วัยอันควร


...เท่าไรดี...



วัยอันควร

 


อะไร คือ มาตรฐานวัดวัยอันควร

 


เขา หรือ เธอ ไม่น่าจากไปก่อนวัยอันควร

 


วัยอันควรควรจะเป็นเท่าไร 60 70 80 90 หรือ 100 ปี

 


ไม่มีนิยามที่แน่นอน เพราะมีหลายปัจจัยที่จะทำให้จากไป

 


ถ้าอยู่ในวัยเด็กแล้วจากไปน่าจะนิยามได้ชัดเจนที่สุดว่ายังไม่ถึงวัยอันควร

 


แต่ก็อีกที่ว่า เราเป็นคนกำหนดกันเองว่าวัยอันควร คือ อายุเยอะๆ มากๆ

 


มองในแง่ปริมาณแต่ไม่มองในแง่คุณภาพ

 


คนที่จากไปแล้วอายุยังน้อยแต่มุ่งมั่นทำความดี ปฏิบัติธรรม คนทั่วไปอาจจะเสียใจกับการจากไปของเขา แต่เขาอาจจะไม่เสียใจเลย และ อยากให้ทุกคนเรียนรู้จากการจากไปครั้งนี้ว่า วัยอันควร ไม่สำคัญเท่า ปฏิบัติอันควร และ ทุกชีวิตส่วนมากไม่มีใครรู้ว่านาฬิกาจะหยุดเดินเมื่อไหร่

 


มีอยู่ช่วงหนึ่งผมไม่สนใจดูข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ และ โทรทัศน์เพราะไม่มีวันไหนที่ไม่มีข่าว คนไม่เสียชีวิต

 


ดูมาก อ่านมากใจมันเศร้า

 


เดี๋ยวนี้ดูบ่อยขึ้น ถือเป็นการเจริญมรณานุสติไปในตัว ว่าความตายเกิดขึ้นไม่เลือกใคร อะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร

 


เราอาจจะมองว่า เขา หรือ เธอจากไปก่อนวัยอันควร ก็ไม่ผิด แต่อย่าลืมเตือนตนว่า เขา หรือ เธอแสดงสัจธรรมของชีวิตให้เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 


ในสมัยพุทธกาล มีหญิงนางหนึ่งร่ำไห้เสียใจไปหาพระพุทธเจ้า บอกว่า ลูกของนางตายก่อนวัยอันควร พระองค์กล่าวว่าให้นางไปหาดินจากบ้านที่ไม่มีคนในครอบครัว หรือ ญาติเสียชีวิตมาให้ได้ ถ้าหาได้พระองค์จะชุบชีวิตลูกของนางให้ นางก็หาไปจนทั่วเมืองก็ไม่พบบ้านไหนไม่เคยมีคนในครอบครัว หรือ ญาติไม่เสียชีวิต นางจึงเข้าใจคำสอนของพระองค์ที่ว่า ความตายเป็นเรื่องสามัญเกิดขึ้นกับทุกๆคนแล้วแต่ใครจะถึงเวลา

 


คนที่ไม่เคยฝึกเจริญสติตอนจะตายจะพะวงหน้า พะวงหลัง เป็นห่วงครอบครัว คิดถึงอดีต กังวลไปถึงอนาคตว่าจะไปไหน จะได้เกิดเป็นมนุษย์อีกไหม

 


ถ้าคนที่เคยฝึกเจริญสติมาอย่างดีจะไม่มีกังวล รู้ลงปัจจุบันไป  ใช้เวลาที่สำคัญที่สุดอย่างมีสติ

 


มีสติกับปัจจุบัน เฉพาะหน้า เป็นเวลาอันควรอย่างยิ่งนะครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #วัยอันควร#สติ
หมายเลขบันทึก: 304091เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2009 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

คุณPhornphonครับ

( รบกวนลบบันทึกบนด้วยครับ ผิดพลาดทางเทคนิค)

จากวัยอันควร มาถึง เวลาอันควร

มีสติกับปัจจุบัน เฉพาะหน้า เป็นเวลาอันควรอย่างยิ่ง

เป็นข้อธรรมะที่ตรงกับผมตอนนี้ นำมาใช้ได้พอดีครับ (กำลังฟุ้งซ่านอยู่พอดี)

ขอบคุณสำหรับธรรมะดีๆครับ

สวัสดีค่ะคุณPhornphon

มาน้อมรับวัยอันควรค่ะ 

ขอบคุณที่ย้ำเตือนให้เหล่ากัลยาณมิตรไม่หลงลืม

ต่อการเจริญมรณานุสติในทุกขณะที่พึงระลึกได้  มิให้เผลอ

และใช้เวลาที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันขณะอย่างมีสติ

ขอบคุณ.....

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณค่ะสำหรับข้อคิด

มาช้าหน่อยครับ แต่เป็นเวลาที่น่าจะควรกับผม ขอบพระคุณเวลากับชีวิตที่ทำให้ผมยังมีลมหายใจอยู่ ได้รับฟังธรรมดีดีจากพี่พี่ น้องน้อง "อ่านหนังสือหมื่นเล่ม กับ เดินทางหมื่นลี้"

สวัสดีครับท่านรอง

เวลาอันควร คือ ปัจจุบันครับ ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณ giant bird อนุโมทนาสาธุเช่นกันครับ

สวัสดีครับ คุณ ณัฐรดา ขอบคุณที่มาเยี่ยมครับ

สวัสดีครับ คุณไกรษร

ขอบพระคุณเวลากับชีวิตที่ทำให้ผมยังมีลมหายใจอยู่ เช่นกันครับ

สวัสดีค่ะ

ใช่แล้วค่ะ...

มีสติกับปัจจุบัน เฉพาะหน้า เป็นเวลาอันควรอย่างยิ่ง...

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ วันเวลาที่ใช้จ่ายด้วยกัน ... เวลานั้นสำคัญเสมอ

ภาพภูชี้ฟ้า ในบรรยากาศครึ้มๆ อย่างนี้ดูเหงา แต่งามไปอีกแบบค่ะ ...

 

ขอบคุณ คุณหนานเกียรติที่มาเยี่ยมครับ

สวัสดีครับ คุณคนไม่มีราก

สติมา ปัญญาเกิดครับ

มีสติปัญญา ทั้งทางโลกและทางธรรมนะครับ

ขอบคุณ คุณ poo ที่มาเยี่ยมครับ ถ่ายไว้เมื่อครั้งไปเที่ยวครับ

แวะมารับข้อคิดดีๆ ค่ะ

ช่วงนี้ก็ไม่ค่อยดูข่าวเหมือนกันค่ะ เพราะรู้สึกสลดหดหู่กับข่าว ไม่ใช่เฉพาะข่าวที่มีคนตาย แต่ข่าวทั่วๆ ไปบางครั้งก็ทำให้รู้สึกแย่ ข่าวดีๆ ส่วนมากไม่ค่อยมี เพราะเรื่องดีๆ ขายไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของคนทั่วไป...

แต่ว่าอ่านบันทึกแล้ว คงจะหันกลับมาดูข่าว เอาไว้พิจารณาและปลงกับความเป็นไปของโลก...

สวัสดีค่ะ

มาเชิญไปชมดอกกุหลาบ และการสร้างปัญญาแบบเร่งรัดค่ะ

เห็นชื่อบันทึกนี้ของน้อง แล้วก็คิดถึงเรื่องความตาย เลยแวะเข้ามาอ่าน

คิดเรื่องมรณานุสติ ตั้งแต่อายุยังน้อย..เดาเอา

แสดงว่าเป็นผู้ไม่ประมาทนะครับ

สวัสดีค่ะ...เข้ามาอ่านข้อคิดดี ๆ ค่ะ..."มีสติกับปัจจุบัน เฉพาะหน้า เป็นเวลาอันควรอย่างยิ่ง"...ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ขอบพระคุณมากค่ะ

สวัสดีครับ คุณ blue star ที่มาเยี่ยม

ดูข่าว แล้วดูใจ

ฝึกสติไปอีกแบบครับ

สวัสดีครับ คุณ ณัฐรดา

จะตามไปเยี่ยมครับ

สวัสดีครับ คุณหมอ เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี

พระพุทธองค์สอนให้ไม่ประมาทครับ

ขอบพระคุณ คุณ vij ที่มาเยี่ยมครับ

ขอยกเรื่องนี้มาร่วมวงสนทนาด้วยครับ

ที่มา : http://www.med-kku.com/index.php?topic=8652997.0

เรื่องนึกถึงความตายเป็นอารมณ์นี่เป็นความดี เป็นปัจจัยสำคัญให้เข้าถึงความเป็นพระโสดาบันได้ง่าย จะยกตัวอย่างบุคคลที่มีความเคารพในองค์สมเด็จพระจอมไตร แล้วก็มีความเคารพในคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระจอมไตรหรือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน นั่นก็คือเปสการีธิดา เปสการีธิดานี่เคยอยู่เมืองอาฬวี

วันหนึ่ง องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงเสด็จประทับสำราญอิริยาบถ อยู่ในพระคันธกุฎีมหาวิหาร ในตอนเช้าองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงเสด็จไปแต่พระองค์เดียว ไม่มีใครติดตาม เข้าสู่เขตเมืองอาฬวี องค์สมเด็จพระชินสีห์ถือตอไม้เป็นธรรมาสน์ที่ประทับ ประทับยับยั้งอยู่ตรงนั้น ชาวบ้านได้ฟังข่าวเข้าก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า นำภัตตาหารมาถวาย ขณะนั้นเปสการีธิดาคือลูกสาวนายช่างหูก (เปสการี แปลว่า ช่างหูก ธิดา แปลว่า ลูกสาว) ทราบข่าวก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากับเขาเหมือนกัน เมื่อเข้าไปแล้วถวายอาหารแก่องค์สมเด็จพระภควันต์เสร็จ

หลังจากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเทศน์ ทรงเทศน์แบบสั้นๆ ว่า

" ท่านทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต เพราะว่าชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ว่าความตายเป็นของเที่ยง ขอทุกท่านจงคิดไว้เสมอว่า อย่างไรก็ดีเราต้องตายแน่ สำหรับเวลากำหนดการตายของเราไม่มีแน่นอน เพราะความตายไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ท่านทั้งหลายจงประกอบแต่ความดีเข้าไว้…

ถ้าใครสร้างความชั่ว ตายแล้วจะไปอบายภูมิมีนรกเป็นต้น เกิดมาเป็นคนก็จะมีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความลำบาก แต่ถ้าคนใดสร้างความดี คิดถึงความตายไม่ประมาทในชีวิต คิดไว้เสมอว่าเราต้องตายแน่ จงอย่าคิดว่า วันพรุ่งนี้ หรือเดือนหน้า ปีหน้า เดือนโน้น เราจึงจะตาย คิดไว้เสมอว่าวันนี้เราอาจจะตาย แล้วก็สร้างความดีเข้าไว้ ความดีจะส่งผลให้ท่านมีความสุข ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ…"

และเมื่อองค์สมเด็จพระนราสภพูดเท่านี้ องค์สมเด็จพระมหามุนี ก็เสด็จกลับ เมื่อพระพุทธเจ้าไปแล้ว เทศน์ที่พระพุทธเจ้าสอนก็ตามพระพุทธเจ้าไปด้วย คือไม่ตามชาวบ้านไปที่บ้าน ตามพระพุทธเจ้ากลับวิหาร คือชาวบ้านไม่สนใจ

ทว่าสาวน้อยกลอยใจหรือเปสการีธิดา เธอสนใจในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหตุ ทุกวันทุกคืน เธอนึกถึงวงหน้าขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ว่ามีดวงหน้าสวยงามคล้ายดวงจันทร์ และพระสุรเสียงขององค์สมเด็จพระภควันต์ก็แจ่มใสไพเราะ ลีลาแห่งการแสดงพระธรรมเทศนาก็น่าฟังเป็นที่ชื่นใจ เธอจำไว้ได้เสมอว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดาพระองค์ทรงสอนว่า…

ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง ท่านทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต จงคิดแต่สร้างความดีไว้เสมอ…

แล้วเธอก็ทำความดีทุกอย่าง ตามที่บิดามารดาและองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำ การแนะนำในคราวนั้น ก็มีศีลห้าเป็นสำคัญ

เธอนึกถึงพระพุทธเจ้าทุกวัน จัดเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน แบบที่เราภาวนาว่า พุทโธ

เธอนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ จัดเป็น มรณานุสสติกรรมฐาน

เธอไม่ประมาทในการประกอบกรรมทำกุศล สร้างสิ่งที่เป็นมงคลไว้ตลอดชีวิต ที่ว่ามีสิทธ์เข้าถึงธรรม ไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่ออารมณ์จิตของเธอดีอย่างนี้ มีอารมณ์ผ่องใส วันทั้งวันนึกถึงความตาย แต่ก็ไม่เศร้าหมอง คิดว่าเวลานี้แม่ของเราก็ตายไปแล้วเหลือแต่พ่อ สักวันหนึ่งพ่อก็ดี เราก็ดีจะต้องตาย

แต่ก่อนที่เราจะตาย เราเป็นคนก็ควรจะเป็นคนดี เวลาเป็นผีควรจะเป็นผีดี คือผีที่มีความสุข ไม่ใช่ผีในอบายภูมิ เธอคิดอย่างนี้จนเป็นเอกัคคตารมณ์

ทุกวันนึกถึงความตาย ทุกวันนึกถึงวงพักตร์ขององค์สมเด็จพระจอมไตร ทุกวันคิดถึงพระสุรเสียงขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ขึ้นใจจับใจจนเป็นเอกัคคตารมณ์

เวลานั้นวันที่พระพุทธเจ้าเทศน์ครั้งแรก เธอมีอายุได้ ๑๖ ปี ต่อมาเมื่อเธออายุย่างเข้า ๑๙ ปี องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรวจอุปนิสัยของสัตว์ในเวลาเช้ามืด เห็นนางตกในข่ายของญาณ ก็ตกใจว่านี่เรื่องอะไร ก็ทรงทราบด้วยอำนาจของญาณว่า ในสายวันนี้ กุลสตรีคนนี้ก็จะถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์จึงได้พิจารณาว่า ถ้าเราไม่ช่วยเธอ เธอจะมีคติที่แน่นอนไหม องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงทราบว่า ถ้าเราไม่ช่วยเธอ เธอมีคติไม่แน่นอน

คำว่า " คติ " แปลว่า การไป

แน่นอนหรือไม่แน่นอน ก็หมายความว่า ถ้าแน่นอนก็ไม่ไปทุคติ ไม่ไปเกิดเป็นสัตว์นรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ต้องเกิดเป็นคน หรือเป็นเทวดา หรือเป็นพรหม ไปนิพพานอย่างนี้ ชื่อว่ามีคติแน่นอน

องค์สมเด็จพระชินวรจึงมาคิดว่า ถ้าเราจะช่วยเธอ เธอจะมีคติที่แน่นอนไหม ก็ทรงทราบว่าถ้าทรงช่วยจะมีคติแน่นอน และพิจารณาต่อไปว่าช่วยเธอยังไงจึงจะมีคติที่แน่นอน

องค์สมเด็จพระชินวรก็ทรงทราบว่าถ้าเราถามปัญหาเธอ ๔ ข้อ เธอตอบเราให้สาธุการรับรอง พอจบคาถา ๔ ข้อ เธอก็จะได้บรรลุพระโสดาบัน การตายคราวนั้นของเธอก็จะไปสู่สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นที่อยู่อันบรมสุข

ฉะนั้นในตอนเช้า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ชวนใคร ไปองค์เดียวไปนั่งอยู่ในที่เดิม หลังจากนั้นแล้วคนมาเฝ้า (ขอเล่าลัดๆ) ลูกสาวของนายช่างทำหูกทำงานเสร็จ ตัดสินใจมาเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อน องค์สมเด็จพระชินวรจึงได้ทรงมองดูหน้าเธอ เมื่อสบตากัน เธอก็ทราบว่าองค์สมเด็จพระภควันต์ต้องการให้เข้าไปใกล้ เธอเข้าไปแล้ว

องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงได้ถามปัญหา ๔ ข้อว่า

" เธอมาจากไหน…? "

เธอตอบว่า " ไม่ทราบพระเจ้าข้า"

พระองค์ทรงถามว่า "เธอจะไปไหน…?"

เธอตอบว่า "ทราบพระเจ้าข้า"

พระองค์ทรงถามว่า "เธอทราบหรือ…?"

เธอก็ตอบว่า "ไม่ทราบพระเจ้าข้า"

ปัญหา ๔ ข้อนี้ คือ:-

ข้อที่หนึ่ง ทรงถามว่า "เธอมาจากไหน…?" เธอตอบว่า "อาศัยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรถามว่า เมื่อก่อนจะเกิดมาแต่ไหน เธอไม่ทราบ"

ข้อที่สอง ทรงถามว่า "เธอจะไปไหน…?" เธอตอบว่า "ตายแล้วไปไหน หม่อมฉันไม่ทราบ"

ข้อที่สาม ท่านถามว่า "ไม่ทราบหรือ…?" เธอตอบว่า "ทราบว่ายังไงๆ ก็ตายแน่ พระเจ้าข้า"

ข้อที่สี่ แล้วองค์พระพุทธเจ้าทรงถามว่า "เธอทราบหรือ…?" เธอก็ตอบว่า "ไม่ทราบ ก็เพราะว่าจะตาย เวลาเช้า เวลาสาย เวลาบ่าย เวลาเที่ยง ก็ไม่ทราบพระเจ้าข้า และไม่ทราบอาการตาย ยังไงๆ ก็ตายแน่"

พระพุทธเจ้าก็รับรองด้วยสาธุการ จึงถามเพียงเท่านี้ ความมั่นใจของเธอทำให้เธอเป็นพระโสดาบัน แต่ความจริงในตอนต้นนั้น เธอเข้าถึงพระโสดาปัตติมรรคอยู่แล้ว คือหนึ่งนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ไม่ประมาทในชีวิต ในข้อว่า สักกายทิฏฐิ เธอเข้าถึงแล้วในเบื้องต้น

อนุโมทนาสาธุด้วยครับ

ขอบพระคุณมากครับสำหรับข้อธรรมที่ลึกซึ้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท