ข้อจำกัดของแผนการวิจัยทางการศึกษาของภาคอีสาน


ยังขาดการเชื่อมโยงของแนวคิดในการพัฒนาทางวิชาการ ควบคู่ไปกับ วิธีการจัดการเรียนการสอน ที่ต้องสอดประสานอย่างสอดคล้องกันในการเรียนการสอน ที่แต่ละชุดความรู้ อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการที่เหมาะสม และอาจจะแตกต่างกัน

 

จากผลการสรุปประเด็นการเสวนาของนักการวิชาการการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ที่จังหวัดขอนแก่น ได้ประเด็นที่เป็นข้อเสนอเชิงการวิจัยหลักๆคือ

 

การค้นหาข้อดีข้อด้อยของการจัดการศึกษาที่ผ่านมา ที่มีเป้าหมายหลักๆอยู่ ๒ ประเด็นหลัก คือ

 

·       เชิงวิเคราะห์หลักสูตร และ

·       เชิงประมวลและวิเคราะห์ความคิดเห็น ความรู้ ความเข้าใจของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา ก็คือ ผู้สอน และผู้เรียน นั่นเอง

 

แต่ พอทางทีมงานนำผลการระดมความเห็น มาประมวล และสอดประสานแผนการวิจัยรวมของทั้งภาค และพยายามหาประเด็นสรุป ให้เห็นเป้าหมายรวมของการวิจัยในเชิงพื้นที่จาก

 

๑.   การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

๒.   ความมั่นคงของรัฐและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล

๓.   การปฏิรูปการศึกษา

๔.  การจัดการน้ำ

๕.  การพัฒนาพลังงานทดแทน

๖.   การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกและลดการนำเข้า

๗.  การป้องกันโรคและการรักษาสุขภาพ

๘.  การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ

๙.   เทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีที่สำคัญเพื่ออุตสาหกรรม

๑๐.        การบริหารจัดการท่องเที่ยว

 

 

ทำให้พบว่าส่วนใหญ่แล้ว ใน ๑๐ กลุ่มงานวิจัยหลักๆ สามารถประสานเป็นกระบวน เป็นกลุ่มบูรณาการในระดับต่างๆ ได้ ใน ๖ หัวข้อใหญ่ คือ

 

๑.            การวิจัยเชิงกฎ ระเบียบ และเชิงนโยบาย ทั้งภาพรวม และในแต่ละด้าน

๒.            การวิจัยเชิงการพัฒนาคน ชุมชน จิตสำนึก และการมีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนา

๓.             การวิจัยเพื่อการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และฐานข้อมูลเพื่อการจัดการพัฒนาด้านต่างๆ

๔.            การวิจัยเพื่อการพัฒนาความรู้ ภูมิปัญญา การเรียนรู้ และการจัดการการศึกษาในทุกรูปแบบ และทุกระดับ

๕.            การวิจัยเพื่อพัฒนาอาชีพ การผลิต การบริโภค คุณภาพชีวิต สุขภาพอนามัย

๖.             การวิจัยเพื่อพัฒนาการตลาด การแปรรูป มาตรฐานผลิตภัณฑ์ และมูลค่าเพิ่ม

 

จากข้อสรุปเพื่อการบูรณาการทั้ง ๖ ระดับของงานวิจัย ทำให้มองเห็นสิ่งที่ยังขาดหายไปของแผนงานวิจัยทางการศึกษา หลังจากทางทีมงานพยายามจะเชื่อมโยงเข้ากับแผนการวิจัยด้านอื่นๆ ซึ่งมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า

 

ยังขาดการเชื่อมโยงของแนวคิดในการพัฒนาทางวิชาการ ควบคู่ไปกับ วิธีการจัดการเรียนการสอน ที่ต้องสอดประสานอย่างสอดคล้องกันในการเรียนการสอน ที่แต่ละชุดความรู้ อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการที่เหมาะสม และอาจจะแตกต่างกัน

 

เพราะ เพียง การสอนในห้องเรียน ไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายในการเรียนการสอนได้ในทุกเรื่อง และการสอนนอกห้องเรียนก็อาจจะมีข้อจำกัดในการศึกษาทางทฤษฎีลึกๆ ได้เช่นกัน

 

ดังนั้นการกำหนดหัวข้อวิจัยทางด้านปฏิรูปการศึกษา จึงน่าจะคิดเชิงรุกมากกว่าการทำวิจัยวิเคราะห์สถานการณ์ แบบ ทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ แต่น่าจะเน้น การวางแนวทางและเตรียมตัวเดินไปข้างหน้าในการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นจริงได้

 

ในระหว่างการประชุมระดมความเห็น ในวันที่ ๒๒ ที่ผ่านมานั้น ผมสาละวนอยู่กับการเน้นการดึงประเด็นด้านการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ค่อยได้สังเกตกระบวนการประชุมของกลุ่มปฏิรูปการศึกษา ทั้งๆที่ก็ประชุมใกล้กัน

 

แต่จากรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม ดูแล้วก็ระดับสูงในภาคอีสานทั้งนั้น แต่ผมไม่แน่ใจว่า ระบบความคิดเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนานั้น ไปติดขัดอยู่ในประเด็นไหน

 

จากข้อสรุปในรายงานของกลุ่มพบว่า แทนที่จะระดมความเห็นแบบการคิดเชิงกลยุทธ์เพื่อการปฏิรูปการศึกษา กลับไปเน้นในการวิจัยแบบวิ่งตามและค้นหาปัญหามากกว่า

 

พอนึกถึงแผนเชิงกลยุทธ์ ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ สุมาเต๊กโช อาจารย์ของ ขงเบ้ง ที่พูดกับเล่าปี่ว่า เล่าปี่ควรหาปราชญ์มาช่วยการทำงานกอบกู้แผ่นดิน

 

แต่เล่าปี่กลับบอกว่า ตนก็มีบัณฑิตผู้รู้ช่วยงานอยู่แล้ว ทั้งซุนเขียน และ บิต๊ก

 

แต่ ท่านสุมาเต๊กโช กลับกล่าวว่า

 

ทั้งซุนเขียน และ บิต๊ก นั้น เป็นเพียงบัณฑิตผู้รู้หนังสือ ยังมิใช่ปราชญ์ผู้พลิกแผ่นดิน

 

ที่แสดงให้เห็นความแตกต่างระดับความคิดของ นักวิชาการ ทางด้านการศึกษา ที่อาจจำเป็นต้องพัฒนาให้ทันและสอดคล้องกับปัญหาทางการศึกษาของทั้งระดับภูมิภาค และระดับประเทศ

 

ดังเช่นที่พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ปราชญ์อีสาน แห่งกลุ่มอินแปง บ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ที่ได้กล่าวไว้ ในการทำงานของท่าน ว่า

 

จะพัฒนาใครต้องพัฒนาตัวเองก่อน

 

แล้ว เราจะทำอย่างไรดีครับ

 

ฝากให้คิดอีกแล้วครับ

หมายเลขบันทึก: 167667เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2008 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  1. จากกรณี โครงการ Early Retire พบว่า คุณครูไม่น้อยกระโดดเข้าร่วมโครงการ จนไม่มีเงินจ่าย แสดงให้เห็นอะไร ?
  2. ผู้บริหารการศึกษาบางท่าน แนะว่า โละให้หมด แล้วจ้างมืออาชีพมาจัดการศึกษาแทน แสดงให้เห็นว่าอะไร ?
  3. ประชาชน USA ไม่น้อยที่มองว่าการจัดการศึกษาของประเทศล้มเหลว แสดงให้เห็นอะไร ?
  4. รร.โคกอีโด่ย ให้เรียนฟรี! รัฐสนับสนุนค่ารายหัวปีละไม่ถึงแสน แต่ถ้าจะฝากเข้าเรียน สาธิตเกษตรฯ ผู้ปกครองต้องสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียน 1 ล้านบาท แสดงให้เห็นอะไร ? อยากให้ อเล็ก เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมแมนยู ไปบริหารจัดการทีม Division 2 ดูสิว่า ทำอย่างไร จะยกระดับทีมจาก Div 2 ขึ้นมาเตะลีคสูงสุดได้ ทั้ง Harvard และ MIT เป็นอันดับหนึ่งของโลกได้เพราะเงินทั้งนั้น หรือไม่จริงครับท่าน ? หรือมันมีทางอื่นในปัจจุบันและอนาคต ? หรือเราจะบอกว่า แมนซิตี้เป็นที่ 1 ได้โดยไม่ใช้เงิน ?
  5. เพราะมันเป็นเช่นนี้แล

 

ผมว่ามันน่าจะต้องประกอบกันนะครับ

มีเงินโดยไม่มีคน หรือ มีคนแต่ขาดความรู้ หรือ มีความรู้แต่ไร้ปัญญา มันก็ไปไม่ได้ทั้งนั้นแหละครับ

ทีนี้ประเด็นที่หารือ ก็คือ

ตอนนี้ "คอขวด" อยู่ที่เรื่องใด

เราอาจจำเป็นตัองเริ่มจุดนั้นก่อน

แค่เอาเงินใส่ในระบบ ล้มเหลว และรั่วไหล อย่างรุนแรง

เช่นตอนนี้ มีงบวิจัยมากมาย แต่หาโครงการดีๆที่จะเข้าไปขอไม่ค่อยได้

หน่วยงานให้ทุนถึงกับต้องลงมาล้วงลูก อย่างเช่นการประชุมครั้งนี้ เขาพร้อมจะให้เงินโครงการที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ยังไม่มีเลย

แค่ให้มาช่วยกันกำหนดประเด็น ก็ไม่ค่อยจะเป็นชิ้นเป็นอัน ยังไม่ต้องคิดถึงตัวโครงการก็ได้

เมื่อวานผมได้รับข่าว ไม่แน่ใจว่าดีหรือร้ายเกี่ยวกับการขอทุนต่างประเทศ ที่มีนักวิชาการท่านหนึ่งนำแนวคิดในการทำงานของผมไปร่างโครงการวิจัยขอทุนวิจัยต่างประเทศ (โดยไม่มีผมร่วม) แต่ก็ได้รับงบมาประมาณ ๙ ล้านบาท

พอได้รับอนุมัติทุน เขาก็ส่งจดหมายมาแจ้งให้ผมทราบ (ที่ผมก็เพิ่งรู้ว่าเขาทำเช่นนี้)

ไม่แน่ใจว่า รู้สึกผิด หรือ ต้องการประชด ผมกันแน่

ผมเข้าไปดูคำที่เขียนโครงการแล้วเขาใช้ภาษาดีมาก

แต่ แทบจะไร้สาระในเนื้องาน

เพราะ เขาไม่เคยรู้ว่างานควรจะทำอย่างไร

แต่ก็ได้เป็นโครงการชนะลำดับที่ ๑ จากที่อนุมัติ ๔ โครงการ (จากผู้เข้าแข่งทั้งหมดเกือบ ๑๕๐ โครงการ)

ผมอ่านดูแล้ว ถ้าให้ผมพิจารณา ไม่ผ่านแน่นอน เพราะ "มั่วนิ่ม" ทุกเรื่อง

แต่กรรมการพิจารณาคงเพลินกับสำนวน โดยไม่รู้เนื้อหา ว่าไร้สาระทั้งเพ

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ว่า มีเงินก็ทำอะไรไม่ได้

เพราะ "ไร้ความรู้ และปัญญา" มีแต่ราคาคุย

ผมเลยกล้าท้า (อยู่ในใจ) ว่า ถ้าโครงการนี้สำเร็จจริงตามที่เขียน ผมกล้าพนันแลกกันด้วยชีวิตหรืออะไรก็ได้ ไปเลย

แต่ถ้าไม่สำเร็จผมขอตัดแขนข้างเดียวก็พอ

เพราะ เอาความคิดของผมไปทั้งดุ้น แต่ไม่มีทุนทางสังคมที่ผมมี

ไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน

ตัวอย่างแบบนี้มีเยอะครับ

ผมเจอทุกปี

เงินจึงไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด หรือ เรื่องเดียวครับ

ขอบคุณ และอยากฟังอีกครับ

เรียนท่านอาจารย์

  • ถ้าจะพัฒนาการศึกษาของชาติแล้ว ผมว่า งานวิจัย+เงิน ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ครับ เพราะว่างานวิจัยด้านการพัฒนาการศึกษานั้น เรามีมากอยู่แล้ว ทำการวิจัยโดยผู้ยิ่งใหญ่ทางการศึกษา ผู้ที่คลุกคลี และผู้ที่อยู่และรู้ปัญหา ทั้งในระดับนโยบาย สถาบัน ห้องเรียน และตัวผู้เรียน ดูหลักฐานบางส่วนได้ที่
    http://www.thaiedresearch.org/ , http://db.onec.go.th/publication/ , http://lib09.kku.ac.th/e-thesis/ เราหยิบมาใช้น่าจะดีกว่าวิจัยใหม่นะครับ เร็วกว่า ประหยัดกว่า อาจจะมีคุณภาพบ้าง ไม่มีบ้าง ก็เลือกเอาดีไหมครับ ?
  • ลองหยิบเอาโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาดีไหมครับ ? เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติมาก ที่สำคัญยากด้วย แล้วทำให้สำเร็จได้อย่างไร ?

 

Pครับ

ผมเข้าไปดู ทั้ง ๓ ลิงค์แล้ว มีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง ที่น่าจะนำมาเป็นฐานการวิจัยได้ครับ

แม้บางเรื่องเป็นเรื่องที่ยังมองไม่ลึกนัก อาจต้องวิเคราะห์เชิงลึก และต่อยอดไปอีกก็ตาม

ขอบพระคุณมากครับ

 

เรียน อ.แสวง ครับ

 เคยได้ยินพ่อบุญเต็ม ไชยลา บ่นให้ฟังตามประสาชาวบ้าน ว่า

"มีงานวิจัยกองเพนิน อยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ไม่เห็นได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย ส่วนผมมีงานวิจัย หนึ่งไร่ไม่ยากไม่จน เห็นกันจะ จะ พาไปดูได้ นำไปประยุกต์ใช้กับทุกคนได้ เป็นประโยชน์มากกว่า"

 เป็นการสนับสนุนคำกล่าว ที่ "สุมาเต๊กโช" ได้พูดกับเล่าปี่ครับ

ครับ

ก็เป็นเรื่อง "ใบไม้ในป่า" กับ ใบไม้กำมือเดียว ครับ

นักวิชาการชอบอ้างว่า "ใบไม้ในป่า" ก็มีประโยชน์ ไม่ควรละเลย  ก็ไปเน้นทำเรื่องนั้นๆ

จนลืมเรื่องที่เป็นประโยชน์กว่า แบบ "ใบไม้ในกำมือ"

จะว่าไปก็คือ

สิ่งที่ควรรู้ กลับยังไม่รู้ และไม่สนใจที่จะรู้ 

สิ่งที่ยังไม่จำเป็นต้องรู้ กลับพยายามศึกษา

เพราะถือว่า

เป็นเรื่อง "ทันสมัย"

แต่จนวันตาย ก็ยังแทบจะไม่ใช้ประโยชน์อะไร

นี่เป็นความผืดพลาดในระบบคิดครับ

  • ปีนี้ เดือนนี้ วันนี้ ชั่วโมงนี้
  • ยังไม่มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นเลยหรือ
  • เสียดายภาษีค่ะ
  • ทั้งๆที่ตั้งสารพัดองค์กร หน่วยงานผลานเงินภาษีของคนทั้งชาติ
  • แค่เห็นรูปแบบการจัดประชุมแล้วอยากร้องไห้
  • มันต้องไปนั่งประชุมกลางทุ่งกุลาร้องให้นุ่งกางเกงขาสั้นเสื้อยืดคอกลม
  • นั่งบนพื้นดินเท่าเทียมกันแล้วปัญญาจะเกิด
  • ลองคิดอย่างตรงไปตรงมา
  • เอาคนที่ต้องผจญปัญหา(ชาวบ้าน) เอานักวิชาการผู้ขอทุน(เพื่อแก้ปัญหา) เอาผู้พิจารณาให้ทุน(มีเงินในมือแต่....)เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ตรงจุด
  • ผลการประชุมและการพิจารณาสนับสนุนให้ทุนวิจัย
  • อาจไม่เหมือนอย่างที่เป็นมาค่ะ
  • เจอมมากแล้ว ถ้าสุมหัวเข้าหากันเอาความเป็นจริงมาพูด
  • ความขัดแย้งทางตวามคิดคือหนทางเรียกสติกลับคืนมา
  • ขอให้กำลังใจผู้มีอุดมการณ์ เท้าติดดิน มือสร้างตำรา และสมองมีลอยหยักของสติปัญญามากอย่างดร.แสวงค่ะ
  • ชีวิตต้องสู้ ฟันฝ่าอุปสรรค์ ไปให้ถึงจุดหมาย ก่อนหมดแรงนะค่ะ
เขาไม่ยอมรับหรอกว่า เป็นข้อจำกัด จริงๆแล้วมันเป็นมรดก ครับผ๊ม

โอ้โห้...ระดับมรดกโลกเลยหรือครับ

เกี่ยวข้องกับการสืบสันดานด้วยหรือไม่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท