การจัดการความรู้ในภาคเอกชน ตอน 2


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (24)

บริษัท สแปนชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด

บริษัท สแปนชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นบริษัทผลิตแผงวงจรไฟฟ้าที่ทันสมัยแห่งหนึ่ง มีปรัชญาที่ให้ความสำคัญสูงสุดแก่บุคลากร โดยมีรูปแบบการพัฒนาบุคลากรให้ได้สมดุล ทั้งเป็นคนดีและคนเก่ง ภายใต้สถานที่และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ส่งเสริมให้บุคลากรเสริมสร้างความรู้ต่อยอด และแลกเปลี่ยนความรู้จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานใช้ความรู้ในการสร้างสรรค์ การทำงานอย่างเต็มที่ ด้วยการประยุกต์ XEROX Model โดยการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการความรู้ การวางกระบวนการและเครื่องมือจัดเก็บความรู้ การเรียนรู้ของพนักงาน การให้รางวัลและยกย่องชมเชย การสื่อสาร และการประเมินเพื่อปรับพฤติกรรมต่างๆ รูปแบบการจัดการความรู้อาศัยรูปแบบของ สคส. ที่ผสมผสานระหว่างความรู้แบบชัดแจ้งและความรู้แบบฝังลึกที่มีอยู่ในบริษัทด้วยการส่งเสริมให้มีชุมชนนักปฏิบัติ  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์โดยตรงและผ่านระบบออนไลน์  ตามความรู้ที่ต้องการใช้ เก็บรักษาและพัฒนา ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น วารสาร การพบปะ ในและนอกสถานที่ทำงาน  ติดประกาศ  เสียงตามสาย  ระบบ Internet เป็นต้น กิจกรรมต่างๆ ครอบคลุมทั้งระดับผู้บริหาร  ระดับเทคนิคและระดับคนรุ่นใหม่  มีกระบวนการเสริมแรงจูงใจด้วยการมอบรางวัลและการส่งเสริมความก้าวหน้า  ปัจจัยความสำเร็จของบริษัทนี้ได้แก่  ผู้บริหารมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายชัดเจน  กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำอย่างเป็นระบบและมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนที่ทันสมัย

ภาพแนวความคิดการจัดการความรู้ของ บริษัท สแปนชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด

บริษัท ซี พี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

บริษัท ซี พี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น  ที่มีอยู่ทั่วประเทศ กำเนิดจากเมืองดัลลัส สหรัฐอเมริกา ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ 07.00-23.00 น. ของทุกวัน เปิดสาขาแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2532 ปัจจุบันมีสาขาประมาณ 4,800 สาขา อยู่ใน กทม. มากกว่า 2,000 สาขา ยอดขายเฉลี่ยประมาณ 65,000 บาทต่อวันต่อสาขา มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก การบริหารองค์กรขนาดนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะพนักงานของบริษัทที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศและทำงานหลายกะ บริษัทต้องมีระบบบริหารจัดการพนักงานที่ดี ภายใต้ปรัชญาขององค์กรที่ปราถนารอยยิ้มของลูกค้าด้วยทีมงานที่มีความสุขและวิสัยทัศน์ที่จะให้บริการความสะดวกกับทุกชุมชน การจัดการความรู้จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เซเว่นอีเลฟเว่นใช้ โดยผสมผสานกับระบบคุณภาพภายใต้กิจกรรมกลุ่มคุณภาพต่างๆ เพื่อเน้นการเพิ่มผลผลิต ความปลอดภัยในการทำงาน การปรับปรุงและพัฒนางาน การสื่อสารและบริการระหว่างหน่วยงาน ผ่านกิจกรรม “Ant Mission” เป็นกลุ่มปรับปรุงคุณภาพในการทำงานของพนักงาน เหตุที่ใช้ชื่อกลุ่มนี้เพราะต้องการสื่อถึงความขยันขันแข็งของมด กลุ่มพนักงานนี้อยู่ในสายงานหรือข้ามสายงานจะรวมกลุ่มกันเพื่อค้นหาปัญหาเพื่อพัฒนางานปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และเปิดโอกาสให้พนักแต่ละคนแสดงความคิดริเริ่มในการเสนอแนะปรับปรุงงานของตนหรือแก้ไขปัญหาจากหน้างานที่พบ  ความรู้จากประสบการณ์ในแต่ละร้านมีการบันทึกและจัดเก็บ  นำเสนอเพื่อการประกวดและมอบรางวัลในแต่ละเวทีตามลำดับจนถึงระดับประเทศ เพื่อคัดเลือก  Best Practice  และบันทึกเผยแพร่ให้ทั่วทั้งองค์กร  ก่อนที่นำกลับไปปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป  นอกจากนี้ผู้บริหารยังมีการดำเนินการและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง  สร้างความเชื่อมโยงกับผลตอบแทน  ให้พนักงานเกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เกิดความสัมพันธ์อันดีและปลูกฝังวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จเกิดจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ที่มีภาวะผู้นำและเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างดี

บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT Telecom

บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่แปลงสภาพจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยแต่ยังคงสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ประกอบกิจการโทรคมนาคมและให้บริการทางด้านโทรคมนาคมทุกลักษณะ ทุกประเภท รวมถึงกิจการที่ต่อเนื่องหรือใกล้เคียงกัน หรือที่เกี่ยวกับ หรือซึ่งเป็นประโยชน์แก่การประกอบกิจการโทรคมนาคม และให้บริการทางด้านโทรคมนาคมดังกล่าวทั้งในประเทศ ระหว่างประเทศ และนอกประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ว่า เป็นผู้ให้บริการ ICT รายแรกที่ผู้ใช้บริการ ดังนั้นบริษัทจึงปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรครั้งใหญ่ ด้วยการพัฒนาทักษะขีดความสามารถขององค์กร นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้และให้บริการ เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้า ภายใต้กิจการที่มีการแข่งขันสูง บริษัทเล็งเห็นว่าได้เผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ให้พนักงานผ่านสื่อต่าง ๆ ในหลายรูปแบบในลักษณะความรู้ชัดแจ้ง  หากผสมผสานกับความรู้ฝังลึกของพนักงานในบริษัทจะทำให้องค์กรสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน จึงให้ความสำคัญกับการนำ KM  มาใช้เพื่อการพัฒนางานและพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบด้วยการแต่งตั้งคณะผู้รับผิดชอบที่เรียกว่าคณะกรรมการ CAT KM ที่กำหนดนโยบายการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาบุคลากร  สร้างคลังความรู้  ส่งเสริมให้เกิดชุมชนนักปฏิบัติและสนับสนุนผู้มีความรู้ประสบการณ์ที่เรียกว่าคลังสมอง ประกาศให้พนักงานรับทราบและเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน  ด้วยความสามารถของบุคลากรและมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย  ทำให้สร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่กิจกรรมให้แก่พนักงานได้อย่างกว้างขวาง  มีการจัดตั้งทีมสร้างความรู้  ส่งเสริมให้ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ของการจัดการความรู้  เช่น  เว็บไซต์  การเผยแพร่ผลงานในบล็อก สร้างชุมชนนักปฏิบัติ แสวงหา Best Practice จากภายในและภายนอกบริษัท รวบรวมผู้มีประสบการณ์ด้านต่างๆ ภายใต้โครงการคลังสมอง (Brain Bank) และทำเนียบผู้เชี่ยวชาญ การจัดงาน KM Day และการสร้างแรงจูงใจ ในรูปแบบการมอบรางวัลและการยกย่องชมเชย แม้ว่าบริษัทจะอยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง  หากใช้ KM เพื่อสนับสนุนให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ตามความมุ่งมั่นของบริษัทแล้ว  น่าจะทำให้บริษัทนี้มีความสามารถทางการแข่งขันตามที่คาดหวังได้

ภาพแสดงเว็บไซต์การจัดการความรู้ของ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

การจัดการความรู้ภาคเอกชน  ตอน 1  ตอน 2  ตอน 3

หมายเลขบันทึก: 278978เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2009 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน ท่านเอื้อรังสรรค์ ใช้เวลา ได้เยี่ยม มาเปิดงาน เครือข่าย สกอ และ เสริมความรู้ ด้วยครับ

ท่าน JJ

ขอบคุณอีกครั้ง โปรดดูแลร่างกายด้วย เพราะท่านเดินทางและทำงานหนักมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท