล เรื่องที่กระตุ้นให้คนสนใจ spiritual

ผมมีข้อสงสัย ความเป็นจริงในภาวะที่ระบบที่ malfunction จากประสบการณ์ ด้าน spiritual ที่พอมีอยู่บ้าง

ผมพบว่าspiritual ที่เหมือนกับความฝันกับความจริงไม่ไปด้วยกัน

หากลงมาอยู่ใน field พบคนที่มีโอกาสน้อยในสังคม ผมเห็นว่าเราช่วยเขาน้อยมากๆเพราะการบริการบุคคลเหล่านี้

ต้องการหมอที่มีพลังและมีความเข้าใจเรื่อง spiritual มาก ซึ่งหาคนที่จะให้บริการบุคคลด้อยโอกาสเหล่านี้ได้น้อยมาก

ผมคงไม่กล่าวถึงการบริการทั่วไปซึ่งไม่ต้องใช้พลังและ spiritual มาก แต่ในโรคร้ายและมีปัญหาที่ต้องการความเอาใจใส่จากหมอมากๆ ผมพบว่าเขาเหล่านั้นได้รับเพียงคำพูดที่สุภาพ ยังไม่ได้รับเลย

ผมไม่แน่ใจว่า ปัญหาอยู่ที่ใด เวลาฟังเรื่องดีๆนั้นมีเรื่องดีๆมาก แต่ที่พบในโรคร้าย คนไข้พบเรื่องแย่ๆมากกว่าเรื่องดีๆ อาจเพราะผมมีโอกาสดูแลคนที่มีโอกาสทางสังคมน้อยจึงเห็นว่าระบบ malfunctionอยู่มาก โรงพยาบาลหลายๆโรงหากินกับคนไข้ที่มีโอกาสน้อย

ผมไม่เห็นมีใครพูดถึงเขาเหล่านั้น อาจจะมีโอกาสรับรู้เรื่องแย่ๆน้อยไป หรือการไม่ได้อยู่ใน field เดียวกับเขาเหล่านั้นว่าเขาถูกได้รับการบริการนั้นอย่างไร อาจเป็นปัญหาเรื่องการรับรู้

ความไม่เท่าเทียมกันในการได้รับบริการกับเรื่อง spirituality เหมือนไม่เกียวเนื่องกัน แต่หากต้องพบและรับรู้เรื่องเหล่านี้บ่อยๆคงต้องใช้ spiritual ในการดูแลตนเองและผู้อื่น และคิดไปก็เกี่ยวเนื่องกัน หากมี workload มากเกินไป ก็ขัดขวาง เรืองสงบ เห็น รู้สึก ตาม ทฤษฎ๊ตัว U ผมคิดว่าหากไม่ได้เรียนรู้เรื่องใจเพียงพอก็ยากจะประยุคต์ใช้ได้ เพราะเราส่วนใหญ่ทำงาน overload หากตรวจคนใข้น้อยลงคงใช้เรื่อง สงบ เห็น รู้สึกได้มาก

นพดล

สวัสดีครับ นพดลที่รัก

ก่อนอื่นขอประชาสัมพันธ์ เดือนมีนาคม 28-31 หน้า เราจะจัด ws จิตตปัญญาอีกครั้ง ณ​ ที่เดิม รุ่นเก่ายินดีต้อนรับอย่างยิ่งที่จะมา share ประสบการณ์ใน 1 ปีที่ผ่านมา หนังสือเชิญจะถูกส่งไปในไม่ช้านี้ครับ

spirituality หรือจิตวิญญาณไม่ใช่เรื่องสูงส่งลึกล้ำอะไร ตรัสรู้ ตื่นรู้ก็เช่นกัน ทำได้วันละหลายๆครั้ง แต่รักษามันไว้ที่อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทฝึกหัดบ่อยๆมากๆเท่านั้นเอง และอย่างที่นพดลบอก ก็คือ เราจะต้องมองเห็นไม่เพียงเรื่องดี เรื่องที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง เราต้องมองเห็น (seeing) ไปหมดทุกเรื่อง มี awareness ไปหมดถึงความรู้สึก เหนื่อย เบื่อ สงสัย โกรธ เกลียด และความทุกข์เบื้องหน้า (ของคนไข้)

สิ่งสมมติที่เรานำมาครอบจิตของเราเองที่อาจจะเป็นอุปสรรคที่เราจะ "เห็น" เรื่องเหล่านี้

เมื่อเรามี "ยอด" ที่ต้องทำในการตรวจ พอเราเริ่มฟังคนไข้คนหนึ่งเยอะๆไปสักหน่อย เราก็เริ่มกระสับกระส่าย กลัวไม่ถึงเป้า ที่จริง spiritual ไม่ได้เน้นที่จำนวน แต่เน้นที่คุณภาพ และไม่ได้เน้นที่คุณภาพของ case ที่เราดู ว่ามีเรื่องเล่าลึกซึ้งตรึงตาแค่ไหน แต่เป็นคุณภาพของสภาวะจิตของเราเองว่าเราละเอียด และอยู่กับมันจริงๆมากน้อยเพียงไร

การทำ palliative care และได้สัมผัสกับ home care หรือการได้ทำงาน PCA (primary care award) กับกลุ่มสถานีอนามัยอำเภอ เห็นผู้ด้อยโอกาส (ที่จะเหมือนเรา และที่จริง... เราก็ด้อยโอกาสหลายอย่างที่เขามีเหมือนกัน แต่เราทำเป็นไม่อยากได้) เห็นทุกข์ที่เราไม่ได้สัมผัสช่วยเยอะ เพราะมันเปิดโลกทัศน์ กระชากผ้าห่ม safe zone ฉีกม่านแห่ง security ที่เราล้อมตัวเราเองไว้

จนเราล่อนจ้อน เหลือแต่ความรักและเมตตากรุณา แล้วเราจะทำอะไรต่อไป เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

เมื่อวานเราคุยกันถึง...ปัญหาของคนหน้างานที่ต้องเผชิญกับความทุกข์กับความเจ็บป่วยของผู้ป่วยและญาติ

สิ่งที่แสดงก็คือ..ความรุนแรงทั้งคำพูดและความต้องการ ทำให้บุคลากรของเราที่จิตใจเข้มแข็งไม่พอ มีปฏิกิริยาต่อกัน เกิดประเด็น..ความขัดแย้งระหว่างผู้มาใช้บริการและคนทำงาน

ส่วนใหญ่..ปัญหาจะเกิดนอกเวลาราชการ ในเวลาเรายังมีหัวหน้าหอผู้ป่วยคอยดูแลพูดคุย ให้ข้อมูล ให้คำปรึกษา และคอยเป็นกันชน....ปัญหาก็ไม่เกิด

หลายคนก็เริ่มคุยกันว่า.. เด็กสมัยนี้ไม่อดทน พูดไม่เป็น มีพฤติกรรมการบริการไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาให้ตามแก้ไข

สรุปแล้ว ..ความขัดแย้งใน รพ ส่วนใหญ่คือ ปัญหาการสื่อสารค่ะ

 

อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยนะคะ จะปรับกันยังไงดี

สวัสดีครับพี่แก้ว

เรื่องสื่อสารเป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่ทั้งเชิงระบบ และใหญ่ทั้งต่อปัจเจกบุคคล

สาเหตุของการล้มเหลวในการสื่อสาร ก็สามารถเป็นได้ทั้งเชิงระบบ และเชิงบริบท นั่นคือเป็นรายๆ เรื่องของเรื่องก็คือ พอเราพูดคำว่า "การสื่อสาร" มันฟังดูเป็นระบบ แต่ในบริบทจริงการสื่อสารเกิดขึ้น ณ ที่เกิดเหตุเป็นปัจเจก episode เกือบ 100% บางทีการมองคำตอบมิติใด มิติหนึ่ง (หรือมองคำถาม) ก็อาจจะละเลยมิติอื่นๆไป

เรื่องนี้เกี่ยวทั้ง "เหตุผล" และ "อารมณ์" เราจะพบว่าไม่ง่ายที่จะใช้มิติใด มิติเดียว ในการ take over อีกด้านหนึ่งอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ ถ้าฝ่ายหนึ่งมี overwhelming emotion นั่นก็ไม่ใช่วาระที่เราจะออกไปแบบตรรกะสุดๆ เพราะมันไม่ tune in กันตั้งแต่แรก นี่อาจจะเป็น common scene ในบริบทโรงพยาบาล ในขณะที่เรามีตรรกะเยอะ มี protocol แยะ แต่คนที่มาหาเรา เต็มเปี่ยมล้นปรี่ไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ความเป็นห่วง ความรัก กังวล และที่สำคัญที่สุดคือความกลัว

การสนทนาที่ใช้กันคนละ modes ฝ่ายหนึ่งตั้งหน้าตั้งตาใช้ตรรกะ ฝ่ายหนึ่งกำลังท่วมท้นด้วยอารมณ์ อีกไม่นานถ้าไม่มีการ tune in ฝ่ายตรรกะจะเริ่มหงุดหงิด เพราะสิ่งที่สื่อออกไปมันลื่นหลุดลงข้างทางหมด ฝ่าย emotion ยิ่งมี emotion มากขึ้น เพราะขาดการดูแลด้านจิตใจ เหมือนเดินมาเจอกับตู้คอมพิวเตอร์ เสียงที่ขาดอารมณ์ความรู้สึก สีหน้าที่ตายด้านไร้อารมณ์

ปัญญาที่ผุดโผล่มากตอนนอกเวลาราชการ มีหลายปัจจัย อาจจะไม่ใช่เพียงเพราะมี senior อยู่ หรือเพราะว่า senior เก่งกว่าเยอะ คนไข้ที่มา รพ.เวลาราชการแปลได้อย่างหนึ่งว่า "พอทนได้" คนไข้ที่มายามวิกาล ถ้าไม่จำเป็นไม่มีใครอยากจะมา แปลว่า "มันทุกข์มาก มันเร่งด่วน" แค่นี้ความรุนแรงก็ไม่เท่ากันแล้ว ในเวลาคนเยอะทั้งระบบ ช่วยกันเยอะ นอกเวลาคนน้อย งานก็หนักขึ้น กดดันมากขึ้น

ผมเองก็สังเกตความต่างของคนยุคใหม่ ยุคเก่า แต่ยังไม่อยากโทษยุค 100% เพราะในอาชีพเป็นครู เป็นพี่เลี้ยง นักเรียนเป็นยังไง เด็กเป็นยังไง มันสะท้อนงานของเรา ตัวของเราด้วย เป็นการง่ายที่เราจะบอกว่าเป็นความผิดของยุค ของโรงเรียนมัธยม ประถม ผู้ปกครอง ก็ไล่เบี้ยลงไปเรื่อยๆ ตกลงก็เลยไม่มีใครต้องเปลี่ยนอะไร เพราะสุดท้ายผู้ปกครองก็อาจจะไล่ไปถึงเศรษฐกิจ รัฐบาล เกิดมาจน ประเทศเราไม่เจริญ ฯลฯ

ปัญหาการสื่อสารสำคัญ เพราะว่าการสื่อสารเป็นสัญญลักษณ์แห่งความจริงประการหนึ่งคือ "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" คำๆนี้เป็น functional term ไม่ได้เป็น status นั่นคือ เราจะเป็นสัตว์สังคมก็ตอนเราสังคม หรือกำลังทำอะไรบางอย่างที่แสดงความเป็นสังคม

การสื่อสารมี 3 components คือ ผู้สื่อ ผู้รับ และบริบท และก็คล้ายๆกับอี้จิง ทั้งสามประการต้องมีความปรองดองกัน จึงจะเกิดผลสูงสุด ผลกระทบจากด้านใดด้านหนึ่ง สามารถหักล้างที่เหลือได้อย่างง่ายดาย แก้ด้านใดด้านเดียวไม่ได้ และกันย่อมดีกว่าแก้

การเตรียมตัวผู้รับ เตรียมได้บ้าง แต่จำกัด ที่เราพอจะทำได้คือเตรียมผู้สื่อและบริบท ในที่นี้คือ "เตรียมก่อน" เพราะเวลาเกิดเหตุเป็น real-time มันมีเท่าที่มีอยู่ในตัวตอนนั้นแหละ ไม่มีเวลาจะไปเปิดตำรา ปรึกษาใคร

บริบทของเรามีความเสี่ยงสูงกว่าวิชาชีพอื่น เพราะว่าคนที่มาติดต่อเรา มีอารมณ์สูงกว่าปกติ สูงกว่าปกติ self ของเขาเองด้วย เพราะจิตตก นึกถึงเราเอง เวลาเราป่วย ร่างกายป่วย จิตก็ป่วยด้วย ฉะนั้น เราจะใช้มาตรฐานลูกค้าบริษัท มาติดต่อค้าขาย ทำธุรกรรม เหมือนๆกับคนไข้ไม่ได้ เราจะต้องมีความ sensitive สูงกว่านั้น มีเมตตาธรรมสูงกว่า มีการให้น้ำหนักและความหมายในการสื่อสารที่ละเอียดมากกว่าสายวิชาชีพอื่นๆ

เรื่องแบบนี้ต้องช่วยทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน "ก่อน" ที่จะเกิดเหตุ และถ้าไม่เตรียมตัว เราจะพบว่าแม้แต่ตัวเราเองก็ "การ์ดตก" บ่อยๆ จิตไปก่อน คำพูด กิริยาตามไปติดๆ การไล่เบี้ยหลังเหตุการณ์รังแต่จะทำให้แย่ลง

ไม่มีใครอยากจะทำร้ายใครโดยตั้งใจ แต่ทำโดยไม่ตั้งใจก็ไม่ได้ทำให้เจ็บน้อยหรือไม่เจ็บ ตรงนี้สำคัญเพราะการจะพัฒนาคน ไม่ได้เริ่มต้นจากการ label ว่าใครเลว ใครทำผิด แต่เริ่มต้นจาก "คำถามที่ีดี" ว่าเราจะทำอะไรที่ดีกว่าเดิมได้หรือไม่ นั่นคือการให้ความหมาย ให้ meaning ของสิ่งที่กำลังทำไว้แต่แรกเริ่ม

กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวเป็น process ยาวนานครับ lecture อ่านแผ่นพับ ไม่ work เป็นทั้ง cognition psychomotor และ attitude

เอาแค่นี้ก่อนแล้วกันครับ

มาขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยชี้แนะ ทำให้ได้แนวคิด..เรื่อง

  • ความแตกต่างระหว่างวัย
  • การเตรียมบุคลากร..ให้มีภูมิคุ้มกันอารมณ์วิกฤติที่อาจพบได้
  • พี่เคยพบปัญหาที่ทำให้จิตตก เช่น เรื่องอุบัติการณ์พลัดตกหกล้มที่เกิดในตึก เราจะได้ตั้งต้นคิดว่า ไม่มีใครอยากทำผิด แต่ต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอีก

 

ขอขอบคุณมิตรภาพและบันทึกดีๆที่ได้รับมาตลอดปีนี้ และขอส่งความสุขสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงค่ะ..

(บัตรอวยพร ดอกม่วงเทพรัตน์ ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ) คลิ๊กที่:

http://gotoknow.org/blog/nongnarts3/348844

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท