จิตตปัญญาเวชศึกษา 164: ทำบุญ


ทำบุญ

ผมได้รับความกรุณาจากอาจารย์ที่เป็นที่เคารพมากท่านหนึ่ง คือศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ท่านเป็นอาจารย์สอนกฏหมายและได้อุทิศกำลังพลังงานให้ในการปรับ สร้าง เสริมพื้นฐานกฏหมายที่เกี่ยวกับวิชาชีพวงการแพทย์มานาน ทำให้ "จริยะ" เป็นรูปธรรม ชัดเจน และทำให้รูปธรรมต่างๆที่เรายึดนั้น ว่ามันสำคัญที่ต้องยึด "จริยะ" ด้วยจึงจะถูกต้อง เร็วๆนี้อาจารย์ให้หนังสือผมมาเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่ท่านเขียนเนื่องในวาระเกษียณอายุของท่าน หนังสือเล่มไม่ใหญ่ แต่ผมต้องอ่านละเอียด หนึ่งด้วยความรักเคารพ และสองด้วยความลึกซึ้งของเนื้อหาที่ "ตกผลึก" (ไม่ใช่ตกตะกอน) จากประสบการณ์ของท่าน ก็ปรากฏว่าถ้อยคำแต่ละคำ เมื่อได้มาปรากฏอยู่ในบริบทของแต่ละหน้า มีค่าควรแก่การทำโยนิโสมนสิการต่ออย่างยิ่ง วันนี้ขอเอามาคำเดียว (แสดงเป็นนัยว่า คงจะดึงออกมาหากินได้อีกนาน กว่าจะจบหมดเล่ม) คือ "บุญ"

บุญ แปลว่า ทำจิตทำใจให้ผ่องใส บริสุทธิ์

ทำบุญก็คือ กิจกรรมที่นำไปสู่มรรคาแห่งการสร้างจิตใจที่ผ่องใสบริสุทธิ์นั่นเอง

บุญนั้นดีแน่ ถามใครใครก็อยากได้ อยากมี หนทางหนึ่งคือการบำเพ็ญภาวนา ก็ได้บุญ แต่ก็มีหนทางอื่นๆที่ "ทำ" แล้วได้บุญตามมา เราเรียกหนทางเหล่านั้นว่า "ทำบุญ"

ตรงนี้เองที่เกิดการ "ลื่นไหล" ของความหมาย ทั้งโดยนัยยะ และโดยปฏิบัติ

คือบางทีเราไปเน้นที่ "ทำ" ซะเยอะ จนลืมเป้าหมายดั้งเดิมที่ผลลัพธ์มันจะต้องตกไปที่ "จิตใจ"  พูดอีกอย่างก็คือ ไปติด protocol, how to, guidelines อะไรต่อมิอะไร ติดรูปแบบ ติดเปลือก ติดกรอบ ติดกระพี้ จนลืมแก่น ลืมเนื้อหาสาระไป

ผมเคยยกตัวอย่างทำบุญที่ง่ายที่สุดอย่างหนึ่งในสังคมไทย ได้แก่ "การใส่บาตร" คือเอาข้าว อาหาร ถวายพระตอนเช้าๆนั่นเอง นัยว่าเพื่อให้คนที่อุทิศชีวิตศึกษาพระธรรมได้มีอาหาร มีกำลังไปทำความดี เผยแพร่ความดีต่อๆไปนั่นเอง ก็มีรุ่นน้องคนหนึ่งเป็นอาจารย์แพทย์อยากจะทำบุญ ก็ใส่บาตรตอนเช้าบ้าง ซึ่งเป็น idea ที่เป็นสิริมงคลมาก เผอิญในการทำงานของพวกที่อยู่โรงพยาบาลนั้น เรามีกิจกรรมอีกประการหนึ่ง คือการราวน์เช้า นั่นคือไปดูคนไข้ที่ รพ.แต่เช้า ส่วนใหญ่จะก่อนเวลาราชการเสียอีก คือประมาณ 7 โมงเช้า หรือ 7 โมงครึ่ง ทีนี้ถ้ารุ่นน้องผมจะใส่บาตร ก็ต้องใส่ให้เสร็จก่อนเวลาที่ว่านี้พอสมควร มิฉะนั้นจะไปราวน์ไม่ทัน แต่ตามปกติก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะพระท่านจะออกบิณฑบาตแต่เช้า เช่นตั้งแต่หกโมงเช้า ก็มีเวลาเหลือเฟือเกินพอ

แต่มีิอยู่วันหนึ่ง ไม่ทราบเหตุผลชัดเจน อาจจะเป็นเพราะคนใส่บาตรเยอะ หรืออะไรไม่ทราบ พระท่านเกิดมาสายกว่าธรรมดา รุ่นน้องผมที่ไปรอใส่บาตรก็เริ่มกระวนกระวาย เพราะใกล้เวลาทำงานมาทุกที ในที่สุดก็ได้ใส่แต่ต้องกระหืดกระหอบไปทำงาน ไปราวน์เช้า สายไปนิดหน่อย แต่ก็ไม่พึงพอใจอย่างมาก เพราะสำหรับพวกเรา การตรงเวลาเป็นเรื่องสำคัญมากๆ พอมีเวลาได้เจอะเจอกัน รุ่นน้องผมก็บ่นว่าวันนี้ไม่รู้ทำไมพระมาสาย จะรอใส่บาตรสักหน่อย กว่าจะได้ใส่ก็เลยมาสาย ไม่น่าทำอย่างนี้เลย

ผมเลยบอกเขาไปว่า "ทำบุญอย่าจิตตกนา เดี๋ยวแทนที่จะได้บุญ.."

เพราะว่า "บุญ" นั้น ไม่ได้จะได้เสมอไปทันทีที่ทำ "กิริยา" แต่มันต้องไปเชื่อมโยงกับจิตใจ และไปสู่หนทางแห่งความผ่องใส ผ่องแผ้วของจิตด้วย กระบวนการทำบุญจึงจะเกิดครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยสนใจที่จะเชื่อม "จิต" เข้ากับการกระทำ เราเลยกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรม ทำสัญญลักษณ์ต่างๆมากมาย แล้วก็ลืม หรือไม่ก็ไม่ทราบด้วยซ้ำ ว่าตกลงทำเพราะ เพื่อ อะไรกันแน่ การใส่บาตรนั้น แม้เป็นกิริยาบุญ คือทำทาน แต่จิตที่กำลังทำทานนั้นพึงมีสมาธิ มีฉันทา ให้ความหมายแห่งกิริยาบุญนั้นให้ดีด้วย แต่พอเราไป set เป็น mission แห่งการใส่บาตร และกิจกรรมเหลือแค่ "ข้าวตก" (ตามคำแปลของ "ปิณฺฑ + ปาต") เราก็ไม่ได้ควบคุมสติให้ดี เกิดอาการ "จิตตก" ได้หลายรูปแบบ บางคนก็ชะเง้อดูบ้านข้างๆว่าใส่อะไร "อืม... ใส่ของดีกว่าชั้นอีก เชอะ พวกอวดรวย" ชะเง้อไปดูอีกบ้าน "อืม.. ใส่อะไรมาเนี่ย แหยะ ทำบุญทั้งทีใส่แค่เนี้ย งกแล้วยังจะเสนอหน้า..." หันไปดูอีกคนนึกในใจ "แหมจะใส่บาตร ใส่ทองหยองมาเต็มยศ เลยนะ" ฯลฯ แบบนี้ก็คงได้บุญน้อย เพราะจิตใจไม่ผ่องแผ้ว ไม่ได้บริสุทธิ์จากกิริยาบุญสักเท่าไร

จิตตกตอนใส่บาตรจากสาเหตุอื่นที่แปลกๆก็มี เช่น เส้นทางบิณฑบาตนั้นมักจะเป็นเส้นทางประจำ และคนใส่ก็เจ้าประจำ บ้านๆหนึ่งก็มักจะมีเวลาประจำ และใส่บาตรจำนวนหนึ่ง หมดก็เก็บเข้าของเข้าบ้าน (ยกเว้นบางที ที่มีศาลาสนทนาธรรมต่อได้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผมคิดว่าเป็นการเผยแพร่บุญตามนิยามเดิมจริงๆ) ทีนี้บางบ้านก็จะมีความประณีตในการเตรียมของใส่บาตรแตกต่างกัน ฉะนั้น ไม่นานก็จะเป็นที่รู้กันว่าบ้านไหนจะมี "ของดี" ใส่บาตร ผมเคยได้ยิน (ไม่เคยเห็นเอง) ต่างกรรม ต่างวาระ หลายครั้งว่า ของที่ว่านี้ ดีขนาดพระ (บางรูป) อยากมาก มาแย่งคิวกันเพื่อจะรับบาตรจากบ้านที่ว่านี้ทีเดียว บางครั้งถึงขนาดวางมวยกันเพราะชิงคิว หรือแซงคิว คนใส่บาตรในวันนั้นก็จะได้โชคเห็นฝ่ามืออรหันต์ปะทะหมัดวชิระของสำนักต่างๆประกอบการทำบุญ จิตไม่ตกก็นับว่าเก่งมากทีเดียวเจียว

ในกรณีที่ผมเล่าถึงรุ่นน้องคงจะไม่ขนาดนั้น แต่อยากจะนึกว่าการจะได้บุญนั้น ถ้าเราไม่มีสติที่ดีแล้ว มัน "หลุด" ง่ายมากที่บุญก็จะไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เห็น ไม่ได้รับรู้กิริยาบุญนั่นเอง คือ บุญมี แต่กรรมมาบัง จะใส่บาตร แต่จิตตก ไปตำหนิ ไปด่าพระมาสาย บุญก็ถูกหั่นลงไป เพราะใส่บาตรเสร็จจิตใจมันไม่ผ่องใส ไม่ผ่องแผ้ว ตามต้นกำเนิดของความตั้งใจเดิม

ประเทศไทยบอกไปทั่วว่าเราเป็น "ชาวพุทธ" ทำบุญก็เป็นเรื่องใหญ่ประจำชาติ จนคนประเมินว่า ถ้าเอาเงินจากวัดที่คนชอบไปบริจาคกันนั้น มาเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณบริหารประเทศ เราอาจจะมีความเจริญ (ทางวัตถุหรือทางจิตใจ ขึ้นกับการบริหาร) อีกหลายกะตัง (หน่วยบุญแบบใหม่)

ถ้าเอาเรื่องที่ว่านี้ ไปเชื่อมโยงกับเนื้อหาตอนแรก ผมก็เกิดสงสัยว่า "เรากำลังทำบุญกันจริงไหม?"

  • เดี๋ยวนี้หมอทำงานได้บุญไหม? หรือว่าทำงานแล้วได้แต่เงินเดือน doctor fee?
  • คนไข้คิดว่าหมอทำบุญไหม? หรือว่า "ก็แค่ทำงานตามหน้าที่" หรือเป็น​ "ขายบริการอย่างหนึ่ง"
  • เราเป็นชาวพุทธแล้ว เราเชียร์สงครามได้หรือไม่? แบบครูเสด เย้วๆ เฮ กันไปยึดพระตระบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ หลวงพระบาง มะละกา ฮานอย ฯลฯ เพื่อที่เราจะได้มีที่ดิน มีการต่อรองทางสังคม?
  • เราเป็นชาวพุทธแล้ว เราสามารถเชียร์หรือแสดงความปราถนาอยากจะให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา (หรือเราไม่เห็นด้วยกับมัน) ตายไปซะ ตายคนเดียวไม่พอ ขอให้พ่อมัน แม่มัน ลูกมัน เมียมัน ตายไปด้วย เดี๋ยวจะหาว่าเราลำเอียง
  • เราเป็นชาวพุทธแล้ว เห็นการศรัทธา ความเชื่อของคนอื่นที่ไม่เหมือนเรา เป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องต้องกระแนะกระแหน เป็นเรื่องที่ต้องนำมาพูดเชิงเรา "เหนือกว่า" หรือ "รู้จริงกว่า" ไอ้พวกบัวใต้น้ำเหล่านั้น
  • ฯลฯ

ก็ต้องย้อนกลับไปว่าทำแล้ว "จิตใจผ่องใส ผ่องแผ้ว บริสุทธิ์หรือไม่" น่าจะเป็นตัวตรวจสอบที่ไว้วางใจได้ดีพอสมควร

เดี๋ยวนี้ในการเรียนการสอนแพทย์ ไม่ค่อยมีใครพูดถึงว่าเรากำลังทำบุญกันแล้ว พูดแต่ว่าเรากำลังเก่งกาจแค่ไหน (จริงรึเปล่าไม่ทราบ แต่เดี๋ยวนี้หมอศัลย์จะวินิจฉัยโรคที่แต่เดิมใช้มือตรวจ แต่เดี๋ยวนี้กำลังจะต้องส่ง CT scan แล้วถามหมอ X-ray ว่าตูจะต้องผ่าหรือไม่ ก็อาจจะเป็นการโอนถ่ายความเก่งกาจให้เพื่อนร่วมอาชีพ)

เรากำลังพูดถึง unit cost กันมากขึ้น คำว่า "คุ้ม" ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการลง "เวลา" แต่เป็นการ "ลงทุน กำไร ขาดทุน" เข้ามาอยู่ในสาระการอภิปรายกันมากขึ้น การดูแลผู้คนที่ทุกข์ ไม่ใช่เรืี่องของ "กิริยาบุญ" กันอีกต่อไป แรงบันดาลใจในการเป็นแพทย์ ดูเหมือนจะเป็นการที่เป็นคนเก่ง เป็นคนมีฐานะ อาชีพมั่นคง กันไปส่วนใหญ่ การสนทนากับคนไข้มีหลักสูตร "ป้องกันการฟ้องร้อง" จากแต่เดิมที่เป็นการสนทนาเพื่อการเยียวยา ด้วยความรัก ด้วยความเมตตา

หรือว่า "จิตใจผ่องใส ผ่องแผ้วบริสุทธิ์" กำลังจะตก trend ขายไม่ออก ขายไม่ได้ไปเสียแล้ว?

หมายเลขบันทึก: 430335เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2011 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ล่าสุดนี่จิตตกตอนรีบพาลูกไปถวายภัตตาหารเช้าค่ะ เกือบไม่ทัน :( แถมมาเห็นที่หลังว่าวัดห้ามไม่ให้สตรีขึ้นไปบนที่วางอาหารและเป็นที่พระนั่งสวดค่ะ แต่เราก้าวขาขึ้นไปบนที่นั่งสวดขาหนึ่งด้วยความรีบและไม่รู้ เลยจิตตกไปเลยค่ะ แล้วมานั่งนึกว่า เราทำบุญหรือทำบาปนี่

และการทำบุญที่ง่ายและดีที่สุดคือ การภาวนาสมาธิค่ะ สมเด็จพระสังเมฆราชท่านว่าไว้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ ไว้จะแวะมาใหม่ค่ะอาจารย์ อ่านบันทึกนี้แล้วโดนใจค่ะ :)

อ.จัน

 

สวัสดีครับอาจารย์หมอ

 

การราวน์เช้า นั่นคือไปดูคนไข้ที่ รพ.แต่เช้า

 

      หลายปีก่อนคนอันเป็นที่รักของผมไม่สบายหนักมาก (อาจถึงแก่ชีวิตได้ ถ้ารักษาไม่ทันกาล) ได้เข้าไปพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษรวมเพื่อดูอาการอย่างใกล้ชิด ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผมเองพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์เพื่อช่วยเขาต่อสู้กับเจ้าโรคร้ายนี้ โดยการหาหนังสือที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการหาความรู้ออนไลน์เพิ่มเติม เพื่อที่จะให้สื่อสารกับคุณหมอได้ดีขึ้น (อารัมภบทมาตั้งนาน ขออภัยด้วยค่อนข้าง in มากเกินไปหน่อย)

      ตลอดคืนที่ศึกษา สิ่งที่ผมรอคือ การมา "การราวน์เช้า" ของคุณหมอนี่เอง ..

      คุณหมอท่านก็ตรวจมาทีละแถว ทีละเตียง พอมาถึงเตียงเรา อ้าว! คุณหมอที่รอคอย ท่านข้ามเตียงญาติของผมไปเสียแล้ว

      ผมมาทราบเอาตอนหลังว่าท่านไม่ใช่เจ้าของไข้ แต่สุดท้ายก็ได้รับคำแนะนำเป็นพิเศษจากท่าน อันมีส่วนนำไปสู่การช่วยให้หายป่วยในเวลาต่อมาครับ

      ผมว่า งานช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ของคุณหมอ คุณพยาบาล เป็นงานอันประเสริฐ ที่น่าจะได้บุญมากยิ่งนักครับ สาธุ สาธุ

 

อ.จันครับ

จิตตกเป็นเรื่องธรรมดา ที่เราต้องทำคือทันให้ได้ครับ ฝึกทุกวันก็ยังตกได้ทุกวันครับ หึ หึ ร่วมๆกันเดินทางไปด้วยกัน

อาจารย์ภูฟ้าครับ

ขอบพระคุณมากครับ เสียงสะท้อนจากคนไข้และญาติมักจะเป็นบทเรียนที่ดีที่สุด และทรงพลังที่สุดสำหรับแพทย์เสมอ ผมจะขออนุญาตนำ quote ของอาจารย์ไปเล่าให้น้องๆนักเรียนแพทย์ฟังได้ไหมครับ ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้น้องๆหมอกำลังต้องการ focus ว่าอะไรคือสิ่งที่คนไข้และญาติคนไข้คาดหวังกันแน่ บางทีเราสอนๆไปไม่สู้ได้ยินจากสิ่งที่คนไข้/ญาติสะท้อนออกมาเอง

อาจารย์ค่ะ จันพิมพ์ผิดค่ะ สังฆราชค่ะ ขอโทษด้วยค่ะ

เมื่อชีวิตต้องเจอกับคำถามของการคุ้มทุนอยู่ตลอดบางครั้งเราเองก็จำใจต้องทำตามแม้จะขัดแย้งในใจแค่ไหน บางครั้งมันกลายเป็นความโกรธจะอยากจะทำแบบนั้นตอบแทนไปบ้างคะ ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจว่าความสุขอยู่ตรงไหนมีแต่คำถามว่าตัวเลขที่ได้เป็นอย่าง แม้แต่การจะสร้างหมอดีๆสักคนก็ยังถามว่ากิจกรรมนี้ทำแล้วจะวัดความคุ้มค่าได้อย่างไร แล้วเราจะสร้างคนที่ทำงานงานด้วยหัวใจได้อย่างไรกันคะอาจารย์

เราต้องมีการสื่อสารที่ดี ในที่นี้คือทั้งฟังและทั้งนำเสนอความคิดของเรา เริ่มต้นจากการฟังดูจะเป็นกุศโลบายที่ดี เพราะถ้าเราฟังเขาดีๆ การจะขอให้เขาฟังเราบ้างก็ดูจะพอมีทางเป็นไปได้

เราเองก็อาจจะเพิ่มมุมมองว่า แล้วเราจะสามารถใช้ "ตัวเลข" ที่ว่านี้ให้ดกิดประโยชน์ได้อย่างไร อันที่จริงไม่มีอะไรที่ถูก/ผิด 100% เราจะพบว่าการที่เราสามารถ "ใช้ประโยชน์". จากการคิดตัวเลขด้วย กลับอาจจะเพิ่มสมรรถภาพบางด้านของเรา นำมาใช้ในงานของเราเชิงความสุข ความรู้สึก ก็ได้เหมือนกัน คงจะไม่มีใครสามารถทำงานด้วยมิติใจอย่างเดียว หรือตัวเลขอย่างเดียว ความท้าทายอยูที่คำว่า "สมดุล". กระมังครับ

หนูเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ไปทำบุญที่วัดและชอบตื่นสายไม่ทันตักบาตรสักที

แต่ทุกครั้งที่ได้ทำบุญหนูก็ได้ความสบายใจลึกๆ........ว่าได้มาทำบุญ

 

ทุกกิจกรรมถ้าทำแล้วจิตเป็นกุศลจิตก็น่าจะได้บุญแล้วนะคะ

ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปมาก   หมอน้องๆคงมีความรู้สึกนึกคิดต่างจากรุ่นพี่ๆค่ะ

พี่เคยตำหนิคนอื่น  พอมาเจอลูกสาวเราซึ่งเป้นหมอรุ่นใหม่ทำให้เข้าใจโลกมากขึ้นค่ะ

มาอ่านข้อคิดดีๆของอาจารย์นานๆครั้งค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท