เตรียมตัวอย่างไร?? เมื่อจำเป็นต้องมารับการฉายแสง


          สวัสดีค่ะ วันนี้หนึ่งขอเขียนบันทึกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งก่อนที่จะมารับการฉายแสงอีกซักบันทึกนะคะ
1. เตรียมด้านร่างกายสำหรับผู้ป่วยและญาติ
อาหารการกิน
          จริงๆแล้วอาหารที่ห้ามกินก่อนมาฉายแสงแทบไม่มีห้ามเลยค่ะ ถ้าผู้ป่วยกินอะไรได้ให้กินได้หมดทุกอย่าง ยกเว้นผู้ป่วยเป็นโรคเหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคประจำตัวอื่นๆ ให้งดอาหารตามโรคที่เป็นด้วยค่ะ
          สำหรับโรคมะเร็งที่เตรียมตัวเพื่อมารับการฉายแสงนั้นให้เน้นอาหารต่อไปนี้ค่ะ (อ้างอิงจาก ศ.พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์ จากการบรรยายหัวข้อ Nutrition in Cancer: Diet in RT patient ในงานประชุมวิชาการประจำปี สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา 2553)
          - อาหารบำรุงไขกระดูก ได้แก่ โปรตีนจากสัตว์ (เน้นว่าเป็นโปรตีนจากสัตว์นะคะ)
ทำไมต้องกินอาหารบำรุงไขกระดูก ?
 สาเหตุเพราะผลข้างเคียงอีกอย่างจากการฉายแสงคือจะกดการทำงานของไขกระดูก ทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดต่างๆได้น้อยลง
ถ้าสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง
ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะซีด ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายจะเป็นลม วิงเวียน หน้ามืดง่าย
ถ้าสร้างเม็ดเลือดขาวได้น้อย
ผู้ป่วยจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติค่ะเพราะหน้าที่ของเม็ดเลือดขาวคือเป็นตำรวจคอยดักจับเชื้อโรคที่จะแอบแฝงเข้ามาในร่างกายของเรา ดังนั้น ถ้าเรามีตำรวจน้อย (จำนวนเม็ดเลือดขาวน้อย) ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายค่ะ ถ้ามีการติดเชื้อแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น แล้วแต่ว่าจะติดเชื้อที่ระบบไหนค่ะ อาการก็จะตามระบบของร่างกายที่ติดเชื้อ เช่น ถ้าติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ก็จะมีอาการปัสสาวะแสบขัด ไม่สุด ปวดปัสสาวะค้าง เป็นต้น
ถ้าสร้างเกร็ดเลือดได้น้อย
จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสเลือดออกได่ง่าย ต้องระวังอุบัติเหตุ ห้ามถอนฟัน ระมัดระวังในการแปรงฟัน ระวังการกระทบ ชน ของแข็ง เพราะหากมีบาดแผล หรืออาการฟกช้ำเพียงเล็กน้อย ในกรณีที่เกร็ดเลือดต่ำก็จะมีเลือดออกโดยที่จะหยุดยากกว่าปกติค่ะ
          ผู้ป่วยควรกินโปรตีนจากสัตว์ เช่นเนื้อปลา หมู ไก่ ไข่ นม เป็นต้น สะสมไว้ในช่วงก่อนมารับการฉายแสง เพราะเมื่อมารับการฉายแสงผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหารกินได้น้อยลง หากก่อนมาฉายแสงผู้ป่วยมีอาหารสะสมอยู่เพียงพอ ร่างกายผู้ป่วยจะสามารถรับการรักษาได้โดยมีผลข้างเคียงน้อยกว่ากรณีขาดสารอาหารมาก่อนค่ะ ^^
           - อาหารซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหาย ข้อนี้ก็คือโปรตีนอีกนั่นเองค่ะ (แล้วจะแยกข้อทำไมใช่ป่าวคะ ก็ให้เห็นว่าโปรตีนที่ผู้ป่วยควรได้รับนั้นมีประโยชน์มากแค่ไหนค่ะ)
          - น้ำดื่ม ควรดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย 8 - 10 แก้ว (อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ)
          - ให้จำกัดคาเฟอีน(กาแฟ ชา น้ำอัดลม เป็นต้น) จำกัดหมายถึงดื่มได้แต่ให้อยู่ในขอบเขตค่ะ คือไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 แก้วค่ะ สาเหตุที่ต้องจำกัด เนื่องจาก คาเฟอีนจะไปกระตุ้นให้ผนังหลอดเลือดแข็ง ในระยะยาวจะทำให้เกิดผลเสียได้ค่ะ
          - เลิกบุหรี่ สุรา
การออกกำลังกาย
          ผู้ป่วยมะเร็ง สามารถออกกำลังกายได้ค่ะ ขึ้นกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย แนะนำการออกกำลังกายเบาๆ เช่นการเดิน (มีรายงานว่าการเดินจะช่วยลดอาการเหนื่อยล้า(fatigue)ในผู้ป่วยมะเร็งได้ด้วยค่ะ สงสัยมั้ยคะว่าทำไมยิ่งเดินยิ่งลดอาการเหนื่อยล้าได้ โอกาสหน้าหนึ่งจะนำเรื่องนี้มาเล่าในบันทึกดีกว่านะคะ ^^) เป็นต้น
การพักผ่อน
          ผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับการพักผ่อนมากกว่าปกติค่ะ คือพักผ่อนในตอนกลางคืนวันละ 6 - 8 ชั่วโมง และเพิ่มในตอนกลางวันอีก 2 ชั่วโมง ค่ะ
 
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะและคอ
          จะต้องพบทันตแพทย์เพื่อเตรียมช่องปากและฟันก่อนรับการฉายแสง ทุกรายค่ะ ถ้ามาที่ศูนย์มะเร็งอุดรฯ จะได้รับการตรวจและเตรียมช่องปากจากทันตแพทย์ที่น่ารัก (หมอตุ้ม กับ หมอหงส์) ของศูนย์ฯค่ะ หากไม่สามารถเตรียมช่องปากได้เสร็จใน 1 วัน ผู้ป่วยจะได้รับหนังสือส่งตัวจากทันตแพทย์ศูนย์มะเร็งฯ เพื่อไปรับการเตรียมช่องปากจากทันตแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านค่ะ
         ขอเน้นเรื่องนี้สำคัญค่ะ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการเตรียมช่องปากให้พร้อมก่อนถึงวันนัดฉายแสง เมื่อวันนัดมาถึง ผู้ป่วยจะยังไม่ได้รับการฉายแสงค่ะ ต้องเลื่อนนัดออกไปอีกเพื่อให้เตรียมช่องปากให้เรียบร้อยค่ะ อาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการได้รับการฉายแสงตามนัด และยังต้องไปต่อคิวฉายแสงใหม่อีก ซึ่งน่าเสียดายมากค่ะ 
คืนนี้ง่วงนอนซะแล้วสิคะ zzz เพิ่งเขียนได้แค่ข้อเดียวเอง ข้อสำคัญทางด้านจิตใจยังไม่ได้เขียนเลยค่ะ ไว้มาต่อคราวหน้านะคะ วันนี้ไม่ไหวแล้วววว ขอตัวไปพักสายตาก่อนค่ะ
ขอเขียนต่อในบันทึกเดียวกันนี้เลยดีกว่านะคะ
2. การเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจ
          ข้อนี้สำคัญมากค่ะ เนื่องจากการฉายแสงนั้นไม่ได้ฉายครั้งเดียวแล้วจบ แต่เป็นการรักษาระยะยาวหลายสัปดาห์ ดังนั้นผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือในการรักษาด้วยค่ะ การเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจก่อนนัดฉายแสงจึงเปสิ่งที่สำคัญมาก วันนี้หนึ่งขอนำข้อสงสัย และความเชื่อของผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารับการฉายแสงที่ศูนย์มะเร็งอุดรฯ มาเล่าสู่กันฟังนะคะ

 

"การฉายแสงน่ากลัว"
          ขอแนะนำญาติ และหรือ พยาบาลที่มีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งและเตรียมตัวที่จะมารับการฉายแสง หากสามารถให้ข้อมูลเหล่านี้กับผู้ป่วยได้ จะช่วยลดความกลัวให้ผู้ป่วยได้มากเลยค่ะ
ข้อนี้พบบ่อยมากค่ะ 
เราสามารถบอกผู้ป่วยได้เลยว่าการฉายแสงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดค่ะ
เทคนิคคือ ลองถามผู้ป่วยดูนะคะว่าผู้ป่วยเคยเอ็กซเรย์มาก่อนมั้ย (ซึ่งปกติผู้ป่วยทุกรายต้องเคยเอ็กซเรย์มาก่อนแน่นอนค่ะ) ถ้าเคย ก็ให้นึกถึงตอนเอกซเรย์เลยค่ะ การฉายแสงเหมือนกับการเอ็กซเรย์ยังไงยังงั้นเลยค่ะ ไม่เจ็บไม่ปวด ไม่มีการเอาเข็มมาจิ้มที่ตัวผู้ป่วยด้วยซ้ำค่ะ ^^ ต่างกันตรงที่ เอ็กซเรย์จะทำนานๆซักครั้ง แต่การฉายแสงจะต้องฉายทุกวัน วันละ 1 ครั้ง จะหยุดพักเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการค่ะ ใช้ระยะเวลารักษารวมแล้วประมาณ 6 - 8 สัปดาห์ค่ะ
"ทำไมต้องขีดเส้นไว้บนตัว"
          อันนี้ตอบได้ไม่ยากค่ะ เส้นที่ขีดไว้เป็นเส้นกำหนดขอบเขตการฉายแสงค่ะ ว่าจะฉายเฉพาะตรงที่ขีดนี้เท่านั้น และผู้ป่วยจะได้ดูแลผิวหนังบริเวณฉายแสงได้สะดวกตรงจุดด้วยค่ะ
"ค่าใช้จ่ายในการมาฉายแสง"
          เดี๋ยวนี้สบายมากค่ะ เพราะผู้ป่วยแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย ทั้งผู้ป่วยบัตรทอง ประกันสังคม เบิกได้ จ่ายตรง หากมาตามขั้นตอนของสิทธิบัตร ที่ต้องใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเป็นค่าเดินทางมาศูนย์มะเร็งฯค่ะ และค่าอาหารของญาติที่มาเฝ้า และอาจมีที่ต้องลางานมาก็อาจเป็นอีกส่วนที่ผู้ป่วยต้องเสียรายได้ไปในช่วงรักษาตัวค่ะ
มีผู้ป่วยหลายคนถามว่า ถ้าเป็นบัตรทอง กับเป็นจ่ายเงินสด หมอจะฉายแสงให้ต่างกันหรือไม่
          ตอบได้ทันทีค่ะว่า ไม่แตกต่าง เพราะเครื่องฉายแสง เครื่องเดียวกัน ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม เบิกได้ จ่ายตรง หรือจ่ายเงินสด ดังนั้นแสงที่ฉายให้ก็เป็นแสงเดียวกันค่ะ ไม่มีแสงพิเศษ หรือแสงสำหรับบัตรทองนะคะ ^^
3. การเตรียมเอกสารก่อนมานัดฉายแสง
           ข้อนี้คือสิ่งที่ผู้ป่วยต้องมีก่อนมารับนัดคิวฉายแสง หากเตรียมเอกสารมาพร้อม ผู้ป่วยจะไม่เสียเวลาในการตามหาเอกสารต่างๆเพื่อมาพบแพทย์ครั้งต่อไปค่ะ แพทย์สามารถนัดได้เลย
สิ่งที่ต้องมีในวันพบแพทย์ครั้งแรกเพื่อนัดคิวฉายแสง
          - ผลชิ้นเนื้อ ข้อนี้สำคัญและจำเป็นมากในการนัดฉายแสงค่ะ เพราะผลชิ้นเนื้อจะเป็นตัวยืนยันว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นมะเร็งจริง หากไม่มีผลชิ้นเนื้อ ก็ยังไม่ฟันธงว่าเป็นมะเร็งจริงค่ะ การฉายแสงจะมีผลต่อเนื้อเยื่อปกติด้วยเช่นกันดังนั้นก่อนนัดคิวฉายแสงต้องมีผลยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งจริง  นอกจากนี้ผลชิ้นเนื้อยังสามารถช่วยแพทย์ในการวางแผนการรักษาได้อีกด้วย มะเร็งที่เดียวกันเช่นเต้านม หากผลชิ้นเนื้อเป็นเซลชนิดที่ต่างกัน แผนการรักษาย่อมแตกต่างกันค่ะ
          - ฟิล์มเอ็กซเรย์ ที่เคยทำมาทั้งหมด พร้อมใบอ่านฟิล์ม โดยเฉพาะฟิล์มเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล้กไฟฟ้า (MRI)
          - ประวัติการรักษาที่ผ่านมา (ที่เกี่ยวกับโรคที่เป็นนะคะ เช่นเคยผ่าตัดและเคมีบำบัดก่อนมาฉายแสง)
          - เอกสารสิทธิบัตร เช่นใบส่งตัว บัตรทอง บัตรประกันสังคม เป็นต้น
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่าน และแวะมาทักทายค่ะ
หวังว่าบันทึกนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับการฉายแสง ไม่มากก็น้อยนะคะ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยมะเร็งและญาติทุกๆท่านค่ะ ^^
หมายเลขบันทึก: 346369เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2010 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (83)

เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลยครับ ..

ขอบคุรนะครับ ถึงผมไม่ได้เป็นมะเร้งก้ยังได้รับความรู้ใหม่ๆ

สวัสดีค่ะคุณราชิต สุพร

ขอบคุณที่แวะมาทักทายค่ะ

และยินดีที่ได้รู้จักนะคะ ^^

บันทึกดีมีประโยชน์ค่ะน้องหนึ่ง เด็ก cancer หลายๆ รายก็ต้องได้รับการฉายแสงตามขั้นตอนการรักษาค่ะ

ผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างดีค่ะ เพราะมั่นใจว่าการรักษาจะทำให้เขาหายขาด

กำลังใจดีมาก การปฏิบัติตัวเคร่งครัด เชื่อฟังหมอทุกอย่าง

จนคุยว่าหมอและพยาบาลชมว่า"เป็นคนไข้ดีเด่น"

แต่รับประทานอาหารได้น้อย เสริมอาหารแบบไหนได้บ้างคะ

ฉายแสงบริเวณใบหน้า(โพรงจมูก) กินอาหารแล้วจะกลืนยาก เจ็บคอ

สวัสดีค่ะพี่เกด

ขอบคุณมากๆค่ะที่พี่เกดแวะมาให้กำลังใจ

ว้าว ความรู้นี้ชั่งห่างไกลตัวผมยิ่งนัก แต่ก็ใช่ว่าไม่มีประโยชน์

วันนี้ผมอาจจะมองว่าเป็นแค่ความรู้ธรรมดา แต่ถ้าวันนึงผมหรือคนรอบข้างจะต้องเจอที่กล่าวมา นี้แหล่ะความรู้เบื้องต้นชั้นดี

เวลาป่วยเราจำเป็นต้องรับผิดชอบตัวเอง ไม่ใช่ให้หมอมารับผิดชอบแค่ฝ่ายเดียว

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆนะครับ และหวังว่าจะได้อ่านบ่อยๆ ^^

สวัสดีค่ะพี่ครูป.1

สำหรับผู้ป่วยที่ฉายแสงบริเวณศีรษะและคอมักเจอปัญหาเจ็บปากเจ็บคอแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์เลยค่ะ

ดังนั้นไม่แปลกเลยที่จะมีอาการทานได้น้อย อาหารที่ทานได้ควรเปนอาหารอ่อน รสไม่จัด ลื่นๆกลืนง่ายๆค่ะ เช่น ถ้าเป็นข้าว ก็อาจเปลี่ยนจากข้าวสวยเป็นข้าวต้มหรือโจ๊ก หรือถ้าเจ็บคอมากจริงๆอาจต้องเป็นโจ๊กปั่น หรืออาหารเหลว สูตรอาหารเหลวปั่นทานเองที่บ้าน คลิกที่นี่ค่ะ  แต่งรสแต่งกลิ่นเพิ่มเติมตามชอบได้เลยนะคะ ตอนนี้นักโภชนากรของศูนย์มะเร็งกำลังคิดสูตรอาหารปั่นสำหรับดื่มที่หอมน่าทานเพิ่มเติมอีกค่ะ ยังไงถ้าผลออกมาแล้วพยาบาลหนึ่งชิมดูแล้วอร่อยจะนำมาลงให้ดาวดฆลดไปใช้อีกนะคะ

ปล.ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ผู้ป่วยดีเด่นของพี่ครูป.1 ด้วยคนค่ะ ^^

สวัสดีค่ะคุณปาปอนด์

ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ ^^

ใช่แล้วค่ะ ถึงแม้จะดูห่างไกลตัวไปซักนิด อ่านไว้ไม่เสียหายค่ะ

เผื่อมีใครที่ต้องการข้อมูลเหล่านี้ เราจะสามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นได้ค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย และให้กำลังใจนะคะ^^

สวัสดีค่ะ

  • เคยใกล้ชิดผู้ป่วยโรคมะเร็งน่าสงสารมาก..
  • การดูแลตนเองและการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
  • ขอบคุณความรู้ที่มีประโยชน์นะคะ

สวัสดีค่ะคุณKanchana

ใช่แล้วค่ะ การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งสำคัญในการรักษา

แต่ที่สำคัญมากๆที่สุดอีกสิ่งที่จะลืมไม่ได้เลย นั่นคือกำลังใจจากคนใกล้ชิดค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย และยินดีที่ได้รู้จักนะคะ^^

สวัสดีครับ คุณหนึ่ง

ผมมีเรื่องวขอสอบถามครับ คือคุณพ่อเป็นมะเร็งที่โพรงจมูก(อายุ 69 ปี) คุณหมอนัดฉายแสงวันที่ 21 มิ.ย. 53 และคุณหมอให้ไปเจาะหน้าท้อง เผื่อไว้กรณีปาก คอ เจ็บ โดยนัดผ่าตัดวันที่ 27 มิ.ย. 53 แต่คุณพ่อไม่อยากเจาะ จึงอยากถามคุณหนึ่งว่าถ้าเรายังไม่เจาะท้อง เอาไว้ถ้าทานอาหารไม่ได้จริงๆๆ แล้วค่อยไปเจาะได้หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณ STS

เรื่องการเจาะท้องเพื่อให้อาหาร เจาะเผื่อไว้แบบนี้ยังไม่เคยเจอเลยค่ะ

ที่ศูนย์มะเร็งอุดรฯ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก ไม่มีใครต้องไปเจาะท้องเพื่อเตรียมให้อาหารเวลาเจ็บปากเจ็บคอเลยค่ะ

มีแต่ต้องเตียมช่องปาก ทำฟันให้เรียบร้อยก่อนมาฉายแสง

เรื่องเจ็บปากเจ็บคอ อย่างที่เล่าให้ฟังค่ะ คือจะเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของความรุนแรงของภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ

ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีระดับความรุนแรงของเยื่อบุช่องปากอักเสบต่างกัน บางรายอาจเป็นมาก บางรายเป็นน้อย

ในแต่ละระดับความรุนแรงก็จะมีวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยค่ะ จากเริ่มเป็นน้อยๆ ไปหาเป็นมากๆจนทานอะไรไม่ได้เลยแม้แต่น้ำ

เริ่มต้นโดยเปลี่ยนชนิดของอาหารก่อนค่ะ เป็นอาหารอ่อน ลื่น กลืนง่ายๆ รสไม่จัด เช่นข้าวต้ม โจ๊ก ข้าวสวยต้องมีน้ำซุปทุกมื้อ แกงจืด ไอศครีม วุ้น เป็นต้น (การทำความสะอาดช่องปากก็ต้องเปลี่ยนแปรงสีฟันที่ขนแปรงนุ่มๆ ยาสีฟันรสผลไม้ที่ไม่เย็นซ่า ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมเบคกิ้งโซดาผสมเองไม่ต้องซื้อยี่ห้อแพงๆค่ะ)

ถ้าเจ็บปากคอมาก ขั้นต่อไปเปลี่ยนเป็นอาหารเหลว อาหารปั่น นม โอวัลติน และแพทย์จะสั่งยาชาให้อมแล้วกลืนก่อนทานอาหารทุกมื้อ

ถ้าไม่ไหวจริงๆกลืนแม้แต่น้ำไม่ได้ ยาชาก็เอาไม่อยู่จริงๆ ก็จะให้น้ำเกลือผสมวิตามิน ให้อาหารทางสายยาง (ใส่ทางจมูกหรือปาก ไม่ต้องผ่าตัดเจาะท้องค่ะ)

ผู้ป่วยก็จะได้รับสารอาหารเพียงพอค่ะ ^^

อาจต้องสอบถามคุณหมออีกครั้งป่าวคะว่าที่ต้องเจาะด้วยสาเหตุอะไร บางครั้งคุณหมออาจให้เจาะเพราะมีสาเหตุอื่นๆร่วมด้วยหรือเปล่า

แต่ถ้าถามว่าเตรียมตัวมาฉายแสงที่โพรงหลังจมูกต้องเจาะท้องเพื่อให้อาหารหรือไม่ ตอบได้ว่าไม่ค่ะ (ที่ศูนย์มะเร็งอุดรฯนะคะ)

สวัสดีครับ คุณหนึ่ง

ขอบคุณมากครับ ทำให้เข้าใจมากขึ้นเลย แต่อยากถามเพิ่มอีดนิดครับ คือ

1. ของคุณพ่อมีการลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่คอด้านซ้าย ด้วย เวลาฉายแสง จะฉายที่โพรงจมูก และที่คอ ด้วยใช่ไหมครับ

2. จากข้อ 1 ถ้ามีการฉายที่คอด้วย จะเป็นสาเหตุ ที่ต้องเจาะท้องหรือเปล่าครับ

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะคุณ STS

โดยปกติแล้ว บริเวณฉายแสงสำหรับผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูกจะครอบคลุมลงมาถึงต่อมน้ำเหลืองที่คอด้วยค่ะ

เด๋วจะหารูปบริเวณฉายแสงมาลงให้ดูนะคะ ^^

ขอบคุณคุณหนึ่งมากครับ คุณหนึ่งใจดีมาก ขอให้มีความสุขมากๆๆครับ

สวัสดีค่ะคุณ STS

ยินดีค่ะ ^^

ภาพบริเวณที่ตีเส้นกำหนดขอบเขตการฉายรังสีค่ะ ภาพล่างจะเห็นต่อมน้ำเหลืองโตด้วย

ปล.กรณีมะเร็งโพรงหลังจมูก แพทย์จะพิจารณาให้เคมีบำบัดก่อนซัก 2-3ครั้งแล้วฉายแสงประมาณเดือนครึ่ง แล้วต่อด้วยเคมีอีกจนครบค่ะ

ขอบคุณสำหรับคำอวยพรค่ะ และขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณ STS มีพลังกายและพลังใจสู้กับโรคและการรักษาต่อไปด้วยนะคะ

ที่สำคัญขอเป็นกำลังใจให้คุณ STS และผู้ดูแลผู้ป่วยทุกท่านมีกำลังแรงใจและกายที่เข้มแข็งในการดูแลผู้ป่วยด้วยค่ะ สู้ๆนะคะ ^^

ขอบคุณครับ คุณหนึ่ง สำหรับกำลังใจที่ให้ : คุณพ่อผมไปฉายแสงเมื่อวานวันแรก แต่คุณหมอยังไม่ได้นัดให้เคมี และพรุ่งนี้ผมจะไปคุยกับคุณหมอเรื่องเจาะท้องครับ

ขอบพระคุณคุณหมอ มากๆ ที่ให้ความรู้ครับ

สวัสดีค่ะคุณ sirawit

ยินดีมากๆค่ะที่บันทึกนี้มีประโยชน์

ปล.หนึ่งเป็นพยาบาลค่ะ แหะๆๆ ^^

ขอบคุณพี่หนึ่งมากนะคะ ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเลย

พี่หนึ่งใจดีมาก ๆ เลยะคะ ตอบคำถามของทุกคนเลย

ตอนนี้หนูกำลังเรียนอยู่คณะพยาบาลนะคะ พอดีเข้ามาหาข้อมูล

ต้องขอบคุณพี่หนึ่งมากนะคะ

สวัสดีค่ะน้องเนอร์ส

ยินดีมากๆๆค่ะที่บันทึกนี้มีประโยชน์ ^^

เรียนและฝึกงานหนักหน่อยนะคะ สู้ๆๆๆจ้า เรียนจบไวๆพี่เป็นกำลังใจให้นะคะ

ขอบคุณที่แวะมาทักทายค่ะ

สวัสดีคะ..ขอบคุณมากสำหรับข้อมูลเป็นประโยชน์มาก มากเลยคะ

และอย่ากรบกวนอีกนิด พอดีอยากทราบเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยเป็นมะเร็งที่กล่องเสียงคะเพราะคุณพ่อเป็นอยู่แล้วรับประทานอาหารลำบากมากอยากมีเมนูอาหารแปลกใหม่ไปทำให้ท่านทานจะได้ไม่น่าเบื่อและจำเจหนะคะขอบคุณล่วงหน้าเลยนะคะ

รบกวนช่วยตอบด้วยคะ

สงสัยว่าทำไมต้องหยุดฉายแสงในวันหยุดละค่ะ....

เป็นเพราะอะไร....แต่คิดว่าไม่น่าใช้เพราะเหตุผลเจ้าหน้าที่ไม่ทำงาน เพราะถ้างั้นคนคงแห่ไปรักษารพ.เอกชนเพื่อให้ครบฉายแสงเร็ว ๆ ...

ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบนะคะ.............

สวัสดีค่ะคุณ KANCHANA

ต้องขออภัยที่หนึ่งมาตอบช้านะคะ ยินดีมากๆที่บันทึกมีประโยชน์ค่ะ ^^ สำหรับเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยกลืนลำบาก หนึ่งได้เขียนเพิ่มบันทึกเอาไว้ที่ลิงค์นี้แล้วนะคะ => เมนูนี้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการกลืนลำบาก หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งเมนูที่คุณพ่อคุณ KANCHANA จะชอบทานนะคะ ^^

ขอบคุณที่แวะมาทักทายค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ รบกวนช่วยตอบด้วยคะ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับมะเร็งและรังสีรักษาก่อน เนื่องจากตัวมะเร็งไม่ได้เป็นรูปทรงเลขาคณิต การกำหนดขอบเขตการฉายรังสีจึงต้องกว้างกว่ารอยโรคที่เห็น เพื่อให้ครอบคลุมส่วนของมะเร็งที่อาจยื่นยาวออกมาโดยรอบ

จะเห็นได้ว่า เส้นที่ขีดกำหนดขอบเขตการฉายรังสีจะเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้น เซลล์ปกติและอวัยวะที่อยู่ข้างเคียงในบริเวณฉายรังสี(ที่ขีดเส้นไว้)จึงได้รับรังสีไปด้วยค่ะ

การฉาย ๕ วันต่อเนื่องกัน แล้วหยุดพัก ๒ วันเพื่อให้เซลล์ปกติที่โดนรังสีฟื้นตัว ในขณะที่เซลล์มะเร็งจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นการฟื้นตัวของเซลล์ปกติของผู้ป่วยแต่ละรายก็ต่างกัน ขึ้นกับภาวะโภชนาการของแต่ละรายด้วยค่ะ

ทำให้กำหนดวันหยุดพักการฉายรังสีไว้ตรงกับวันหยุดค่ะ ^^ 

เออ คือคุณปู่เป็นมะเร็งปอดแล้วลามไปที่สมองเป็นนระยะที่สี่แล้วเพิ่งรู้ แล้วคุณปู่ไม่ค่อยแข็งแรงแล้วจะมีผลร้ายแรงต่อคูณปู่มั้ยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ ไม่แสดงตน

มะเร็งปอดลุกลามไปที่สมองระยะ๔ อายุมาก ร่างกายอ่อนแอ ทีมแพทย์น่าจะพิจารณารักษาแบบประคับประคอง (ตามอาการ) นะคะ

อาการของมะเร็งปอด ผู้ป่วยจะมีปัญหาในเรื่องการหายใจ อาจมีหายใจเหนื่อยหอบ หายใจตื้นๆ ไม่อิ่ม อาจนอนหงายราบไม่ได้ต้องนอนศีรษะสูง หรือนั่งฟุบ การช่วยเหลืออการเหล่านี้ ควรได้รับอ๊อกซิเจนบำบัด เพื่อให้ร่างกายได้รับอ๊อกซิเจนเพียงพอ ถ้ามีน้ำในเยื่อหุ้มปอดด้วย แพทย์จะพิจารณาเจาะน้ำในเยื่อหุ้มปอดระบายออกมา เพื่อลดอาการหายใจเหนื่อย หลังเจาะผู้ป่วยจะหายใจสะดวกขึ้น เป็นต้น ส่วนมะเร็งแพร่กระจายมาสมอง ขึ้นกับตัวมะเร็งที่กระจายจะไปอยู่ตรงจุดไหนของสมอง บางรายอาจมีอาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง อาจมีชักกระตุก เกร็ง อาเจียนพุ่ง ปวดศีรษะ เห็นภาพซ้อน เป็นต้น แพทย์จะพิจารณารักษาช่วยเหลือตามอาการนั้นๆ หากปวด ก็ให้ยาแก้ปวด กินไม่ได้ ก็ให้น้ำเกลือ หรือให้อาหารทางสายยาง หรือทางหลอดเลือดดำ เป็นต้นค่ะ หากผู้ป่วยแข็งแรงพอ แพทย์อาจพิจารณาให้รังสีรักษาร่วมด้วย (ฉายแสงที่ศีรษะ เพื่อยับยั้งเซลล์มะเร็งไม่ให้กระจายไปมากกว่านี้ ทำให้ก้อนมะเร็งยุบลงบ้าง อาการปวดศีรษะจะทุเลาลงได้ดีกว่าใช้ยาแก้ปวดค่ะ)

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายค่ะ ที่สำคัญ กำลังใจจากคนใกล้ชิด ลูกหลานอันเป็นที่รัก จะช่วยให้ผู้ป่วยในระยะนี้มีความสุข มีกำลังใจ รู้สึกอบอุ่นไม่ถูกทอดทิ้ง เมื่อกำลังใจดี

ขอเป็นกำลังใจให้คุณปู่ ญาติๆ และผู้ดูแลทุกๆท่านนะคะ

สวัสดีค่ะ คุณหนึ่ง มีเรื่องจะปรึกษาค่ะคือคุณน้ากำลังรักษามะเร็งโดยการฉายแสง แต่ตอนนี้มีปัญหาคือทานอาหารลำบากมากทานได้น้อย อ่อนเพลีย อยากนอนทั้งวัน ควรจะดูแลอย่างไรดี ก่อนหน้านี้ให้เคมีครบแล้ว ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ sa

ไม่แน่ใจว่าคุณน้าของคุณsa เป็นมะเร็งตรงส่วนไหน ในกรณีที่ระหว่างฉายแสงแล้วมีอาการทานอาหารลำบากทานได้น้อยด้วย ต้องพยายามหาวิธีช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารเพียงพอกับความต้องการของร่างกายค่ะ

โดยปกติแล้วอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เป็นอาการที่ผู้ป่วยมะเร็งแทบทุกรายต้องเจอ และการทานอาหารลำบาก(อาจเกิดจากผลข้างเคียงจากการรักษาและจากตัวโรคมะเร็งเอง)ก็ยิ่งทำให้ผู้ป่วยทานได้น้อยเข้าไปใหญ่ค่ะ และส่งผลให้อ่อนเพลียมาก ร่างกายผอมซูบลง ต้องดูว่าผู้ป่วยกลืนอาหารลำบากจากสาเหตุอะไรและค่อยๆแก้ไขที่สาเหตุนั้นๆค่ะ

หนึ่งเขียนบันทึกเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งไว้หลายบันทึก คิดว่าน่าจะพอมีประโยชน์บ้าง คุณ sa ลองเข้าไปดูนะคะ ถ้าเป็นมะเร็งที่ศีรษะและคอ คลิกที่  ลิ้งค์นี้ค่ะ ส่วนเรื่องเมนูอาหาร จริงๆแล้วหนึ่งอยากจะนำมาเขียนลงไว้เยอะๆ แต่ก็เพิ่งจะลงได้เพียง 2 เมนูค่ะ ตามมาดูได้ที่  ลิงค์นี้ค่ะ  และลิงค์นี้ค่ะ

แหะๆมีหลายบันทึกมากๆๆๆๆ เอาเป็นว่าเข้าไปเลือกอ่าน ที่นี่ดูนะคะ สนใจหัวข้อไหนคลิกได้เลยค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้คุณน้าของคุณ sa และผู้ดูแลทุกท่านด้วยนะคะ

รายละเอียดสอบถามทางเมล์ได้ค่ะคุณ sa หรือโทรมาได้ที่ศูนย์มะเร็งอุดรฯ ต่องานผู้ป่วยนอกรังสีรักษาค่ะ

สวัสดีค่ะ....อยากรู้ว่าสีที่ใช้ในการเขียนขอบเขตบนตัวผู้ป่วยฉายรังสีนี่ ทำมาจากอะไรคะ ขอบคุณค่ะ

ต้องขอบคุณ คุณหนึ่ง มากๆเลยค่ะ ที่ให้ความรู้เพิ่มเติม คุณน้าเป็นมะเร็งเต้านมค่ะ ตอนนี้เริ่มทานอาหารได้มากขึ้น แต่ยังต้องไปฉายแสงทุกวันค่ะใกล้จะครบ 25 ครั้งแล้ว ขอบคุณจริงๆค่ะ

สวัสดีค่ะคุณศศิธร

ส่วนผสมของสีที่ใช้กำหนดขอบเขตบนตัวผู้ป่วยเป็นลิขสิทธิ์ของทางนักรังสีเค้าอ่ะค่ะ อิอิ

เค้าทดลองคิดค้นส่วนผสมที่ลบออกยากที่สุด ระคายเคืองต่อผิวหนังน้อยที่สุดค่ะ

แต่ที่แน่ๆคือไม่ได้ใช้ปากกาเคมีขีดบนตัวผู้ป่วยค่ะ สบายใจได้ตรงจุดนี้ ^^

ยินดีมากๆค่ะคุณ sa ^^

ถ้าผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ลองสังเกตดูขอบเขตการฉายแสงด้วยนะคะว่าบริเวณฉายแสงนั้นกว้างถึงกลางหน้าอกด้วยหรือไม่ หากกว้างมาถึงบริเวณกลางหน้าอก อวัยวะบริเวณนั้น (หลอดลม หลอดอาหาร) ก็จะโดนรังสีไปด้วยค่ะ ซึ่งจะมีผลข้างเคียงคือ ผู้ป่วยอาจมีอาการกลืนอาหารลำบาก กลืนแล้วเจ็บคอ กรณีนี้ในช่วงฉายแสงอาจต้องเปลี่ยนเป็นอาหารอ่อน เช่นข้าวต้ม หรือข้าวเจ้า และในทุกมื้ออาหารควรมีน้ำซุปด้วย อาจทานอาหารที่ให้พลังงานสูงๆ อร่อยด้วย ได้พลังงานด้วยและกลืนง่ายคล่องคอด้วย เช่นขนมซ่าหริ่ม ลอดช่อง อะไรประมาณนี้ หรืออาจทานอาหารเหลวเช่นซุปต่างๆ โอวัลติน นม ประมาณนี้ไปก่อน เมื่อครบแสงแล้วเซลล์เยื่อบุในหลอดอาหารส่วนที่โดนรังสีจะค่อยๆฟื้นตัวและกลับมาแข็งแรงดังเดิมค่ะ ระยะเวลาการฟื้นตัวก็ขึ้นอยู่กับอาหารที่ผู้ป่วยทานด้วย ถ้าได้รับสารอาหารครบเน้นโปรตีนสูงพลังงานสูง ก็จะฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้นค่ะ หลังจากนั้นผู้ป่วยก็จะกลับมาทานอาหารได้ทุกอย่างตามปกติ ^^

สอบถามพี่สุวิญญา ค่ะ พอดีแม่หนูเป็นมะเร็งตับนะค่ะหมอที่รพ.รัฐบาลให้รอชิ้นเนื้อที่ส่งตรวจค่ะ เพราะกำลังจะส่งตัวไปสถาบันมะเร็งค่ะ พอจะทราบไมค่ะถ้าส่งไปแล้วจะไปทำอะไรต่อค่ะ ขอร้องนะค่ะช่วยตอบหนูหน่อยค่ะ หนูไม่รู้จะทไงจริงๆค่ะ แพทย์ที่รักษาบอกว่าแม่หนูเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้ายค่ะ พวกหนูตั้งตัวไม่ได้เลยค่ะ ทำอะไรไม่ถูกด้วยกลัวๆไปหมดแต่ก็ต้องเป็นกำลังใจให้แม่ค่ะ ตอนนี้แม่หนูต้องทานอะไรบ้างค่ะ เพราะแกผอมลงมากเลยค่ะ ทานข้าวได้น้อยแต่แกก็ทานอย่างอื่นเช่น ผลไม้ น้ำผัก แล้วจะให้แม่หนูท่านอะไรอีกค่ะ ถ้ายังไงหนูขอเมล์ของพี่หน่อยได้ไม่ค่ะ (ที่แม่จะโดนส่งตัวไปใช่ที่พี่อยู่ไม่ค่ะ) นี้เมล์หนูค่ะ [email protected] พี่ค่ะช่วยด้วยค่ะที่หนูให้เมล์ไว้เพื่อเดียวหนูเข้าเว็ปนี้ไม่ได้ค่ะ      ----------หนูขอคำปรึกษาหน่อยนะค่ะขอร้องจากใจ

สวัสดีค่ะน้องดา

พี่ส่งเมล์ไปแล้วนะคะ ขอเป็นกำลังให้น้องดาและคุณแม่น้องดาด้วยอีกหนึ่งกำลังใจค่ะ

ขอบคุณพี่สุวิญญามากๆเลยค่ะ ข้อมูลขอพี่มีประโยชน์มากเลยค่ะพี่เป็นคนที่จิตใจมีมากคิดถึงใจของคนอื่นทั้งๆที่ไม่ได้รู้จักไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน ขอบคุณมากๆๆจริงๆค่ะ

พี่ค่ะถ้ามีเมนูอาการอีกแนะนำด้วยนะค่ะหนูจะได้ทำให้แม่ทานค่ะ ปล.พี่ก็ดูแลตัวเองด้วยนะค่ะเห็นว่านอนดึงจากที่พี่เขียนบันทึกนะค่ะ.............................ขอให้ทำแบบนี้ต่อไปเพื่อคนที่ไม่มีความรู้ด้านนี้ใครเค้าเตรียมตัวรับมือกับมันค่ะ

ยินดีมากๆค่ะน้องดา และขอบคุณมากสำหรับกำลังใจนะคะ ^^

พี่สุวิญญาค่ะ มะเร็งกับ เนื้อร้ายเหมื่อนกันไม่ค่ะ

หมอ. มาบอกมีว่ามีเนื้อร้ายที่กระเพราะให้ผ่าตัดเพราะเดี๋ยจะลามไปที่ตับค่ะ

ไม่เจ้าใจค่ะหมอส่งตัวแม่ไป สถาบันมะเร็งค่ะแล้วไปแล้วจะผ่าตัดเลยไม่ค่ะต้องรอหรือทำอะไรอีกกี่วันค่ะ กลัวมันจะลามนะค่ะ แม่ไปวันพุทธนี้ค่ะ30 มีนาคม2554

พี่ค่ะ ไปหาหมอที่สถาบันมะเร็งค่ะ หมอบอกให้รอทำเคมีบำบัดยังไม่ต้องผ่าตัดค่ะ หมอบอกให้ทำเคมีดูก่อนค่ะ

และแม่หนูได้คิวตั้งอีก 2 เดือนค่ะ พี่ค่ะหนูจะทำไงค่ะ หนูขอถามหน่อยค่ะ

คือ 1. ที่หมอบอกแบบนี้เพราะแม่หนูเป็นมากแล้ว หรือ ว่ายังเป็นน้อยอยู่ค่ะ

2. หนูสำควรพาแม่ไม่ทำเคมีบำบัดแบบเสียเงินแองเลยดีไมค่ะเพราะหมอให้รอคิวนานมากเลยค่ะ อีก 2 เดือนค่ะ และพี่พอรู้ไม่ค่ะทำเคมีราคาเท่าไรค่ะ ทำกี่ครั้งค่ะ หนูรบกวนพี่สุวิญญาด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะน้องดา

การพิจารณาและวางแผนรักษานั้นแพทย์จะพิจารณาให้เหมาะกับผู้ป่วยในแต่ละรายค่ะ

หากต้องการทราบว่าเป็นอยู่ในระยะไหนแล้ว หรือต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการรักษานั้นผู้ป่วยสามารถสอบถามจากแพทย์ผู้ทำการรักษาได้โดยตรงเลยค่ะ ซึ่งจะได้ข้อมูลที่แน่นอนกว่า

สำหรับคำถามที่ว่าจะพาไปทำเคมีบำบัดแบบเสียเงินเองนั้น แน่นอนว่าราคาต้องสูงกว่า แต่จะกี่เท่านั้นขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกไปรักษาที่ไหนค่ะ ราคาเคมีบำบัดแต่ละครั้งนั้น จะแตกต่างกันค่ะขึ้นกับสูตรยา และมิลลิกรัมยาด้วย มีตั้งแต่ราคาไม่เกิน ๕๐๐๐บาท ไปจนราคาคอร์สละหลายแสนก็มีค่ะ(ซึ่งไม่ได้ให้เพียงแค่คอร์สเดียวด้วยนะคะ) ราคาที่พี่บอกไปนั้นเป็นราคาโรงพยาบาลของรัฐนะคะ แหะๆ หากให้พี่แนะนำ ถึงแม้ว่าเราจะมีเงินมากพอที่จะซื้อความสะดวกรวดเร็ว แต่พี่คิดว่าหากเรามีสิทธิ์การรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ก็น่าจะใช้สิทธิ์นั้นค่ะ โรงพยาบาลของรัฐผู้ป่วยมีจำนวนมากกว่าของเอกชนหลายเท่าตัว ทำให้คิวยาวซักหน่อย แต่การดูแลรักษาก็เป็นไปตามมาตรฐานแน่นอนค่ะ เงินในส่วนที่จะนำไปจ่ายค่าเคมีเราอาจนำมาใช้จ่ายเพื่อความสุขสบายแก่ผู้ป่วยน่าจะคุ้มกว่า อิอิ เช่นพาไปเที่ยวรอบโลกบ้าง หรือพาไปเที่ยวทั่วไทย พักผ่อนให้สบายใจอะไรแบบนี้จะคุ้มกว่าค่ะ

ปล.เคยมีผู้ป่วยฝรั่งที่เค้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนในช่วงแรกๆ ก็ยังสู้ราคาไม่ไหว ต้องขอมารักษาที่รพ.ของรัฐในคอร์สท้ายๆ และขอมาฉายแสงที่เราก็มีค่ะ

แต่อย่างไรก็ตาม พี่คิดว่าการตัดสินใจเลือกรักษานั้นขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยและญาติค่ะ ไม่ว่าจะตัดสินใจรักษาที่ไหน ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยและน้องดาด้วยนะคะ ^^

พี่ค่ะ แล้วระยะเวลาในการรอมันจะนานไปสำหรับมะเร็งที่มันจะรุกลามไมค่ะ( 2เดือนนะคะ)หนูกลัวมันจะลามไปส่วนอื่นค่ะ

แล้วเราจะต้องให้ผู้ป่วยเตรียมตัวยังไงค่ะ ขอบคุณสำหรับคำตอบที่พี่ตอบมาให้หนูทุกอย่างค่ะขอคุณจากใจค่ะ

แม่อายุ ๖๖ ปีเป็นคนจีนโบราณ อ่าน เขียนหนังสือไม่ได้ ไม่ชอบเข้าวัดหรือไหว้พระ เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ทอลซิลด้านขวา หมอบอกว่าเป็นระยะ ๓ มีโรคประจำตัวคือไวรัสตับอักเสบ บี แบบพาหะ แต่ตับไม่เคยอักเสบ ตอนนี้ในคอ (เพดานบนขวา) มีก้อนเนื้อและมีแผลเป็นหนองอักเสบ ๒ แผล เหมือนแผลร้อนใน ที่โคนลิ้นก็มีอีก ๑ แผล ทำให้พูดและหายใจลำบาก พูดแล้วจะเหนื่อย เวลานอนมีเสียงดัง กินอะไรไม่ค่อยได้ กินได้แต่ ensure เป็น มื้อ ๆ รู้ผลมาตั้งแต่ พย.รักษาตัวเองแบบชีวจิตมา ๔ เดือน แต่ตอนนี้หมอแนะนำว่าคงต้องฉายแสง ก้อนเนื้อถึงจะยุบแต่ไม่ได้บอกถึงผลข้างเคียงมากมาย ไม่มีใครการันตีว่าถ้าเกิดแย่กว่าเดิมแล้วจะทำยังไงได้ แม่อยากหาย แต่แม่ไม่อยากฉายกลัวผลข้างเคียงหลาย ๆ อย่าง ตัดสินใจไม่ได้ ไม่มีความเห็นกับชีวิตของตัวแม่เอง พ่อ กับคนรอบข้างเป็นทุกข์และลำบากใจเพราะเห็นแม่ เจ็บ+กลัว และก็พูดไม่ปกติเหมือนเดิม ซึมเศร้า ร้องไห้บ่อย ไม่อยากคุย และแสดงอาการไม่ค่อยชอบคนเป็นห่วง หนี ๆ รำคาญ ไม่อยากคุย ไม่รู้จะช่วยแม่ยังไงดี จะบอกแม่ว่ายังไง จะพูดกับพ่อและคนในครอบครัวว่ายังไง มีอะไรที่พอจะทำให้สถานการณ์มันหายเครียดได้มากกว่านี้บ้าง เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกวัน ๆ คงแย่แน่ ๆ ฉายแสงหรือไม่ฉายดี แล้วต้องคีโมไม๊ค๊ะ พี่ HANA ช่วยหนูด้วยค่ะ หมอที่รักษาแผนกHematoก็ดุ (มอ.หใ.) ไม่เคยยิ้มหรือให้กำลังใจคนไข้เลย ถึงหมอจะเบื่ออาชีพหรือเครียดคุณก็จบหมอมา อายุก็เกือบ ๕๐ นะ น่าจะพูดกับคนไข้หรือญาติดี ๆหน่อย รู้ว่าคนไข้เยอะ แต่คุณก็คือ"""หมอ""" หมอคือใครเหรอ?? เราเป็นคนจน ถึงได้รักษารพ.รัฐ เรามีสิทธิ์เลือกหมอได้ไม๊ค๊ะ < คิดกลับกัน ถ้าคุณจน แล้วคนที่เป็นเป็นคุณ หรือพ่อแม่ของคุณบ้างล่ะ>

สวัสดีค่ะคุณ "มืดทุกด้าน"

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ต้องมารับการฉายแสงนั้น สามารถติดตามได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ => "ทำอย่างไรดี หากมีอาการแทรกซ้อนระหว่างฉายรังสีบริเวณศีรษะและคอ"

และพี่ได้เขียนเวบกลุ่มงานรังสีรักษา ซึ่งลิงค์กับบันทึกใน gotoknow นี้ไว้ด้วยค่ะ คิดว่าน่าจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยและญาติได้ ลองเข้าไปเลือกอ่านข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับรังสีรักษา เพื่อประกอบการตัดสินใจรักษา และเป็นข้อมูลสำหรับอธิบายให้กับคุณแม่และคนในครอบครัวได้รับทราบเบื้องต้น => คลิกที่นี่ค่ะ 

หากไม่แน่ใจหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถโทรมาสอบถามได้ค่ะ ^^ หรือส่งเมล์มาก็ได้ค่ะ

เข้าใจว่าทุกครอบครัวหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นคงทำให้บรรยากาศในครอบครัวตึงเครียดมากๆแน่ๆเลยค่ะ เบื้องต้นคือต้องดูแลตัวเองและให้กำลังใจตัวเองให้มากๆก่อนค่ะ(สำหรับญาติ) ต้องเข้มแข็ง ในช่วงเวลาแบบนี้ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยจะหนักและต้องเหนื่อยทั้งกายและใจ ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ไม่มั่นคง จากหลายๆอย่าง ทั้งความเจ็บป่วย ทั้งความกลัวต่อโรค ความกลัวต่อการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นเนื้องอกอยู่ในบริเวณคอ ซึ่งเป็นปัญหาเวลากลืนอาหาร เวลาพูดคุย และเวลาหายใจ

เมื่อญาติเข้มแข็ง และมีกำลังใจดีแล้ว ก็จะสื่อส่งไปถึงผู้ป่วยได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้ผู้ป่วยยังไม่เข้ารับการรักษา แต่เราสามารถดูแลเรื่องอาหาร การนอนหลับ ดูแลเรื่องทุเลาความปวด เรื่องการพูดคุย เรื่องกำลังใจ(สำคัญมากๆ) เองต้นได้ก่อนเลยค่ะ ยังไงพี่ก็ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้คุณแม่และครอบครัวของน้อง "มืดทุกด้าน" ให้ผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้ด้วยดีนะคะ

พี่ค่ะน้องมาอีกแล้วค่ะ คือว่าจากที่แรกที่หนูบอกพี่ว่าแม่หนูจะต้องรอทำเคมี 2 เดือน นะค่ะพอถึงกำหนดก็ไปหมอให้ตรวจให้หมดและหมอบอกว่าจะดูว่าต้องทำหรือไม่ต้องทำค่ะ พอไปฟังผลหมอบอกไม่ต้องทำให้เอายาไปกิน จะเป็นยาที่จะต้องสั่งจากเมืองนอกค่ะ

ที่หนูอยากรู้คือ

1. ที่หมอไม่ทำเคมีเพราะแม่หนูไม่สามารถทำอะไรได้แล้วใช้ไม่ค่ะ หมอถึงให้ยามากินแทนค่ะ (หมอเค้าบอกไม่ต้องทำ) พี่ค่ะรบกวนหน่อยบอกหนูตรงๆเลยได้ค่ะ หนูอยากรู้หนูรู้แค่นี้ พี่หนูไม่ยอมบอกหนูค่ะแม่หนูก็ไม่รู้เรื่องค่ะ ขอความกรุณาค่ะช่วยด้วยนะค่ะ

สวัสดีครับ ผมวิชัยครับมีปัญหาต้องการถามคุณหมอครับ

คุณพ่อต้องไปฉายแสงที่คอที่ รพ ทุกวันเป็นจำนวน 33 ครั้ง แรกๆก็ยังทานอาหารปกติ แต่ต่อมาก็รับประทานอาหารลำบากขึ้น คือ เวลากลืนแล้วจะเจ็บที่ลำคอ เลยให้ทานอาหารเหลวและดื่มนมหรือน้ำเต้าหู้เพื่ิอช่วยให้คล่ิองคอขึ้น แต่ต่อมา ฉายไปนานเข้าความเจ็บก็มากขึ้น ขณะพิมพ์วันนี้ครั้งนี้ ครั้งที่ 14 ยังไม่ถึงครึ่งทางของการฉายแสง คุณพ่อก็เจ็บคอมากจนตอนนี้วันนี้แม้แต่กลืนน้ำท่านยังบอกว่าเจ็บเลยครับ จึงอยากเรียนสอบถามว่าจะพอมีวิธีไหนพอที่จะช่วยทุเราอาการเจ็บจากการกลืนน้ำบ้างครับ

ผมและครอบครัวมีความเป็นห่วงคุณพ่อมากโดยเฉพาะคุณแม่ท่านยิ่งมากกว่าหลายเท่านัก อยากให้ท่านเจริญอาหารแต่ท่านก็ไม่รับทานมาสองวันแล้ว ทุกคนในครอบครัวกังวลมาก อยากทราบวิธีการและการปฏิับัติตัวให้ถูกต้องจะได้ช่วยบรรเทาอาการเจ็บครับ

รบกวนด้วยนะครับ ขณะนี้ทางบ้านกังวลและร้อนในมาก

ถามคุณหมอแล้วแต่ก็ไม่ได้รับคำอธิบายที่เข้าใจ และคุณหมอท่านก็มีคนไข้มากมายที่ต้องรักษาต่อ ไม่อยากให้ท่านอื่นเสียเวลารอคอย เกรงใจครับ เลยว่าจะเข้ามาสอบถามทางอินเตอร์้เน็ต แต่ในเวปต่างๆ ก็ยังอธิบายได้ไม่ละเอียดมากพอถึงวิธีดูแลและเรื่องอาหารการกินต่างๆ ที่ทานได้ ที่ทานไม่ได้ ทานแล้วเจ็บคอ ทรมาน วิธีแก้ หรือหลีกเลี่ยง ทางอื่นที่ดีกว่า

ขอบคุณครับ

วิชัย ทุ่งครุ

สวัสดีค่ะคุณวิชัย ทุ่งครุ

  • ปัญหาภาวะแทรกซ้อนจากการฉายแสงบริเวณศีรษะและคอ บางครั้งดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ไม่สำคัญเท่ากับปัญหาโรคมะเร็ง แต่จริงๆนั้นเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยมากที่สุดปัญหานึงทีเดียวค่ะ ถึงขั้น เคยมีผู้ป่วยที่ขอปฏิเสธการรักษา เพราะทนผลข้างเคียง(เจ็บปากเจ็บคอ)ไม่ไหวก็มีค่ะ หนึ่งเคยนำกรณีศึกษามาเขียนบันทึกไว้ที่นี่ => คลิกที่นี่ค่ะ
  • ส่วนอาการข้างเคียงต่างๆที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่รับการฉายแสงบริเวณศีรษะและคอ และการแก้ไข ดูได้จากบันทึกนี้ค่ะ => คลิกที่นี่ค่ะ
  • และล่าสุดหนึ่งและทีมงานได้จัดทำวีดิทัศน์การเตรียมตัว และการปฏิบัติตัวระหว่างมารับการฉายแสงบริเวณศีรษะและคอไว้ เข้ามาดูได้ที่นี่ค่ะ => รายการรังสีหรรษา
  • สุดท้ายที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์คือเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยที่กลืนลำบาก เจ็บปากเจ็บคอ หนึ่งได้เขียนบันทึกเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งไว้ หลายเมนู (เนื่องจากได้มีโอกาสไปอบรมภาวะโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็ง และมีผู้ป่วย ผู้ดูแลจำนวนมากที่สอบถามเกี่ยวกับเมนูอาหารที่ผู้ป่วยทานได้ โดยมากเมื่อค้นหาในเน็ทก็ไม่ค่อยมี จะพูดแค่รวมๆ และมีแต่ข้อห้ามทั้งนั้น จึงได้พยายามเขียนบันทึกเมนูอาหารมาเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เผื่อทานอาหารเดิมๆแล้วเบื่อ ก็ลองเปลี่ยนเมนูดูนะคะ) => เวบกลุ่มงานรังสีรักษา ศูนย์มะเร็งอุดรธานี หนึ่งได้พยายามรวบรวมบันทึกที่เคยเขียนไว้มาจัดเป็นหมวดหมู่ ลองเข้าไปเลือกเมนูต่างๆได้ที่นี่ค่ะ เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

สำหรับการดูแลเบื้องต้น อาการเจ็บปากเจ็บคอ ที่เกิดขึ้นนี้ สามารถทุเลาได้ โดย

  • ดูแลสุขอนามัยในช่องปาก ห้ามใส่ฟันปลอม ห้ามใช้ไหมขัดฟัน(เมื่อมีอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบแล้ว)
  • เมื่อมีแผลเยื่อบุในช่องปากอักเสบ จะทำให้ผู้ป่วยไม่ค่อยอยากทำความสะอาดในช่องปากเท่าไหร่เพราะเจ็บมาก จำเป็นต้องเปลี่ยนแปรงสีฟันให้เป็นแปรงชนิดที่ขนแปรงอ่อนนุ่มมากๆๆๆ (อาจใช้แปรงเด็กก็ได้ค่ะ) ยาสีฟันควรเปลี่ยนเป็นชนิดที่ไม่เย็นซ่า (อาจเป็นยาสีฟันเด็กที่เป็นรสผลไม้ก็ได้ค่ะ) หากใช้แปรงขนนุ่มแล้วยังเจ็บมากควรเปลี่ยนเป็นไม้พันสำลี หรือใช้สำลีพันนิ้วแล้วถูเบาๆแทนได้ค่ะ
  • ควรใช้น้ำยาบ้วนปาก(ที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์) จะให้ดีควรผสมใช้เองค่ะ ประหยัดและได้ผลดี 
  • สูตรผสมน้ำยาบ้วนปากที่ศูนย์มะเร็งอุดรฯเราใช้อยู่คือ "ใช้น้ำต้มสุก ๑ ขวดแม่โขง(๑๐๐๐cc) ผสมกับเบกกิ้งโซดา(โซดาปิ้งขนมปัง) ๑ช้อนชา" ใช้อมบ้วนปากได้บ่อยๆเท่าที่อยากทำเลยค่ะ ควรใช้ให้หมดใน ๒๔ ชม.หลังจากผสม หากใช้ไม่หมดควรเททิ้งและผสมใช้ใหม่ในวันถัดมาค่ะ (น้ำยาบ้วนปากสูตรนี้จะช่วยปรับความเป็นกรดด่างในช่องปาก และช่วยเรื่องความชุ่มชื้นในช่องปาก บรรเทาและป้องกันการเกิดแผลในช่องปากเพิ่มขึ้น ช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรยในช่องปาก)
  • จิบน้ำบ่อยๆ
  • งดทานอาหารรสจัด เผ็ด ร้อน (อาหารเหล่านี้จะยิ่งทำให้อาการเจ็บปากเจ็บคอเพิ่มขึ้น)

หากผู้ป่วยมีภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบมาก มีอาการปวดมากจนกลืนแม้แต่น้ำลายตัวเองยังไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ค่ะ เบื้องต้นแพทย์จะพิจารณาให้ยาชา (อมแล้วกลืนก่อนทานอาหาร) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยทานได้มากขึ้น หากผู้ป่วยทานได้ ให้เน้นอาหารที่ให้โปรตีนและพลังงานสูงจะช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วค่ะ 

หากยาชาก็ยังทานไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้อาหารทางอื่นแทนโดยที่ไม่ต้องผ่านช่องปาก อาหารที่ทานจะได้ไม่ระคายเคืองแผลในช่องปากค่ะ (อาจเป็นให้ทางสายยาง(ใส่ทางจมูก หรือปาก) หรือเจาะท้องเพื่อให้โดยตรงไปที่กระเพาะอาหาร) และอาจพิจารณาพักแสงชั่วคราว (เพื่อให้อาการเจ็บปากเจ็บคอทุเลาลงก่อนค่ะ แล้วมารักษาต่อจนครบ)

อย่าเพิ่งท้อนะคะ มีหลายวิธีที่จะช่วยผู้ป่วยให้สามารถรับการรักษาจนครบตามแผนการรักษาได้ค่ะ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและผู้ดูแลไม่มากก็น้อยนะคะ

ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อของคุณวิชัย และครอบครัวก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยดีค่ะ สู้ๆนะคะ อีกครึ่งทางเท่านั้น

สวัสดีครับผม วิชัย ทุ่งครุ ครับ

ต้องขอขอบคุณ คุณหนึ่งมากครับ ได้อ่านคำชี้แนะรวมถึงลิงค์บทความการดูแลและปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วยแล้ว มีความกระจ่างมากขึ้นจริงๆครับ ส่วนทางด้านการจัดเตรียมอาหารนั้นผมจะนำไปให้คุณแม่และน้องๆ อ่านเพื่อการเตรียมทำอาหารให้ทางคุณพ่อทาน

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอบคุณ คุณหนึ่งอีกครั้งครับ

ปล.หากได้ผลประการใด ผมจะนำมาแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่งครับ เผื่อท่านผู้อื่นที่อาจประสบปัญหาเดียวกันครับ

หากมีผลหรือปัญหาแทรกซ้อนประการใด อาจจะต้องขอคำชี้แนะจากคุณหนึ่งอีกครั้งนึงครับ

ขอบพระคุณมากครับ

วิชัย ทุ่งครุ

พรุ่งนี้จะพาคุณพ่อไปที่ศูนย์มะเร็งที่อุดรฯ ไม่ทราบว่าตอนนี้คิวฉายแสงมีเยอะแค่ไหนแล้วครับ

สวัสดีค่ะคุณ snowdome

ปัจจุบันคิวไม่นานมากค่ะ หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งศีรษะและคอ แผนการรักษาอาจเริ่มด้วยการให้เคมีบำบัดก่อน ๒-๓ ครั้ง แล้วต่อด้วยการฉายแสง จากนั้นให้เคมีบำบัดต่ออีกจนครบคอร์สค่ะ หากเป็นมะเร็งบริเวณอื่นก็ลงนัดตามคิว

ยกเว้นกรณีผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินค่ะ จะมีคิวฉายด่วนให้ตามเกณฑ์มาตรฐานค่ะ

แล้วพบกันพรุ่งนี้ค่ะ ^^

เมื่อวานไปมาแล้วครับแอบเห็นคุณสุฯ กำลังพาผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดเลยไม่ได้เข้าไปทัก

ไปถึงทำบัตรจ่ายตรงไว้ ห้องเคมีบำบัดเขานัดเจาะเลือด,อัลตร้าซาวด์วันที่ 4 เดือนหน้า ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมต้องอัลฯ อีกในเมื่อผลจาก รพ.ทรวงอกฟันธงมามันชัดเจนขนาดนั้น อาจจะเป็นขั้นตอนของทางศูนย์ฯ ไม่ว่ากันครับ ก่อนไปก็พยายามโทรติดต่อเข้าไป ต่อไปที่หมายเลขภายใน 107/108 แต่ไม่มีใครรับเลย ว่าจะถามรายละเอียดเรื่องการตรวจเมื่อวานเลยไปเสียเที่ยวเลย ไป-กลับ เกือบ 400 กม. แต่ก็คิดซะว่าไปทำบัตรเบิกจ่ายตรงไว้ครับ

เมื่อวานมีน้องคนนึงได้พูดคุยถึงแนวทางในการรักษาให้คุณพ่อฟัง รวมถึงการให้กำลังใจผู้ป่วย น้องเขาก็ทำได้ดีครับ เข้าใจนะว่าต้องพูดแบบนี้กับคนไข้แบบนี้รายซ้ำไปซ้ำมา แต่น้องเขาก็ยังทำขอชมเชย ไม่มีชื่อติดที่หน้าอกเลยไม่รู้ชื่ออะไร วันที่ 4 แล้วพบกันใหม่ครับ

สวัสดีค่ะคุณsnowdome

สำหรับเบอร์โทรศูนย์มะเร็งอุดรฯ (๐๔๒)๒๐๗๓๗๕-๘๐ หากต้องการติดต่อแผนกรังสีรักษา(หน้าห้องตรวจ) ต่อ ๑๒๐๑ หรือ ๑๒๐๒ หากต้องการติดต่อแผนกเคมีบำบัด ต่อ ๑๒๐๐ หากต้องการติดต่อแผนกรังสีวินิจฉัย(ห้องเอ๊กซเรย์ อัลตร้าซาวน์) ต่อ ๑๑๒๗ ค่ะ

เบอร์ต่อภายในจะเป็นเลข ๔ หลักค่ะ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำชมน้องจนท.ของเรา เป็นอีกกำลังใจสำหรับจนท.ผู้ปฏิบัติงานจริงๆค่ะ ^^

ขอบคุณมากครับสำหรับเบอร์โทร คราวที่แล้วได้เบอร์มาจากที่นี่ครับ http://xn--72c9ayadg0a3dud5cud6b.blogspot.com/2009/11/blog-post_24.html

ไปรับการ cremot. มาแล้วครับ วันแรกมีอาการสะอึก ท้องผูก (หลังให้ยาเกิน 6 ชม.) วันนี้ที่ 3 แล้วครับตอนนี้ก็ไม่มีอาการสะอึก

หรือท้องผูก กำลังเฝ้าสังเกตอาการครับ

แผนกเคมีบำบัดจนท. น่ารักทุกคน โดยเฉพาะน้องชื่อน้องเพ็ญนภา ให้กำลังใจพูดคุยกับผู้ป่วยดีมากครับ

ส่วนแผนกรังสีรักษายังไม่ได้ไปใช้บริการ ผมคิดว่า จนท.คงน่ารักไม่แพ้กันครับ

สวัสดีค่ะพี่ นัทมีเรื่องรบกวนสอบถามดังนี้ค่ะ

1. ตอนนี้ผลตรวจของแม่ออกมาแล้วค่ะ พบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะแรก แต่หมอยังระบุไม่ได้ค่ะว่า 1 หรือ 2 หมอนัดผ่าอีก 1 เดือนข้างหน้า (ต้องรอคิวค่ะ) อยากทราบว่านานไปหรือไม่คะ แล้วจะมีผลให้มะเร็งลามมากน้อยแค่ไหนค่ะ

2. นัทรบกวนสอบถามราคาโดยประมาณของการฉายแสงจากรพ.รัฐทั่วไปคร่าวๆหน่อยสิคะ หนูจะได้ประมาณค่าใช้จ่ายเบื้องต้นได้ เพราะกังวลอยู่เหมือนกัน

3. อยากทราบอาหารที่แม่ควรจะทานหรืองดค่ะ

4. มีข้อควรปฏิบัติอื่นๆที่พี่แนะนำอีกมั๊ยคะ

ขอบคุณพี่มากนะคะ ตอนนี้หนูเครียดและกังวลมาก รบกวนด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะน้องนัท มีคำถามหลายข้อเลย ขอตอบข้อที่พอจะตอบได้ก่อนนะคะ ๒. ในเรื่องของค่าฉายแสง จริงๆหากผู้ป่วยมีบัตรทอง ประกันสังคม หรือจ่ายตรง และมารับการรักษาตามขั้นตอน ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาเลยค่ะ ที่ต้องเสียคือค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าเดินทางมาโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายของญาติที่มาด้วยค่ะ แต่หากไม่ได้มาตามขั้นตอนของสิทธิการรักษา เช่นไม่มีใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด เป็นต้น ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเองทั้งหมด ซึ่งทางศูนย์มะเร็งจะแนะนำผู้ป่วยให้กลับไปขอใบส่งตัวมาเพื่อผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลค่ะ ในกรณีผู้ป่วยไม่มีสิทธิ์การรักษา ต้องชำระเงินเอง ค่าฉายแสงบริเวณทรวงอก(มะเร็งเต้านม) (ฉายด้วยเครื่องเร่งอนุภาค linac) โดยประมาณ คอร์สละ ๓๙๓๐๐ บาทค่ะ ราคานี้ยังไม่รวมค่าเจาะเลือด ค่ายา ค่าตรวจ ค่าอื่นๆ ค่ะ ประมาณค่าฉายแสงเท่านั้นค่ะ (ราคานี้เป็นราคาโดยประมาณเฉพาะค่าฉายแสง ที่ศูนย์มะเร็งอุดรธานีค่ะ) ๓. เรื่องอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง รวบรวมไว้ที่เวบของกลุ่มงานที่ลิงค์นี้เลยค่ะ => คลิ๊กที่นี่ค่ะ

ลิงค์ไม่ขึ้นให้ ลองใหม่อีกครั้งค่ะ => คลิกที่นี่ค่ะ

หากสนใจเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ลองเข้าไปดูได้ที่นี่ค่ะ => คลิกที่นี่ค่ะ

ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งน้องนัทลองเข้ามาอ่านดูได้ค่ะที่ลิงค์นี้ => คลิกที่นี่ค่ะ

และขอเป็นกำลังใจให้ทั้งน้องนัทและคุณแม่ด้วยนะคะ

แม่มีเนื้องอกที่รักแร้หมอผ่าออกและวิจัยว่าเป็นมะเร็งแต่ไม่รู้ว่ามาจากส่วนไหนรับคีโมเสร็จแล้ว8ครั้งกำลังส่งตัวไปศูนย์มะเร็งไม่ทราบว่าแม่จะได้รับการฉายแสงไหมค่ะ

ขอบคุณค่ะ มีประโยชน์มากค่ะ


คือพ่อของหนูเป็นมะเร็งที่ลำคอและลามไปหลายที่ค่ะ พึ่งเข้าฟังที่ประชุมมาเมื่อกี้หมอบอกว่าพ่อหนูเป็นหนักมากถึงฉายก็ไม่มีทางหาย แต่ก็จะแต่บรรเทาอาการปวกของพ่อ ฉายไม่ฉายมีค่าเท่ากัน หนูคิดว่าจะเลือกไม่ฉายเพราะผลข้างเคียงมันอาจทำให้พ่อหนูแย่กว่าเดิม หนูจะคิดผิดไหมค๊ะ. แต่ตอนนี้ก็รอคิวฉายอยู่ เอาไว้ก่อนค่ะ 

เพิ่มเติมค่ะ หมายถึงคิวนัดวันฉายหนะค่ะ

ต้องขออภัยจริงๆค่ะคุณณัฐชญา หนึ่งเพิ่งเห็นข้อความวันนี้เองค่ะ เลยตอบช้ามาก เกือบปีเลย คิดว่าคุณแม่คุณณัฐชญาคงได้รับการรักษาครบตามแผนการรักษาแล้วนะคะ

สวัสดีค่ะคุณรัชนี

แพทย์และทีมสุขภาพ หลังจากตรวจวินิจฉัยโรคแล้วจะมีการวางแผนการรักษา เพื่อให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนที่สุดค่ะ และจะมีหน้าที่อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการรักษาว่าโรคที่ผู้ป่วยคนนั้นๆเป็นสามารถรักษาได้ ไม่ได้ กี่วิธี แต่ละวิธีมีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร ให้ข้อมูลรายละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาของผู้ป่วยค่ะ การตัดสินใจเลือกรับการรักษาหรือไม่เป็นสิทธิของผู้ป่วยและญาติค่ะ และพี่คิดว่าผู้ป่วยและญาติ หากได้ข้อมูลมากเพียงพอก็จะสามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมและดีที่สุดแก่ตัวผู้ป่วยค่ะ เพราะตัวผู้ป่วยเอง หรือญาติผู้ดูแลใกล้ชิด จะทราบสถานการณ์ต่างๆของผู้ป่วยได้ดีกว่าแพทย์และทีมสุขภาพ ^^

สำหรับกรณีคุณพ่อคุณรัชนี เข้าใจว่าคุณหมอน่าจะได้อธิบายรายละเอียด ข้อดี ข้อเสียต่างๆของทุกๆทางเลือกไว้แล้วนะคะ และคุณพ่อ คุณรัชนี และญาติๆ คงได้ร่วมกันตัดสินใจเลือกวิธีที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับตัวผู้ป่วยแล้ว ไม่มีผิดไม่มีถูกค่ะ จริงๆค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณรัชนี และผู้ดูแลทุกท่านด้วยนะคะ 

สวัสดีค่ะ  ขอความกรุณาสอบถามหน่อยนะค่ะ คุณแม่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะ 3 ค่ะ คุณหมอนัดฉายแสงอีก 1 เดือนข้างหน้า แต่คุณแม่มีอาการปวดต้นขาทั้งสองข้างมาก เป็นแบบนี้มะเร็งลามหรือป่าวค่ะ และกำหนดฉายแสงอีกประมาณ 1 เดือน กลัวจะลุกลามเกินไปค่ะ ช่วยแนะนำหน่อยค่ะว่าควรจะหาที่อื่นในการฉายแสงเพื่อเร็วขึ้นหรือป่าวค่ะ และมีวิธีบรรเทาอาการปวดบ้างมั้ย สงสารคุณแม่มากค่ะ น้ำตาไหลทุกที รบกวนด้วยนะคะ่ ขอบคุณมากมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณสุวิญญา

ถ้าเราเป็นมะเร็งตับแล้ว เราไม่อยากรักษาทางเคมีบำบัดจะได้หรือเปล่าค่ะ  เพราะทราบว่าการรักษามีผลค้างเคียงมากมายกลัวค่ะ

ข้อมูลที่ได้อ่านมีประโยชน์มากๆๆเลยค่ะขอบคุณมากค่ะ

กรณีเป็นคนลาวค่ารักษาแพงแค่ไหน

วันนี้ไปตรวจสงสัยจะเป็นมะเร็งเต้านมค่ะ คุณหมอคลำๆแล้วนัดอัตราซาวแสดงว่าเป็นใช้มัยค่ะ กลัวมากๆตอนนี้

สวัสดีค่ะ ต้องขอโทษด้วยจริงๆที่ไม่ได้เข้ามาตอบทุกคอมเม้นค่ะ 

สำหรับคำถามของคุณส้ม ณ ตอนนี้คงรับการรักษาครบเรียบร้อยแล้ว เรื่องอาการปวด การฉายรังสีก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดอาการปวดได้ค่ะ 

ค่ารักษา การฉายแสง ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นค่ะ แต่โดยประมาณ 30000 บาท (เฉพาะค่าฉายแสง ไม่รวมเจาะเลือด ยา หรือการรักษาอื่นๆร่วม หากมีนะคะ)

กรณีคลำพบก้อน ไม่ได้แปลว่า คือก้อนมะเร็งเสมอไปค่ะ อาจเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือเป็น cyst ถุงน้ำ หรืออาจเป็นก้อนเนื้อร้าย ก็ได้ ดังนั้น แพทย์จึงนัดเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไปค่ะ โดยการอัลตร้าซาวน์ หรือ แมมโมแกรม หรืออาจเจาะเอาชิ้นเนื้อไปตรวจชนิดของเซลล์ หลังจากนั้น จึงจะวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่เป็นค่ะ อย่าเพิ่งกังวลใจ หากคลำพบก้อนตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อรับการตรวจวินิจฉัยแล้ว จะได้ทราบและรับการดูแลรักษาต่อไปค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้คุณจิตาภรณ์ด้วยนะคะ 

ขอมูลดีมากเลยค่ะ ขอถามหน่อยค่ะ คนไข้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะ 2 เมื่อได้รับการฉายแสงจะมีอาการอย่างไงค่ะ........?และผมจะล่วงไม่ค่ะ.....?แล้วส่วนมากฉายแสงกี่ครั้งค่ะ 

สวัสดีค่ะ

มีเรื่องร้อนใจ ขอคำปรึกษาค่ะ คุณพ่ออายุ63ปี ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งหลอดอาหารระยะสุดท้าย เมื่อวันที่13/10/57 ที่ผ่านมา ทุกคนในบ้านตั้งตัวไม่ทันเลยค่ะ ตอนนี้รักษาอยู่ รพ.แพร่ วันนี่ทางหมอให้ใส่stentที่หลอดอาหารเพื่อให้ผุ้ป่วยทานอาหารได้

แต่เนื้อร้ายอาจลุกลามไปยังจึดอื่นๆ เพราะพ่อปวดท้องตลอด ต้องให้มอร์ฟีนทุกๆ4-6ชม.

1.อยากทราบว่าเราจะฉายแสง ให้เคโมได้ไหมค่ะ เพราะหมอที่นี่ไม่สามารถให้คำแนะนะ หรือพูดแนวทางการรักษาอื่นๆเลย ทำให้ตรอบครัวเราเหมือนสิ้นหวัง (พ่อยังไม่รู้ค่ะ คิดว่าเป็นแค่เนื้องอกในคอ) 

2.เรามีวิธีพูดให้ท่านทราบ แล้วเกิดความเครียดน้อยสุดไหมค่ะ ถ้าพูดว่าให้เคโม ท่านจะรู้เลยว่าตัวเองเป็นมะเร็ง

3.จะทำการย้าย รพ.ดีไหมค่ะ เพราะหมอเหมือนไม่รักษาอะไรเลยแค่ให้น้ำเกลือ กับมอร์ฟีนทุกวัน

ไม่เคยแจ้งเลยว่ามันลุกลามไปที่ไหน ต้องดูแลอย่างไร หรือจะรีกษาอย่างไรต่อ

ขอบคุณล่วงหน้านะคะ ขอใหัคุณพยาบาลมีแต่ความสุขยิ่งๆขึ้นไปค่ะ

อุ๋ย

สวัสดีค่ะ

เป็นมะเร็งเต้านมระยะแรก ตอนนี้คีโมจะครบแล้ว เหลืออีก 1 เข็มคุณหมอบอกต้องฉายแสงอีก 25 ครั้ง ไม่อยากไปน่ะค่ะ ไม่ฉายแสงได้ไหมค่ะ

สวัสดีค่ะคุณชมพู่

ต้องขออภัยอย่างมากจริงๆค่ะที่เข้ามาตอบช้า คิดว่าตอนนี้ผู้ป่วยคงฉายแสงครบไปเรียบร้อยแล้ว ขอตอบประเด็นเรื่อง ผมร่วงหรือไม่ นะคะ การฉายแสงเป็นการรักษาเฉพาะที่ นั่นคือ เป็นตรงไหน ฉายตรงนั้น ผลข้างเคียงหลักๆส่วนใหญ่จะเกิดเฉพาะที่เช่นกันค่ะ กรณีผมร่วงนั้นจะต้องได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะโดยตรงค่ะ รังสีจะทำลายรากผมทำให้ผมร่วงได้ แต่หากฉายบริเวณอื่น รากผมจะไม่ได้โดนรังสีค่ะ แต่หากระหว่างฉายแสงได้รับเคมีบำบัดด้วย หรือผู้ป่วยมีความเครียดมาก ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการผมร่วงได้เช่นกันค่ะ


สวัสดีค่ะคุณพัชรสิริ

ต้องขออภัยมากๆจริงๆค่ะที่เข้ามาตอบช้า สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายนั้น โดยมากแล้วแพทย์จะพิจารณารักษาแบบประคับประคอง(รักษาตามอาการ)ค่ะ ที่คุณอุ๋ยเล่ามา แพทย์ได้ทำการใส่สเตนท์ เพื่อขยายหลอดอาหาร ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลืนอาหารได้ดีขึ้นกว่าตอนที่มีก้อนเนื้อมาอุดกั้นในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาอาการทุกข์ทรมานจากโรคได้ค่ะ และร่วมกับการให้ยาแก้ปวดชนิดรุนแรง

การรักษาโดยการฉายแสงหรือเคมีบำบัด ในกรณีระยะสุดท้ายนั้น เป็นการรักษาโดยหวังผลให้ทุเลาอาการ ซึ่งแพทย์เจ้าของไข้จะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายค่ะ คือต้องพิจารณาจากหลายอย่างร่วมกัน เช่นอายุ โรค(ประจำตัว)อื่นๆ ผลเลือด(การทำงานของตับไต) ระยะของโรค ชนิดของเซลล์เนื้อร้ายนั้นๆ เป็นต้น ว่าเหมาะหรือไม่กับเคมีตัวไหน หรือฉายแสง ประมาณนี้ค่ะ

หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าการให้เคมีหรือฉายแสงจะเกิดประโยชน์มากกว่าโทษ ก็จะแนะนำผู้ป่วยว่ามีทางเลือกไหนบ้างที่จะสามารถทำได้ อธิบายข้อดีข้อเสีย เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติร่วมตัดสินใจในการรักษาค่ะ

จริงๆผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรับรู้อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ การรักษาจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยด้วย หากเป็นไปได้ อาจค่อยๆบอกให้ผู้ป่วยรับทราบการเจ็บป่วยค่ะ เทคนิกขึ้นกับแต่ละคนด้วยค่ะ หากจำเป็นต้องรับเคมีบำบัด เริ่มต้นอาจบอกผู้ป่วยว่าคุณหมอนัดมาให้ยาทางหลอดเลือดดำ เพื่อทำให้เนื้องอกยุบลง แต่เมื่อผู้ป่วยมารักษาจริงๆ ได้คุยกับทั้งจนท. ทั้งผู้ป่วยข้างเคียง ยังไงผู้ป่วยก็จะต้องทราบในวันนึงค่ะ ดังนั้น ญาติเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและเข้าใจผู้ป่วยที่สุด อาจต้องหาจังหวะดีๆในการค่อยๆแจ้งข่าวแก่ผู้ป่วยค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้ทั้งคุณอุ๋ย และผู้ดูแลทุกๆท่าน รวมไปถึงผู้ป่วยด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะคุณ Taew

การรักษามะเร็งเต้านมนั้น หลักๆคือการผ่าตัด หากผ่าได้ และเคมีบำบัด ร่วมกับการฉายแสง เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำค่ะ

หากคุณ Taew สามารถรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดมาได้ครบคอร์สแล้ว การฉายแสงเป็นการรักษาที่มีผลข้างเคียงเฉพาะส่วนเท่านั้นค่ะ พูดโดยรวมคือผู้ป่วยจะรู้สึกสบายกว่าระหว่างเคมีบำบัดค่ะ เพียงแต่อาจต้องมาฉายแสงวันละครั้งทุกวัน จันทร์ถึงศุกร์ จนครบคอร์ส งส่วนมากจะประมาณเดือนกว่าๆ (หรือบางแห่งอาจไม่ถึงเดือน ขึ้นกับเทคนิกการฉายค่ะ) ถ้าถามว่าไม่ฉายแสงได้มั้ย ขึ้นกับผู้ป่วยค่ะ แต่ถ้าตอบในนามพยาบาลแล้ว แนะนำว่าควรรับการรักษาจนครบค่ะ (อดทนอีกอึดใจเดียวค่ะ สู้ๆๆๆ)

ไม่แน่ใจว่าที่ไม่อยากฉายแสงด้วยเหตุผลอะไร หากเพราะกลัว อยากบอกว่า การฉายแสงคล้ายกับการถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ค่ะ ไม่เจ็บไม่ปวดใดๆ

ไม่ว่าจะตัดสินใจยังไง ก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณ Taew อีกหนึ่งกำลังใจนะคะ สู้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆค่ะ

มรทื่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองต้องฉายแสงทุกวันหรือเปล่าครับ

เป็นมะเร็งโพรงจมูกระยะที่2 ถ้าได้รับเคมีบำบัดแล้วฉายแสงครบแล้วจะหายขาดใหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท