ปัญหาพื้นฐานของนโยบาย และยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศไทย


การกำหนดโดยผู้ใช้ประโยชน์ ไม่มีส่วนรู้เห็น หรือมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากนัก

 

         การวิจัยที่ผ่านมาของประเทศไทย ได้ถูกกำหนดแนวทางจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิจัยส่วนกลางหรือนักวิจัยอาวุโสที่เคยทำงานวิจัยมาก่อน ท่านเหล่านั้นได้อาศัยประสบการณ์ การทำงานในสาขาที่ท่านถนัด และพื้นที่ต่างๆ ตามสาขาวิชาที่ท่านทำงาน ซึ่งยังพบว่ามีช่องว่างของการกำหนดแนวนโยบายมากพอสมควร กล่าวคือ

 

๑.   เป็นการกำหนดแบบไม่มีส่วนร่วมจากนักวิจัยทั่วไป

๒.   เป็นการกำหนดโดยผู้ใช้ประโยชน์ ไม่มีส่วนรู้เห็น หรือมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากนัก

 

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ค้นหาวิธีการ

ที่จะทำให้นักวิจัยด้านต่างๆ ทั้งในระดับนักวิจัยอาวุโส นักวิจัยส่วนกลาง นักวิจัยส่วนภูมิภาค และผู้มีส่วนได้เสียกับผลงานวิจัย ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางและเป้าหมายการทำงานวิจัยสาขาต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ได้กำหนดหัวข้อไว้ ถึง ๑๐ หัวข้อด้วยกัน คือ

๑.   การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

๒.   ความมั่นคงของรัฐและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล

๓.   การปฏิรูปการศึกษา

๔.  การจัดการทรัพยากรน้ำ

๕.  การพัฒนาพลังงานทดแทน

๖.   การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกและลดการนำเข้า

๗.  การป้องกันโรคและการรักษาสุขภาพ

๘.  การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ

๙.   เทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีที่สำคัญเพื่ออุตสาหกรรม

๑๐.        การบริหารจัดการท่องเที่ยว

 

โดยแต่ละหัวข้อดังกล่าว ได้เชิญ

  • นักวิชาการในพื้นที่ทำงานวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง
  • ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • และ ภาคเอกชน ซึ่งทำงานด้านนั้น ๆ อยู่แล้ว

        

การดำเนินการดังกล่าว เป็นมิติใหม่ของการทำงานกำหนดยุทธศาสตร์งานวิจัย ที่มีผล เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ใช้ประโยชน์งานวิจัยโดยตรง

 

ซึ่งแตกต่างจากในอดีต

ที่การกำหนดยุทธศาสตร์นั้น ทำกันเฉพาะในกลุ่มนักวิจัยระดับสูง แม้แต่นักวิจัยระดับท้องถิ่นก็เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกรอบงานที่กำหนดไว้โดยนักวิจัยส่วนกลาง

 

และในทางปฏิบัติก็มักจะกากบาทหัวข้อวิจัยที่เกี่ยวข้องในแบบฟอร์มการเสนอขอโครงการวิจัยให้ครบตามเงื่อนไข โดยอาจไม่มีความเข้าใจว่า ทำไม? จึงกำหนดไว้เช่นนั้น

 

และอาจจะไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่า ถ้าประเด็นที่นักวิจัยสนใจ แต่ไม่อยู่ในกรอบประเด็นการวิจัยนั้น ควรจะทำอย่างไร

 

และยิ่งซ้ำร้ายกว่านั้น ก็คือ

ประเด็นวิจัยที่นักวิจัยกำหนดขึ้นนั้น อาจจะไม่สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับความจำเป็นที่แท้จริง ของผู้ใช้ประโยชน์งานวิจัยเหล่านั้นก็ได้

 

         การประชุมระดมความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่า นักวิจัยที่ไม่เคยทำงานร่วมกับชุมชน มักจะตั้งประเด็น หรือจัดลำดับที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับลำดับความสำคัญที่แท้จริงของประเด็นปัญหา และการแก้ปัญหา

 

เช่น ในประเด็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียง

นักวิจัยเสนอว่า ควรจะทำวิจัยด้านการตลาด เป็นเรื่องแรก เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตร หรือประกอบอาชีพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

ซึ่งในเรื่องนี้ กลุ่มเกษตรกรที่ทำงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงมาแล้ว ได้ชี้แจงว่า การตลาดนั้นจะต้องทำต่อเนื่องหลังจากที่เกษตรกรได้สร้างผลผลิตมาแล้วอย่างต่อเนื่องกัน

การทำการตลาดล่วงหน้า ได้เกิดปัญหาขึ้นมามากมาย

 

กล่าวคือ

         อาจมีตลาดพร้อม แต่ไม่มีสินค้า

ซึ่งจะทำให้เกิดเสียความเชื่อถือของผู้ที่อยู่ในระบบการค้าต่อระบบการผลิต ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

 

         และในอีกกรณีหนึ่ง นักวิชาการเสนอว่า

คนที่จะพัฒนาจิตสำนึกได้ดีนั้น จะต้องเป็นคนที่มีความพอเพียงเสียก่อน

 

ซึ่งแตกต่างจาก ประสบการณ์ภาคประชาชนที่พบว่า

 

ความพอเพียงต้องเกิดจากจิตสำนึกที่ดี มากกว่าการผลิตได้มากหรือน้อย

 

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า

แม้นักวิชาการภูมิภาคที่เคยทำงานกับชุมชน ก็ยังขาดความเข้าใจชุมชนและแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้จริง

แต่ถ้าเป็นนักวิจัยที่อยู่ส่วนกลาง ที่ไม่เคยสัมผัสปัญหาชุมชนในเชิงลึก ยิ่งน่าจะมีโอกาสผิดพลาดค่อนข้างมาก

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในแผนและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ

 

         ผมจึงเชื่อว่า การกำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยที่ดีนั้น จะต้องมีการกำหนดแผนและยุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วม ระหว่าง นักวิจัยระดับต่างๆ และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากผลงานวิจัยโดยตรง โดยเฉพาะชุมชนหรือภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

 

         แนวทางที่จะนำไปสู่การกำหนดตัวชี้วัด ที่อาจจะทำได้ในทางปฏิบัติก็คือ

การกำหนดระดับการมีส่วนร่วมในเชิงต้นทุนของโครงการ

ซึ่งถ้าผู้ได้รับประโยชน์เห็นคุณค่าของงานวิจัยก็น่าจะกล้าลงทุน ร่วมกับงานวิจัยในระดับต่างๆ ซึ่งจะทำให้เชื่อมั่นได้ว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นประโยชน์จริง

แต่ถ้าแม้ผู้ได้รับประโยชน์ก็ยังไม่เห็นความสำคัญ ก็น่าจะจัดความสำคัญของโครงการนั้นไว้ในอันดับท้าย ๆ

 

         วิธีการเช่นนี้ น่าจะเป็นแนวทางที่ดีในการพัฒนาโครงการวิจัยที่เป็นประโยชน์

 

         ประเด็นของการลงทุนร่วมนั้น อาจกำหนดได้หลายวิธีด้วยกัน  เช่น

  • ตั้งแต่ในเชิงของมูลค่าการใช้ที่ดิน
  • การใช้แรงงาน หรือ
  • การใช้ระบบการผลิต เป็นปัจจัยในการทำงานวิจัย
  • หรือ งบประมาณร่วมวิจัย

ซึ่งสามารถนำมารวมกับงบประมาณที่ขอจากหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยได้  เป็นประมาณการงบประมาณที่ใช้ในการวิจัยทั้งหมด แทนการนำเสนองบบางส่วนที่เคยเป็นมาในอดีต

 

         ในกรณีที่ มีส่วนร่วมจากผู้ใช้ประโยชน์ในอัตราสูง ก็น่าจะเชื่อได้ว่า โครงการนั้นเป็นประโยชน์มากกว่าโครงการที่มีส่วนร่วมในอัตราต่ำ

 

         วิธีการเช่นนี้ น่าจะเป็นหลักการที่นำไปปรับใช้ได้ในโครงการวิจัยต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการทำงานวิจัยที่ไม่บรรลุเป้าหมาย ที่มักเรียกกันว่า การวิจัยเพื่อขึ้นหิ้ง แทนการวิจัยเพื่อการเข้าห้าง

 

หรือ งานวิจัยเพื่อการขอตำแหน่ง" แทนที่จะเป็นงานวิจัยเพื่อการพัฒนา

 

         ผมจึงเชื่อว่า ถ้าเรามีการปรับแผนไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งเราคงจะมียุทธศาสตร์การวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และลดการสูญเสียงบประมาณวิจัยโดยที่ได้ประโยชน์น้อย ดังเช่นที่เคยเป็นมาในระยะไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปีที่ผ่านมา

หมายเลขบันทึก: 167365เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2008 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

 อาจารย์บอกว่า....การตลาดนั้นจะต้องทำหลังจากที่เกษตรกรได้สร้างผลผลิตแล้วอย่างต่อเนื่องกัน การทำการตลาดล่วงหน้า ได้เกิดปัญหามากมาย

แต่ที่ดิฉันมีประสบการณ์ส่วนตัวมา เบางทีกษตรกรชอบทำการตลาดล่วงหน้า เช่นการปลูกอ้อย ต้องรูว่าปลูกให้โรงงานน้ำตาลแห่งไหนก่อน ปลูกข้าวโพดหวาน ต้องรู้ว่าปลูกให้ใคร ไม่งั้นเขาไม่มีความมั่นใจค่ะ

แนวการทำวิจัยและพัฒนา จึงควรต้องสร้างสมดุลระหว่างระยะสั้นและระยะยาวด้วย ระยะสั้น คือเขาต้องมีตลาดก่อน     ระยะยาวคือ เขาปลูกอะไรดีๆขึ้นมาแล้ว ตลาดมาเอง เป็นต้นค่ะ

ผมคิดว่า ผมอาจสื่อไม่ชัดครับ

ที่ผ่านมามีการทำการตลาดโดยไม่มีปริมาณผลผลิตในรูปแบบต่างๆ

การทำงานจึงสูญเปล่านั้น เป็นข้อเสียที่หนึ่ง

ข้อที่สอง คนผลิตยังไม่เคยรู้เรื่องการตลาด ก็ผลิตตามสบาย ไม่ตรงตามที่ตลาดต้องการ ก็ขายไม่ได้เหมือนเดิม เสียความรู้สึกกันทุกฝ่าย

ข้อที่สาม ในขณะที่การผลิตยังไม่มี เราจึงไม่รู้ว่า จะสร้างตลาดแบบไหน เพื่อใคร จำนวนเท่าไหร่ มันกะรุ่งกะริ่งไปหมด

กลุ่มเกษตรกรเลยขอว่า ให้เราได้เรียนรู้ถึงวิธีการผลิตให้ชัดๆ โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์  รู้แล้วยังต้องหาพวกให้มากพอ

แล้วจึงค่อยพัฒนาระบบตลาดอย่างสอดคล้องกัน เป็นขั้นๆ จึงจะดูเรียบร้อย และได้ผลกว่ากัน

การวิจัยด้านการตลาดจึงควรมาตามหลังอย่างติดๆ ต่อจากการผลิด

เขาว่าอย่างนั้นครับ

ทีผ่านมาแย่กว่านั้น

พานิชหาตลาด เกษตรสร้างผลผลิต แบบไม่คุยกันเลย เรืยกว่าผิดฝาผิดตัวแบบสมบูรณ์แบบครับ

นี่แหละที่มาของประเด็นครับ

ดิฉันว่าต้องไปควบคู่กันค่ะ ทั้งการตลาดและการผลิต

ครั้งแรกสุด ต้องทำการทำการสำรวจตลาด สำรวจความต้องการของ "ลูกค้า"ก่อน อย่างเช่นตอนนี้ เป็นช่วงที่คนดุแลห่วงใยสุขภาพทั้งของตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในครอบครัว

เราก็ต้อง เร่งการผลิตสินค้าที่จะตอบสนองอารมณ์ของตลาดตอนนี้

นักการตลาดทั้งรัฐและเอกชน  มิใช่ต้องเร่งผลักดันการขายในตลาดขาขึ้นเท่านั้น   และยังต้องมีหน้าที่ต้องพัฒนาตลาดให้มีความลึก วางรากฐานให้แน่นหนาต่อไปในระยะยาวอีกด้วย

เมื่อ ออกสินค้าไปแล้ว  ก็ต้องคอยเฝ้าระวังติดตามผล และปรับปรุงสินค้าให้ถูกใจลูกค้ายิ่งๆ ขึ้น แล้วเอาข้อมูลมาบอกเกษตรกรให้ทันการ

ข้อมูลคือสิ่งที่สำคัญมากค่ะ

ถ้า ทำควบคู่กันไปอย่างนี้ คิดว่า จะมีความสุขด้วยกันทุกฝ่ายนะคะ

 

ปัญหาส่วนมาก คือนักวิจัยไม่ได้มองเห็นประโยชน์จากการทำวิจัยเหมือนที่ว่าทำวิจัยเพื่อตำแหน่ง หรือขึ้นหิ้ง

- หากมีการร่วมมือระหว่างผู้มือส่วนได้ส่วนเสีย ก็คงจะดีกว่านักเทียนทำวิจัย และต้องร่วมมือระหว่างนักวิจัย และผู้ใช้ประโยชน์จริงจึงจะเกิดผล เพราะไม่ยังงั้นเขาก็ว่าตีกรอบวิจัยไว้แล้ว เข้าทำนองเดิม อย่างนี้เมื่อไหร่เราจะเจริญ หรือเปล่าค่ะ

 

Pครับ

ประเด็นที่ทำต้องควบคู่กั็นแน่นอนครับ

ตอนนี้เรากำลังมองว่าทำวิจัยแบบบูรณาการได้อย่างไร

ใครจะเป็นตัวนำ และประสานงานกันอย่างไร

ให้เป็นกระบวนการที่ชัดเจน

ไม่งั้นก็จะต่างคนต่างทำอีก เช่นที่ผ่านมา

และนำไปสู่เบี้ยหัวแตก ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้

และขึ้นหิ้งในที่สุดครับ

ผมกำลังผลักดันแบบนี้ เผื่อจะได้ผลครับ

Pครับ

ทางออกน่าจะเป็นการวิจัยแบบบูรณาการแบบมีส่วนร่วมครับ แล้วน่าจะใช้ประโยชน์ได้จริงครับ

คิดว่า  ที่นักวิจัย บอกว่าให้หาตลาดก่อน  คงมีข้อสมมติอยู่เบื้องหลังว่า  "เป็นการผลิตเพื่อขาย"    ถ้าเป็นอย่างนั้น  ดิฉันก็คิดว่าที่นักวิชาการว่าไว้ อาจจะไม่ผิด

แต่การผลิตที่มุ่งขาย จะมีปัญหาความเสี่ยงทับทวี ทั้งจากเสี่ยงเรื่องการผลิต และเสี่ยงเรื่องการตลาด  ซึ่งเกษตรกรควบคุมยากทั้งสองเรื่อง

ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จึงให้พยายามกระจายความเสี่ยง  การผลิตกินใช้ในครอบครัว ในชุมชนก่อน "เหลือจึงขาย"  น่าจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า  เพราะฉะนั้น ถ้าเกษตรกรมีเป้าหมายเช่นนี้  คิดถึงความชำนาญของตัวเองในการผลิตก่อน เหลือค่อยหาตลาดขาย จึงไม่เกิดปัญหามากนัก  (แต่ถ้าผลิตส่วนเกินมากไป ขายไม่ได้ก็เป็นปัญหา)

ถ้าเกษตรกรมุ่งผลิตเพื่อขายเป็นหลัก แต่ไม่เคยรู้ว่าตลาดอยู่ที่ไหน ก็คงมีปัญหาแน่ๆ เพราะเป้าหมายกับวิธีการไม่สอดคล้องกัน

เห็นด้วยว่า ความพอเพียงต้องมาจากจิตสำนึกที่ดีค่ะ   ...พฤติกรรม (การกระทำ) ถูกกำหนดมาจากเป้าหมาย (การคิด การมุ่งหวัง)ค่ะ 

ขอบคุณครับ

นักวิชาการที่แท้จริง มีอะไรมาแลก แบบคมเฉียบเสมอเลยครับ

ผมจะขออนุญาตนำประเด็นนี้ไปปรับให้ชัดในการทำรายงานครับ

ขอบคุณครับ

นักวิชาการที่แท้จริง มีอะไรมาแลก แบบคมเฉียบเสมอเลยครับ

ผมจะขออนุญาตนำประเด็นนี้ไปปรับให้ชัดในการทำรายงานครับ

ตอนอ่านบทความของท่านอาจารย์แสวง  ก็เห็นด้วยเลยครับกับแนวทางการวิจัยโดยการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนกับประโยชน์จากผลงานวิจัยทุกฝ่าย

พอมาอ่านข้อเสนอแนะของคุณพี่ศศินันท์และคุณพี่ปัทมาวดี ก็ทำให้ได้ข้อคิดอีกครับ

น่าจะกลายเป็นหัวข้อวิจัยได้เลยกระมังครับ

อย่างที่คุณพี่ศศินันท์ยกตัวอย่างพืชที่ป้อนสู่โรงงานก็ต้องใช้ระบบที่ต้องดูตลาดหรือผลิตตามความต้องการของลูกค้า(ส่วนตัวกระผมคิดว่าอาจจะเรียกได้ว่า"นายสั่ง"ครับ)

ส่วนกรณีพืชอินทรีย์ตอนนี้ยังมีกลุ่มเกษตรกรเพียงส่วนน้อยที่ผลิต การหาตลาดก็คงจะไม่ยากนัก  แต่การที่จะผลิตเพื่อป้อนให้ตรงกับความต้องการของตลาดคงจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากในปัจจุบันการผลิตเกษตรอินทรีย์มีเปอร์เซ็นต์จะได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอทั้งขนาด ปริมาณ และเวลาต่ำกว่าการทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีหรือเปล่าครับ  แล้วอย่างนี้การเกษตรแบบอินทรีย์จะมีโอกาสเติบโตได้อย่างไรบ้างครับ คงจะต้องมีการวางและทำแผนแนวทางการจัดการการเกษตรอินทรีย์ไว้ล่วงหน้าก่อน เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาหรือเปล่าครับ

วันก่อนได้ฟังแนวคิดหัวหน้ารัฐบาลเงาที่จะทำแผนผังผลิตผลทางการเกษตรในแต่ละช่วงเดือนกระผมก็คิดว่าเป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งจะทำให้การวางแผนจัดการผลผลิตอาจจะทำได้ง่ายขึ้น แต่จะได้ผลมากน้อยเพียงใดก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ เพราะปัจจัยที่มีผลต่อผลิตผลทางการเกษตรมีความแปรปรวนสูงมากๆใช่หรือเปล่าครับ

ตอนนี้ปัญหาใหญ่อยู่ที่คนไปติดกระแสการทำอะไรเร็วๆ แบบเคมี

พอจะปรับมาทำอินทรีย์ กลับความรู้ไม่พอ ทรัพยากรไม่พอ เลยลังเลกันซะมาก

ประกอบกับมาตรฐานเกษตรอินทรยืที่เรารับมาจากต่างชาติก็ยังอาจไม่สอดคล้องกับชีวิตคนไทย ทำให้ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ทำให้กระบวนกรกลุ่มรวนเรพอสมควร

สุดท้ายจึงมาที่การพัฒนาคน จิตสำนึก ความรู้ ความเข้าใจที่จะผลิต แปรรูป ทั้งเพื่อตนเอง และสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาด

สินค้าแบบนี้จะว่ามีตลาดก็ใช่ ไม่มีก็ใช่

เพราะผู้บริโภคยังกระจายอยู่ทั่วไป ทำให้มีค่าการตลาดสูง เป็นต้นทุนการจัดการที่ มาลดโอกาสรายได้ของเกษตรกร

จึงต้องมาทำการผลิต+การตลาดไปพร้อมๆกันครับ

ดังที่สรุปไว้ใน

http://gotoknow.org/blog/sawaengkku/167367?page=1

ครับ

ไม่ใช่ปัญหาพื้นฐานอย่างเดียว มันเป็นความผิดปกติของDNA.ชาติพันธุ์  ที่อะไรก็ได้ หยวนๆๆ ทื่อๆ ทนๆ

อยากจะทราบว่าปัญหาของการทำงานวิจัยสามารถหาได้จากแหล่งใดได้บ้างค่ะ

พอดีหนูต้องทำรายงานส่งอาจารย์ค่ะ ขอความกรุณาช่วยตอบด้วยนะค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

ปัญหามาจากการวิเคราะห์ครับ ไม่มีในตำรา เพราะสิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เขียนเป็นตำราไม่ได้

อยากได้ต้อง

  • ค้นคว้า และ
  • วิเคราะห์
  • สังเคราะห์

แต่อย่าไปกังวลมาก อาจารย์ที่สอนคุณก็อาจจะไม่ทราบก็ได้

ตอบมากไปเดี๋ยวก็จะว่า "แก่แดด" เสียคะแนนไปอีก

ยากครับ ที่อาจารย์จะยอมรับนักศึกษาที่เก่งกว่า โดยเฉพาะระบบสังคมไทย

สบายๆ ครับ

ลองดูนะครับ

ยังไงหารือมาได้ทุกเรื่อง

ตอนนี้ผมช่วยการพัฒนางานวิจัยหลายระดับ ตั้งแต่ ชุมชน แผน โครงการ และยุทธศาสตร์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท