Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

การใช้พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ


แพรภัทร ยอดแก้ว.2553.บทความวิจัยเรื่อง "การใช้พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ" ตีพิมพ์ในวารสาร สยามวิชาการ ปีที่ 10 ฉบับที่ 15 พฤศจิกายน 2552 - กุมภาพันธ์ 2553

บทคัดย่อ 

ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐและอังกฤษ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะว่าธนาคารปล่อยหนี้และขายตราสารหนี้แบบเก็งกำไรมากเกินไป แต่เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมโลก  เป็นตัวสร้างปัญหาความขัดแย้ง สร้างปัญหาการเอาเปรียบทั้งมนุษย์และธรรมชาติ จนทำให้โลกขาดความสมดุลจนเกิดวิกฤติ การคิดแก้ปัญหาระยะสั้นแบบใช้เงินรัฐบาลและกองทุน IMF ไปอุ้มธนาคารและสถาบันการเงิน เป็นการคิดในกรอบการพัฒนาแบบทุนนิยมที่อาจบรรเทาปัญหาได้ชั่วคราว แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่รากเหง้าอย่างแท้จริง  วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำใน ค.ศ. 1930 เคยนำไปสู่ลัทธินาซีและฟาสซิสต์และสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงมาแล้ว วิกฤติครั้งนี้ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องต่อสู้ ต่อรองและปรับตัวกันครั้งใหญ่

ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลทั่วโลก กำลังใช้งบประมาณของรัฐไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยธนาคารสถาบันการเงิน ผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างมหาศาล  นับเป็นวิกฤตการณ์ที่ควรทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง  โดยทุกประเทศควรคิดพึ่งเศรษฐกิจตัวเองให้สูงขึ้น พร้อมทั้งปฏิรูประบบเศรษฐกิจใหม่ให้มีความสมดุลและเป็นธรรม จึงจะแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

การจะแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทุนนิยมที่ขัดแย้งและทำลายตัวเองนั้น ต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหา คือ เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจใหม่ให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม มีระบบสหกรณ์ รัฐสวัสดิการ ชุมชนสวัสดิการ ที่เน้นการกระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้และฐานะทางสังคมอย่างเป็นธรรม  มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนส่วนใหญ่   การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้นั้น  หัวใจสำคัญที่สุด  คือ  การใช้เศรษฐศาสตร์แนวพุทธและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางที่มุ่งเน้นให้ผู้ผลิต หรือผู้บริโภค พยายามเริ่มต้นผลิต หรือบริโภคภายใต้ขอบเขตของรายได้ หรือทรัพยากรที่มีอยู่ไปก่อน คือ  ลดการพึ่งพา เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมการผลิตด้วยตนเอง และลดภาวะเสี่ยงจากการไม่สามารถควบคุมระบบตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจได้  ซึ่งความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ  ความมีเหตุผล  การมีภูมิคุ้มกันที่ดีภายใต้เงื่อนไขความรู้และคุณธรรม  

จากการศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา พบว่า  แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา  จึงสามารถช่วยเสริมสร้างความมีประสิทธิภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี

ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา   เป็นบทเรียนอย่างดีของชาวไทยทุกคนในการกำหนดรู้ปัญหาให้ชัด  เพื่อสืบหาสาเหตุแห่งปัญหานั้น  วางเป้าหมายให้ชัดเจนและดำเนินการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ  มรรค   ซึ่งสาเหตุใหญ่ของปัญหาทั้งมวลนั้น ในทางพุทธศาสนาถือว่าเกิดมาจากตัณหาของมนุษย์   หากบรรเทาและละตัณหาเสียได้ ก็สามารถแก้ไขปัญหาทั้งมวลได้  

1. บทนำ

วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เป็นปัญหาใหญ่ที่เชื่อมโยงและนำไปสู่วิกฤติทางสังคม การเมือง วัฒนธรรมอยู่มาก ดังนั้น จึงต้องเข้าใจว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกตกต่ำที่เริ่มจากสหรัฐฯหรือวิกฤตตลาดการเงิน สหรัฐอเมริกา หรือ " วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์"  เป็นวิกฤติเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด ที่เน้นการเพิ่มการผลิตและการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารเพื่อหากำไรสูงสุดของเอกชนส่วนน้อย(โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่) เกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิคในการบริหารจัดการของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กู้ซื้อบ้านและการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคที่เกินตัว ทำให้คนใช้หนี้ไม่ไหว จนเกิดปัญหาหนี้เสีย สถาบันการเงินล้มละลาย และธุรกิจอื่น ๆ เสียหายตามมา  นอกจากนั้นมีสาเหตุลึก ๆ ที่เป็นรากเหง้าของปัญหา คือตัวระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด ที่เน้นการแข่งขันกันผลิตสูงสุด กำไรสูงสุดของเอกชนแบบสุดโต่ง ทำให้เกิดการพัฒนาแบบไม่สมดุล  การที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวในมือคนส่วนน้อยแค่ 10-20% ไม่กระจายไปสู่คนส่วนใหญ่ 80% อย่างเป็นธรรม ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีรายได้มากพอจะมีบ้านและมีชีวิตทางเศรษฐกิจที่ดีได้  จึงทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจทุนนิยมโลกตกต่ำ

จากการวิเคราะห์ปัญหาวิกฤติระบบการเงินการธนาคารในสหรัฐที่ลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกนั้น พบว่า ความโลภ ความเห็นแก่ตัว การไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ขาดจริยธรรมทางธุรกิจและความโง่เขลาของนโยบายพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่เน้นการแข่งขันหากำไรและการบริโภคสูงสุดของเอกชน จนมีการเก็งกำไร การใช้จ่ายและการบริโภค มากกว่าการผลิตและความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน แต่เมื่อเกิดวิกฤติ รัฐบาลสหรัฐฯใช้เงินของคนทั้งประเทศมาอุ้มธนาคารและบริษัทประกันภัยของคนรวยเพื่อพยุงให้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเดินหน้าต่อไป แต่ก็เดินได้อย่างเชื่องช้า เศรษฐกิจทั้งโลกหดตัวลง และจะเกิดวัฎจักรของวิกฤติที่รุนแรงกว่านี้ได้อีก ถ้าไม่มีการแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ผูกขาดโดยกลุ่มบริษัทข้ามชาติ 500 กว่าแห่ง ทำให้เกษตรกรที่ยากจนลงต้องเปลี่ยนอาชีพไปเป็นแรงงานรับจ้าง เกษตรกรหรือผู้ผลิตตามพันธะสัญญาให้กับบริษัทนายทุน ชุมชนท้องถิ่นในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยที่เคยพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ เปลี่ยนแปลงไปเป็นชุมชนหรือเมืองบริวาร ที่ต้องพึ่งพาบริษัททุนนิยม  กลายเป็นศูนย์กลางที่เน้นการหากำไรของปัจเจกชน เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและปัญหาความยากจนเพิ่มขึ้น คนในชุมชนที่เคยมีความสัมพันธ์แบบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีน้ำใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย  และมีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน คำนึงถึงชุมชนหรือส่วนรวมเป็นหลัก ก็เปลี่ยนความสัมพันธ์ไปเป็นการแลกเปลี่ยน  ซื้อขายแรงงาน  สินค้าและบริการ แบบมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัวให้มากที่สุด ทำให้เกิดความโลภ ความไม่ซื่อตรง  การเบียดเบียนผู้อื่น  การแข่งขัน  การขัดแย้งมากขึ้น

ระบบทุนนิยมผูกขาด เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีปัญหาความขัดแย้งในตัวเอง เพราะระบบนี้เปิดทางให้นายทุนส่วนน้อยมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดของเอกชน ไม่กระจายทรัพย์สินและรายได้ไปสู่คนส่วนใหญ่ จึงทำให้เกิดความไม่สมดุล ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นระยะ ๆ ระบบทุนนิยมผูกขาดจึงไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาด้วยตัวของมันเอง เพราะไม่ใช่ระบอบที่มีการแข่งขันอย่างเสรีหรือเป็นธรรมจริง ในสภาพวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ กลไกตลาดในระบบทุนนิยมที่มีลักษณะผูกขาดกลุ่มอยู่แล้ว  จะยิ่งทำงานล้มเหลวมากขึ้น เพราะคนในระบบทุนนิยมถูกสอนให้แข่งขันเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดของตัวเอง ทำให้กลายเป็นคนโลภมาก เห็นแก่ตัว เอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่น  ปกป้องตัวเอง มองโลกในแง่ร้าย ลดการลงทุนมากกว่าเพิ่มการลงทุน ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาตามตำรา จึงไม่ค่อยได้ผล  เพราะระบบทุนนิยมผูกขาด  เป็นระบบที่กดขี่ขูดรีดแรงงาน  ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไม่กระจายรายได้และทรัพย์สินไปสู่แรงงานและคนกลุ่มต่าง ๆ อย่างสมดุลและยั่งยืน

การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ครอบคลุมทุกด้าน  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมืองและวัฒนธรรม   ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ตั้งแต่ภาคการเกษตรหรือภาคชนบท ภาคธุรกิจและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ  ภาคการตลาด ภาคการเงินและการธนาคาร  ภาคอสังหาริมทรัพย์ เน้นการเลือกปฏิบัติอย่างพอประมาณ มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง

 

2. ประเทศไทยกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ

ประเทศไทยมีปัญหาวิกฤติเชิงโครงสร้างคล้ายสหรัฐฯ คือ เป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดกลุ่มที่ไม่เสรี และไม่เป็นธรรมจริง คือ ใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารต่างชาติ พึ่งพาการลงทุนและการค้ากับประเทศทุนนิยมศูนย์กลางที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯมากเกินไป พึ่งพาการส่งออกมากไป และพึ่งพาตลาดภายในประเทศน้อยไป เปิดกว้างให้บริษัทค้าปลีกข้ามชาติเข้ามาลงทุนได้อย่างเสรี ทำให้ร้านค้าปลีกเล็ก ๆ ล้มละลายได้ง่ายเกินไป ปล่อยให้ธุรกิจขนาดใหญ่เอาเปรียบพนักงาน โรงพยาบาลเอกชนเก็บค่ารักษาแพง ธนาคารทั้งเอกชนและรัฐบาลซึ่งเป็นกลุ่มผูกขาด  คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมาก มีการพัฒนาแรงงาน ทรัพยากร ภูมิปัญญาในประเทศน้อยเกินไป การกระจายทรัพย์สินและรายได้ไม่เป็นธรรมสูง คนในประเทศ 80% (52 ล้านคน) รายได้ต่ำ ขาดกำลังซื้อ เศรษฐกิจภายในประเทศจึงเล็ก ทั้ง ๆ ที่ประชากรไทย 64-65 ล้านคน ใหญ่เป็นที่ 19 ของโลก ใหญ่กว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส แต่ขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยเล็กกว่าประเทศทั้ง 2 ราว 5-6 เท่า ดังนั้น ไทยจึงได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจทุนนิยมโลกตกต่ำหนัก ทำให้คนจนลำบากกว่าคนรวยและคนชั้นกลาง  เพราะรัฐบาลไทยเลือกแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจตามแบบทุนนิยมตะวันตกที่ทำให้เกิดความไม่สมดุล ทำให้ไม่สามารถพัฒนาตลาดและเศรษฐกิจภายในประเทศได้

ปัญหาของการพัฒนาประเทศแบบมุ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการแข่งขันกันหาเงินเพื่อการบริโภคแบบตัวใครตัวมัน ผู้บริโภคต้องแบกหนี้เพิ่มขึ้นในระยะยาว ทำให้คนมีความสุข ความพอใจแบบฉาบฉวยระยะสั้น ก่อให้เกิดความเครียด ความเบื่อและความทุกข์มากขึ้น คนเห็นแก่ตัว อยากรวย อยากได้เปรียบมากขึ้น ครอบครัวหย่าร้างเพิ่มขึ้น  ชุมชนอ่อนแอลง สังคมมีปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น เกิดอาชญากรรม ปัญหาสุขภาพกาย และสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น

ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทำให้ประเทศไทยส่งออกได้ลดลง โรงงาน ธุรกิจลดเลิกการจ้างงาน เป็นผลให้การผลิตการค้าลดลง และการรัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมา มีนโยบายที่เน้นการพึ่งการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศมากไป พร้อมทั้งมีการแก้ไขปัญหาภายใต้กรอบโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม คือ  รัฐบาลแจกเงิน แจกของ  ทำโครงการต่าง ๆกระตุ้นเศรษกิจ  ลดภาษี ลดดอกเบี้ย ลดค่าธรรมเนียมการซื้อบ้าน การแจกเงินให้คนไปซื้อสินค้าและบริการ เช่น  การให้เช็คช่วยชาติ จำนวน 2,000 บาท สำหรับผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท จึงได้ผลน้อยและผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับนายทุน นายธนาคาร พ่อค้ามากกว่าคนส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นการลงทุนที่จะทำให้ประชาชนมีงานทำหรือพัฒนาตนเองได้จริง  เพราะรัฐบาลคิดแก้ปัญหาแบบวัตถุนิยม หรือบริโภคนิยม เน้นผลิตสินค้าเพื่อกระตุ้นกิเลส  ตัณหาของมนุษย์  สนับสนุนให้คนเห็นแก่ตัว แก่งแย่งแข่งขัน เอาเปรียบผู้อื่น  จึงไม่มีคำว่าพอเพียงในระบบทุนเศรษฐกิจนิยม

การจะแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทุนนิยมแบบขัดแย้งและทำลายตัวเองได้อย่างยั่งยืน จะต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหา คือ เปลี่ยนตัวระบบเศรษฐกิจเสียใหม่ ให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรมของผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม กับระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย มีระบบสหกรณ์ รัฐสวัสดิการ ชุมชนสวัสดิการ ที่เน้นการกระจายทรัพย์สิน รายได้ ความรู้และฐานะทางสังคมอย่างเป็นธรรม เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนส่วนใหญ่อย่างยั่งยืน ทำให้การใช้แรงงาน ทรัพยากร และเทคโนโลยีการผลิต เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปฏิรูปการจัดเก็บภาษีและการจัดสรรงบประมาณให้เป็นธรรมขึ้นด้วย ดังนั้น  การจะแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเศรษฐกิจและหาทางออกสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้สังคมไทยเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้ เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ การใช้เศรษฐศาสตร์แนวพุทธและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

3. ประเทศไทยกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้  หรือนับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยอย่างสูงสุด  เพราะในขณะที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจขนาดหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีแนวพระราชดำริเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) ที่ทรงพระราชทานให้พสกนิกรชาวไทย ได้ถูกนำมาเผยแพร่อย่างเป็นระบบอย่างจริงจัง    เพื่อให้สังคมไทยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาสังคม  เป็นความพยายามต้านกระบวนการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกระแสหลัก  ที่เริ่มส่งผลกระทบทางลบต่อความมั่นคงในระบอบชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นในท่ามกลางกระแสแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน  เกษตรผสมผสาน พุทธเกษตร เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ  ตลอดจนการเกิดขึ้นของชุมชนใหม่ในเชิงอุดมการณ์ศาสนา เพื่อแสวงหาทางรอดจากการรุกอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบผูกขาด  ซึ่งแนวคิดนี้มีฐานมาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่สอนในเรื่องการพึ่งตน “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตนแลเป็นที่พึ่งของตน เพราะสภาพปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน  เกิดขึ้นจากการไม่รู้จักพอเพียง โดยเศรษฐกิจพอเพียงสอนเรื่องการพึ่งตนเอง ได้แก่

-          รู้จักพึ่งตนเอง ไม่ไปกู้เงินต่างประเทศมาลงทุน ใช้จ่ายมากเกินไป

-          รู้จักคำว่าพอใจ  คือ พอใจตามมี ยินดีตามได้ ตามหลักสันโดษ ของพระพุทธศาสนา

-          รู้จักคำว่าพอเพียง คือ ความรู้สึกพึงพอใจ เท่าที่มี เท่าที่เป็น

-       รู้จักคำว่าพอดี คือ มัตตัญญุตา หรือทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา  ถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิตและธรรมชาติ โดยให้มีความสุขกาย และสุขใจไปด้วยกัน

หลักธรรมดังกล่าวนี้มีอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหน้าที่ชาวพุทธที่ต้องช่วยขยายแนวพระราชดำรินี้ไปทั่วโลก ให้เป็นภูมิปัญญาของโลก สามารถส่งออกทางความคิด เป็นทรัพย์สินทางปัญญาไปช่วยชาวโลกได้ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตักเตือน เน้นย้ำให้พสกนิกรชาวไทยทั่วไปพยายามพึ่งตนเองเป็นสำคัญ ให้มีความขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากินหาเลี้ยงชีพให้รู้จักประหยัดอดออม ใช้จ่ายแต่ในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ให้มีความนิยมไทย ซื้อของไทย ใช้ของที่ผลิตได้ในประเทศไทย ท่องเที่ยวเมืองไทย  เพื่อไม่ต้องเสียดุลการค้าต่างประเทศ นับเป็นแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

 

4.  แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) 

                แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นแนวคิดและปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัว ทรงมีพระราชดำรัสแนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย ทรงมีพระราชดำรัสแนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปีพ.ศ. 2540  ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้สังคมไทยสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆของสังคม

                4.1  ความเป็นมาและความสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

                แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2516  เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่  20  ธันวาคม  2516  ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

                ...การพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอน ต้องสร้างพื้นฐาน คือ  ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน  โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด  แต่ถูกต้องตามหลักวิชา  เมื่อใดพื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควร และปฏิบัติได้แล้ว   จึงค่อยสร้าง ค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้น โดยลำดับต่อไป…..

                                                                                (สำนักงานประสานงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ, 2549)

พระบรมราโชวาทนี้ แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการพัฒนาประเทศที่ต้องคำนึงถึงพื้นฐานความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลัก  โดยทรงเน้นที่ความพอมี  พอกิน  พอใช้  ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ   หลังจากนั้น  ในปี พ.ศ.2517  ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งแก่ผู้เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศแบบพอมี พอกินอีกวาระหนึ่ง มีความตอนหนึ่งว่า

                ...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งใหม่แต่เราอยู่ อย่างพอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ  ช่วยกันรักษาส่วนร่วม ให้อยู่ที่พอสมควร  ขอย้ำพอควร พออยู่ พอกิน มีความสงบไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้ไปจากเราได้...

(สำนักงานประสานงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ, 2549)

                พระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานทั้ง 2 วาระนี้  แม้จะไม่มีคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”  แต่ก็สะท้อนให้เห็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงที่ทรงมีมากว่า 30 ปีแล้ว  ในเวลานั้นแม้คนไทยอาจยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า  “พอเพียง  พอมีพอกิน”  อย่างลึกซึ้ง  แต่พระราชกรณียกิจ และพระราชจริยาวัตรที่ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างมาอย่างสม่ำเสมอ  ก็ทำให้เป็นที่ประจักษ์ในพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะเห็นสังคมไทยเป็นสังคมพอเพียง 

                พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาด้านความเป็นอยู่ของพสกนิกร  ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย  ทรงค้นคว้า สำรวจ รวบรวมข้อมูล และทดลองเกี่ยวกับเศรษฐกิจเชิงเกษตรกรรมซึ่งเป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่  จนเกิดโครงการในพระราชดำริมากมาย  อาทิ  ทรงทำการทดสอบเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ดิน พันธุ์พืช เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่ของตนเอง  ที่เรารู้จักกันในชื่อ "ทฤษฎีใหม่"  ใช้หลักการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันเป็นแนวทางการพัฒนาการเกษตรแบบพึ่งตนเอง เพื่อให้เกิดความพออยู่พอกิน            

                จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2540  ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างหนัก  ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท  จาก 25 บาท มาเป็น 40-45 บาทต่อ 1 ดอลลาร์  นำมาซึ่งความเสียหายอย่างมากต่อธุรกิจไทย  เพราะเท่ากับว่าธุรกิจมีหนี้สินเพิ่มขึ้น 1.3-1.8 ล้านล้านบาท ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หลังการลอยตัวค่าเงินบาท สาเหตุเพราะนักธุรกิจไทยได้สร้างหนี้กับต่างประเทศไว้ เพื่อหวังเก็งกำไรโดยไม่กลัวความเสี่ยง เพราะเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยซึ่งขณะนั้นมีนโยบายตรึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ  (ศุภวุฒิ สายเชื้อ, 2546) ความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น  ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมครั้งสำคัญในประเทศไทยและมีผลกระทบถึงประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียด้วย  

                ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความทุกข์ของสังคมไทยในขณะนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ได้ทรงใช้วิกฤตดังกล่าวเป็นโอกาสสำคัญในการตอกย้ำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินชีวิตแบบพอมีพอกิน จึงมีกระแสพระราชดำรัสถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างชัดเจน  ดังความตอนบางส่วนของพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : 4 ธันวาคม 2540 ว่า

                ...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน  แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง...ที่พูดกลับไปกลับมาในเรื่องการค้า การผลิต การขาย และการบริโภคนี้ ก็นึกว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจในวิกฤตการณ์  ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมาก ล้วนเดือดร้อน  แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไปทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง  ไม่ต้องทั้งหมด  แม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้อง  อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็สามารถอยู่ได้  การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้ ที่จริงในที่นี้ก็มี นักเศรษฐกิจต่างๆ ก็ควรจะเข้าใจที่พูดไปดังนี้...

                                ต่อมาเมื่อคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เริ่มเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยที่ผู้พูดแต่ละคนจะตีความเอาเอง ทำให้ความหมายเศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละคน อาจจะแตกต่างกันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขบทความเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่นๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระราชทานไว้ในวโรกาสต่างๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นปรัชญานำทางในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9  ด้วย

4.2     หลักการสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

                จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549)  ซึ่งได้นำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศโดยยึดหลักทางสายกลาง เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤต สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล มีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และสถานการณ์เปลี่ยนแปลงต่างๆ   มีใจความสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงว่า

                                            เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

(สำนักงานประสานงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ, 2549)

                หลักการสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนี้   หากผู้ที่ได้รับทราบเป็นผู้มีความรู้ทางด้านศาสนธรรมของพุทธศาสนา   ย่อมเห็นได้ชัดว่ามีความความสอดคล้องกันกับหลักธรรมในทางพุทธศาสนาในหลายประการ  แสดงให้เห็นว่า  แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น  ได้อาศัยพื้นฐานจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยที่มีพุทธศาสนาเป็นคติในการดำเนินชีวิต  โดยเฉพาะหลักการใหญ่  คือ  ทางสายกลาง  ถือเป็นหลักธรรมสำคัญในทางพุทธศาสนาที่ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างกลมกลืน  รวมทั้งคุณลักษณะที่สำคัญ คือ  ความพอประมาณ  ความมีเหตุผล  การมีภูมิคุ้มกันที่ดีภายใต้เงื่อนไขความรู้และคุณธรรม  

 

อ่านต่อตอนต่อไปได้ที่นี่ค่ะ

http://gotoknow.org/blog/praearticle/385231

หมายเลขบันทึก: 385229เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2010 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท