เครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ตอน 4


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (29)

ภาพในงานการจัดเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 14  (UKM - 14)  ณ  จังหวัดมหาสารคาม

ปัจจุบันการจัดการความรู้ได้ถูกนำไปปฏิบัติในมหาวิทยาลัยเครือข่ายอย่างหลากหลายและได้ผลอย่างยิ่ง  ตัวอย่างเช่น

มหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้เริ่มศึกษาและนำการจัดการความรู้มาใช้อย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547  พร้อมกับเครือข่าย UKM โดย ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ  ในฐานะ "คุณเอื้อ"  ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรเพื่อยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัย  โดยมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยตามนโยบายของสภามหาวิทยาลัย  ด้วยการใช้ระบบและกลไกในการประกันคุณภาพภายในกับคณะวิชาต่างๆ  โดยวางเป้าหมายในการดำเนินงานตามขั้นตอน คือ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้รับผิดชอบ  ในระดับคณะและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  สร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  โดยสนับสนุนให้มีการจัดตั้งชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) เพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงาน  และสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านเว็บไซต์และบล็อก  ด้วยการสนับสนุนการจัดกิจกรรมและใช้เครื่องมือในการเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานโดยใช้ Stair diagram  แสดงผลเพื่อค้นหาแนวทางปฏิบัติที่ดีหรือ best practice เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้ผลการประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยนเรศวรในกลุ่มมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยดีขึ้นอย่างชัดเจน  ทั้งที่ทีมงานจากงานประกันคุณภาพที่มีภาระมาก  เจ้าหน้าที่น้อย มีระบบประเมินคุณภาพหลายระบบ  แต่มหาวิทยาลัยนเรศวรสามารถดำเนินการใช้ KM ให้เนียนอยู่ในเนื้องานตลอดจนผู้ปฏิบัติได้เป็นอย่างดี  มีผลงานที่โดดเด่นอย่างรวดเร็ว  ทำให้ได้รับรางวัลยกย่องชมเชยจากหน่วยงานภายนอกอย่างมาก  นอกจากนี้ยังใช้ KM เป็นเครื่องมือในการยกระดับสถานภาพงานวิจัยและการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรให้มีและพัฒนาเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างด้วย  ซึ่ง ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร  ได้ระบุถึงปัจจัยความสำเร็จดังกล่าวว่า  "เกิดจากการไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันในระหว่างทีมทำงาน  ตลอดจนระหว่างผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติ  อีกปัจจัยหนึ่งได้แก่  การใช้หลักการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และเบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้อยู่ที่ตัว "คุณเอื้อ" เองที่มีภาวะผู้นำความน่าเชื่อถือ และการประพฤติที่เป็นแบบอย่าง

ภาพแนวคิดการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  โดยอาจารย์พิชิต  เรืองแสงวัฒนา  รองอธิการบดี  ได้ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อผลักดันมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำ  โดยกำหนดสมรรถนะหลักขององค์ความรู้ที่จำเป็น 5 ด้าน คือ การผลิตบัณฑิต  การวิจัย  การบริหารวิชาการ  การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  และการบริหารจัดการองค์กร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนากิจกรรมคุรภาพของมหาวิทยาลัยและขยายผลไปยังทุกหน่วยงาน มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประกันคุณภาพที่เนียนอยู่ในเนื้องานในทุกกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ  นอกจากนี้ยังใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน  พัฒนางาน  และพัฒนาองค์กรในหลายคณะเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั่วทั้งองค์กร  นอกจากนี้ยังสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นภายในมหาวิทยาลัยผ่านเว็บไซต์  share.psu.ac.th  อีกด้วย  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เป็นหน่วยงานสำคัญที่มีนโยบายชัดเจนในการใช้การจัดการความรู้เพื่อเป็นเครื่องมือการปฏิบัติพันธกิจในทุกๆ ด้าน  โดยผู้บริหารได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง  จนถึงปัจจุบันปรากฏว่า  ชุมชนนักปฏิบัติของภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์  โดย รศ.พญ.ปารมี  ทองสุกใส  ได้สร้างแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศในโครงการ Patho-OTOP ที่ปรับแนวคิดและกระบวนการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในภาควิชาพยาธิวิทยา  เสริมสร้างบรรยากาศกัลยณมิตรและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการทำงานเป็นทีม  จนเกิดผลงานที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับทั่วไปในลักษณะงานเห็นผล  คนเป็นสุข  จุดเด่นของ มอ. อีกอย่างหนึ่ง คือ  มีทีมงานจัดทำและสนับสนุนบล็อก  Gotoknow ที่สำคัญ คือ ดร.ธวัชชัย  ปิยะวัฒน์  และดร.จันทวรรณ  ปิยะวัฒน์  จากคณะวิทยาการจัดการ  ปัจจุบัน  รศ.นพ.วรัญ  ตันชัยสวัสดิ์  เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะ "คุณเอื้อ"  แต่การขับเคลื่อน KM ของ มอ. ยังเข้มข้นเหมือนเดิม

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

เครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย  ตอน 1  ตอน 2  ตอน 3  ตอน 4  ตอน 5  ตอน 6

หมายเลขบันทึก: 279752เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2009 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท