การจัดการความรู้ 2 แนวทาง ตอน 1


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (12)

การจัดการความรู้ 2 แนวทาง

สังคมโลกปัจจุบันกำลังก้าวสู่สังคมที่มีเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Based Economy) ทำให้ความรู้เป็นปัจจัยที่สำคัญมากกว่าทุนในด้านอื่น เช่น แรงงาน หรือเครื่องจักร ไม่ว่าความรู้จะถูกนิยามด้วยผู้รู้ในความหมายและมิติใด แต่เป็นที่ชัดเจนว่าความรู้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญขององค์กร ที่นำมาใช้เพื่อการพัฒนา สร้างนวัตกรรมให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมให้องค์กรมีความเข้มแข็ง โดดเด่นแตกต่าง และมีขีดความสามารถเหนือกว่าคู่แข่ง หลายหน่วยงานมักประสบปัญหาทันทีเมื่อผู้บริหารหรือพนักงานที่มีความรู้ความสามารถเกษียณอายุ ลาออก เพราะมิได้มีการวางแผนในการพัฒนากำลังคนเพื่อทดแทนไว้ล่วงหน้า และกว่าจะสร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่มาทดแทนคนเก่าได้คงต้องใช้เวลามากพอสมควร ผลที่ตามมาคือส่งผลต่อขีดความสามารถของหน่วยงานนั่นเอง

ปัญหาเหล่านี้จะพบเห็นทั่วไปในภาคเอกชน และแม้กระทั่งในภาคราชการ ปัจจุบันความรู้มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มทวีคูณขึ้นอย่างรวดเร็ว ชุดความรู้หรือองค์ความรู้เดิมอาจไม่สามารถใช้หรือพัฒนาต่อไปได้ เช่น หลักสูตรในมหาวิทยาลัยเมื่อศึกษาครบ 4 ปีแล้วบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา อาจได้รับความรู้ที่ล้าสมัย ไม่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพ หน้าที่การงานได้ แม้ความรู้เดิมยังใช้ได้อยู่ แต่อาจไม่สามารถสนองตอบและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ จำเป็นต้องสร้างและพัฒนาความรู้ใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้ดียิ่งขึ้น แม้กระทั่งองค์กรที่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถส่งผลให้องค์กรมีความเข้มแข็ง หากบุคลากรเหล่านี้ เกษียณอายุ หรือลาออกไป องค์กรนี้ยังคงมีความเข้มแข็งเหมือนเดิมหรือไม่

โดยทั่วไปความรู้ขององค์กรนอกจากจะอยู่ในรูปของเอกสาร คู่มือปฏิบัติงาน สูตรสำเร็จ และฐานข้อมูล หรือที่เรียกว่า ความรู้ชัดแจ้ง แล้ว ยังมีความรู้อีกส่วนที่อยู่กับบุคลากรหรือพนักงานขององค์กรด้วย ในรูปของประสบการณ์ ความสามารถ เคล็ดลับ หรือเทคนิคเฉพาะด้าน หรือที่เรียกว่า ความรู้ฝังลึก ซึ่งจากการสำรวจผู้บริหารระดับสูงในสหรัฐอเมริกาพบว่าความรู้ขององค์กรอยู่ในคนถึง 42% ซึ่งถ้าเป็นประเทศไทยหรือกลุ่มชาวตะวันออกแล้วความรู้ ความรู้น่าจะอยู่ในคนมากกว่า เนื่องจากขาดการบันทึกจัดเก็บและความรู้บางอย่างที่อยู่กับบุคคลถือเป็นเคล็ดลับที่ไม่ยอมเปิดเผยให้ใครทราบ แม้กระทั่งบุตร หรือศิษย์ของตนเองที่แม้จะถ่ายทอดเคล็ดลับวิชาให้แต่ยังมีสิ่งที่ซ่อนไว้เสมอ ซึ่งความรู้ฝังลึก หรือความรู้ที่อยู่ในคน เป็นความรู้ที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ในการทำงาน เพราะความรู้ส่วนนี้จะเป็นความรู้ที่สามารถช่วยองค์กร ในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการทำงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่มีการทำงานผิดแบบซ้ำๆ หรือในด้านการปรับปรุงกระบวนการเป็นต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องหาเครื่องมือมาช่วยให้เกิดการดึงความรู้ฝังลึกให้ถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้ชัดแจ้ง เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เรียนรู้ แบ่งปัน ยกระดับ และเพื่อคงรักษาความรู้ดังกล่าวให้ยังอยู่กับองค์กร หากบุคคลผู้มีความรู้นั้นลาออก หรือเกษียณอายุไป ซึ่งเครื่องมือดังกล่าว ก็คือ การจัดการความรู้ นั่นเอง

การจัดการความรู้ เป็นกระบวนการจัดการที่ทำให้ความรู้ชัดแจ้ง และความรู้ฝังลึก เกิดการหมุนเวียน แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดซึ่งกันและกัน ผ่านบุคคลหรือผู้ปฏิบัติงาน ด้วยการบันทึก เผยแพร่ นำไปปรับใช้ แล้วนำความรู้ดังกล่าวหมุนกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มผู้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และผลที่ได้จะทำให้ผลการปฏิบัติงานมีการปรับปรุงและพัฒนาดีขึ้น ลดระยะเวลาการทำงาน ประหยัดงบประมาณ เกิดความสัมพันธ์อันดี ความไว้วางใจในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน และหน่วยงาน  ซึ่งวงจรพัฒนาต่างๆ เหล่านี้ สามารถเริ่มจากผู้ปฏิบัติในสายงานเดียวกัน ข้ามสายงาน ตลอดจนข้ามหน่วยงาน จะทำให้เกิดเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันความรู้ และขยายผลต่อยอดความสำเร็จให้เข้มแข็งและยั่งยืน

 

เป้าหมายของการจัดการความรู้ที่สำคัญอันดับแรกคือ การมุ่งและส่งเสริมพัฒนาคนให้มีความสามารถ ส่งเสริมให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้องค์กรปฏิบัติภารกิจบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในลักษณะ งานเห็นผล คนเป็นสุข การจัดการความรู้จึงเป็นกระบวนการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ประกอบด้วย

1. การบ่งชี้ความรู้ที่องค์กรต้องการใช้ประโยชน์ ความรู้ที่องค์กรจำเป็นต้องมี ต้องใช้

2. การสร้างและแสวงหาความรู้ ว่า ความรู้ที่ต้องการนั้นอยู่ที่ใดบ้าง จะสามารถแสวงหาและสร้างมาได้อย่างไร

3. การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ ตามประเภทต่างๆ ที่องค์กรต้องการ สามารถเลือกใช้ได้ตามวัตถุประสงค์

4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้ การวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อการใช้ประโยชน์

5. การเข้าถึงความรู้ เป็นการสร้างช่องทางให้องค์กรและบุคลากรเข้าถึงความรู้ได้ทั่วถึงรวดเร็วในเวลาที่ต้องการได้อย่างไร

6. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นการนำความรู้มาแบ่งปันแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ของบุคคลและองค์กรจากการปฏิบัติงาน

7. การเรียนรู้ เป็นการใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ มีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มแก่องค์กรตามพันธกิจที่กำหนดไว้

ภาพแสดงกระบวนการการจัดการความรู้สำหรับระบบราชการ

การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของการจัดการความรู้  หากจำแนกอย่างคร่าวๆ อาจแบ่งได้ 2 แนวทาง คือ

1. การใช้การจัดการความรู้ตามแบบราชการ หรือตามแบบฟอร์ม (Format KM) ที่ดำเนินการในภาคราชการ ตามข้อเสนอแนะของสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หมวด 3 มาตรา 11 ที่ระบุให้ ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกานี้   สาเหตุที่ต้องกำหนดแบบฟอร์มให้ดำเนินการในแนวทางเดียวกัน เนื่องจากส่วนราชการมีจำนวนมาก และเพื่อประโยชน์ในการสื่อสารและการปฏิบัติ  สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่อง การประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ของส่วนราชการระดับกรม จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา จึงกำหนดให้ส่วนราชการจัดทำแผนจัดการความรู้ให้สอดคล้อง สนับสนุน วิสัยทัศน์ ประเด็นยุทธศาสตร์ โดยกำหนดรูปแบบแผนการจัดการความรู้ของทุกส่วนราชการให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน และมีผลลัพธ์ของแผนที่มุ่งเน้นการสนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเกณฑ์ให้คะแนน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งส่วนราชการจะต้องกำหนดขอบเขตและเป้าหมายของการจัดการความรู้ให้ชัดเจนว่า ต้องการใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนางานอย่างไร โดยใช้กระบวนการการจัดการความรู้ทั้ง 7 ประการ ดังกล่าวมาแล้ว  โดยจัดทำคู่มือการจัดทำแผนความรู้  สำหรับส่วนราชการขึ้นโดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งส่วนราชการต้องดำเนินการตามแผนจัดการความรู้ดังกล่าวตามแบบฟอร์มจำนวน 13 แบบฟอร์ม ดังนี้

1) แบบฟอร์มที่ 1: ขอบเขต KM (KM Focus Area)

2) แบบฟอร์มที่ 2: การตัดสินใจเลือกขอบเขต KM (KM Focus Area)

3) แบบฟอร์มที่ 3: เป้าหมาย KM (Desired State)

4) แบบฟอร์มที่ 4: Check list ทวนสอบการกำหนดขอบเขต KM (KM Focus Area) และเป้าหมาย KM (Desired State)

5) แบบฟอร์มที่ 5–9: แบบประเมินตนเองเรื่องการจัดการความรู้ หมวด 1–หมวด 5

6) แบบฟอร์มที่ 10: รายงานผลการประเมินองค์กรตนเองเรื่องการจัดการความรู้ (กรณีวิธีอื่นๆ)

7) แบบฟอร์มที่ 11–12: แผนการจัดการความรู้ (KM Action Plan)

8) แบบฟอร์มที่ 13:  สรุปงบประมาณการดำเนินงานตามแผนการจัดการความรู้

1) การกำหนดความรู้ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับองค์กรหรือในระดับงาน

2) จัดกระบวนการเพื่อแสวงหาความรู้ และจัดเก็บ

3) การเผยแพร่และทดลองใช้ปฏิบัติจริงในองค์กรหรืองานของตนเอง

4) สรุปบทเรียน ปรับปรุง และพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป

ภาพแสดงแนวคิดการจัดการความรู้ของ สคส. โดย ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด

แนวคิดการจัดการความรู้ ของสคส. โดยดร.ประพนธ์  ผาสุกยืด ผู้อำนวยการในปัจจุบัน ได้เสนอแนวคิดไว้ อย่างน่าสนใจว่า ความรู้ชัดแจ้ง หรือเด่นชัด สามารถเชื่อมโยงกับความรู้ฝังลึก หรือซ่อนเร้น ได้ ด้วยเทคนิคการจัดการในส่วนของความรู้ชัดแจ้ง คือ การรวบรวมจัดเก็บการเข้าถึงตีความ การนำไปปรับใช้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อยกระดับความรู้ด้วยกระบวนการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี (2T) ในส่วนของความรู้ฝังลึก คือ การเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้างความรู้และยกระดับความรู้ให้สูงขึ้น นำไปปรับใช้ แล้วสรุปบทเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันต่อไป กระบวนการดังกล่าว เน้นที่ คน และกระบวนการ (2P) เมื่อดำเนินการเช่นนี้แล้วจะทำให้วงจรพัฒนาคนด้วยการจัดการความรู้ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการความรู้ตามแนวทางนี้ ได้แก่

คุณเอื้อ (Chief Knowledge Officer: CKO) ที่เป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้อำนวยความสะดวก ประสานการจัดการ และจัดบรรยากาศการจัดการความรู้ 

คุณอำนวย (Knowledge Facilitator) เป็นผู้ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ เป็นผู้กระตุ้นส่งเสริม และเชื่อมโยงระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้บริหาร 

คุณประสาน (Network Manager) เป็นผู้ที่ทำหน้าที่คอยประสาน เชื่อมโยงการจัดการความรู้ระหว่างหน่วยงาน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้ในวงกว้าง 

คุณลิขิต (Note Taker) เป็นผู้ที่ทำหน้าที่จดบันทึก เก็บประเด็นสาระการประชุม ให้เป็นหมวดหมู่

คุณวิศาสตร์ (Wizard) เป็นผู้รับผิดชอบและประสานงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

คุณกิจ (Knowledge Practitioner) เป็นผู้ปฏิบัติงานตัวจริงในองค์กร

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

การจัดการความรู้ในฐานะเครื่องมือเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การจัดการความรู้ 2 แนวทาง

ตอน 1  ตอน 2

หมายเลขบันทึก: 274917เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2009 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รออ่านอีกครับ ท่านรองฯ ไม่ค่อยได้คุยกันเลยครับ

อ.ขจิต

ขอบคุณ ติดตามงานของท่านอยู่เช่นเดียวกัน ขอให้กำลังใจและชื่นชมที่เป็นขวัญใจชาวบล็อก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท