ปัจจัยหนึ่ง...ที่ทำให้การศึกษาของไทยไม่บรรลุเป้าหมาย


ทำไมการศึกษาไทย ยิ่งดูเหมือนจะบรรลุเป้าหมายน้อยลงกว่าเดิม
 

ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาไทยค่อนข้างมาก ที่ดูเหมือนเราจะตั้งใจแก้ปัญหากันจริงจังมาก จนหลายคนเหนี่อย ทำงานตัวเป็นเกลียว หามรุ่งหามค่ำ กันมากมาย

โดยเฉพาะระบบการควบคุม การติดตาม การประเมิน และการประกันคุณภาพการศึกษา ที่เอาจริงเอาจัง มีการทุ่มเททั้งหน่วยส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค

มีการใช้งบประมาณสนับสนุนทั้งการปฏิบัติงาน และการให้รางวัลคนที่ผ่านการประเมิน กันอย่างทั่วถึง ทั้งประเทศ

 

จึงเป็นสิ่งที่น่าจะดีใจ และภูมิใจเป็นอย่างมาก

  

แต่ แปลกมาก

ทำไมการศึกษาไทย ยิ่งนานๆไป ดูเหมือนการทุ่มเทในการทำงานดังกล่าว จะบรรลุเป้าหมายน้อยลงกว่าเดิม

และยังปรากฏว่า

 
  • ครู และผู้สอนมีเวลาทำงานสอน น้อยลงกว่าเดิม เพราะ ต้องไปเน้นการรวบรวมข้อมูล ที่ทำเป็นบ้างไม่เป็นบ้าง ต้องใช้เวลานาน และทำงานเตรียมเอกสาร ตามขั้นตอนที่หน่วยเหนือกำหนด  เรียกได้ว่า เสียเวลาอธิบาย และสรุปว่าตัวเอง (ควรจะ) ทำอะไร จนไม่มีเวลาทำงานจริงๆ หรือ มีก็น้อยลง
 
  • เมื่อเวลามีน้อยลง การเรียนการสอนก็มีปริมาณ หรือความเข้มข้น ลดลงตามส่วน สำหรับคุณภาพนั้นส่วนใหญ่จะเหมือนเดิม อาจดีขึ้นเล็กน้อยในบางคนที่ทุ่มเทเสียสละในการทำงาน แต่โดยรวมที่ได้ ก็จะกระทบมาจากการมีเวลาน้อยลงในการเตรียมสอน และการสอน
 
  • การ ประเมิน ที่ทำอยู่ มักเน้น ผลงาน ที่เป็น เอกสาร มากกว่า ผลจากการทำงานจริงๆ ด้วยข้อจำกัดของ ผู้ประเมิน เวลา และ เกณฑ์ และ "วิธีการ" ที่ใช้ในการประเมิน จึงทำให้ มีการทุ่มเทความพยามยามในการสร้าง เอกสาร มากกว่า การ พยายามทำงาน ให้ได้ผลสัมฤทธิ์ ตาม เป้าหมาย ของ การศึกษา ที่กำหนดไว้เดิม
 
  • กาสอบตก หรือ ซ้ำชั้น  หรือ ตกออก เป็นสิ่ง ต้องห้าม ในระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน  ใครผ่านเข้าไปแล้ว มีโอกาส จบการศึกษา สูงมาก ไม่ว่าคุณภาพจะต่ำขนาดไหน เพราะ เป็นการรักษา น้ำใจ ของ ผู้มีพระคุณ ที่อุตส่าห์มาสมัครเรียน และ/หรือ ลงทะเบียนเรียนจนทำให้ผู้สอน มีผลงานพอที่จะไปผ่านเกณฑ์การ ประเมิน และ ข้ออ้าง ในการของบประมาณของหน่วยงาน การประเมินจึงเป็นแบบ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ยังไงก็ให้ผ่านๆไป คุณภาพ ระดับไหนก็ ยอมๆ ไปก่อน เข็นบ้าง อุ้มบ้าง หรือช่วยทำแทนให้บ้าง พอ ผ่านๆ ไป อีกคนหนึ่ง
 
  • ดังนั้น ส่วนใหญ่ คนที่เข้ามาเรียน ไม่จำเป็นต้องรู้ตามที่เขียนไว้ในหลักสูตร แต่ก็มีโอกาสจบสูงมาก ถ้าไม่ไป "เสียรังวัด" งัดข้อขัดผลประโยชน์กับผู้สอนเสียก่อน คุณภาพ จึงได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และ ได้โดย บังเอิญ มากกว่าจะเป็นไปตามมาตรฐาน การศึกษา
 
  • และบางที มาตรฐาน ก็เป็นเรื่อง ความรู้สึกส่วนตัว จาก Academic freedom ที่บังเอิญ อาจ ไม่เข้าใจ เป้าหมายของการ ศึกษา ที่แปลว่า การพัฒนาตนเอง ตามแผนที่เขียนไว้ในหลักสูตรทุกหลักสูตร แบบไม่ค่อยพลาด แต่มักไม่นำมาปฏิบัติ ตามแบบ วัฒนธรรมกระดาษเปื้อนหมึก

  •  
    • แค่วัดความสามารถในการ "ท่องไปสอบ" ก็อ้าง(สมมติ) ว่าเป็นการวัดการ "เรียนรู้

  •  
    • หรือ แค่ "กากะบาด" ถูก ก็บอกว่า "มีความรู้"
 
  • ดังนั้น หลักสูตร จึงมีไว้อวดคนภายนอก ที่ไม่รู้เรื่อง หรือให้คนหลงกลเข้ามาเรียน แต่มักไม่ค่อยใช้จริง เพราะ ผู้สอน ก็ถนัดที่จะสอนแบบ เดิมๆ ตามถนัด แบบ ไม้แก่ดัดยาก และ คนสอนรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มจะทำตาม ไม้แก่ เป็นต้นแบบเสียอีก โดยไม่มีใครคัดค้านใคร เพราะ อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทำแบบเดียวกัน แบบ ปกติธรรมดา
 
  • ผลก็คือ มาตรฐาน เป็นเพียงคำ หรือสิ่งที่เขียนไว้ในกระดาษ ประเมิน ตามกระดาษ รู้ และเข้าใจ แค่ใน กระดาษ ที่ผมขอใช้คำว่า วัฒนธรรมกระดาษเปื้อนหมึก นั่นแหละครับ ทุกอย่างมีหลักฐาน อยู่ในกระดาษ แต่ความจริงจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกัน เพราะประเมินตามกระดาษอยู่แล้ว
 
  • นี่คือ มุมหนึ่ง ที่เป็นแก่นของปัญหาทาง การศึกษา ที่ผมไม่แน่ใจว่าเราที่ทำงานในระบบ มองข้าม ไม่เข้าใจ หรือทำเป็นไม่รู้ หรือกำลังหลงทางกันแน่
  

ที่แน่ๆ สิ่งเหล่านี้กำลังทำลายระบบการศึกษาไทยอย่างรุนแรง

และมากขึ้นทุกวัน

  เราไม่คิดจะมองหาทางแก้ไขกันเลยหรือครับ
หมายเลขบันทึก: 165169เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2008 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมปฏิเสธการสอบเพื่อเรียนต่อในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา(ทั้งที่สมัครเรียบร้อย) เพราะการเรียนในระดับสูงของเมืองไทย กลับมีเกณฑ์การคัดเลือกคนที่ไม่สอดคล้องกับการสร้างความรู้ ปัญญาในการพัฒนาประเทศ

บางทีแค่คิดเริ่มต้นก็ส่อไปในทางล้มเหลว...แล้วเราจินตนาการถึงอนาคต จะไปรอดได้อย่างไร...

เข้าหน้าบ้านไม่ได้ ก็ต้องเข้าหลังบ้าน อย่างที่ทำอยู่นี่แหละด็แล้วครับ

ปราชญ์หลายท่านก็ทำในแบบเดียวกัน

นี่เป็นทางเดียว และดีที่สุด เท่าที่มองเห็นครับ

แต่ ....... 

พอเข้าหลังบ้าน ก็ยังหาทางเดินมาหน้าบ้านยังไม่ได้

นึ่ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่เหมือนกันครับ

สู้ต่อไปครับ

P

ดร. แสวง รวยสูงเนิน

 

บันทึกนี้ โดนใจ (อาตมา)

เคยอ่านงานเขียนของใครจำไม่ได้แล้ว บอกว่า...

ผลงานวิจัย และตำแหน่งศาสตราจารย์ ทำให้การศึกษาไทย เยาวชนไทย ดีขึ้นจากเดิมหรือไม่ เห็นเพียงแต่หน้าที่การทำงานและสถานภาพทางสังคมของผู้ที่ทำเท่านั้น ดีขึ้นจากเดิม...

เจริญพร 

สวัสดีครับ อ.P . ดร. แสวง รวยสูงเนิน

เห็นด้วยครับ อาจารย์  ปัจจุบัน การเรียนการสอนไม่ได้ตอบสนองต่อความเป็นจริง เป้าหมายก็ไม่ชัดเจน เป็นลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นการทำแบบขอไปที ไปเรื่อยๆ  นักศึกษาก็เรียนไปเพื่อต้องการใบประกาศมากกว่า  เป็นจุดประสงค์เทียม 

เสียดายมากๆครับ เวลาที่เสียไป งบประมาณที่ทุ่มไปโดยเปล่าประโยชน์  โดยส่วนของนักศึกษาเองก็สูญเสียเส้นทางความเป็นจริงในสังคม

ดีใจครับ ยังมีส่วนๆหนึ่งที่เริ่มเข้าแก้ไข ถึงยังไม่เห็นว่าจะสำเร็จก็ตาม ก็ยังมีความหวังครับ  

ขอบคุณมากๆครับ 

ชวนมองแง่บวกครับท่านอาจารย์ เขากำลังทดลองผิดก่อนเพื่อจะทำถูก  แต่ก็ค่อนข้างกังวลว่าเมื่อไหร่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริง (ขออนุญาตพาดพิงคำของหลวงพ่อชัยวุธครับ"กุหลาบแยกคำออกมาได้เป็น "กู" กับ "หลาบ"  ที่สรุปความว่า ฉันเข็ดแล้ว ฉันไม่เอาอีกแล้ว ประมาณนี้หละครับ)

เมื่อไหร่เราจะเป็นตัวขอตัวเอง คิดรูปแบบของเราเอง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่เรากำหนดเอง ไม่ใช่วัตถุประสงค์เทียม หากยิ่งนานวันวัตถุประสงค์เทียมครอบงำจนคิดว่าเป็นวัตถุประสงค์จริงจะยิ่งแย่ การแก้ไขก็คงจะยิ่งยาก ทุกวันนี้แค่พื้นฐานอ่านเขียนยังต้องแก้ไข แล้วจะพัฒนากันอย่างไรครับ น่าเป็นห่วงจริงๆครับ

ครับ

ยังไงๆ ผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ว่าเราจะตะบึงตะบอน ทำเป็น เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ กันอีกนานแค่ไหน

ผมว่าทุกคนรู้ในสิ่งที่ผมพูดมา

หรือยังจะมีใครไม่รู้ อยู่อีก

แล้วทำไมไม่ทำให้ดีกว่าเดิม

แก้ที่ตัวเองก่อนก็ได้ ระบบค่อยว่ากันทีหลัง

แล้วทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง

มัวแต่รอให้ตัวเองเป็นคนสุดท้ายที่ทำ สังคม ประเทศชาติไปไม่รอดแน่นอน

หรือเราคิดกันแค่ "อยากเป็นคนสุดท้าย" ที่ทำแบบนั้นจริงๆ

เอ๊ะ ...... ผมเกิดผิดโลกหรือเปล่านี่

กระผมคิดว่ามีคนทำกันอยู่ครับ เพียงแต่กระจายกันไปทำ โดยส่งต่อกันไม่ได้ พอไปต่ออีกช่วงก็อาจสะดุดบ้าง  ก็อาจส่งผลให้ผลที่ได้ไม่ค่อยชัดเจนหรือเปล่าครับ

นั่นแหละครับ เราจึงต้องมาสุมหัวกัน แบบเฮฮาศาสตร์ไงครับ

สนใจจะเข้ามาไหมครับ

ไม่มีใบสมัคร ไม่มีค่าธรรมเนียม มีแต่ใจแลกใจครับ

ชอบอ่าน ข้อความ สะใจดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท